นกนางแอ่นแม่น้ำ

นกนางแอ่นแม่น้ำ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร:Animalia
ไฟลัม:Chordata
ชั้น:Aves
อันดับ:Passeriformes
วงศ์:Hirundinidae
วงศ์ย่อย:Pseudochelidoninae
Shelley, 1896
สกุล:Pseudochelidon
Hartlaub, 1861
สปีชีส์

นกนางแอ่นแม่น้ำ หรือ นกนางแอ่นเทียม (อังกฤษ: river martins) เป็นสกุลนกนางแอ่นในวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae ที่อยู่ในวงศ์นกนางแอ่น (Hirundinidae) ประกอบไปด้วย 2 สปีชีส์คือ นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidon eurystomina) ที่พบในสาธารณรัฐคองโกและประเทศกาบอง และนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีขนส่วนใหญ่เป็นสีดำ บินจับแมลงกินเป็นอาหาร พวกมันดูเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่บนพื้นมากกว่านกนางแอ่นชนิดอื่น อาจเดินมากกว่าเกาะคอน และนกนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจหากินในเวลากลางคืน นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาทำรังบนตลิ่งทรายริมแม่น้ำโดยการขุดโพรงลงไป ส่วนแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังไม่ทราบ

เมื่อมีการค้นพบนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ (Gustav Hartlaub) คิดว่ามันเป็นนกตะขาบและผู้แต่งหลังจากนั้นก็จัดวางมันอยู่ในวงศ์ของตนเองหรืออยู่ในวงศ์นกแอ่นพง จากการศึกษาทางกายวิภาคพบว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับนกในวงศ์นกนางแอ่น แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างคือมีขาและเท้าแข็งแรงและมีปากอวบ สิ่งเหล่านี้แสดงว่าควรแยกมันออกเป็นวงศ์ย่อยต่างหาก นกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดจัดอยู่ในสกุลเดียวกันคือสกุล Pseudochelidon เพราะทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายกัน แต่ บรูก เสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรควรแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกามีการกระจายพันธุ์ในวงแคบในหลายพื้นที่แต่สถานะภาพที่แท้จริงยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรค้นพบในปี พ.ศ. 2512 และทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวมันน้อยมากจากตัวอย่างและหลักฐานเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบในธรรมชาติแล้ว และแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ก็ไม่เป็นที่ทราบ มันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว แม้ว่าจะมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันในปี พ.ศ. 2547

อนุกรมวิธาน

เมื่อตัวอย่างของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาจากประเทศกาบองได้รับการจัดจำแนกครั้งแรกโดยนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ (Gustav Hartlaub) ในปี ค.ศ. 1861[1] มันไม่ได้ถูกระบุบเป็นนกนางแอ่น ฮาร์ทเลาบ์กลับจัดวางมันในวงศ์นกตะขาบ และผู้แต่งคนอื่นๆหลังจากนั้นก็จัดวางมันอยู่ในวงศ์ของมันเองหรือไม่ก็ในวงศ์นกแอ่นพง จากการศึกษากายวิภาคของนกชนิดนี้โดย เพอร์ซี โลว์ในปี ค.ศ. 1938 แสดงให้เห็นว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับนกนางแอ่นแต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างเพียง พอที่จะแยกออกมาเป็นวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae[2]ชื่อสกุล Pseudochelidon มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น" เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างของมันจากนกนางแอ่นที่ "แท้จริง"[3][4]

เป็นเวลาหลายปีที่นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาเป็นเพียงชนิดเดียวในสกุลและวงศ์ย่อยจนกระทั่งมีการค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon eurystomina) โดยนักปักษีวิทยาชาวไทย กิตติ ทองลงยา ในปี ค.ศ. 1968[5] แม้ว่าผู้แต่งบางคนอย่างเช่น บรูค จะจัดวางนกชนิดนี้ไว้ในสกุล Eurochelidon ที่แยกออกมาต่างหากเพราะลักษณะที่เป็นมีนัยยะสำคัญแต่งจากชนิดแอฟริกา แต่ก็ยังอยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกัน[6][7] จากการศึกษาทางพันธุศาสตร์ยืนยันว่านกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดมากจากเครือบรรพบุรุษที่ต่างกันกับนกนางแอ่นในวงศ์ย่อย Hirundininae[8]

นกนางแอ่นแม่น้ำอยู่ตรงกลางระหว่างนกนางแอ่นทั่วไปและนกจับคอนชนิดอื่น พวกมันมีปากอวบ เท้าใหญ่และขาแข็งแรงซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากนกหากินกลางอากาศชนิดอื่น มันมีอวัยวะส่วนที่ส่งเสียงมีขนาดใหญ่ และโครงสร้างที่แตกต่างกันของหลอดลม จากลักษณะของมันที่แตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ที่กว้างมากของนกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองแสดงว่าประชากรของกลุ่มสปีชีส์ได้แยกตัวออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นตอนต้นของการวิวัฒนาการ[2] และพวกมันอาจเป็นนกนางแอ่นชนิดที่โบราณที่สุด[9] มันก็เหมือนนกนางแอ่นโบราณต้นเชื้อสายชนิดอื่นๆที่ทำรังในโพรงแทนที่จะทำหลุมรังหรือรังโคลน[10]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (ซ้าย) พบตลอดปีในประเทศกาบอง (สีม่วง) และสาธารณรัฐคองโก (สีฟ้า) และพบเฉพาะฤดูผสมพันธุ์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (สีแดง) นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (ขวา) พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

นกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดมีพิสัยทางภูมิศาสตร์ของถิ่นอาศัยที่แยกออกจากกัน นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาผสมพันธุ์วางไข่ตลอดแม่น้ำคองโกและแม่น้ำอูบองชีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก[11] มันเป็นนกอพยพฤดูหนาวในที่ราบชายฝั่งในทางตอนใต้ของประเทศกาบองและสาธารณรัฐคองโก เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบรักของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาบริเวณสันชายหาดและทุ่งหญ้าในพื้นที่ชายฝั่งที่อาศัยในฤดูหนาว[2][11] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบเพียงแหน่งเดียวจากพื้นที่อาศัยในฤดูหนาวที่บึงบอระเพ็ดในประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[12] มันอาจเป็นนกอพยพ แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ แม้ว่าหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านในภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนนั้นอาจจะเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่[2] หรืออาจเป็นประเทศกัมพูชาหรือพม่า[12] แต่ยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพทั้งหมดหรือไม่[13]

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของชนิดแอฟริกาประกอบไปด้วย ป่าริมแม่น้ำ หรือเกาะที่มีตลิ่งทรายสำหรับทำรัง พื้นที่ทำรังของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังไม่ทราบแต่ถ้าแหล่งผสมพันธุ์วางไข่คล้ายคลึงกันจากความสัมพันธ์กับชนิดแอฟริกาก็จะเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านซึ่งมีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าให้นกบินจับแมลงกิน[2] นางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาใช้ที่ราบชายฝั่งเป็นถิ่นอาศัยในฟดูหนาว บนพื้นฐานถิ่นอาศัยในฟดูหนาวเท่าที่ทราบซึ่งไม่ใช่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรหากินในบริเวณพื้นที่เปิดโล่งใกล้แหล่งน้ำและเกาะคอนนอนตามพงอ้อหรือพืชน้ำในเวลากลางคืน[12]

ลักษณะ

นกนางแอ่นทั้งสองชนิดเป็นนกขนาดกลาง ยาว 14-18 ซม. ขนสีดำคล้ายนกนางแอ่นส่วนใหญ่ มีหัวขนาดใหญ่ สีเหลือบฟ้า ลำตัวเจือสีเขียว ปีกสีน้ำตาล ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย ตะโพกขาว ตาและวงขอบตาขาว และปากสีเหลือง นกนางแอ่นแอฟริกามีวงตาและปากสีแดง ไม่มีแต้มตรงตะโพก นกวัยอ่อนของทั้งสองชนิดคล้ายนกโตเต็มวัย แต่มีหัวสีน้ำตาล นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรไม่มีขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา[2]

นกนางแอ่นแอฟริการ้อง ชี ชี หรือ เชียร์-เชียร์-เชียร์ เมื่อบินกันเป็นฝูง ระหว่างการอพยพจะส่งเสียงร้องห้าวคล้ายนกนางนวลและเสียงกรุ๋งกริ๋งคล้ายกระพรวน ไม่มีการบรรยายถึงเสียงร้องของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร[2]

พฤติกรรม

แม่น้ำคองโกเป็นแหล่งพื้นที่หลักในการผสมพันธุ์วางไข่ของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

พฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่เรารู้แค่เพียงพฤติกรรมของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา มันทำรังเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ อาจมีมากถึง 800 ตัวในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลดลง คู่นกจะขุดโพรงลึก 1-2 เมตรบนตลิ่งทรายที่เปิดโล่ง ปลายสุดของโพรงจะมีรังทำด้วยกิ่งไม้และใบไม้ มันวางไข่ 2-4 ฟอง สีขาวไม่มีจุด มีพฤติกรรมการบินไล่กวดกันนอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมนี้บนพื้นดินด้วยแต่ยังไม่เป็นที่ทราบว่าทำเพื่ออะไร มันจะไม่ค่อยจับคอนในฤดูผสมพันธุ์แต่จะเดินบนพื้นดินแทน[2] แม้ว่าจะมีการสมมุติว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่คล้ายนกชนิดแอฟริกาแต่ลักษณะของเท้าที่ต่างกันแสดงว่ามันอาจไม่ได้ใช้เท้าขุดโพรงเพื่อทำรัง[14]

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาออกหากินเป็นฝูงเหนือแม่น้ำและป่า บ่อยครั้งที่หากินไกลจากแหล่งน้ำ มันกินแมลงส่วนมากจะเป็นมดมีปีก บินได้แข็งแรงและเร็ว ร่อนบ้างบางครั้ง ในฤดูหนาวนกจะเกาะบนยอดไม้ สายไฟ และหลังคาบ้านเสมอๆ[2] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงอาจรวมถึงพวกด้วงด้วยซึ่งเป็นอาหารที่จับได้ระหว่างการบิน[2] ด้วยปากที่กว้างมันอาจกินแมลงตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น[13] นกชนิดนี้บินนุ่มนวล ลอยเรื่อย และไม่ค่อยเกาะคอนเหมือนนกชนิดแอฟริกา[2] พฤติกรรมนี้สันนิษฐานจากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าใน ตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน[15] ในฤดูหนาว พบมันเกาะคอนรวมกับนกนางแอ่นบ้านตามพืชจำพวกอ้อ[16] พาเมลา ซี. รัสมูสเซน (Pamela C. Rasmussen) เสนอว่าด้วยดวงตาที่ใหญ่ผิดปกติ นกชนิดนี้อาจหากินเวลากลางคืนหรืออย่างน้อยก็ช่วงพลบค่ำหรือรุ่งเช้า ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้มันดูลึกลับและอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนกที่เหลือถึง ไม่พบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดว่าตัวอย่างแรกจับมาได้ขณะเกาะคอนในเวลากลางคืนในพง อ้ออาจจะขัดแย้ง แต่อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่ได้ถูกจับขณะเกาะคอน หรือพฤติกรรมของมันอาจจะสามารถหากินได้ทั้งทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือสภาวะแวดล้อม[14]

สถานะการอนุรักษ์

กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ ผู้จัดจำแนกนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

มีรายงานการพบเห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิริธรในปี ค.ศ. 1972, 1977 และ 1980 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน[2] แม้จะมีรายงานว่าพบนกจากประเทศไทยในปี ค.ศ. 1986[12] และจากประเทศกัมพูชาในปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน[17] สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุม[7] แม้มีการปกป้องด้วยกฎหมายภายใต้บัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)[18] นกยังคงถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้[14] อาจด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก[2]

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสในการค้นพบคือมีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวใน ราวปี ค.ศ. 1970 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1980–1981 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน[13] สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร[12] อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น[13] บึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์เพื่อพยายามจะปกป้องนกชนิดนี้[12] แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอดซึ่งประกอบด้วยการสำรวจ ที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี ค.ศ. 1969 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี ค.ศ. 1996 กลับประสบความล้มเหลวในการค้นหานกชนิดนี้[12] มีการพบเห็นที่เป็นไปได้แต่ยังไม่มีการตรวจสอบว่าพบนกชนิดนี้ในปี ค.ศ. 2004[17]

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

ขนาดประชากรของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 สามารถพบเห็นได้บ่อยในท้องถิ่นและพบเห็นนกอพยพจำนวนมากในประเทศกาบอง แต่ไม่เป็นที่ทราบมากนักถึงจำนวนประชากรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และไม่เป็นที่ทราบความถึงสัมพันธ์ของการผสมพันธุ์วางไข่ของนกในสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโกกับการผสมพันธุ์วางไข่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศ กาบองและสาธารณรัฐคองโก มีการพบฝูงนกถึง 15,000 ตัวในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งถ้ารวมนกจาบคาสีกุหลาบ (Merops malimbicus) ด้วยแล้วจะมีนกถึง 100,000 ตัว เนื่องจากไม่มีรายละเอียด นกชนิดนี้จึงถูกจัดสถานะการอนุรักษ์เป็นยังไม่มีข้อมูล (DD) โดย IUCN ในคริสต์ทศวรรษ 1950 นกแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดนจับและรับประทานจำนวนมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยคนท้องถิ่น และการกระทำเช่นนี้อาจกำลังเพิ่มขึ้น แม้อาณานิคมการผสมพันธุ์วางไข่ของนกบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำมีแนวโน้มที่จะถูกน้ำท่วม[11] แต่ก็มีนกจำนวนหลายพันตัวมาผสมพันธุ์วางไข่บริเวณทุ่งหญ้าทางตะวันออกของเมืองแกมบา (Gamba) เมื่อปี ค.ศ. 2005[19]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร