อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (อังกฤษ: King Rama IX Memorial Park) เป็นสวนสาธารณะระดับย่านที่กำลังก่อสร้างบนพื้นที่เขตพระราชฐานบริเวณแยกนางเลิ้งและถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของสนามม้านางเลิ้ง ที่ถูกรื้อถอนหลังหมดสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2561

อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประตูทางเข้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฝั่งถนนศรีอยุธยา
ประตูทางเข้าอุทยานฝั่งถนนศรีอยุธยา (ประตูใหญ่) ในคราวเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์
แผนที่
ประเภทสวนสาธารณะระดับย่าน
คำขวัญสวนแห่งความสุขและความยั่งยืน
ที่ตั้งถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
พิกัดภูมิศาสตร์13°45′46″N 100°31′03″E / 13.762850°N 100.517451°E / 13.762850; 100.517451
พื้นที่279 ไร่
เปิดตัวประมาณ พ.ศ. 2567
ผู้ออกแบบวรรณพร พรประภา, คณะทำงานออกแบบฯ
ที่มาของชื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบรมราชานุสาวรีย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ดำเนินการสำนักพระราชวัง
สถานะกำลังก่อสร้าง
Terrainป่า
แหล่งน้ำสระน้ำรูปเลข ๙ ไทย พื้นที่ 47 ไร่
พืชมากกว่า 4,500 ต้น จาก 55 พันธุ์ พื้นที่ 104 ไร่
Collectionsพันธุ์ไม้ทรงปลูก 6 พันธุ์
ที่จอดรถ700 คัน (รถยนต์)
9 คัน (รถบัส)
ขนส่งมวลชนสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายใต้ ป้ายหยุดรถไฟยมราช, ป้ายหยุดรถไฟโรงพยาบาลรามาธิบดี
สายตะวันออก ป้ายหยุดรถไฟอุรุพงษ์

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงพระราชทานพื้นที่เขตพระราชฐานดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์และศึกษาพระราชกรณียกิจของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำและป่า

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีจุดหลักคือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานบริเวณศูนย์กลางของอุทยาน สำหรับให้ประชาชนเข้าไปถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระองค์ และการก่อสร้างอุทยานเริ่มต้นจากส่วนนี้เป็นส่วนแรก โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ภายในอุทยาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2567

ประวัติ

ภูมิหลัง

ทิวทัศน์ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างการปรับปรุง

พื้นที่ของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ นั้น เดิมเป็นที่ตั้งของราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งเดิมให้บริการการแข่งม้าสำหรับคนไทย และกิจการที่เกี่ยวข้องกับม้า แต่ต่อมามีปัญหาเรื่องการพนันและการกำหนดผลการแข่งขันขึ้น หลังจากสนามม้าแห่งนี้หมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เมื่อปี พ.ศ. 2561 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่าการพนันจะส่งผลเสียต่อวงกว้าง ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งอาจกระทบไปถึงครอบครัวของผู้เล่น[1] และทรงให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน[2] จึงพระราชทานพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นเขตพระราชฐาน และถูกเรียกว่า "901 แลนด์"[3][ก] ให้เป็นสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษาพระราชกรณียกิจ และใช้ประโยชน์จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ และป่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[5]

อย่างไรก็ตาม หลังจากการปิดสนามม้านางเลิ้งไปไม่นาน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ระบุข่าวลือออกมาผ่านสื่อสังคมของตนว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ต้องการสร้างกลุ่มพระราชวังส่วนพระองค์บนพื้นที่ของสนามม้านางเลิ้งเดิม ซึ่งสิ่งที่สมศักดิ์ระบุไว้มิได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด[6][7]

การก่อสร้าง

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มมีการออกแบบและพัฒนาแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561[8] และเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2564 โดยพลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ออกข้อบังคับว่าด้วยการจำกัดความเร็วและห้ามใช้เสียงในบริเวณโดยรอบเขตพระราชฐาน 901 แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม[3] ต่อมาสำนักพระราชวังเผยแพร่วีดิทัศน์เปิดตัวอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ผ่านช่องทางสื่อสังคมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน[9][8] และเริ่มต้นการก่อสร้างอย่างเป็นทางการด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ และปลูกต้นไม้ 55 พันธุ์ จำนวน 109 ต้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564[10]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงมหาดไทย นำพันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะคณะผู้แทนทางทูตและกงสุลต่างประเทศในประเทศไทย นำต้นไม้มาปลูกที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีกิจกรรมปลูกต้นไม้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[11]

คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2567[12]

ภาพรวม

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีพื้นที่ทั้งหมด 279 ไร่ ถือเป็นสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของกรุงเทพมหานครชั้นใน รองจากสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ[13] โดยมีถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระบรมราโชบายในการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ไปยังคณะทำงานออกแบบซึ่งนำโดยวรรณพร พรประภา ให้ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำ และป่า ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนสาธารณะ คือ "น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที" เพื่อแสดงถึงความผูกพัน และความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สะท้อนถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงใช้เป็นแก้มลิงเก็บน้ำในฤดูฝน เป็นสถานที่ศึกษาพระราชกรณียกิจของทั้ง 2 พระองค์ในด้านสิ่งแวดล้อมของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป และทรงอุทิศให้เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดประโยชน์และเสริมสร้างสุขภาพของประชาชน[14] โดยมีพื้นที่หลักที่มีความเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนี้[13]

  • ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ถือเป็นจุดหลักสำคัญและจุดศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีลักษณะเป็นลานพื้นที่รูปไข่ เป็นจุดที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำหรับให้ประชาชนขึ้นไปถวายสักการะ[15][8]
  • สระน้ำรูปเลข ๙ มีจำนวน 47 ไร่ เป็นพื้นที่สำคัญในการศึกษาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ "ต้นน้ำ" เช่น ฝายชะลอน้ำ, ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, หญ้าแฝก, "กลางน้ำ" เช่น พืชชุ่มน้ำ, กังหันน้ำชัยพัฒนา, บ่อปลานิล, เกษตรทฤษฎีใหม่ และ "ปลายน้ำ" เช่น พืชกรองน้ำ, พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น รวมถึงสามารถใช้เป็นแก้มลิงเชื่อมระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร และคลองสามเสน[16][5] โดยการกักเก็บน้ำทางผิวดินกลางสระน้ำและใต้ดินที่เชื่อมกับคลอง ซึ่งมีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาช่วยในการออกแบบ เพื่อแก้ไขและรองรับปัญหาน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย[17]
  • สะพานรูปเลข ๙ เป็นสะพานและทางเดินภายในสวน เชื่อมต่อจากทางเข้าฝั่งถนนพิษณุโลกติดกับแยกนางเลิ้ง ซึ่งเป็นทางเข้าสนามม้านางเลิ้งเก่า เข้าสู่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ทางด้านหลัง[17]
  • สะพานหยดน้ำพระทัย มีการออกแบบอย่างสวยงาม โดยเมื่อสะท้อนเงาจากน้ำจะเห็นเป็นรูปหยดน้ำ สื่อให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยพระองค์ที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์[13]
  • สะพานไม้เจาะบากง เป็นการจำลองสะพานไม้เจาะบากง จังหวัดนราธิวาส ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณโดยรอบมีท่าน้ำ น้ำตก และลำธารจำลอง ตามแบบป่าฝนเขตร้อน[13]
  • สวนป่าธรรมชาติ มีการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ 55 พันธุ์ จำนวนมากกว่า 4,500 ต้น บนพื้นที่สีเขียวจำนวน 105 ไร่ โดยเน้นปลูกต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น มีความหมาย และมีประโยชน์ ตามแนวพระราชดำริ "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" และสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ PM2.5 และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น ต้นไม้โตเร็วเพื่อสร้างร่มเงา, ต้นไม้ประจำจังหวัดต่าง ๆ, ต้นไม้หายาก, ต้นไม้กรองฝุ่น รวมถึงพืชกันเสียงบางชนิด และยังมีการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้ผู้มาใช้อุทยานได้รับความรู้ในหลากหลายด้าน[18]

นอกจากนี้ การออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ยังมีการประยุกต์ใช้แนวคิดของสวนสมัยใหม่ (Modern Park) เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการออกกำลังกาย ตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เช่น ทางจักรยาน, ทางวิ่ง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อด้วยกันได้, สนามเด็กเล่น, ลานกิจกรรมสำหรับเล่นสเกตบอร์ด บาสเกตบอล เซปักตะกร้อ รวมถึงการออกกำลังกายสำหรับบุคคลวัยกลางคนและผู้สูงอายุ เช่น โยคะ[17] นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ออกกำลังกายอื่น ๆ รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ พื้นที่ริมน้ำ ท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับทั้งของประชาชนและคนพิการ ที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้ในทุกรูปแบบ[5][9]

พระบรมราชานุสาวรีย์

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบรมราชานุสาวรีย์หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565
ที่ตั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถนนศรีอยุธยา แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ผู้ออกแบบสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ประเภทพระบรมราชานุสาวรีย์
วัสดุสัมฤทธิ์, หินอ่อน
ความสูง
  • พระบรมรูป: 7.70 เมตร (25.3 ฟุต)
  • รวมฐาน: 19.45 เมตร (63.8 ฟุต)
เริ่มก่อสร้าง5 ธันวาคม 2564 (2564-12-05)
สร้างเสร็จ10 ตุลาคม 2565 (2565-10-10)
การเปิด13 ตุลาคม 2565 (2565-10-13)
อุทิศแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่บนลานรูปไข่ บริเวณจุดศูนย์กลางของอุทยาน ซึ่งมีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร[19] โอบล้อมด้วยป่าผสมผสาน มีช่องเปิดเพื่อเป็นร่องลมและเป็นแกนนำสายตาจำนวน 9 แกน[17] ทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบอุทยานสามารถมองเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ได้ทั้งหมด[8]

รายละเอียด

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการปั้นต้นแบบพระบรมรูป หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ มีความสูง 7.70 เมตร คิดเป็น 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง[20] ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทาจอมทัพภูมิพล พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่และสายยงยศจอมทัพไทย หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับถาวรเมื่อครั้งทรงพระชนม์ของพระองค์[21] ประดิษฐานเหนือแท่นหินอ่อนแกะสลักฐานเป็นรูปบัวทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม มีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประดิษฐานด้านหน้าแท่น รองรับด้วยฐานหินอ่อนประเภทผังแปดเหลี่ยม[22] ตามคติของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[5] แสดงความหมายว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระบรมเดชานุภาพ มีผู้แทนประชาชนชาวไทยทั้ง 8 ทิศต่างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแผ่นดินด้วยความจงรักภักดี[14]

แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีความสูงทั้งหมด 9.05 เมตร บริเวณด้านหน้าฐานทั้ง 8 ด้าน ยังประดับแผ่นคำจารึกหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์จำนวน 8 แผ่น เรียงลำดับแบบทวนเข็มนาฬิกา จารึกพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[23] รวมทั้งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ประกอบด้วย 8 หัวข้อ ได้แก่ พระราชประวัติ, พระราชาผู้ทรงธรรม, กลางใจราษฎร์, ปราชญ์ของแผ่นดิน, พระภูมินทร์บริบาล, นวมินทร์โลกกล่าวขาน, สืบสาน รักษา และต่อยอด และ บรมราชสดุดี[20] รวมถึงมีแท่นหินอ่อนวางพานพุ่มหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประดับเป็นเครื่องสักการะประกอบทั้ง 4 ทิศ[22]

ฐานชั้นที่ 2 มีความสูง 1.50 เมตร เป็นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุม มีขอบกั้นเป็นรั้ว เปิดทางขึ้นลง 2 ด้าน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และฐานชั้นที่ 1 มีความสูง 1.20 เมตร เป็นฐานหินอ่อน รูปทรงวงรี มีขอบกั้นเป็นรั้ว เปิดทางขึ้นลง 2 ด้าน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาภายในอุทยานจากทั้งทางเข้าฝั่งถนนศรีอยุธยาและฝั่งถนนพิษณุโลกได้ขึ้นไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ได้โดยสะดวก พร้อมอ่างน้ำพุหินอ่อนทรงกลมประดับไว้ทั้ง 4 มุม รวมความสูงของพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้งหมด 19.45 เมตร แสดงความหมายว่า 19 คือ 1 + 9 = 10 หมายถึง รัชกาลที่ 10 และ 0.45 คือ 4 + 5 = 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9[14]

การก่อสร้างและพิธีเปิด

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จในการนี้ด้วย[10]

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่วนพระเศียร ซึ่งจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ[24]

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.33 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์[25]

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.53 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จฯ ด้วย[26]

หลังจากนั้น สำนักพระราชวังได้เปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 14-16 ตุลาคม พ.ศ. 2565 และหลังจากนั้นจึงกลับมาปิดอุทยานเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้สมพระเกียรติ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งตามกำหนดการเปิดอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างเป็นทางการที่วางไว้เดิมต่อไป[27]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาและวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะในวันที่ 13 ตุลาคม และ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต (วันนวมินทรมหาราช) และวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ (วันพ่อแห่งชาติ) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามลำดับ

พันธุ์ไม้ภายในอุทยาน

พันธุ์ไม้ที่นำมาเพาะปลูกในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ มีทั้งหมด 55 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ไม้ทรงปลูก 6 พันธุ์ และพันธุ์ไม้อื่น ๆ อีก 49 พันธุ์ ดังนี้[28]

พันธุ์ไม้ทรงปลูก

พันธุ์ไม้ทรงปลูกในปัจจุบันมีจำนวน 6 พันธุ์ โดย 5 พันธุ์แรก ทรงปลูกโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทอดพระเนตรนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ[10] และภายหลังทรงปลูกเพิ่มอีก 1 พันธุ์โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ภายหลังทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว[23]

พันธุ์ไม้อื่น ๆ

สถานที่ใกล้เคียง

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

13°45′46″N 100°31′03″E / 13.762850°N 100.517451°E / 13.762850; 100.517451

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย