ศาลภัญชิกา

ศาลภัญชิกา หรือ สาลภัญชิกา (ศาลภํชิกา [ศาละภัญชิกา], อักษรโรมัน: shalabhanjika หรือ salabhanjika) เป็นคำในศิลปะอินเดียและวรรณกรรมอินเดียที่มีความหมายหลายแบบ ในศิลปะพุทธ คำนี้ใช้เรียกรูปสตรีหรือยักษียืนข้างหรือยืนเกาะต้นไม้ หรือใช้เรียกเหตุขณะพระนางสิริมหามายาทรงประทับข้างต้นสาละ ขณะทรงให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ[1] ในศิลปะฮินดูและไชนะ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงเท่าในศิลปะพุทธ คำนี้อาจใช้เรียกประติมากรรมใด ๆ ก็ตามที่ประดับบนผนังไม่ให้ดูจืดชืดน่าเบื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปสตรี[2] นอกจากนี้ ในวรรณกรรมพุทธยังปรากฏใช้คำว่า สาลภัญชิกา เรียกเทศกาลอินเดียโบราณหนึ่งซึ่งฉลองเมื่อต้นสาละออกดอก ในบริลทที่เปรียบเทียบกับประสูติกาลของพระโคตมพุทธเจ้า[3]

รูปศาลภัญชิกาใต้ต้นไม้บนโตรณะตะวันออกที่สถูปสาญจีซึ่งเป็นพุทธศาสนสถาน นิยมบรรยายรูปนี้ว่าเป็นรูปของยักษี
รูปศาลภัญชิกาลำดับที่หนึ่ง (ทรรปณสุนทรี; โฉมงามกับกระจก) จันนเกศวเทวาลัย เบลูร์ รัฐกรณาฏกะ, ศตวรรษที่ 12, ศิลปะโหยสละ รูปนี้เป็นศาลภัญชิกาในท่ายืนตริภังค์

ในวรรณกรรม นอกจากความหมายทางประติมากรรมแล้ว ยังอาจหมายถึงตุ๊กตา เทวดา ภูติ ไปจนถึงโสเภณี ทั้งหมดนี้ขึ้นกับบริบท[2] ในบริบทเหล่านี้ยังปรากฏคำอื่น ๆ เช่น มทนไก (madanakai), มทนิกา (madanika) หรือ ศิลาพาลิเก (shilabalika) โดยเฉพาะในวรรณกรรมภาษากันนาดา ส่วนในบริบทของกวีนิพนธ์และดนตรีอินเดีย คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับจังหวะ ปัถยา (pathyā) ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวะย่อย จันทะ (chanda) ในกลุ่ม จตุษปาทิ (catuṣpadi) ใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่าน[4]

นอกจากจะหมายถึงเหตุการณ์ที่พระนางสิริมหามายาให้ประสูติแก่เจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ตามสถูปในศาสนาพุทธยังปรากฏประติมากรรมที่แสดงสตรีเคียงต้นไม้ ส่วนมากมักจับหรือเกาะกิ่งไม้นั้นในลักษณะคล้ายกับพระนางสิริมหามายา แต่ในบริบทเหล่านี้สาลภัญชิกาจะหมายถีงรุกขเทวดาในคติชนของอินเดียโบราณ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการมีบุตร[5]

ศัพทมูล

คำว่า ศาลภัญชิกา ประกอบมาจากคำภาษาสันสกฤต คือ ศาลา และ ภัญชิกา คำว่า ภัญชิกา มีความหมายว่า 'การหัก, รบกวน" ส่วน ศาลา หมายถึง "บ้าน, พื้นที่, พื้นที่ปิด, ผนัง, ศาลา" เช่นในคำว่า ธรรมศาลา หรือ โคศาลา[6] คำเดียวกันนี้ยังสามารถหมายถึงต้นสาละซึ่งเป็นไม้มีค่า[6] นักวิชาการด้านภาษาสันสกฤต วอเกล (Vogel) ระบุว่าความหมายอันหลากหลายของ ศาลภัญชิกา ในธรรมเนียมต่าง ๆ ของอินเดีย อาจเกี่ยวเนื่องกับความสำคัญของต้นสาละ ซึ่งในศาสนาพุทธมองต้นสาละเกี่ยวกับประสูติกาลของพระโคตมพุทธเจ้า และในฮินดูกับไชนะมองต้นสาละในฐานะไม้มีค่าสำหรับแกะสลักประติมากรรม[3]

วอเกลระบุว่าคำว่า ศาลภัญชิกา ไม่ปรากฏในวรรณกรรมยุคพระเวทหรือในวรรณกรรมภาษาบาลี ไปจนถึงมหากาพย์ที่สำคัญของอินเดีย แต่มีปรากฏในวรรณกรรมยุคคลาสสิกของอินเดียจากต้นสหัสวรรษที่ 1 เช่น พุทธจริต (Buddhacarita, ราวปี 100) โดยอศวโฆษะ ส่วนคำที่คล้ายกัน ซึ่งคือ สาสตรี (salastri, หมายถึงสตรีที่เกิดออกจากต้นสาละ) ปรากฏในวรรณกรรมฮินดู นาฏยศาสตระ ที่วรรค 2.83–84[3] ข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจสะท้อนว่าวรรณกรรมเขียนตามธรรมเนียมและความนิยมในการแกะสลักไม้สาละ[3] คำที่คล้ายกันยังรวมถึง มทนิกา (madanika), ปุตรีลิกา (putrilika), สตมภปุตรี (stambhaputri), สตมภปุตริกา (stambhaputrika) และ ปุตริกา (putrika)[7] ประสันนะ อาจารยะ (Prasanna Acharya) นักวิชาการภาษาสันสกฤต และผู้นิพนธ์ สารานุกรมสถาปัตยกรรมฮินดู (An Encyclopedia of Hindu Architecture) ระบุว่า ศาลา และ ภัญชิกา ที่ปรากฏในวรรค 2.79 ของ นาฏยศาสตระ เป็นบริบทที่หมายถึง "รูป [หรือประติมากรรม] ที่ทำจากไม้"[8]

วอเกล, อาจารยะ และนักวิชาการคนอื่น ๆ ให้ข้อสรุปว่าในศิลปกรรมและวรรณกรรมของฮินดูกับไชนะ คำนี้ใช้หมายถึงรูปปั้นใด ๆ บนผนัง เสา หรือโถง[7][9][8]

ดูเพิ่ม

  • คาร์ยาติด ลักษณะคล้ายกันในวัฒนธรรมยุโรป
  • รายนามรุกขเทวดา
  • ยักษินี

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง