สังคายนาในศาสนาพุทธ

ในศาสนาพุทธ สังคายนา[1] (บาลี: สํคายนา) คือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามศัพท์ "สังคายนา" หมายถึง สวดพร้อมกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นามะสะทำมาชิตา” แปลว่า สวดพร้อมกัน มาจากคำว่า คายนา หรือ คีติ แปลว่า การสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน คำนี้มีมูลเหตุมาจากวิธีการสังคายนาพระธรรมวินัย ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีวิธีการคือนำเอาคำสั่งสอนของสาวักที่ทรงจำไว้มาแสดงในที่ประชุมพระสงฆ์ จากนั้นให้มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นสีดีนั้น เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดขึ้นพร้อมกัน การสวดพร้อมกันแสดงถึงการลงมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ และเหมือนทรงจำกันไว้เป็นผืนทะเลทรายต่อไป

ความเป็นมาของการสังคายนา

เมื่อครั้งพระโคตมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ได้คำนึงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว หากไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้การริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ เรียกว่าสังคายนา สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน

ขณะนั้นล่วงปลายพุทธกาลแล้ว พระมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว เหล่าสาวกก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร ครั้งนั้นพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.11/108/139) เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วกล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้

เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.11/225-363/224-286)

หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร (พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ)เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด

[2]จุดประสงค์ของการสังคายนา

จุดประสงค์สำคัญที่สุดของการสังคายนา คือการรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อธำรงรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไป เพราะพระธรรมวินัยนั้นคือหลักของพระพุทธศาสนา หากปราศจากคำสอนแล้วพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังพุทธวจนะในคราวจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป (ที.ม.10/141/178) พระเถระทั้งปวงเห็นความสำคัญของพระธรรมวินัยซึ่งจะสืบทอดพระศาสนาต่อไปในภายหน้า หากละเลยปล่อยไว้กระทั่งพระธรรมวินัยเกิดความคลาดเคลื่อนไปจะเป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา จึงได้เริ่มสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนขึ้นเป็นหมวดหมู่ภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน

การสังคายนาพระไตรปิฏก

การปฐมสังคายนา

ถ้ำสัตตบรรณคูหา สถานที่ทำปฐมสังคายนา (เป็นถ้ำขนาดใหญ่ในอดีต เพดานถ้ำยุบลงมาในช่วงหลัง)

พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะวุฒฑาจารย์ (แปลว่า ผู้บวชเมื่อวัยแก่) ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้[3] จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรมวินัยในหมวดพระสุตตันตปิฎก (ธรรมเทศนา) และ พระอภิธรรมปิฎก (คำสอน) พระอุบาลีเถระ เป็นองค์วิสัชชนาพระวินัยปิฎก ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นจัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดรวบรวมในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาทโดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

ทุติยสังคายนา

เมืองเวสาลี สถานที่ทำทุติยสังคายนา

การทำสังคายนาครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน พระเถระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ได้แก่ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาจีนกะ) พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ กากัณฑกบุตร และพระสุมนะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาฐา) ในการนี้พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 8 เดือน จึงเสร็จสิ้น

ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระยสกากัณฑกบุตร พบเห็นข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการทางพระวินัยของภิกษุวัชชีบุตร[4] เช่น ควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อรับประทานได้ ควรฉันอาหารยามวิกาลได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตรจึงชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้

โดยรายละเอียดของปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สอง มีกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก จุลลวรรค[5] แม้ในวินัยปิฎกจะไม่กล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกในการปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สองเลย แต่ในสมันตัปปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายวินัยปิฎกนั้น บอกว่าการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธศาสนาให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างพระไตรปิฎกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนาแล้ว

ตติยสังคายนา

การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 234 ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 1,000 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 9 เดือน จึงเสร็จสิ้น

ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ จึงได้ขอรับอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัดความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป

ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ มีดังนี้

  • พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา
  • พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ

การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 236 การสังคายนาครั้งที่ 4 ในอินเดียเกิดขึ้นที่ชาลันธร หรือบางหลักฐานคือกัษมีร์ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แต่เป็นการสังคายนาของนิกายมหายาน ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ยอมรับว่าเป็นการสังคายนา[6]

ปัญจมสังคายนา

การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 433 ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร

ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา

การนับครั้งการสังคายนามีความแตกต่างกันในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  • ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. 2408 โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
  • ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่ลังกาเป็นครั้งที่ 4 และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายหรือครั้งที่ 6 ในพม่า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา
  • ประเทศไทย นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ 1-2 ที่ลังกา แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนาของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ได้นับเพิ่มอีก 4 ครั้ง คือ
    • ครั้งที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 956 ในลังกา โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา
    • ครั้งที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 1587 ในลังกา โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนาเช่นกัน
    • ครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2020 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา
    • ครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2331 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ้างอิง

งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง