แม่พระพิลก

แม่พระพิลก หรือ พระเทวี เป็นพระนามที่กล่าวถึงพระชายาพระองค์หนึ่งที่ไม่ปรากฏพระนามในพญาสามฝั่งแกน[1] และพระมหาเทวีในพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ถือเป็นมหาเทวีที่มีบทบาทสูงยิ่งในราชสำนัก ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเมืองลำปาง-เขลางค์จนมีอำนาจมากพอที่ยึดอำนาจจากพระราชสวามี และเกื้อหนุนพระราชโอรสในการปกครองอาณาจักรล้านนาร่วมกันตลอดพระชนม์ชีพ

พระราชประวัติ

พระองค์มีพระนามว่ากระไรไม่ปรากฏ มีการกล่าวถึงในจารึกฐานพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตาเรียกว่า “แม่พระพิลก”[2][3] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ว่าชื่อดังกล่าวมีความหมายว่าพระราชชนนีมหาเทวีในพระเจ้าติโลกราช[4] ส่วนชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า “พระเทวี”[5] พระองค์เป็นน้องสาวของหมื่นโลกนครเจ้าเมืองลำปาง (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหมื่นโลกสามล้านในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช)[6] พระองค์มีความสัมพันธ์บางประการกับเมืองแพร่[7][8] อาจมีความสัมพันธ์เครือญาติกับเมืองสุโขทัยด้วย ดังปรากฏการทำบุญสร้างพระพุทธรูปแม่ศรีมหาตาร่วมกับพระราชชนนีของพระมหาธรรมราชาพระองค์หนึ่งของสุโขทัย[9][10] เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีว่าพระองค์มีความสัมพันธ์ฉันญาติกับพระบรมครูติโลกดิลกติรัตนศิลคันธวันวาสีว่าอาจเป็นพระชนกของแม่พระพิลก ซึ่งสอดคล้องกับพระนามของพระเจ้าติโลกราช พระราชโอรสตามทำเนียมการนำชื่อบรรพบุรุษมาตั้งชื่อหลาน[11] ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ว่าแม่พระพิลกเป็นพี่น้องหรือเครือญาติกับนางษาขาพระราชชนนีในพระมหาธรรมราชาที่ 4[12]

หลังการอภิเษกสมรสกับพญาสามฝั่งแกน ประสูติกาลพระราชโอรสคือพระเจ้าติโลกราชพระราชโอรสลำดับหกซึ่งอยู่ห่างไกลต่อการสืบราชสมบัติ แต่จากการสนับสนุนของกลุ่มเจ้านายลำปาง-เขลางค์ ญาติวงศ์ฝ่ายพระราชชนนี จึงทำให้พระเจ้าติโลกราชยึดราชสมบัติจากพระราชชนกและครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 1985[4][8][13] ซึ่งพระมหาเทวีมีบทบาททางการเมืองสูงมาก เพราะพระเจ้าติโลกราชยังครองราชย์ปกครองบ้านเมืองอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของพระมหาเทวี[14] ปรากฏการกล่าวถึงทั้งสองพระองค์คู่กันว่า มหาราชเจ้าทั้งสองพระองค์ หรือ พระเป็นเจ้าแม่ลูก มาตลอด[10] และยังปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าพระมหาเทวีสำเร็จราชการปกครองอาณาจักรเพียงลำพังพระองค์ ความว่า[5]

“เมื่อปีนั้นเป็นปีเถาะอยู่ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิราชาธิราช ทรงปรารถนาจะเป็นทายาทแห่งพระศาสนาเพื่อสนองคุณพระบรมชนกชนนี จึงมอบราชสมบัติให้แก่พระเทวี ผู้เป็นพระราชมารดาของพระองค์ แล้วทรงผนวช”

นอกจากนี้พระองค์ยังได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราชให้ยกทัพไปตีนครรัฐแพร่ ในเวลาเดียวกันพระเจ้าติโลกราชเองจะยกทัพไปตีนครรัฐน่าน ดังปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการยกทัพไปครั้งนั้น หาได้รบกันจริงจัง หากแต่เป็นการเจรจากับท้าวแม่นคุณ เจ้าเมืองแพร่ ว่าให้ออกมาถวายบังคม หลังจากที่ท้าวแม่นคุณออกมาถวายบังคมแล้ว พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวแม่นคุณครองเมืองแพร่ต่อไปก่อนยกทัพกลับ[15] ถือเป็นชัยชนะที่รวดเร็วและง่ายดายยิ่ง[8] หลังจากนั้นเป็นต้นมานครรัฐแพร่จึงถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 1987[16]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร