เศรษฐศาสตร์

วิชาทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลิต การกระจาย การบริโภคสินค้า และการบริการ

เศรษฐศาสตร์ (อังกฤษ: economics) เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลิต การกระจาย การบริโภคสินค้าและบริการ

เศรษฐศาสตร์มุ่งศึกษาพฤติกรรมและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงทางเศรษฐกิจและการทำงานของเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์จุลภาควิเคราะห์องค์ประกอบหลักในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งตัวแสดงและตลาดที่เป็นปัจเจกบุคคล การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และผลลัพธ์ของปฏิสัมพันธ์นั้น ตัวอย่างของตัวแสดงที่เป็นปัจเจกรวมถึงครัวเรือน ภาคธุรกิจ ผู้ซื้อ และผู้ขาย เศรษฐศาสตร์มหภาควิเคราะห์เศรษฐกิจในภาพรวม (หมายถึงการผลิตมวลรวม การบริโภค การออม และการลงทุน) และปัญหาที่กระทบมัน รวมทั้งการไม่ได้ใช้ของทรัพยากรต่าง ๆ (แรงงาน, ทุน, และที่ดิน) เงินเฟ้อ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายสาธารณะที่จัดการปัญหาเหล่านั้น (การเงิน การคลัง และนโยบายอื่นๆ)

คำจำกัดความ

ตามคำจำกัดความของนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมือง เรย์มอนด์ บารร์ แล้ว "เศรษฐศาสตร์คือศาสตร์แห่งการจัดการทรัพยากรอันมีจำกัด เศรษฐศาสตร์พิจารณาถึงรูปแบบที่พฤติกรรมมนุษย์ได้เลือกในการบริหารทรัพยากรเหล่านี้ อีกทั้งวิเคราะห์และอธิบายวิถีที่บุคคลหรือบริษัททำการจัดสรรทรัพยากรอันจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการมากมายและไม่จำกัด"[1]

คำว่า เศรษฐศาสตร์ มาจากคำภาษากรีก oikonomia ซึ่งแปลว่าการจัดการครัวเรือน (oikos แปลว่าบ้าน และ nomos แปลว่าจารีตประเพณีหรือกฎหมาย ซึ่งรวมกันหมายความว่ากฎเกณฑ์ของครัวเรือน) แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันแยกออกมาจากขอบเขตที่กว้างของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ถูกประยุกต์ใช้ครอบคลุมทั้งสังคมในด้าน ธุรกิจ, การเงิน และรัฐบาล แม้แต่ทั้งด้านอาชญากรรม, การศึกษา, ครอบครัว, สุขภาพ, กฎหมาย, การเมือง, ศาสนา, สถาบันสังคม, สงคราม และวิทยาศาสตร์

ภาพแสดงผู้ซื้อและผู้ขายกำลังต่อรองราคาอยู่หน้าตลาดชิชิคาสเทนานโก ในประเทศกัวเตมาลา

วิชาเศรษฐศาสตร์จัดเป็นวิชาเชิงปทัสฐาน (เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น) เมื่อเศรษฐศาสตร์ได้ถูกใช้เพื่อเลือกทางเลือกอันหนึ่งอันใด หรือเมื่อมีการตัดสินคุณค่าบางสิ่งบางอย่างแบบอัตวิสัย ในทางตรงข้ามเราจะเรียกเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นวิชาเชิงบรรทัดฐาน (เศรษฐศาสตร์ตามที่เป็นจริง) เมื่อเศรษฐศาสตร์นั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำนายและอธิบายถึงผลลัพธ์ที่ตามมาเมื่อมีการเลือกเกิดขึ้น โดยพิจารณาจากสมมติฐาน และชุดของข้อมูลสังเกตการณ์ ทางเลือกใดก็ตามที่เกิดจากการใช้สมมติฐานสร้างเป็นแบบจำลอง หรือเกิดจากชุดข้อมูลสังเกตการณ์ที่สัมพันธ์กันนั้น ก็เป็นข้อมูลเชิงบรรทัดฐานด้วยเช่นเดียวกัน

เศรษฐศาสตร์จะให้ความสนใจกับตัวแปรที่สามารถวัดค่าได้เท่านั้น โดยสาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์จะถูกจำแนกออกตามเนื้อหาเป็นสองสาขาใหญ่ ๆ คือ

  1. เศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งสนใจพฤติกรรมขององค์ประกอบพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจซึ่งรวมถึง ตลาดแต่ละตลาดและตัวแทนทางเศรษฐกิจ (เช่นครัวเรือน หน่วยธุรกิจ ผู้ซื้อ และผู้ขาย)
  2. เศรษฐศาสตร์มหภาค จะสนใจเศรษฐกิจในภาพรวม ตัวอย่างเช่น อุปทานมวลรวมและอุปสงค์มวลรวม การว่างงาน เงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกออกตามการวิเคราะห์ปัญหาได้แก่

  1. เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ หรือเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง (Positive economics)
  2. เศรษฐศาสตร์นโยบาย หรือเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น (Normative economics)

สำหรับประเด็นหลัก ๆ ที่เศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจจะอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร การผลิต การกระจายสินค้า การค้า และการแข่งขัน โดยหลักการแล้วคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์จะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกภายใต้ข้อจำกัดด้านความขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้กับทางเลือกนั้น ๆ นั่นเอง

ในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยธุรกิจของประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะนิยมสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์แบบสำนักคลาสสิกใหม่ (Neo - Classical Economics) ทั้งนี้ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะวิเคราะห์ถึง "ความเป็นเหตุเป็นผล-ความเป็นปัจเจกชน-ดุลยภาพ" ตรงกันข้ามกับเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่เน้นวิเคราะห์ "สถาบัน-ประวัติศาสตร์-โครงสร้างสังคม" เป็นหลัก[2]

จุดเริ่มต้นของเศรษฐศาสตร์

ข้อเขียนทางเศรษฐศาสตร์สามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคสมัยเมโสโปเตเมีย, กรีซโบราณ, โรมันโบราณ, อนุทวีปอินเดีย, จีน, เปอร์เซีย และอารยธรรมอาหรับ ปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในยุคโบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ได้แก่ อริสโตเติล, ซีโนโฟน, จันนากียะ หรือ วิษณุคุปต์, จักรพรรดิฉินที่ 1, โทมัส อควีนาส และอิบน์ ค็อลดูน ผลงานของอริสโตเติลมีอิทธิพลอย่างมากต่องานของอควีนาส ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อปรัชญาเมธีรุ่นหลัง ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14–17[3] โจเซฟ ชูมปีเตอร์ บรรยายถึงอควีนาสไว้ว่าเป็นผู้ที่ "ใกล้เคียงกว่าคณะอื่นใดที่จะได้ชื่อว่าเป็น 'ผู้ก่อตั้ง' เศรษฐศาสตร์" ในเชิงทัศน์กฎธรรมชาติด้านการเงิน, ดอกเบี้ย และทฤษฎีด้านมูลค่า[4]

แม้การถกเถียงเรื่องการซื้อขายและการจัดสรรจะมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เศรษฐศาสตร์ในความคิดของคนสมัยใหม่นั้นจะถือเอาวันที่อดัม สมิธได้เผยแพร่หนังสือเรื่อง "ความมั่งคั่งของประชาชาติ" (The Wealth of Nations) ในปี ค.ศ. 1776 เป็นการเริ่มต้น

เดิมอดัม สมิธเรียกวิชานี้ว่า เศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีคำศัพท์คำว่า Economics ต่อมาคำว่าเศรษฐกิจ (Economy) ได้ถูกปรับรูปเป็นคำว่า เศรษฐศาสตร์ (Economics) และกลายเป็นสาขาวิชาอีกแขนงหนึ่งเป็นต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 อดัม สมิธเป็นนักปรัชญาคนแรกที่เสนอว่าความร่ำรวยของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินคงคลัง แต่ขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) การส่งออกไม่แน่ว่าจะเป็นประโยชน์ หรือการนำเข้าก็ไม่แน่ว่าจะเป็นการขาดทุน การค้าขายอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายคู่ค้า (win-win situation) และกลไกการตลาดเปรียบเสมือน "มือที่มองไม่เห็น" (Invisible Hand) ซึ่งในระยะยาว (long run) มีแนวโน้มจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล

เศรษฐศาสตร์จุลภาค

ตลาด

เศรษฐศาสตร์จุลภาคถือเป็นแนวทางหลักในการวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ โดยมองว่าครัวเรือนและบริษัทที่ต่างก็ทำธุรกรรมระหว่างกันผ่านตลาดนั้นเป็นหน่วยย่อยที่สุดในระบบเศรษฐกิจซึ่งเผชิญกับความขาดแคลนและกฎระเบียบแห่งรัฐ ตลาดนั้นอาจมีขึ้นสำหรับสินค้า เช่น ข้าวสาร หรือบริการสำหรับปัจจัยในการผลิต เช่น การก่อสร้าง ก็ได้ ทฤษฎีจุลภาคนั้นจะพิจารณาปริมาณความต้องการมวลรวมของผู้ซื้อและปริมาณที่ผลิตโดยผู้ขายในทุกระดับราคาต่อหน่วย และเชื่อมโยงทั้งสองปริมาณเข้าด้วยกันเพื่ออธิบายการที่ตลาดเข้าสู่จุดดุลยภาพทางด้านราคาและปริมาณ และการตอบสนองของตลาดเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ

ทฤษฎีอุปสงค์และอุปทานเป็นหนึ่งในทฤษฎีการวิเคราะห์ข้างต้น นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์จุลภาคยังวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของตลาด เช่น ตลาดแข่งขันสมบูรณ์และตลาดผูกขาด เพื่อทราบถึงพฤติกรรมและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในตลาดหนึ่ง ๆ มักเริ่มต้นจากสมมติฐานให้ตลาดอื่น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ ดังนี้ เรียกว่าการวิเคราะห์ดุลยภาพบางส่วน (partial-equilibrium analysis) ขณะที่ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไปจะอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงในตลาดอื่น ๆ และใช้วิธีคำนวณปริมาณโดยรวมในทุกตลาด รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของปริมาณดังกล่าวและปฏิสัมพันธ์เพื่อเข้าสู่จุดดุลยภาพ[5]

การผลิต, ต้นทุน และประสิทธิภาพ

การผลิตในทางเศรษฐศาสตร์จุลภาค คือการแปลงวัตถุดิบให้กลายเป็นผลผลิต กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์นี้ใช้วัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำหรับการแลกเปลี่ยนหรือเพื่อใช้งานโดยตรง การผลิตมีลักษณะเป็น "กระแส" (flow) ดังนั้นจึงนิยามเป็นอัตราผลผลิตต่อหน่วยเวลา

ต้นทุนค่าเสียโอกาสหมายความถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิต หรือคือมูลค่าที่สูญไปของโอกาสที่ดีที่สุดในลำดับถัดไป อันเนื่องมาจากการที่เลือกได้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ เราอาจอธิบายได้อีกอย่างว่าเป็น "ความสัมพันธ์เบื้องต้นระหว่างความขาดแคลนและทางเลือก"[6] ต้นทุนค่าเสียโอกาสของกิจกรรมหนึ่ง ๆ คือองค์ประกอบสำคัญที่จะรับประกันได้ว่าทรัพยากรอันมีจำกัดนั้นจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ต้นทุนจะถูกพิจารณาเปรียบเทียบกับมูลค่าของกิจกรรมนั้น ๆ ในการตัดสินใจว่าควรเพิ่มหรือลดลง ต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงตัวเงิน แต่อาจวัดโดยต้นทุนที่แท้จริงของผลผลิตที่สูญเสียไป, ความพึงพอใจ หรืออื่นใดที่ให้อรรถประโยชน์[7]

ความชำนาญเฉพาะ

ความชำนาญเฉพาะ หรือภาษาอังกฤษ Specialization[8] ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจทั้งในเชิงทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่ละบุคคล/ประเทศอาจจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสที่แท้จริงแตกต่างกันไป เช่น ความแตกต่างในด้านปริมาณคงคลังของทุนมนุษย์ (human capital) ต่อหน่วยแรงงาน หรือ อัตราส่วน ทุนต่อแรงงาน เป็นต้น ในทางทฤษฎีแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ในการผลิตสินค้าที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีปริมาณมากกว่าและถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ถึงแม้ประเทศหนึ่ง ๆ จะมีความได้เปรียบเชิงสัมบูรณ์ (absolute advantage) ในสัดส่วนปริมาณผลผลิตต่อปัจจัยการผลิตในทุกประเภทของผลผลิตแล้ว ประเทศนั้น ๆ ก็อาจจะยังคงมีความชำนาญเฉพาะในผลผลิตที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแล้วทำการค้าขายกับอีกประเทศที่ไม่ได้มีความได้เปรียบเชิงสัมบูรณ์แต่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการผลิตสินค้าอื่น ๆ

ความชำนาญเฉพาะถูกกล่าวถึงโดยอดัม สมิธ ในหนังสือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nation) ว่า

"the division of labour is limited by the extent of the market. This is because it is by the exchange that each person can be specialised in their work and yet still have access to a wide range of goods and services. Hence, reductions in barriers to exchange lead to increases in the division of labour and so help to drive economic growth. Limitations to the division of labour have also been related to coordination and transportation costs".

กล่าวคือ ภาคแรงงานถูกจำกัดโดยการขยายตลาด เพราะว่า แต่ละบุคคลนั้นสามารถทำงานให้มีความชำนาญเฉพาะได้ แต่ว่าต้องมาทำงานหลากหลาย หลายอย่าง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าหากพัฒนาความชำนาญได้ก็จะเพิ่มผลิตภาพการผลิตได้ และยังเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น แนวคิดของสมิธ จึงกล่าวถึงการที่ภาคแรงงานสามารถสร้างความชำนาญเฉพาะ โดยใช้หลักแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) ทำให้สามารถผลิตได้จำนวนมากกว่า และมีการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale)[9] เกิดขึ้น

อุปสงค์และอุปทาน

อุปสงค์และอุปทานเป็นแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ของราคาและปริมาณสินค้าในตลาด กล่าวทั่วไปคือ ข้อมูลทางทฤษฎีจะระบุว่าเมื่อใดก็ตามที่สินค้าถูกขายในตลาด ณ ระดับราคาที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากกว่าจำนวนสินค้าที่สามารถผลิตได้แล้ว ก็จะเกิดการขาดแคลนสินค้าขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของระดับราคาของสินค้า โดยที่ผู้บริโภคกลุ่มที่มีความพร้อมในการจ่ายชำระ ณ ระดับราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นก็จะส่งผลให้ราคาตลาดสูงขึ้น ในทางตรงข้ามระดับราคาจะต่ำลงเมื่อปริมาณสินค้าที่มีให้นั้นมีมากกว่าความต้องการที่เกิดขึ้น กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปจนกระทั่งตลาดเข้าสู่จุดดุลยภาพ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นอีก เมื่อใดก็ตามที่ผู้ผลิตทำการผลิตสินค้าที่จุดดุลยภาพนี้ ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่ผู้ซื้อตกลงซื้อที่ระดับราคาดังกล่าวแล้ว ณ จุดนี้กล่าวได้ว่าตลาดเข้าสู่จุดสมดุลแล้ว

ระดับราคา

ระดับราคาเป็นตัวแปรที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการวัดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน ระดับราคานั้นเป็นอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด ดังนั้นทฤษฎีราคาจะกล่าวถึงเส้นกราฟที่แทนการเคลื่อนไหวของปริมาณที่สามารถวัดค่าได้ ณ เวลาต่าง ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างราคากับตัวแปรที่วัดค่าได้อื่น ๆ ในหนังสือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nations) ของอดัม สมิธ ได้กล่าวเอาไว้ว่า มักจะมีภาวะได้อย่างเสียอย่างเสมอระหว่างราคาและความสะดวกสบาย ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นอยู่บนพื้นฐานของระดับราคาและทฤษฎี อุปสงค์และอุปทาน (demand and supply) ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วเราสามารถส่งผ่านสัญญาณไปทั่วทั้งสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านทางระดับราคา เช่น ระดับราคาที่ต่ำลงจะแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ ในขณะที่ระดับราคาที่สูงขึ้นจะแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอุปทาน เป็นต้น

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในความเป็นจริงหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่ามีรูปแบบของ ระดับราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ระดับราคาไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในหลาย ๆ ตลาด ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมักจะเข้ามาแสดงประเด็นโต้แย้งเพื่อให้เห็นถึงสาเหตุของความติดขัดในทางเศรษฐกิจ หรือระดับราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งในที่สุดแล้วก็จะทำให้ไม่สามารถบรรลุดุลยภาพของอุปสงค์และอุปทานได้

มีเศรษฐศาสตร์บางสาขาจะให้ความสนใจว่าระดับราคานั้นสามารถวัดมูลค่าได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นกระแสหลักมักจะพบว่าภาวะความขาดแคลนซึ่งเป็นปัจจัยหลักนั้นไม่ได้สะท้อนลงไปยังระดับราคา จึงอาจจะกล่าวได้ว่ามีผลกระทบภายนอกของต้นทุน ด้วยเหตุที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะทำนายว่าสินค้าที่มีการขาดแคลนแต่มีราคาต่ำกว่าปกติ จะถูกบริโภคมากเกินพอดี (ให้ดู ต้นทุนทางสังคม) นี่จึงเป็นที่มาของทฤษฎีสินค้าสาธารณะ

ความล้มเหลวของตลาด

การที่ "ตลาดล้มเหลว" นั้นหมายความว่าเกิดอุปสรรคที่ขัดต่อสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ขึ้น แม้ว่าอาจจะมีการแบ่งประเภทความล้มเหลวของตลาดแตกต่างกันไป แต่อาจหมายรวมถึงประเภทเหล่านี้

สารสนเทศอสมมาตร (information asymmetry) และตลาดไม่สมบูรณ์ อาจก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือเป็นไปได้ที่อาจจะนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพผ่านตลาด, กฎหมาย และการชดเชยทางด้านระเบียบข้อบังคับ

การผูกขาดตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการแข่งขัน ซึ่งอธิบายได้ว่าต้นทุนการผลิตยิ่งต่ำลงเรื่อย ๆ หากผลิตสินค้านั้นเพิ่ม

เศรษฐศาสตร์มหภาค

เศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นจะพิจารณาระบบเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่ออธิบายอุปสงค์-อุปทานมวลรวมและความสัมพันธ์ในลักษณะ "บนลงล่าง" กล่าวคือ ใช้ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไปอย่างง่ายในการอธิบาย[10] ไม่ว่าจะเป็น รายได้ประชาชาติ, ผลผลิตประชาชาติ, อัตราการว่างงาน, ภาวะเงินเฟ้อ ย่อยลงมาก็ได้แก่ การบริโภคโดยรวม, การลงทุนและองค์ประกอบของการลงทุน นอกจากนี้ เศรษฐศาสตร์มหภาคยังทำการศึกษาผลกระทบของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ในการจะอธิบายหัวข้อดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องจำลองภาพระบบเศรษฐกิจระดับมหภาคในรูปแบบที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งบรรยายตัวระบบโดยคร่าว ๆ เพื่อประโยชน์ในการอภิปราย แบบจำลองดังกล่าวอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น แผนภาพ, สมการ, การเปรียบเปรยในเชิงเทคนิค, ตารางเลออนเทียฟ เป็นต้น

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา เศรษฐศาสตร์มหภาคได้เริ่มผนวกเอาแนวคิดแบบจำลองเศรษฐศาสตร์จุลภาคเข้ามาใช้ ทั้งในแง่ของภาคการผลิต, รวมเอาความมีเหตุมีผลของตัวประกอบในระบบเศรษฐกิจ, การใช้ข้อมูลสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการแข่งขันแบบไม่สมบูรณ์[11] ซึ่งได้แก้ปมประเด็นที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ทั้งสองแขนง[12]

การวิเคราะห์ในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคนอกจากนี้ยังคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อระดับความเติบโตในระยะยาวของรายได้ประชาชาติ อันได้แก่ การสะสมทุน, การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการขยายตัวของกำลังแรงงาน[13]

ความเติบโตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์ด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมุ่งเน้นศึกษาปัจจัยที่อธิบายความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือคือการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อหัวของประเทศในระยะยาว ปัจจัยดังกล่าวก็ยังใช้ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างระดับผลผลิตต่อหัวระหว่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะว่าทำไมบางประเทศเติบโตได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ หรือว่าบางกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเติบโตเท่าทันกันหรือไม่ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีการวิจัยศึกษาค่อนข้างมากก็ได้แก่ อัตราการลงทุน, การเติบโตของประชากร และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้มีปรากฏทั้งในรูปทฤษฎีและผลการศึกษาเชิงประจักษ์ ทั้งในแบบจำลองคลาสสิกใหม่, แบบจำลองการเติบโตภายใน (endogeneous growth) และในการบันทึกบัญชีการเติบโต (growth accounting)[14]

วัฏจักรธุรกิจ

ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจราวทศวรรษ 1930 นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดให้กับเศรษฐศาสตร์มหภาคที่แตกแขนงออกไปเป็นศาสตร์เฉพาะทาง ระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ได้แต่งหนังสือที่ชื่อว่า ทฤษฎีทั่วไปของการจ้างงาน, ดอกเบี้ย และเงินตรา โดยวางรากฐานทฤษฎีหลัก ๆ ของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ไว้ แต่ต่อมาก็มีทฤษฎีและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดในแบบจำลองดังกล่าว

เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกใหม่ใช้สมมติฐานว่าระดับราคาและค่าแรงนั้นปรับตัวโดยอัตโนมัติเพื่อเข้าสู่ภาวะการจ้างงานสมบูรณ์ ขณะที่เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ใหม่นั้นมองว่าการจ้างงานสมบูรณ์นั้นมีได้แต่ในระยะยาว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายรัฐและธนาคารกลางแทรกแซงเพราะว่า​ "ระยะยาว" ที่ว่าอาจจะยาวนานเกินไป

ภาวะเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน

เงินตราเป็นสื่อกลางในการชำระหนี้สำหรับสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่อิงราคาเป็นหลัก และยังเป็นหน่วยทางบัญชีที่มักไว้ใช้ระบุราคา โดยเงินตรารวมถึงสกุลเงินที่ถือครองโดยสาธารณะที่ไม่ใช่ธนาคารและเงินฝากที่ขึ้นเงินได้

เมื่อเงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนธุรกรรม เงินจึงช่วยให้การค้าดำเนินไปได้อย่างสะดวก หน้าที่ดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับระบบแลกเปลี่ยนสินค้า (barter) ที่มีข้อเสียหลักคือการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายที่มีความต้องการตรงกัน เพราะประเภทสินค้ามีหลากหลาย เงินตรานั้นช่วยลดต้นทุนธุรกรรมของการแลกเปลี่ยนลงเนื่องจากการยอมรับที่เป็นสากล[15]

หากมองในระดับประเทศแล้ว ทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์นั้นต่างลงความเห็นว่าปริมาณอุปทานเงินตราโดยรวมนั้นสัมพันธ์ในเชิงบวกกับมูลค่าที่เป็นตัวเงินของผลผลิตโดยรวมและระดับราคาโดยรวม ด้วยเหตุนี้ การจัดการอุปสงค์เงินตราจึงเป็นประเด็นหลักของนโยบายการเงิน[16]

นโยบายการคลัง

การจัดทำบัญชีประชาชาติเป็นกรรมวิธีในการสรุปกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ บัญชีประชาชาติมีลักษณะเป็นระบบการบัญชีแบบจดบันทึกคู่ (double-entry accounting system) ที่เจาะจงรายละเอียดวิธีที่ใช้วัดแต่ละรายการไว้อย่างละเอียด อันได้แก่ บัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ซึ่งระบุมูลค่าประเมินของรายได้และผลผลิตต่อไตรมาสหรือต่อปี

บัญชีรายได้และผลิตภัณฑ์ประชาชาติช่วยให้รัฐสามารถติดตามผลการดำเนินงานของระบบเศรษฐกิจและองค์ประกอบภายในวัฏจักรธุรกิจหรือติดตามข้ามช่วงเวลา ข้อมูลเกี่ยวกับราคาอาจช่วยให้สามารถแยกแยะมูลค่าที่เป็นตัวเงินออกจากมูลค่าที่แท้จริง (nominal vs. real) ได้ หรือคือการปรับฐานค่าเงินตามการเปลี่ยนแปลงระดับราคาตามระยะเวลาที่ผ่านไป บัญชีประชาชาติยังรวมเอาการวัดมูลค่าทุนสะสม, ความมั่งคั่งของประเทศ และกระแสทุนระหว่างประเทศอีกด้วย[17]

ชนิดของเศรษฐศาสตร์

  • เศรษฐศาสตร์ลัทธิอื่น (Heterodox Economics)
    • เศรษฐศาสตร์ยุคหลังเคนส์ (Post Keynesian Economics)
    • เศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซ์ (Marxist Economics)
    • เศรษฐศาสตร์แนวจอร์จ (Georgist Economics)
    • เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics)
    • เศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ (Evolutionary Institutional Economics)
    • เศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economics)
    • เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)
    • เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง (Experimental Economics)
    • เศรษฐศาสตร์แนวสตรีศึกษา (Feminist Economics)
    • เศรษฐศาสตร์สังคม (Social Economics)

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ
  • Barr, Nicholas(2004) Economics of the Welfare State, 4th ed., Oxford University Press
  • Charles Robert McCann, Jr., 2003. The Elgar Dictionary of Economic Quotations, Edward Elgar. Preview.
  • Stiglitz, Joseph (2000) Economics of the Public Sector, 3rd ed., Norton Press

แหล่งข้อมูลอื่น


🔥 Top keywords: หน้าหลักเอฟเอคัพองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อสมทสโมสรฟุตบอลเชลซีสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดพระบรมสารีริกธาตุพิเศษ:ค้นหาสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีเฟซบุ๊กไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซินสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีการแข่งขันระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดหอแต๋วแตก (ภาพยนตร์ชุด)สโมสรฟุตบอลแอสตันวิลลาเฮลล์คิทเช่นไทยแลนด์สโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาอสุภญีนา ซาลาสสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลยูเวนตุสเอซี มิลานนางทาสหัวทองโอลด์แทรฟฟอร์ดยลดา สวนยศคิม ซู-ฮย็อนสโมสรฟุตบอลเวสต์แฮมยูไนเต็ดอามาด ดียาโลสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตีชาลี ไตรรัตน์สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งประเทศไทยสโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์