สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ

สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

ประวัติ

แนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จากกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง และได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 แต่เรื่องก็ชะงักลงเพราะบุคลากรในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการปฏิวัติในสมัยนั้น ก็เลื่อนการพิจารณาไป เพียงแต่ได้มีการจัดตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัย" (ปัจจุบันคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ) ขึ้น เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นในยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้ย้ายไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จากเดิมที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของระบบราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงได้มีความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเรื่อยมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 แนวคิดดังกล่าวก็ถูกรื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[1]

จนกระทั่ง พ.ศ. 2530 ทบวงมหาวิทยาลัยริเริ่มโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2533–2547) ขึ้น ซึ่ง 1 ใน 6 ข้อเสนอระบุว่า "รัฐบาลพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง"

จากแผนดังกล่าว ประเทศไทยจึงเกิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแต่แรกตั้งอยู่ 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2534 สมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 สมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2541 นโยบายการออกนอกระบบก็ได้เป็นข้อตกลงหนึ่งที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยรัฐบาลมุ่งหมายลดงบประมาณในส่วนราชการให้สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการเสนอให้มหาวิทยาลัยหรือคณะวิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ "ออกนอกระบบ" ราชการ และมีการหยุดรับข้าราชการเข้ามาในมหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งหมด ตำแหน่งที่บรรจุเข้ามาใหม่ เรียกว่า "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการเดิม และหากผู้ที่เกษียณราชการไปให้ตำแหน่งและเงินเดือนนั้นเปลี่ยนเป็นตำแหน่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในตำแหน่งเริ่มบรรจุใหม่เท่านั้น

ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เริ่มมีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้งแต่มีการคัดค้าน ดังนั้นจึงยังไม่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงนี้ ต่อมาในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกครั้ง

รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ

ในประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ 29 แห่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบราชการหรือไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยในจำนวนนี้มี 7 แห่งที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐตั้งแต่ก่อตั้ง ส่วนที่เหลือนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐโดยการแปรสภาพด้วยผลของกฎหมาย ทั้งนี้มีเฉพาะมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแห่งเดียวที่อยู่ในกำกับของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จะอยู่ในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง

ลำดับที่ชื่อสถาบันอุดมศึกษาวันที่มีผลบังคับมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ตั้งแต่ก่อตั้งอ้างอิง
1มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533ใช่[2]
2มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์8 เมษายน พ.ศ. 2535ใช่[3]
3มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย2 ตุลาคม พ.ศ. 2540[4]
4มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย2 ตุลาคม พ.ศ. 2540[5]
5มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง26 กันยายน พ.ศ. 2541ใช่[6]
6มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี7 มีนาคม พ.ศ. 2541[7]
7มหาวิทยาลัยมหิดล17 ตุลาคม พ.ศ. 2550[8]
8มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ27 ธันวาคม พ.ศ. 2550[9]
9มหาวิทยาลัยบูรพา10 มกราคม พ.ศ. 2551[10]
10มหาวิทยาลัยทักษิณ6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[11]
11จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[12]
12มหาวิทยาลัยเชียงใหม่7 มีนาคม พ.ศ. 2551[13]
13สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง8 มีนาคม พ.ศ. 2551[14]
14มหาวิทยาลัยพะเยา17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553ใช่[15]
15มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553ใช่[16]
16สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555ใช่[17]
17มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558[18]
18มหาวิทยาลัยขอนแก่น18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558[19]
19มหาวิทยาลัยสวนดุสิต18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558[20]
20มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์16 สิงหาคม พ.ศ. 2558[21]
21สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์18 เมษายน พ.ศ. 2559[22]
22วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์18 เมษายน พ.ศ. 2559ใช่[23]
23มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559[24]
24มหาวิทยาลัยศิลปากร3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559[25]
25มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559[26]
26มหาวิทยาลัยแม่โจ้6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560[27]
27สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560[28]
28สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561[29]
29สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562[30]

สถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในขั้นตอนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

สถาบันอุดมศึกษาที่มีร่างพระราชบัญญัติของสถาบันอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาคณะรัฐมนตรีรับหลักการแล้วอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการพิจารณาของมหาวิทยาลัยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ... [31]
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พ.ศ. ... 
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเพชรบูรณ์ พ.ศ. ...
ร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. ... 

การวิพากษ์วิจารณ์

การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น เป็นประเด็นขัดแย้ง มีการล่ารายชื่อคัดค้าน[32] จนกระทั่งวาระสุดท้ายของการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรรมการสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการผ่านร่างพระราชบัญญัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ... อย่างเร่งรีบโดยไม่ฟังเสียงประชาคมจุฬาฯ นอกจากนี้ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งนักวิชาการ นักการศึกษา รวมถึงนิสิต นักศึกษา ประชาชนโดยทั่วไป โดยประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ[33]

ข้อดี

  • เพื่อเกิดความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยมากขึ้น
  • เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
  • มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้

ข้อเสีย

  • นักการเมืองมีบทบาทในมหาวิทยาลัยมากขึ้น เนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่งยังต้องขอรับการจัดสรรจากรัฐบาล
  • ค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยทางอ้อม
  • คณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการเปิดสอนอาจจะต้องปิดตัวลง
  • การบริหารงานของฝ่ายบริหารอาจจะไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก
  • เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติมีลักษณะเป็นกฎหมายบริหารจัดการ "ทรัพย์สินที่ดิน" ไม่ได้เป็นการบริหารจัดการ "การศึกษา" แต่อย่างใด[34]

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง