โรคชิคุนกุนย่า

(เปลี่ยนทางจาก Chikungunya)

โรคชิคุนกุนย่า[5][6] (อังกฤษ: Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสชิคุนกุนย่า[3] (อังกฤษ: Chikungunya virus, CHIKV) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดข้อ[2] โดยมักเริ่มมีอาการ 2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3] อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่น เป็นต้น[2] อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อได้อีกหลายเดือนหรือหลายปี[2][7] อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 1,000[4] โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรครุนแรงได้แก่ผู้ป่วยอายุน้อย อายุมาก และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น [2]

โรคชิคุนกุนย่า
(Chikungunya)
ผื่นที่พบในผู้ป่วยโรคชิคุนกุนย่า
การออกเสียง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, ปวดข้อ[2]
ภาวะแทรกซ้อนปวดข้อเรื้อรัง[2]
การตั้งต้น2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3]
ระยะดำเนินโรคส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 สัปดาห์[2]
สาเหตุไวรัสชิคุนกุนย่า (CHIKV) มียุงลายเป็นพาหะ[3]
วิธีวินิจฉัยตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดี[3]
โรคอื่นที่คล้ายกันไข้เด็งกี, ไข้ซิกา[3]
การป้องกันการควบคุมยุง, หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด[4]
การรักษารักษาตามอาการ[3]
พยากรณ์โรคอัตราการเสียชีวิต ≈ 1 ใน 1,000[4]
ความชุก> 1 ล้าน (2014)[3]

โรคนี้มียุงเป็นพาหะที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus)[3] ซึ่งมักออกดูดเลือดในเวลากลางวัน[8] สัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติของเชื้อนี้มีหลายชนิดรวมไปถึงนกและหนูด้วย[3] การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดีต่อไวรัส[3] อาการของโรคนี้คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเดงกีและไข้ซิกา[3] ปัจจุบันเชื่อกันว่าผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ[2]

วิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการควบคุมยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัด[4] อาจทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ได้แก่ บริเวณที่มีน้ำขัง) ใช้ยาฆ่าแมลง และใช้มุ้ง[3] ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ[3] การรักษาทำโดยการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้พักผ่อน ให้สารน้ำ และยาแก้ปวดลดไข้[3][2]

โรคนี้ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและเอเชีย แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาก็พบระบาดปะทุเป็นครั้ง ๆ ในยุโรปและอเมริกาอยู่บ้าง[3] ใน ค.ศ. 2014 ทั่วโลกมีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรคนี้มากกว่า 1 ล้านคน[3] ในสหรัฐเคยมีโรคนี้ระบาดในฟลอริดาและสหรัฐแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 2014 แต่หลังจาก ค.ศ. 2016 เป็นต้นมาก็ไม่พบระบาดแล้ว[9][10] ต้นกำเนิดของไวรัสชิคุนกุนยามาจากทวีปแอฟริกา โดยพบเมื่อ ค.ศ. 1952 บริเวณตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย[3] ตั้งชื่อตามรากคำกริยา kungunyala ในภาษามากอนดี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในบริเวณที่พบครั้งแรก แปลว่าทำตัวงอหรือโค้ง ตามอาการของผู้ป่วยที่อาจปวดข้อมากจนตัวงอ[3] ในประเทศไทยโรคชิคุนกุนยาถูกพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) โดยนายแพทย์วิลเลียม แม็กโดเวลล์ แฮมมอน (William McDowell Hammon) ได้ทำการแยกเชื้อจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ และต่อมาได้มีการระบาดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ จ.ปราจีนบุรี, สุรินทร์, ขอนแก่น, เลย และพะเยา, นครศรีธรรมราช และหนองคาย[11]

อาการและอาการแสดงของไวรัส

การติดเชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวของเชื้อ (incubation period) 2–4 วัน ทำให้มีไข้ประมาณ 40 องศาเซลเซียส และมีจุดเลือดออกหรือผื่นแดง (petechial or maculopapular rash) ในบริเวณลำตัวและอาจเกิดในบริเวณแขนและขาด้วย และมีอาการปวดข้อในหลาย ๆ ข้อ[12] อาการอื่น ๆ อาจรวมการปวดหัว (headache) เยื่อตาอักเสบหรือติดเชื้อ (conjunctival infection) และแพ้แสงเล็กน้อย (slight photophobia) โดยปกติไข้จะมีอยู่ประมาณ 2 วัน และหายไข้โดยทันที อาการอื่น ๆ เช่น การปวดข้อ, การปวดหัวอย่างรุนแรง, นอนไม่หลับ ฯลฯ จะเป็นอยู่นานกว่าอาการไข้ คือตั้งแต่ 5–7 วัน [12] ทั้งนี้อาการปวดข้อของผู้ป่วยยังขึ้นกับอายุของผู้ป่วยด้วย[13][14]

การวินิจฉัยโรค

มักใช้การวินิจฉัยโดยกระบวนการ RT-PCR การแยกเชื้อไวรัส (virus isolation) และ การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological tests)

  • การแยกเชื้อไวรัสจะให้ผลที่แม่นยำที่สุด แต่ใช้เวลาถึง 1–2 สัปดาห์ และต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการระดับ 3 (biosafety level 3 laboratories) [15] โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อ
  • RT-PCR โดยใช้ nested primer pairs เพื่อเพิ่มจำนวน (amplify) ยีนจำเพาะของเชื้อไวรัสจากเลือด โดยจะได้ผลการตรวจใน 1–2 วัน[15]
  • การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological diagnosis) ต้องใช้เลือดผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีอีไลซา (ELISA) เพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดี-M ต่อเชื้อชิคุนกุนยา (Chikungunya-specific IgM levels) โดยใช้เวลา 2–3 วัน สามารถที่จะให้ผลบวกปลอม (false positives) ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีแอนติบอดีต่อ ไวรัส O'nyong'nyong และไวรัส Semliki Forest[15]

การป้องกันโรค

วิธีในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดและการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ติดมุ้งลวดตามที่อยู่อาศัย ใส่เสื่อผ้าที่มิดชิด อาจใช้ยากันยุงที่มีสารไล่แมลง เช่น DEET (N,N-Diethyl-meta-toluamide; หรือที่รู้จักในชื่อสูตร N,N'-Diethyl-3-methylbenzamide หรือ NNDB), icaridin (picaridin หรือ KBR3023), PMD (p-menthane-3,8-diol, สารสกัดจากต้นเลมอนยูคาลิปตัส), หรือ IR3535 เป็นต้น ทั้งนี้สารพวกไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงก็มีฤทธิ์ในการไล่แมลงได้ด้วย เช่น สารกลุ่มไพรีทรอยด์แบบระเหิด (ที่ใส่ในขดยากันยุง) เป็นต้น

การรักษา

ทั้งนี้ ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาโดยเฉพาะ โดยจากการทดลองในสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อจะเกิดการต้านทานต่อวัคซีน[16]

ยาคลอโรควิน (Chloroquine) สามารถช่วยควบคุมการเกิดกลุ่มอาการจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้ และช่วยลดการอักเสบในข้อต่าง ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้กับผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ เท่านั้น (ยังไม่จัดเป็นยาที่รักษาจำเพาะต่อเชื้อนี้) ทั้งนี้มีรายงานว่าไม่ควรใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, นาพรอกเซน และกลุ่มเอ็นเสด ชนิดอื่น ๆ ที่ใช้กับอาการปวดและมีไข้ในโรคอื่น ๆ ด้วย

พยากรณ์โรค

การหายจากโรคจะขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะหายภายใน 5–15 วัน ผู้ป่วยวัยกลางคนจะหายภายใน 1–2.5 เดือน คือ ยิ่งอายุมากยิ่งหายจากอาการของโรคช้านั่นเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับความรุนแรงของอาการของโรคด้วย ซึ่งผู้ที่อายุน้อยและสตรีที่ตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า

ตาอักเสบ (Ocular inflammation) แบบ iridocyclitis และอาจเกิดแผลที่เรตินาได้[17]

ขาบวม (Pedal oedema) สามารถพบได้ แต่ยังไม่ทราบความเกี่ยวข้องกับโรคแน่ชัด เพราะโรคไม่ได้มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ตับ หรือไต แต่ประการใด

วิทยาการระบาด

ไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในสกุลแอลฟาไวรัส (alphavirus) คล้ายกับไวรัส O'nyong'nyong[18] ไวรัส Ross River ในออสเตรเลีย และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบชนิด eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis[19]

ยุง Aedes aegypti กำลังกัดผิวมนุษย์

โดยปรกติเชื้อจะแพร่โดยยุง Aedes aegypti แต่จากการค้นคว้าของสถาบันปาสเตอร์ในปารีสกล่าวว่า ไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ที่ระบาดในปี 2005–2006 บริเวณเกาะเรอูว์นียง ได้เกิดการผ่าเหล่าซึ่งทำให้สามารถถ่ายทอดได้โดยยุงเสือ (Aedes albopictus)[20] ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโรคที่มีแมลงเป็นพาหะที่ University of Texas Medical Branch ในกัลเวสตัน เท็กซัส ได้ยืนยันในการผ่าเหล่านี้ว่าเกิดจากการกลายเฉพาะจุดในยีนเอนเวโลป (envelope genes) E1[21][22] การผ่าเหล่านี้ทำให้การระบาดสามารถขยายวงกว้างไปสู่บริเวณที่มียุงเสือด้วย

ในแอฟริกา เชื้อจะระบาดแบบวงจรการติดต่อในป่า (sylvatic cycle) คือเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ในอันดับไพรเมต และถ่ายทอดวนมาสู่คน[19]

วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ในจังหวัดตรัง ซึ่งไวรัสชิคุนกุนยาระบาดมากในภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในหมู่ทหาร แพทย์โรงพยาบาลจังหวัดตรังทำคลอดก่อนกำหนดให้แก่ผู้ติดไวรัสนี้ เนื่องจากเกรงการส่งผ่านเชื้อระหว่างมารดาสู่ทารก อย่างไรก็ดี เมื่อผ่าตัดทำคลอดนำทารกเพศชายออกมาได้โดยปลอดภัยแล้วกลับพบว่าทารกก็ติดไวรัสนี้ด้วย โดยมีอาการไม่สามารถหายใจเองได้และไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์จึงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสันนิษฐานว่าไวรัสชิคุนกุนยาสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันจากห้องปฏิบัติการถึงข้อสันนิษฐานนี้[23]

การใช้เป็นอาวุธชีวภาพ

ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกโปรแกรมการสร้างอาวุธชีวภาพนั้น เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาก็เป็นเชื้อโรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นเชื้อที่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้[24]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร