อสังคะ

อสังคะ (อักษรโรมัน Asaṅga; อักษรเทวนาครี: असङ्ग; ภาษาทิเบต: ཐོགས་མེད།; ภาษาจีน: 無著) คณาจารย์ท่านสำคัญของพุทธศาสนานิกายโยคาจาร หรือนิกายวิชญานวาท ในประเทศอินเดีย ท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ น้องชายต่างบิดาได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์แห่งสำนักนิกายนี้ นอกจากนี้ ท่านทั้ง 2 ยังเป็นผู้เผยแผ่คำสอนแนวอภิธรรมที่สำคัญยิ่ง

ประติมากรรมไม้แกะสลักรูปพระอสังคะ สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1208 ประดิษฐานที่หอแปดเหลี่ยมเบื้องทิศอุดร แห่งวัดโคฟุคุจิ เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงต้นของชีวิต

ท่านอสังคะมีบิดาอยู่ในวรรณะกษัตริย์ส่วนมารดาอยู่ในวรรณะพราหมณ์ [1] กำเนิดที่เมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันคือเมืองเปศวาร์ ในประเทศปากีสถาน) ในครั้งนั้นเมืองปุรุษปุระเป็นเขตขัณฑสีมาของอาณาจักรคันธาระ นักวิชาการยุคใหม่สันนิษฐานว่าท่านมีช่วงอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 4 ในชั้นต้นคาดว่า ท่านอสังคะอาจสังกัดนิกายมหีศาสกะ หรืออาจสังกัดนิกายมูลสรวาสติวาท [2] แต่ต่อมาแปลงนิกายเป็นฝ่ายมหายาน จากทัศนะของนักวิชาการของบางคน ชี้ให้เห็นว่า ผลงานรจนาของท่านเกี่ยวกับฝ่ายอภิธรรมนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากนิกายมหีศาสกะ [3] ดังที่ André Bareau ได้แสดงความเห็นไว้ว่า [4]

"มีหลักฐานบ่งชี้พอสมควรว่า เมื่อแรกอุปสมบทนั้นอสังคะสังกัดนิกายมหีศาสกะ และได้ซึมซับทัศนะเฉพาะของนิกายนี้มาไว้ในผลงานของท่านอยู่ไม่น้อยหลังจากที่ท่านได้กลายเป็นคณาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของฝ่ายมหายานแล้ว โดยท่านได้ทำการริเริ่มพระอภิธรรมปิฎกของฝ่ายมหายานขึ้น ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ของนิกายนี้"

จากบันทึกของพระถังซำจั๋ง ระบุว่า แรกเริ่มนั้น ท่านอสังคะเป็นพระในนิกายมหีศาสกะ ต่อมาเกิดความซาบซึ้งในคำสอนของฝ่ายมหายาน [5] ขณะที่น้องชายต่างบิดาของท่านคือ ท่านวสุพันธุ แรกเริ่มนั้นเป็นพระในสังกัดนิกายวรวาทสตวาท แต่ต่อมาท่านแปลงเป็นฝ่ายมหายาน หลังได้พบกับ อสังคะพี่ชายของท่าน และหนึ่งในศิษย์ของท่านอสังคะ [6]

ผลงานและคำสอน

ท่านอสังคะบำเพ็ญภาวนาอย่างจริงจังนานหลายปี กล่าวกันว่าในช่วงเวลานั้น ท่านมักเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อสดับพระธรรมเทศนาของพระศรีอารยะเมตไตรย โพธิสัตว์ และกล่าวกันว่า ผู้ที่จะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นจะต้องมีภูมิวิปัสนากรรมฐานขั้นสูง เรื่องราวตอนนี้ได้รับการบันทึกและถ่ายทอดโดยท่านปรมารถะ พระภิกษุชาวอินเดีย ซึ่งมีช่วงชีวิตระหว่างศตวรรษที่ 6 [7] ทั้งนี้ พระถังซำจั๋งยังได้กล่าวถึงตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า [5]

ในป่ามะม่วงใหญ่ห่างจากนครอโยธยาไปทางเบื้องหรดีประมาณ 5 - 6 ลี้ มีพระอารามแห่งหนึ่งที่พระโพธิสัตว์อสังคะรับพระธรรมเทศนาและสังสอนสัปบุรุษทั้งหลาย ในยามราตรีท่านจะเดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเข้าเฝ้าพระศรีอารยะเมตรไตรย โพธิสัตว์ เพื่อศึกษาคำสอนโยคาจารภูมิศาสตร์ คำสอนมหายานสูตรอลังการศาสตร์ คำสอนมัธยันตะวิภาคศาสตร์ เป็นอาทิ ในยามทิวา ท่านจะเทศนาหลักธรรมอันลึกซึ้งเหล่านี้แก่มหาสมาคม

ท่านอสังคะรจนาผลงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมของนิกายโยคาจาร เช่นคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ คัมภีร์มหายานสังเคราะห์ และอภิธรรมสมุจจัย เป็นอาทิ อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาสายจีนและทิเบตมีความเห็นขัดแย้งกันบางประการเกี่ยวกับผลงานของท่านอสังคะ ว่าชิ้นใดเป็นของท่านอย่างแท้จริง และชิ้นใดเป็นของพระเมตไตรย [8] นอกจากนี้ ฝ่ายจีนและฝ่ายทิเบตยังไม่ลงรอยกันว่า คัมภีร์รัตนโคตรวิภาคเป็นงานรจนาของท่านอสังคะหรือไม่ ซึ่งฝ่ายทิเบตเห็นว่าใช่ ขณะที่ฝ่ายจีนเห็นว่าเป็นผลงานของท่านสถิรมติ หรือท่านสารมติ ซึ่งในประเด็นนี้ Peter Harvey นักวิชาการด้านศาสนาเห็นว่า ข้อเสนอของฝ่ายทิเบตมีความเป็นไปได้น้อยมาก ขณะที่ท่าน Walpola Rahula นักวิชาการฝ่ายเถรวาทที่ได้ศึกษางานของท่านอสังคะมีความเห็นว่า อภิธรรมสมุจจัยมีความคล้ายคลึงกับคัมภีร์ฝ่ายสุตันตะปิฎกมากกว่าคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมของฝ่ายเถรวาท [9]

ผลงานการรจนาคัมภีร์

ชื่อภาษาจีนหมายเหตุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์金剛般若論ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยวสุพันธุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์การิกา能斷金剛般若波羅蜜多經論頌แต่งร่วมกับวสุพันธุ
วัชรเฉทิกาปรัชญาปารมิตาสูตรศาสตร์能斷金剛般若波羅蜜多經論釋แต่งร่วมกับวสุพันธุ
โยคาจารภูมิศาสตร์瑜伽師地論ฝ่ายจีนว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
ประกรณารยะวาจาศาสตร์顯揚聖教論-
อภิธรรมสมุจจัย大乘阿毘達磨集論-
อารยะศาสนะปกรณ์顯揚聖教論頌-
มหายานสูตราลังการศาสตร์大乘莊嚴經論ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
มหายานสังเคราะห์攝大乘論-
ซุนจงลุ่นอี๋หรูต้าปันรั่วปัวหลั๋วหมีจิง順中論義入大般若波羅蜜經พบแต่ฉบับภาษาจีน
(รัตนโคตรวิภาค) มหายาโนตตรตันตระศาสตร์究竟一乘寶性論ฝ่ายทิเบตว่าแต่งโดยพระไมเตรยะ
ลิ่วเหมินเจี้ยวโซ่วซี่ติ้งลุ่น六門教授習定論แต่งร่วมกับวสุพันธุ

การบำเพ็ญภาวนา

มารดาของท่านอสังคะมีนามว่า ประติษศีล มีศรัทธาประสาทะในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้ากับทั้งยังรู้ซึ้งในพระธรรมคำสอนยิ่งนัก เมื่อท่านยังเยาว์มารดาได้สั่งสอนสรรพวิชาคือศิลปศาสตร์ทั้ง 18 แขนงจนเชี่ยวชาญ กระทั่งเจริญวัยขึ้นมารดาได้ซักถามท่านอสังคะและท่านวสุพันธุว่า จะใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ ด้วยการสมรสและรับภารกิจต่อจากผู้เป็นบิดา หรือว่าจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุและกระทำกิจเกื้อหนุนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านอสังคะและพี่ชายตัดสินใจเป็นบรรพชิต

ท่านอสังคะพำนักอยู่ ณ อารามแห่งหนึ่ง เฝ้าเพียรศึกษาพระธรรมจนสามารถสาธยายพระธรรมนับพันๆ โศลกจนขึ้นใจ ท่านยังศรัทธาในพระศรีอารยะเมตไตรย โพธิสัตว์เป็นอย่างยิ่ง จึงดั้นด้นไปกระทำสมาธิภาวนาที่ภูปักษา เฝ้าทำกรรมฐานจดจ่อที่พระเมตไตรยโพธิสัตว์ หลังจากกำหนดจิตกรรมฐานนานถึง 3 ปี มิได้เกิดผลอันใด ท่านรู้สึกท้อแท้ใจจึงเริ่มคิดจะล้มเลิกการบำเพ็ญภาวนาเสีย

ขณะลงจากเขา ท่านแลเห็นกาตัวหนึ่งโผบินกลับรัง ขณะที่มันถลาใกล้ถึงรวงรังนั้นปีกของมันถูเข้ากับแผ่นหินของหน้าผาจนเกิดเป็นรอยขึ้น ด้วยความที่มันบินไปบินมาหลายครั้งหลายครา ท่านอสังคะเห็นดังนั้น จึงรำพึงว่า "เรามิควรท้อแท้ใจโดยง่าย ดูอย่างกาตัวนี้ โผบินไปมากลับรวงรัง จนปีกมันยังทำให้แผ่นผาเป็นรอยได้" คิดได้ดังนั้น ท่านจึงหวนกลับไปบำเพ็ญเพียรต่ออีก 3 ปี

หลังจากผ่านไปอีก 3 ปี ท่านยังรู้สึกไม่พึงใจ ด้วยไม่มีความก้าวหน้าอันใด จึงตัดสินใจละทิ้งการบำเพ็ญภาวนาอีกครั้ง ทว่า ระหว่างที่ลงจากเขาท่านได้ยินเสียงน้ำหยดลงหิน จึงพิจารณาดูเห็นว่า หยดน้ำนั้นยังทำให้ศิลาอันแข็งแกร่งเกิดรูลึกได้ ท่านจึงรำพึงว่า "แม้แต่สิ่งที่อ่อนที่สุดอย่างน้ำยังก่อให้เกิดรูบนก้อนศิลาได้ เราควรจะบำเพ็ญภาวนาต่อไป หากเราปรารถนาจะยังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในตัวเอง" ท่านจึงหวนกลับไปยังถ้ำอีกครั้ง เพื่อทำวิปัสนากรรมฐานอีก 3 ปี และด้วยความพากเพียรยิ่งกว่า ปีที่ผ่านมาๆ

แม้จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม เวลาก็ผ่านไปอีก 3 ปี ท่านเกิดท้อแท้อีกครั้ง และดำเนินลงจากเขาเข้าไปยังหมู่บ้านใกล้ๆ กันนั้น แลเห็นชายชรากำลังฝนแท่งเหล็กกับเสื้อผ้าฝ้ายอันบางเบาเพื่อทำให้เป็นเข็ม และได้ทำสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ท่านจึงฉุกคิดว่า "แม้แต่การทำเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ยังต้องอาศัยความพยายามอย่างยิ่งยวด เราจึงควรอย่างยิ่งยวดยิ่งกว่าเพื่อบรรลุธรรม" จากนั้นท่านจึงหวนกลับไปบำเพ็ญเพียรอีก 3 ปี

กระนั้น ก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปทั้งหมดแล้วถึง 12 ปี ท่านก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอันใด วันหนึ่งท่านมายังหมู่บ้าน ได้ยินเสียงสุนัขตัวหนึ่งคร่ำครวญด้วยความเจ็บปวด ท่านจึงมองหาจนพบมันนอนทิ้งร่างกายเน่าเปื่อยให้นอนชอนไช เหลือเพียงขาหน้ากับบางส่วนของร่างเท่านั้น มันจึงทุกข์ทรมานยิ่งท่านอสังคะรู้สึกเจ็บปวดไปกับมัน จึงฉวยเอาแท่งไม้ หวังจะเขี่ยหนอนออกจากแผล แต่เมื่อไม้แตะที่มันเท่านั้น สุนัขตัวนี้ก็ร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด ท่านจึงพยายมหยิบหนอนด้วยมือ แต่มันก็ยังเจ็บปวดอย่างสุดแสนยามที่นิ้วถูกแผลเน่าเปื่อย

ท่านอสังคะจึงรำพึงว่า เราควรใช้ลิ้นเขี่ยหนอนออกจึงจะควร แต่ในพลันที่ลิ้นของท่านสัมผัสกับสุนัข ร่างของมันแปรเปลี่ยนเป็นพระวรกายของพระศรีอารยะเมตรไตรย โพธิสัตว์ บังเกิดรัศมีแผ่นซ่านไปทั่วทุกสารทิศ ท่านอสังคะยินดีปรีดายิ่งนัก แต่เกิดความแคลงใจจึงซักถามพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระอนาคตพุทธะว่า ข้าแต่พระโพธิสัตว์ ข้าพระองค์จึงต้องผ่านความทุกข์ลำเค็ญมากมาย แต่ไฉนกลับไม่แสดงพระองค์แก่ข้าเล่า?"

พระโพธิสัตว์ดำรัสตอบว่า "เราอยู่กับท่านเสมอมา แต่ที่ท่านมิอาจแลเห็นเรา ด้วยความเมตตาอันไพศาลของท่านต่อสุนัขอนาถา ยังให้อกุศลกรรมทั้งหลายของท่านถูกขจัดสิ้น จึงสามารถแลเห็นเราได้ในที่สุด หากท่านไม่เชื่อคำของเรา จงแบกเราขึ้นไหล่ แล้วไต่ถามใครๆ ดูว่า ได้แลเห็นสิ่งใดฤๅ"

ท่าอสังคะจึงแบกพระโพธิสัตว์ไว้บนเหนือไหล่ แล้วเดินตรงเข้าไปยังเมือง ตะโกนถามผู้สัญจรผ่านไปมาว่า ท่านกำลังแบกสิ่งใดอยู่ หากแต่มีเพียงเสียงหัวเราะเย้ยหยันว่าท่านเป็นคนบ้า เว้นแต่หญิงชราผู้เปี่ยมเมตตาอารีเท่านั้นที่ตอบว่า แลเห็นซากสุนัขตาย ส่วนทาสผู้ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งกล่าวว่า แลเห็นเท้าของบุคคลหนึ่งบนไหล่ท่าน ในกาลต่อมา ทาสผู้นี้สำเร็จภูมิธรรมขั้นสูงเพียงแค่แลเห็นพระบาทของพระโพธิสัตว์

หลังจากสิ้นความสงสัยแล้วว่าเหตุที่ไม่อาจเห็นพระโพธิสัตว์เพราะกรรมของสัตว์โลกได้บดบังไว้ พระโพธิสัตว์ได้ไต่ถามท่านอสังคะว่า ท่าปรารถนาในสิ่งใด ท่านตอบว่า ปรารถนาจะประกาศพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงเชิญท่านสู่สวรรค์ชั้นดุสิต โดยเกาะชายอาภรณ์ของพระโพธิสัตว์ไป

ท่านอสังคะศึกษาพระธรรมคำสอนบนสวรรค์ชั้นดุสิตนานถึง 50 ปี จึงหวนกลับคือนสู่มนุษย์ภูมิ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนกระทั่งละสังขารในวัย 120 ปี [10]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง