พรรคก้าวไกล

พรรคการเมืองไทย

พรรคก้าวไกล (ย่อ: ก.ก.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้ชื่อว่า พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มีการเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคผึ้งหลวง ใน พ.ศ. 2562 และเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันใน พ.ศ. 2563 ภายหลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและสมาชิกส่วนใหญ่ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล
หัวหน้าชัยธวัช ตุลาธน
รองหัวหน้า
เลขาธิการอภิชาติ ศิริสุนทร
รองเลขาธิการ
เหรัญญิกณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์
นายทะเบียนสมาชิกณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล
โฆษกพริษฐ์ วัชรสินธุ
รองโฆษก
กรรมการบริหาร
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
  • วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
  • เดชรัต สุขกำเนิด
ประธานคณะทำงานพิเศษป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศเบญจา แสงจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตเดชรัต สุขกำเนิด
ผู้อำนวยการพรรคศรายุทธิ์ ใจหลัก
ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคกิตติชัย เตชะกุลวณิชย์
คำขวัญพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย
ร่วมพัฒนา พาชาติพ้นวิกฤต พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย
พรรคผึ้งหลวง
พลิกประวัติศาสตร์ พลิกงบพัฒนา 90% สู่หมู่บ้าน/ชุมชน
พรรคก้าวไกล
การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต[1]
คติพจน์ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า
ก้าวไกล ตรงไปตรงมา
ก่อตั้งพรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1)
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (9 ปี)
พรรคก้าวไกล
19 มกราคม พ.ศ. 2563 (4 ปี)
ก่อนหน้าพรรคอนาคตใหม่ (โดยพฤตินัย)
ที่ทำการ167 อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 6 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
สถาบันนโยบายศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต[2]
จำนวนสมาชิก  (ปี 2566)85,976 คน[3]
อุดมการณ์
จุดยืนกลางซ้าย[14]
กลุ่มในภูมิภาคเครือข่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมในเอเชีย (SocDem Asia)[15][16]
สี  สีส้ม
เพลงก้าวไกลก้าวหน้า (2563)
ต้องก้าวไกล (2565)
สภาผู้แทนราษฎร
148 / 500
สภากรุงเทพมหานคร
11 / 50
เว็บไซต์
moveforwardparty.org
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

ประวัติ

พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย

จดทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในชื่อว่า พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย มีศักดิ์ชาย พรหมโท และสมพร ศรีมหาพรหม เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก โดยมีที่ทำการพรรคแห่งแรกอยู่ที่ 29/2 หมู่ 14 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมกับคำขวัญพรรคว่า "ร่วมพัฒนา พาชาติพ้นวิกฤต พิชิตภัยคอร์รัปชั่น ยึดมั่นความเป็นไทย"[17]

ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ศักดิ์ชายได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีการแต่งตั้งสราวุฒิ สิงหกลางพล รองหัวหน้าพรรครักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค[18] ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ทางพรรคได้จัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่ประชุมมีมติเลือก ธนพล พลเยี่ยม และอังกูร ไผ่แก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่ พร้อมกับประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่แทนฉบับเดิมโดยได้ย้ายที่ทำการพรรคจากสถานที่เดิมมาอยู่ที่ 31/107 หมู่ 6 ซอยชินเขต 2 แยก 15 ถนนงามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และเปลี่ยนคำขวัญของพรรคเป็น "ร่วมพัฒนา นำประชาให้หลุดพ้น ทำค่าของคนให้เท่าเทียม"[19]

พรรคผึ้งหลวง

ต่อมาธนพลได้ลาออกจากตำแหน่ง[20] ทางพรรคร่วมพัฒนาชาติไทยจึงได้จัดการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคผึ้งหลวง พร้อมกับประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่แทนฉบับเดิมโดยได้ย้ายที่ทำการพรรคจากที่เดิมไปอยู่ที่ 168/9 หมู่ 12 ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของพรรคและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แทนชุดเดิมจำนวน 10 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกก้องภพ วังสุนทร และนวิรุฬห์ ชลหาญ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนคำขวัญพรรคใหม่เป็น "พลิกประวัติศาสตร์ พลิกงบพัฒนา 90% สู่หมู่บ้าน/ชุมชน"[21]

ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคผึ้งหลวงได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย แต่ได้คะแนนมหาชนรวมกันเพียง 12,576 คะแนนเท่านั้น[22]

ต่อมาในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 วิรุฬห์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและเลขาธิการพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคเหลือทั้งสิ้น 9 คน[23] พรรคผึ้งหลวงจึงจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ สำนักงานสาขาพรรคผึ้งหลวง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ ที่ประชุมมีมติเลือกเจษฎา พรหมดี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่[24]

พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ยุคที่ 2)

หลังจากนั้นในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พรรคผึ้งหลวงได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2562 ที่ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค และเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[25] โดยก่อนการลงมติก้องภพซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผึ้งหลวงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ และที่ประชุมมีมติเลือกธนพล พลเยี่ยม และอังกูร ไผ่แก้ว ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคสมัยที่ 2 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคกลับไปเป็น พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย อีกครั้ง และได้ย้ายที่ทำการพรรคกลับไปยังที่ทำการพรรคเดิมในสมัยที่ธนพลเป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่ 1 โดยมีสถานที่ติดต่อชั่วคราวอยู่ที่ 757/14 หมู่บ้านมิตรภาพ ถนนอ่อนนุช 46 แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร[26][27]

พรรคก้าวไกล

สัญลักษณ์พรรคก้าวไกลในช่วงแรก

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563 พรรคร่วมพัฒนาชาติไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค ชื่อพรรค ตราสัญลักษณ์พรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่[28] โดยที่ประชุมมีมติเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคก้าวไกล และที่ประชุมพรรคมีมติเลือกราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์ และปีใหม่ รัฐวงษา เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่[29] แต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราเชนธร์ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ทำให้ปีใหม่ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคต้องรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค[30]

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แถลงข่าวนำ ส.ส. ทั้ง 55 คนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเข้าสังกัดพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ โดยที่ประชุมได้เลือกให้พิธาเป็นรักษาการประธาน สส. และแต่งตั้งวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นรักษาการโฆษกของกลุ่ม ต่อมาที่ประชุมพรรคมีมติเลือกพิธาเป็นหัวหน้าพรรค และเลือกชัยธวัช ตุลาธน อดีตรองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่[31][32] ต่อมาในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 พรรคก้าวไกลได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคขึ้นโดยได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคบางส่วน พร้อมกับแต่งตั้ง พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรค[33]

พิธากล่าวยืนยันว่า พรรคก้าวไกลจะสานต่ออุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการ "ยึดมั่นประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร" และการ "ผลักดันนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป"[34] ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. พรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่าพรรคก้าวไกลจะเน้นทำงานการเมืองในสภาและในระดับประเทศเป็นหลัก และการที่คณะก้าวหน้าทำงานในการเมืองท้องถิ่นนั้น "ไม่ได้เป็นเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ในทางกลับกันแล้วคณะของคุณธนาธร และอาจารย์ปิยบุตร ควรจะได้ทำงานในสภา แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น ก็ต้องทำงานการเมืองด้านอื่นแทน อย่างการส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น"[35]

19 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พรรคมีมติแต่งตั้ง ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อของพรรค และอดีตผู้สื่อข่าว Voice TV เป็นรองโฆษกพรรคคนล่าสุด[36]

15 กันยายน พ.ศ. 2566 พิธาซึ่งถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร[37] โดยมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน และที่ประชุมมีมติเลือกชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[38] ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นของอภิชาติ ศิริสุนทร และโฆษกพรรคเป็นของพริษฐ์ วัชรสินธุ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของพรรคนอกสภาเป็นหลัก โดยมีพิธาเป็นประธานที่ปรึกษา และมีที่ปรึกษาอีก 2 คน คือ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจของพรรค และ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ซึ่งชัยธวัชให้สัมภาษณ์ว่าการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคนี้เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเป็นการชั่วคราว และพร้อมลงจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อพิธากลับมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง[39]

24 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของพิธาไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ส่งผลให้พิธาได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ตามปกติในทันที นอกจากนี้ พิธาได้แสดงความคิดเห็นว่า กรณีที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมพรรคในเดือนเมษายนปีเดียวกัน[40]

บทบาททางการเมือง

พรรคก้าวไกลมีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งแรก เริ่มจาก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขต 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2563 โดยส่งผู้สมัครคนใหม่ แทนที่ผู้สมัครคนเดิมที่เคยลงในนามพรรคอนาคตใหม่[41] ทำให้เกิดความไม่พอใจจากผู้สมัครคนเดิม[42] แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง จากนั้นก็ส่งผู้สมัครลงในการเลือกตั้งซ่อมอีก 2 ครั้ง โดยมี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2565 และ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2565 แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

ใน พ.ศ. 2565 นักการเมืองพรรคเพื่อไทยบางคนกล่าวหาพรรคก้าวไกลที่ไม่ใช้วิธีการไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกันว่าต้องการสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบ "หาร 500"[43][44] ขณะที่พิธายืนยันว่าพรรคสนับสนุน "สูตรหาร 100"[45]

ในสมัยของสภาชุดที่ 25 พรรคก้าวไกลได้เสนอและผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก เช่น ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน[46] ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า[47] และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม[48] นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ดูเพิ่ม)[49] นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน "ก้าวไกลทูเดย์" เพื่อรวบรวมกระแสทางโซเชียลมีเดียให้ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพรรคได้[50]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 151 ที่นั่ง แบบแบ่งเขต 112 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 หรือภายหลังการชนะเลือกตั้ง 2 วัน พรรคก้าวไกลนำโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัล ได้สร้างห้องดิสคอร์ดในชื่อ "ก้าว Geek"[51] เพื่อเป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาประเทศในหลายประเด็น

24 กันยายน พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้จัดงาน "ก้าวต่อไป ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน" พริษฐ์ในฐานะโฆษกพรรค ได้นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในแต่ละด้านของ สส. ในพรรค โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 15 ทีม เพื่อดูแลในงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นสำคัญในสังคม ตามความเชี่ยวชาญของ สส. แต่ละคนของพรรค[52] ดังนี้

  • พัฒนาเศรษฐกิจ
  • เกษตร-ประมง
  • ที่ดิน
  • แรงงาน-สวัสดิการ
  • ท่องเที่ยว
  • เศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • พัฒนาการเมือง
  • ความหลากหลาย
  • ทหาร-ตำรวจ
  • กระจายอำนาจ-ราชการ
  • สาธารณสุข
  • การศึกษา
  • คมนาคม
  • สาธารณูปโภค
  • สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่ข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้ที่แสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้กับพรรคการเมืองในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งพบว่าประชาชนแสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้กับพรรคก้าวไกลมากที่สุด คือจำนวน 83,733 คน รวมจำนวนเงิน 39,991,672.23 บาท[53] คิดเป็น 72% ของยอดภาษีทั้งหมดที่ประชาชนแสดงเจตนาอุดหนุนภาษีให้พรรคการเมือง และเป็นอันดับที่ 1 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน[54]

พรรคก้าวไกลประกาศรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งจะมีการเลือกตั้งต้นปี พ.ศ. 2568 โดยรอบแรกเปิดรับสมัคร 16 จังหวัด[55] ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเมือง ที่ไม่ได้มุ่งแค่การเมืองระดับชาติผ่านการเลือกตั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังลงไปถึงการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และหากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเปิดให้มีการเลือกตั้งในจังหวัด ทางพรรคก็จะส่งผู้สมัครเช่นกัน[56]

บุคลากร

หัวหน้าพรรค

ลำดับที่รูปภาพชื่อเริ่มดำรงตำแหน่งสิ้นสุดวาระ
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1)
1 ศักดิ์ชาย พรหมโท1 พฤษภาคม พ.ศ. 255715 ธันวาคม พ.ศ. 2560
- สราวุฒิ สิงหกลางพล15 ธันวาคม พ.ศ. 25609 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
2 ธนพล พลเยี่ยม9 พฤศจิกายน พ.ศ. 256119 มกราคม พ.ศ. 2562
พรรคผึ้งหลวง
3 ก้องภพ วังสุนทร19 มกราคม พ.ศ. 25627 ธันวาคม พ.ศ. 2562
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 2)
(2) ธนพล พลเยี่ยม7 ธันวาคม พ.ศ. 256219 มกราคม พ.ศ. 2563
พรรคก้าวไกล
4 ราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์19 มกราคม พ.ศ. 256318 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- ปีใหม่ รัฐวงษา18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 256314 มีนาคม พ.ศ. 2563
5 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์14 มีนาคม พ.ศ. 256323 กันยายน พ.ศ. 2566
6 ชัยธวัช ตุลาธน23 กันยายน พ.ศ. 2566ปัจจุบัน

เลขาธิการพรรค

ลำดับที่รูปภาพชื่อเริ่มดำรงตำแหน่งสิ้นสุดวาระ
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 1)
1 สมพร ศรีมหาพรหม1 พฤษภาคม พ.ศ. 255715 ธันวาคม พ.ศ. 2560
15 ธันวาคม พ.ศ. 2560
(รักษาการ)
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
2 อังกูร ไผ่แก้ว9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561?
พรรคผึ้งหลวง
3 วิรุฬห์ ชลหาญ19 มกราคม พ.ศ. 25628 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
- นฤมล พานโคกสูง
(รองเลขาธิการพรรค)
8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
(รักษาการ)
7 ตุลาคม พ.ศ. 2562
4 เจษฎา พรหมดี7 ตุลาคม พ.ศ. 25627 ธันวาคม พ.ศ. 2562
พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย (ครั้งที่ 2)
(2) อังกูร ไผ่แก้ว7 ธันวาคม พ.ศ. 256219 มกราคม พ.ศ. 2563
พรรคก้าวไกล
5 ปีใหม่ รัฐวงษา19 มกราคม พ.ศ. 256318 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
(รักษาการ)
14 มีนาคม พ.ศ. 2563
6 ชัยธวัช ตุลาธน14 มีนาคม พ.ศ. 256323 กันยายน พ.ศ. 2566
7 อภิชาติ ศิริสุนทร23 กันยายน พ.ศ. 2566ปัจจุบัน

กรรมการบริหารพรรค

ชุดที่ 1 (พ.ศ.2563 - พ.ศ. 2566)

อันดับชื่อตำแหน่ง[57]
หลักฝ่าย
1พิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรค
2ชัยธวัช ตุลาธนเลขาธิการพรรค
3ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์เหรัญญิกพรรค
4ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูลนายทะเบียนสมาชิกพรรค
5ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ลาออก)[58]กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ
6สมชาย ฝั่งชลจิตรสัดส่วนภาคใต้
7อมรัตน์ โชคปมิตต์กุลสัดส่วนภาคกลาง
8อภิชาติ ศิริสุนทรสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
9เบญจา แสงจันทร์สัดส่วนภาคตะวันออก
10สุเทพ อู่อ้นสัดส่วนปีกแรงงาน

ชุดที่ 2 (พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน)

ลำดับที่ชื่อตำแหน่ง[59]
หลักฝ่าย
1ชัยธวัช ตุลาธนหัวหน้าพรรค
2อภิชาติ ศิริสุนทรเลขาธิการพรรค
3ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์เหรัญญิกพรรค
4ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูลนายทะเบียนสมาชิกพรรค
5สมชาย ฝั่งชลจิตรกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้
6อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์สัดส่วนภาคเหนือ
7เบญจา แสงจันทร์สัดส่วนภาคตะวันออก
8สุเทพ อู่อ้นสัดส่วนปีกแรงงาน

บุคลากรพรรคในตำแหน่งอื่น ๆ

ลำดับที่ชื่อตำแหน่ง[59]
หลักฝ่าย
1พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์รองหัวหน้าพรรคกิจการสภา
2ณัฐวุฒิ บัวประทุมกฎหมาย
3พลตำรวจตรี สุพิศาล ภักดีนฤนาถการเมืองและกิจการพิเศษ
4ศิริกัญญา ตันสกุลนโยบาย
5สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิรองเลขาธิการพรรคความร่วมมือระหว่างพรรคการเมือง
6ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์กิจการภายในและการเลือกตั้ง
7ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิการพัฒนาระบบข้อมูล และดิจิทัล
8พริษฐ์ วัชรสินธุโฆษกพรรค
9กรุณพล เทียนสุวรรณรองโฆษกพรรค
10ภคมน หนุนอนันต์

คณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

ลำดับที่ชื่อตำแหน่ง
1พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ประธานที่ปรึกษา
2วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตรที่ปรึกษา
3เดชรัต สุขกำเนิด

การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไป

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หาเสียงที่สามย่านมิตรทาวน์

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้ส่งผู้สมัครลงการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผู้สมัครส่วนหนึ่งเป็นอดีตผู้สมัคร สส. ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ บางคนก็เป็นอดีตผู้สมัครนายกฯ อบจ. และบางส่วนก็มาจาก กลุ่มเส้นด้าย หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภาจำนวน 151 ที่นั่ง แบบแบ่งเขต 112 ที่นั่ง แบบบัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง [60] ส่งผลให้กลายเป็นพรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำโดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการจัดตั้งรัฐบาล และชัยธวัชได้ทำการเชื้อเชิญอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านในรัฐบาลปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีจำนวน 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย และ พรรคเสรีรวมไทย[61] พร้อมด้วยพรรคขนาดเล็กอีก 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคเป็นธรรม[62], พรรคพลังสังคมใหม่, และ พรรคเพื่อไทรวมพลัง ร่วมจัดตั้งรัฐบาล[63]

พิธาและพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลในขณะนั้นแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 8 พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวจัดการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทั้ง 8 พรรคมีมติสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย, จัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ[64] และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[65] โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 9 ปีของเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลารัฐประหาร[66] โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ยึดหลักการผลักดันนโยบายที่ไม่กระทบรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหมายถึง ไม่มีวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้[67] ประกอบด้วยวาระร่วม 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ ซึ่งบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[68]

ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าคะแนนมติไม่ถึงเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้[69] จึงได้มีการขอให้ลงมติรอบใหม่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม โดยสุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ถูกประท้วงว่าเป็นญัตติซ้ำ[70] และระหว่างการอภิปราย ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกรณีถือหุ้นไอทีวี[71] ผลสุดท้าย การเสนอชื่อครั้งนี้ถูกรัฐสภาลงมติว่าเป็นญัตติซ้ำ ส่งผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกในสมัยประชุมเดียวกัน[72]

ดังนั้น ในวันที่ 21 กรกฎาคม พรรคก้าวไกล โดยเลขาธิการพรรค ชัยธวัช ตุลาธน จึงประกาศให้สิทธิ์การเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแก่พรรคเพื่อไทย เขายังระบุว่ามีองคาพยพของบางกลุ่มการเมืองไม่ยอมให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ[73]

แต่ภายหลังจากที่เพื่อไทยยกเลิกข้อตกลงร่วมกันของ 8 พรรคร่วมเดิม และไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่ถูกกล่าวว่าเป็นขั้วรัฐบาลเดิม พร้อมกับมีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมด้วย พรรคก้าวไกลจึงประกาศลงมติไม่เห็นชอบให้กับผู้ที่จะถูกเสนอชื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เพราะขัดกับเจตจำนงที่ประชาชนมอบให้ และขณะเดียวกันก็จะไม่เสนอชื่อพิธาลงแข่งในครั้งต่อไป โดยก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลให้ สส. จัดผลสำรวจทั้งในสื่อสังคม และถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พรรคก้าวไกลควรลงมติไม่เห็นชอบ[74] และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวน 149 คน ได้ลงมติ "ไม่เห็นชอบ" ให้เศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[75]

หลังการประชุมดังกล่าวเสร็จสิ้น ชัยธวัชประกาศว่าพรรคพร้อมที่จะทำงานในฐานะฝ่ายค้าน[76] อย่างไรก็ตาม พิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พิธาจึงประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลดำเนินการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคของพิธาส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน[37] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106 ระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จึงส่งผลให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้[77] ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกล จึงมีมติให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือคือการขับออกจากพรรค[78] (ปัจจุบันปดิพัทธ์ได้ย้ายเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม)

ผลการเลือกตั้งทั่วไป

การเลือกตั้งจำนวนที่นั่งคะแนนเสียงทั้งหมดสัดส่วนคะแนนเสียงที่นั่งเปลี่ยนสถานภาพพรรคผู้นำเลือกตั้ง
2566
151 / 500
14,438,85136.54% 151ฝ่ายค้านพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 พรรคก้าวไกลได้ส่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[79] และขณะเดียวกัน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ที่จัดในวันเดียวกันนั้น พรรคก้าวไกลได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครบทุก 50 เขต[80] โดยวิโรจน์ได้คะแนนทั้งสิ้น 253,938 เป็นอันดับสามในการเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ แต่ก็สามารถครองสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ 14 ที่นั่ง เป็นอันดับสองรองมาจากพรรคเพื่อไทย

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเลือกตั้งผู้สมัครคะแนนเสียงทั้งหมดสัดส่วนคะแนนเสียงผลการเลือกตั้ง
2565วิโรจน์ ลักขณาอดิศร253,8519.49% พ่ายแพ้

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

การเลือกตั้งจำนวนที่นั่งคะแนนเสียงทั้งหมดสัดส่วนคะแนนเสียงที่นั่งเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง
2565
14 / 50
485,83020.85% 14เสียงข้างมากร่วมกับพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้สนับสนุน วรรษภณ แสงเป่า อดีตผู้สมัคร สส.กาญจนบุรี พรรคก้าวไกล ลงสมัครในนามอิสระ "กลุ่มเพื่ออนาคตกาญจน์" โดยอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กล่าวว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ส่งผู้สมัครลงในนามของพรรค แต่โชคไม่ดีเพราะเป็นช่วงรอยต่อ โดยครั้งแรกนั้น จะให้คณะก้าวหน้าเป็นฝ่ายส่งผู้สมัครลงสมัครในระดับท้องถิ่น ส่วนพรรคก้าวไกลจะส่งเฉพาะนักการเมืองระดับชาติคือระดับสภาที่มีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา แต่ต่อจากนี้ไปการเมืองระดับท้องถิ่นจะส่งลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล แต่ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อจึงให้ผู้สมัครลงสมัครในนามส่วนตัวไปก่อน[81] แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับเลือกตั้ง


กิจกรรมอื่น ๆ ของพรรค

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) เป็นหน่วยงานของพรรคก้าวไกลที่ทำหน้าที่ศึกษา รับฟัง แลกเปลี่ยน วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางและข้อเสนอนโยบายต่างๆ เพื่ออนาคตของสังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเท่าเทียม[82] เปิดตัวเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 นำโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต โดยระยะแรกมีการนำเสนอมาตรการเฉพาะหน้า 7 ข้อ เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดการว่างงาน และเกิดการเลิกจ้าง[83]

วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลและศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต จัดกิจกรรม “กาก้าวไกล เพศไหนก็คนเท่ากัน” เนื่องในวันสตรีสากล โดยกำหนดรูปแบบการจัดงานที่มีชื่อว่า การโอบรับอย่างเท่าเทียม ซึ่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวเปิดตัวนโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ยืนยันพร้อมสานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ในการสร้างประเทศไทยที่คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก 10 นโยบาย เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล ซึ่งเรียงตามช่วงอายุของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนแก่ ประกอบด้วย[84]

  • ผ้าอนามัยไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แจกฟรีในโรงเรียน
  • ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
  • ตำรวจหญิงทุกสถานี
  • ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ
  • สมรสเท่าเทียม
  • รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
  • ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรีทุกโรงพยาบาล หรือสาธารณสุขตำบล
  • สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
  • ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน
  • ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย

ข้อวิจารณ์

กลุ่มงูเห่า

พรรคก้าวไกลมี สส. งูเห่าเกิดขึ้นเป็นชุดที่ 3 ต่อจาก 2 ชุดก่อนหน้าในสมัยพรรคอนาคตใหม่ โดยเกิดขึ้นในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 หลังจากที่มี สส. ของพรรคลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย คือ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ โดยมีดังนี้

  1. ขวัญเลิศ พานิชมาท สส.ชลบุรี เขต 5
  2. คารม พลพรกลาง สส.บัญชีรายชื่อ
  3. เอกภพ เพียรพิเศษ สส.เชียงราย เขต 1
  4. พีรเดช คำสมุทร สส.เชียงราย เขต 6

โดยพรรคมีมติลงโทษห้ามร่วมงานทุกกิจกรรมของพรรค โดยไม่มีการขับออกแบบกลุ่มงูเห่าพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้[85] ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด

คำร้องคัดค้านการเป็น สส.

15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฎว่ามี ว่าที่ ส.ส. ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[86] โดยพรรคก้าวไกลถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 7 คน ดังนี้

ลำดับรายชื่อ สส.เขตที่ลงเลือกตั้งข้อกล่าวหาสถานะปัจจุบัน
1รักชนก ศรีนอกกรุงเทพมหานคร เขต 28ยังดำรงตำแหน่ง
2ชริน วงศ์พันธ์เที่ยงพระนครศรีอยุธยา เขต 2ยังดำรงตำแหน่ง
3ปดิพัทธ์ สันติภาดาพิษณุโลก เขต 1ยังดำรงตำแหน่ง
4จรัส คุ้มไข่น้ำชลบุรี เขต 8ยังดำรงตำแหน่ง
5ยอดชาย พึ่งพรชลบุรี เขต 9ยังดำรงตำแหน่ง
6เพชรรัตน์ ใหม่ชมภูเชียงใหม่ เขต 1ยังดำรงตำแหน่ง
7สมชาติ เตชถาวรเจริญภูเก็ต เขต 1ยังดำรงตำแหน่ง

แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง

การกระทำของสมาชิกและ สส. ของพรรค

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรคและว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 27 แถลงข่าวลาออกจากการเป็นว่าที่ ส.ส. หลังจากถูกจับข้อหาเมาแล้วขับในคืนก่อนหน้า[87] ส่งผลให้ สุเทพ อู่อ้น ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในลำดับที่ 40 และกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นเป็นว่าที่ ส.ส. แทนณธีภัสร์[88]

นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา พรรคก้าวไกลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ภายหลังจากมีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นว่ามีสมาชิกพรรคหลายคน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคด้วย มีพฤติกรรมคุกคาม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกายผู้หญิงอยู่หลายกรณี ทำให้แฮชแท็ก #สสทําร้ายร่างกายผู้หญิง #สสก้าวไกลคุกคามทางเพศ และ #พรรคชายแท้ ติดเทรนด์ในเอ็กซ์ โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้ชี้แจงว่า พรรคพบการกระทำความผิดดังกล่าวของสมาชิกพรรคจำนวน 4 กรณี ดังนั้น พรรคจึงประกาศดำเนินการปรับปรุงพรรคเพื่อป้องกันและรับมือปัญหาการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ[89] ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ โดยมีเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก เป็นประธานคณะทำงาน[90] และจนถึงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พรรคก้าวไกลได้ลงโทษสมาชิกพรรคที่กระทำความผิดข้างต้นทั้งหมดแล้ว ดังนี้

รายชื่อผู้กระทำความผิดในพรรค

ลำดับผู้กระทำความผิดข้อกล่าวหาผลวันที่มีผล
ชื่อสถานะทางการเมืองเขตที่ลงเลือกตั้ง
1อานุภาพ ธารทองสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสาทรคุกคามทางเพศผู้เยาว์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
2ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 27เมาแล้วขับลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
3สิริน สงวนสินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 31ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย และทำลายทรัพย์สินของแฟนสาว
  • ตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิก
  • คาดโทษว่าจะให้พ้นจากสมาชิกภาพหากกระทำผิดซ้ำ[89]
12 ตุลาคม พ.ศ. 2566
4เกรียงไกร จันกกผึ้งอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขต 3ล่วงละเมิดทางเพศโฆษกหญิงของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติกรรมการบริหารพรรค[89]
5วุฒิพงษ์ ทองเหลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี เขต 2คุกคามทางเพศให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[91] โดยต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนากล้า[92]1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
6ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 26
  • ตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิก
  • คาดโทษว่าจะให้พ้นจากสมาชิกภาพหากไม่ยอมรับความผิดและชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้เสียหายตามมติกรรมการบริหารพรรค[91]
ให้พ้นจากสมาชิกภาพโดยมติที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[93] โดยต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคไทยก้าวหน้า[94]7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จากการจับกุมผู้ชุมนุมในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 และมีแกนนำจำนวนมากและผู้ชุมนุมบางส่วนถูกตั้งข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พรรคก้าวไกลจึงมีความพยายามในการแก้ไขเนื้อหาในมาตรานี้ โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25 สังกัดพรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท รวมถึงมาตรา 112 ให้มีโทษลดลงตามลำดับ[95] แต่สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในสภาชุดนั้นตีกลับร่างนี้กลับไปให้พรรคก้าวไกลแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าร่างดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติเรื่องการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดไม่ได้ของพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560[96] นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว และประกาศไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคก้าวไกลยังดำเนินนโยบายนี้ต่อ[49]

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้พรรคก้าวไกลเลิกหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายใน 15 วัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยยึดคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่วินิจฉัยว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง[97] เป็นแนวบรรทัดฐานในการดำเนินการกับพรรคก้าวไกล[98] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ธีรยุทธจึงยื่นซ้ำต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน[99] สิบวันต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดก่อน[100] แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จึงรับคำร้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม หรือเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก[101] และส่งผลให้ สส. และ สว. จำนวนมาก ใช้เหตุผลนี้ในการไม่สนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี[102]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำทั้งหมดข้างต้นตามวรรค 2 ในทันที[103] ต่อมาคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ถูกเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์[104] ทำให้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำคำวินิจฉัยฉบับเต็มนี้มาพิจารณา ก่อนจะมีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องพร้อมความคิดเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญซ้ำให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 92 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[105]

การแยกไปตั้งพรรค

พรรคก้าวไกลเคยมีสมาชิกพรรคที่ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยมีดังนี้

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง