ดิน

ดิน หมายถึง วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการสลายตัวทางกายภาพ และทางเคมีของหินและแร่ รวมกับสารอินทรีย์ ที่เกิดจากการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์เป็นผิวชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก ซึ่งดินจะมีลักษณะและคุณสมบัติต่างกันไปในที่ต่างๆ ตามสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิด สิ่งมีชีวิตและระยะเวลาการสร้างตัวของดิน

ชั้นดินที่อยู่ใต้รากของพืช

ประเภทของดิน

แบ่งตามชั้นดิน (soil profile) จากบนลงล่าง ชั้นดินอินทรีย์ (O), ชั้นดินบน (A), ชั้นชะล้าง (E), ชั้นดินล่าง (B) และ ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C) โดยมีชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน หรือ หินพื้น (R) อยู่ด้านล่างสุด[1]

สามารถแบ่งประเภทของดินได้ในหลายปัจจัย ดังนี้[2]

  • แบ่งตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินที่ลุ่ม (หรือเรียก ดินนา), ดินที่ดอน (หรือ ดินไร่)
  • แบ่งตามความลึกของดิน ได้แก่ ดินตื้นมาก, ดินตื้น, ดินลึกปานกลาง และดินลึก-ลึกมาก หรือแบ่งตามชั้นดิน หรือชั้นกำเนิดดิน ซึ่งมี 5 ชั้น คือ ชั้นดินอินทรีย์ (O), ชั้นดินบน (A), ชั้นชะล้าง (E), ชั้นดินล่าง (B) และ ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C)[3]
  • แบ่งตามวัสดุที่เป็นองค์ประกอบในดิน ได้แก่ ดินอนินทรีย์, ดินอินทรีย์
  • แบ่งตามพัฒนาการ
  • แบ่งตามเนื้อดิน ได้แก่ ดินร่วน, ดินเหนียว, ดินทราย
  • แบ่งตามสมบัติ ได้แก่ ดินดี, ดินเลว

เนื้อดิน

ชนิดของดิน แบ่งตามเนื้อดิน อ้างอิงกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)

เนื้อดิน (soil texture) คือ องค์ประกอบเชิงกายภาพของดิน เป็นคุณสมบัติที่บอกถึงความหยาบหรือละเอียดของอนุภาคตะกอนหลาย ๆ ขนาดที่ประกอบขึ้นเป็น"อนุภาคของดิน" ซึ่งอนุภาคเหล่านี้จะมีขนาดไม่ท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ขนาดใหญ่เรียกว่าอนุภาคขนาดทราย (sand) (2.0-0.05 มิลลิเมตร) ขนาดกลางเรียกว่าอนุภาคทรายแป้ง (silt) (0.05-0.002 มิลลิเมตร) และขนาดเล็กที่สุดคืออนุภาคดินเหนียว (clay) (< 0.002 มิลลิเมตร)[4][1]

การรวมตัวกันของอนุภาคทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว ในสัดส่วนที่แตกต่างกันทำให้เกิดเป็นเนื้อดินชนิดต่าง ๆ ขึ้น ในการจำแนกชนิดของเนื้อดินนั้นจะถือสัดส่วนร้อยละที่ประกอบของอนุภาคต่างขนาดเหล่านี้ที่มีอยู่ในดินนั้น ๆ เป็นหลัก โดยทั่วไปในประเทศไทยเนื้อดินอาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ ดินทราย (sandy soil) ดินร่วน (loamy soil) และดินเหนียว (clay soil)[4]

ดินทราย

เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวม ๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยว ๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวม ๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที[4]

ดินร่วน

เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก[4]

ดินเหนียว

เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน ติดมือง่าย[4]

แผนภาพสามเหลี่ยมเนื้อดิน

การกำหนดชนิดของเนื้อดินมักใช้ระบบสามส่วนประกอบ (แผนภาพสามเหลี่ยม) ในการแบ่งชนิดของเนื้อดิน[5] เรียก แผนภาพสามเหลี่ยมเนื้อดิน หรือ ตารางสามเหลี่ยมเนื้อดิน (soil texture triangle) (ดังตัวอย่างของแผนภาพสามเหลี่ยมที่ด้านขวาของหน้า) ด้านหนึ่งของแผนภาพสามเหลี่ยมแทนสัดส่วนของทราย ด้านที่สองแทนสัดส่วนของดินเหนียว และด้านที่สามแทนเสัดส่วนของทรายแป้ง แมื่อทราบนสัดส่วนเป็นร้อยละของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว ในตัวอย่างดิน จะสามารถใช้แผนภาพสามเหลี่ยมในการระบุชนิดของเนื้อดินของดินตัวอย่างได้ เช่น ถ้าดินเป็นทรายร้อยละ 70 และดินเหนียวร้อยละ 10 ดินจะจัดเป็นดินทรายร่วน (loamy sand) สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้โดยเริ่มจากด้านใดก็ได้ของแผนภาพสามเหลี่ยมชนิดของเนื้อดิน และหากใช้วิธีการสัมผัสเพื่อกำหนดระบุชนิดของดิน (texture by feel method) แผนภาพสามเหลี่ยมยังสามารถให้ค่าประมาณคร่าวเกี่ยวกับสัดส่วนเป็นร้อยละของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวในดินได้

คุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของดินสัมพันธ์กับเนื้อสัมผัส ขนาดและการกระจายของอนุภาคจะส่งผลต่อความจุของดินในการกักเก็บน้ำและสารอาหาร ดินที่มีเนื้อละเอียดโดยทั่วไปจะมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้สูงกว่า ในขณะที่ดินทรายจะมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่น้ำไหลผ่านและสามารถชะล้างสารอาหารออกไปได้มากกว่า[6]

ในทางปฐพีวิทยา (ซึ่งอ้างอิงการแบ่งตามกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)) แบ่งดินออกตามสัดส่วนการกระจายตัวของอนุภาคของดินเป็น 12 ชนิด[7][1][8] คือ

  • ทราย (sands)
  • ทรายปนดินร่วน (loamy sand)
  • ดินร่วนปนทราย (sandy loam)
  • ดินร่วน (loam)
  • ดินร่วนปนทรายแป้ง (silt loam)
  • ทรายแป้ง (silt)
  • ดินร่วนเหนียวปนทราย (sandy clay loam)
  • ดินร่วนเหนียว (clay loam)
  • ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง (silty clay loam)
  • ดินเหนียวปนทราย (sandy clay)
  • ดินเหนียวปนทรายแป้ง (silty clay)
  • ดินเหนียว (clay)

อนุภาคของดิน

อนุภาคของดินแบ่งออกเป็น 3 ชนิดโดยกว้างแล้ว ในการแบ่งอนุภาคขนาดทรายยังสามารถแบ่งย่อยเป็นอีก 4 ชนิดคือ ทรายละเอียดมาก, ทรายละเอียด, ทรายละเอียดปานกลาง ทรายหยาบ และทรายหยาบมาก[9] ซึ่งแต่ละประเทศมีการจำแนกขนาดอนุภาคของตนเองที่ไม่เท่ากัน

ประเภทของอนุภาคของดินเส้นผ่านศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)(อ้างอิงการแบ่งตาม USDA )เส้นผ่านศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)(อ้างอิงการแบ่งตาม IUSS และ WRB classification)
ดินเหนียว (clay)น้อยกว่า 0.002น้อยกว่า 0.002
ทรายแป้ง (silt)0.002 – 0.050.002 – 0.063
ทรายละเอียดมาก (very fine sand)0.05 – 0.100.063 – 0.125
ทรายละเอียด (fine sand)0.10 – 0.250.125 – 0.20
ทรายละเอียดปานกลาง (medium sand)0.25 – 0.500.20 – 0.63
ทรายหยาบ (coarse sand)0.50 – 1.000.63 – 1.25
ทรายหยาบมาก (very coarse sand)1.00 – 2.001.25 – 2.00

ดินทางด้านวิศวกรรม

ดิน เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานในงานวิศวกรรมโยธา ใช้เป็นวัสดุถมในงานก่อสร้างต่าง ๆ เช่นงานถมเพื่อยกระดับบริเวณอาคาร ถนน เขื่อน และใช้เป็นวัสดุผสมสำหรับทำอิฐหรือ ในบางกรณีอาจเพิ่มวัสดุอื่น เช่นปูนขาว เพื่อช่วยในการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีคุณสมบัติในการรับกำลังได้มากขึ้นเพื่อผลทางด้านวิศวกรรม บางวัฒนธรรมนำดินมาปั้นเป็นตัวบ้านที่อยู่อาศัยโดยตรง

ดินใช้เวลาก่อตัวนานแค่ไหน

ดินต้องใช้เวลา 500 ถึงหลายพันปีในการสร้างดินชั้นบนให้ได้หนึ่งนิ้ว เหตุผลก็คือดินมักจะได้มาจากหิน ก้อนหินต้องแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อน สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการผุกร่อนทางกายภาพ เช่น การผุกร่อนของหินในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และการผุกร่อนทางเคมีในสภาพอากาศที่อุ่นกว่า เมื่อรอยแตกก่อตัวในหินและพืชจะสามารถหยั่งรากไปตามรอยแตกได้ พืชจะทำลายหินเป็นชิ้นเล็กๆ ต่อไปโดยการทำงานของราก และเริ่มเพิ่มอินทรียวัตถุ การผุกร่อนทางเคมียังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนชิ้นหินให้เป็นทราย ทรายแป้ง และอนุภาคดินเหนียวที่ประกอบเป็นดิน[10]

ประโยชน์ของดิน

  • ดิน เป็นวัสดุทำเครื่องปั้นดินเผา ดินที่นำมาใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นดินเหนียวที่มีเนื้อละเอียด
  • สามารถทำเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้
  • ดินมีไว้สำหรับปลูกพืช
  • เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ

ลักษณะของดินที่สร้างปัญหาให้แก่เกษตรกร

ดินเปรี้ยว หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า acid soil หมายถึงดินที่มีสภาพความเป็นกรดสูง ค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่า pH จะไล่ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 14 ค่าที่เป็นกลางคือ 7 ถ้าค่า pH ต่ำกว่า 7 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรด และถ้าค่า pH ต่ำกว่า 4 แปลว่าดินมีสภาพเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด ซึ่งหนังสือคำบัญญัติศัพท์ภูมิศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายดินเปรี้ยวจัด ดินกรดจัด หรือดินกรดกำมะถันไว้ว่า acid sulfate soil ที่เรียกว่าดินเปรี้ยวนั้นเพราะว่าดินมีกรด sulfuric ปะปนอยู่ ซึ่งกรดที่ว่านี้มีรสเปรี้ยว แล้วสาเหตุที่ดินเปรี้ยวแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า acid soil ก็เพราะ acid นั้นแปลว่ากรด และ soil แปลว่าดิน ซึ่งเป็นดินชั้นบนสุดของพื้นผิวโลกที่พืชสามารถเจริญเติบโต

 ดินพรุ   คือดินในพื้นที่พรุที่แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินในพื้นที่พรุซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของภาคใต้แปลว่าพื้นที่ที่มีน้ำขัง มีลักษณะเป็นอินทรียวัตถุ หรือซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยทับถมอยู่ข้างบน และมีสารประกอบกำมะถันที่เรียกว่าสารประกอบไพไรท์อยู่มาก เมื่อต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุ จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกจากพื้นที่จนหมด และเมื่อดินแห้ง สารประกอบไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินมีความเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด ดังนั้น คำว่าดินพรุจึงใช้คำภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับดินเปรี้ยว

ดินเค็ม  หรือ saline soil คำว่า saline แปลว่ามีส่วนผสมของเกลือ หรือมีเกลือปะปนอยู่ ซึ่งดินเค็มก็คือดินที่มีปริมาณเกลือละลายอยู่ในดินมากเกินไป ทำให้ดินขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืช ทั้งยังทำให้ธาตุอาหารของพืชไม่มีความสมดุล

ดินจืด นั้น ไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการเนื่องจากเป็นภาษาพูดที่ใช้เรียกดินที่มีแร่ธาตุสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ทำให้การเพาะปลูกไม่เจริญงอกงาม ต้องใส่ปุ๋ยหรือสารอาหารบำรุงดิน[11]

วิชาที่เกี่ยวกับดิน

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง