สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ชื่อย่อ: สสส.) เป็นหน่วยงานของรัฐ มีสถานะเป็นองค์การมหาชน[2] ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 [3] เพื่อเป็นองค์กรหลัก ซึ่งทำหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยมุ่งหมายให้คนไทย มีสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี ด้วยการกระตุ้นให้เกิด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความเชื่อ และสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อคุณภาพชีวิต อันจะช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544; 22 ปีก่อน (2544-11-08)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 99/8 ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
งบประมาณประจำปี4,314 ล้านบาท (พ.ศ.2567) [1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์, ผู้จัดการ
  • ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม, รองผู้จัดการ
  • เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร, รองผู้จัดการ
ต้นสังกัดหน่วยงานนายกรัฐมนตรีไทย
ลูกสังกัดหน่วยงาน
เว็บไซต์http://www.thaihealth.or.th

ทั้งนี้ งบประมาณ สสส. มาจากการรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบ และสุรา โดยเป็นการจัดเก็บส่วนเพิ่มในอัตรา 2% ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ซึ่งการออกกฎหมายให้จัดเก็บเงินเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะโดยตรงเช่นนี้ เป็นหนึ่งในกลไกจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ที่ถูกออกแบบให้ประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง [4]

สสส.ถือเป็นองค์กรด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับมติของสมัชชาสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (World Health Assembly Resolution 12.8 : Health Promotion and Health Life-Style) ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

วิสัยทัศน์

ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี

พันธกิจ

จุดประกาย กระตุ้น สาน และ เสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ

พัฒนาก้าวสำคัญ

ปี 2545
  • คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรก และอนุมัติให้ใช้งบประมาณเท่าที่จำเป็นในวงเงิน 9.5 ล้านบาท
ปี 2546
  • ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน
  • ผลักดันมติคณะรัฐมนตรี ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลา 22.00 น. ในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และป้ายโฆษณาใกล้สถานศึกษาเป็นผลสำเร็จ
  • รณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ปีแรกมีผู้งดดื่ม ร้อยละ 40.4 ประชาชน ร้อยละ 84.7 รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้
  • คณะรัฐมนตรี มีมติให้ขยายเวลาออกอากาศของวิทยุโทรทัศน์ให้มีรายการเพื่อเยาวชนและครอบครัวในช่วงเวลาหลัก (prime time) เป็นผล
ปี 2547
  • กระทรวงสาธารณสุขปรับเปลี่ยนคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นรูปภาพ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 มีนาคม 2548 องค์การอนามัยโลกเชิญ สสส.เป็นที่ปรึกษาให้แก่ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในการจัดตั้งองค์กรลักษณะเดียวกัน
  • โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มีผู้งดดื่มเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 48.9 และประชาชน ร้อยละ 84.1 รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ ประชาชน 229,979 คนร่วมลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เห็นชอบประกาศห้ามเติมน้ำตาลในนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก
  • การแข่งขันกีฬาระดับชาติทุกรายการประกาศ ตัวเป็น "กีฬาปลอดแอลกอฮอล์" และ 14 สมาคมกีฬายุติการรับทุนอุปถัมภ์จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนลดลง โดยในปี 2547 มีผู้ดื่ม ร้อยละ 32.7 ลดลงจากปี 2546 ที่มีจำนวนผู้ดื่ม ร้อยละ 38.6
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขายสำเร็จ และมีผลบังคับใช้เป็นประเทศที่ 3 ในโลก
  • ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอัตราเพิ่มอย่างต่อเนื่องเปลี่ยนเป็นอัตราลดลงในปีงบประมาณ 2548 ขณะที่ภาษีสรรพสามิตยาสูบลดลง ร้อยละ 6.8 โดยอัตราภาษียังคงเดิม
  • ผลักดันให้การทำสุหนัตของเด็กชายไทยเข้าอยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • ร่วมสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดทั้งการจำหน่ายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ
  • ร่วมผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเพิ่มชั่วโมงพลศึกษาในหลักสูตรจากสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง
  • สื่อโฆษณารณรงค์ของสสส. ได้รับรางวัลดีเด่นจากการตัดสินผลงานโฆษณาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศรวม 26 รางวัล
ปี 2549
  • คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดวาระหลักประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในปีแรกใช้ประเด็น “60 ปี 60 ล้านความดีเริ่มที่เยาวชน”
  • สนับสนุนให้สถานที่ราชการเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยดำเนินงานในหน่วยราชการนำร่อง 29 หน่วยงาน
  • เปิดตัวสถานีโทรทัศน์เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว "ETV " ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 20,000 แห่ง และครอบครัวที่เปิดรับเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 2 ล้านครัวเรือน
ปี 2550
  • ร่วมผลักดันให้มีการประกาศนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 10 เรื่อง ดังนี้
  • คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ เพื่อทำหน้าที่ให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ต่อสุขภาวะของสังคม
  • คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีวาระเด็กและเยาวชน ปี 2550 เพื่อให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนใน 5 ประเด็นและให้ 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ
  • กรมประชาสัมพันธ์กำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ดำเนินการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อวิทยุโทรทัศน์
  • กระทรวงสาธารณสุขกำหนดนโยบายห้ามแจกตัวอย่างนมผสมแก่ทารกหลังคลอดในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม
  • มหาเถรสมาคมมีมติให้วัดทุกวัดทั่วประเทศจัดงานเทศกาลและงานต่าง ๆ ในวัด โดยปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • กองทัพไทยมีนโยบายและแผนแม่บทการสร้างเสริมสุขภาพกำลังพล โดยให้ทุกเหล่าทัพจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนแม่บทและให้มีการดำเนินการตามแผน
  • คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุมการตลาดขนมเด็ก
  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 61 เรื่องการตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคและในมาตรา 30 และ 54 เรื่องสิทธิผู้พิการ
  • สำนักงาน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศมาตรฐานตู้ทำน้ำเย็นและห้ามโรงเรียนใช้ตู้ทำน้ำเย็นที่บัดกรีด้วยตะกั่ว
ปี 2551
  • ร่วมสร้าง นโยบาย กฎหมาย และมาตรการ สร้างเสริมสุขภาพระดับชาติ และระดับท้องถิ่น 36 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นนโยบายด้านการลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ผ่านการพิจารณาจากฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 (ตุลาคม 2550 - กันยายน 2551) จำนวน 19 เรื่อง
  • ระบบบริการเพื่อสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ และระบบบริการบำบัดของภาครัฐ เอกชน และชุมชน ได้รับการพัฒนาสมรรถนะสู่การให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ
  • ผลงานศึกษาวิจัยด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ สสส. สนับสนุน เพิ่มขึ้นจาก 40 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2550 เป็น 168 เรื่อง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า ศูนย์วิจัยเรื่องยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ที่ สสส. สนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น ได้ร่วมมีบทบาทในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอข้อมูลใหม่ด้านการป้องกันปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 3 เรื่อง ดังกล่าวขึ้นเป็นประจำทุกปี
  • เครือข่ายสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 4 ประการ ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น และได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้เป็นผู้เฝ้าระวังความเสี่ยง และผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
  • การรณรงค์เพื่อสร้างกระแสสังคมและค่านิยมสนับสนุนการลดปัจจัยเสี่ยงหลักทั้ง 4 ประการ ดำเนินต่อเนื่องโดยผ่านสื่อทุกแขนงตลอดทั้งปี

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ปี 2559
  1. นายแพทย์ วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่สอง
  2. นายแพทย์ คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
  3. ดร. สุวรรณี คำมั่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการพัฒนาชุมชน
  4. นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
  5. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ด้านการกีฬา
  6. นาย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม
  7. ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร
ปี 2560

คณะกรรมการมีผล 17 ตุลาคม 2560 [5]

  1. นายแพทย์ วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่สอง
  2. นายแพทย์ คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
  3. นาย พิทยา จินาวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนาชุมชน
  4. นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
  5. นาง ทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการศึกษา
  6. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการกีฬา
  7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม (ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2566)[6]
  8. นาย ไพโรจน์ แก้วมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
  9. ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร
ปี 2567

คณะกรรมการมีผล 26 มีนาคม 2567 [7]

  1. นาย สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการคนที่สอง
  2. รองศาสตราจารย์ วิทยา กุลสมบูรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
  3. นาย พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนาชุมชน
  4. นาย วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการสื่อสารมวลชน
  5. รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการศึกษา
  6. นาง ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการกีฬา
  7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนวันต์ สินธุนาวา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านศิลปวัฒนธรรม
  8. นาย เสรี นนทสูติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านกฎหมาย
  9. นาย สัมพันธ์ ศิลปนาฏ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน ด้านการบริหาร

โครงสร้างองค์กร

ด้านนโยบายและการกำกับดูแล

ด้านนโยบายและการกำกับดูแล ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

  • คณะกรรมการกองทุน มีบทบาทควบคุมดูแลการดำเนินกิจการกองทุนในระดับนโยบายและกำหนดงบประมาณในภาพรวม รวมทั้งออกกฎระเบียบข้อบังคับที่สำคัญในการดำเนินงาน
  • คณะอนุกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งขึ้นเพื่อมอบหมายงาน ได้แก่
  1. คณะกรรมการบริหารแผน ปัจจุบันมี 7 คณะ มีบทบาทในการพัฒนาแผน กำกับดูแลให้การดำเนินงานตามแผนแต่ละด้านที่รับผิดชอบบรรลุเป้าหมาย
  2. คณะอนุกรรมการเฉพาะด้าน ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาสำนักงานกองทุน คณะอนุกรรมการนโยบายทางการเงิน คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะอนุกรรมการสารสนเทศ คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
ด้านการประเมินผลการดำเนินงาน

ดำเนินการโดย คณะกรรมการประเมินผล ซึ่ง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 มาตรา 38 ให้มีอำนาจหน้าที่ประเมินผลด้านโยบายและการกำหนดกิจการของกองทุน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน รายงานผลพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการประเมินผลจึงมีความอิสระจากคณะกรรมการกองทุนฯ มีบทบาทในการ ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนในภาพรวม ทั้งด้านนโยบาย ด้านผลกระทบต่อสังคม และด้านการบริหารจัดการ อันจะเป็นหลักประกันความรับผิดชอบของ สสส.ต่อสาธารณะ (public accountability)

ด้านการบริหารจัดการให้เกิดผลตามนโยบาย
  • ผู้จัดการกองทุน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ [8] เป็นผู้บริหารสูงสุดและเป็นผู้จัดการกองทุนในปี พ.ศ. 2567
  • รองผู้จัดการกองทุน
  • ผู้อำนวยการสำนัก และเจ้าหน้าที่ มีบทบาทหน้าที่ในการนำนโยบายมาดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์การสนับสนุนภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมพัฒนาและดำเนินกิจกรรม ตลอดจนการพัฒนาระบบและวิธีปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของบุคลากร และภาคีเครือข่าย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้ และรวบรวมจัดเก็บบทเรียน ผลงานวิชาการ รวมทั้งเผยแพร่และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความรู้ดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ขององค์กร
ด้านการดำเนินงานให้เกิดผลตามเป้าหมาย

ดำเนินการโดย ภาคีเครือข่าย ซึ่งแม้กฎหมายจะไม่ระบุโดยตรงว่าเป็นโครงสร้างของ สสส. แต่ภาคีเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพ ถือเป็นผู้ปฏิบัติงานที่แท้จริงของโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายยังมีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ ร่วมพัฒนาอย่างกัลยาณมิตร และร่วมลงทุนในบางกรณีด้วยเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายซึ่งมีประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์สุดท้ายร่วมกัน

การตรวจสอบการทุจริต

คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้แจ้งจุดประสงค์ที่จะตรวจสอบการทุจริตส่งผลให้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เปิดแถลงข่าวเพื่อประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการ สสส. โดยจะยื่นหนังสือลาออกให้กับคณะกรรมการ สสส. ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง[9] ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการใหม่ทั้งหมดจำนวน 7 ราย ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 [10]

  • รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการ
  • รองศาสตราจารย์ ปาริชาติ วลัยเสถียร กรรมการ
  • รองศาสตราจารย์ นภาภรณ์ หะวานนท์ กรรมการ
  • นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช กรรมการ
  • ศาสตราจารย์ วรภัทร โตธนะเกษม กรรมการ
  • นายมนัส แจ่มเวหา กรรมการ

ต่อมามีการคำสั่งให้กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 7 รายพ้นสภาพจากตำแหน่ง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2559[11]

  • นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน
  • นายสงกรานต์ ภาคโชคดี
  • นายเอ็นนู ชื่อสุวรรณ
  • นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
  • นายสมพร ใช้บางยาง
  • รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม[12]
  • นายวิเชียร พงศธร

ทั้งหมดพ้นสภาพในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง