ปรากฏการณ์ฟอเรอร์

ปรากฏการณ์ฟอเรอร์ (อังกฤษ: Forer effect) หรือที่บางครั้งเรียกว่า ปรากฏการณ์บาร์นัม (อังกฤษ: Barnum effect) ตามข้อสังเกตการณ์ของ พี.ที. บาร์นัม ที่ว่า "เรามีทุกสิ่งสำหรับทุกคน" ("We've got something for everyone") เป็นปรากฏการณ์จากข้อสังเกตที่ว่า บุคคลมักให้คะแนนความถูกต้องในระดับที่สูงกับคำอธิบายเกี่ยวกับบุคลิกภาพของตนซึ่งตนเชื่อว่าทำขึ้นมาเพื่อตนโดยเฉพาะ ทั้งที่จริงแล้วเป็นคำอธิบายที่คลุมเครือและกว้างขวางพอที่จะครอบคลุมถึงบุคคลหลายๆ กลุ่ม โดยปรากฏการณ์นี้ได้อธิบายถึงเหตุผลบางส่วนเบื้องหลังความเชื่อที่เป็นนิยมหลายสาขา เช่น โหราศาสตร์ การดูดวง การทำนายจากลายมืออักษร และบททดสอบบุคลิกภาพบางตัว

ปรากฏการณ์ฟอเรอร์มักจะใช้ในหลายสาขา เช่น โหราศาสตร์ ภาพนี้แสดงให้เห็นร้านดูดวงแห่งหนึ่งในบอสตัน

อีกปรากฏการณ์ที่พบได้ง่ายและใกล้เคียงกันคือ การยืนยันเชิงอัตวิสัย (Subjective validation)[1] ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสองเหตุการณ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันได้รับการเชื่อมโยงกันด้วยเหตุผลทางความเชื่อ ความคาดหวัง หรือสมมติฐานที่กำหนดให้ทั้งสองเหตุการณ์จำต้องสัมพันธ์กัน ดังนั้น บุคคลจึงมักมองหาความเกี่ยวเนื่องระหว่างภาพลักษณ์ที่ตนเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของตน กับคำทำนายโหราศาสตร์

การพิสูจน์ของฟอเรอร์

ในปี ค.ศ. 1948 นักจิตวิทยา เบอร์แทรม อาร์. ฟอเรอร์ ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบด้านบุคลิกภาพ โดยบอกกับกลุ่มนักศึกษาว่าแต่ละคนจะได้รับบทวิเคราะห์ด้านลักษณะนิสัยที่เขียนขึ้นโดยเฉพาะจากผลแบบทดสอบของแต่ละคน ทั้งนี้ ฟอเรอร์ขอให้นักศึกษาให้คะแนนความถูกต้องของบทวิเคราะห์ดังกล่าวจาก 0 (ไม่ถูกต้อง) ถึง 5 (ถูกต้องทุกประการ) โดยในความจริงแล้ว นักศึกษาทุกคนได้รับบทวิเคราะห์เดียวกันทั้งหมด ดังนี้

คุณต้องการให้ผู้อื่นชื่นชอบและชื่นชมเป็นอย่างมาก คุณมีแนวโน้มที่จะคิดมากและตำหนิตนเอง คุณมีศักยภาพที่ยังไม่แสดงออกมาซุกซ่อนอยู่ และในขณะที่คุณมีข้อด้อยอยู่บ้าง คุณก็มีสิ่งที่สามารถชดเชยข้อด้อยนั้นได้ ภายนอก คุณดูเป็นคนที่มีวินัยและควบคุมตนเองได้ แต่ภายในคุณมักมีข้อกังวลและรู้สึกไม่มั่นใจ บางครั้ง คุณสงสัยว่าคุณได้ตัดสินใจดีแล้วหรือไม่ หรือได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ คุณชอบการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายในระดับหนึ่ง และจะไม่พอใจเมื่อถูกจำกัดให้อยู่ในข้อบังคับ คุณภูมิใจที่คุณเป็นคนมีความคิดเป็นของตนเอง และไม่ยอมรับข้อคิดเห็นจากผู้อื่นหากปราศจากหลักฐานที่น่าพอใจ บางครั้งคุณมักเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร ความฝันของคุณบางประการดูเป็นไปไม่ได้จริง ความมั่นคงปลอดภัยคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในชีวิตของคุณ

จากการทดลอง ผลเฉลี่ยที่ได้อยู่ที่ 4.26 โดยหลังจากได้ค่าเฉลี่ย ฟอเรอร์จึงเผยว่า นักศึกษาทุกคนได้รับผลวิเคราะห์เดียวกันที่มาจากคำทำนายดวงที่ฟอเรอร์รวบรวมมา[2] ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลายข้อที่สามารถครอบคลุมได้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ในอีกงานวิจัยที่ศึกษาปรากฏการณ์ฟอเรอร์ กลุ่มนักศึกษาได้ทำแบบประเมินลักษณะนิสัยของ MMPI (Minnesota Multiphasic Personality Inventory) โดยให้นักวิจัยประเมินคำตอบของนักศึกษา ในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยได้เขียนรายงานผลการประเมินที่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของแต่ละคน แต่จะคืนทั้งผลการประเมินที่ถูกต้องและผลการประเมินปลอมที่ใช้ลักษณะนิสัยทั่วไปให้กับนักศึกษา โดยให้นักศึกษาเลือกว่าผลการประเมินใดเป็นของตน มากกว่าครึ่งของนักศึกษา (59%) เลือกผลการประเมินปลอม[3]

ปรากฏการณ์ฟอเรอร์ยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ "ปรากฏการณ์บาร์นัม" ซึ่งเกิดขึ้นจากบทความ "Wanted - A Good Cookbook" ในปี พ.ศ. 2499 ของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน พอล มีห์ล ในบทความ มีห์ลได้เปรียบเทียบคำอธิบายบุคลิกภาพที่คลุมเครือกับบททดสอบทางจิตวิทยาที่ "ประสบความสำเร็จ" ของพี.ที. บาร์นัม นักแสดงและธุรกิจที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักต้มตุ๋นเลื่องชื่อ[4][5]

การทำวิจัยซ้ำ

มีสองปัจจัยสำคัญในการสร้างมาตรฐานในการวิจัยซ้ำ ปัจจัยแรก คือ เนื้อหาคำอธิบายที่จะต้องมีสัดส่วนบุคลิกในแง่บวกและแง่ลบที่เหมาะสม ปัจจัยที่สองคือ ผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องมีความเชื่อถือว่าบุคคลที่ให้ผลประเมินกับตนจะให้ผลประเมินที่ถูกต้องและเป็นกลาง[6][7]

สิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันอยู่เสมอนั้นเป็นเพราะคำอธิบายที่คลุมเครือ ทำให้ผู้คนสามารถใส่การตีความของตนเองลงไปในเนื้อหาที่ตนได้รับ จึงทำให้เนื้อหานั้นเป็นเรื่อง "เฉพาะตัว" ของตนเองได้ เช่น "บางครั้งคุณรู้สึกมั่นใจในตัวเอง แต่บางครั้งคุณก็ลังเล" ประโยคนี้สามารถใช้ได้กับทุกคน ดังนั้น แต่ละบุคคลจึงสามารถใส่การตีความของตนเองลงไปได้ การใช้เนื้อหาที่คลุมเครือเช่นนี้จะรับรองผลการประเมินที่น่าเชื่อถือในการวิจัยซ้ำ[8]

ในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการวิจัยโดยนำเนื้อหาบางส่วนมาเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนสามารถตีความผลประเมินให้เกี่ยวกับองค์กรแทนที่ตัวบุคคล ผลที่ได้ออกมาใกล้เคียงกับผลวิจัยอื่นๆ โดยชี้ว่าบุคคลมักเทียบลักษณะภาพลักษณ์องค์กรเป็นบุคคล และถูกจูงใจให้เชื่อได้ง่ายในการตีความลักษณะของคน[9]

ตัวแปรที่มีผลต่อปรากฏการณ์

ผลการศึกษาจากหลายแห่งชี้ว่าปรากฏการณ์ฟอเรอร์เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นสากล สามารถพบได้ในกลุ่มบุคคลต่างวัฒนธรรมและภูมิประเทศ ในปี ค.ศ. 2009 นักจิตวิทยา พอล โรเจอร์ส และแจนิซ โซล ทำการวิจัยเปรียบเทียบแนวโน้มในการยอมรับผลบททดสอบบุคลิกภาพของบาร์นัมระหว่างชาวตะวันตกและชาวจีน ซึ่งผลที่ได้แทบไม่มีความแตกต่างกันมากนัก[10]

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาภายหลังพบว่าผู้เข้าร่วมจะให้คะแนนความถูกต้องสูงขึ้น หากเงื่อนไขดังต่อไปนี้เป็นจริง[11]

  • ผู้เข้าร่วมเชื่อว่าผลวิเคราะห์นี้มีผลเฉพาะกับเขาเท่านั้น
  • ผู้เข้าร่วมให้ความเชื่อถือกับผู้ทำการประเมิน
  • ผลการประเมินมีลักษณะในแง่บวกเป็นหลัก

วิธีการนำเสนอผลบททดสอบบุคลิกภาพของบาร์นัมยังมีส่วนสำคัญในการทำให้คนยอมรับผลดังกล่าว เช่น ผลประเมินที่มีชื่อของผู้ถูกประเมินอยู่ในเนื้อหาจะมีแนวโน้มที่จะได้รับคะแนนสูงกว่า เป็นต้น[12]

การวิจัยในปัจจุบัน

ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ

มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าการมีความเชื่อก่อนหน้าเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติมีผลอย่างมากต่อปรากฏการณ์ฟอเรอร์ เช่น ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เชื่อในความแม่นยำของดวงชะตามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าคำอธิบายที่คลุมเครือนั้นหมายถึงตน มากกว่าผู้ที่ไม่มีความเชื่อดังกล่าว[13] โดยความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติครอบในกรณีนี้ครอบคลุมถึงความเชื่อในพระเจ้า อำนาจเวทมนตร์ ปรากฏการณ์วิญญาณต่างๆ เป็นต้น ผลการศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มทางจิตเภท (Schizotypy) และความอ่อนไหวต่อการรับรู้ (Susceptibility) ต่อปรากฏการณ์ฟอเรอร์ยังชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องกันอย่างสูงอีกด้วย[6] อย่างไรก็ตาม ในการวิจัยของโรเจอร์สและโซลใน ปี ค.ศ. 2009 ยังได้ทดสอบความเชื่อด้านโหราศาสตร์ของผู้เข้าร่วมวิจัย โดยผู้ที่มีแนวโน้มในการตั้งข้อสงสัยทั้งชาวจีนและชาวตะวันตก มักสามารถระบุข้อความที่คลุมเครือในแบบทดสอบของบาร์นัมได้ ข้อสังเกตนี้จึงชี้ได้ว่าบุคคลที่ไม่มีความเชื่อด้านโหราศาสตร์จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ฟอเรอร์น้อยกว่า

อคติการตีความเข้าหาตน

อคติการตีความเข้าหาตนได้แสดงผลในการลบล้างปรากฏการณ์ฟอเรอร์ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีการตีความเข้าหาตนจะยอมรับผลประเมินในแง่บวกของตนเอง และปฏิเสธผลประเมินในแง่ลบ ในงานวิจัยหนึ่ง ผู้เข้าร่วมจะได้รับรายงานผลประเมินบุคลิกภาพหนึ่งในสามฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นผลการประเมินที่มีแต่ลักษณะนิสัยในแง่บวก ฉบับหนึ่งเป็นผลประเมินในแง่ลบ และอีกฉบับหนึ่งมีทั้งแง่บวกและลบปนเปกัน ผู้เข้าร่วมที่ได้รับผลประเมินที่มีแต่แง่บวกและผลประเมินแบบผสมมีแนวโน้มที่จะยอมรับผลประเมินมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ได้รับผลประเมินในแง่ลบ โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะใดๆ ระหว่างสองกลุ่มแรก ในอีกงานวิจัยหนึ่ง ผู้เข้าร่วมได้รับชุดรายการลักษณะนิสัยแทนผลวิเคราะห์ปลอม โดยให้ผู้เข้าร่วมจะให้คะแนนลักษณะนิสัยที่คล้ายกับตน ผลที่ได้สอดคล้องกับอคติการตีความเข้าหาตน โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับลักษณะนิสัยในแง่บวก และไม่เห็นด้วยกับลักษณะนิสัยในแง่ลบ การวิจัยดังกล่าวได้ให้ข้อสรุปว่าอคติการตีความเข้าข้างตนนั้นมีกำลังมากพอที่จะลบล้างปรากฏการณ์ฟอเรอร์ได้[14]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง