การทลายคุกบัสตีย์

การทลายคุกบัสตีย์[3] (ฝรั่งเศส: Prise de la Bastille; อังกฤษ: Fall of the Bastille) คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ณ บัสตีย์ ซึ่งเป็นป้อมปราการและเรือนจำที่สร้างขึ้นในยุคกลาง ตั้งอยู่ ณ ใจกลางกรุงปารีส ราชอาณาจักรฝรั่งเศส แม้ในเวลานั้นจะมีนักโทษอยู่เพียงเจ็ดคน แต่สถานที่แห่งนี้ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบและเกินขอบเขตของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเหตุการณ์นี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส

การทลายคุกบัสตีย์
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติฝรั่งเศส

ภาพวาดการทลายคุกบัสตีย์ วาดโดยฌ็อง-ปีแยร์ หลุยส์ โลร็อง อูแอล
วันที่14 กรกฎาคม 1789; 234 ปีก่อน (1789-07-14)
สถานที่48°51′11″N 2°22′09″E / 48.85306°N 2.36917°E / 48.85306; 2.36917
ผล

ชัยชนะของฝ่ายกบฏ

คู่สงคราม
ปารีส กองกำลังประชาชน
กองกำลังราชองค์รักษ์ฝรั่งเศส
ราชสำนักฝรั่งเศส
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
Pierre Hulin*[1]
Stanislas Maillard
Jacob Élie[2]
แบร์นาร์-เรอเน จอร์แดน เดอ โลนาย โทษประหารชีวิต
กำลัง
กองกำลังติดอาวุธของประชาชน 688-1,000 นาย; กองกำลังราชองค์รักษ์ฝรั่งเศส 61 นาย; ปืนใหญ่อย่างน้อย 5 กระบอกทหาร 114 นาย (ทหารผ่านศึก 82 นาย ทหารสวิสของกอง Salis-Samade 32 นาย); ปืนใหญ่ 30 กระบอก
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 93 ราย เสียชีวิตจากบาดแผล 15 ราย บาดเจ็บ 73 รายเสียชีวิตในการต่อสู้ 1 ราย; ถูกจับ 113 ราย (เสียชีวิต 6-8 คนหลังจากถูกจับ)

การทลายคุกบัสตีย์ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ซึ่งวันดังกล่าวได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เรียกว่า วันบัสตีย์ (Bastille Day) หรือเป็นที่รู้จักในประเทศฝรั่งเศสว่า วันที่สิบสี่กรกฎาคม (ฝรั่งเศส: Le quatorze juillet) และเดิมเรียกว่า วันเฉลิมฉลองสหพันธรัฐ (ฝรั่งเศส: Fête de la Fédération)

ประวัติ

ในช่วงรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ฝรั่งเศสเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาระทางการเงินจากการสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกาของฝรั่งเศส และผลพวงจากระบบการจัดเก็บภาษีอากรในอัตราถดถอย ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 การประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1789 ถูกจัดขึ้นเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ แต่การประชุมกลับถูกยื้อไว้ด้วยขนบจารีตอันโบราณและแนวคิดอนุรักษนิยมของฐานันดรที่สอง แม้ว่าฐานันดรที่สองจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับประชากรชาวฝรั่งเศสในขณะนั้นก็ตาม ต่อมาซามูเอล โชเมต์ ผู้บัญชาการกรมที่ทหารที่ 14 แห่งกองทัพราชอาณาจักรฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้ละทิ้งตำแหน่งราชการและเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1789 ฐานันดรที่สาม พร้อมด้วยคณะผู้แทนราษฎรจากสามัญชน สถาปนาตนเองขึ้นเป็น สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ที่มีจุดมุ่งหมายในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสขึ้นมา ซึ่งในช่วงแรกพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่ทรงเห็นด้วยกับความริเริ่มดังกล่าว แต่ก็ทรงถูกบังคับให้ยอมรับในอำนาจหน้าที่ของสมัชชาแห่งชาติ ที่ซึ่งเปลี่ยนไปเป็น สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (National Constituent Assembly) ในวันที่ 9 กรกฎาคม

เหล่าสามัญชนได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของประชาชน (ฝรั่งเศส: Garde Nationale) พร้อมประดับริบบิ้นวงกลมสามสี กอการ์ด (ฝรั่งเศส: cocardes) ที่ประกอบไปด้วยสีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง อันเกิดจากการรวมริบบิ้นกอการ์ดส์สีน้ำเงิน-แดงของกรุงปารีสเข้ากับริบบิ้นกอการ์ดส์สีขาวของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ริบบิ้นกอการ์ดส์เหล่านี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ จนในที่สุดได้ถูกนำมาใช้เป็นธงไตรรงค์ เลอ ตรีกอลอร์ ของฝรั่งเศสในที่สุด

กรุงปารีสเกือบเข้าสู่สภาวะจลาจลจากคำกล่าวของฟร็องซัว มิเญต์ "กรุงปารีสปนเปื้อนไปด้วยเสรีภาพและความกระตือรือร้น"[4] แสดงให้เห็นแรงสนับสนุนสภาร่างรัฐธรรมนูญฯ เป็นวงกว้าง ทุกวันสื่อมีการรายงานการโต้เถียงในสภาฯ จนการโต้เถียงดังกล่าวขยายวงออกมานอกสภาฯ สู่สาธารณชนตามจัตุรัสสาธารณะและศาลาว่าการเมือง ต่อมาพระราชวังหลวงถูกใช้เป็นสถานที่พบปะและจัดการประชุมนับครั้งไม่ถ้วน ฝูงชนได้ถือโอกาสการเข้าไปประชุม ณ พระราชวังหลวง บุกเข้าไปยังเรือนจำปรีซง เดอ ลาบ์เบย์ เพื่อปล่อยตัวพลทหารบกของกองกำลังราชองค์รักษ์ฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Gardes Françaises) ที่ถูกคุมขังเนื่องจากปฏิเสธคำสั่งยิงเข้าใส่ฝูงชน ซึ่งสมาชิกสภาฯ ถวายคำแนะนำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเมตตาพลทหารเหล่านี้ ส่งผลให้ต่อมาทั้งหมดถูกนำตัวกลับไปคุมขังเช่นเดิมและได้รับพระราชทานอภัยโทษในที่สุด แสดงให้เห็นว่ากองทัพของชาติที่ในอดีตขึ้นตรงแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มหันเข้าหาฝ่ายสาธารณชนมากขึ้น

การปลดแนแกร์

ฌัก แนแกร์ ผู้กำกับราชการพระคลังฝรั่งเศส

ในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผู้ซึ่งดำรงพระราชอำนาจภายใต้อิทธิพลของเหล่าขุนนางหัวอนุรักษนิยมจากสภาองคมนตรีของพระองค์เอง มีพระราชโองการถอดถอนฌัก แนแกร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของพระองค์ ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อฐานันดรที่สาม หลังจากที่เขาได้ปฏิรูปรื้อโครงสร้างการบริหารงานในกระทรวงของตนขึ้นใหม่ ทั้งนี้พระเจ้าหลุยส์ทรงวางกองกำลังป้องกันไว้ทั้งที่พระราชวังแวร์ซาย เทศบาลเซเวรอส์ เทศบาลแซ็ง-เดอนี และสวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส จากนั้นทรงแต่งตั้งวิกตอร์-ฟร็องซัว ดยุกแห่งบรอกลี ดยุกแห่งลากาลิซ็องนีแยร์ ดยุกแห่งโว-กวียง บารงหลุยส์แห่งเบรอเตย และข้าหลวงประจำราชสำนักฌอแซฟ ฟูลง ทดแทนในตำแหน่งของปิเซเกอร์ อาร์ม็งด์ มาร์ก เคาน์แห่งม็งต์มอแร็ง ดยุกแห่งลาลูแซร์น แซ็งต์-ปรีสต์ และฌัก แนแกร์ ตามลำดับ

ข่าวการถอดถอนแนแกร์ออกจากตำแหน่งมาถึงยังกรุงปารีสในบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม ชาวปารีสส่วนมากสันนิษฐานว่าการถอดถอนดังกล่าวหมายถึงจุดเริ่มต้นของการรัฐประหารโดยฝ่ายอนุรักษนิยม ชาวปารีสฝ่ายเสรีนิยมยังรู้สึกกราดเกรี้ยวจากความกลัวที่ว่าการโยกกองทหารหลวงมาประจำการ ณ แวร์ซาย คือความพยายามในการล้มล้างสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติซึ่งประชุมกัน ณ วังแวร์ซาย ฝูงชนรวมตัวกันทั่วกรุงปารีส และรวมตัวกันมากกว่าหนึ่งหมื่นคนบริเวณพระราชวังหลวง กามีย์ เดมูแล็งประสบความสำเร็จในการปลุกระดมฝูงชนด้วยการร้องป่าวประกาศว่า ราษฎรทั้งหลาย! จะมัวเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว สำหรับผู้รักชาติ การปลดแนแกร์มันก็คือเสียงระฆังลางร้ายของวันเซนต์บาโทโลมิวนี่เอง คืนนี้ ทหารสวิสและเยอรมันทั้งหมดจะเคลื่อนพลออกจากลานช็องเดอมาร์สมาฆ่าพวกเราตายหมด ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ คือจับอาวุธ![4] ซึ่งพลทหารสวิสและเยอรมันคือหนึ่งในกองกำลังทหารรับจ้างชาวต่างชาติที่มีสัดส่วนไม่น้อยในกองทัพราชอาณาจักรฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ และถูกมองว่ามีแนวโน้มที่จะเข้าข้างฝ่ายสามัญชนน้อยกว่าพลทหารทั่วไปในกองทัพฝรั่งเศส ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ประมาณการกันว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนพลทหาร 25,000 นายในกรุงปารีสและแวร์ซายถูกโยกย้ายมาจากกองกำลังทหารต่างชาตินี้

ระหว่างการเดินขบวนประท้วงตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม ฝูงชนยังได้แสดงประติมากรรมครึ่งตัวของแนแกร์และหลุยส์ ฟิลิปที่ 2 ดยุกแห่งออร์เลอ็องไปตามท้องถนนพร้อมกับเดินขบวน โดยเริ่มตั้งแต่พระราชวังหลวง จากนั้นผ่านเขตโรงละครไปตามแนวถนนทิศตะวันตก จนทำให้ฝูงชนเข้าปะทะกับกองทหารหลวงเยอรมัน (รัวยาล-อัลเลอม็องด์) บริเวณระหว่างปลัสว็องโดม (ฝรั่งเศส: Place Vendôme) กับพระราชวังตุยเลอรี ส่วนเหตุการณ์บริเวณหัวถนนช็องเซลีเซ เจ้าชายแห่งล็องเบสก์นำกองทหารม้าเข้าปะทะขับไล่ฝูงชนที่เหลืออยู่บริเวณปลัสหลุยส์แก็งซ์ (ปัจจุบันคือปลัสเดอลากงกอร์ด; ฝรั่งเศส: Place de la Concorde)[5] ด้านผู้บัญชาการกองทัพหลวง บารงแห่งเบซ็องวัล เกรงว่าจะเกิดเหตุนองเลือดในหมู่ฝูงชนผู้ติดอาวุธตนเองมาอย่างแย่ ๆ และกลัวว่าพลทหารในกองของตนจะแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝูงชน จึงตัดสินใจถอนกองกำลังกลับสู่เขตเทศบาลเซเวรอส์อันเป็นฐานที่มั่น ในขณะเดียวกันนั้นเองที่เหตุการณ์ความไม่สงบทวีความรุนแรงขึ้นในหมู่ชาวปารีสผู้ไม่พอใจการใช้อำนาจของรัฐบาล โดยฝูงชนกลุ่มดังกล่าวบุกเข้าทำลายทรัพย์สินภายในสำนักงานศุลกากร เนื่องจากกล่าวโทษกันว่าสำนักงานศุลกากรเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคาอาหารและไวน์สูงขึ้น ต่อมาชาวปารีสเริ่มเข้าปล้นสะดมสถานที่ใดก็ตามที่มีอาหาร อาวุธปืน หรือเสบียงอื่น ๆ กักตุนเอาไว้ ในคืนนั้นเองที่ข่าวลือแพร่สะพัดออกไปว่าเสบียงกองใหญ่ถูกกักตุนไว้ในแซ็ง-ลาซาร์ เคหสถานอันโอ่อ่าของนักบวชซึ่งถูกใช้เป็นอารามแม่ชี โรงพยาบาล โรงเรียน หรือแม้กระทั่งคุก ส่งผลให้ฝูงชนผู้โกรธเกรี้ยวบุกทลายและเข้าปล้นสะดมเคหสถานดังกล่าว จนสามารถยึดเอาข้าวสาลีได้จำนวน 52 เล่มเกวียน ก่อนจะถูกนำไปจำหน่าย ณ ตลาดสดในวันต่อมา และวันเดียวกันนั้นเองที่ฝูงชนเข้าปล้นสะดมสถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งรวมทั้งคลังแสงอาวุธ โดยกองทัพหลวงไม่ได้เข้าระงับเหตุความวุ่นวายในสังคมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้นแต่อย่างใด[6]

ความขัดแย้งลุกลาม

ป้อมบัสตีย์แห่งปารีสช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส

กองกำลังราชองครักษ์ตั้งหลักอย่างถาวรอยู่ในกรุงปารีส โดยมีท่าทีที่เป็นมิตรและเข้ากับฝ่ายประชาชนชาวปารีส ซึ่งในช่วงต้นของเหตุความไม่สงบที่เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม กองกำลังนี้ยังคงประจำการอยู่ ณ ค่ายทหารของตน ในขณะที่ตามท้องถนนของกรุงปารีสเต็มไปด้วยความวุ่นวายจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ ด้านชาลส์ เออแฌน เจ้าชายแห่งล็องเบสก์ (จอมพลผู้ประจำการ ณ ค่ายทหารดังกล่าว และผู้บังคับบัญชากองทหารม้าหลวงรัวยาล-อัลเลอม็องด์) ไม่ไว้ใจว่านายทหารในกองนี้จะเชื่อฟังคำบังคับบัญชา จึงตัดสินใจโยกพลทหารม้าจำนวนหกสิบนายไปประจำอยู่ ณ กองบัญชาการใหญ่ในถนนลาโชเซด็องแตง และนี่นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความพยายามป้องกันเหตุความไม่สงบของผู้บังคับบัญชาลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โต นายทหารจำนวนหนึ่งจากกองกำลังราชองครักษ์พยายามเดินขบวนปลุกระดมแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ฝ่ายฝูงชนจึงเริ่มจัดตั้งกองกำลังฝึกฝนของตนขึ้นเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป เหล่าผู้บังคับบัญชาในกองทัพหลวงจึงเริ่มตั้งค่ายกัน ณ สวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส พร้อมทั้งยังรู้สึกเคลือบแคลงว่าจะสามารถไว้วางใจกองกำลังทหารรับจ้างชาวต่างชาติได้หรือไม่ โดยในเหตุการณ์นี้ หลุยส์-ฟีลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (ผู้เสวยราชย์ขึ้นเป็น กษัตริย์ประชาชน ในอนาคต) ก็อยู่ร่วมเป็นสักขีพยานอยู่ด้วย โดยเขาเป็นเพียงพลทหารหนุ่มที่มีความคิดเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้เขายังแสดงทรรศนะถึงอดีตด้วยว่าพลทหารราชองครักษ์ฝรั่งเศสละทิ้งภาระหน้าที่ของตนในช่วงก่อนเหตุความไม่สงบ ปล่อยให้กองทหารถูกควบคุมโดยนายทหารชั้นประทวนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะความเป็นผู้นำของบารงแห่งเบซ็องวัลที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้พระราชอำนาจในการปกครองกรุงปารีสของพระเจ้าหลุยส์เสมือนว่าถูกล้มเลิกไปชั่วคราว ในขณะที่ฝ่ายสามัญชนมีการจัดตั้ง กองทหารกระฎุมพี (bourgeois militia) ขึ้นมาควบคุมเหตุจลาจลทั่วทั้งเขตเลือกตั้งทั้งหกสิบเขตของกรุงปารีสแทน

การทลายคุก

การจับกุมเดอโลเนย์ โดย ฌ็อง-บาติสต์ ลาลเลอม็งด์ ค.ศ. 1790
ภาพวาดการจับกุมเดอโลเนย์โดยศิลปินนิรนาม โดยการวิเคราะห์มุมมองและองศาของภาพในปีค.ศ. 2013 พบว่า แท้ที่จริงแล้วตัวหอคอยของป้อมไม่ได้สูงโดดเด่นดังที่ปรากฏในภาพ แต่มีความสูงเทียบเคียงพอๆ กับอาคารบ้านเรือนในละแวกนั้น[7]

ในเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 กรุงปารีสตกอยู่ในสภาวะความไม่สงบ ผู้สนับสนุนฐานันดรที่สามในฝรั่งเศสตกอยู่ในการปกครองของกองทหารกระฎุมพีแห่งปารีส (ภายหลังกลายไปเป็นกองกำลังติดอาวุธของประชาชน; ฝรั่งเศส: Garde Nationale) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้บุกปล้นสะดม ออแตลเดแซ็งวาลีด (ฝรั่งเศส: Hôtel des Invalides) ยึดเอาอาวุธ (เช่น ปืนคาบศิลาจำนวน 29,000 - 32,000 กระบอก แต่ไม่มีดินปืนหรือกระสุน) และกำลังพยายามบุกเข้าไปยังป้อมบัสตีย์เพื่อชิงเอาอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติม เช่น ดินปืน ซึ่งมีมากถึง 13.6 ตันถูกเก็บรักษาเอาไว้ภายในป้อม

ณ ช่วงเวลานั้น คุกภายในป้อมบัสตีย์แทบจะไม่มีนักโทษหลงเหลืออยู่แล้ว มีเพียงนักโทษชราถูกคุมขังเพียง 7 คนเท่านั้น[8] ตามบันทึกระบุว่านักโทษทั้งเจ็ดคนได้แก่ ผู้ต้องหาปลอมแปลงเอกสาร 4 คน ผู้วิกลจริต 2 คน และขุนนางผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากพวกพ้อง 1 คน คือ เคาน์แห่งโซลาจ (ก่อนหน้านี้มาร์กี เดอ ซาด พึ่งจะถูกโยกย้ายออกไปจากคุกได้เพียงสิบวัน) ด้วยค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงรักษาป้อมปราการแห่งนี้ไม่คุ้มเสียกับประโยชน์การใช้งานที่มีอยู่จำกัด ทำให้รัฐบาลตัดสินใจปิดป้อมแห่งนี้ไม่นานก่อนเกิดเหตุความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม ป้อมบัสตีย์ยังคงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเผด็จการของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

พลทหารที่ประจำอยู่ ณ ป้อมบัสตีย์โดยปกติมีทั้งสิ้น 82 นาย (ทั้งหมดเป็นนายทหาร แอ็งวาลีด; ฝรั่งเศส: invalides; พลทหารผ่านศึกผู้ไม่เหมาะสมกับการสู้รบอีกต่อไป ด้วยเหตุผลทางกายภาพที่อาจจะได้รับบาดเจ็บจนพิการหรือทุพพลภาพ)[9] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 กรกฎาคม มีการเสริมกำลังด้วยพลทหารรักษาพระองค์จำนวน 32 นาย จากกองทหารซาลิ-ซามาดของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเดิมประจำการอยู่ ณ สวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส มีการเสริมกำลังปืนใหญ่น้ำหนัก 8 ปอนด์ ตามกำแพงของป้อมจำนวน 8 กระบอก และปืนใหญ่ขนาดเล็ก 12 กระบอก โดยมีผู้บัญชาการสูงสุดประจำป้อมคือ แบร์นาร์ด-เรอเน เดอ โลเนย์ บุตรชายชองผู้บัญชาการคนก่อนหน้า และเกิดภายในป้อมบัสตีย์แห่งนี้

รายชื่อของ แว็งเกอเดอลาบัสตีย์ (ฝรั่งเศส: vainqueurs de la Bastille; ผู้ทลายคุกบัสตีย์) ตามบันทึกมีจำนวนทั้งสิ้น 954 ราย[10] ซึ่งหากรวมฝูงชนผู้ร่วมการทลายคุกแล้ว จำนวนผู้ทลายคุกทั้งหมดก็ยังคงไม่เกิน 1,000 คน เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อฝูงชนรวมตัวกันในช่วงเช้า เรียกร้องให้นายทหารประจำป้อมยอมจำนน เคลื่อนย้ายปืนใหญ่ออกไป และยอมมอบอาวุธรวมถึงดินปืนให้แก่ฝ่ายประชาชน ฝ่ายทหารได้เชิญตัวแทนสองคนเข้าไปเจรจาภายในป้อมและเชิญตัวแทนอีกกลุ่มเข้าไปในช่วงเที่ยง การเจรจาดำเนินไปอย่างยืดเยื้อในขณะที่ฝูงชนเริ่มหมดความอดทน จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น. ฝูงชนกรูกันเข้าไปบริเวณลานด้านนอกของป้อมซึ่งไม่ได้มีการป้องกันเอาไว้ ทำให้ฝ่ายพลทหารของป้อมตัดสินใจตัดสายโซ่ของสะพานชัก เพื่อป้องกันไม่ให้ฝูงชนบุกเข้าถึงส่วนในของป้อมได้ ส่งผลให้ตัวสะพานหล่นทับผู้ร่วมทลายคุกรายหนึ่งและนำมาสู่การยิงต่อสู้ในที่สุด มีการเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นเล่าว่าผู้บัญชาการป้อม (เดอโลเนย์) สั่งให้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่ฝูงชน คร่าชีวิตเด็ก สตรี และผู้ประท้วงคนอื่นๆ ไปหลายคน จึงทำให้การประท้วงเปลี่ยนไปเป็นการจลาจลบริเวณรอบ ๆ ป้อมบัสตีย์ นอกจากนี้ฝูงชนยังรู้สึกว่าตนถูกหลอกล่อให้ติดกับของฝ่ายทหาร ทำให้การต่อสู้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนพยายามยุติการยิงต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ถูกเพิกเฉยโดยกลุ่มฝูงชนผู้ทลายคุก

ภาพร่างของการทลายคุกบัสตีย์ ค.ศ. 1789

การต่อสู้ยังคงดำเนินไปจนกระทั่งเวลา 15.00 น. เมื่อมีการเสริมกำลังจากกองกำลังราชองครักษ์ การ์ดฟร็องเซ ผู้ก่อกบฏและกลุ่มนายทหารผู้แปรพักตร์จำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยปืนใหญ่สองกระบอก ซึ่งกองกำลังของกองทัพบกหลวงแห่งฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ใกล้เคียง ณ สวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส ไม่ได้เข้าทำการแทรกแซงหรือให้การช่วยเหลือฝ่ายของเดอโลเนย์แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุสังหารหมู่ของทั้งสองฝ่ายเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น เดอโลเนย์จึงตัดสินใจหยุดยิงและส่งจดหมายยื่นข้อเสนอของเขาแก่ฝูงชนผ่านช่องว่างของประตูป้อมด้านใน ฝูงชนปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แม้กระนั้นเอง เดอโลเนย์ก็ยังคงตัดสินใจที่จะยอมจำนน เนื่องจากตระหนักได้ว่ากองทหารของเขาจะไม่สามารถยื้อการสู้รบได้นานกว่านี้ เดโลเนย์เปิดประตูป้อม ฝูงชนต่างแห่กรูเข้าสู่ลานด้านในและปลดปล่อยคุกบัสตีย์ได้สำเร็จเมื่อเวลา 17.30 น.

ฝ่ายผู้ทลายคุก 94 ราย และนายทหาร 1 นาย เสียชีวิตในการต่อสู้ที่เกิดขึ้น เดอโลเนย์ถูกจับกุมตัวและถูกลากไปตามท้องถนนมุ่งสู่ออแตลเดอวีล พร้อมกับมีการด่าทอและทารุณกรรมไปตลอดเส้นทาง ภายนอกออแตลเดอวีล มีการถกเถียงถึงชะตากรรมของเดอโลเนย์ต่อจากนี้ไป ทำให้เดอโลเนย์ผู้ถูกทารุณจนอาการสาหัสตะโกนขึ้นว่า "พอได้แล้ว! ให้ฉันตายเถอะ!"[11] และเตะพ่อครัวทำขนมนามว่าดูเลต์เข้าที่หน้าแข้ง จากนั้นเดอโลเนย์จึงถูกแทงซ้ำไปซ้ำมาก่อนที่จะล้มลงในที่สุด ก่อนที่ฝูงชนจะเลื่อยศีรษะของเขานำมาเสียบเข้ากับหอกหลาวและนำไปตระเวนแห่ตามท้องถนนของกรุงปารีส พลทหารประจำป้อมอีกสามนายก็ถูกสังหารโดยฝูงชนด้วยเช่นกัน นายตำรวจที่รอดชีวิตมาได้รายงานรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนพลทหาร แอ็งแวลิด ประจำป้อมสองนายถูกรุมประชาทัณฑ์ ในขณะที่พลทหารสวิสจากกองทหารซาลิ-ซามาด ได้รับการปกป้องจากกองกำลัง การ์ดฟร็องเซ และถูกปล่อยตัวกลับสู่กองทหารของพวกตน มีเพียงนายทหารสองนายจากกองทหารนี้ที่ถูกสังหาร ผู้บังคับบัญชาของพวกเขา พลโทหลุยส์เดอฟลู เขียนรายงานถึงรายละเอียดในเหตุการณ์ดังกล่าว และรวมมันเข้ากับสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำกองทหารซาลิ-ซามาด การเสียชีวิตของเดอโลเนย์นับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง (และอาจไม่ยุติธรรมสำหรับเขา) แต่กระนั้นเดอฟลูก็ยังคงกล่าวโทษว่าเดอโลเนย์อ่อนแอและบกพร่องในการเป็นผู้นำที่เฉียบขาด นอกจากนี้ยังมีการกล่าวโทษอีกว่าสาเหตุที่ทำให้ป้อมถูกทลายได้สำเร็จเป็นเพราะความเฉื่อยชาของผู้บัญชาการกองทัพบกหลวงแห่งฝรั่งเศสที่ประจำอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ที่ไม่พยายามเข้าสนับสนุนกองกำลังของเดอโลเนย์ ณ ป้อมบัสตีย์ หรือออแตลเดแซ็งแวลิดที่กำลังถูกโจมตีจากฝูงชน

ต่อมากลุ่มฝูงชนผู้ก่อจลาจลเดินทางกลับไปยังออแตลเดอวีล และกล่าวหาว่า เพรโวเดมาร์ช็อง (นายกเทศมนตรี) ฌัก เดอ เฟลสเซลล์ ทำการทรยศต่อประเทศชาติ โดยเขาถูกลอบสังหารขณะถูกนำตัวไปพิจารณาคดี ณ พระราชวังหลวง

ผลกระทบที่ตามมา

ซ็ง-กูโลตต์ (ชนชั้นล่างของฝรั่งเศส) สวมหมวกแก็ปฟรีเจียนอันโด่งดังประดับด้วยริบบิ้นสามสี ตรีกอลอร์ กอการ์ด
ปลัสเดอลาบัสตีย์และเสาแห่งเดือนกรกฎาคม (โกโลนเดอฌูเยต์) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของป้อมบัสตีย์

ในเช้าวันต่อมา ดยุกแห่งลารอเชฟูโกด์นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระองค์ตรัสถามว่า "นี่คือการก่อกำเริบหรือ" ในขณะที่ลารอเชฟูโกด์ทูลกลับไปว่า "มิใช่ขอรับ นี่มิใช่การก่อกำเริบ นี่คือ การปฏิวัติ"[12]

พลเมืองชาวปารีสคาดการณ์ว่าจะมีการโจมตีตอบโต้ จึงทำการยึดฐานที่มั่นตามท้องถนน ก่อกำแพงหินกำบัง และติดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ โดยเฉพาะหอกไม้เหลาจำนวนมาก ในขณะที่แวร์ซาย สมัชชาแห่งชาติยังคงไม่รับรู้ถึงเหตุการณ์ในปารีส แต่ระแวดระวังว่านายพลเดอบรอกลีอาจนำกองทหารฝ่ายกษัตริย์นิยมก่อรัฐประหาร และบังคับให้สมัชชาฯ รับพระราชโองการวันที่ 23 มิถุนายน[13] จากนั้นจึงจะยุบสมัชชาลง วิสเคาน์แห่งนออาย เป็นบุคคลแรกที่นำข่าวและข้อเท็จจริงอันถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปารีสมายังสมัชชาฯ ที่แวร์ซาย จากนั้นสมัชชาจึงส่งผู้แทนไปยังออแตลเดอวีลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงของนออาย

ในเช้าของวันที่ 15 กรกฎาคม ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งแก่พระเจ้าหลุยส์ด้วยเช่นกัน พระองค์พร้อมด้วยนายพลทหารของพระองค์มีท่าทีผ่อนคลายลง กองกำลังหลวงที่ประจำการอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของกรุงปารีสถูกโยกย้ายกระจัดกระจายไปตามป้อมประจำการเดิมของพวกเขาตามแนวชายแดน ด้านมาร์กี เดอ ลา ฟาแยตต์ เข้าบังคับบัญชากองกำลังติดอาวุธของประชาชนในปารีส ในขณะที่ฌ็อง-ซิลแว็ง เบญี (ผู้นำของฐานันดรที่สามและผู้ยุยงในการประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิส) เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีภายใต้โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ที่เรียกว่า กอมมูนแห่งปารีส (ฝรั่งเศส: Commune de Paris) พระเจ้าหลุยส์ทรงประกาศว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้แนแกร์กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม และเสด็จฯ จากแวร์ซายกลับสู่ปารีส ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม ณ กรุงปารีส ทรงรับเอาริบบิ้นกอการ์ดสามสีจากเบญีและเสด็จฯ เข้าไปในออแตลเดอวีล ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชนว่า "กษัตริย์จงเจริญ" และ "ประเทศชาติจงเจริญ"

แม้กระนั้น ภายหลังเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นปารีส เหล่าขุนนางและชนชั้นสูง ผู้ไม่สามารถไว้วางใจสถานการณ์และความปรองดองระหว่างกษัตริย์และประชาชนของพระองค์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้ เริ่มพากันลี้ภัยออกนอกประเทศในฐานะ ฝ่ายเอมิเกร (ฝรั่งเศส: émigrés) ซึ่งผู้เข้าร่วมฝ่ายเอมิเกรในช่วงแรกประกอบไปด้วย เคาน์แห่งอาร์ตัว (พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ในอนาคต) กับพระโอรสทั้งสองพระองค์ เจ้าชายแห่งกงเด เจ้าชายแห่งกงตี ตระกูลโปลีญัก และชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาโลน อดีตเสนาบดีพระคลัง ทั้งหมดต่างพำนักอยู่ในตูริน ที่ซึ่งเดอกาโลน ในฐานะสายลับของเคาน์แห่งอาร์ตัวและเจ้าชายแห่งกงเด เริ่มแผนการก่อสงครามกลางเมืองภายในราชอาณาจักร และเริ่มเจรจากับประเทศในยุโรปเพื่อตั้งสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับฝรั่งเศส

ข่าวการจลาจลที่ประสบผลสำเร็จแพร่สะพัดไปทั่วฝรั่งเศส ประชาชนต่างพากันจัดตั้งระบบการปกครองคู่ขนานอย่างเทศบาล สำหรับรัฐบาลพลเรือนและกองกำลังทหารติดอาวุธ ในเขตทุรกันดาร บ้างถึงกับกระทำการเกินเลยไปมาก เช่น ในระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม มีคฤหาสน์ในชนบทมากมายถูกเผา เนื่องจากมีความกลัวที่ว่าเหล่าชนชั้นสูงและเจ้าของที่ดินกำลังพยายามขัดขวางการปฏิวัติ

ปีแยร์-ฟร็องซัว ปาลัว คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการรื้อซากปรักหักพังของป้อมในทันที

นักประพันธ์เพลงชาวออสเตรีย คาร์ล ดิตเทอร์ ฟอน ดิตเทอร์ดอร์ฟ ประพันธ์เพลง ซิมโฟนีอินซีเมเจอร์ (Symphony in C Major) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เหตุการณ์ทลายคุกบัสตีย์ ท่อนแรกของเพลงรู้จักทั่วไปกันในชื่อ ลาปรีสเดอลาบัสตีย์ (ฝรั่งเศส: La Prise De La Bastille; เรือนจำแห่งบัสตีย์)

ในหนังสือ เรื่องของสองนคร โดยชาร์ลส์ ดิกคินส์ ตระกูลดีฟาร์จส์เป็นผู้นำการโจมตีบัสตีย์ในหนังสือเล่มที่สองของดิกคินส์

ในฐานะเชิงอรรถทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ปัจจุบัน กุญแจที่นำไปสู่บัสตีย์ถูกเก็บรักษาไว้ภายในบ้านพักของจอร์จ วอชิงตัน ณ ภูเขาเวอร์นอน โดยเขาได้รับกุญแจดังกล่าวจากมาร์กี เดอ ลาฟาแยตต์ ในปี ค.ศ. 1790 ในฐานะข้อเสนอสันติภาพ

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง