ชาเอิร์ลเกรย์

ชาแดงผสมชนิดหนึ่ง แต่งกลิ่นด้วยน้ำมันเบอร์กามอต

ชาเอิร์ลเกรย์ (อังกฤษ: Earl Grey tea) คือ ชาแดงชนิดผสมประเภทหนึ่ง มีกลิ่นหอมของน้ำมันเบอร์กามอต (อังกฤษ: Bergamot) เป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้ชาเอิร์ลเกรย์มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่นิยมทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วทั้งโลก ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดชาเอิร์ลเกรย์นิยมดื่มชานี้กันอย่างแพร่หลายเป็นกิจวัตรประจำวัน

ใบชาเอิร์ลเกรย์
ชาเอิร์ลเกรย์

ชาเอิร์ลเกรย์แบบดั้งเดิมผลิตจากชาแดงจากประเทศจีน เช่น ชาคีมุน หรือ ชาเจิ้งซานเสียวจ่งซึ่งทำให้ชามีกลิ่นหอมของควันไม้ ในปัจจุบันผู้ผลิตชาเอิร์ลเกรย์ได้ผลิตชาเอิร์ลเกรย์ออกมาหลายรูปแบบมากขึ้นโดยมีการผลิตด้วย ชาอูหลง ชาเขียว ชาซีลอน ชาขาว และชารอยบอส

ชาเอิร์ลเกรย์สันนิษฐานว่าพยายามปรุงเพื่อเลียนแบบชาเจิ้งซานเสียวจ่ง (จีนตัวย่อ: 正山小种; จีนตัวเต็ม: 正山小種; พินอิน: zhèngshān xiǎozhǒng) หรืออาจเป็นความพยายามในการเพิ่มมูลค่าชาที่มีคุณภาพต่ำให้มีมูลค่ามากขึ้นด้วยการผสมน้ำมันเบอร์กามอตลงไป ทำให้พ่อค้าชาสามารถขายชาได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น

ประวัติ

ชาเอิร์ลเกรย์บรรจุในกระป๋อง

ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2

ชาเอิร์ลเกรย์เป็นชาที่ปรุงแต่งขึ้นให้แก่ ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ช่วงปี ค.ศ. 1830 ถึงปี ค.ศ. 1834 โดยการนำชาแดงผสมกับน้ำมันเบอร์กามอต[1] ต่อมาได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงและได้กลายเป็นที่นิยมจากทั่วทั้งโลก ชาเอิรล์เกรย์เป็นชาที่ปรุงขึ้นเพื่อเลียนแบบชาจีนซึ่งมีราคาสูง ชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่รู้จักในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1820 ในช่วงแรกชาเอิร์ลเกรย์เป็นที่รู้จักในชื่อ "เกรยส์ (Grey's Tea)" จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1880 บริษัทชาร์ลตันแอนด์โค ได้โฆษณาชาในชื่อ "เอิร์ลเกรย์"

ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2

ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2011 บริษัททไวนิงส์ (อังกฤษ: Twinings) ผู้อ้างว่าเป็นต้นตำรับชาเอิร์ลเกรย์ ได้ประกาศการปรับเปลี่ยนสูตรชาเอิร์ลเกรย์ของบริษัท โดยมีการเพิ่มน้ำมันเบอร์กามอตและซิตรัส ชาเอิร์ลเกรย์ถือว่าเป็นชาตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษ ทำให้เกิดให้เกิดการคิดค้นชาสูตรใหม่ ๆ ขึ้น เช่น ชาเลดีเกรย์ ที่มีการใส่ผลไม้จำพวกมะนาวและส้ม

เรื่องราวของที่มาของชาเอิร์ลเกรย์ยังคงเป็นที่ถกเถียง มีเรื่องราวหนึ่งกล่าวว่า ผู้รับใช้ของลอร์ดเกรย์คนหนึ่งได้ช่วยชีวิตลูกชายของชาวจีนครอบครัวหนึ่งจากการจมน้ำ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ลอร์ดเกรย์ ครอบครัวชาวจีนครอบครัวนั้นจึงได้ตอบแทนลอร์ดชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 โดยปรุงชาสูตรพิเศษขึ้นและมอบให้ในปี ค.ศ. 1803 เรื่องราวนี้ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ นอกจากนี้ยังพบข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากลอร์ดเกรย์ไม่เคยเดินทางไปประเทศจีน[2] อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว การใช้น้ำมันเบอร์กามอตยังไม่เป็นที่ทราบกันในประเทศจีน จึงสรุปได้ว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ถูกต้องและไม่สามารถยืนยันได้ว่าชาเอิร์ลเกรย์แท้จริงนั้นมีที่มาอย่างไร

เรื่องราวที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดถึงต้นกำเนิดของชาเอิร์ลเกรย์ถูกกล่าวโดยบริษัทชาทไวนิงส์ โดยทายาทของลอร์ดเกรย์ที่สอง ฟิลิป เคนต์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 7 ให้การรับรองว่าทไวนิงส์เป็นผู้คิดค้นสูตรชาเอิร์ลเกรย์ ด้วยการเซ็นชื่อรับรองลงบนกล่องของชาเอิร์ลเกรย์ของทไวนิงส์ที่จัดจำหน่ายในสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ในเว็บไซต์ทไวนิงส์ได้ระบุว่า

" ราชทูตท่านหนึ่งได้เดินทางเดินทางไปประเทศจีน ภายหลังเดินทางกลับมายังสหราชอาณาจักร ทูตท่านนี้ได้นำชาเอิร์ลเกรย์กลับมาด้วยและได้มอบให้แก่ ลอร์ดชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 " - ทไวนิงส์ ออฟ ลอนดอน[3]

ร้านแจ็คสันออฟพิคคาดิลลี่ (อังกฤษ: Jacksons of Piccadilly) อ้างว่า ทางร้านเป็นผู้ริเริ่มขายสูตรชาเอิร์ลเกรย์นี้เป็นร้านแรก ลอร์ดเกรย์ได้มอบสูตรชานี้ให้แก่โรเบิร์ต แจ็คซัน (อังกฤษ: Robert Jackson & Co) และบริษัทหุ้นส่วนจอร์จ ชาร์ลตัน (อังกฤษ: Charlton & Co. of Jermyn Street)ในปี ค.ศ. 1830 ตามที่ตระกูลแจ็คซันกล่าวอ้าง พวกเขาผลิตชาเอิร์ลเกรย์นี้ขึ้นมาตั้งแต่ได้รับสูตรมา โดยแรกเริ่มชานี้มีพื้นฐานมาจากชาแดงจีน[4][5]

ความเห็นต่อชาเอิร์ลเกรย์ในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 2010 ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสหราชอาณาจักรต่อชาเอิร์ลเกรย์ พบว่าชาวสหราชอาณาจักรส่วนน้อยมีความเห็นว่า การดื่มชาเอิร์ลเกรย์มีความเชื่อมโยงกับความหรูหราและเกี่ยวข้องกับชนชั้นสูง ทว่า ในมุมมองต่างชาติมักมองว่าชาเอิร์ลเกรย์เป็นเครื่องดื่มที่แสดงถึงชนชั้นและความมีระดับ นอกจากนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวยังครอบคลุมถึงวัฒนธรรมการดื่มชายามบ่ายแบบอังกฤษอีกด้วย[6][7]

ประเภท

ผลเบอร์กามอต (Citrus bergamia)
ใบชาเลดี้เกรย์

ชาเอิร์ลเกรย์ไม่ใช้สินค้าจดทะเบียนโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ชาเอิร์ลเกรย์จึงมีสูตรมากมายแตกต่างไปตามบริษัทผู้ผลิต โดยแต่ละบริษัทมักชูเอกลักษณ์และความแตกต่าง ด้วยการใช้ประเภทของชาที่แตกต่างกันไปและด้วยการเพิ่มส่วนผสมบางอย่างลงไปเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้แก่ชาของบริษัทตน

น้ำมันหอมระเหยจากผลเบอร์กามอต ที่ใส่ในชาเอิร์ลเกรย์ยี่ห้อต่าง ๆ มาจากผลของต้นเบอร์กามอต ซึ่งเป็นเป็นพืชตระกลู Citrus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Citrus bergamia มีแหล่งปลูกที่แคว้นคาลาเบรีย ประเทศอิตาลี่[8]

  • ชาเลดีเกรย์ ถูกต่อยอดสูตรมาจากชาเอิร์ลเกรย์ ชาเลดีเกรย์มีสองสูตรที่นิยม (ชาเลดี้เกรย์ดอกคอร์นฟลาวเวอร์ และชาเลดี้เกรย์ส้ม) ซึ่งทั้งสองสูตรเกิดจากการผสมชาเอิร์ลเกรย์กับดอกคอร์นฟลาวเวอร์และส้มซ่า โดยที่ชื้อชาเลดีเกรย์เป็นชื่อสินค้าจดทะเบียนโดยบริษัททไวนิงส์แต่เพียงผู้เดียว ทำให้บริษัทอื่น ๆ ไม่สามารถนำคำว่า “เลดี เกรย์” ไปใช้ในเชิงการค้าได้ จึงทำให้ชานี้เป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ แตกต่างกันไปตามบริษัทผู้ผลิต
  • "London Fog" เป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากการผสมชาเอิร์ลเกรย์กับนมและวานิลลาไซรัป
  • ชาเอิร์ลเกรย์ถูกผสมด้วยดอกไม้ต่าง ๆ เช่นมะลิ คอร์นฟลาวเวอร์ หรือ กุหลาบ เป็นที่รู้จักในชื่อ เฟรนช์เอิร์ลเกรย์ (French Earl Grey)
  • รัสเซียนเอิร์ลเกรย์ (Russian Earl Grey) คือชาที่มีการผสมเปลือกส้มและตะไคร้แทนการใช้ใบชาแดงและน้ำมันเบอร์กามอต

การปรุงแต่งรสชาติ

ชาเอิร์ลเกรย์ถูกใช้เพื่อปรุงแต่งรสชาติเค้กและของหวานอย่างแพร่หลาย เช่น ช็อกโกแลต และซอสปรุงของหวาน

วัฒนธรรมการดื่ม

โดยทั่วไปไม่นิยมเติมนมลงในชาเอิร์ลเกรย์ดังเช่นชาอื่น ๆ ชาวสหราชอาณาจักรส่วนมากให้ความเห็นว่าชาเอิร์ลเกรย์และนมนั้นไม่อาจเข้าด้วยกันได้ เนื่องจากนมทำให้กลิ่นของน้ำมันเบอร์กามอตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาหายไป และทำให้รสชาติของชาเปลี่ยนจึงไม่นิยมเติมนมลงในชา

ชาเอิร์ลเกรย์นิยมทานขณะยังร้อน โดยสามารถเติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งเพื่อเพิ่มความหวาน หรืออาจเติมมะนาวหรือส้มได้ตามแต่ใจผู้ดื่ม

ชาเอิร์ลเกรย์นิยมดื่มกันในช่วงบ่าย มักทานคู่กับขนมเค้กหรือของว่างต่าง ๆ เช่น แซนด์วิช แยมโรล มาการง หรือ สกอน สามารถดื่มได้ทุกช่วงเวลา

อ้างอิง

🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร