ศรีรัศมิ์ สุวะดี

อดีตพระวรชายา

พลตรีหญิง ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี[2] พระนามเดิม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (เกิด 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514) เป็นอดีตพระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระมารดาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร


ศรีรัศมิ์ สุวะดี

เกิด9 ธันวาคม พ.ศ. 2514 (52 ปี)
จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (BMS, พ.ศ. 2545)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (MS, พ.ศ. 2550)
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พ.ศ. 2544–2557)
บุตรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ
ญาติพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ (น้า)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัด กองทัพบกไทย
ชั้นยศ พลตรี[1]
บังคับบัญชาทหารรักษาพระองค์
ลายมือชื่อ

พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ได้อภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 และได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในเวลาต่อมา จนในปี 2557 มีข่าวริบนามสกุลพระราชทานและกวาดล้างเครือข่ายของพระองค์ ซึ่งสื่อมองว่าเป็นการหย่าร้างของทั้งสอง สุดท้ายท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ได้ถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงค์กับทั้งได้รับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ประวัติ

พื้นฐานครอบครัวและการศึกษา

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี มีชื่อเล่นว่า อี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514 เป็นบุตรคนที่สามจากทั้งหมดห้าคน[3][4][5] ของอภิรุจ สุวะดี และวันทนีย์ (สกุลเดิม: เกิดอำแพง) พื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม[6] บิดาเป็นชาวตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนมารดาเป็นชาวมอญจากตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร[7] ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์มีพี่สาวและพี่ชายคือ สุดาทิพย์ ม่วงนวล[8], ณรงค์ สุวะดี[9] ส่วนน้องสาวและน้องชายคือ ปณิดา สุวะดี และณัฐพล สุวะดี อดีตราชองครักษ์เวร[10][11] ส่วนพลตำรวจโท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นน้าของเธอ[12][13]

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนวัดสุนทรสถิต (สามัคคีวิทยาคม) ในอำเภอบ้านแพ้ว[7][14] ระดับประถมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร[15][16] และเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดน้อยใน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร[14][17][18] ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อปี พ.ศ. 2540[6] ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2545 และสำเร็จการศึกษาปริญญาโท หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์) ภาคพิเศษ สาขาวิชาการพัฒนาการครอบครัวและเด็ก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94[19][20]

เข้าสู่พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กับท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา ปี พ.ศ. 2550

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์เริ่มเข้าถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยรับผิดชอบหน้าที่การงานในฐานะข้าราชการพลเรือนในพระองค์ นอกจากนี้ยังได้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านศิลปาชีพ[21][22]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่อมาเข้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา" เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[23] โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวว่า

ตอนนี้อยู่เป็นครอบครัว มีกันอยู่ 4 คน มีเรา หม่อม พระองค์ภา และท่านหญิง อยู่กับหม่อมมาตั้งแต่ปี 2536 อยู่มานาน รู้จักกันมา 9-10 ปีแล้ว ดูใจกันมานานแล้ว [...] เราอยากจะสร้างครอบครัวขึ้นมาให้ดี หม่อมมีหน้าที่ดูแลเรื่องต่าง ๆ ภายในบ้าน ดูแลข้าราชบริพาร รวมทั้งถวายงานสมเด็จ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) เราใช้ชีวิตกันแบบสบาย ๆ ไม่มีอะไร [...] เราอายุ 50 ปีแล้ว ไม่อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ อยากได้ครอบครัวที่ดี ที่คนพอใจเป็นประโยชน์ คบได้ ไม่ใช่เป็นการเอาอะไรมาใส่ประชาชน แต่ขอให้ประชาชนยอมรับว่าคนนี้ใช้ได้ ถ้าเป็นหม่อมในพระบรมฯ ทุกคนก็ต้องกราบไหว้ มันก็พัง[24]

พระบิดาและพระมารดาของพระองค์รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "อัครพงศ์ปรีชา"[12] เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2545[25] หม่อมศรีรัศมิ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และได้ประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร พระราชโอรส เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548[26] ภายในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548[27]

ทรงขอลาออกจากฐานันดรศักดิ์

กองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศขณะนั้น) มีหนังสือลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 แจ้งถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอยกเลิกชื่อสกุลพระราชทาน "อัครพงศ์ปรีชา" โดยให้ผู้ใช้ชื่อสกุลพระราชทานนี้ในปัจจุบันกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิม[28] โดยก่อนหน้านั้นมีการกวาดล้างพระญาติใกล้ชิดของพระองค์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง[12] โดยทั้งหมดกลับไปใช้สกุลเดิมก่อนพระราชทานคือ "เกิดอำแพง"[29][30][31] ต่อมาข้อมูลนามสกุลนั้นผิด เมื่อตรวจสอบแล้วจึงเปลี่ยนให้ใช้ชื่อสกุลว่า "สุวะดี" อันเป็นชื่อสกุลเดิมทีแท้จริง[5][32] ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557[25] ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีมองว่า นี่อาจเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การหย่าร้างของทั้งสองพระองค์[12]

วันที่ 12 ธันวาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (ยศในขณะนั้น) ได้ทรงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยศในขณะนั้น) เป็นลายลักษณ์อักษรว่าขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557[33] การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเงิน 200,000,000 บาท แก่พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์เพื่อทรงใช้ในการดำรงพระชนม์ชีพและทรงดูแลครอบครัว[34] มีข่าวกระทรวงการคลังยืนยันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยศในขณะนั้น) ขอรับเงินพระราชทานจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และยังขอความร่วมมือสื่อมวลชนงดเผยแพร่เอกสารที่ไม่เหมาะสมในสื่อทุกชนิด[35]

ประกาศการลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วันที่ 13 ธันวาคม สังคมออนไลน์ส่งภาพศรีรัศมิ์ทรงทำบัตรประชาชนใหม่ต่อ ๆ กัน[36][37] เธอทรงใช้คำนำหน้านามว่า "นางสาว" และพระองค์ได้ทรงย้ายออกจากวังศุโขทัยเสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักในอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี[38][39] อย่างไรก็ตามเธอจะมีคำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" เนื่องจากพระองค์ได้ทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ ได้ให้ข้อมูลว่าพระองค์ได้ทรงลาออกจากการเป็นข้าราชการทหาร[40] วันที่ 17 ธันวาคม เธอเขียนจดหมายขอบคุณสื่อมวลชนที่ติดตาม และขอปฏิบัติธรรมเงียบ ๆ กับครอบครัว[41][42] เนื่องจากมีสื่อมวลชนติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดจนรบกวนการปฏิบัติธรรมของพระองค์[43]

กรณียกิจ

กรณียกิจส่วนใหญ่ของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ขณะเป็นพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารนั้น จะเน้นในด้านครอบครัวและเด็กเป็นหลัก โดยโครงการแรกของคือ โครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร[44] ที่รณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่[45][46][47] โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว เพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันครอบครัว และลดปัญหาสังคมทางหนึ่ง[44] ต่อมาได้มีดำริในการเปิด ศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว อันจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นวงจรทุกช่วงวัย[48] ระหว่างวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยชรา ให้มีความสัมพันธ์กลมเกลียว[49]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงประกอบพระกรณียกิจครั้งสุดท้ายก่อนลาออกจากฐานันดรศักดิ์ในพิธีเปิดมหกรรม 9 ปี สายใยรักแห่งครอบครัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2557[50]

ด้านสาธารณสุข

มีพระดำริจัดตั้ง ศูนย์ศรีทวีรัก อันมีความหมายว่า "ศูนย์แห่งการแบ่งปันและเพิ่มพูนความรัก" มีหลักการเดียวกับสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่เปลี่ยนมาเป็นบริการแก่ผู้สูงอายุแทน โดยให้ลูกหลานนำผู้สูงอายุมาฝากในเวลากลางวันเพื่อไปประกอบอาชีพ ณ ที่นั่นผู้สูงอายุก็จะพบปะกับสหายวัยเดียวกัน บริการผู้สูงวัยอายุระหว่าง 65-80 ปี ให้ได้รับการพักผ่อนอย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิต[44]

มีการสร้าง ศุโขโยคะ ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างสุขภาพ ณ พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร[51] เมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อให้ข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์ มีระบบการออกกำลังกายแบบ "ไจโรทานิก" (Gyrotonic)[52] โดยกล่าวไว้ว่า "ไปเล่นที่เมืองนอกมา เห็นว่าอะไรดีก็นำเข้ามาให้ประชาชนได้เล่นกัน"[53] ที่สุดศุโขโยคะ ได้ปิดตัวลงในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557[54]

นอกจากนี้มีการจัดตั้ง "กองทุนทีปังกรนภัทรบุตร" ที่นำเงินไปสนับสนุนโครงการที่ช่วยเหลือทารก ซึ่งถือเป็นโครงการที่ผลักดันให้มีการจัดทำนโยบายสาธารณสุขระดับประเทศแก่ทารกวัยตั้งแต่ 0-5 ปี รวมไปถึงการช่วยเหลือทารกที่คลอดก่อนกำหนด และการรณรงค์และป้องกันการท้องก่อนวัยอันควร[49]

ด้านสาธารณประโยชน์

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (พระยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ[55]

ในด้านสาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น หลังอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ได้ทรงร่วมกิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วยการทำความสะอาดพื้นอาคารและกระจกของอาคารศรีรัศมิ์ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[56] โดยก่อนหน้านี้ได้ทรงเยี่ยมผู้ประสบภัย และประทานถุงยังชีพแก่ราษฎรในต่างจังหวัด[57]

ทั้งนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้ทรงอุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ. 2554[58] รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2556[59][60] เป็นต้น

มูลนิธิ/องค์กรในพระอุปถัมภ์

  • ศูนย์ ๓ วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว
  • มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ในพระอุปถัมภ์ฯ[61]ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อมูลนิธิเป็น มูลนิธีส่งเสริมการพัฒนาบุคคล[62]
  • กองทุนทีปังกรนภัทรบุตร[63]

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร
(พ.ศ. 2548 — พ.ศ. 2557)
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม

พระอิสริยยศและคำนำหน้าพระนาม

  • ศรีรัศมิ์ สุวะดี (9 ธันวาคม พ.ศ. 2514 — 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544)
  • หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 — 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548)
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 — 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557)
  • ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 — ปัจจุบัน)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระยศทหาร

พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี
รับใช้กองทัพบกไทย
ประจำการ1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ชั้นยศ พลตรีหญิง
  • ว่าที่ร้อยตรีหญิง[68] และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชองครักษ์พิเศษ (5 เมษายน พ.ศ. 2555)[68]
  • ร้อยตรีหญิง และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (12 เมษายน พ.ศ. 2555)[69]
  • พันเอกหญิง (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555)[70]
  • ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักเวชศาสตร์ครอบครัว กรมแพทย์ทหารบก (1 พฤศจิกายน 2556)[71]
  • พลตรีหญิง (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556)[72]

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ปริญญากิตติมศักดิ์สถาบันอ้างอิง
วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาส่งเสริมธุรกิจการเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม[73]
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปฐมวัยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์[74]
ครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปฐมวัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่[74]
สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช[75]
สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[76]

สถานที่อันเนื่องด้วยนาม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง