โฮง

โฮง หรือ หอโฮง คือพระราชวัง วัง หรือตำหนักอันเป็นสถานที่ประทับหรืออยู่อาศัย ตลอดจนใช้ว่าราชการและสำเร็จราชการงานเมืองของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง เจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง หรือเจ้านายในคณะอาญาสี่ (เจ้าขันคำทั้งสี่หรือเจ้ายั้งขม่อมทั้งสี่) และพระบรมวงศานุวงศ์ของเจ้านายฝ่ายหัวเมืองลาว-อีสาน หรือหมายถึงที่พักอาศัยที่ใหญ่กว่าเฮือน (เรือน) มักมีหลายห้องและเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองลาวในสมัยโบราณ[1]

ชื่อเรียก

โฮงพระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร และเจ้าเมือง

โฮงอันเป็นที่ประทับตลอดจนใช้ว่าราชการและสำเร็จราชการงานเมืองของพระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร และเจ้าเมืองนั้น บ้างก็เรียกว่า หอโฮงหลวง หอโฮงการ โฮงหลวง หอหลวง หอคำ หรือเรียกต่อท้ายด้วยบรรดาศักดิ์และราชทินนามของเจ้าเมืองหรือเจ้านคร เช่น โฮงพระยาประจันตประเทศธานี (เจ้าเมืองสกลนคร) โฮงเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (เจ้าเมืองอุบลราชธานี) เป็นต้น

โฮงเจ้านายในคณะปกครองและพระบรมวงศานุวงศ์

โฮงอันเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นรองลงมาตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์นิยมเรียกว่า โฮง เฉยๆ หรือเรียกว่า โฮงเจ้า โฮงท้าว (กรณีที่เจ้านายพระองค์นั้นเป็นบุรุษ) โฮงนาง (กรณีที่เจ้านายพระองค์นั้นเป็นสตรี) หรือต่อท้ายชื่อโฮงด้วยพระยศหรือบรรดาศักดิ์ของเจ้านาย เช่น โฮงเจ้ามหาอุปฮาต โฮงอุปฮาต โฮงราชบุตร โฮงราชวงศ์ หรือต่อท้ายด้วยพระนามของเจ้านาย เช่น โฮงเจ้าเพชรราช (วังเชียงแก้ว แขวงหลวงพระบาง) เป็นต้น

โฮงซาว

โฮงซาวหมายถึงโฮงขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยหมู่อาคารหลายๆ ห้องยาวติดต่อกัน หรือหมู่อาคารหลายๆ หลังแยกจากกัน แต่มีส่วนเชื่อมโยงหากัน ดังปรากฏในวรรณกรรมลาว-อีสาน เรื่องรามเกียรติ์ (พะลักพะลาม) หรือเรื่องพระยาฮาบพระนาสวน ว่า

...บาก็นีรมิตพร้อม ปราสาทเสาสูง

ฮุ่งฮุ่งใส เหลื่อมมะณีมุงแก้ว

เขาก็นีรมิต โฮงซ้างพร้อม โฮงซาวขีนไขว่

นีรมิตพร้อม สัพพะสิ่งโภชนัง...[2]

ท้องพระโรงหลวง

ท้องพระโรงหลวงหรือท้องพระโรง ในภาษาลาว-อีสานเรียกว่า คอง หรือ คองหลวง เรียกเต็มๆ ว่า พระราชคองหลวง คือห้องโถงขนาดกว้างที่สุดภายในตัวโฮง ซึ่งพระมหากษัตริย์และเจ้านายในคณะปกครองใช้เป็นสถานที่ว่าราชการ ประชุมงาน และพบปะทูตต่างเมือง ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระราชพิธีมงคล และพระราชพิธีอวมงคลต่างๆ เช่น พิธีราชาภิเษก พิธีอภิเษกสมรส พิธีบาสี (บายศรี) สูตรขวัญเจ้านาย และใช้ตั้งพระศพในพระราชพิธีสวดพระศพเจ้านาย

ความหมายอื่น

นอกจากโฮงจะหมายถึงพระราชวัง วัง หรือตำหนักอันเป็นสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง และพระบรมวงศานุวงศ์ของเจ้านายฝ่ายหัวเมืองลาว-อีสานแล้ว คำว่า โฮง ยังหมายถึง โรง หรือห้องโถงที่มีขนาดใหญ่ด้วย[3] อาทิ โฮงอุปโป (โรงทานหรือหอแจก) โฮงธรรม (ศาลาการเปรียญ) โฮงกะดี (กุฏิพระ) โฮงเจ้าพ่อ (หอผีหรือศาลเจ้า) โฮงซ้าง (โรงช้าง) โฮงม้า (โรงม้า) โฮงหมอ (คลินิก) โฮงแฮม (โรงแรม) โฮงเฮียน (โรงเรียน) โฮงหนัง (โรงหนัง) เป็นต้น

ในวรรณกรรมลาว-อีสานโบราณ

โฮงในวรรณกรรมท้าวยี่ควายเงิน

ในวรรณกรรมลาว-อีสานโบราณเรื่องท้าวยี่ควายเงินหรือท้าวยี่ควายด่อน ได้กล่าวถึงโฮงไว้หลายตอนดังต่อไปนี้

ตอนท้าวยี่เดินทางไปเมืองเป็งจาลเพื่อถวายควายเผือก

"...ท้าวก็เถิงแห่งห้อง เมืองบ้านชื่นบาน เมื่อนั้นท้าวก็วอยๆ เข้า เมืองใหญ่เศรษฐีหลวง หลิงเห็นหินแก่นกล้า เป็นต่างกําแพง ที่พุ้น ท้าวก็เห็นยาบ ๆ เลื่อม ผาสาทลายคํา พุ้นเยอ หลิงเห็นฮองๆ ใส ส่องงามเงาแก้ว สะพรั่งพร้อม หอขวางทั้งแปด พุ้นเยอ ยอดช่อฟ้า เหลืองเลื่อมเฮื่อคํา หลิงเห็นกากาดตั้ง โฮงใหญ่แสนหลัง ฟังยินฮ่วนๆ ก้อง เสียงเสพนนตรี พุ้นเยอ หลิงเห็นสอนลอนช้าง งาขาวนับโกฏิ์ เต็มพร่ำพร้อม พอฮ้อยโกฏิ์ตัว แต่นั้นนายก็พาบาท้าว ไปเซาสารจอด..."

ตอนท้าวยี่และลุงเดินทางถึงเมืองปลายแดนของเมืองเป็งจาล

"...เหล้าไก่พร้อม พาข้าวลาบแกง สะพรั่งพร้อม ฝูงแขกชาวเมือง เขาก็พากันกิน อิ่มพอสมด้าม ขอบที่สมภารเจ้า ยอพามาแจก ให้เจ้ายืนยิ่งล้ำ พันเข้าหมื่นปี แด่ถ้อน เมื่อนั้น ยาบๆ ย้าย ข้ามะหาดในโฮง เขาก็เอาพาคํา เลิกลาเมือห้อง แต่นั้นแซวๆ ท้วง ชาวเมืองมาเบิ่ง..."

ตอนเศรษฐีจัดขบวนไปรับท้าวยี่

"...ค้อมว่าแล้ว เศรษฐีแต่งเดาดา พระก็เตินโยธา ไพร่พลมาพร้อม เมื่อนั้นไหย่ๆ แส้ กะฎุมพีตขุนนาง สนๆ มา หมื่นปลายโฮมเจ้า พระก็ให้ประดับช้าง มงคลตัวประเสริฐ ไปฮับท้าว มาเข้านั่งเมือง เมื่อนั้นไหย่ๆ แส้ ไหลหลั่งลงโฮง แลเยอ เศรษฐีไปทางตีน บ่ทรงพลายช้าง..."

ตอนท้าวยี่เสกสมรสกับนางบัวไข

"...อันว่าพีดานกั้ง ภายบนมุงมาศ ประดับดอกไม้ เรียนล้อมหมื่นฐัน พาเงินพร้อม พาคําตั้งเครื่อง เสื่อสาดพร้อม ทั้งแก้วเทริดคํา พาขวัญตั้ง กลางโฮงเดียระดาด ให้เสพพร้อม แคนไค้พาดเพลง สรรพสิ่งแล้ว ตกแต่งบระบวร เมื่อนั้นเขาก็เชิญสองศรี สู่หอสรงน้ำ เศรษฐีพร้อม พราหมณาหลายหมู่ เขาก็หดหน่อท้าว นางน้อยพร่ำกัน เมื่อนั้นสัวๆ พร้อม เสด็จสู่โฮงคํา ฟังยินคอมๆ เสียง เสพนนตรีก้อง..."

ตอนท้าวยี่ลาเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชา

"...เมื่อนั้นนางเมืองพร้อม จาระจาดูเมื่อย นานแหล้ว เขาก็มาเหนี่ยวท้าว เมือหน้าสู่เมือง ก่อนเทอญ เมื่อนั้นท้าวยี่น้อย ขานว่า ดีๆ มากแหล้ว ข้อยจักไปอําลา เศรษฐีเป็นเจ้า ค้อมว่าแล้ว เฮวฮีบเลยไป เถิงโฮงคํา กล่าวแหมหมายถ้อย บัดนี้ข้าก็เคืองใจตั้ง นายเมืองควายเผือก พระยาหล้าน้ำ ยังท่าข่าวสาร พระเอ๊ย..." ตอนชาวเมืองเป็งจาลให้ท้าวยี่พักที่สนามชัย

"...ก็จึ่งเถิงแห่งห้อง เมืองใหญ่เป็งจาล แลเยอ บาก็หลิงดูเวียง ก่อหินเป็นต้าย หลิงดูยาบๆ เลื่อม ผาสาทมุงมณี พุ้นเยอ ดีแก่ฮงๆ ใส ส่องงามเงาแก้ว หลิงเห็นโฮงหลวงกว้าง คุยคําดูอาจ มุงแผ่นแก้ว ทองเลื่อมเฮื่อเฮือง บาก็ซ้ำล่วงเข้า กลางเวียงยียาบ แลเยอ เขาก็สัวๆ ท้วง ชาวบ้านแล่นมา..."

ตอนท้าวยี่เข้าเฝ้าพระราชา

"...เมื่อนั้นนายเมืองขึ้น หอคําบนบอก เว้าภาคพื้น ถวยเจ้าพระยอดเมือง บัดนี้ท้าวยี่น้อย มาจอดสนามชัย พ่อเอ๊ย บาก็นําควายเงิน ขาบถวยจอมเจ้า แต่นั้นพระยาหลวงเจ้า ขานตอบสาธุการ แท้แหล้ว เฮาก็คองหาแท้ สองนายมีมาก จริงแหล้ว นายจงเชิญบ่าวท้าว มาถ้อนเบิ่งควาย เจ้าเอ๊ย เมื่อนั้น นายก็เชิญบาท้าว กุมารเฮวฮีบ บัดนี้พระบาทเจ้า ทันท้าวสู่โฮง แท้แหล้ว เมื่อนั้น ท้าวบ่ช้า โดยอาชญ์เร็วพลัน บาก็จูงควายเงิน พร่ำนางไปพร้อม ท้าวก็ไปแหล่งไว้ ซ้องพระเนตรเบ็งชร บาก็เถิงโฮงคํา ขาบถวยถวิลไหว้ บาจึงแปลงจิตตั้ง ทูลมือก้มกราบ นบนอบไหว้ ทูลเจ้าพระยอดเมือง บัดนี้ควายเงินข้า นํามาถวยบาท จริงแหล้ว..."

ตอนพระราชาทรงหายจากโรคร้าย

"...นักสนมหมื่นปลาย อยู่นําเรียนล้อม พอเมื่อเหิงนานได้ เจ็ดวันหายพยาธิ์ ก็เพื่อว่าควายเผือกท้าว คูนค้ำอยู่สบาย เมื่อนั้นพระยาหล้าน้ำ ชมชื่นยินดี พระก็แพงควายเงิน เกิ่งตาตนท้าว พระก็จําเขาให้ ปูนโฮงหลังใหม่ แปลงแท่นแก้ว ขุนตั้งแต่งดี เจ้าก็ปูลาดพื้น ด้วยแผ่นเงินเลียง..."

ตอนท้าวยี่ทูลลากลับบ้าน

"...เมื่อนั้นท้าวยี่น้อย ฟังพากย์ภูธร บาก็ทูลมือนบ เลิกลาลงห้อง เมื่อนั้นท้าวก็อุ้มไก่แก้ว ลุงแบกคอนคํา แลเยอ สองลุงหลาน พรากโฮงลาเจ้า ข้าก็มาเถิงห้อง สนามชัยเตินป่าว ไผอย่าช้า ดาห้างเครื่องเคา..."

ตอนท้าวยี่บูชาไก่ขาวสร้างเมืองใหม่

"...แต่นั้นไก่ก็ตบปีกก้อง ขันท้าครื่นเครง ไก่ก็ขันเถิงถ้วน สามทีแล้วอย่า ก็เล่าขําเขือกพร้อม เมืองบ้านเกิดมี หลิงเห็นฝูงป่าไม้ กลับเกิดเป็นโฮง อันว่าฝูงเลาคาเกิด เป็นตาลพร้าว หลิงดูเวียงใหญ่กว้าง แปดชั่วแสนวา โฮงหลวงมุง แผ่นคําแกมแก้ว ทันกลางนั้น มีหอผาสาท ตั้งใส่ไว้ ในหั้นหมื่นหลัง หลิงดูบัลลังก์แก้ว เจ็ดประการเป็นแผ่น ผาสาทตั้ง กวมไว้แท่นคํา มีทั้งผาสาทตั้ง ปักตูมีทั้งแปด มีทั้งโฮงช้างพร้อม โฮงม้าอเนกนอง อักโขล้น ฝูงเฮือนชาวไพร่ เกิดทั่วเท่า เวียงกว้างอเนกนอง พื้นลาดไว้ ด้วยแผ่นทองแดง ภายบนมุง แผ่นเงินขาวจ้า สรรพสิ่งพร้อม หมากอ่อนพลูพัน ก็มี มีทังข้าวทิพย์พร้อม กองอยู่เต็มเยีย เลยเล่าขําเขือกพร้อม สรรพสิ่งของทิพย์..."

ตอนท้าวยี่ให้ลุงไปรับญาติมาอยู่ด้วย

"...สามพันครัว ออกไปยามเช้า เมื่อนั้นหลายวันได้ หลายคืนเลยฮอด ลุงยี่เจ้า พาเข้าสู่เมือง เมื่อนั้นป้ายี่เว้า บางามในอาสน์ เขาก็เมือโฮงคํา พร่ำลุงทูลไหว้ เมื่อนั้นภูธรท้าว เห็นเขาพ่อแม่ ฝูงพี่น้อง มาพร้อมซู่คน ท้าวก็ชมชื่นต้าน ตนพ่อบิดา..." [4]

ในวรรณกรรมคำสูตรขวัญ

โฮงในบทสูตรขวัญเยียเข้า

เยียเข้าในภาษาลาว-อีสานหมายถึง เล้าข้าว ในบทสูตรขวัญเล้าข้าวของชาวลาว-อีสาน มีการนำเล้าข้าวมาเปรียเทียบหรืออุปมากับโฮงเพื่อความเป็นสิริมงคลไว้ว่า

"...อยู่ภูเขียวบ่ได้เผี่ยง อยู่ภูเวียงบ่ได้ท่อเอาไป เสาอยู่ในเผิ่นให้ปลอก เส้นอยู่นอกเผิ่นให้ฟัน มารวมกันเป็นเสาเล้า ใส่ข้าวจ้าวและข้าวเหนียว ไผเหลียวมาว่าแม่นปราสาท งามอาดหลาดปานโฮงหลวง บ่เข็ดขวางคูณค้ำ ใส่ข้าวก่ำได้พอซาว ใส่ข้าวขาวได้แสนหาบ ยกมือกราบสามหน เทพอยู่บนจงมาส่อง..."

และอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงโฮงอุปฮาตว่า

"...นี้จั่งแม่นเล้าข้าวดี เล้าข้าวมีอำนาจ แม่นบ่ขาดอึดหาย มีอยู่หลายคือเก่า จั่งได้เล่าเอาขวัญ จั่งได้ชวนเอานารถ ไม้แป้นกาดฮองตง มาแต่โฮงอุปราช เอามาพาดแทนทองคำ เอามานำแต่พระเจ้า จั่งได้เว้าว่า มาเยอขวัญเอย ขวัญไม้ใหญ่ลำสูง ขวัญไม้ยูงลำสื่อ มาเป็นขื่อตงขาง ขวัญไม้ยางและไม้แต้ เอาเกวียนแก่มาแต่ภูเงินภูทอง..." [5]

โฮงในบทสูตรขวัญแต่งงาน

ในบทสูตรขวัญแต่งงานของชาวลาว-อีสาน มีการเรียกขวัญของคู่บ่าวสาวให้กลับมาสู่หอโฮงเพื่อความเป็นสิริมงคลไว้ว่า

"...จวงจันท์หอมตกแต่ง กาบบัวแบ่งอยู่ซอนลอน ตาออนซอนเตียงตั่ง มีบ่อนนั่งเซามีแฮง คอยจอมแพงสองหน่อ ปานแถนหล่อแถนลอ มาโฮงหอ อย่าได้ช้า ทั้งช้างม้าแลงัวควาย ตาเว็นสวยมันสิฮ้อน ให้มาก่อนอย่าไปไกล อย่าไปใสตาเว็นค่ำ ตกใต้ต่ำมัวเมา..." [6]

โฮงในบทสูตรขวัญเฮือน

ในบทสูตรขวัญเฮือนของชาวลาว-อีสาน มีการอุปมาเปรียบเทียบไม้ที่ตัดมาสร้างเป็นเรือนเหมือนสาโฮงของพระอินทร์เพื่อความเป็นสิริมงคลไว้ว่า

"...แบกขวานไปสิปล้ำถาก หาบ่ยากไม้เสาเฮือน ไปเป็นเดือนยามออกใหม่ เอาลำใหญ่ยูงยาง เอามีดถางเบิ่งฮอดเหง้า จั่งบอกเจ้ารุกขา หมู่เทวดาเฝ้าอยู่ เฮ็ดนำปู่ตามครูสอน ต้นมันงอนคดก่ง เผิ่นให้จ่งอย่าตัดมา บ่งามตาเอาไว้ก่อน หาเอาบ่อนลำสื่อปานเทียน เอาลำเหมือนเสาเมรุราช เอาเสาอาจดั่งโฮงอินทรา จั่งเอามาเป็นเสาเฮือนอยู่ ดีกว่าหมู่ไม้จิกไม้ฮัง จั่งมายังเสาเฮือนและเสาแฮก เจ้าจั่งแบกมาหา คันได้มาเก้ากำเก้าศอก เจ้าจั่งบอกเทพาขอเผิ่น มาเป็นโฮงนอนแผ่ ขอมาปลูกให้แม่นอนเย็น นอนกลางเว็นได้เงินหมื่น นอนตื่นให้ได้เงินแสน ทั้งได้แก้วได้แหวนหลายหลาก..."

และอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงโฮงว่า

"...ว่ามาเยอขวัญเอย แป้นแอ้มใหม่คือไม้แดง ตงขางแข็งคือไม้แต้ เอามาแต่เมืองสาละวัน ไม้จันทันและหน้าต่าง วิสุกรรมเป็นซ่างป่อนมาหา ไม้สะยัวหลังคาพระอินทราตกแต่ง เผิ่นจัดแจ่งตงขาง เอามาวางพิงพาด ดูสะอาดโฮงหลวง คนทั้ง ปวงมาโฮมแห่ พวกเฒ่าแก่มาออนวอน มาเฮือนนอนเย็นซุ่ม ใต้เมืองหลุ่มงามหลาย ปานเดือน หงายใสส่อง บ่มีป่องฮูฮอย..." [7]

ในความเชื่อทางไสยศาสตร์ของลาว-อีสาน

ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของหมอดูหรือหมอหูฮา (หมอโหรา) ทางลาว-อีสานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานก้อมหรือหนังสือก้อม ได้มีการกล่าวถึงฤกษ์ยามเรื่องมื้อ-วัน เพื่อการทำการอุดมมงคลสวัสดีต่างๆ ในบ้านเรือน คำว่า มื้อ ส่วนมากหมายเอาทางจันทรคติขึ้นแรม เช่น มื้อ ๑ ค่ำ มื้อ ๒ ค่ำ เป็นต้น ส่วนคำว่า วัน นั้นหมายเอาทางสุริยคติ เช่น อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ เป็นต้น ในตำราหมอดูมื้อ-วัน ได้จัดมื้อ-วัน เป็นโคง (โคลง) เพื่อความสะดวกในการจดจำและเกิดคุณค่าในทางวรรณศิลป์ อาทิ โคงยาม โคงวัน โคงเดือน โคงวันจม โคงวันฟู โคงช้างแก้ว เป็นต้น

ในโคงช้างแก้วได้นำคำว่า โฮง มาใช้เป็นคำโคงบอกฤกษ์ยามมงคลไว้ว่า "...๑ ค่ำ ช้างแก้ว ขึ้นสู่โฮงคำ ๒ ค่ำ ผีฟัง ธรรมป่าช้า ๓ ค่ำ ล้างมือ ถ้าคองกิน ๔ ค่ำนอน ป่วยตีนตากแดด ๕ ค่ำ ผีแวดล้อม ระวังเอา ๖ ค่ำ ลงสะเภา ไปเที่ยวค้า ๗ ค่ำ เคราะห์อยู่ ถ้าเถิงตน ๘ ค่ำ มีคำ กังวลบ่แล้ว ๙ ค่ำ ถืกเสี้ยน พญาราม ๑๐ ค่ำ หาความงาม บ่ได้ ๑๑ ค่ำ ขี้ไฮ้ เกิดเป็นดี ๑๒ ค่ำ บ่ดี สักหยาด ๑๓ ค่ำ ไชยะ ผาบแพ้ชมภู ๑๔ ค่ำ ฝูงศัตรู ปองฆ่า ๑๕ ค่ำ ถืก แม่วายหลวง..."

อนึ่ง โคงช้างแก้วนี้หากจะทำการมงคลใดๆ ก็ดี หรือจะเดินทางไปค้าขายทางไกลก็ดี โบราณว่าให้เลือกเอาวันมื้อดี คือ ดิถี ๑-๖-๑๐-๑๑-๑๓ เมื่อถูกวันดีก็จะสมปรารถนาในการมงคลนั้นๆ ได้[8]

ในคำผญาสมัยปัจจุบัน

พจนานุกรมภาคอีสาน-ภาคกลาง ฉบับปณิธานสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถระ) ให้ความหมายว่า ผญา (ผะหญา) เป็นคำนาม หมายถึง ปัญญา ปรัชญา ความฉลาด คำพูดที่เป็นภาษิตมีความหมายลึกซึ้งในเชิงเปรียบเทียบ หากนำมาพิจารณาความหมายตามหลักแห่งนิรุกติศาสตร์ ผญาตรงกับคำว่า ปรัชญา ในภาษาสันสกฤต และคำว่า ปัญญา ในภาษาบาลี ผญาจึงแปลว่าปัญญาหรือความรอบรู้ ประกอบไปด้วยถ้อยคำอันหลักแหลมลึกซึ้ง นิยมแต่งเป็นคำกลอน เรียกว่า กลอนผญา ซึ่งถือเป็นกลอนพื้นบ้าน บางครั้งหนุ่มสาวก็ใช้ผญาพูดเกี้ยวพาราสีในการแสดงความรัก แต่ไม่กล่าวถึงกันตรง ๆ เป็นเพียงการพูดเลียบเคียงกระทบกระเทียบเปรียบเปรยกันและอาจว่าเป็นกลอนสดก็มี เรียกว่า จ่ายผญา ผญาหลายเรื่องเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นคำหรือข้อความที่ไม่แยบคายแต่สัมผัสลึกซึ้งเป็นคตินิยมเรียกว่า โตงโตย ซึ่งตรงกับคำว่า สำนวน ในภาษาไทย ลาว-อีสานบางแห่งเรียกว่า ยาบซ่วง หรือ วาดเว้า ผญามีลักษณะเป็นข้อความสั้นที่มีเสียงคล้องจองกันอย่างไพเราะ แฝงแง่คิดทางคดีโลกและคดีธรรม นับเป็นถ้อยคำอันเป็นคำพูดของบรรดานักปราชญ์และบัณฑิตชาวลาว-อีสานมาแต่โบราณ[9]

โฮงได้ถูกนำมาใช้ในการจ่ายคำผญาสมัยใหม่หลายบท โดยขึ้นอยู่กับตัวผู้แต่งว่าจะแต่งไปในทำนองใด อาทิ

"...คราวเมื่อพานพบพ้อ จับเข่าเคียงพะนอโภชนังซุมแซง ฮ่วมกะเบียนเดียวต้อมจารนัยขานเว้า ซุมแซวถามไถ่สุขเกษมหลื่นล้น สวรรค์น้อยแล่นโฮมหาเสบียงปลาต้ม ตำแจ่วแพวผักญาติกาภาช์วง หนึ่งเดียวปีครั้งสุขในวังเวียงก้วง หอโฮงบ่เทียมถ่อ สุขในซุมเผ่าเซื้อ มะโนน้อยซุ่มเลิง แท้แหล้ว..." (โดย บ่าวยันต์) [10]

"...เฮือนหอห้อง โฮงซานให้ปัดกวาด อย่าได้หมกเสี่ยงไว้ งูเงี้ยวสิตอดตายอันว่าหญิงสมเซื้อ สิ้นแพรซักตากบ่แม่นถอดถิ่มไว้ คอยถ่าแม่ตนคันญิงไดเฮ็ดได้ บ่อึดซายขอสู่ เจ้าเด้อเวียกการบ้าน ภาชน์ข้าวแต่งแปงแขกไกลใกล้ ไปมาหาสู่พลูหมากแลโอน้ำ ส่งให้ยื่นถวยมีเพียบพร้อม ความงามเป็นขนาดแม่นว่าฮูปฮ่างฮ้าย ก็ควรเข้านั่งแปงผิดกับญิงฮูปเกี้ยง แงงคีงเซ้าค่ำซายได๋ได้นั่งบ้าน คอยมื้อแต่สิจน นั่นแหลว..." (โดย บ่าวเมืองขอน) [11]

"...หล่านางเอ้ยพี่นี้พลัดพรากบ้าน บ่อนอยู่เคยอาศัย ไกลจากโฮงเฮือนหอ มาผ่อตาแลเจ้าหมากกาเลาไกลต้น ตีนโพนเบี้ยพริกห่างนางสิป๋าปล่อยเว้น เวนโค้งบ่อิดู แหน่บ้อตั้งแต่ควายบักตู้ มันยังคู่สาริกา เด้คำพ่อพญาครองเมือง กะจั่งเฮืองหายฮ้อนออนซอนเด้ใจเจ้า บ่มีเงาอ้ายพอหน่อยเหลือแฮงคอยปี่แอ้ สังมาแพ้ฝรั่งดอง นี้นอ..." (โดย บ่าวเมืองขอน)[12]

"...บัดนี้ องค์เอกอ้าย ตนอาจจอมใจสิได้ไลนางแพง ไปสู่โฮงเฮือนเย้า นับแต่ราตรีเข้า เดิกมาข่อนเคิ่ง แล้วเด้จนว่าเดือนอี่เกิ้ง สิหนีฟ้าห่างดาวคราวพี่ไกลจากแล้ว อย่าเอาใหม่เชยซมสมกับอวนเพียรแพง หล่ำเหลียวคอยจ้องคองเด้อหล่า ทันนานพี่สิอ่วยเอาคนสวยฮ่วมห้อง หมอนเทิ้งเน่งนอนตกบาดย้อน สิเจิดเสิ่นคือแหลว..." (โดย บ่าวเมืองขอน)[13]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง