หอเกียรติภูมิรถไฟ

พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ

หอเกียรติภูมิรถไฟ (อังกฤษ: Hall of Railway Heritage) เป็นอดีตพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับรถไฟและการโดยสารรถไฟของประเทศไทย ตั้งอยู่ในสวนจตุจักรติดกับถนนกำแพงเพชร กรุงเทพมหานคร ภายในมีการจัดแสดงรถจักรไอน้ำ โมเดลรถไฟ และรถไฟขนาดจิ๋วพร้อมกับเรื่องราวของระบบรถไฟของไทยและของโลก

หอเกียรติภูมิรถไฟ
Hall of Railway Heritage
ตัวอาคารในปี 2564 มีการติดป้ายว่า พิพิธภัณฑ์การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้เปิดทำการแต่อย่างใด
หอเกียรติภูมิรถไฟตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
หอเกียรติภูมิรถไฟ
ที่ตั้งในกรุงเทพมหานคร
ก่อตั้ง23 ตุลาคม 2532 (2532-10-23)
ยุติ23 ตุลาคม 2555 (2555-10-23)
ที่ตั้งสวนจตุจักร, เขตจตุจักร, กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13°48′40″N 100°33′25″E / 13.811056°N 100.556938°E / 13.811056; 100.556938
ประเภทพิพิธภัณฑ์รถไฟ
ผู้ก่อตั้งสรรพสิริ วิรยศิริ
เจ้าของชมรมเรารักรถไฟ (ดำเนินงาน)
การรถไฟแห่งประเทศไทย (เจ้าของพื้นที่)

ปัจจุบันหอเกียรติภูมิได้ปิดตัวลงแล้ว เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขอพื้นที่คืนจากชมรมเรารักรถไฟเนื่องจากผิดเงื่อนไขการใช้พื้นที่และการรถไฟจะดำเนินการพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง[1]

ประวัติ

หอเกียรติภูมิรถไฟ ภายในมีห้องจัดแสดงขนาดใหญ่ที่มีการจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์เก่าแก่เกี่ยวกับรถไฟ บริหารงานโดยชมรมเรารักรถไฟ ซึ่งประกอบไปด้วยหัวรถจักรไอน้ำมากมาย รวมไปถึงรถไฟจำลองและรถไฟจิ๋ว[2]

แต่เดิมตัวอาคารดังกล่าวได้ถูกกำหนดให้เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟมาแต่เดิมในช่วง 20-30 ปีก่อน โดยภายในอาคารมีการจัดเก็บรถไฟที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งหัวรถจักรดีเซลรุ่นต่าง ๆ รวมไปถึงรถจักรไอน้ำ และรถไฟพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ แต่กลับไม่ได้เปิดให้ใช้งานให้เกิดประโยชน์มากนัก[1] จนกระทั่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าถวายที่ดินที่ตั้งอาคารดังกล่าวให้พระราชทานให้กรุงเทพมหานครได้จัดทำสวนสาธารณะ คือสวนจตุจักรในปัจจุบัน แต่ตัวอาคารดังกล่าวที่ติดไปกับที่ดิน กรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เนื่องจากเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงถูกปล่อยร้างเอาไว้[1]

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2532[3][4] ชมรมเรารักรถไฟที่ก่อตั้งขึ้นโดย สรรพสิริ วิรยศิริ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ได้ขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากการรถไฟฯ โดยเดิมทีจะใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์รถไฟ ตามจุดประสงค์เดิมของอาคาร แต่การรถไฟได้แจ้งมาว่าไม่สามารถใช้งานชื่อนี้ได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับให้ดำเนินการในชื่อนี้โดยเอกชน สรรพสิริจึงได้ยื่นขอใช้งานเฉพาะตัวอาคาร ไม่ได้ใช้ชื่อเดิมด้วย การรถไฟจึงได้ยินยอมให้ใช้งาน โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ[1] ได้แก่

  1. การรถไฟฯ จะมอบให้เพียงอาคารเปล่า ไม่มีการจ่ายระบบน้ำและไฟให้ เนื่องจากถือว่าอาคารดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการโดยการรถไฟฯ
  2. ต้องใช้เงินส่วนตัวในการดำเนินการ ห้ามทำการค้าหรือหาประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น
  3. ให้ดำเนินการให้สมเกียรติของการรถไฟฯ

จากนั้นชมรมจึงได้ทยอยนำสินทรัพย์ทั้งของส่วนตัว และสมบัติของการรถไฟไทยที่อยู่ในอาคารอยู่แล้วมาดำเนินการซ่อมแซมและจัดแสดงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสมบัติบางชิ้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น รถรางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานเอาไว้ให้ รถยนต์บางคันที่จัดแสดงเป็น 1 ใน 10 คันแรกของประเทศไทย และบางชิ้นเป็นของชิ้นสุดท้ายที่ยังไม่เคยถูกใช้งานเลย เช่น รถจักรไอน้ำ 1009 ที่ชาวไต้หวันนำมาขอสัมปทานวิ่งในปี พ.ศ. 2506 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม[1] รวมไปถึงตระเวนเก็บกู้ซากรถไฟที่ถูกทิ้งนำมาคืนสภาพและนำมาจัดแสดง[5]

ช่วงปี พ.ศ. 2551 หอเกียรติภูมิรถไฟเริ่มประสบปัญหาขาดเงินทุนในการดูแล เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง และเงื่อนไขในการห้ามสร้างรายได้ของการรถไฟ และข้อจำกัดอื่น ๆ อีกอาทิ การที่ต้องขนส่งน้ำมาเองจากบ้านมาใช้งานที่อาคารตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการ เนื่องจากอาคารดังกล่าวไม่มีเลขที่ กรุงเทพมหานครและการรถไฟไม่ให้ใช้ระบบน้ำ จึงทำให้ต้องขนส่งน้ำมาเพื่อใช้ดูแลและทำความสะอาดอาคารและสิ่งของจัดแสดงภายในหอเอง ซึ่งขณะนั้นมีแนวคิดว่าหากไม่มีเงินทุนพอที่จะดูแลก็จะตัดสินใจขายรถจักรไอน้ำคันสุดท้ายของประเทศไทยที่ จุลศิริ วิรยศิริ ผู้รับช่วงดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟและชมรมเรารักรถไฟครอบครองและจัดแสดงอยู่ในหอ คือ "รถจักรหมายเลข 10089" ที่มีชื่อเรียกว่า "รถดุ๊บ" เพื่อนำมาเป็นเงินทุนในการดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟ จัดตั้งเป็นมูลนิธิ และหาคนมาดูแลสานต่อหอดังกล่าว โดยตั้งราคาไว้ที่ 20 ล้านบาทในเวลานั้น[6]

กระทั่งในปี พ.ศ. 2552 การรถไฟได้มีหนังสือมาที่ชมรมเรารักรถไฟเพื่อขออาคารคืน ด้วยข้อกล่าวหา 2 ข้อคือ

  1. กล่าวหาว่าชมรมพยายามเปลี่ยนชื่อจากที่ใช้อยู่ คือ จากหอเกียรติภูมิรถไฟ เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งทางชมรมได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยระบุว่าอาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการเข้าร่วมประชุมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วชมรมได้เสนอให้การรถไฟฯ ได้จัดทำพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมา แต่การรถไฟตอบมาว่าติดขัดในด้านงบประมาณ และขอให้เอกชนโดยเฉพาะชมรมช่วยเป็นแกนหลักในการผลักดัน แต่กลับมีหนังสือมาถึงและกล่าวหาว่าชมรมจะสร้างรายได้จากการทำเป็นพิพิธภัณฑ์
  2. กล่าวหาว่าชมรมสร้างรายได้จากการดำเนินการหอเกียรติภูมิรถไฟ ด้วยการตั้งตู้น้ำดื่ม ซึ่งชมรมขายเพียงน้ำขวดละ 5-10 บาท ของที่ระลึกก็ไม่มีการจัดจำหน่าย

หอเกียรติภูมิรถไฟเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555[7] ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช และดำเนินการขนทรัพย์สินส่วนของชมรมออก เพื่อที่จะส่งมอบพื้นที่คืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เนื่องจากการรถไฟฯ ระบุว่ามีโครงการที่จะดำเนินการพิพิธภัณฑ์รถไฟต่อด้วยตัวเองตามหนังสือที่ได้แจ้งมา โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทยหลายครั้งแล้วแต่หาทางออกร่วมกันไม่ได้ ประกอบกับการดำเนินการหอเกียรติภูมิรถไฟที่ผ่านมา ชมรมได้ใช้งบประมาณของตนเองในการดำเนินงานและจากเงินที่ได้รับบริจาค รวมกันตกปีละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์มีเงินบริจาคได้เกือบวันละ 1,000 บาท แต่ช่วงหลังมานี้เนื่องจากพิษเศรษฐกิจที่ซบเซาลง บางวันได้เพียง 20 บาทเนื่องจากเป็นการเข้าชมฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขของการรถไฟฯ[4]

ข้อกังวล

บุตรชายของ สรรพสิริ วิรยศิริ คือ จุลศิริ วิรยศิริ ผู้รับช่วงดูแลชมรมเรารักรถไฟต่อจากบิดา แสดงถึงความกังวลหลังจากต้องปิดตัวหอเกียรติภูมิรถไฟลง ว่าทางหน่วยงานราชการและการรถไฟแทบไม่เคยเห็นคุณค่าของมรดกต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ที่ผ่านมาปล่อยทิ้งไว้จนมีสภาพทรุดโทรม ขาดการดูแลรักษา จนกระทั่งตนได้เข้ามารับช่วงการดูแลหอเกียรติภูมิรถไฟต่อจากบิดา เนื่องจากเป็นความตั้งใจและคำสั่งเสียว่าให้สู้ต่อและอยากผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์รถไฟให้ได้ตามความตั้งใจของคุณปู่ คือพระยามหาอำมายาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ท่านรักกิจการรถไฟเป็นอย่างมากและเป็นสิ่งที่พระองค์พระราชทานเพื่อนำพาความเจริญมาสู่บ้านเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการรถไฟขาดความใส่ใจในการดูแลมรดกตกทอดเหล่านี้และปล่อยทิ้งตากแดดตากฝนไว้ โดยชมรมอยากเห็นความชัดเจนหลังจากนี้ว่าจะดำเนินการต่อไปหลังจากหอเกียรติภูมิรถไฟส่งมอบพื้นที่คืน[4]

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมา และเริ่มต้นเปิดพิพิธภัณฑ์รถไฟขนาดไม่ใหญ่มาก บริเวณด้านหน้าสถานีกรุงเทพ เปิดทำการวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 10.00 - 18.00 น.[8] โดยยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการบริเวณอาคารเดิมของหอเกียรติภูมิรถไฟแต่อย่างใด

การจัดแสดงในอดีต

มีการจัดแสดงเกวียนหลายประเภท รถจักรไอน้ำขนาดเล็ก 2 คันของบริษัทเกียวซานโกเกียว (Kyosan Kogyo) จากปี พ.ศ. 2492 และปี 2502[9] รถจักรดีเซล 2 คัน รวมไปถึงรถไฟห้องสมุด ซึ่งอีกจุดเด่นคือรถไฟโรงพยาบาล ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งไม้สักทองมาจากประเทศบราซิล[10] ส่งไปผลิตและประกอบกับตัวรถไฟในประเทศอังกฤษ[10] และขนส่งทางเรือกลับมายังกรุงเทพมหานครเพื่อใช้งาน โดยรถไฟมีจุดประสงค์เพื่อใช้งานให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนในเมืองและจังหวัดที่อยู่ห่างไกล[10][1] จัดแสดงอยู่ 2 ตู้รถไฟ ได้แก่คันแรก ระบุว่าเป็น "รถ ร.พ." ใช้งานเป็นตู้โรงพยาบาล คันต่อมาระบุว่าเป็น "รถ จ.พ." คือรถจัดเฉพาะพยาบาล ภายนอกเหมือนคันแรก ภายในเป็นรูปแบบของคลินิกตรวจร่างกายแบบฉุกเฉิน และยังมีตู้รถไฟอีกหลายประเภท เช่น รถ จ.ขจก. คือตู้บรรทุกทหารที่จะไปปราบปราบโจรก่อการร้าย และ "รถ จ.ล.ย." คือรถจัดเฉพาะขนลำไย[10]

รถจักรไอน้ำที่โดดเด่น คือรถจักรไอน้ำ หมายเลข 10089 แบบ 0-4-0T แนร์โรว์เกจ สร้างขึ้นโดยบริษัทกียวซานโกเกียว สร้างขึ้นเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนจะยุติการผลิดเนื่องจากพ้นสมัยการใช้รถจักรไอน้ำ โดยตัวรถยังไม่ผ่านการใช้งานเลยจากการถอดออกดูตรวจสอบ คาดว่าจะถูกจัดซื้อมาใช้งานโดยบริษัทโรงงานน้ำตาลในการใช้ขนอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงาน แต่เมื่อขนย้ายมาจนถึงท่าเรือวัดพระยาไกรโรงงานได้ใช้การขนส่งผ่านรถยนต์แทน ทำให้หัวรถจักรดังกล่าวถูกจอดทิ้งไว้ในโกดังและไม่เคยถูกใช้งานจนถึงปัจจุบันที่ถูกนำมาจัดแสดง[10][11]

รถจักรไอน้ำอีกคันได้รับสมยาว่า ผู้ปิดทองหลังพระของการรถไฟ ชื่อว่ารถจักรไอน้ำ "สูงเนิน" ที่รับหน้าที่การขนน้ำและตัดฟืนจากป่าหัวหวายมาให้กับขบวนรถไฟลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำที่ใช้งานที่สถานีสูงเนิน ตั้งอยู่กลางดงพญาไฟในอดีต[10]

หอเกียรติภูมิยานยานต์ พีระ-เจ้าดาราทอง

นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงรถยนต์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นรถ "เฟี๊ยตโทโปลิโน่" ที่เหมือนกันกับรถยนต์พระที่นั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ รถ "ดัทสันบลูเบิร์ด" ที่ได้ฉายาว่า "แท็กซี่เลือดไทย" เพราะเป็นรถยนต์ที่สร้างในประเทศไทยเป็นคันแรก รวมไปถึงซากเครื่องบินจริงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[10]

อนาคต

ชมรมมีแผนจะดำเนินงานการอนุรักษ์รถไฟต่อไป โดยจะขนย้ายทรัพย์สินและไปใช้ที่ดินและอาคารที่ได้รับการบริจาค จากบริษัท ทองสมบูรณ์คลับ จำกัด ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาต่อไป[3] โดยการทำงานร่วมกันกับ โดม สุขวงศ์ และ ปราจิน เอี่ยมลำเนา[4]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง