พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

นักการเมืองชาวไทย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2523) ชื่อเล่น ทิม เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดิมสังกัดพรรคอนาคตใหม่ จากการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. 2562 เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองจากการอภิปรายนโยบายทางการเกษตร "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[3]

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ใน พ.ศ. 2566
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562[a]
(5 ปี 17 วัน)
ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล
เริ่มดำรงตำแหน่ง
23 กันยายน พ.ศ. 2566
(0 ปี 200 วัน)
ที่ปรึกษาวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
เดชรัต สุขกำเนิด
หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ดำรงตำแหน่ง
14 มีนาคม พ.ศ. 2563 – 15 กันยายน พ.ศ. 2566
(3 ปี 185 วัน)
ก่อนหน้าโดยนิตินัย: ราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์
โดยพฤตินัย: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
(พรรคอนาคตใหม่)
ถัดไปชัยธวัช ตุลาธน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 กันยายน พ.ศ. 2523 (43 ปี)[1]
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561–2563)
ก้าวไกล (2563–ปัจจุบัน)
คู่สมรสชุติมา ทีปะนาถ (2555–2561; หย่า)
บุตรพิพิม ลิ้มเจริญรัตน์
บุพการี
  • พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ (บิดา)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
อาชีพนักธุรกิจ
นักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ85 ล้านบาท[2] (พ.ศ. 2566)

ภายใต้การนำของพิธา พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 ด้วย 151 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลโดยผลักดันให้เขาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พิธาขาด 51 คะแนน ในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ต่อมาในวันที่ 19 กรกฎาคม เขาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวเหตุถือหุ้นสื่อไอทีวี รัฐสภายังมีมติห้ามไม่ให้พิธาได้รับพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีรอบที่สองในวันเดียวกัน และภายหลังจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ทำให้พรรคก้าวไกลมีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่พิธาไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้เนื่องจากถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ เขาจึงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 15 กันยายน โดยมีชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พิธากลับมาปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อีกครั้ง

ปฐมวัยและการศึกษา

พิธาเกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2523[1] ในครอบครัวเชื้อสายไหหลำ[4] เขาเป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 2 คนของพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ และยังมีศักดิ์เป็นหลานลุงของผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ช่วยคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร[5][6] และตามใจ ขำภโต อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา[7] โดยมีน้องชาย 1 คนคือ ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์[8] ยายของพิธาชื่ออนุศรี อนุรัฐนฤผดุง เคยสมรสกับเกษม อภัยวงศ์ บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) กับหม่อมลม้าย อันเป็นตระกูลขุนนางเขมรเก่าแก่จากเมืองพระตะบอง[9][10] ภายหลังทั้งสองได้หย่าร้าง และต่างสมรสใหม่ทั้งคู่ ซึ่งลิลฎาเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งหลังของอนุศรี ด้วยเหตุนี้พิธาจึงไม่มีความเกี่ยวดองทางเชื้อสายกับสกุลอภัยวงศ์[11][12]

พิธาเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แต่เป็นคนเกเร พงษ์ศักดิ์จึงส่งพิธาไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์เมื่ออายุ 11 ปี ในเมืองฮามิลตัน และอาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ฐานะปานกลาง พิธาเริ่มสนใจการเมืองจากการรับชมการอภิปรายรัฐสภาและทำให้เขาเริ่มฟังสุนทรพจน์ของจิม โบลเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์[13][14][15] นอกจากการศึกษาในโรงเรียน พิธาทำงานพิเศษเพื่อหาเงินใช้จากการปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์[16] เก็บสตรอว์เบอร์รี และรับจ้างพาสุนัขเดินเล่น[17] เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา พิธาเข้าศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเงิน (ภาคภาษาอังกฤษ) จบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และจบที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน[18] พร้อมกันถึง 2 ปริญญานับเป็นคนไทยคนแรกที่จบ 2 มหาวิทยาลัยในไทยและเทกซัสพร้อมกัน จากนั้นเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่วิทยาลัยการปกครองเคนเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะนักเรียนทุนต่างชาติชาวไทยคนแรก[19][20][21] ควบคู่กับการบริหารธุรกิจที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ใน พ.ศ. 2554[6]

งานธุรกิจ

หลังการเสียชีวิตของบิดาด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พิธาตัดสินใจพักการศึกษาและกลับมาประเทศไทยเพื่อดูแลธุรกิจน้ำมันรำข้าวที่เป็นหนี้ต่อ[13][22] สองปีหลังจากนั้นธุรกิจฟื้นตัวและทำให้พิธากลับไปยังสหรัฐเพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาโทต่อใน พ.ศ. 2554[23]

พิธายังเป็นกรรมการบริหารบริษัทแกร็บ ประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2560–2561[24]

งานการเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

พิธากำลังทำแฮนด์ฮาร์ตในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

พิธาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง[17] ต่อมาพิธาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ด้วยการเชื้อเชิญของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และเมื่อ พ.ศ. 2562 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคในลำดับที่ 4[25][b] และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งแรกที่ลงรับเลือกตั้ง[27] โดยพิธาได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในสัดส่วนของพรรคอนาคตใหม่[28]

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 พิธาอภิปรายครั้งแรกในสภาประเด็นนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะ "ปัญหากระดุม 5 เม็ด" ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิธาเสนอการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรด้วยการติดกระดุม 5 เม็ด: ที่ดิน, หนี้สินการเกษตร, สารเคมีและการประกันราคาพืชผล, การแปรรูปและนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร[27] จากการอภิปรายดังกล่าวของเขา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชื่นชมการอภิปรายของพิธาแม้จะอยู่คนละฝ่ายกัน[29][30]

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 8 มีนาคม พิธาย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกลร่วมกับอดีตสมาชิกพรรคอีก 54 คน[31][32] โดยพิธาได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค[33]

การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566

พิธากล่าวปราศรัยขอบคุณผู้สนับสนุนหลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ในวันที่ 15 พฤษภาคม พิธาประกาศว่าเขาพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และเชิญพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยพรรคการเมืองฝ่ายค้านในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้ง พร้อมด้วยพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลผสม[34]

พิธาและพรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ในวันที่ 18 พฤษภาคม พิธาพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเขา โดยทุกพรรคพร้อมสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU)[35] ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้ในการจัดตั้งรัฐบาลในการเมืองไทย[36] พรรคร่วมรัฐบาลของพิธาจัดงานแถลงข่าวอีกครั้งเพื่อเปิดบันทึกความเข้าใจแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในบันทึกความเข้าใจมีการบรรจุประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ, สมรสเท่าเทียม, การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ, การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ, การกระจายอำนาจ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นต้น[37] ต่อมาพิธากล่าวว่าเขาได้ปรับนำกลยุทธ์หาเสียงของบารัก โอบามา ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2551 มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้[38] นอกจากที่พิธาและพรรคร่วมรัฐบาลของเขาต้องได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร พิธายังต้องได้เสียงสนับสนุนจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกในการได้รับพิจารณาให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน[39]

ความพยายามจัดตั้งรัฐบาล

หลังการเลือกตั้งทั่วไปและการประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสมในเวลาต่อมา สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 จัดการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพิธาได้ลุกขึ้นเสนอชื่อวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ด้วยตนเอง[40] ช่วงเวลาก่อนวันพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี พิธาและพรรคก้าวไกลจัดขบวนแห่ขอบคุณคะแนนเสียงสนับสนุนในกรุงเทพมหานคร[41] พิธายังขอเสียงสนับสนุนรัฐบาลของเขาจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามอาณัติที่ประชาชนมอบให้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา[42]

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปัดตก 3 คำร้องต่อพิธาเรื่องการครอบครองหุ้นสื่อไอทีวี บริษัทผู้ให้บริการโทรทัศน์[43] โดยรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ผู้ใดที่ครอบครองหุ้นสื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง[44] อย่างไรก็ดี กกต. หันมาดำเนินคดีอาญาต่อพิธากรณีรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 ประกอบกับมาตรา 42(3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[44][45] พิธาโต้แย้งว่าเขาเป็นผู้ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกหลังการเสียชีวิตของบิดา ไอทีวียุติการออกอากาศใน พ.ศ. 2550 และถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2557 ไอทีวีไม่มีรายได้จากการผลิตสื่อตลอดหลายปี แต่มีรายได้เล็กน้อยจากบริษัทย่อยที่ขอเช่าอุปกรณ์การออกอากาศ[44] พิธาเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภา 500 คน ที่กกต. ประกาศรับรองเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน แม้การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป[46]

พิธาปราศรัยขอบคุณคะแนนเสียงภายหลังชนะการเลือกตั้ง ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าได้รับคำร้องของกกต. ขอให้พิจารณากรณีพิธาและพรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยเป็นความพยายามในการ "ล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"[47] กกต. ระบุว่าพิธาขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกรัฐสภา ขณะที่พิธากล่าวว่าขั้นตอนการดำเนินการของกกต. นั้นไม่ยุติธรรมและตัวเขาเองไม่ได้รับโอกาสในการชี้แจงก่อนจะยื่นคำร้องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ[48] หนึ่งวันก่อนการพิจารณาในรัฐสภา พิธาเตือนสมาชิกรัฐสภาว่า "มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูง" หากเขาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี[49]

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเรียกประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการเสนอชื่อของชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พิธาเป็นคนเดียวของสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเสนอชื่อ[50] แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง แต่พิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภาในการพิจารณาครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562[51][52] สมาชิกรัฐสภา 324 คน ลงคะแนนเสียงสนับสนุนเห็นชอบให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี (311 คนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ 13 คน เป็นวุฒิสมาชิกที่รัฐบาลทหารแต่งตั้ง) 182 คน ไม่เห็นชอบ และ 199 คน งดออกเสียง จากผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 705 คน พิธาขาด 51 คะแนนจะได้กึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา คือ 375 คะแนน ในการได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี[53][54] เกิดการประท้วงในเวลาต่อมาในช่วงเย็นหลังการพิจารณาเห็นชอบ ระบบการลงคะแนนเสียงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามอาณัติที่ประชาชนมอบให้[55][56] ความผิดพลาดของรัฐสภาในการได้มาซึ่งผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้หุ้นตก[57] หนังสือพิมพ์ข่าวสดอธิบายว่าการลงคะแนนเสียงว่าเป็นการ 'วางกับดักไว้ล่วงหน้า'[58] อย่างไรก็ดี พิธายังคงตั้งเป้าเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และไม่หันหลังให้สัญญาที่ให้ไว้ว่าจะปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์[59][60]

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การประท้วงต่อเนื่องไป โดยหลายคนต้องการให้วุฒิสมาชิกลาออก[61] เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พิธาประกาศว่าพรรคร่วมรัฐบาลของเขาตกลงที่จะเสนอชื่อของเขาในการพิจารณาเลือกรอบถัดไป ขณะเดียวกันยังกล่าวว่าเขายังพร้อมที่จะให้การสนับสนุนบุคคลจากพรรคเพื่อไทยในการได้รับการเสนอชื่อหากการพิจารณาเลือกรอบที่สองไม่สำเร็จ หรือเขาไม่สามารถได้เสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน[62] เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม รัฐสภาเรียกประชุมพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง[63] ในวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวีอย่างเป็นเอกฉันท์ และยังมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น แต่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของเขาไม่ได้ทำให้ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้[64][65][66] ระหว่างการประชุมรัฐสภา พิธากล่าวรับทราบคำวินิจฉัยและออกจากโถงประชุม[67] ในการอภิปรายต่อมา รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้เสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้งในรอบถัดไป[68] สมาชิกรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อพิธา[69] แต่ถูกโต้แย้งว่าขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ห้ามไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ[70][71][72][73] ในการลงคะแนนให้สามารถเสนอชื่อบุคคลซ้ำได้อีก มีผู้ให้ความเห็นชอบ 312 คน ไม่เห็นชอบ 394 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวุฒิสมาชิก และงดออกเสียง 8 คน โดยที่พิธาไม่ได้ลงคะแนนเสียง[71][74][75]

หลังการเลือกตั้งและการลาออก

"เมื่อมีคนถามผมว่า 'ผมรู้สึกอย่างไรที่ผมพลาด' ผมตอบกลับพวกเขาว่า 'ผมชนะ ผมจัดตั้งรัฐบาลได้ และผมถูกห้าม ผมไม่ได้พลาด"

—พิธา ลิ้มเจริญรัตน์[76]

จากผลการลงคะแนนดังกล่าวในรัฐสภา พิธาไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกจนกว่าจะถึงสมัยประชุมใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป[77] แม้พิธายังคงถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาส่งสัญญาณเป็นนัยสนับสนุนบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดต) จากพรรคเพื่อไทย[78][79] เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลของพิธา หลังพรรคก้าวไกลปฏิเสธที่จะล้มเลิกความพยายามแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียง[80]

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พิธาเริ่มหาเสียงให้กับสมาชิกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งที่ 3 ของจังหวัดระยอง[81] หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวลาออก ซึ่งมีพรรคอื่นส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยคู่แข่งสำคัญในพื้นที่นี้คือพรรคประชาธิปัตย์[82]

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน ชนะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สามโดยความเห็นชอบของรัฐสภา[83] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในที่ประชุมทุกคน (149 คน) ไม่ให้ความเห็นชอบเศรษฐาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[84]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106 ระบุว่า ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในกลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกของพรรคก้าวไกล ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้[85] และแม้ปดิพัทธ์จะลาออกหรือพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล พิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พิธาจึงประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลดำเนินการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการลาออกจากหัวหน้าพรรคของพิธาส่งผลให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อวันที่ 23 กันยายน[86] เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และกล่าวว่าจะต้องมีการ "ตรวจสอบและถ่วงดุล" รัฐบาล[87] ทั้งนี้ พิธายังกล่าวอีกว่าเขาจะยังมีบทบาทในการเมืองไทยและพรรคของเขา[88] ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน[89] และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของพรรคนอกสภาเป็นหลัก โดยมีพิธาเป็นประธานที่ปรึกษา และมีที่ปรึกษาอีก 2 คน คือ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ทีมเศรษฐกิจของพรรค และ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ซึ่งชัยธวัชกล่าวว่าการดำรงตำแหน่งของเขาเป็นส่วนหนึ่งของ "การปรับทัพชั่วคราว" และ "ยินดีที่จะลงจากตำแหน่งเมื่อสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพิธากลับมาอีกครั้ง"[90]

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส. ของพิธาไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากแม้พิธาจะถือหุ้นไอทีวีจริง โดยถือว่าแม้การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ถือว่าเป็นการถือหุ้นตามความหมายในรัฐธรรมนูญแล้ว และเป็นการถือหุ้นในฐานะทายาทผู้รับมรดกนอกเหนือจากการเป็นผู้จัดการมรดกด้วย แต่ไม่พบการประกอบกิจการสื่อมวลชนของไอทีวี ในวันที่พิธาลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. และแม้ไอทีวีจะชนะคดีที่ฟ้องร้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในศาลปกครอง ก็ไม่สามารถทำให้บริษัทกลับมาประกอบธุรกิจสื่อได้อีก[91] ส่งผลให้พิธาสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. ได้ตามปกติในทันที โดยหลังการตัดสิน พิธาได้กล่าวว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมพรรคในเดือนเมษายนปีเดียวกัน[92]

ประวัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่พรรคก้าวไกล
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล

จุดยืนทางการเมือง

พิธากล่าวปราศรัยที่ลานหน้าสามย่านมิตรทาวน์

พิธาในบริบทการเมืองไทยได้รับการจัดว่าเป็นคนที่มีอุดมการณ์แบบก้าวหน้า (progressive)[93][94][95] พรรคก้าวไกลภายใต้การนำของเขาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถูกจัดว่าเป็นการทำการเมืองแบบฝ่ายซ้ายกลางและก้าวหน้า[96]

พิธามักกล่าวถึงช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2566 ว่าเป็น "ทศวรรษที่สาบสูญ" ของประเทศไทยในแง่ของทั้งเศรษฐกิจและความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย[97][98] พิธาเชื่อว่ากองทัพไทยมีอิทธิพลในการเมืองพลเรือนมากเกินไป และได้ให้คำมั่นว่าจะลดอิทธิพลนั้นลง พิธายังกล่าวว่าประเทศไทยจะต้อง "ลดขนาดกองทัพ"[99] พิธายังสัญญาว่าพรรคของเขาจะแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่ครหา ซึ่งให้ความคุ้มครองประมุขจากคำวิจารณ์[100] ด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ พิธาเชื่อในการยกเลิกการผูกขาด และการกระจายอำนาจในเศรษฐกิจ[101] เขายังกล่าวว่าเขาจะทำให้อุตสาหกรรมสุราเป็นเสรี[102][103]

พิธาสนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสิทธิในการให้ที่ลี้ภัย เขาได้เข้าร่วมไพรด์พาเรดในกรุงเทพมหานคร[104] พิธายังเชื่อในการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ[105]

พิธามีจุดยืนในนโยบายต่างประเทศด้วยหลัก "3อาร์": รีไวฟ์ (revive, "ฟื้นฟู"), รีบาแลนซ์ (rebalance, "ปรับสมดุล") และ รีคอลิเบรต (recalibrate, "เปลี่ยนวิธีทำ")[106] เขายังระบุว่าประเทศไทยควรจะยืนหยัดในเวทีโลกและเปิดประเด็นพูดคุยกับประเทศมหาอำนาจ และคุณค่าทางประชาธิปไตยควรเป็นแกนหลักของนโยบายต่างประเทศ[107] พิธาประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียโดยเรียกท่าทีของรัฐบาลไทยว่า "สองหน้า"[108][109]

ในการสัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ พิธากล่าวว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ของสิงคโปร์ และเปรียบเทียบการเมืองว่าเป็นเหมือนการแข่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น โดยระบุว่า "ผมมีพลังกายสำหรับการวิ่งระยะเวลานาน"[110] อีกหนึ่งบุคคลตัวอย่างทางการเมืองที่พิธากล่าวถึงคือเบอร์นี แซนเดอร์ส สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ และมีหนังสือที่เขาเขียนชื่อ "It's OK To Be Angry About Capitalism" อีกด้วย[111][112]

ชีวิตส่วนตัว

พิธาสมรสกับ ชุติมา ทีปะนาถ นักแสดง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555[113][114] ทั้งสองหย่าร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562[115] ชุติมากล่าวอ้างกับสาธารณะว่าพิธาคอยควบคุมและละเมิดเธอตลอด[116] นักกิจกรรมสิทธิสตรีและผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเรียกร้องให้พิธาออกมาพูดเกี่ยวกับคำกล่าวหานี้[117][116] ชุติมาส่งคำร้องฟ้องพิธาในข้อหาทำร้ายร่างกาย แต่ศาลครอบครัวยกฟ้องและพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง[118][119] ภายหลัง เธอกล่าวว่า "มีการทำร้ายร่างกายจริงแต่ไม่ถึงกับเป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่ว่ามันก็กระทบจิตใจของเรา"[120] ตั้งแต่นั้น ชุติมาไม่ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาในอดีตและให้ความสนับสนุนงานการเมืองของพิธา[118][119] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน[120][121]

ใน พ.ศ. 2551 พิธาได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งใน "50 หนุ่มโสดในฝัน" (Most Eligible Bachelors) ของคลีโอ[6][122][123]

เชิงอรรถ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถัดไป
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
(ในนามพรรคอนาคตใหม่)
ราเชนธร์ ติยะวัชรพงศ์
(หัวหน้าพรรคเดิม)

หัวหน้าพรรคก้าวไกล
(14 มีนาคม พ.ศ. 2563 – 15 กันยายน พ.ศ. 2566)
ชัยธวัช ตุลาธน
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง