การทำลายเขื่อนกาคอว์กา

ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ระหว่างเวลาประมาณ 02:00 น. ถึง 02:54 น. ตามเวลาท้องถิ่น[3][4][5] ส่วนหนึ่งของเขื่อนกาคอว์กาในประเทศยูเครนได้พังทลายลง ก่อให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง เขื่อนนี้ตั้งอยู่ที่แม่น้ำนีเปอร์ (หรือแม่น้ำดนีปรอ) ในแคว้นแคร์ซอน และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซียซึ่งได้ยึดเขื่อนไว้ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการรุกรานยูเครน[6] เขื่อนมีความสูง 30 เมตร (98 ฟุต) และมีความยาว 3.2 กิโลเมตร (2.0 ไมล์)[7] ส่วนของเขื่อนที่ถูกทำลายมีความยาวประมาณ 200 เมตร (660 ฟุต)[8]

การทำลายเขื่อนกาคอว์กา
เป็นส่วนหนึ่งของการทัพนีเปอร์ พ.ศ. 2565–2566 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
ความเสียหายจากน้ำท่วมที่ปลายน้ำหลังเขื่อนแตก
สถานที่เขื่อนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำกาคอว์กา นอวากาคอว์กา แคว้นแคร์ซอน ยูเครน
พิกัด46°46′40″N 33°22′13″E / 46.77778°N 33.37028°E / 46.77778; 33.37028
วันที่6 มิถุนายน พ.ศ. 2566
02:50 น. (UTC+3)
ประเภทการทำให้เขื่อนแตก
อาวุธไม่ทราบ
ตาย58 คน ณ วันที่ 21 มิถุนายน[1][2]
ผู้ก่อเหตุเป็นที่โต้แย้ง

สิ่งบ่งชี้ว่ามีการระเบิดในช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 มิถุนายน ได้แก่ (1) เสียงคล้ายระเบิดจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนตามแหล่งข้อมูลของทั้งยูเครนและรัสเซีย[3][4] (2) สัญญาณไหวสะเทือนที่เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบโครงข่ายของประเทศนอร์เวย์บันทึกไว้ได้[5] และ (3) สัญญาณความร้อนอินฟราเรดของการระเบิดครั้งใหญ่ที่ดาวเทียมตรวจพบ[9] น้ำท่วมและความเสียหายของเขื่อนได้รับการยืนยันอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและยุทโธปกรณ์ที่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ขอคำปรึกษา กล่าวว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการระเบิดจากภายใน[10] กองกำลังรัสเซียถูกกล่าวหาว่าระเบิดเขื่อนเพื่อขัดขวางแผนการรุกโต้ตอบของยูเครน แต่ทางการรัสเซียปฏิเสธ

ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกาคอว์กาซึ่งรัสเซียควบคุมได้เพิ่มสูงขึ้นมาหลายเดือน และอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีในขณะที่เขื่อนแตก[11] ชาวบ้านหลายหมื่นคนที่อยู่ท้ายน้ำต้องอพยพออกจากพื้นที่เนื่องจากน้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านหลายแห่งทั้งในพื้นที่ที่ยูเครนควบคุมและพื้นที่ที่รัสเซียยึดครอง มีรายงานว่าน้ำท่วมได้คร่าชีวิตผู้คนไป 9 คน รวมทั้งสัตว์อีกจำนวนมาก เชื่อกันว่าน้ำท่วมที่ปลายน้ำซึ่งปะปนกับของเสียจากมนุษย์และจากอุตสาหกรรมได้สร้างวิกฤตเชิงนิเวศครั้งใหญ่ที่สุดในยูเครนนับตั้งแต่ภัยพิบัติเชียร์โนบีลใน พ.ศ. 2529 การสูญเสียน้ำในอ่างเก็บน้ำอาจส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำในระยะยาวให้แก่คาบสมุทรไครเมียและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริฌเฌียที่รัสเซียยึดครอง แต่ไม่มีความเสี่ยงฉุกเฉิน

ภูมิหลัง

แผนที่แสดงดินแดนที่ยูเครนปลดปล่อย (สีเหลือง) และดินแดนที่รัสเซียยึดครอง (สีแดง) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 แม่น้ำนีเปอร์กลายเป็นแนวหน้าของการสู้รบ
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2556 แสดงส่วนของเขื่อนที่อยู่ใกล้กับอาคารกังหันของโรงไฟฟ้า ปรากฏร่องรอยความเสียหายที่ส่วนนี้ก่อนเขื่อนแตกเพียงไม่กี่วัน[12]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยูเครน เขื่อนอีกแห่งที่กั้นแม่น้ำนีเปอร์ได้ถูกระเบิดสองครั้ง ผู้ก่อเหตุครั้งแรกคือกองกำลังเอนคาเวเดของสหภาพโซเวียตที่ล่าถอยออกไปในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 สังหารพลเรือนโซเวียตไประหว่าง 3,000 ถึง 100,000 คน รวมทั้งทหารโซเวียตด้วย ผู้ก่อเหตุครั้งที่สองคือกองกำลังนาซีที่ล่าถอยออกไปใน พ.ศ. 2486[13][14][15]

เขื่อนกาคอว์กาซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2499 ถูกกองกำลังรัสเซียเข้ายึดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ในช่วงแรก ๆ ของการรุกรานยูเครน[16] รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนในปีนั้น โดยสร้างความเสียหายให้กับเขื่อนอื่น ๆ หลายแห่งและทำให้ชาวยูเครนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ตัวอย่างเช่น การโจมตีด้วยจรวดใส่เขื่อนเคียฟเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์[17] การทำลายเขื่อนกั้นแม่น้ำออสกิลโดยกองกำลังทางบกของรัสเซียในเดือนกรกฎาคม และการโจมตีเขื่อนที่เมืองกรือวึยรีห์ด้วยขีปนาวุธในเดือนกันยายน[18]

ตามข่าวกรองทางทหารของยูเครน กองกำลังรัสเซียได้ดำเนินการ "ติดตั้งกับระเบิดขนานใหญ่" ไว้ที่เขื่อนกาคอว์กาหลังจากเข้ายึดเขื่อนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้ไม่นาน และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ได้ติดตั้งกับระเบิดเพิ่มเติมที่ประตูเรือสัญจรและโครงสร้างเขื่อน อีกทั้งยังนำรถบรรทุกติดระเบิดหลายคันไปจอดไว้บนสันเขื่อน[19] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นีกู ปอเปสกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมอลโดวา กล่าวว่ายูเครนสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธรัสเซียที่พุ่งเป้าไปที่เขื่อนแห่งหนึ่งบนแม่น้ำนีสเตอร์ไว้ได้[20] ในเวลานั้น วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ประธานาธิบดียูเครน เตือนว่ารัสเซียเตรียมการที่จะทำลายเขื่อนกาคอว์กาและกล่าวโทษยูเครน และเรียกร้องให้มีคณะผู้สังเกตการณ์เขื่อนจากนานาชาติเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น[21]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 ยูเครนปลดปล่อยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ระหว่างการรุกโต้ตอบที่แคว้นแคร์ซอน ยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าวางแผนที่จะทำลายเขื่อนกาคอว์กาโดยใช้วัตถุระเบิดเพื่อตอบโต้[22] ระหว่างการรุกโต้ตอบของยูเครน กองกำลังยูเครนได้โจมตีถนนบนสันเขื่อนโดยใช้เครื่องยิงไฮมาร์เพื่อขัดขวางการส่งกำลังของรัสเซีย การโจมตีครั้งหนึ่งพุ่งเป้าไปที่ประตูระบายน้ำบานหนึ่งเพื่อทดสอบว่าจรวดสามารถเปิดมันออกได้หรือไม่ในฐานะ "ทางเลือกสุดท้าย" ในกรณีที่รัสเซียรุกข้ามแม่น้ำมาทางฝั่งตะวันตก[23]

เมื่อกองกำลังรัสเซียล่าถอยออกจากพื้นที่หลายส่วนของแคว้นแคร์ซอนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 พวกเขาได้โจมตีเขื่อนกาคอว์กา ส่งผลให้ประตูน้ำบานเลื่อนบางส่วนเสียหาย[24] จากการจุดระเบิดที่มีการควบคุม[25]

จากนั้นรัสเซียก็จงใจเปิดประตูน้ำบานเลื่อนเพิ่มเติมเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลทะลักออกจากอ่างเก็บน้ำเขื่อน ฝ่ายบริหารการทหารประจำแคว้นซาปอริฌเฌียระบุว่ารัสเซียอาจระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเพื่อให้น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำและเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังยูเครนข้ามแม่น้ำนีเปอร์ได้[26] อุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอ (บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของยูเครน) เชื่อเช่นเดียวกันว่ากองกำลังของผู้รุกราน "เปิดประตูน้ำเขื่อนเพราะกลัวว่าทหารยูเครนจะรุกคืบเข้ามา"[26] ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ระดับน้ำเหนือเขื่อนกาคอว์กา (ซึ่งอยู่ในสภาพเสียหาย) ไม่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกับการไหลของน้ำที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือเป็นผลจากการละเลย เป็นผลให้น้ำไหลข้ามสันเขื่อนและพื้นที่เหนือน้ำของเขื่อนถูกน้ำท่วม[27][28] น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี[11] การวิบัติของเขื่อนส่งผลกระทบหนักขึ้นเนื่องจากระดับน้ำที่สูงผิดปกติเช่นนี้เอง[29]

ในวันที่ 30 พฤษภาคม หนึ่งสัปดาห์ก่อนเขื่อนกาคอว์กาแตก รัฐบาลรัสเซียออกคำสั่งว่าจะไม่มีการสอบสวน "ทางเทคนิค" ต่ออุบัติเหตุ "ที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางทหาร การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย"[30] ที่โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในยูเครนที่ถูกยึดครอง ออแลห์ อุสแตนกอ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีแซแลนสกึยของยูเครน เรียกพฤติการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "หลักฐานชัดเจน" โดยกล่าวว่าคงต้องเป็นคนที่มี "จินตนาการที่แจ่มชัดมาก" ถึงจะเชื่อว่าการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่วันก่อนที่โรงไฟฟ้ากาคอว์กาจะถูกทำลายนั้นเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ[31][32]

ในวันที่ 2 มิถุนายน ภาพถ่ายดาวเทียมที่บีบีซีนิวส์ได้รับมาแสดงให้เห็นว่าส่วนเล็ก ๆ ของถนนบนสันเขื่อนกาคอว์กาได้รับความเสียหาย[12][33]

สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามรายงานในวันที่ 6 มิถุนายน (ซึ่งเป็นวันที่เขื่อนถูกทำลาย) ว่า "แหล่งข่าวของรัสเซียแสดงความกังวลอย่างรุนแรงและชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ยูเครนกำลังเตรียมที่จะข้ามแม่น้ำนีเปอร์และปฏิบัติการรุกโต้ตอบเข้าไปในแคว้นแคร์ซอนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ"[34]

การทำลาย

ภาพเคลื่อนไหวแสดงสภาพเขื่อนก่อนและหลังการถูกทำลาย

ในวันที่ 6 มิถุนายน เขื่อนกาคอว์กายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี[6]

ระหว่างเวลา 02:00 น. ถึง 02:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเช้าวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 แหล่งข่าวของทั้งยูเครนและรัสเซียรายงานว่ามีเสียงดังคล้ายระเบิดซึ่งดูเหมือนว่ามาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนกาคอว์กา[3] ชาวเมืองนอวากาคอว์กาพูดคุยกันเกี่ยวกับการระเบิดในช่องเทเลแกรมช่องหนึ่ง โดยชาวเมืองคนหนึ่งบรรยาย (เป็นภาษายูเครน) ถึง "แสงวาบสีส้ม" และกล่าวว่าเสียงน้ำ "อื้ออึงมาก ... ดังมาก" เมื่อเวลา 02:45 น.[4] ประธานาธิบดีแซแลนสกึยของยูเครนกล่าวว่าเกิด "การระเบิดภายในของโครงสร้าง" ที่เขื่อนนี้เมื่อเวลา 02:50 น.[35]

ชุดเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบโครงข่ายของนอร์เวย์ (ซึ่งมีเครื่องหนึ่งอยู่ในโรมาเนีย ห่างจากเขื่อน 620 กิโลเมตร) ตรวจพบสัญญาณที่นักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์ตีความว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวอย่างอ่อนจากทิศทางของเขื่อนกาคอว์กาเมื่อเวลา 02:35 น. ตามเวลาฤดูร้อนของยูเครน และตรวจพบสัญญาณที่แรงขึ้นเป็นขนาด 1–2 ซึ่งแสดงว่าเกิดการระเบิดหนึ่งครั้งเมื่อเวลา 02:54 น.[5][36]

ดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐตรวจพบสัญญาณความร้อนอินฟราเรดซึ่งสอดคล้องกับการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่เขื่อนกาคอว์กาก่อนที่เขื่อนจะพังทลายไม่นาน[9]

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการระเบิดจากภายใน โดยเสริมว่าสาเหตุจากการโจมตีจากภายนอกหรือความล้มเหลวของโครงสร้างมีความน่าเชื่อถือน้อย แม้จะเป็นไปได้ก็ตาม[10] ดิอีโคโนมิสต์ ระบุว่าเกิดการระเบิดที่รุนแรงมากจนรู้สึกได้ไกลจากเขื่อนถึง 80 กิโลเมตร (50 ไมล์)[37] อีฮอร์ ซือรอตา ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอของยูเครน ปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่าเขื่อนแตกเพราะถูกยิงโจมตีหรือเพราะความล้มเหลวของโครงสร้างเขื่อน โดยกล่าวว่านั่นคือโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย ซือรอตาระบุว่า "โรงไฟฟ้าได้รับการออกแบบให้ทนต่อการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ในการที่จะทำลายโรงไฟฟ้าจากภายนอกนั้น จะต้องทิ้งระเบิดจากอากาศยานอย่างน้อย 3 ลูก ลูกละ 500 กิโลกรัม ลงไปที่จุดเดียวกัน [ดังนั้น] โรงไฟฟ้าถูกจุดระเบิดจากภายใน"[36]

คริส บินนี นักวิจัยสาขาวิศวกรรมน้ำขึ้นน้ำลงและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ระบุว่าเกิดรอยแตกขึ้นสองจุดที่เขื่อนกาคอว์กา "ทั้งสองด้านของโครงสร้าง" เขาให้เหตุผลว่าหากเขื่อนพังทลายด้วยสาเหตุธรรมชาติจริง มวลน้ำเหนือเขื่อนจะก่อให้เกิดรอยแตกเพียงจุดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เขายังปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่ายูเครนยิงโจมตีเขื่อนจนเขื่อนพังทลาย เพราะเป็นไปได้ยากที่กระสุนปืนใหญ่จะก่อให้เกิด "การระเบิดขนาดใหญ่ใกล้ฐานราก" ของเขื่อน[38]

อีฮอร์ สแตรแลตส์ วิศวกรที่เคยประจำการที่เขื่อนกาคอว์กาอยู่หลายเดือนและดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำนีเปอร์ระหว่าง พ.ศ. 2548–2561 กล่าวว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ใต้เส้นระดับน้ำของเขื่อน โดยมีฐานเขื่อนซึ่งเป็นบล็อกคอนกรีตขนาดมหึมาสูง 20 เมตร (66 ฟุต) และหนาถึง 40 เมตร (130 ฟุต) กักน้ำไว้ที่ด้านล่าง นอกจากนี้ยังหมายความว่าเขื่อนที่สร้างในช่วงสงครามเย็นเขื่อนนี้สามารถต้านทานการโจมตีจากภายนอกได้เกือบทุกชนิด[39] ประตูน้ำบานเลื่อนตั้งอยู่บนบล็อกคอนกรีตดังกล่าวและถูกเปิดและปิดเพื่อปรับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ หลังจากเขื่อนแตก เป็นที่ชัดเจนว่าฐานคอนกรีตดังกล่าวก็ถูกทำลายไปด้วยไม่เพียงแต่ประตูน้ำบานเลื่อนเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีความเสียหายเกิดขึ้นที่ถนนเหนือสันเขื่อนและที่ประตูน้ำบานเลื่อนบางบาน แต่จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อน ความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และแรงดันจากระดับน้ำสูงเหนือเขื่อนไม่รุนแรงพอที่จะทำให้โครงสร้างฐานเขื่อนเสียหายได้ ภายในฐานรากมีทางเดินที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งวัตถุระเบิดที่รุนแรงพอที่จะทำลายโครงสร้างดังกล่าว นิก กลูแม็ก ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเพน[40] กล่าวว่า "สำหรับผม มันยากที่จะจินตนาการว่าจะมีอะไรที่อธิบายสาเหตุของความเสียหายได้อีกนอกจากการระเบิดภายในทางเดิน การเคลื่อนย้ายบล็อกคอนกรีตที่ใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้แรงมหาศาล"[39]

ส่วนกลางของเขื่อนกาคอว์กาซึ่งมีความกว้าง 3.2 กิโลเมตรถูกทำลาย[12][41] ก่อให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างด้านท้ายน้ำ

ความรับผิดชอบ

การอ้างว่าเป็นความผิดของรัสเซีย

ทางการยูเครนกล่าวว่ากองกำลังรัสเซียเป็นฝ่ายทำลายเขื่อนกาคอว์กา[42][43] อุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอ (บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของยูเครน) ระบุว่าเขื่อน "เสียหายโดยสิ้นเชิง" หลังการระเบิดจากภายในห้องเครื่องและไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูได้ เจ้าหน้าที่ของยูเครนกล่าวว่ารัสเซียทำลายเขื่อน "จากความตื่นตระหนก" เพื่อชะลอแผนการรุกโต้ตอบของยูเครน[44][45]

ยูเครนกล่าวโทษกองพลน้อยอิสระปืนเล็กยาวยานยนต์ที่ 205 ของรัสเซีย (ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนอวากาคอว์กา) ว่าเป็นผู้ระเบิดเขื่อน[46] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ช่องเทเลแกรมของกองพลน้อยดังกล่าวขู่ว่าได้ติดตั้งระเบิดไว้ที่เขื่อนและจะระเบิดเขื่อนเสียหากกองกำลังยูเครนพยายามข้ามแม่น้ำนีเปอร์มา นอกจากนี้ยังแนะนำให้กองกำลังรัสเซียอยู่ในที่ปลอดภัยด้วย[47]

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ช่องเทเลแกรมของหน่วยความมั่นคงยูเครนได้เผยแพร่คลิปเสียงคลิปหนึ่งที่ได้จากการดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ โดยระบุว่าคลิปนั้นบ่งชี้ว่ากลุ่มก่อวินาศกรรมของรัสเซียเป็นผู้ทำลายเขื่อนกาคอว์กา การสนทนาดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างชาย 2 คนที่น่าจะเป็นทหารรัสเซีย หนึ่งในนั้นกล่าวว่ารัสเซียตั้งใจที่จะโจมตีเขื่อนเพื่อ "ข่มขวัญ [ชาวยูเครน]" แต่ "มันไม่เป็นไปตามแผน และ [กลุ่มก่อวินาศกรรมรัสเซียทำ] เกินกว่าที่วางแผนไว้"[48]

ดมือตรอ กูแลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน วิจารณ์สื่อต่างประเทศที่นำเสนอการอนุมานสาเหตุของยูเครนและของรัสเซียให้มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือพอกัน โดยให้เหตุผลว่านี่เป็นการยกโฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาให้มีฐานะเท่ากับข้อเท็จจริง[49]

สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามกล่าวว่ารัสเซียเป็นฝ่ายที่ "ได้ประโยชน์มากกว่าและชัดเจนกว่าในการทำให้น้ำท่วมฝั่งซ้าย" ถึงแม้น้ำจะท่วมที่ตั้งทางทหารบางแห่งของรัสเซียด้วยก็ตาม[34] เนื่องจากน้ำท่วมจะทำให้ลำน้ำนีเปอร์กว้างขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการข้ามฝั่งของยูเครน ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน รัสเซียได้ระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนเพื่อบังคับให้กลุ่มลาดตระเวนของยูเครนออกไปจากเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ปลายน้ำ[50]

ทีมผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับโกลบัลไรตส์คัมไพลอันซ์ บริษัทกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเนเธอร์แลนด์ สรุปไว้ในรายงานการสืบสวนเบื้องต้นว่ามี "ความเป็นไปได้สูง" ที่การทำลายเขื่อนกาคอว์กาจะเป็นผลจากการกระทำของรัสเซีย โดยใช้ "วัตถุระเบิดที่ติดตั้งล่วงหน้าไว้ที่จุดสำคัญภายในโครงสร้างเขื่อน"[51] รายงานดังกล่าวจัดทำโดย "ทีมยุติธรรมเคลื่อนที่" ทีมหนึ่ง ทีมยุติธรรมเหล่านี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันการดำเนินงานของกลุ่มที่ปรึกษาอาชญากรรมโหดร้ายสำหรับยูเครน ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นและได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป สหรัฐ และสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 "เพื่อให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์และความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการแก่สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งยูเครน ในการสืบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมที่โหดร้ายในยูเครน"[52][53][54]

ในวันที่ 15 มิถุนายน รัฐสภายุโรปประกาศว่าได้ผ่านมติประณามการทำลายเขื่อนกาคอว์กาโดยรัสเซียเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[55]

การอ้างว่าเป็นความผิดของยูเครน

วลาดีมีร์ เลออนเตียฟ นายกเทศมนตรีเมืองนอวากาคอว์กาที่รัสเซียแต่งตั้ง ปฏิเสธในตอนแรกว่าเขื่อนไม่ได้รับความเสียหายโดยกล่าวว่าเป็น "เรื่องไร้สาระ" แต่ภายหลังกลับกล่าวหายูเครน[56] ดมีตรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายเขื่อน และกล่าวว่าเป็นการก่อวินาศกรรมจากฝ่ายยูเครน[57] สื่อของรัฐรัสเซียระบุว่าการทำลายเขื่อนเกิดจากการยิงปืนใหญ่จากเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องวิลคา[58]

ผลกระทบ

เส้นทางการไหลเส้นหลักของแม่น้ำนีเปอร์ช่วงท้ายเขื่อนกาคอว์กา

การบาดเจ็บล้มตาย

ณ วันที่ 21 มิถุนายน มีรายงานว่าอุทกภัยจากเหตุเขื่อนแตกได้คร่าชีวิตผู้คนไป 58 คน โดย 41 คนในจำนวนนี้มาจากพื้นที่แคว้นแคร์ซอนส่วนที่ถูกรัสเซียยึดครอง[2] ที่เหลือมาจากพื้นที่แคว้นแคร์ซอนและแคว้นมือกอลายิวส่วนที่ยูเครนควบคุม[59][1]

น้ำท่วมและการอพยพ

หน่วยบริการฉุกเฉินแห่งรัฐของยูเครนอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

ภายในวันเดียวกันหลังจากที่เขื่อนถูกทำลาย อัยการสูงสุดของยูเครนประเมินว่าประชาชนประมาณ 40,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยูเครนควบคุมและพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม[60] ออแลกซันดร์ ปรอกูดิน ผู้ว่าการแคว้นแคร์ซอน กล่าวว่าพื้นที่ประมาณ 600 ตารางกิโลเมตรของแคว้นนี้จมอยู่ใต้น้ำ และร้อยละ 68 ของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในฝั่งที่รัสเซียควบคุม[61]

ตำรวจแห่งชาติยูเครนสั่งการให้อพยพประชาชนออกจากหมู่บ้านและชุมชนทางฝั่งขวาของแม่น้ำนีเปอร์ (ซึ่งยูเครนควบคุม) ได้แก่ หมู่บ้านมือกอลายิวกา หมู่บ้านออลฮิวกา หมู่บ้านลวอแว หมู่บ้านจาฮึนกา หมู่บ้านปอญาติวกา หมู่บ้านอีวานิวกา หมู่บ้านตอการิวกา และหมู่บ้านปรึดนีปรอว์สแก รวมทั้งเขตซาดอแวและเขตกอราแบลของเมืองแคร์ซอน[62][63][44] ปรอกูดิน ผู้ว่าการแคว้นแคร์ซอน กล่าวว่าในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน มีหมู่บ้านถูกน้ำท่วมแล้ว 8 หมู่บ้าน และการอพยพประชาชนโดยรถบัสและรถไฟยังดำเนินต่อไปสำหรับชาวบ้าน 16,000 คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ[12]

กองกำลังภาคพื้นดินของยูเครนกล่าวว่ากองทัพรัสเซียยังคงระดมยิงใส่ฝั่งขวาของแม่น้ำระหว่างที่มีการอพยพ[64] เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ประธานาธิบดีแซแลนสกึยกล่าวกับ โพลิติโกยุโรป ว่ากองกำลังรัสเซียยิงใส่เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่กำลังทำงานในบริเวณน้ำท่วม[65]

ในเมืองนอวากาคอว์การิมฝั่งซ้ายของแม่น้ำนีเปอร์ มีประชาชน 22,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และมีรายงานบ้านเรือน 600 หลังถูกน้ำท่วม ทางการรัสเซียประกาศภาวะฉุกเฉินทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ[66][67] ในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน อันเดรย์ อะเลคเซเยนโก รักษาการหัวหน้าฝ่ายบริหารพลเรือนและทหารของแคว้นแคร์ซอนที่รัสเซียแต่งตั้ง รายงานทางเทเลแกรมว่ามีชุมชนทางฝั่งแม่น้ำที่รัสเซียควบคุม 14 ชุมชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม ได้แก่ เมืองฮอลาปรึสตัญ เมืองออแลชกือ นิคมดนีเปรียนือ หมู่บ้านบีลอฮรูดอแว หมู่บ้านการ์ดาชึนกา หมู่บ้านกอคานือ หมู่บ้านกอร์ซุนกา หมู่บ้านกอซาชีลาเฮรี หมู่บ้านกรึนกือ หมู่บ้านมาลาการ์ดาชึนกา หมู่บ้านปิชชานิวกา หมู่บ้านซอลอนต์ซี หมู่บ้านสตารัซบูรียิวกา และหมู่บ้านซาบารือแน รวมทั้งเกาะต่าง ๆ บริเวณแม่น้ำนีเปอร์ตอนล่าง[68]

ทางการยูเครนกล่าวว่ามีการอพยพประชาชน 17,000 คนออกจากพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครน โดยมีหมู่บ้าน 24 หมู่บ้านถูกน้ำท่วม[69]

สัตว์และสิ่งแวดล้อม

นกนางนวลเมดิเตอร์เรเนียนกำลังผสมพันธุ์ในเขตสงวนชีวมณฑลทะเลดำของยูเครน ประชากรนกชนิดนี้ประมาณครึ่งหนึ่งจากทั่วโลกทำรังอยู่ตามเกาะและสันดอนที่นี่ และมีแนวโน้มว่าจะสูญเสียฤดูผสมพันธุ์ใน พ.ศ. 2566 เพราะน้ำท่วม

ที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งของสัตว์ป่าถูกน้ำท่วม[70]

สัตว์ประมาณ 300 ตัวจมน้ำตายในสวนสัตว์กัซกอวาดีบรอวา ("ป่าโอ๊กเทพนิยาย") หลังจากที่น้ำทะลักเข้าท่วมสวนสัตว์ สวนสัตว์ดังกล่าวตั้งอยู่ทางปลายน้ำและอยู่ทางทิศตะวันตกของเขื่อน หลังจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวตัสส์ของรัสเซียอ้างอย่างผิด ๆ[71] ว่าไม่มีสวนสัตว์ดังกล่าวอยู่จริง[72] ก่อนที่จะกลับคำและยอมรับว่ามีสวนสัตว์อยู่จริง แต่ยืนยันว่าสัตว์ทุกตัวในนั้นปลอดภัย[73]

วิดีโอที่แสดงภาพชาวบ้านกำลังเคลื่อนย้ายปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงท่ามกลางน้ำท่วมได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์[67][74][75][76]

กาชาดเตือนว่าทุ่นระเบิดถูกชะล้างไปกับกระแสน้ำ Erik Tollefsen หัวหน้าหน่วยการปนเปื้อนอาวุธของกาชาด กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าอันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง ... แต่ตอนนี้เราไม่รู้แล้ว ทั้งหมดที่เรารู้ก็คือพวกมันอยู่ที่ไหนสักแห่งที่ปลายน้ำ"[77]

น้ำประปา

น้ำจากอ่างเก็บน้ำในเขื่อนส่งน้ำประปาให้แก่ภาคใต้ของยูเครนซึ่งรวมถึงคาบสมุทรไครเมียและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริฌเฌีย เนื่องจากน้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อท่อส่งน้ำทางตอนใต้ของยูเครน ประธานาธิบดีแซแลนสกึยกล่าวว่าประชาชนหลายแสนคนทางภาคใต้จะไม่สามารถ "เข้าถึงน้ำดื่มได้อย่างปกติ" ทางการแคว้นแคร์ซอนแนะนำให้ประชาชนต้มน้ำดื่มน้ำใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้น[78]

ระดับน้ำ 13.2 เมตร (43 ฟุต) เป็นระดับต่ำสุดที่จำเป็นสำหรับการสูบน้ำเข้าสู่ถังหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริฌเฌีย อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งทางเลือกอีกมากที่เพียงพอสำหรับการหล่อเย็นในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์อยู่ในสถานะหยุดทำงานในปัจจุบัน ราฟาเอล กรอสซี หัวหน้าทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ กล่าวว่า "เราประเมินว่าในปัจจุบันยังไม่มีความเสี่ยงฉุกเฉินต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า"[79]

เบื้องต้นมีรายงานว่าระดับน้ำลดลง 0.35 เมตร (1 ฟุต 2 นิ้ว) ต่อชั่วโมง เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงหลังจากเขื่อนแตก ระดับน้ำในแม่น้ำนีเปอร์ที่เมืองนีกอปอลได้ลดลง 2.5 เมตร (8 ฟุต 2 นิ้ว) อยู่ที่ 14.41 เมตร (47.3 ฟุต)[80] และหลังจากผ่านไป 48 ชั่วโมง ระดับน้ำอยู่ที่ 13.05 เมตร (42.8 นิ้ว)[81]

อีฮอร์ ซือรอตา ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอ ประกาศว่าระดับน้ำได้ลดลงต่ำกว่าจุด "ตาย" ที่ 12.7 เมตร (42 ฟุต) หมายความว่าจะไม่สามารถสูบน้ำให้แก่ชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริฌเฌียได้อีกต่อไป น้ำจะลดลงอีกเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าส่วนล่างของเขื่อนได้ถูกทำลายจนถึงฐานหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ระดับน้ำจะสูงเพียง 3 เมตร (9.8 ฟุต) และความกว้างของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะลดลงจาก 3.5 กิโลเมตร (2.2 ไมล์) เป็น 1–1.2 กิโลเมตร (0.62–0.75 ไมล์)[82]

อุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอประกาศว่าบริษัทกำลังทำงานในโครงการก่อสร้างโครงสร้างเหนือเขื่อนและสถานีไฟฟ้าพลังน้ำที่จะฟื้นฟูระดับน้ำให้กลับคืนสู่ระดับก่อนการระเบิด[83][84] การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นทันทีที่กองกำลังยึดครองของรัสเซียออกไปจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนีเปอร์ และคาดว่าจะใช้เวลาสองเดือน[83]

คลองไครเมียเหนือ

คลองไครเมียเหนือส่งน้ำจืดร้อยละ 85 ของน้ำจืดในคาบสมุทรไครเมีย[85]

คลองไครเมียเหนือมีความยาวกว่า 400 กิโลเมตร (250 ไมล์)[86] และตามธรรมเนียมได้ส่งจ่ายน้ำประปาคิดเป็นร้อยละ 85 ของน้ำประปาในคาบสมุทรไครเมีย[87] คลองมีจุดเริ่มต้นที่เมืองเตารีสก์ซึ่งตั้งอยู่เหนือเขื่อนที่ถูกทำลายพอดี[88] นายกเทศมนตรีเมืองนอวากาคอว์กาที่รัสเซียแต่งตั้งกล่าวว่าจะเกิด "ปัญหา" ในการส่งน้ำจากคลองไครเมียเหนือไปยังไครเมีย[43] ในขณะที่หน่วยงานของรัสเซียที่ยึดครองไครเมียกล่าวว่า "ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ว่าคลองไครเมียเหนือจะขาดน้ำ"[89][90] อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในคาบสมุทรไครเมียได้รับการเติมน้ำประมาณร้อยละ 80 ตามคำกล่าวของเซียร์เกย์ อัคซิโอนอฟ หัวหน้าสาธารณรัฐไครเมียซึ่งรัสเซียผนวกเข้ากับตนเองแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ[87][91][92]

การเกษตร

กระทรวงเกษตรยูเครนระบุว่าการวิบัติของเขื่อนจะทำให้พื้นที่ 584,000 เฮกตาร์ (1,440,000 เอเคอร์) ปราศจากการชลประทาน และจะส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นบริเวณแห้งแล้ง ใน พ.ศ. 2564 เกษตรกรเก็บเกี่ยวธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันจากพื้นที่เหล่านี้ได้ประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ของผลผลิตธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันของยูเครน ร้อยละ 94 ของระบบชลประทานในแคว้นแคร์ซอน, ร้อยละ 74 ของระบบชลประทานในแคว้นซาปอริฌเฌีย และร้อยละ 30 ของระบบชลประทานในแคว้นดนีปรอแปตร็อวสก์จะไม่มีน้ำใช้[93][94] แม้จะไม่มีภัยพิบัตินี้ แต่ก็คาดกันว่าผลผลิตธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันของยูเครนจะลดลงร้อยละ 8 จากผลผลิตใน พ.ศ. 2565 และลดลงร้อยละ 36 จากผลผลิตของ พ.ศ. 2564 (ปีก่อนสงครามเริ่มขึ้น) ตามรายงานของสมาคมธัญพืชแห่งยูเครน[95][96]

ออแลกซันดร์ กรัสนอลุตส์กึย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติยูเครน[97] กล่าวว่าน้ำท่วมได้ชะล้างชั้นดินชั้นบนออกจากไร่นาและพื้นที่เพาะปลูกหลายพันเฮกตาร์ "เราจะไม่สามารถเพาะปลูกพืชเกษตรบนดินนี้ได้อีกหลายปีข้างหน้า" เขากล่าว[98]

การประมง

กระทรวงเกษตรยูเครนประเมินว่าอุตสาหกรรมการประมงจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.05 หมื่นล้านฮรึวญา (285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันเป็นผลมาจากการที่สัตว์น้ำถูกพัดพาไปยังพื้นที่น้ำท่วมและตายที่นั่นเมื่อน้ำลดระดับลง เช่นเดียวกับสัตว์น้ำจืดที่สัมผัสกับน้ำเค็มและในทางกลับกัน[94][99]

การรุกโต้ตอบ

น้ำท่วมอาจเป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการที่ยูเครนวางแผนไว้ในพื้นที่และทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนีเปอร์[100] ผู้เชี่ยวชาญการทหารตะวันตกบางคนกล่าวว่ารัสเซียได้ประโยชน์ทางการทหารจากน้ำท่วม[101]

ปฏิกิริยา

ยูเครน

วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า "การทำลายเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำกาคอว์กาโดยผู้ก่อการร้ายรัสเซียเป็นเพียงการยืนยันให้ทั้งโลกเห็นว่าพวกเขาจะต้องถูกขับไล่ออกจากทุกซอกมุมของดินแดนยูเครน"[102] อันดรีย์ แยร์มัก หัวหน้าสำนักประธานาธิบดียูเครน เรียกการทำลายเขื่อนว่าเป็น "การทำลายล้างสิ่งแวดล้อม"[62] กระทรวงการต่างประเทศยูเครนกล่าวว่า "เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศประณามการโจมตีของผู้ก่อการร้ายรัสเซียที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำกาคอว์กา" โดยเรียกร้องให้มีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและการประชุมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ[103] อัยการสูงสุดของยูเครนกล่าวว่ากำลังสอบสวนการทำลายเขื่อนในฐานะอาชญากรรมสงคราม[104]

ประชาคมระหว่างประเทศ

บรรดาผู้นำชาติตะวันตกระบุว่าการทำลายเขื่อนกาคอว์กาเป็นอาชญากรรมสงคราม โดยข้อ 56 ของพิธีสารฉบับที่ 1 อนุสัญญาเจนีวา (ซึ่งทั้งรัสเซียและยูเครนได้ให้สัตยาบัน) กำหนดห้ามการโจมตี "งานหรือสิ่งติดตั้งที่บรรจุพลังงานอันตราย" เช่น เขื่อน ทำนบ โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เป็นต้น[105][104]

อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่าเหตุเขื่อนแตกครั้งนี้เป็น "อีกหนึ่งผลเสียหายร้ายแรงจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย" และระบุว่า "การโจมตีพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือนต้องยุติ"[106] เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กล่าวว่าเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึง "ความโหดร้ายของสงครามของรัสเซียในยูเครน"[107] ชาร์ล มีแชล ประธานสภายุโรป กล่าวว่าการโจมตีเขื่อนดังกล่าวเป็นอาชญากรรมสงครามจากฝ่ายรัสเซีย[108] สภายุโรปกล่าวว่า "เราขอประณามการทำลายเขื่อนที่นอวากาคอว์กาในแคว้นแคร์ซอนของยูเครนด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุด"[109]

เกลาส์ โยฮานิส ประธานาธิบดีโรมาเนีย ประณามการทำลายเขื่อนและเรียกมันว่าเป็น "อาชญากรรมสงครามอีกครั้งของรัสเซียต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์" เขายังเรียกร้องให้นำรัสเซียมารับผิดชอบและยังแสดงความเห็นใจผู้เสียหายด้วย[110] มายา ซันดู ประธานาธิบดีมอลโดวา และดอริน เรชัน นายกรัฐมนตรีมอลโดวา ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวและกล่าวว่ามอลโดวาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเพื่อบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วม โอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า "นี่เป็นความก้าวร้าวของฝ่ายรัสเซียที่ต้องการจะหยุดยั้งไม่ให้ยูเครนรุกโต้ตอบเพื่อปกป้องประเทศของตน"[111] เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในยูเครนในเวลานั้น กล่าวว่า "เหตุผลเดียวที่ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นก็คือการที่รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบโดยปราศจากการยั่วยุ"[112] กระทรวงการต่างประเทศเช็กเกียระบุว่าการกระทำของรัสเซีย "เป็นการทำให้ชีวิตพลเรือนหลายหมื่นคนตกอยู่ในอันตรายอย่างจงใจ" และ "ต้องถูกประณามและลงโทษ"[113]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง