เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงละครในมารีอูปอล

ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ระหว่างที่รัสเซียรุกรานยูเครน กองทัพรัสเซีย[2][4] ได้ทิ้งระเบิดใส่โรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์ (ยูเครน: Доне́цький академі́чний обласни́й драмати́чний теа́тр) ในเมืองมารีอูปอล ประเทศยูเครน โรงละครแห่งนี้ใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศระหว่างที่เมืองมารีอูปอลถูกปิดล้อม โดยเป็นที่กำบังของพลเรือนจำนวนมาก มีการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดไว้อย่างหลากหลายตั้งแต่อย่างน้อย 12 คน (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)[2] ไปจนถึง 600 คน (เอพี)[3]

เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงละคร
ในมารีอูปอล
เป็นส่วนหนึ่งของการล้อมมารีอูปอล
ความเสียหายที่เกิดกับโรงละครหลังจากถูกโจมตี
แผนที่
 โรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์
สถานที่โรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์
มารีอูปอล ยูเครน
พิกัด47°05′46″N 37°32′56″E / 47.0960°N 37.5488°E / 47.0960; 37.5488
วันที่16 มีนาคม พ.ศ. 2565
ประมาณ 10:30 น. (UTC+2)
เป้าหมายพลเรือนที่ใช้โรงละครเป็นที่หลบภัยทางอากาศ
ประเภทการโจมตีทางอากาศ
อาวุธอาจเป็นระเบิดทางอากาศฟับ-500[1]
ตายประเมินแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 12 คน[2] ไปจนถึงมากกว่า 600 คน[3]
ผู้ก่อเหตุกองทัพรัสเซีย

รัฐบาลยูเครนกล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียจงใจทิ้งระเบิดใส่โรงละครในขณะที่มีพลเรือนหลบภัยอยู่ภายใน[5] รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาและกล่าวหาว่ากรมอะซอฟเป็นผู้วางระเบิดโรงละครแทน[6] คำอ้างของรัสเซียถูกการสืบสวนอิสระต่าง ๆ หักล้าง

โรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์เป็นหนึ่งในแหล่งมรดกและแหล่งวัฒนธรรมของยูเครนที่ถูกทำลายระหว่างการรุกราน[7] องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดให้เหตุโจมตีครั้งนี้เป็นหนึ่งในอาชญากรรมสงครามระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย[2][8]

ภูมิหลัง

โรงละครในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 สิบเดือนก่อนถูกโจมตีทางอากาศ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 กองทัพรัสเซียซึ่งร่วมมือกับกองกำลังอาสาสมัครที่ฝักใฝ่รัสเซียได้ปิดล้อมเมืองท่ามารีอูปอล นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายอย่างหนัก เสบียงต่าง ๆ เช่น อาหาร แก๊ส ไฟฟ้า เป็นต้น ถูกตัดขาดระหว่างการปิดล้อม[9] เมื่อถึงวันที่ 17 มีนาคม แซร์ฮีย์ ออร์ลอว์ รองนายกเทศมนตรีนครมารีอูปอล ประเมินว่าร้อยละ 80–90 ของเมืองถูกทำลายจากการยิงถล่ม[10]

เจ้าหน้าที่สภานครมารีอูปอลระบุว่าโรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์เป็นที่หลบภัยทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเมือง โดยเป็นที่กำบังของพลเรือนจำนวน 500[4] ถึง 1,200 คน[5] และในขณะถูกโจมตี ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากหลบอยู่ในนั้น[11]

ภาพถ่ายดาวเทียมของโรงละครซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 14 มีนาคม แสดงให้เห็นว่าบริเวณลานด้านหน้าและด้านหลังโรงละครมีตัวอักษรสีขาวขนาดใหญ่เขียนว่า дети ซึ่งเป็นคำที่แปลว่า "เด็ก" ในภาษารัสเซีย ข้อความดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะสื่อให้กองกำลังของผู้โจมตีรู้ว่าโรงละครแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีเด็กหลบภัยอยู่ข้างในและไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร[12]

การโจมตี

โรงละครซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก (มองจากถนน)[13]

ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ยูเครนกล่าวหากองกำลังรัสเซียว่ายิงถล่มพื้นที่พลเรือนในเมืองมารีอูปอล กระสุนปืนใหญ่พุ่งโจมตีสถานที่หลายแห่งรวมถึงอาคารสระว่ายน้ำและขบวนรถพลเรือน[14] จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 10:00 น.[2] โรงมหรสพวิชาการละครแห่งแคว้นดอแนตสก์ก็ถูกทิ้งระเบิดใส่ ทำให้ตัวอาคารเหลือเพียงซากปรักหักพัง[15]

ที่หลบภัยในชั้นใต้ดินของโรงละครรอดพ้นจากการถูกระเบิด แต่ผู้คนจำนวนมากยังคงติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังที่ลุกไหม้อยู่ด้านบน[16] ดมือตรอ กูริน สมาชิกรัฐสภายูเครนจากเมืองมารีอูปอล กล่าวว่าการช่วยเหลือกู้ภัยเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากกองกำลังรัสเซียยังคงโจมตีพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง[17]

ในวันที่ 25 มีนาคม วิดีโอที่อ้างว่าแสดงเหตุการณ์หลังการโจมตีปรากฏขึ้นในสื่อสังคม วิดีโอแรกแสดงให้เห็นผู้คนกำลังลงมาจากชั้นบนของอาคารที่ถูกทำลายบางส่วน เนื้อตัวและเสื้อผ้าถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น ส่วนวิดีโอที่สองแสดงพื้นที่โรงละครที่ถูกทิ้งระเบิด[18]

ผู้ประสบภัย

ในวันที่ 17 มีนาคม จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด บางคนหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย[19]

เมื่อถึงวันที่ 18 มีนาคม ผู้รอดชีวิตประมาณ 130 คนได้รับการช่วยเหลือ[20][21] สภานครมารีอูปอลระบุว่าตามข้อมูลเบื้องต้นไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีผู้บาดเจ็บสาหัส 1 คน[22]

ในวันที่ 25 มีนาคม สภานครมารีอูปอลประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คนจากการโจมตีทางอากาศ[23][24] ส่วน เดอะวอชิงตันโพสต์ เผยแพร่การสอบสวนโดยอ้างพยานที่กล่าวว่าทุกครอบครัวที่หลบภัยอยู่ในชั้นใต้ดินของโรงละครหนีออกมาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ และการอพยพออกมาได้เริ่มขึ้นก่อนการทิ้งระเบิด[25]

ในวันที่ 4 พฤษภาคม เอพีได้เผยแพร่ผลการสืบสวนพร้อมหลักฐานที่ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิต 600 คนจากการโจมตีทางอากาศ ผู้รอดชีวิตหลายคนประเมินว่ามีผู้คนราว 200 คน (รวมถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัย) หนีออกมาโดยใช้ทางออกหลักหรือทางเข้าด้านหนึ่ง ส่วนทางเข้าอีกด้านและทางเข้าด้านหลังถูกทำลาย[3]

ในวันที่ 7 มิถุนายน ฮิวแมนไรตส์วอตช์และกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนคาร์กิวประกาศแยกกันว่าผู้ลี้ภัยชาวยูเครนรวมทั้งพลเรือนยูเครนที่ถูกบังคับให้เดินทางไปรัสเซียกำลังถูกกดดันและข่มขู่ให้พาดพิงบุคลากรทางทหารของยูเครนว่ามีส่วนร่วมในอาชญากรรมสงคราม นี่หมายรวมถึงกรณีที่ผู้ลี้ภัยถูกกดดันให้พาดพิงว่ากรมอะซอฟเป็นผู้ทิ้งระเบิดใส่โรงละครด้วย[26]

ปฏิกิริยา

วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ประธานาธิบดียูเครน กล่าวหารัสเซียว่าได้ก่ออาชญากรรมสงครามขึ้น[12]

สื่อรัสเซียรายงานอย่างกว้างขวางว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียปฏิเสธความรับผิดชอบในการทิ้งระเบิดและกล่าวหากรมอะซอฟว่าเป็นผู้วางแผนและก่อเหตุวางระเบิดโรงละครแทน พวกเขาอ้างว่ารัสเซียไม่ได้ส่งกองกำลังใด ๆ ไปก่อเหตุโจมตีทางอากาศภายในเมืองและกล่าวโทษกรมอะซอฟว่า "จับพลเรือนไว้เป็นตัวประกัน" และวางระเบิดที่ชั้นบนของโรงละคร[27]

ดารีโอ ฟรันเชสกีนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอิตาลี ได้ยื่นข้อเสนอในการสร้างโรงละครขึ้นใหม่ต่อรัฐบาลยูเครน[28]

รายงานของโอเอสซีอี

ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2565 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) เผยแพร่รายงานซึ่งครอบคลุมการโจมตีทางอากาศใส่โรงละครในมารีอูปอล

รัสเซียไม่ได้อ้างว่าโรงละครเป็นเป้าหมายการโจมตีที่มีความชอบธรรม แต่อ้างว่าโรงละครถูกกองพันอะซอฟของยูเครนโจมตี คณะทำงาน [ของโอเอสซีอี] ไม่พบข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าคำอ้างดังกล่าวจะเป็นความจริง ... มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เหตุการณ์นี้จะเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และผู้สั่งการหรือดำเนินการได้ก่ออาชญากรรมสงครามขึ้น[8]: 48 

การสืบสวนของเอพี

ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เอพีเผยแพร่การสอบสวนเหตุโจมตีทางอากาศ เพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รัฐบาลยูเครนคาดการณ์ไว้จาก 300 คนเป็น 600 คน นอกจากนี้เอพียังหักล้างคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่าโรงละครถูกทำลายโดยกองกำลังยูเครนหรือถูกใช้เป็นฐานทัพของยูเครน

ไม่มีพยานคนใดเห็นทหารยูเครนปฏิบัติการอยู่ภายในอาคาร และไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ไม่แน่ใจว่าโรงละครแห่งนี้ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซียซึ่งพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายพลเรือนที่ทุกคนต่างรู้ว่าเป็นสถานที่หลบภัยที่ใหญ่ที่สุดของเมือง โดยมีเด็ก ๆ อยู่ในนั้นด้วย[3]

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปว่าผู้ก่อเหตุโจมตีทางอากาศครั้งนี้คือกองกำลังรัสเซียซึ่งใช้ระเบิดน้ำหนัก 500 กิโลกรัม (1,100 ปอนด์) จำนวน 2 ลูก และสรุปว่าเหตุการณ์นี้เป็นอาชญากรรมสงคราม

หลายคนบาดเจ็บและเสียชีวิตในการโจมตีอย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้ การเสียชีวิตของพวกเขาน่าจะเกิดจากการที่กองกำลังรัสเซียจงใจกำหนดเป้าหมายไปที่พลเรือนยูเครน ศาลอาญาระหว่างประเทศและศาลอื่น ๆ ทั้งหมดที่มีอำนาจตัดสินคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นระหว่างความขัดแย้งนี้ จะต้องสอบสวนการโจมตีครั้งนี้ในฐานะอาชญากรรมสงคราม และจะต้องนำตัวทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง [กับการก่อเหตุ] มารับผิดชอบต่อการก่อให้เกิดความตายและการทำลายล้างดังกล่าว[2]

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนจากเหตุโจมตีและน่าจะมากกว่านั้น และเชื่อว่ามีผู้บาดเจ็บสาหัสอีกหลายคน การประมาณการนี้ต่ำกว่าการประมาณการของหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้คนจำนวนมากได้ออกมาจากโรงละครในช่วงสองวันก่อนการโจมตี และผู้ที่ยังอยู่ในโรงละครส่วนใหญ่หลบในชั้นใต้ดินและพื้นที่อื่น ๆ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดอย่างเต็มที่[2]

ผลสืบเนื่อง

ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สื่อยูเครนรายงานว่าฝ่ายรัสเซียได้เก็บกวาดซากปรักหักพังของโรงละครและเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตออกจากพื้นที่ โดยไม่ทราบว่านำไปไว้ที่ใด[29][30][31]

มีการนำฉากภาพสวยงามขนาดใหญ่มาตั้งล้อมรอบซากปรักหักพังของโรงละคร[32]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 มาเรีย โปโนมาเรนโค นักข่าวชาวรัสเซีย ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปีภายใต้กฎหมายเซ็นเซอร์สงครามของรัสเซีย หลังจากที่เธอเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศใส่โรงละคร[33]

ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566 อินฟอร์มเนปาล์มเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวหาว่าพันเอก เซียร์เกย์ อะตรอชเชนโค แห่งกรมบินจู่โจมที่ 960 ของกองทัพอากาศรัสเซียเป็นผู้นำการโจมตีโรงละครโดยออกจากลานบินแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองปรีมอร์สโค-อัคตาสค์ในดินแดนครัสโนดาร์[34]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคลหน้าหลักพระสุนทรโวหาร (ภู่)องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024สไปร์ท (แร็ปเปอร์)ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024พุ่มพวง ดวงจันทร์ดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)อีดิลอัฎฮาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียวราชวงศ์จักรีลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทยรายชื่อตัวละครในพระอภัยมณีหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคลทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลพระอภัยมณีหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคลหม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหลานม่าอริยสัจ 4ตารางธาตุนิราศภูเขาทองรายชื่อเครื่องดนตรีเฌอมาวีร์ สุวรรณภาณุโชคประเทศไทยอาณาจักรอยุธยาปิติ ภิรมย์ภักดีวอลเลย์บอลวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย