หมึกกระดอง

หมึกกระดอง
หมึกกระดองไม่ทราบชนิด
หมึกกระดองขณะฝังตัวใต้ทราย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร:Animalia
ไฟลัม:Mollusca
ชั้น:Cephalopoda
ชั้นย่อย:Coleoidea
อันดับใหญ่:Decapodiformes
อันดับ:Sepiida
Zittel, 1895[1]
อันดับย่อย และ วงศ์
  • †Vasseuriina
    • †Vasseuriidae
    • †Belosepiellidae
  • Sepiina
    • †Belosaepiidae
    • Sepiadariidae
    • Sepiidae[1]
ลิ้นทะเล

หมึกกระดอง เป็นมอลลัสคาประเภทหมึกอันดับหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sepiida

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า Sepiida หรือ sepia ในภาษาอังกฤษนั้น หมายถึง "สีซีเปีย" หรือสีน้ำตาลเข้ม อันหมายถึง หมึกของหมึกกระดองนั่นเอง ซึ่งในอดีตได้ในการนำหมึกของหมึกกระดองมาทำเป็นหมึกใช้สำหรับการเขียนหรือตีพิมพ์[2] [3]

ลักษณะ

หมึกกระดอง นั้นมีรูปร่างคล้ายกับหมึกกล้วย แต่มีรูปร่างที่กลมป้อมกว่า อันเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ภายในโครงร่างภายในเป็นแผ่นหินปูนรูปกระสวยสอดอยู่กลางหลังเรียกว่า ลิ้นทะเล แผ่นหินปูนนี้มีช่องว่าง ภายในมีของเหลวและแก๊สบรรจุอยู่ ช่วยในการลอยตัวได้เป็นอย่างดี มีหนวดทั้งสิ้น 10 หนวดเหมือนกับหมึกกล้วย มีหนวดยาว 2 เส้นใช้สำหรับจับเหยื่อเช่นเดียวกับหมึกกล้วย แต่ปลายหนวดไม่ได้แผ่แบนออกกว้าง [3] และสามารถหดเข้าไปในกระเปาะได้[4]

โดยมากแล้ว หมึกกระดอง จะเป็นหมึกที่อาศัยอยู่เป็นคู่หรือตามลำพังตัวเดียว ไม่ได้อยู่รวมเป็นฝูงใหญ่เหมือนหมึกกล้วย และจะอาศัยอยู่ตามโพรงหินใต้น้ำใกล้กับพื้นน้ำ ว่ายน้ำด้วยการลอยตัวแล้วใช้แผ่นบางใสเหมือนครีบข้างลำตัวพลิ้วไปมา ผิดกับหมึกจำพวกอื่น ซึ่งครีบนี้จะไม่เชื่อมต่อกับตอนท้ายของลำตัว และมักเป็นหมึกที่ไม่เกรงกลัวมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักประดาน้ำและนักถ่ายภาพใต้น้ำ[5] รวมถึงบางครั้งจะนอนหรือฝังตัวอยู่ใต้ทรายหรือกรวดตามหน้าดินด้วย

หมึกกระดอง สามารถเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับหมึกจำพวกอื่น แต่การเปลี่ยนสีของหมึกกระดองจะต่างไปจากหมึกกล้วย คือ มักจะปรับสีสันบนลำตัวให้มีสีสันและลวดลายกลมกลืนเป็นสีน้ำตาลเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่อาศัยอยู่ ในขณะเดียวกันสีสันบนลำตัวก็สามารถจะปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ความรู้สึก เช่น ตอนที่กำลังเกี้ยวพาราสีกัน ก็จะปรับเปลี่ยนสีสันบนลำตัวไปตามอารมณ์ด้วย[5]

หมึกกระดองโดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 15-25 เซนติเมตร (5.9-9.8 นิ้ว) โดยชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ หมึกกระดองยักษ์ออสเตรเลีย มีความยาวลำตัวได้ถึง 50 เซนติเมตร (20 นิ้ว) และมีน้ำหนักมากกว่า 10.5 กิโลกรัม (23 นิ้ว) [6]

วงจรชีวิต

วงจรชีวิตของหมึกกระดองนั้นไม่ยืนยาวเช่นเดียวกับหมึกประเภทอื่น โดยหมึกตัวเมียจะมีอายุราว 240 วัน หลังจากเติบโตเต็มที่ ผสมพันธุ์ และวางไข่ จากนั้นหมึกตัวเมียก็จะตายลง ในขณะที่หมึกตัวผู้จะมีอายุยาวนานกว่า การเกี้ยวพาราสีของหมึกกระดองนั้นจะเริ่มขึ้นจากหมึกตัวผู้และตัวเมียว่ายจับคู่คลอเคลียกัน โดยหมึกตัวเมียจะมองหาทำเลที่เหมาะกับการวางไข่ ซึ่งอาจจะเป็นโพรงหรือซอกหลืบปะการัง หรืออาจเป็นตามแผ่นกัลปังหาที่เรียงรายทับซ้อนกัน คล้ายเป็นที่กำบังอย่างดี หมึกตัวผู้และหมึกตัวเมียจะว่ายคลอเคลียเคียงคู่กันไปมาช้า ๆ คล้ายกับการเต้นลีลาศ สีสันและลวดลายบนลำตัวจะปรับเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วราวกับแสงนีออน เป็นการบ่งบอกอารมณ์ของทั้งคู่ เมื่อถึงการผสมพันธุ์ทั้งคู่จะว่ายน้ำหันหน้ามาแนบชิดกัน แล้วใช้หนวดโอบกอดสอดประสาน หมึกกระดองตัวผู้จะใช้หนวดยาวคู่พิเศษล้วงเอาถุงสเปิร์มในลำตัวสอดเข้าไปเก็บไว้ในลำตัวของหมึกกระดองตัวเมียเพื่อผสมกับไข่ ทั้งคู่จะจับคู่กันราว 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นหมึกตัวเมียจะเริ่มวางไข่ โดยใช้หนวดนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจากภายในออกมา ค่อย ๆ บรรจงยื่นไปวางติดไว้ในโพรงที่เตรียมไว้ทีละฟอง จำนวนไข่ที่วางครั้งหนึ่งอาจมีมากมายนับพันฟอง ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างทุ่มเทเป็นเวลายาวนานหลายวัน ในขณะที่หมึกตัวผู้ก็จะว่ายคลอเคลียไม่จากไปไหน เพื่อคอยป้องกันภัยให้ และป้องกันไม่ให้หมึกตัวผู้อื่น ๆ ที่ยังหาคู่ไม่ได้ มาก่อกวน[7]

ขณะที่หมึกกระดองตัวเมียหลังจากวางไข่แล้ว จะวนเวียนเฝ้าไข่อยู่แถวนั้น จนร่างกายอ่อนเพลียเรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงไปทีละน้อย ๆ น้ำหนักตัวจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และตายลงไปในที่สุด โดยที่ไข่ของหมึกกระดองเมื่อฟักออกมา ลูกหมึกวัยอ่อนจะมีรูปร่างเหมือนกับหมึกกระดองวัยโตแต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้ชีวิตเป็นแพลงก์ตอน โดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เช่นเดียวกับหมึกประเภทอื่น[7]

การประมง

หมึกกระดอง เป็นหมึกประเภทหนึ่งที่นิยมรับประทาน จึงมีคุณค่าทางประมง สำหรับชาวประมงชาวไทยจะทำการจับหมึกหรือที่เรียกว่า "ไดหมึก" โดยจะเปิดไฟล่อหมึกจนคิดว่าหมึกมีพอแล้ว จึงเริ่มด้วยการกางอวน แหยักษ์ หรือมุ้ง ซึ่งจะกางไว้ด้านหนึ่งของเรือ ชาวประมงจะปิดไฟด้านที่ไม่ได้กางอวน เหลือไฟไว้เพียงด้านที่กางอวน ทั้งปลาและหมึกจะมารวมกันด้านนี้ ทิ้งไว้สัก 3-5 นาที ชาวประมงจะเร่งไดให้ไฟแรงขึ้น ก่อนจะหรี่ไฟลงจนเกือบดับ แล้วปล่อยอวน แหยักษ์ หรือมุ้งลงมาครอบ การไดหมึกจะทำได้ผลตอนช่วงเดือนมืด ปรกติจะอยู่ระหว่างแรม 4 ค่ำถึงขึ้น 8 ค่ำ เดือนหนึ่งทำได้ 22-24 วัน

การจับหมึกกระดองอีกวิธีหนึ่งที่ทำกันมาก คือการใช้ลอบหมึก ลอบหมึกจะถูกนำไปวางไว้บริเวณกองหินใต้น้ำ ซากเรือจม หรือตามเกาะ กะระดับน้ำลึกสัก 10-30 เมตร ชาวประมงจะทำการกู้ลอบทุกวัน ๆ ละ 1-2 ครั้ง[4]

การอนุกรมวิธาน

ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานหมึกกระดองไว้แล้วมากกว่า 120 ชนิด

หมึกกระดองขนาดใหญ่กับนักประดาน้ำ
ภาพเคลื่อนไหวของหมึกกระดองในธรรมชาติ
  • ชั้น CEPHALOPODA
    • ชั้นย่อย Nautiloidea: หอยงวงช้าง
    • ชั้นย่อย Coleoidea: หมึกกล้วย, หมึกสาย, หมึกกระดอง
      • อันดับใหญ่ Octopodiformes
      • อันดับใหญ่ Decapodiformes
        • อันดับ †Boletzkyida
        • อันดับ Spirulida: หมึกกล้วยเขาแกะ
        • อันดับ Sepiida: หมึกกระดอง
          • อันดับย่อย †Vasseuriina
            • วงศ์ †Vasseuriidae
            • วงศ์ †Belosepiellidae
          • อันดับย่อย Sepiina
            • วงศ์ †Belosaepiidae
            • วงศ์ Sepiadariidae
            • วงศ์ Sepiidae
        • อันดับ Sepiolida: หมึกบ็อบเทล
        • อันดับ Teuthida: หมึกกล้วย

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง