อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี คือ อาคารอเนกประสงค์ 3 ชั้น ที่จอดรถใต้ดิน 1 ชั้น และสวนสาธารณะ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีพื้นที่ 92 ไร่[1] ประกอบด้วยสวนสาธารณะใหญ่ระดับเมืองราว 80 ไร่และตัวอาคารอีกราว 20 ไร่ มีพื้นที่อาคารรวม 60,000 ตร.ม.[2] ประกอบด้วยอาคารป๋วย 100 ปี ตึกเรียนสีเขียวรูปตัวเอช ที่มาจากความหมายของคำว่า Humanity ใต้หลังคาที่โค้งเป็นเนินดิน เป็นแปลงเกษตรในเมืองบนหลังคาเขียวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย[3] และสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากที่สหรัฐ[4] มีแปลงเกษตรออร์แกนิกพื้นที่ 7,000 ตร.ม.[5] ฮอลล์คอนเสิร์ตจุ 630 ที่นั่ง หอจดหมายเหตุ โดยมีสถาบันอาศรมศิลป์ออกแบบอาคาร และบริษัท แลนด์โพรเซส ออกแบบสวน ก่อสร้างโดยบริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) และควบคุมงานโดยบริษัท คอนซัลติ้ง แอนด์ แมนเนจเม้นต์ 49 จำกัด[6]

อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี
แผนที่
ประเภทอาคารอเนกประสงค์ 3 ชั้น ที่จอดรถใต้ดิน 1 ชั้น และสวนสาธารณะ
พื้นที่92 ไร่
เปิดตัว10 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ผู้ดำเนินการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สถานะเปิดทำการบางส่วน

ประวัติ

จุดเริ่มต้นของอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ธีรพล นิยม พูดคุยกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกี่ยวกับการออกแบบสร้างสรรค์โครงการอะไรสักอย่างเพื่อระลึกถึง อ.ป๋วย จึงเห็นว่า การทำสวนสาธารณะน่าจะเหมาะสมที่สุด จากนั้นธีรพลจึงชวนกชกร วรอาคม แห่งบริษัทแลนด์โพรเซส กับปราณิศา บุญค้ำ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมสร้างสรรค์โครงการขึ้น เพื่อเสนอกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[7] โครงการมีวงเงินการก่อสร้างราว 1,000 ล้านบาท ส่วนอาคารได้รับงบประมาณจากทางรัฐบาล แต่ส่วนสวนสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการระดมทุนสร้าง 150 ล้านบาท[8]

โครงการเริ่มก่อสร้าง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เปิดอาคารในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร[9]

การออกแบบ

ส่วนอาคาร
หลังคาเขียว

ผังแม่บท

จากการศึกษาข้อมูลด้านกายภาพพื้นที่สาธารณะเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พบว่าพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะภายในธรรมศาสตร์ครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 70 แต่รูปแบบส่วนใหญ่เป็นที่จอดรถ ลานดาดแข็ง พื้นที่รกร้าง เป็นที่ไม่มีกิจกรรมการใช้งานของนักศึกษา ไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของนักศึกษา ขาดการพัฒนาพื้นที่ส่งเสริม การเรียนรู้ ทำกิจกรรม จึงได้เกิดแนวคิดการวางกรอบการพัฒนาผังแม่บท ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 ข้อหนึ่งคือ กำหนดให้ธรรมศาสตร์ มีสวนธรรมศาสตร์สาธารณะ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนแกนกลางด้านตะวันออก-ตะวันตกที่ส่วนใหญ่ยังเป็น พื้นที่ว่างเปล่าและเส้นทางสัญจรหลักในแนวแกนด้านเหนือใต้ที่เชื่อมต่อ ชุมชนและสถาบันโดยรอบมหาวิทยาลัย รวมกันเป็นโครงข่ายสีเขียวที่เชื่อมองค์ประกอบอีกสองส่วนเข้าด้วยกัน และยังต้องการส่งเสริมพื้นที่สาธารณะ 2 ข้อ ได้แก่ การสร้างชุมชน แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (TU community) โดยเน้นการสร้างศูนย์กลางในพื้นที่การศึกษาที่ชัดเจน และการส่งเสริม ศูนย์บริการประชาชน (TU public service) เพื่อขับเน้นเอกลักษณ์จากวิถีเดิมของการให้บริการประชาชนในย่านโดยรอบของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จึงได้เสนอกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต[10]

อาคารและสวนสาธารณะ

ผังอาคารมีรูปตัว H โดยพิจารณาจากผังบริเวณ โดยให้อาคารนี้เป็น แกนหลักของวิทยาเขตนี้ ทั้งสวนนี้ ยังติดกับถนนพหลโยธิน เพื่อให้บุคคลจากภายนอกได้ใช้ การออกแบบเป็นตัว H จึงทำให้ผู้คนสามารถมาใช้ได้จากทุกทิศทาง ออกแบบเพื่อให้เป็นห้องเรียนกลางแจ้ง ภายใต้แนวคิดประชาธิปไตย พื้นที่ของอุทยานจะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน แทนหัวใจของประชาธิปไตย นั่นคือ ประชาชน เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ สวนสาธารณะ ประกอบด้วยลานแสดงกลางแจ้ง ลานพักผ่อน/แลกเปลี่ยนความรู้ พื้นที่เรียนรู้ของฝายชะลอน้ำ พื้นที่เรียนรู้ป่าชุ่มน้ำ เส้นทางวิ่งเพื่อสุขภาพ ศูนย์กีฬากลางแจ้งขนาดกลางและเล็ก ลานปฏิมากรรม สามัญชน คนธรรมศาสตร์ ศูนย์สุขภาพ และ ลานกิจกรรมสาธารณะ เป็นต้น[11] สำหรับพื้นที่อาคารประกอบด้วย หอประชุม ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ ฮอลล์คอนเสิร์ตจุ 630 ที่นั่ง ฯลฯ

อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ยังออกแบบตามแนวคิดความยั่งยืน หลังคาเขียวทำเป็นเนินภูเขา มีต้นไม้ด้วย และยังมีผักที่หลากหลายสี รวมถึงการเป็นนาขั้นบันได ซึ่งตรงกับชื่ออาจารย์ป๋วย ที่แปลว่า "พูนดิน" นักศึกษา หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้ามาขอพื้นที่ปลูกผัก เพื่อเป็นรายได้เสริม และผักเหล่านี้ก็จะถูกส่งกลับมาเป็นอาหารให้นักศึกษาด้วย บนหลังคามีจุดนั่งได้ 12 ช่อง

นาขั้นบันไดมีประโยชน์หลายอย่าง ช่วยลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) ตัวอาคารเองก็ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานเช่นกัน ออกแบบสอดคล้องกับทิศทางแดดลม หลังคามี 2 ชั้นเพื่อป้องกันน้ำและความชื้น ทำให้มีที่ว่างระหว่างชั้น ที่ลมสามารถพัดผ่านได้ ความร้อนก็จะเข้าสู่อาคารน้อยมาก ผนังใช้ผนังอิฐ สะท้อนคำว่า "พูนดิน" โดยใช้ผนังอิฐ 2 ชั้น กันความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร โดยการหน่วงความร้อนไว้ ทำให้อากาศภายในอาคารไม่ร้อน มีชายคายื่นออกมาไม่ให้แดดเข้าสู่อาคารโดยตรง อาคารยังติดตั้งหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์ นำพลังงานลมมาใช้ และมีน้ำรอบอาคาร 4 ด้าน ที่เป็นน้ำฝน ก็จะเอามารดน้ำต้นไม้ สวนแห่งนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ซึมน้ำ และบำบัดน้ำ ด้วยพืชชนิดต่าง ๆ ก่อนปล่อยน้ำสู่ระบบคลองเดิม โดยเชื่อมโยงกับผังแม่บทเรื่องการระบายน้ำของมหาวิทยาลัย[12]

การออกแบบอาคารนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องความประหยัด ที่สะท้อนความเป็น อ.ป๋วยที่มัธยัสถ์ โดยงบประมาณอาคารรวมครุภัณฑ์ ต่อตารางเมตรประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท (หากเทียบกับ คอนโดมิเนียมระดับกลางสูงที่ราคาประมาณตารางเมตรละ 3 หมื่นกว่าบาท) และยังคำนึงถึงการใช้วัสดุผลิตภายในประเทศที่ง่ายต่อการบำรุงรักษา[7]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร