ประเทศไทย

ประเทศในทวีปเอเชีย

15°N 101°E / 15°N 101°E / 15; 101

ราชอาณาจักรไทย


ที่ตั้งของ ประเทศไทย  (เขียว)

– ในเอเชีย  (เขียวอ่อน & เทาเข้ม)
– ในอาเซียน  (เขียวอ่อน)

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
กรุงเทพมหานคร
13°45′N 100°29′E / 13.750°N 100.483°E / 13.750; 100.483
ภาษาราชการไทย[1]
ภาษาถิ่น
กลุ่มชาติพันธุ์
(2562)[2]
ศาสนา
(2561)[3]
เดมะนิมชาวไทย
การปกครองรัฐเดี่ยว
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (โดยนิตินัย)
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา (โดยพฤตินัย)
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เศรษฐา ทวีสิน
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
วุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎร
สถาปนา
1792 – 1981
1893 – 7 เมษายน 2310
6 พฤศจิกายน 2310 – 6 เมษายน 2325
6 เมษายน 2325
24 มิถุนายน 2475
6 เมษายน 2560
พื้นที่
• รวม
513,120 ตารางกิโลเมตร (198,120 ตารางไมล์) (อันดับที่ 50)
0.4 (2,230 ตารางกิโลเมตร)
ประชากร
• 2566 ประมาณ
71,715,119[4] (อันดับที่ 20)
• สำมะโนประชากร 2553
64,785,909[5] (อันดับที่ 21)
132.1 ต่อตารางกิโลเมตร (342.1 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 88)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2566 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 1.591 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 23)
เพิ่มขึ้น 22,675 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 74)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2566 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 574.231 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 27)
เพิ่มขึ้น 8,181 ดอลลาร์สหรัฐ[6] (อันดับที่ 85)
จีนี (2564)Negative increase 35.1[7]
ปานกลาง
เอชดีไอ (2564)เพิ่มขึ้น 0.800[8]
สูงมาก · อันดับที่ 66
สกุลเงินบาท (฿) (THB)
เขตเวลาUTC+7 (ICT)
รูปแบบวันที่วว/ดด/ปปปป (พ.ศ.)
ขับรถด้านซ้ายมือ
รหัสโทรศัพท์+66
รหัส ISO 3166TH
โดเมนบนสุด

ประเทศไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมมีชื่อว่า "สยาม" รัฐบาลประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2482 ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร[9] และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก คือ ประมาณ 70 ล้านคน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางทิศเหนือและตะวันตก ประเทศลาวทางทิศเหนือและตะวันออก ประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันออก และประเทศมาเลเซียทางทิศใต้ กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินและนครใหญ่สุดของประเทศ และการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด[10] แม้จะมีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ในปี 2475 แต่กองทัพยังมีบทบาทในการเมืองไทยสูง โดยมีรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557

พบหลักฐานการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่ 20,000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวไทเริ่มอพยพเข้าสู่บริเวณนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 แล้วเข้ามาตั้งแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านนาและอาณาจักรอยุธยา นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ต่อมาอาณาจักรอยุธยาค่อย ๆ เรืองอำนาจมากขึ้นจนเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 แทนจักรวรรดิเขมร อาณาจักรอยุธยาสามารถผนวกสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้ การติดต่อกับชาติตะวันตกเริ่มด้วยผู้แทนทางทูตชาวโปรตุเกสในปี 2054 การสงครามกับพม่านำไปสู่การเสียกรุงในปี 2112 แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพในเวลา 15 ปี อาณาจักรรุ่งเรืองอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หลังจากนั้นค่อย ๆ เสื่อมอำนาจโดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการผลัดแผ่นดินที่มีการนองเลือดหลายรัชกาล จนสุดท้ายกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายสิ้นเชิงในปี 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงรวบรวมแผ่นดินที่แตกออกเป็นก๊กต่าง ๆ และสถาปนาอาณาจักรธนบุรีที่มีอายุ 15 ปี ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักรนำไปสู่การสำเร็จโทษพระองค์โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาณาจักรสามารถรับมือกับภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง แต่หลังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมหลายฉบับเริ่มจากสนธิสัญญาเบาว์ริง กระนั้น สยามไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกชาติใด มีการปรับให้สยามทันสมัยและรวมอำนาจปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี 2460 ในปี 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​ทรงเป็นประมุขโดยไม่เสียเลือดเนื้อ คณะราษฎรมีบทบาทนำทางการเมือง และในพุทธทศวรรษ 2480 นายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมเข้มข้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยเข้ากับฝ่ายอักษะ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการประกาศสงคราม[11] ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหาร รัฐประหารที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นหัวหน้าคณะในปี 2500 นำประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลฟื้นฟูพระราชอำนาจและดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ผลของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้เกิดประชาธิปไตยระบบรัฐสภาช่วงสั้น ๆ[12] แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา และรัฐประหารปี 2519 ทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่เผด็จการทหารและ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2531[13] หลังพุทธทศวรรษ 2540 มีวิกฤตการเมืองระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรมาจนปัจจุบัน รวมทั้งเกิดรัฐประหารสองครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดในปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เอเปก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐตั้งแต่สนธิสัญญาซีโต้ในปี 2497 ถือเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอำนาจปานกลางในเวทีโลก[14]: 104  ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูงและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและบริการ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้มีการอพยพเข้าสู่เมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามประมาณการในปี 2562 จีดีพีของประเทศไทยมีมูลค่าราว 516,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่เป็นอันดับที่ 25 ของโลก

ชื่อเรียก

SPPM Mongkut Rex Siamensium (สมเด็จพระปรมินทรมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยาม) พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชาวต่างชาติเรียกอาณาจักรอยุธยาว่า "สยาม" เมื่อราวปี 2000[15]: 73  ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนว่ามีการพาดพิงทาสหรือเชลยศึกซีเอม (Syam) ในจารึกอาณาจักรจามปาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[16]: 190–191, 194–195  ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" เลย[17] ส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า ชาวอยุธยาเรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว[15]: 217 

เดิมประเทศไทยเคยใช้ชื่อว่า สยาม มาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนในปี 2399[18] ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งจอมพล ป. ต้องการบอกว่าดินแดนนี้เป็นของชาวไทยมิใช่ของเชื้อชาติอื่นตามลัทธิชาตินิยมในเวลานั้น[19]: 57–8  ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็นสยามอีกช่วงสั้น ๆ เมื่อปี 2488 และเปลี่ยนกลับมาใช้ว่าไทยอีกครั้งเมื่อปี 2491 ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ยังเปลี่ยนจาก "Siam" ในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เป็น "Thaïlande" ในภาษาฝรั่งเศส และ "Thailand" ในภาษาอังกฤษอย่างในปัจจุบัน[17] อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

ในความหมายอย่างเคร่งครัด คำว่า "ไทย" หมายถึงประเทศไทยในช่วงหลังการเปลี่ยนชื่อประเทศหลังปี 2482 โดยเว้นช่วงสั้น ๆ ที่เปลี่ยนกลับไปเป็นชื่อ "สยาม" ระหว่างปี 2488–91 ดังกล่าวข้างต้น ทว่าในความหมายอย่างกว้าง คำว่า "ไทย" อาจใช้หมายถึงราชอาณาจักรทั้งหลายซึ่งนักประวัติศาสตร์กระแสหลักถือเป็นราชธานีของคนไทยตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

แผนที่แสดงการกระจายทางภูมิศาสตร์ของผู้พูดภาษาตระกูลขร้า-ไท จะเห็นรูปแบบทั่วไปของการย้ายถิ่นของเผ่าที่พูดภาษาไทตามแม่น้ำและช่องเขาต่าง ๆ[20]: 27 

มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคหินเก่าอย่างน้อยราว 20,000 ปี[21]: 4  พบหลักฐานการปลูกข้าวเก่าแก่สุดเมื่อ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล[20]: 4  ยุคสำริดเกิดขึ้นระหว่าง 1,250–1,000 ปีก่อนคริสตกาลโดยคาดว่ารับมาจากตอนใต้ของจีน[20]: 4  แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานีจัดเป็นศูนย์การผลิตทองแดงและสำริดเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[22] ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มปรากฏการใช้เหล็ก[20]: 5  อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรแรกสุดและทรงอำนาจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล[21]: 5  ต่อมา ชาวมอญอาศัยช่วงที่ฟูนันเสื่อมลงตั้งอาณาจักรของตน คือ อาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรหริภุญชัยในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ส่วนชาวเขมรตั้งอาณาจักรใหญ่มีศูนย์กลางอยู่ที่อังกอร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9[21]: 7  อาณาจักรตามพรลิงก์เป็นรัฐมลายูที่ควบคุมการค้าผ่านช่องแคบมะละกาที่ทรงอำนาจที่สุด เจริญขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10[21]: 5 

ไทยสยามจัดอยู่ในกลุ่มชาวไท (Tai people) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียแผ่นดินใหญ่ โดยมีภาษาร่วมกัน[23]: 2  หลักฐานจีนบันทึกถึงชาวไทครั้งแรกในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เดิมมีแนวคิดเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนชาติไทอยู่หลายแนวคิด เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) ระบุว่าบรรพบุรุษของชาวไทในประเทศลาว ไทย พม่า อินเดียและจีนปัจจุบันเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในแถบเดียนเบียนฟูในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8[23]: 6  ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 เริ่มมีคนไทมาอยู่อาศัยในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันซึ่งในเวลานั้นมีอาณาจักรมอญและเขมรอยู่[24] ทำให้วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย มอญและเขมร[25]

อาณาจักรสุโขทัยและแคว้นต่าง ๆ

เขตอิทธิพลในแหลมอินโดจีน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13

เมื่อจักรวรรดิขแมร์และอาณาจักรพุกามเสื่อมอำนาจเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไล่เลี่ยกัน อาณาจักรของชาวไทกินอาณาบริเวณตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียปัจจุบันจนถึงทิศเหนือของลาว และลงไปถึงคาบสมุทรมลายู[23]: 38–9  ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีประชากรชาวไทอาศัยอยู่มั่นคงในอดีตดินแดนแกนกลางของอาณาจักรทวารวดีและอาณาจักรลพบุรี จนถึงดินแดนนครศรีธรรมราช แต่ไม่มีบันทึกรายละเอียดการเข้ามาของชาวไท[23]: 50–1  ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1240 (ประมาณปี 1780) พ่อขุนบางกลางหาวรวบรวมกำลังกบฏต่อเขมร และราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์แรก[23]: 52–3  อาณาจักรสุโขทัยแผ่ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จรดน่านและหลวงพระบางทางทิศเหนือ นครศรีธรรมราชทางทิศใต้ พุกามและมะตะบันทางทิศตะวันตก[23]: 55  อย่างไรก็ดี อาณาเขตอันกว้างใหญ่นี้น่าจะเกิดจากการสวามิภักดิ์ของเจ้าท้องถิ่นมากกว่า[23]: 55–6  นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประดิษฐ์อักษรไทย มีเครื่องดินเผาสวรรคโลกเป็นสินค้าออกสำคัญ แต่เสถียรภาพของอาณาจักรได้อ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์ ในรัชกาลพญาลิไท อาณาจักรรับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์

ส่วนเหนือขึ้นไป พญามังรายซึ่งสืบราชสมบัติหิรัญนครเงินยางเชียงราว ทรงตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้นในปี 1839 มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ทรงรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำปิง พระมหากษัตริย์ล้านนาล้วนสืบเชื้อสายจากพระองค์ต่อเนื่องกันกว่าสองศตวรรษ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการแต่งงานกับเจ้าเมืองต่าง ๆ จรดแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกและเหนือแม่น้ำโขงขึ้นไป[26]: 8  ส่วนบริเวณเมืองท่าบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีการตั้งสหพันธรัฐในบริเวณเพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรีและอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ 11[26]: 8 

อาณาจักรอยุธยาและธนบุรี

กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฟรา มาอูโร (Fra Mauro) ประมาณปี 1993 ออกชื่อว่า "ชิแอร์โน" (Scierno)

อาณาจักรอยุธยากำเนิดจากลพบุรีและสุพรรณบุรีที่อยู่ใกล้เคียง พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 1893 ในเขตเมืองอโยธยาเดิม[27]: 4  การปกครองของอาณาจักรอยุธยามีลักษณะเป็นเครือข่ายราชรัฐและจังหวัดบรรณาการที่สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์อยุธยาตามระบบมณฑล[28]: 355  เนื่องจากขาดกฎสืบราชสมบัติ เมื่อใดที่มีการผลัดแผ่นดินจะมีเจ้าหรือขุนนางทรงอำนาจยกทัพเข้าเมืองหลวงเพื่ออ้างสิทธิ์ทำให้เกิดการนองเลือดบ่อยครั้ง[29] การขยายอาณาเขตช่วงแรกอาศัยการพิชิตดินแดนและการอภิเษกทางการเมือง[27]: 17  ในปี 1912, 1931 และ 1974 อาณาจักรอยุธยายกทัพไปตีเมืองพระนคร (นครธม) เมืองหลวงของจักรวรรดิขแมร์ ได้ทั้งสามครั้ง[27]: 26  ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นมหาอำนาจแทนจักรวรรดิขแมร์ การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้สุโขทัยตกเป็นประเทศราชและส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาตามลำดับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[27]: 31  และทรงสถาปนาระบบศักดินา ก่อให้เกิดระบบไพร่ซึ่งเป็นแรงงานเกณฑ์ให้ราชการปีละหกเดือน[30]: 107  อย่างไรก็ดี การพยายามขยายอำนาจไปยังรัฐสุลต่านมะละกาทางใต้[21]: 11, 13  และอาณาจักรล้านนาไม่ประสบความสำเร็จ

การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี 2054 ทำให้กรุงศรีอยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก[30]: 131  การชิงความเป็นใหญ่ระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรพม่าเหนือเชียงใหม่และมอญทำให้ทั้งสองขัดแย้งกัน[27]: 5  ขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น กระทั่งขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง หลังจากนั้น กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูในปี 2112[30]: 146–7  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15 ปีสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง[26]: 11 

โกษาปานนำพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

จากนั้น กรุงศรีอยุธยายังมุ่งเพิ่มความสัมพันธ์กับชาติยุโรปต่อมาอีกหลายรัชกาล[30]: 164–5  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษ ผู้เดินทางชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ยกอาณาจักรอยุธยาว่าเป็นสามมหาอำนาจแห่งเอเชียร่วมกับจีนและอินเดีย[20]: ix  อิทธิพลของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเกลียดกลัวต่างชาติ จนลงเอยด้วยการปฏิวัติในปี 2231[30]: 185–6  อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์กับชาติยุโรปอื่นยังเป็นปกติและต่อมาบาทหลวงฝรั่งเศสก็กลับมามีอิสระในการเผยแผ่ศาสนา[30]: 186 

อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่ 24 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถือเป็น "สมัยบ้านเมืองดี" ในกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[27]: 84  ความขัดแย้งภายในติด ๆ กันหลายรัชกาล และการสงครามกับราชวงศ์คองบอง (อลองพญา) จนส่งผลให้เสียกรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2310 ซึ่งก่อนหน้านั้นกรุงศรีอยุธยาว่างเว้นจากศึกสงครามมากว่า 150 ปี[31]: 22  หลังจากนั้นบ้านเมืองแตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ารวมทั้งสิ้น 5 ก๊ก ในปีเดียวกัน เจ้าตากได้รวบรวมไพร่พลขับไล่พม่า และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี พระองค์ทรงรวบรวมแผ่นดินให้อยู่ภายใต้พระองค์ ด้านสงครามภายนอก กองทัพธนบุรีสามารถขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้ในปี 2319[30]: 225  และยึดกรุงเวียงจันทน์ได้ในปี 2321[30]: 227–8  อาณาจักรธนบุรีมีอายุเพียง 15 ปีและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว หลังเกิดความขัดแย้งช่วงปลายรัชกาล พระองค์และพระราชโอรสทั้งหลายทรงถูกสำเร็จโทษโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325

กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและสมัยอาณานิคม

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงรัตนโกสินทร์สามารถป้องกันการเข้าตีของพม่าครั้งใหญ่ในปี 2328 และยุติการบุกครองของพม่า ก่อนพระองค์สวรรคตสามารถสถาปนาอำนาจปกครองเหนือพื้นที่ไพศาลอันเป็นที่ตั้งของประเทศลาวและกัมพูชาปัจจุบัน[32] ในปี 2364 จอห์น ครอว์เฟิร์ดถูกส่งมาเจรจาความตกลงการค้าฉบับใหม่กับกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของปัญหาที่จะครอบงำการเมืองสยามในคริสต์ศตวรรษที่ 19[33] ในปี 2369 กรุงเทพมหานครลงนามสนธิสัญญาเบอร์นี หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่งยุติลงด้วยชัยของอังกฤษ[30]: 281  ปีเดียวกัน เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทรงก่อกบฏเพราะเข้าพระทัยว่าอังกฤษจะบุกกรุงเทพมหานคร แต่ถูกปราบปราม[30]: 283–5  ผลทำให้กรุงเวียงจันทน์ถูกทำลาย รวมทั้งมีการกวาดต้อนชาวลาวข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราชจำนวนมาก[30]: 285–6  กรุงเทพมหานครยังทำสงครามแย่งชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชากับญวน ทำให้กรุงเทพมหานครกลับมามีอิทธิพลเหนือกัมพูชาอีกครั้ง[30]: 290–2 

จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียกับรัชกาลที่ 5 ในปี 2440 ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป

ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สยามพยายามทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ภายในราชอาณาจักรให้อยู่ในฐานะอาณานิคม[30]: 308  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามจากชาติตะวันตก ราชสำนักจึงติดต่อรัฐบาลอังกฤษโดยตรงเพื่อลดความตึงเครียด[30]: 311  ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาริ่งเข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมฉบับแรก ๆ อันนำมาสู่การทำสนธิสัญญากับชาติอื่นด้วยเงื่อนไขที่คล้ายกัน หากก็นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครและการค้าระหว่างประเทศ[34] การเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระองค์ด้วยโรคมาลาเรียทำให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ สืบราชสมบัติทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการ[30]: 327 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวมศูนย์อำนาจ ตั้งสภาช่วยราชการ การเลิกทาสและไพร่อันเป็นการยกเลิกระบบแรงงานเกณฑ์[30]: 329–30  วิกฤตการณ์วังหน้าในปี 2417 ทำให้ความพยายามปฏิรูปต้องหยุดชะงัก[30]: 331–3  ในคริสต์ทศวรรษ 1870–80 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นโยบายผนวกหัวเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร และต่อมาได้ขยายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้[30]: 334–5  ในปี 2430 มีการตั้งกรมจำนวน 12 กรมซึ่งต่อมาเป็นกระทรวงต่าง ๆ[30]: 347  ในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เนื่องจากความขัดแย้งกับฝรั่งเศสทำให้มีการเรียกร้องเอาดินแดนลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง[30]: 350–3  ฝรั่งเศสและบริเตนตกลงให้สยามเป็นรัฐกันชนระหว่างเจ้าอาณานิคมทั้งสอง[35] ล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 20 สยามมุ่งเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงรวมทั้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ต้องแลกมาด้วยการแลกเปลี่ยนดินแดนหลายครั้ง[30]: 358–9  ต่อมามีการเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลซึ่งเป็นการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่[30]: 362–3  ในปี 2448 เกิดกบฏในหัวเมืองปัตตานีโบราณ อุบลราชธานี และแพร่เพื่อต่อต้านความพยายามลดทอนอำนาจของเจ้าผู้ปกครองท้องถิ่น[30]: 371–3 

ในปี 2454 เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งคณะนายทหารพยายามล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช[30]: 397  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบโต้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อจนสิ้นรัชกาล[30]: 402  ทรงเผยแพร่แนวพระราชดำริว่าด้วยชาติไทย[30]: 404  ในปี 2460 รัฐบาลประกาศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยถือฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อตัดความกังวลที่ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจัดการกับประเทศเป็นกลางและต้องการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมต่าง ๆ[30]: 407  ผลทำให้สยามได้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพที่แวร์ซาย มีอำนาจอิสระในการเก็บภาษีและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[30]: 408 

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ สงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเย็น

พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ปราศรัยต่อฝูงชนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

สืบจากปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และราคาข้าวตกลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการลดรายจ่ายภาครัฐอย่างมากทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่อภิชน[21]: 25  วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรนำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาททางการเมือง ปลายปี 2476 เกิดกบฏบวรเดช ซึ่งหวังเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราช แต่ล้มเหลว[30]: 446–8  ปี 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาลจึงทรงสละราชสมบัติในปี 2478 สภาผู้แทนราษฎรเลือกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์[30]: 448–9 

เดือนธันวาคม 2481 พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาปราบปรามศัตรูทางการเมืองรวมทั้งต่อต้านราชวงศ์อย่างเปิดเผย[30]: 457  รัฐบาลมีแนวคิดชาตินิยมและปรับให้เป็นตะวันตก และเริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านจีนและฝรั่งเศส[21]: 28  วันที่ 23 มิถุนายน 2482 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ในปี 2484 เกิดสงครามขนาดย่อมขึ้นระหว่างวิชีฝรั่งเศสกับไทย ทำให้ไทยได้ดินแดนเพิ่มจากลาวและกัมพูชาช่วงสั้น ๆ[30]: 462  วันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นบุกครองไทย และรัฐบาลลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐและสหราชอาณาจักร[30]: 465  มีการตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นทั้งในและต่างประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลและการยึดครองของญี่ปุ่น[30]: 465–6  หลังสงครามยุติในปี 2488 ประเทศไทยลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามกับสหราชอาณาจักร

ในเดือนมิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างเป็นปริศนา และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชทรงสืบราชสมบัติต่อมา รัฐประหารปี 2490 โดยฝ่ายนิยมเจ้าและทหารทำให้คณะราษฎรหมดอำนาจทางการเมือง และเข้าสู่ยุค "การเมืองสามเส้า" ในระหว่างปี 2490 ถึง 2500 โดยแปลก, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, และเผ่า ศรียานนท์ คานอำนาจกัน ในปี 2497 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีโต้) เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[30]: 493  ในปี 2500 ฝ่ายนิยมเจ้าและอนุรักษนิยมรัฐประหารโดยมีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้า จอมพลสฤษดิ์ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาสร้างความชอบธรรมโดยตอกย้ำสภาพสมมติเทพของกษัตริย์ และผูกโยงความจงรักภักดีต่อรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์[30]: 511  รัฐบาลมุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา[30]: 514  และในปี 2504 หลังสหรัฐเข้าสงครามเวียดนาม เกิดสัญญาลับซึ่งสหรัฐให้การคุ้มครองไทย[30]: 523 

สงครามเวียดนามเร่งให้เกิดการทำให้ทันสมัยและการกลายเป็นตะวันตกของสังคมไทย มีการอพยพจากชนบทสู่เมืองเพื่อหางาน ชาวนาในชนบทเกิดสำนึกเรื่องชนชั้นและรวมตัวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2507[30]: 528  การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการศึกษาทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษา มีรายได้พอสำหรับการให้การศึกษาแก่บุตร และสามารถเปลี่ยนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้[30]: 534  ในเดือนตุลาคม 2514 มีการชุมนุมใหญ่ต่อต้านเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร และมีการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต[30]: 541–3  ที่เรียก "เหตุการณ์ 14 ตุลา" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีนับว่าพระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงครั้งแรกนับแต่ปี 2475[12] ผลของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดประชาธิปไตยระบบรัฐสภาช่วงสั้น ๆ[12] ที่มักเรียกว่า "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน"

ร่วมสมัย

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งการแพร่หลายของวรรณกรรมคอมมิวนิสต์[30]: 544, 546  ในช่วงนั้นรัฐบาลผสมหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชไม่มั่นคงและคอมมิวนิสต์ชนะทั้งในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา[30]: 547  สถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนมากมองว่านักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกคอมมิวนิสต์ชี้นำ ทำให้มีการสนับสนุนองค์การฝ่ายขวาต่าง ๆ[30]: 548  ปลายปี 2519 เกิดการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน "เหตุการณ์ 6 ตุลา"[30]: 548–9  เป็นการปิดฉากการทดลองทางประชาธิปไตย กองทัพกลับเข้ามามีอำนาจ และการแสดงออกถูกปิดกั้น[30]: 549  หลังจากนั้น รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร "กลับไปใช้อำนาจนิยมยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช"[30]: 552  นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายหนีเข้าป่าและออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลเริ่มเสียการสนับสนุนจากกองทัพ จนมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2520[30]: 552–3  รัฐบาลใหม่ของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่สามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาผู้ลี้ภัยและการปะทะตามชายแดนกับเวียดนามทำให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[23]: 553–4 

การสู้รบกับคอมมิวนิสต์ยุติลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 2523[19]: 60  รัฐบาลสามารถนำผู้ก่อการเริบกลับเข้าสู่สังคมและจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2526[30]: 557  พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีแปดปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2531[13] ได้แก่ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เขาดูแลกองทัพที่เป็นพวกของตน ทำให้กองทัพอีกฝ่ายยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ทีแรกเขาให้สัญญาว่าจะไม่รับอำนาจทางการเมืองแต่สุดท้ายเขาตระบัดสัตย์และเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่[23]: 572–3  ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล เกิดการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิต เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "พฤษภาทมิฬ" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เข้าเฝ้า แล้วหลังจากนั้นพลเอกสุจินดาก็ลาออก

ปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจ 40 ปีติดต่อกัน[36]: 3  ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง[30]: 576  รัฐบาลชวน หลีกภัยทำข้อตกลงกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ แต่ปัญญาชนหลายคนโจมตีว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือคนรวย และไม่สนใจการฉ้อราษฎร์บังหลวง[30]: 576  ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 นโยบายของเขาประสบความสำเร็จในการลดความยากจนในชนบท[37] และริเริ่มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า[38] ซึ่งทำให้เขาได้รับฐานเสียงขนาดใหญ่ในหมู่คนยากจน[39] ในปี 2547 เกิดคลื่นสึนามิพัดถล่มภาคใต้และเริ่มต้นความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง ในปี 2548 ทักษิณชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง โดยมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดเป็นประวัติการณ์[40] ตั้งแต่ปลายปี 2548 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ประท้วงขับไล่เขาออกจากตำแหน่ง สุดท้ายมีรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณในเดือนกันยายน 2549 รัฐบาลทหารปกครองประเทศหนึ่งปีจนมีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2550

พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในปี 2550 และจัดตั้งรัฐบาล ต่อมา พธม. จัดการชุมนุมใหญ่ในปี 2551 ซึ่งมีการปิดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรครัฐบาล 3 พรรค หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในปี 2552 และ 2553 ซึ่งครั้งหลังนี้ยุติลงด้วยการเข้าสลายการชุมนุมของทหารทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 70 คน ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง และเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล ในปีเดียวกัน เกิดมหาอุทกภัย มีพื้นที่ประสบภัย 65 จังหวัด นับเป็น "อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ"[41]

ปลายปี 2556 เกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ มีสาเหตุหลักจากสภาผู้แทนราษฎรผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ[42] เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองทัพยึดอำนาจการปกครองประเทศ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองพยายามจัดโครงสร้างการเมืองเพื่อสงวนอำนาจของอภิชน เพิ่มบทบาทและอำนาจของกองทัพขณะที่ลดอำนาจของประชาสังคมและการปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ[43]: 281–2  ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่กองทัพชี้นำประชาธิปไตย[44] หลังพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในปี 2559 และเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพก้าวเข้ามาเป็นผู้ชี้นำการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในช่วงหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่[43]: 286  ต่อมาในปี 2560 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับล่าสุด หลังการลงประชามติเมื่อปีก่อน

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติครองอำนาจยาวนานถึง 5 ปี 1 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน คสช.ก็ยอมให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในปี 2563 เริ่มเกิดการประท้วงในประเทศต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ตลอดจนมาตรการรับมือการระบาดทั่วของโควิด-19 ของรัฐบาล ในการประท้วงนั้นมีข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์[45] รวมทั้งมีกระแสสาธารณรัฐนิยมมากที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน[46]

ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายทหารสองพรรค[ต้องการอ้างอิง] ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นหัวหน้าพรรค ส่งผลให้พรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งกลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน

ภูมิประเทศ

ประเทศไทยตั้งอยู่กลางคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังอยู่บนคาบสมุทรมลายูด้วย อยู่ระหว่างละติจูด 5° ถึง 21° เหนือ และลองติจูด 97° ถึง 106° ตะวันออก มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดประเทศพม่าและลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร เป็นอันดับที่ 51 ของโลกและอันดับที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาร์ ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (maritime zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กว่า 323,488 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามันรวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้น 3,148 กิโลเมตร[47]

ประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดสูงที่สุดในประเทศไทย คือ ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[48] รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งเกิดจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ภาคกลางเป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก[19]: 103  ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู[49]: 22  ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ

ภูมิอากาศ

ภูมิอากาศของไทยส่วนใหญ่เป็นแบบ "ภูมิอากาศร้อนชื้นเขตร้อนหรือสะวันนา" ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปน[50] ส่วนปลายใต้สุดและตะวันออกสุดของประเทศมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 18–34 °C[51]

ประเทศไทยมี 3 ฤดูกาล ฤดูแรกเป็นฤดูฝนหรือฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ฝนตกหนักที่สุดในเดือนสิงหาคมและกันยายน[52]: 2  ฤดูหนาวหรือฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีอากาศแห้งและอุณหภูมิไม่ร้อนมาก ยกเว้นภาคใต้ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน[52]: 2  ส่วนฤดูร้อนหรือฤดูก่อนมรสุมกินเวลาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมซึ่งมีอากาศร้อน สำหรับภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลางและตะวันออกของประเทศไทย เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ปกติอุณหภูมิมักสูงถึง 40 °C ยกเว้นพื้นที่ชายฝั่ง ในทางตรงข้าม การพัดของลมเย็นจากประเทศจีนทำให้อุณหภูมิต่ำลง ซึ่งบางกรณีอาจเข้าใกล้หรือต่ำกว่า 0 °C ได้[52]: 3  ภาคใต้มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันกลางคืนและระหว่างฤดูกาลน้อยเนื่องจากอิทธิพลของทะเล[52]: 3 

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศมีฝนตกเฉลี่ยทั้งปี 1,200 ถึง 1,600 มิลลิเมตร[52]: 4  แต่ในบางพื้นที่ที่เป็นฝั่งรับลมของภูเขา เช่น จังหวัดระนองและจังหวัดตราดมีปริมาณฝนกว่า 4,500 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนบริเวณแห้งแล้งคือฝั่งรับลมของหุบเขาภาคกลางและส่วนเหนือสุดของภาคใต้ซึ่งมีปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร[52]: 4  ในภาคใต้ ฝนตกหนักเกิดทั้งในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีมากสุดในเดือนกันยายนในฝั่งตะวันตก และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมในฝั่งตะวันออก[52]: 4 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกเดือด[53] มีอากาศร้อนในฤดูหนาว[54] รวมถึงมีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากเอลนีโญ[55] ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะสุขภาพของประชากรไทยโดยรวม[56]

ความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคเกษตรกรรม และประเทศไทยมีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด[19]: 103  พื้นที่ราว 29% ของประเทศเป็นป่าไม้ รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง[57] ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง) และอีกเกือบ 20% เป็นเขตป่าสงวน[57] ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก[58] ในประเทศไทย พบนก 982 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งมีการบันทึก[59]

การลักลอบล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ยังเป็นปัญหาสำคัญ นักล่ามักฆ่าสัตว์อย่างเสือโคร่ง เสือดาวและแมวใหญ่อื่นเพื่อเอาหนัง มีการเลี้ยงหรือล่าสัตว์หลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง หมี จระเข้และงูจงอางเพื่อเอาเนื้อ แม้การค้าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ผิดกฎหมาย แต่ตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพมหานครยังขึ้นชื่อเรื่องการขายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อยู่[60]

การเมืองการปกครอง

ราชธานีของคนไทยแต่โบราณล้วนปกครองระบอบราชาธิปไตยตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา มีการรวมอำนาจปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบตะวันตก ครั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงราชย์ตั้งแต่ปี 2559 ทรงถูกจำกัดพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญและมีสถานภาพเป็นประมุขแห่งรัฐในทางพิธีการ ทรงเป็นจอมทัพไทย กฎหมายบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงมีอำนาจแต่งตั้งรัชทายาท พระราชทานอภัยโทษ และพระราชทานพระบรมราชานุญาต อย่างไรก็ดี พระมหากษัตริย์ยังมีการแทรกแซงการเมืองไทยโดยตรงอยู่เป็นระยะ[a] และรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยได้ตามประเพณี พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศ ทั้งนี้ มีผู้อธิบายพระราชอำนาจตามประเพณีหรือโดยพฤตินัยว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจดังกล่าวจะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน"[61]: 461  ทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของชาวไทยแตกต่างกันไปตามรัชกาล[62][63]

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ นับเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในทวีปเอเชีย ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูงและมีรัฐประหารหลายครั้ง รัฐธรรมนูญมักถูกเปลี่ยนโดยผลของรัฐประหาร ประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[64] ในปี 2558 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 55 ปี จาก 83 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475"[65] รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผลพวงจากเหตุการณ์นั้นทำให้เกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564

ในทางพฤตินัย ปัจจุบันประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์การเมืองระบุว่าระบอบดังกล่าวมาจากการเลือกตั้งที่มีข้อบกพร่องและเป็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพ[66] รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ระบุว่า ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือใช้ว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้

กองทัพและอภิชนข้าราชการประจำควบคุมพรรคการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2489 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 (ประมาณปี 2523)[67]: 16  พรรคการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่มีความเป็นสถาบัน (institutionalize) ต่ำและแทบทั้งหมดมีอายุสั้น[68]: 246  ระหว่างปี 2535–2549 ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองเป็นแบบสองพรรคหลัก[68]: 245  และมีแนวโน้มเป็นระบบพรรคเดียว (พรรคไทยรักไทย) มากขึ้นจนถึงปี 2549[68]: 244 

ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 37 วันนับเป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยคนที่ 11 ที่ได้ดำรงตำแหน่งหรือมีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐสภาจะคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่ พลเอกประยุทธ์ในเวลาต่อมาถึงแม้จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แต่รัฐบาลยังคงรักษาการต่อไปอีก ส่งผลให้ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 63 ปี 3 เดือน จาก 91 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475[69]

อย่างไรจำนวนปีดังกล่าวไม่นับ ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะซึ่งไม่ได้เป็นทหารอาชีพหลายตำราจึงให้เป็นนายกพลเรือนมากกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารหากนับจะเพิ่มเป็น 65 ปี 11 เดือน จาก 91 ปี จึงสรุปได้ว่าหากรวมร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่มียศทหารครองอำนาจร้อยละ 72 จากระยะเวลาทั้งหมด 91 ปี

อนึ่ง ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร 11 รายซึ่งสามรายจากสิบเอ็ดรายเป็นพลเรือน อาทิ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อานันท์ ปันยารชุน พจน์ สารสิน โดยได้รับตำแหน่งภายหลังรัฐประหาร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารหรืออดีตทหารที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารด้วยเช่นกัน อาทิ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคการเมืองซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ชัยชนะของพรรคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของตลอด 22 ปี ได้พ่ายแพ้เป็นครั้งแรกโดยพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

อย่างไรก็ตามพรรคที่ทักษิณเป็นเจ้าของได้จัดตั้งรัฐบาลโดยเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งเป็นพรรคทหารที่ก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557สร้างความตกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมากเนื่องจากพรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารกลับนำพรรคการเมืองที่มีส่วนในการรัฐประหารเชิญเข้าร่วมรัฐบาลและพร้อมเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้แก่บุคคลสำคัญของพรรค นับเป็นการตระบัดสัตย์อีกครั้งหนึ่งของบุคคลที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงเพื่อที่จะได้คะแนนเสียงจากวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12ที่มาจากทหารในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น

การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีการจัดระเบียบราชการออกเป็นสามระดับ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนภูมิภาคจัดระเบียบเป็น 76 จังหวัด โดยจังหวัดเป็นการแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล[10] ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและปลัดอำเภอมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลกลาง จังหวัดล่าสุดของประเทศไทย คือ จังหวัดบึงกาฬซึ่งแยกจากจังหวัดหนองคายในปี 2554 ประเทศไทยมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล เมืองและนครรวม 7,852 แห่ง[70] สำหรับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สำหรับปริมณฑลและภูมิภาคไม่ใช่การแบ่งเขตการปกครองตามกฎหมาย ทั้งนี้ มีการแบ่งประเทศไทยออกเป็น 4 ถึง 6 ภาค แล้วแต่แหล่งอ้างอิง

แผนที่ประเทศไทยแบบคลิกได้ เมื่อคลิกที่ชื่อจังหวัดแล้วจะลิงก์ไปบทความจังหวัดนั้น ๆ

จังหวัดเชียงรายจังหวัดพะเยาจังหวัดน่านจังหวัดแพร่จังหวัดอุตรดิตถ์จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูนจังหวัดเชียงใหม่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจังหวัดเลยจังหวัดหนองคายจังหวัดบึงกาฬจังหวัดหนองบัวลำภูจังหวัดอุดรธานีจังหวัดสกลนครจังหวัดนครพนมจังหวัดชัยภูมิจังหวัดขอนแก่นจังหวัดกาฬสินธุ์จังหวัดมุกดาหารจังหวัดมหาสารคามจังหวัดร้อยเอ็ดจังหวัดยโสธรจังหวัดอำนาจเจริญจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดบุรีรัมย์จังหวัดสุรินทร์จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดอุบลราชธานีจังหวัดสุโขทัยจังหวัดพิษณุโลกจังหวัดกำแพงเพชรจังหวัดพิจิตรจังหวัดเพชรบูรณ์จังหวัดนครสวรรค์จังหวัดอุทัยธานีจังหวัดชัยนาทจังหวัดสิงห์บุรีจังหวัดลพบุรีจังหวัดสุพรรณบุรีจังหวัดอ่างทองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจังหวัดสระบุรีจังหวัดนครปฐมจังหวัดนนทบุรีจังหวัดปทุมธานีจังหวัดนครนายกจังหวัดสมุทรสงครามจังหวัดสมุทรสาครกรุงเทพมหานครจังหวัดสมุทรปราการจังหวัดฉะเชิงเทราจังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดสระแก้วจังหวัดชลบุรีจังหวัดระยองจังหวัดจันทบุรีจังหวัดตราดจังหวัดตากจังหวัดกาญจนบุรีจังหวัดราชบุรีจังหวัดเพชรบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จังหวัดระนองจังหวัดชุมพรจังหวัดสุราษฎร์ธานีจังหวัดพังงาจังหวัดภูเก็ตจังหวัดกระบี่จังหวัดนครศรีธรรมราชจังหวัดตรังจังหวัดพัทลุงจังหวัดสตูลจังหวัดสงขลาจังหวัดปัตตานีจังหวัดยะลาจังหวัดนราธิวาส


การแบ่งจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยออกเป็น 6 ภาค ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2478[71]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อาณาจักรโบราณของไทยมีความสัมพันธ์เป็นรัฐบรรณาการของจีน ส่วนความสัมพันธ์กับรัฐใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่จะเน้นการรวบรวมอาณาจักรของคนไทซึ่งรวมทั้งสุโขทัย ล้านนา นครศรีธรรมราช และล้านช้าง ส่วนความสัมพันธ์กับพม่าและเวียดนามเป็นไปในลักษณะการทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ โดยมีการแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือกัมพูชากับเวียดนามตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนความสัมพันธ์ด้านการค้านั้น กรุงศรีอยุธยามีการค้าขายกับชาติในเอเชียและตะวันตกและเป็นเมืองท่าสำคัญ

นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศสยามเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก นำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งเป็นสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม รัฐบาลลงนามสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับชาติตะวันตกหลายประเทศเพื่อหวังสร้างความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเพื่อให้ชาติเหล่านั้นถ่วงดุลกันเอง ประเทศสยามไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกซึ่งสาเหตุบางส่วนเนื่องจากบริเตนและฝรั่งเศสตกลงให้สยามเป็นรัฐกันชน ประเทศสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ได้แก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม และในสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่น แต่กลับได้สถานะผู้ชนะสงครามไปด้วย จนได้ชื่อว่า "การทูตไม้ไผ่" หรือ "การทูตลู่ตามลม"[72]

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากับผู้นำประเทศอาเซียนต่าง ๆ ในปี 2559

การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงสงครามเย็น[21]: 214  ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐมาตั้งแต่การลงนามองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2497 และดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น มีการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ไทยอนุญาตให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศ อย่างไรก็ดี หลังจากสหรัฐถอนกำลังออกจากเวียดนาม ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายไปปรับความสัมพันธ์กับประเทศจีนแทน จนมีการเลิกการอนุญาตให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศไทยและปรับความสัมพันธ์ทางทูตกับจีนอย่างเป็นทางการในปี 2518[21]: 216 

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไทยลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับประเทศบาห์เรน จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ชิลี และเปรู และความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอาเซียน และความตกลงการค้าพหุภาคี (ในฐานะอาเซียน) กับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์[73] สมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าประเทศไทยจะเลิกรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศและทำงานร่วมกับประเทศผู้บริจาคเพื่อช่วยพัฒนาประเทศพื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทักษิณมุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาค แต่เขาก็สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเผด็จการทหารพม่า รวมทั้งการให้สินเชื่อ[74] ในสมัยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเทศไทยมีข้อพิพาทกับประเทศกัมพูชาเหนือความเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร เกิดกรณีพิพาทพรมแดนระหว่างปี 2551–2554 หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับชาติตะวันตกเสื่อมลง และไทยหันไปเข้ากับประเทศจีนมากขึ้น[75]

กองทัพ

เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ไฟทิงฟอลคอนของกองทัพอากาศไทย

พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยโดยนิตินัย ในทางปฏิบัติ กองทัพอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้สั่งการ และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บัญชาการ กองทัพไทยแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ทุกวันนี้กองทัพไทยมีกำลังทหารทั้งสิ้น 1,025,640 นาย และมีกำลังหนุนกว่า 200,000 นาย และมีกำลังกึ่งทหารประจำการกว่า 113,700 นาย[76] ในปี 2558 เครดิตสวิสจัดอันดับว่าประเทศไทยมีดัชนีกำลังทางทหารสูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก[77] งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 78,100 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 207,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของจีดีพี[78][79]

ประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหาร ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศอำนาจทางบกตามแบบที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งกองทัพอากาศขนาดใหญ่พอสมควรและมีสมรรถนะกองทัพเรือที่เพิ่มขึ้น[80]: 26  อย่างไรก็ดี การซื้อเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเครื่องบิน มีปัจจัยด้านเกียรติภูมิเข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอย[80]: 33  ประเทศไทยเคยส่งกำลังพลเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศติมอร์ตะวันออก และดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน[81]: 135 

หน้าที่หลักของกองทัพไทยคือการรับมือภัยคุกคามในประเทศมากกว่านอกประเทศ[82] กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย โดยมีอำนาจหน้าที่ทางสังคมและเศรษฐกิจของราชการพลเรือนด้วย และยังมีภารกิจในการต่อต้านประชาธิปไตย[82] กองทัพไทยขึ้นชื่อเรื่องมีทหารทุจริต เช่น จากกรณีการซื้อยุทธภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานหรือแพงเกิน การลักลอบค้ามนุษย์[83] การปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์อย่างเลว[84] รวมทั้งการใช้เส้นสายฝากตั้งญาติเป็นนายทหาร[85]

อาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมาย

คดีอาชญากรรมรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณร้อยละ 1.3 ระหว่างปี 2540–2554 ในช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร (กุมภาพันธ์–เมษายน 2546) อาชญากรรมยาเสพติดลดลงร้อยละ 64.6 แต่การฆ่าคนและอาชญากรรมอื่นต่อบุคคลเพิ่มขึ้น[86]: 162  จังหวัดชลบุรีและภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีอาชญากรรมสูงสุดสองอันดับแรก แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาชญากรรมรุนแรง[86]: 162  อัตราชำระคดี (clear-up) ของตำรวจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 86.78 ระหว่างปี 2550–2554[86]: 163  อัตราอาชญากรรมถ่วงน้ำหนักแปรผันตรงกับจำนวนแรงงานเข้าเมืองมิชอบด้วยกฎหมาย แต่แปลผกผันกับคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ จำนวนพระภิกษุและความหนาแน่นของประชากร[86]: 163  ประเทศไทยมีปัญหาจำนวนอาวุธปืนมาก ชาวไทยประมาณร้อยละ 10 เป็นเจ้าของปืน และมีอัตราการเสียชีวิตเกี่ยวกับปืนที่มีรายงานสูงสุดในทวีปเอเชีย[87] สหประชาชาติวิจารณ์ประเทศไทยว่าไม่สามารถขจัดความเป็นทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคประมง[88]

สถิติปี 2555 พบว่าชาวไทยประสบเหตุอาชญากรรม 152,228 คน เป็นอาชญากรรมต่อทรัพย์สินมากที่สุด (ร้อยละ 92.5)[89]: v  ทรัพย์สินที่ถูกขโมยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำติดตัวไปได้ นอกจากนั้นเป็นเครื่องใช้นอกและในบ้าน เครื่องประดับ เป็นต้น[89]: vi  ประสบเหตุอาชญากรรมต่อชีวิตและร่างกาย 7,879 คน เป็นการถูกทำร้ายร่างกายมากที่สุด (ร้อยละ 79.8)[89]: vii  ส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุอาชญากรรมไม่ได้แจ้งตำรวจ โดยเฉลี่ยร้อยละ 66.6 ยกเว้นอาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมต่อชีวิตและร่างกายที่มีการแจ้งตำรวจเกินครึ่ง (ร้อยละ 67.2 และ 55 ตามลำดับ)[89]: 26 

มีรายงานว่า กำลังความมั่นคงบางครั้งใช้กำลังเกินกว่าเหตุและถึงตายต่อผู้ต้องสงสัยและมีวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าคนตามอำเภอใจและการฆ่าคนไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีการทรมานและทุบตีผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดคำสารภาพ[90] ประเทศไทยมีผู้ต้องขังประมาณ 306,000 คนในปี 2559[90] ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย[91] ผู้ต้องขังก่อนพิจารณาคดีในศาลคิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรเรือนจำ ในปีงบประมาณ 2559 มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว 762 คน[90] มีหลายกรณีที่กล่าวหาว่าตำรวจใช้อำนาจมิชอบ แต่ผู้ถูกกล่าวหามักไม่ถูกลงโทษ[90] ในศาลพลเรือน รัฐบาลจัดหาความช่วยเหลือทางกฎหมาย แต่มีรายงานว่าความช่วยเหลือดังกล่าวมีคุณภาพต่ำ[90]

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหลายภาคส่วนของประเทศ[88] หลังรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายตุลาการถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างสูง กระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทยมักช้าและบางทีมีการใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อมีผลต่อคำพิพากษา[88] ฝ่ายความมั่นคงในประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นสถาบันที่ฉ้อฉลที่สุดในประเทศเนื่องจากความพัวพันกับการเมืองและระบบอุปถัมภ์[88] บริษัทที่ไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันเทียบกับบริษัทอื่น[88] มีการฮั้วประมูล[88] การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยมีความผันแปรและการดำเนินคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวงระดับสูงอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง[88]

ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยมีการเรียกว่า "อาจเป็นกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทที่รุนแรงที่สุดในโลก"[92] และ "โหด"[93] องค์การนิรโทษกรรมสากลถือว่าผู้ถูกจำคุกฐานดังกล่าวเป็นนักโทษการเมือง[94] คณะทำงานว่าด้วยการกักขังโดยพลการของสหประชาชาติถือว่าการกักขังก่อนพิจารณาคดีถือว่าละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[95]

เศรษฐกิจ

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในรูปตัวเงิน16.56 ล้านล้านบาท (2563)[96]
การเติบโตของจีดีพี3.9% (2560)[97]
ดัชนีราคาผู้บริโภค
• ทั่วไป
• พื้นฐาน

1.23% (2564)
0.23% (2564)
[98]
อัตราการมีส่วนร่วมกำลังแรงงาน68.0% (2560)[99]: 29 
อัตราการว่างงาน1.2% (2560)[97]
หนี้สาธารณะรวม9.83 ล้านล้านบาท (ก.พ. 2565)[100]
ความยากจน8.61% (2559)[99]: 36 
ทรัพย์สินครัวเรือนสุทธิ20.34 ล้านล้านบาท (2553)[101]: 2 
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ กรุงเทพมหานครเป็นนครที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ในทวีปเอเชีย[102]: 85 

ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบผสม ประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซีย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจัดให้ประเทศไทยเป็น "ผู้ประสบความสำเร็จสูง" ในเอเชียตะวันออก[103] ในปี 2556 ประเทศไทยมีดัชนีการรับรู้การทุจริตค่อนข้างต่ำ โดยอยู่อันดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ[104] ธนาคารโลกจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศมีรายได้ปานกลาง-สูงในปี 2554[105]

ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 24 ของโลก ในปี 2556 การส่งออกเป็นสัดส่วน 74% ของจีดีพี[106] ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากที่สุดคือ 38.1% ภาคการค้าส่ง ค้าปลีกมีสัดส่วนต่อจีดีพี 13.4% ภาคการขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนต่อจีดีพี 10.2% ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนต่อจีดีพี 8.3% ในปี 2552–2553 ประเทศไทยส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบออก ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ มูลค่า 48,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 25% ของมูลค่าการส่งสินค้าออก[103] มีมูลค่าการนำเข้าเป็นอันดับที่ 23 ของโลก ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย ฮ่องกงและเกาหลีใต้[107] เครื่องจักรเป็นทั้งสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย[108] องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) เป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของไทย[109]

ประเทศไทยมีกำลังแรงงาน 39.38 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 15.41 ล้านคน หรือ 39.1% ของกำลังแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ค่าแรงขั้นต่ำทางการทุกจังหวัดเป็น 300 บาท อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ที่ 1.2%[97] ซึ่งน้อยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่แนวโน้มแรงงานกว่าครึ่งประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคงหรืออาชีพที่ไม่เป็นทางการ[110] กับทั้ง 40% มีปัญหาการทำงานต่ำระดับ[111] ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ย้ายถิ่นขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคน โดยหนึ่งในสามเป็นผู้ถือใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ส่วนแรงงานไม่สม่ำเสมอคาดว่ามีอีกประมาณ 1–2 ล้านคน[112] หลังรัฐประหารปี 2557 แรงงานต่างด้าวกัมพูชาหลบหนีกลับประเทศจำนวน 180,000 คนหลังรัฐบาลประกาศปราบปราม[113] หลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้มีแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศหลายหมื่นคน[114] ในปี 2560 เศรษฐกิจไทยมีแรงงานนอกระบบ (คือแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันสังคม) 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ของผู้มีงานทำ[115]: iii 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเป็นประเทศยากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยซบเซามาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ[36]: 3  ระหว่างปี 2508 ถึง 2539 ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้นต่อคนเติบโตร้อยละ 7 ต่อปี และระหว่างปี 2530 ถึง 2539 เรียกว่าเป็นช่วง "เศรษฐกิจบูม" เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งมาจากการลงทุนระดับสูงมาก[36]: 3  การเติบโตของหุ้นเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจเติบโตกว่าครึ่ง[36]: 9  การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วงเศรษฐกิจบูมเป็นการไหลเข้าของทุนระยะสั้นร้อยละ 23[36]: 12  วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 มีสาเหตุระยะยาวหลายอย่าง แต่ชนวนเหตุที่บั่นทอนความเชื่อมั่นเกิดจากการเติบโตของการส่งออกลดลงอย่างรุนแรงในปี 2539[36]: 21–2  จีดีพีของไทยหดตัวร้อยละ 10.5 ในปี 2541[36]: 30 

ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินในปี 2546[36]: 53  การฟื้นตัวทางเศรษฐกิของไทยล่าช้าเพราะขาดอุปทานรวม[36]: 32  ระหว่างปี 2542 ถึง 2550 จีดีพีไทยเติบโตระหว่างร้อยละ 2.1 ถึง 7.1 ต่อปี[116] ด้วยการขาดเสถียรภาพจากการประท้วงใหญ่ในปี 2553 การเติบโตของจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ราวร้อยละ 4–5 ลดลงจากร้อยละ 5–7 ในรัฐบาลพลเรือนก่อน ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค[117] นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ที่เรียก ประชารัฐ ทำให้เกิดทุนนิยมแบบลำดับชั้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเชื้อสายจีนเข้าไปเลี้ยงดูและชี้นำธุรกิจในท้องถิ่น[43]: 300  เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.1 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 นับเป็นการหดตัวมากที่สุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง[118] หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 7 ปี (จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564) รัฐบาลกู้เงินแล้ว 8.47 ล้านล้านบาท[119] และมีตัวเลขในเดือนมิถุนายน 2565 ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42.50 เป็นร้อยละ 60.58 ใน 8 ปี[120]

ความมั่งคั่ง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

สัดส่วนความมั่งคั่งที่ครัวเรือนถือครองแบ่งตามเปอร์เซนไทล์ของครัวเรือน[121]: 15–6 
เปอร์เซนไทล์สัดส่วน
ต่ำสุดร้อยละ 200.5
ต่ำสุดร้อยละ 403.5
ต่ำสุดร้อยละ 6012.5
สูงสุดร้อยละ 2069.5

ประเทศไทยมีความมั่งคั่งมัธยฐานต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน 1,469 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2559[121]: 98  เพิ่มขึ้นจาก 605 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2543[121]: 34  ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 55 ของดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลกในปี 2560[122] หลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ภาคครัวเรือนยังมีสภาพคล่องดี และมีความสามารถในการดำรงการบริโภคได้ แม้มีรายได้สุทธิต่อค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 แต่การบริโภคไม่ได้ลดลง[101]: 3  ในปี 2559 ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยอยู่ในอันดับที่ 87 [103] และดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ปรับความเหลื่อมล้ำแล้วอยู่อันดับที่ 70[123] กรุงเทพมหานครซึ่งมีผลิตภัณฑ์จังหวัดสูงสุดมีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดเป็น 406.9 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีน้อยที่สุด[เชิงอรรถ 2]

ในปี 2560 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,946 บาท[125]: 1  ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 45.0 และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 7.1[125]: 4  กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดมีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาทต่อคนต่อเดือนมีจำนวน 26.9 ล้านคน[126]: 5  ในปี 2556 ผู้ประท้วงกลุ่ม กปปส. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 32) มีรายได้ครัวเรือนเกิน 50,000 บาทต่อเดือน ส่วน นปช. ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 27) มีรายได้ครัวเรือน 10,000–20,000 บาทต่อเดือน[127]: 7 

ในปี 2559 สถาบันการเงินเครดิตสวิสรายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากประเทศรัสเซียและอินเดีย[128] คนรวยสุดร้อยละ 10 ถือครองทรัพย์สินร้อยละ 79 ของประเทศ[128] มหาเศรษฐีไทย 50 ครอบครัวแรกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมคิดเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพีไทย[128]

ในปี 2559 ประเทศไทยมีคนยากจน 5.81 ล้านคน หรือร้อยละ 8.6 ของประชากร แต่หากนับรวม "คนเกือบจน" (near poor) ด้วยจะเพิ่มเป็น 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.2 ของประชากร[126]: 1  ในปี 2559 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือมีสัดส่วนคนจนร้อยละ 12.96, 12.35 และ 9.83 ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ[126]: 2  ในปี 2560 มีผู้มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี) เพื่อรับสวัสดิการจากรัฐเป็นจำนวน 14 ล้านคน[128] ปลายปี 2560 ประเทศไทยมีหนี้สินครัวเรือน 11.76 ล้านล้านบาท[99]: 5  ในปี 2553 ครัวเรือนที่มีปัญหาล้มละลาย (ทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน) คิดเป็นร้อยละ 3 ของครัวเรือนทั้งประเทศ[101]: 5  ในปี 2560 ครัวเรือนที่มีที่อยู่อาศัยถาวรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.69 ของครัวเรือนทั้งประเทศ[99]: 36  ในปี 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพประมาณการว่ามีคนไร้บ้านทั่วประเทศ 30,000 คน[129]

ปีพ.ศ. 2566 จำนวนผู้ที่ได้จับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนมีทั้งสิ้น 14.2 ล้านคน[130]

เกษตรกรรม

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

การพัฒนาการเกษตรตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ[131] ในพื้นที่ชนบท อาชีพเกษตรกรรมคิดเป็นกึ่งหนึ่งของการจ้างงาน[131] ในปี 2555 ประเทศไทยมีที่ดินเพาะปลูกได้ 165,600 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 32.3% ของพื้นที่ประเทศ[132] ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 55% ใช้ปลูกข้าว ในปี 2551 ประเทศไทยส่งข้าวออกราว 10 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 33% ของการค้าข้าวทั่วโลก[133] ข้าวเป็นพืชผลสำคัญสุดของประเทศ และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งมาช้านาน จนประเทศอินเดียและเวียดนามแซงเมื่อไม่นานนี้[134]

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ที่สุดของโลก[135] คิดเป็นร้อยละ 40 ของยางธรรมชาติโลก[136] พืชที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุดอื่น ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เนื้อไก่ เนื้อหมู มะม่วง มังคุด ฝรั่ง สัปปะรด รวมทั้งพวกผลไม้เขตร้อน[132] กุ้ง ข้าวโพดและถั่วเหลือง[137] ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก[138] ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่สุดในอาเซียน[139]

อุตสาหกรรม

คนงานสายการผลิตในโรงงานในจังหวัดฉะเชิงเทรา

บริษัทเกือบทั้งหมดของไทย กว่า 2.7 ล้านวิสาหกิจ คิดเป็นร้อยละ 99.7 จัดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในปี 2560 SME คิดเป็นการจ้างงานร้อยละ 80.3 ของการจ้างงานทั้งหมด (13 ล้านคน) ในปี 2556 สัดส่วนต่อจีดีพีของ SME อยู่ที่ร้อยละ 37.4 มีรายงานว่า SME ร้อยละ 70 ปิดกิจการภายใน "ไม่กี่ปี"[140]:47

อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นภาคส่งออกใหญ่สุดของไทย คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของการส่งออกทั้งหมด ในปี 2557 การส่งออกดังกล่าวรวมมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีคนงานประมาณ 780,000 คนในปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 12.2 ของการจ้างงานทั้งหมดในภาคการผลิต แต่ผู้ผลิตกำลังย้ายการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าประเทศไทย[141] อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก[142] โดยมีการจ้างงานประมาณ 417,000 ตำแหน่งในปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีประเทศ[143]:12-13 คนงานกว่าร้อยละ 70 ในทั้งสองภาคมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียงานให้กับหุ่นยนต์[143]:39, xix

พลังงาน

โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จังหวัดระยอง

ประเทศไทยเป็นผู้นำน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเข้าสุทธิ มีการผลิตและปริมาณสำรองน้ำมันน้อยและต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่เพื่อการบริโภค แม้ว่ามีปริมาณสำรองแก๊สธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วขนาดใหญ่ แต่ยังต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับอุปทานในประเทศ การบริโภคพลังงานหลักของประเทศไทยมาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ คิดเป็นกว่า 80% ของทั้งหมด ในปี 2553 ประเทศไทยบริโภคพลังงานจากน้ำมันมากที่สุด (39%) รองลงมาคือ แก๊สธรรมชาติ (31%) ชีวมวลและของเสีย (16%) และถ่านหิน (13%) ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศสิงคโปร์ เชื้อเพลิงดีเซลเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการขนส่ง[144] ในปี 2558 ประเทศไทยมีการนำเข้าซึ่งพลังงานขั้นต้นสุทธิเทียบเท่าน้ำมัน 1.253 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว และแก๊สธรรมชาติจากประเทศพม่า[145] ปัญหาราคาน้ำมันในไทยมีสาเหตุมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่มีการเก็บภาษีและเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ถึง 35–60% ของราคาหน้าปั๊ม[146] การอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพที่แพงกว่าน้ำมันปกติ และการปล่อยให้เอกชนกำหนดค่ากลั่นน้ำมันได้เอง[147]

ในปี 2554 ประเทศไทยมีสมรรถภาพติดตั้งผลิตไฟฟ้าประมาณ 32.4 กิกะวัตต์ โดยผลิตจากแก๊สธรรมชาติมากที่สุด (71%) ประเทศไทยคิดสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการพึ่งพาแก๊สธรรมชาติ แต่หลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิในปีนั้น ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกที่เสนอถูกเลื่อนไปหลังปี 2569[144] ในปี 2565 มีการเปิดเผยว่าประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40–60% แต่ค่าไฟฟ้ายังแพงอยู่เพราะมีค่าพร้อมจ่ายให้กับเอกชนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจนเป็นภาระของผู้บริโภค[148]

การขนส่ง

แผนที่ถนนในประเทศไทย

การขนส่งทางถนนเป็นภาคหลักของการขนส่งผู้โดยสารและค่าระวางในประเทศไทย[149]: 269  โดยคิดเป็นร้อยละ 85 และ 86 ของการขนส่งทางบกทั้งหมดตามลำดับ[150]: 25  ประเทศไทยมีทางหลวงความยาว 390,000 กิโลเมตร[151] และมีเครือข่ายถนน 462,133 สาย[152] เป็นเครือข่ายทางหลวง 51,776 กิโลเมตรที่เชื่อมภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีทางด่วนสองเส้นทาง ซึ่งเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเขตอุตสาหกรรมโดยรอบ รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร[150]: 22  อุตสาหกรรมขนส่งค่าระวางในประเทศไทยอาศัยรถบรรทุกถึงร้อยละ 80[149]: 276  ในปี 2560 ประเทศไทยมียานพาหนะจดทะเบียน 37 ล้านคัน เป็นรถจักรยานยนต์ 20 ล้านคัน และมีที่ไม่ได้จดทะเบียนอีกหลายล้านคัน[152] ในปี 2555 ประเทศไทยมีอัตราเป็นเจ้าของยานพาหนะ 488 คันต่อประชากร 1,000 คน มากเป็นอันดับสองของอาเซียน[153]: 40  ในปี 2561 มีรถแท็กซี่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 80,647 คัน[154] และมีการดำเนินการรถตู้สาธารณะ 114 เส้นทางจากกรุงเทพมหานคร[155] ในปี 2559 ประเทศไทยเป็นประเทศที่การจราจรติดขัดมากที่สุดในโลก[156] สหประชาชาติจัดอันดับถนนในประเทศไทยว่าอันตรายสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก โดยมียอดผู้เสียชีวิตจากยานพาหนะกว่า 30,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นอัตราต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศลิเบีย[151]

ประเทศไทยมีรางรถไฟยาว 4,034 กิโลเมตร และการขนส่งสินค้าทางรางคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของน้ำหนักบรรทุกทั้งหมดในปี 2558[151] ในปี 2555 มีผู้โดยสารทางราง 41 ล้านคน[153]: 59  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการเส้นทางรางแห่งชาติของประเทศ ซึ่งถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพและไม่ยอมเปลี่ยนแปลง รถไฟมักช้าและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เก่าและมีการบำรุงรักษาไม่ดี ความพยายามของรัฐบาลในการจัดโครงสร้างใหม่และโอนเป็นของเอกชนถูกสหภาพคัดค้านอย่างหนักตลอดมา[157][158] ในช่วงปีหลัง มีความพยายามก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

ประเทศไทยมีท่าอากาศยานพาณิชย์ 38 แห่ง[159]: 3  ในปี 2559 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดของประเทศและเป็นอันดับที่ 20 ของโลก[160] ประเทศไทยมีทางน้ำในประเทศที่ใช้เดินเรือได้ 1,750 กิโลเมตร ประเทศไทยท่าเรือน้ำลึกระหว่างประเทศ 8 แห่ง[150]: 31  ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักของประเทศไทย ส่วนท่าเรือแม่น้ำมีทั้งหมด 132 แห่ง ซึ่งใช้สำหรับการขนส่งสินค้าขั้นต้นและสินค้าเกษตรเป็นหลัก[150]: 32 

การท่องเที่ยว

ในปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35.38 ล้านคน[161] จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมที่มีชาวต่างชาติ 336,000 ราย และทหารที่เข้ามาพัก 54,000 นายในปี 2510[162] ประเทศที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและลาว[161]

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศตั้งขึ้นในปี 2522[163] นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการจัดตั้งตำรวจท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ[161]

ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก 6 แหล่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน

ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559[164] รายงานความสามารถแข่งขันการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2558 จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 141 ประเทศ โดยประเทศไทยมีคะแนนสูงในด้านทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยว แต่มีคะแนนต่ำในด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยและความมั่นคง[165]

การค้าประเวณีและการท่องเที่ยวทางเพศถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ ประมาณการในปี 2546 ระบุมูลค่าไว้ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณร้อยละ 3 ของเศรษฐกิจ[166] เชื่อว่าเงินนักท่องเที่ยวอย่างน้อยร้อยละ 10 ใช้ค้าประเวณี[167]

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศนวัตกรรมมากที่สุดอันดับที่ 45 ในดัชนีนวัตกรรมบลูมเบิร์กปี 2561[168] ในปี 2556 ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพี เป็นรายจ่ายจากภาครัฐร้อยละ 51.3 และจากภาคเอกชนร้อยละ 48.7 รัฐบาลมีแผนใช้สิ่งจูงใจภาษีเพื่อเพิ่มการลงทุนของเอกชน[169]: 74  การวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยมีสัดส่วนงานวิจัยประยุกต์สูงกว่างานวิจัยพื้นฐานมาก ข้อมูลในปี 2552 พบว่าประเทศไทยมีนักวิจัย 38,500 คนหรือเทียบเท่าเต็มเวลา (FTE) 22,000 คน[169]: 74  ประเทศไทยมีจำนวนงานวิจัยตีพิมพ์มากเป็นอันดับสามในอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์[169]: 75  ในปี 2553 มีผู้ขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย 1,925 ฉบับ และมีการออกให้ 772 ฉบับ เกินครึ่งของผู้ขอจดสิทธิบัตรไม่ใช่พลเมือง และคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของสิทธิบัตรที่ออกให้[169]: 75  ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ลงนามองค์การความร่วมมืออวกาศเอเชีย-แปซิฟิก (APSCO) ซึ่งมีประเทศจีนเป็นผู้นำ[169]: 79 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2551 องค์กรส่งเสริมการวิจัยสำคัญอย่าง สวทช., สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ช่วยประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัท อุตสาหกรรมการผลิตของไทยส่วนใหญ่พึ่งพาการผลิตท้องถิ่นของบริษัทต่างชาติ ทำให้มีผลลัพธ์การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อย[169]: 80 

จุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอยู่ในสายอาหาร-เทคโนโลยีชีวภาพ-ชีววิทยาศาสตร์-เกษตรศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงาน และการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์[170]: 103 

ประชากรศาสตร์

ประชากร

ประชากรไทย
ปีประชากร±%
2453 8,131,247—    
2462 9,207,355+13.2%
2472 11,506,207+25.0%
2480 14,464,105+25.7%
2490 17,442,689+20.6%
2503 26,257,916+50.5%
2513 34,397,371+31.0%
2523 44,824,540+30.3%
2533 54,548,530+21.7%
2543 60,916,441+11.7%
2553 65,926,261+8.2%
แหล่งที่มา: [1] สำนักงานสถิติแห่งชาติ

กระทรวงมหาดไทยประมาณว่า ประเทศไทยมีประชากร 69,183,173 คน[171] ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก แต่คาดว่าประชากรจะลดลงก่อนปี 2563[172]: i  ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราเจริญพันธุ์ลดลงเร็วที่สุดในโลก ระหว่างปี 2513 ถึง 2533 อัตราเจริญพันธุ์ระหว่างประเทศลดลงจาก 5.5 เหลือ 2.2 สาเหตุจากการคุมกำเนิด ขนาดครอบครัวที่ปรารถนาลดลง สัดส่วนผู้สมรสลดลง และการสมรสช้า[172]: i  ในปี 2552 อัตราเจริญพันธุ์รวมของไทยอยู่ที่ 1.5[172]: 4  ในปี 2553 อัตราการเกิดอย่างหยาบอยู่ที่ 13 ต่อ 1,000[172]: 31  คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2573[172]: 32  จำนวนประชากรในวัยทำงานทั้งหมดจะเริ่มลดลงหลังปี 2563[172]: 7 

จำนวนการเกิดของวัยรุ่นสูงขึ้น โดยสถิติหญิงอายุ 15–19 ปีที่เคยสมรสในปี 2553 มีประมาณ 330,000 คน[172]: 28  และในปี 2552 มีจำนวนการเกิดจากแม่อายุไม่เกิน 19 ปีจำนวน 765,000 คน[172]: 31  ในปี 2549–2552 มีการทำแท้งชักนำเกิน 60,000 คนต่อปี[172]: 28 

ประเทศไทยถือว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ราวร้อยละ 75–95 ของประชากรเป็นชาติพันธุ์ไท ซึ่งรวมสี่ภูมิภาคหลัก คือ ไทยกลางร้อยละ 30 อีสานหรือลาวร้อยละ 22 ล้านนาร้อยละ 9 และใต้ร้อยละ 7 และมีไทยเชื้อสายจีนร้อยละ 14 ของประชากร ที่เหลือเป็นไทยเชื้อสายมลายู ชาวมอญ ชาวเขมร และชาวเขาหลายเผ่า ไทยที่มีบรรพบุรุษจีนบางส่วนมีถึง ร้อยละ 40 ของประชากร[173] ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลรับรอง 62 กลุ่ม[174] ทั้งนี้ ไทยเชื้อสายจีนจัดเป็นชนชั้นอภิชนของไทย และเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ[175]: 179–83 

ในปี 2553 ประเทศไทยมีการมีลักษณะแบบเมืองร้อยละ 34 ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีเครื่องชี้ภาวะการพัฒนาพอ ๆ กัน[172]: 14  การเคลื่อนย้ายของประชากรส่วนใหญ่เป็นแบบชั่วคราวตามฤดูกาล[172]: 14  กรุงเทพมหานครเป็นตัวอย่างสุดโต่งของความเป็นเอกนคร (urban primacy) โดยในปี 2536 กรุงเทพมหานครมีประชากรมากกว่านครใหญ่ที่สุดสามอันดับถัดมารวมกันระหว่าง 7.5 ถึง 11 เท่า[172]: 14  ผู้ย้ายออกชาวไทยส่วนมากเป็นลูกจ้างทักษะต่ำ โดยเดินทางไปประเทศปลายทางเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยลง แต่ตะวันออกกลางและประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้น[172]: ix  เมื่อปลายปี 2550 มีประมาณการว่าคนต่างด้าวที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยมี 2.8 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้รวมผู้มีใบอนุญาตทำงานในประเทศ นักเรียนนักศึกษา ผู้มีคู่สมรสชาวไทยและผู้ตั้งถิ่นฐานหลังเกษียณ ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่อยู่เกินวีซ่า[172]: ix 

เมื่อปี 2553 ในประชากรอายุมากกว่า 13 ปี มีผู้สมรส 38,001,676 คน หม้าย 3,833,699 คน หย่า 670,030 คน และไม่เคยสมรส 16,957,651 คน[176]

นครใหญ่

ศาสนา

ศาสนาในประเทศไทย[178]
ศาสนา%
พุทธ
  
94.6%
อิสลาม
  
4.2%
คริสต์
  
1.1%
อื่น ๆ
  
0.1%
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่ระบุศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพลเมืองไทยทุกคน แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท กฎหมายห้ามกล่าวหมิ่นประมาทศาสนาพุทธรวมถึงพระสงฆ์ และคุ้มครองศาสนสถานและศาสนพิธีของศาสนาอื่น[179] ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า "รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท [...] และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด" ในช่วงปีหลังมีการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แม้ว่าประเทศไทยไม่มีรายงานการละเมิดทางสังคมหรือการเลือกปฏิบัติจากศาสนา[180] แต่กฎหมายไทยบางส่วนได้รับอิทธิพลจากความเชื่อแบบพุทธ เช่น การงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในวันหยุดทางศาสนา[181]

กฎหมายรับรองห้ากลุ่มศาสนาหลัก ได้แก่ พุทธ อิสลาม คริสต์ ฮินดูและซิกข์[182] การสำรวจของเครือข่ายอิสระทั่วโลก/สมาคมแกลลัประหว่างประเทศ (WIN/GIA) ในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนามากที่สุดในโลก โดยมีผู้ระบุตนว่าเป็นศาสนิกชนร้อยละ 98 ไม่เป็นศาสนิกชนร้อยละ 1 และผู้เชื่ออเทวนิยมอีกร้อยละ 1[183]

ตามสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2557 ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 94.6[178] ส่วนใหญ่นับถือนิกายเถรวาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย ทั้งนี้ ประเทศไทยถือได้ว่ามีผู้นับถือศาสนาพุทธมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน[184] ในปี 2559 ประเทศไทยมีวัดทั้งสิ้น 40,580 วัด[185] มีพระสงฆ์ 33,749 รูป และสามเณร 6,708 รูปทั่วประเทศ[186] นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศไทยจากอินเดียในรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะในช่วงคริสต์สหัสวรรษที่ 1[187]: 157  ศาสนาที่มีจำนวนผู้นับถือรองลงมา ได้แก่ ศาสนาอิสลาม มีผู้นับถือประมาณร้อยละ 4.2[178] เป็นนิกายซุนนีร้อยละ 99[188] มุสลิมอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสตูล มากที่สุด[188] แต่มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดเป็นเพียงร้อยละ 18 ของมุสลิมในประเทศไทย[188] ทั่วประเทศมีมัสยิด 3,943 แห่ง[189] มุสลิมในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู ซึ่งสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศมาเลเซีย[188] เชื่อว่ามีการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่คาบสมุทรมลายูโดยพ่อค้าอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 13[188] มีชาวไทยนับถือศาสนาคริสต์ประมาณร้อยละ 1.1[178] ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54.56) นับถือนิกายโปรเตสแตนต์[เชิงอรรถ 3] ศาสนาคริสต์เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อมิชชันนารีชาวโปรตุเกสจากมะละกาเข้ามาเผยแผ่ศาสนา[190] นอกจากนี้ ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นอีก เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ ศาสนายูดาห์ ศาสนาบาไฮ รวมประมาณร้อยละ 0.1[178] ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนพอสมควรยังคงถือศาสนาของชาติพันธุ์จีน รวมทั้งเต๋า ขงจื๊อ และศาสนาพื้นบ้านจีน (เช่น อนุตตรธรรมและเต๋อเจี่ยฮุ่ย) ศาสนาเหล่านี้ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ และในการศึกษาทางสถิตินับสาวกเป็นพุทธเถรวาท[191] สำหรับประชาคมชาวยิวนั้น มีประวัติยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17

ภาษา

แผนที่ชาติพันธุ์ภาษาในประเทศไทย ปี 2517

ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ เป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น ภาษาไทยถิ่นเหนือ ถิ่นใต้ และถิ่นอีสาน รัฐบาลรับรอง 5 ตระกูลภาษา 62 ภาษาในประเทศไทย

นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว ในประเทศไทยยังมีการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น

ประชากรอายุเกิน 5 ปีแบ่งตามภาษา
(นับเฉพาะที่มีผู้พูดเกิน 1 แสนคน)
สถิติสหประชาชาติปี 2543[192]
ภาษาจำนวนผู้พูด (คน)
ภาษาไทย52,325,037
ภาษาเขมร1,291,024
ภาษามลายู1,202,911
ภาษากะเหรี่ยง317,968
ภาษาจีน231,350
ภาษาม้ง112,686

การศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาเมื่อปี 2459

การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี 2464[193]: 104  กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลา 12 ปี ส่วนการศึกษาภาคบังคับกำหนดไว้ 9 ปี (ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3) ในปีการศึกษา 2555 มีผู้เรียนในและนอกระบบโรงเรียน 16,376,906 คน แบ่งเป็นในระบบ 13,931,095 คน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 2,445,811 คน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบโรงเรียนมีสัดส่วนในสถานศึกษารัฐบาลมากกว่าเอกชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาเอกชนอยู่จำนวนมาก โดยมีโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในชาติอาเซียน[194]

ผู้เรียนร้อยละ 99 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 85 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น[195] ประมาณร้อยละ 75 เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย[196]:46 สำหรับนักเรียนทุก 100 คนในโรงเรียนประถม มี 85.6 คนศึกษาต่อระดับ ม. 1; 79.6 คนศึกษาต่อถึงชั้น ม. 3 และเพียง 54.8 คนศึกษาต่อถึงระดับ ม. 6 หรือสถาบันอาชีวะ[197] ประเทศไทยยังคงเป็นไม่กี่ประเทศที่ยังมีการกำหนดให้แต่งเครื่องแบบจนถึงระดับมหาวิทยาลัย การเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมปัจจุบัน

อัตรารู้หนังสือของไทยอยู่ที่ร้อยละ 93.5[198] แม้ว่ามหาวิทยาลัยของไทย 5 แห่งติดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยดีที่สุดในทวีปเอเชีย[199] และในปีงบประมาณ 2556 งบประมาณการศึกษาไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของจีดีพี และร้อยละ 20.6 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน แต่คุณภาพการศึกษาไทยถูกวิจารณ์อยู่เนือง ๆ รูปแบบการสอนยังคงเน้นการท่องจำมากกว่าให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมาหลายปี สภาเศรษฐกิจโลกจัดให้คุณภาพการศึกษาของไทยต่ำสุดใน 8 ประเทศอาเซียนที่พิจารณา[200] ในปี 2563 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศในเรื่องความสามารถภาษาอังกฤษ[201] นักเรียนไทยกว่าครึ่งในโรงเรียนไม่ได้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จของตนและการพัฒนาประเทศ ยูเนสโกและโออีซีดีแนะนำให้ประเทศไทยมีการทบทวนหลักสูตร เพิ่มการกวดขันกระบวนการพัฒนาการทดสอบมาตรฐาน ให้ครูใช้ยุทธศาสตร์การสอนและประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเพิ่มเวลาสอนและลดหน้าที่บริหาร[202]: 15–16  โรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ในการสำรวจเด็กไทย 72,780 คนระหว่างเดือนธันวาคม 2553 ถึงมกราคม 2554 ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนชาวไทยมีระดับเชาวน์ปัญญาเฉลี่ย 98.53 (ค่ามัธยฐาน 100) นายแพทย์ อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่า ไม่ควรโทษระบบการศึกษาไทยว่าทำให้เยาวชนไทยมีเชาวน์ปัญญาต่ำ เพราะสาเหตุหลักเกิดจากการพร่องไอโอดีน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอย่างขาดความอบอุ่นในครอบครัว ถูกแยกจากธรรมชาติและอาหารไม่เหมาะสม[203] ผลการศึกษาล่าสุดเสนอว่าความบกพร่องทางสติปัญญาในพื้นที่ชนบทบางแห่งอาจสูงถึงร้อยละ 10[204] สถานที่เกิดเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการทำนายความสำเร็จทางการศึกษาในประเทศไทย นักเรียนจากครอบครัวยากจนในพื้นที่ทุรกันดารมีการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพต่ำกว่านักเรียนในเมือง[195] คาดว่าเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรศึกษาอย่างไม่เท่าเทียม การฝึกครูที่อ่อน ความยากจน และการไม่รู้ภาษาไทยกลางในกรณีของชนกลุ่มน้อย[205][206][207]

ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศว่าโรงเรียนกว่า 27,000 แห่งมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียน[208] แต่โครงสร้างของประเทศยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนการสอนทางไกล เพราะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลยังได้รับผลกระทบหลังมาตรการงดการเรียนการสอนในชั้นเรียนระหว่างการระบาดของโควิด-19[209]

ประเทศไทยเป็นจุดหมายการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาใหญ่สุดอันดับสามของอาเซียน โดยมีนักศึกษาต่างชาติกว่า 20,000 คนในปี 2555 ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน พม่า กัมพูชาและเวียดนาม[210]

สาธารณสุข

โรงพยาบาลศิริราชในกรุงเทพมหานครเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่สุดและใหญ่สุดในประเทศไทย

ในปี 2558 ประเทศไทยมีความคาดหมายคงชีพเมื่อเกิด 75 ปี (ชาย 71 ปี หญิง 79 ปี)[211] ในปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราตายทารก 10.8 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน[212]

ระหว่างปี 2552–56 พบว่าชายไทยอายุน้อยกว่า 60 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาเป็นการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคมะเร็งตับ และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนหญิงไทยอายุน้อยกว่า 60 ปีเสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์มากที่สุด ส่วนสาเหตุหลักอันดับรองลงมาได้แก่ อุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวาน[213]: 141  ในปี 2557 สาเหตุการป่วยของผู้ป่วยนอกที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ, โรคระบบย่อยอาหาร และโรคของปากและฟัน[213]: 144  ประเทศไทยมีอุบัติการณ์มะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก[214] ในปี 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ทุก 1,000 การคลอดมีชีพ เกิดจากมารดาวัยรุ่น 60 การคลอด[215]: 1 

ในปี 2555 ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านสาธารณสุขคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของจีดีพี หรือร้อยละ 14.2 ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด[216] ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งครอบคลุมคนไทยร้อยละ 99[217] ในปี 2552 รายจ่ายด้านสาธารสุขของประเทศร้อยละ 75.8 มาจากภาครัฐ และร้อยละ 24.2 มาจากภาคเอกชน ในปี 2547 ประเทศไทยมีความหนาแน่นของแพทย์อยู่ที่ 2.98 ต่อประชากร 10,000 คน[218] ตั้งแต่ปี 2533 กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่ไม่ได้ทำงานรับราชการต้องส่งเงินเข้า สำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะกำหนดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตนเลือกในแต่ละปี ปัจจุบัน โรงพยาบาลที่สังกัดสำนักงานประกันสังคมมีไม่เพียงพอต่อผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบดังกล่าว กล่าวคือ ผู้ประกันตนจำนวนกว่า 13 ล้านคน แต่มีโรงพยาบาลเพียง 159 โรง[219] ข้าราชการและครอบครัวสายตรงมีสิทธิใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่บางอย่างบัตรทองและประกันสังคมได้รับสิทธิ์ที่ดีกว่า เช่น การดูแลแบบประคับประคองบัตรทองดีที่สุด[220] และในกรณีหาเตียง ทั้งบัตรทองและประกันสังคมจะดีกว่าราชการ[221]ประเทศไทยมีปัญหาในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีชาวต่างชาติประสบอุบัติเหตุและโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา โดยให้เหตุผลว่าไม่รู้จะเบิกอย่างไร จนในที่สุดเสียชีวิต สร้างความน่าอับอายให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่ง[222] [223] รัฐบาลกำลังพิจารณาทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ[224]ขณะที่แอป 1669 ใช้การไม่ได้ ระบบแจ้งเหตุขาดประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการรอดชีวิต[225][226] ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กัญชาทางการแพทย์ชอบด้วยกฎหมาย[227]

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลหลักจากวัฒนธรรมอินเดีย จีน ขอม ตลอดจนวิญญาณนิยม ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู วัฒนธรรมชาติของไทยเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ มีอายุได้เพียงประมาณหนึ่งร้อยปี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพิบูลสงครามสนับสนุนการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยกลางเป็นวัฒนธรรมแห่งชาตินิยามและยับยั้งมิให้ชนกลุ่มน้อยแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตน วัฒนธรรมพลเมืองของไทยปัจจุบันนิยามว่าประเทศไทยเป็นดินแดนของคนไทยกลาง มีศาสนาเดียวคือ พุทธนิกายเถรวาท และปกครองโดยราชวงศ์จักรี[228]: 589–90  วัฒนธรรมไทยปัจจุบันเป็นสิ่งสร้างทางสังคมจากสมัยรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเน้นว่า คนส่วนใหญ่ไม่สามารถตรัสรู้และไปถึงนิพพาน และดีที่สุดที่ทำได้คือ การสะสมบุญผ่านการปฏิบัติที่เป็นพิธีกรรมอย่างสูง เช่น การถวายอาหารพระสงฆ์และการบริจาคเงินเข้าวัด คำสอนทางศาสนาถูกเลือกให้สนับสนุนมุมมองทางโลกแบบศาสนาขงจื๊อใหม่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สามเสาหลัก ศาสนาพุทธของไทยยังรวมการบูชาวิญญาณของกัมพูชาและความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ อีกทั้งเน้นรูปแบบมากกว่าแก่นสาร[228]: 595–6 

คนไทยเน้นและให้คุณค่ารูปแบบมารยาทภายนอกอย่างยิ่งเพื่อรักษาความสัมพันธ์ สังคมไทยเป็นสังคมไม่เผชิญหน้าที่เลี่ยงการวิจารณ์ในที่สาธารณะ การเสียหน้าเป็นความเสื่อมเสียแก่คนไทย จึงมุ่งประนีประนอมในสถานการณ์ลำบาก[229]: 7  การไหว้เป็นแบบการทักทายและแสดงความเคารพของผู้น้อยต่อผู้ใหญ่ (ทั้งคิดจากวัยวุฒิและคุณวุฒิ) ตามประเพณีและมีแบบพิธีเข้มงวด[229]: 7  คนไทยเคารพความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้น เมื่อคนไทยพบคนแปลกหน้าจะพยายามจัดให้อยู่ในลำดับชั้นทันทีเพื่อให้ทราบว่าควรปฏิบัติด้วยอย่างไร มักโดยถามเรื่องที่วัฒนธรรมอื่นมองว่าเป็นคำถามส่วนตัวอย่างยิ่ง สถานภาพมีเสื้อผ้า ลักษณะปรากฏทั่วไป อายุ อาชีพ การศึกษา นามสกุลและความเชื่อมโยงทางสังคมเป็นตัวกำหนด[229]: 11  ความสัมพันธ์ดังนี้ยังปรากฏในรูปราชาศัพท์ซึ่งเป็นคำที่ใช้แก่คนในชนชั้นต่าง ๆ กันด้วย

ความสนุกเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตประจำวันของคนไทย คนไทยมีอารมณ์ขันในเกือบทุกสถานการณ์ บางคนมองว่าความสนุกเป็นการแสดงออกซึ่งปัจเจกนิยมในสังคมที่มีการทำตามกันอย่างสูง รวมทั้งเป็นสิ่งรบกวนจากเรื่องที่จริงจังในชีวิต เช่น อนิจจังและความรับผิดชอบ[230]: 146 

กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอำนวยการเปลี่ยนแปลงระหว่างวัฒนธรรมเดิม วัฒนธรรมชาติไทยและอิทธิพลของวัฒนธรรมโลก จีนโพ้นทะเลในไทยเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในและรอบ ๆ กรุงเทพมหานคร พวกเขาสามารถบูรณาการเข้ากับสังคมไทยจนมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง เครือข่ายธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายไผ่ (bamboo network)[231]

ศิลปะ

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ศิลปะไทยมีลักษณะที่ยืมหรือรับมาจากศิลปะอื่น เช่น อินเดีย มอญ-เขมร สิงหล จีน เป็นต้น มีคุณสมบัติเอกลักษณ์หลายอย่าง ศิลปะและงานฝีมือของอินเดียเป็นต้นแบบของศิลปะพุทธในประเทศไทย นอกจากนี้ ศิลปะพุทธในประเทศไทยยังเป็นผลของเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาแต่โบราณ ศิลปะทวารวดีเป็นสำนักศิลปะพุทธแรกในประเทศไทย[232]: 59  ศิลปะพุทธในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นห้าสำนักตามยุค ได้แก่ เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและกรุงเทพมหานคร ศิลปะพุทธไทยยังมีร่องรอยของศิลปะทวารวดี สุวรรณภูมิและลพบุรีอยู่บ้าง แต่ศิลปะพุทธไทยมีความเป็นปัจเจกและเอกเทศ นอกจากนี้ ศิลปะพุทธไทยยังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเพียงบางส่วน มิใช่ทั้งหมดดังศิลปะก่อนไทยช่วงแรก[232]: 70 

ศิลปะไทยสมัยใหม่เริ่มด้วยการทำลายรูปแบบเดิมของสังคมหลังการปฏิวัติปี 2475 อิทธิพลศิลปะในสมัยใหม่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของศิลป์ พีระศรี วัฒนธรรมอเมริกันยังมีอิทธิพลต่อศิลปินไทยที่ศึกษาในสหรัฐและภาพยนตร์ฮอลลีวูด ศิลปินสมัยใหม่อย่างกมล ทัศนาญชลีรวมความคิดแบบอเมริกันเข้าสู่ศิลปะไทย[21]: 113 

เครื่องปั้นเผาของไทยเป็นส่วนสำคัญของการค้าระหว่างคนไทยและอาณาจักรใกล้เคียงในยุคเจ้าขุนมูลนาย เครื่องปั้นเผาเก่าแก่สุดของไทย ได้แก่ เครื่องปั้นเผาบ้านเชียง มีอายุกว่า 3,600 ปี

อาหาร

ปัจจุบันข้าวและพริกเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของอาหารไทย[233] ส่วนประกอบอื่น เช่น กระเทียม น้ำมะนาว และน้ำปลา อาหารไทยมีข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือเป็นพื้น[138] อาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของคนไทย คือ น้ำพริกปลาทู พร้อมกับเครื่องเคียงที่จัดมาเป็นชุด[193]: 45  อาหารไทยหลายชนิดใส่กะทิและขมิ้นสดคล้ายกับอาหารอินเดีย มาเลเซียและอินโดนีเซีย[234] อาหารไทยหลายชนิดเดิมเป็นอาหารจีน เช่น โจ๊ก ซาลาเปา ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าและข้าวขาหมู เต้าเจี้ยว ซอสถั่วเหลืองและเต้าหู้[235] อาหารไทยกินกับน้ำจิ้มและเครื่องปรุงหลายชนิด เช่น พริกน้ำปลา พริกป่น น้ำจิ้มไก่ พริกน้ำส้ม ด้านเดวิด ทอมป์สัน พ่อครัวชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า อาหารไทยไม่เรียบง่าย แต่เน้น "การจัดเรียงส่วนที่ไม่เข้ากันให้เกิดอาหารที่กลมกล่อม"[236]

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องอาหารข้างถนน อาหารข้างถนนมีลักษณะเป็นอาหารตามสั่งที่ประกอบได้รวดเร็ว เช่น ผัดกะเพรา ผัดคะน้า ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน เป็นต้น เมื่อปี 2554 เว็บไซต์ CNNgo ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก[237] และในของหวานดีที่สุด 50 อันดับที่ซีเอ็นเอ็นรวบรวมไว้ ยังปรากฏชื่อของข้าวเหนียวมะม่วงและทับทิมกรอบซึ่งระบุว่ามาจากไทยด้วย[238]

วงการบันเทิง

จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ ดาราคู่แรกของไทย

ภาพยนตร์ไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในประเทศไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ในปี 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่คนไทยสร้าง[239] ช่วงหลังปี 2490 ถือเป็นช่วงยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย สตูดิโอถ่ายทำและภาพยนตร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ไทยก็ซบเซาลง กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว ได้เปลี่ยนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรแทน และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมืองและสังคมระหว่างปี 2516–2529 ต่อมาภาพยนตร์ไทยในช่วงปี 2530–2539 โดยในตอนต้นทศวรรษวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ นอกจากภาพยนตร์ประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ และหนังเกรดบี ก็มีการผลิตมามากขึ้น

ประเทศไทยมีภาพยนตร์ที่มุ่งสู่ตลาดโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง (2548) ที่ติดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิสในสหรัฐ และยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (2553) ได้รับรางวัลปาล์มทองคำในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้[240] ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ที่ออกฉายในปี 2556 เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศ ภาพยนตร์ไทยมีการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ประเทศที่พูดภาษาจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[241] อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเมืองหรือศาสนาพุทธบางเรื่องถูกสั่งห้ามฉายโดยอ้างเหตุเรื่องความเหมาะสม

อุตสาหกรรมบันเทิงของไทยมีจีดีพีคิดเป็นประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ก่อให้เกิดการจ้างงาน 86,600 ตำแหน่ง[242] ละครโทรทัศน์ไทยมีชื่อเสียงในประเทศเพื่อนบ้านและจีน[243][244] อย่างไรก็ดี ละครโทรทัศน์ไทยมักมีลักษณะตายตัว เช่น มีความเป็นละครประโลมโลกสูง มีเกย์เล่นตลก[245] และมีนางอิจฉา[246][247]

ดนตรีและนาฏศิลป์

ดนตรีไทยเดิมช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากดนตรีจีน อินเดีย และเขมร ต่อมา รับเอาลักษณะของดนตรีชาติใกล้เคียงอย่างพม่าและมลายูเข้ามาด้วย อิทธิพลสมัยหลังมาจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศตะวันตก[248]: 1  "เถา" เป็นเทคนิคการประพันธ์ที่สำคัญที่สุดและใช้บ่อยที่สุดในดนตรีไทยเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นเทคนิคที่รับมาจากปัลลาวีในภาคใต้ของอินเดีย[248]: 3  ดนตรีไทยเดิมมีสามกลุ่มวงหลัก ได้แก่ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสายและวงมโหรี ดนตรีไทยสมัยสุโขทัยเครื่องสายเรียบง่าย ปี่ไม้ไผ่ กลองและการขับลำนำ[248]: 3  มนตรี ตราโมทเขียนว่า ชาวอยุธยาทุกคนเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกและกิจกรรมยามว่าง นอกจากนี้ ในสมัยอยุธยาเกิดเครื่องดนตรีใหม่ ได้แก่ ระนาดและฆ้องวง[248]: 13  ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 (ประมาณปี 2340) ถึงปี 2475 ถือเป็นสมัย "คลาสสิก" ของดนตรีไทยเดิม[248]: 15  ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ประเทศตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น และรัฐบาลขัดขวางหรือปิดกั้นการบรรเลงดนตรีไทยในที่สาธารณะ[248]: 16  หลังจากนั้นมีความพยายามรื้อฟื้นดนตรีไทย มีการแสดงละครที่ใช้ดนตรีไทยในโรงละครแห่งชาติทุกปีแต่ผู้ชมเป็นคนต่าวด้าวมากกว่าคนไทย[248]: 17 

รำไทยแบ่งได้เป็นสองชนิดหลัก คือ รำพื้นบ้านและรำคลาสสิก รำพื้นบ้านมีความแตกต่างกันในสี่ภาค รำคลาสสิกมีท่าเคลื่อนไหว 108 ท่า[249]: 46  ละครรำถือกำเนิดจากรามเกียรติ์ ในสมัยอยุธยา โขนเป็นละครรำของไทยที่มีชื่อเสียงที่สุด โขนมีการเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงและเป็นทางการ มีเครื่องแต่งกายสีสันวิจิตร และสวมหน้ากาก ส่วนละครเป็นรำไทยที่เป็นทางการน้อยกว่า แบ่งชนิดหลักได้เป็นละครชาตรี ละครนอกและละครใน สังข์ทอง เป็นตัวอย่างละครที่มีลักษณะของละครรำที่ดี คือ โรแมนซ์ ความรัก สงคราม การแก้แค้น เหนือธรรมชาติและการไถ่บาป[230]: 62–3  ละครรำพื้นบ้าน ได้แก่ ลิเกและมโนห์รา การแสดงหุ่นกระบอกของไทยเก่าแก่กว่าละครรำทุกชนิด[230]: 64  ตัวอย่างเช่น หนังใหญ่และหนังตะลุง รำพื้นบ้าน เช่น ฟ้อนเทียนในภาคเหนือ ฟ้อนภูไท รำวงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนงิ้วก็ยังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

เทศกาลประเพณี

เทศกาลลอยกระทงในจังหวัดเชียงใหม่

สมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชวังจัดประเพณีหลวงทุกเดือน เรียก "พระราชพิธีสิบสองเดือน" เช่น พิธีจรดพระราชนังคัล (พิธีแรกนา), พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม วันสงกรานต์ เป็นต้น พระราชพิธีสิบสองเดือนมีการรับศาสนาฮินดูเข้ามาผสมผสาน ส่วนประเพณีราษฎร์มีเกือบตลอดปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "ฮีตสิบสอง" นอกจากนี้ ยังมีประเพณีขอฝนต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ขอฝน พิธีแห่นางแมว พิธีจุดบั้งไฟ เป็นต้น ประเพณีหลวงส่วนใหญ่ยกเลิกไปแล้ว ประเพณีราษฎร์ที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาอยู่ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น[250]

ประเทศไทยจัดเทศกาลพุทธที่สำคัญและเป็นวันหยุดราชการ ได้แก่ มาฆบูชาในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม วิสาขบูชาในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน อาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม ออกพรรษาในเดือนตุลาคม มีเทศกาลทำบุญ คือ ทอดกฐินในช่วงออกพรรษา และวันสารทเดือนสิบในกลางเดือนกันยายน[230]: 137–9 

นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลที่ริเริ่มใหม่ที่กลุ่มสังคมและองค์การธุรกิจสนับสนุน ทั้งเป็นการแสดง นิทรรศการ งานบันเทิงต่าง ๆ เช่น งานช้างสุรินทร์ที่เริ่มในคริสต์ทศวรรษ 1960 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังส่งเสริมงานจัดแสดงสินค้าท้องถิ่น[251]: 122 

วรรณกรรม

วรรณกรรมไทยสามารถแบ่งได้เป็นสี่สมัยใหญ่ ๆ ตามราชธานี วรรณกรรมสุโขทัยเน้นกล่าวถึงวัฒนธรรมและศาสนาเป็นหลัก จารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นงานวรรณกรรมแรกที่ใช้อักษรไทย ไตรภูมิพระร่วงแจกแจงปรัชญาพุทธจากคัมภีร์ต่าง ๆ และอาจถือได้เป็นวาทนิพนธ์วิจัยแรกของไทย[252]: 65  ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีร้อยกรองรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น ลิลิต กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ กลอนกลบทและเพลงยาว งานวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยนี้ เช่น ลิลิตยวนพ่าย, ลิลิตพระลอ, จินดามณีซึ่งเป็นตำราเรียนแรกของไทย, ตำนานศรีธนนชัย รวมทั้งงานวรรณคดีนาฏกรรมอย่างอิเหนาและรามเกียรติ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีงานเกี่ยวกับสงคราม เช่น การแปลสามก๊กและราชาธิราช[252]: 68  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์นักกวี ทรงประพันธ์และทำให้แพร่หลายซึ่งละครและนิยายพื้นบ้านหลายเรื่องอย่างอิเหนา ไกรทอง และสังข์ทอง พระอภัยมณีเป็นผลงานสำคัญของกวีเอกสุนทรภู่ นอกจากนี้งานสำคัญอื่น เช่น เสภาขุนช้างขุนแผน ต่อมา ในห้วงที่มีการตั้งแท่นพิมพ์ในปี 2387 พบการเขียนลีลาตะวันตกในนิตยสารและบทความหนังสือพิมพ์ เรื่องสั้น นวนิยายและการแปลวรรณกรรม[252]: ุ69–70  หลังการปฏิวัติสยามปี 2475 วรรณกรรมเปลี่ยนเป็นวรรณกรรมประชานิยม (popular literature) โดยนวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก[252]: 70  นักเขียนสมัยใหม่ที่สำคัญ เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน, สุภา สิริสิงห, กัณหา เคียงศิริ (ก.สุรางคนางค์), จิระนันท์ พิตรปรีชา, จิตร ภูมิศักดิ์, ชาติ กอบจิตติ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)[253]: 227 

กีฬา

มวยไทย กีฬาประจำชาติของไทย

มวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติไทย นักมวยไทยมักจะเป็นแชมเปียนระดับไลท์เวทของสมาคมมวยโลกเสมอ[251]: 107  ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยรับเอากีฬาจากชาติตะวันตกเข้ามาหลายชนิด โดยเริ่มมีการแข่งขันในโรงเรียนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตามมาด้วยในระบบการศึกษาสมัยใหม่[254]: 38  ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมในประเทศไทย[255] โดยทีมชาติไทยได้แชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 7 สมัย แต่ยังไม่เคยผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ส่วนสนุกเกอร์ แบดมินตัน เทนนิส รักบี้ กีฬาขี่ม้าและกีฬาทางน้ำได้รับความนิยมรองลงมา สำหรับกีฬาไทยเดิมที่ได้รับความนิยมนั้น ได้แก่ ว่าวพนัน (kite fighting) แข่งเรือและตะกร้อ[256]

ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกใน ค.ศ. 1952 และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวใน ค.ศ. 2002 ประเทศไทยทำผลงานดีที่สุดในกีฬาชกมวย[255] นักมวยสากลสมัครเล่น สมรักษ์ คำสิงห์เป็นนักกีฬาคนแรกที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 นักกีฬาไทยทำผลงานได้ดีในกีฬาซีเกมส์[255] ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 4 ครั้ง (ค.ศ. 1966, 1970, 1978 และ 1998) และซีเกมส์ 6 ครั้ง นอกจากนี้ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนคัพและฟุตบอลโลกหญิงเยาวชนอีกด้วย

สื่อมวลชน

ในรายงานเสรีภาพสื่อปี 2558 ของฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าสื่อไทย "ไม่เสรี" และจัดอยู่ในอันดับที่ 166 จาก 199 ประเทศในด้านเสรีภาพสื่อ[257] หลังรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 สื่อไทยถูกจำกัดและมีการตรวจพิจารณา

ปัจจุบันโทรทัศน์เป็นสื่อยอดนิยมในประเทศไทย ประมาณการว่าชาวไทยเกือบร้อยละ 80 ยึดโทรทัศน์เป็นแหล่งข่าวหลัก[258] สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินจำนวนหกแห่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ ทั้งหมดแพร่สัญญาณในระบบดิจิทัลหลังยุติการแพร่สัญญาณระบบแอนะล็อกทั้งหมดในปี 2563[259]

ประเทศไทยมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายร้อยฉบับทุกสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมียอดจำหน่ายประมาณ 1 ล้านฉบับต่อวัน[260] ส่วน มติชน มียอดขาย 900,000 ฉบับ[260] จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารลดลง โดยชาวไทยอายุ 15–24 ปี ร้อยละ 50.1 ระบุว่าตนอ่านนิตยสารในปี 2558 ลดลงจากร้อยละ 61.7 ในปี 2556 การบอกรับสมาชิกสิ่งพิมพ์ลดลงเมื่อมีผู้อ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น[261]

ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ประมาณ 43.87 ล้านคน[262] รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน[263]: 30  ในปี 2559 พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้โทรศัพท์อัจฉริยะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด (90.4%) รองลงมาได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (50.1%) คอมพิวเตอร์พกพา (24.9%) และแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ (15.2%)[264]: 8 

เชิงอรรถ

อ้างอิง

อ่านเพิ่ม

  • Chachavalpongpun, Pavin, ed. Routledge Handbook Of Contemporary Thailand (2020)
  • Cooper, Robert. Culture Shock! Thailand: A Survival Guide to Customs and Etiquette (2008)
  • London, Ellen. Thailand Condensed: 2000 Years of History & Culture (2008)
  • Lonely Planet's Best of Thailand (2020)
  • Mishra, Patit Paban. The History of Thailand (Greenwood, 2010)
  • Moore, Frank J. ed. Thailand: Its People, Its Society, Its Culture (HRAF Press, 1974).
  • Wyatt, David K. Thailand: A Short History (Yale University Press, 2003)
  • Zawacki, Benjamin. Thailand: Shifting ground between the US and a rising China (2nd ed. . Bloomsbury, 2021).

แหล่งข้อมูลอื่น

รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
การท่องเที่ยว
อื่น ๆ
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง