ฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี คาบาว

(เปลี่ยนทางจาก ฟาโรห์คาบาว)

เซเคมเรคูทาวี คาบาว เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจากช่วงต้นของราชวงศ์ที่สิบสามในสมัยช่วงระหว่างกลางที่สอง โดยคิม รีฮอล์ต ซึ่งเป็นนักไอยคุปต์วิทยาชาวเดนมาร์กได้ระบุว่า พระองค์เป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบหกของราชวงศ์ที่ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง 1775 จนถึง 1772 ปีก่อนคริสตกาล

หลักฐานรับรอง

ฟาโรห์คาบาวทรงได้รับการยันยันการมีอยู่อย่างดีจากการค้นพบทางโบราณคดี โดยพบชิ้นส่วนของซุ้มประตูหินแกรนิตสีแดงขนาด 2 ฟุต 6 นิ้ว (0.76 ม.) x 5 ฟุต 11 นิ้ว (1.80 ม.) ที่ปรากฏพระนามฮอรัสและพระนามครองราชย์ของพระองค์ที่ถูกค้นพบระหว่างการขุดค้นที่เมืองบูบาสติสในปี ค.ศ. 1891 ซึ่งดำเนินการโดยเอดูอาร์ด นาวิลล์ จากสมาคมสำรวจอียิปต์ (หรือ อีอีเอส)[3] ในขณะนี้ซุ้มประตูดังกล่างอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริติชภายใต้แคตตาล็อกหมายเลข บีเอ็ม อีเอ 1100 และซุ้มประตูอีกอันที่ค้นพบในเมืองทานิสปรากฏพระนามของฟาโรห์คาบาวร่วมกับพระนามของฟาโรห์ฮอร์จากราชวงศ์ที่สิบสามแห่งอียิปต์ โดยดาร์เรล เบเกอร์ และรีฮอล์ตเสนอความเห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดังกล่าว อาจหมายความว่า ฟาโรห์คาบาว เป็นพระราชโอรสของฟาโรห์ฮอร์ และอาจจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมด้วยเช่นกัน[4]

รีฮอล์ตและเบเกอร์เชื่อว่า ซุ้มประตูทั้งสองนั้นไม่ได้มาจากภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์แต่มาจากเมืองเมมฟิส ซึ่งซุ้มประตูทั้งสองชิ้นอาจจะมาอยู่จุดที่พวกเขาค้นพบหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ที่สิบสาม เมื่อชาวฮิกซอสได้ย้ายอนุสาวรีย์จำนวนมากจากเมืองเมมฟิสไปยังเมืองอวาริสและเมืองอื่น ๆ บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ เช่น บูบาสติส และทานิส หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ซุ้มประตูทั้งสองอาจจะอยู่ในเมืองอวาริสอยู่แล้วจนถึงรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 เมื่อพระองค์นี้ได้ทรงโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ที่ไพ-รามเสส โดยใช้วัสดุจากเมืองอวาริส โดยเมืองไพ-รามเสสได้ถูกรื้อถอนในเวลาต่อมาในสมัยราชวงศ์ที่ยี่สิบเอ็ดแห่งอียิปต์ และทำให้อนุสาวรีย์ต่าง ๆ หลายชิ้นก็กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ[2][5]

ตราประทับทรงกระบอกของฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี คาบาว, พิพิธภัณฑ์เพทรี ยูซี 11527[6][7]

ตราประทับทรงกระบอกของฟาโรห์คาบาวอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพทรี (ยูซี 11527)[7]

ในดินแดนนิวเบีย มีการค้นพบรอยตราประทับ 4 รอยจากป้อมปราการยูโรนาร์ติและอีกหนึ่งรอยตราประทับจากป้อมปราการมิร์กิสซา[2]

บันทึกพระนาม

พระนามของฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี คาบาวไม่ถูกบันทึกไว้ในบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน นอกจากนี้ พระนามของพระองค์ก็ไม่ได้ถูกบันทึกในบันทึกพระนามกษัตริย์โบราณอื่นเลยเช่นกัน[8]

ตามที่รีฮอล์ตกล่าว พระนามของฟาโรห์คาบาวได้สูญหายไปในส่วนที่เสียหายของบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูริน โดยที่พระนามของพระองค์จะบันทึกในคอลัมน์ที่ 7 บรรทัดที่ 17 ของบันทึกพระนาม และผู้คัดลอกบันทึกพระนามดังกล่าว ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงต้นสมัยรามเสสโดยจะบันทึก wsf (แปลตรงตัวว่า "สูญหาย") ไว้ เมื่อคัดลอกพระนามที่อยู่ในบริเวณที่เสียหาย[2]

การระบุตัวตน

ไม่ทราบพระนามประสูติของฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี คาบาว และตัวตนของพระองค์จึงไม่เป็นที่ทราบอย่างสมบูรณ์ โดยรีฮอล์ตได้เสนอพระนามประสูติของฟาโรห์คาบาวว่า "โซเบค" เนื่องจากพระนามดังกล่าวมาจากวัตถุโบราณ ซึ่งจะต้องเป็นของฟาโรห์ที่ปกครองในช่วงครึ่งแรกของสมัยราชวงศ์ที่สิบสาม ซึ่งมีเพียงฟาโรห์จำนวนสองพระองค์ในช่วงเวลานี้เท่านั้นที่ไม่ทราบพระนามประสูติคือ ฟาโรห์คาบาว และฟาโรห์เนริคาเร และพระนาม "โซเบค" อาจจะเป็นพระนามประสูติของฟาโรห์คาบาว[2]

ในทางกลับกัน เยอร์เกน ฟอน เบ็คเคอราทได้ระบุพระนามประสูติของฟาโรห์คาบาวไว้ว่าว่า "พันทเจนิ" ดังนั้นจึงเปรียบเทียบได้ว่าฟาโรห์คาบาวและฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี พันทเจนิ เป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกัน ซึ่งฟาโรห์พันทเจนิได้รับการยืนยันการมีตัวตนจากจารึกเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น[9] อย่างไรก็ตาม ข้อสมมติฐานดังกล่าวถูกไม่ยอมรับไปในการศึกษาจารึกครั้งล่าสุดของมาร์เซล มารี โดยมารีได้ชี้ให้เห็นว่า จารึกสร้างมาจากสถานที่เดียวกัน (หรืออาจจะเป็นคนสร้างคนเดียวกัน) ให้กับฟาโรห์เวปวาเวตเอมซาฟและฟาโรห์ราโฮเทป ซึ่งได้ระบุช่วงเวลาย้อนไปถึงช่วงต้นราชวงศ์ที่สิบเจ็ดแห่งอียิปต์ราว 1580 ปีก่อนคริสตกาล และด้วยเหตุนี้ฟาโรห์พันทเจนิจะต้องทรงครองราชย์ในช่วง 1600 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งอาจจะเป็นปลายราชวงศ์ที่สิบหกแห่งอียิปต์[10] หรือในอีกข้อสันนิษฐาน ฟาโรห์พันทเจนิ ทรงอาจจะเป็นผู้ปกครองจากราชวงศ์อไบดอส ซึ่งปกครองเหนือบริเวณอียิปต์ตอนกลางตั้งแต่ราว 1650 จนถึง 1600 ปีก่อนคริสตกาล[2]

วูล์ฟกัง เฮล์ก และสตีเฟน เควิร์ก ได้เปรียบเทียบฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี คาบาว ให้เป็นฟาโรห์พระองค์เดียวกันกับฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี โซเบคโฮเทป หรืออาจจะเรียกว่า โซเบคโฮเทปที่ 1 หรือ โซเบคโฮเทปที่ 2 โดยขึ้นอยู่กับนักวิชาการแต่ละคน ซึ่งข้อสมมติฐานดังกล่าวถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับโดยนักไอยคุปต์วิทยาส่วนใหญ่ รวมทั้งฟอน เบ็คเคอราท, เดตเลฟ ฟรานเคอ, รีฮอล์ต และแอนโธนี สปาลิงเกอร์[11] โดยฟอน เบ็คเคอราท และฟรานเคอชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าฟาโรห์ทั้งสองพระองค์จะทรงมีพระนามครองราชย์ที่เหมือนกัน แต่พระนามอื่น ๆ ของพระองค์ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และสปาลิงเกอร์โต้แย้งว่าบันทึกระดับแม่น้ำไนล์ในดินแดนนิวเบียที่เกี่ยวข้องกับฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี โซเบคโฮเทปไม่สามารถนำมาประกอบเข้ากับฟาโรห์คาบาวได้[11] ในการโต้แย้งกลับต่อข้อโต้แย้งเหล่านี้ สตีเฟน เควิร์กชี้ให้เห็นว่า พระนามฮอรัสและพระนามฮอรัสทองคำของฟาโรห์เซเคมเรคูทาวี โซเคโฮเทป ซึ่งเป็นที่ทราบจากบล็อกหินเพียงบล็อกเดียวจากเมดามุด ซึ่งไม่ได้ระบุที่มาที่แน่นอนทั้งหมด[12]

ข้อสันนิษฐาน

นักไอยคุปต์วิทยา คิม รีฮอล์ต ได้ระบุให้ฟาโรห์คาบาวเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สิบหกของราชวงศ์ และทรงครองราชย์เป็นระยะเวลาสามปีระหว่าง 1775 ถึง 1772 ปีก่อนคริสตกาล[2] ส่วนธอมัส ชไนเดอร์ ระบุว่าพระองค์ทรงครองราชย์ตั้งแต่ 1752 ถึง 1746 ปีก่อนคริสตกาล[13] หรืออีกทางหนึ่ง เยอร์เกน ฟอน เบ็คเคอราทได้มองว่า พระองค์เป็นฟาโรห์พระองค์ที่สามของราชวงศ์[14][15][9] ในฐานะผู้ปกครองของราชวงศ์ในช่วงต้นของราชวงศ์ที่สิบสาม ฟาโรห์คาบาวจะปกครองตั้งแต่จากเมืองเมมฟิสไปยังเมืองอัสวาน และอาจจะอยู่ปกครองอยู่เหนือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ฝั่งตะวันตก[4]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร