อังเกลา แมร์เคิล

อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี

อังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (เยอรมัน: Angela Dorothea Merkel) เป็นนักการเมืองชาวเยอรมัน อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. 2005 ถึง 2021 เธอเป็นผู้นำของพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ถึง 2018 แมร์เคิลได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของสหภาพยุโรป[2] และเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก[3] เธอได้รับฉายาว่า นายกฯ หญิงเหล็ก (Eiserne Kanzlerin) นักวิจารณ์จำนวนมากเปรียบเธอเป็นผู้นำแห่งโลกเสรี[4][5][6]

อังเกลา แมร์เคิล
Angela Merkel
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ดำรงตำแหน่ง
22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 – 8 ธันวาคม ค.ศ. 2021
(16 ปี 16 วัน)
ประธานาธิบดี
รองนายกรัฐมนตรี
ดูรายนาม
ก่อนหน้าแกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์
ถัดไปโอลัฟ ช็อลทซ์
หัวหน้าสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน
ดำรงตำแหน่ง
10 เมษายน ค.ศ. 2000 – 7 ธันวาคม ค.ศ. 2018
(18 ปี 241 วัน)
ก่อนหน้าว็อล์ฟกัง ช็อยเบลอ
ถัดไปอันเนอเกรท ครัมพ์-คาเรินเบาเออร์
รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ
และความปลอดภัยนิวเคลียร์
ดำรงตำแหน่ง
17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 – 26 ตุลาคม ค.ศ. 1998
(3 ปี 343 วัน)
นายกรัฐมนตรีเฮ็ลมูท โคล
ก่อนหน้าเคลาส์ เทิฟเฟอร์
ถัดไปเยือร์เกิน ทริททิน
รัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน
ดำรงตำแหน่ง
18 มกราคม ค.ศ. 1991 – 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994
(3 ปี 303 วัน)
นายกรัฐมนตรีเฮ็ลมูท โคล
ก่อนหน้าอัวร์ชูลา เลร์
ถัดไปเคลาดีอา น็อลเทอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
อังเกลา โดโรเทอา คัสเนอร์

(1954-07-17) 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1954 (69 ปี)
ฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนีตะวันตก
พรรคการเมือง
คู่สมรส
  • อุลริช แมร์เคิล (สมรส 1977; หย่า 1982)
  • โยอาคิม เซาเออร์
    (สมรส 1998)
ศิษย์เก่า
ลายมือชื่อ

แมร์เคิลเกิดในนครฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนีตะวันตก โดยมีชื่อเกิดว่า อังเกลา โดโรเทอา คัสเนอร์ และย้ายไปยังประเทศเยอรมนีตะวันออกพร้อมกับบิดาขณะที่ยังเป็นทารก นางจบการศึกษาสาขาฟิสิกส์ และจบปริญญาเอกปรัชญาสาขาควอนตัมเคมี และทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์จนถึง ค.ศ. 1989 นางเข้าสู่เส้นทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. 1989 โดยดำรงตำแหน่งเป็นรองโฆษกรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกที่มาจากการเลือกตั้งคณะแรกภายใต้การนำของโลทาร์ เดอ เม็ซซีแอร์ ต่อมาภายหลังการรวมประเทศเยอรมนีใน ค.ศ. 1990 นางได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจากรัฐเมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น นางได้รับแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเฮ็ลมูท โคล ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชนใน ค.ศ. 1991 และต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม-อนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในปีค.ศ. 1994 อย่างไรก็ตาม หลังพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนที่เธอสังกัดพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1998 เธอก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค และก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในอีกสองปีต่อมา

หลังการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2005 เธอได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเยอรมนี และกลายเป็นผู้นำของพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างสามพรรคการเมืองอันได้แก่ พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU), พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) และพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2009 พรรคของนางชนะเลือกตั้งในสัดส่วนสูงสุดของสภาซึ่งทำให้นางได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย และในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2013 พรรคของนางชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียง 41.5% ของผู้มาใช้สิทธิ์[7] และในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2017 พรรคของนางยังคงเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในสภา ทำให้นางดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่สี่[8]

นายกรัฐมนตรี

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 2005 พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนของนางแมร์เคิลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นางแมร์เคิลได้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีโดยเสียงข้างมาก 397 ต่อ 217 เสียงในสภา อย่างไรก็ตาม มีผู้แทน 51 คนในพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติคัดค้านนาง[9]

รายงานข่าวในขณะนั้นระบุว่า รัฐบาลร่วมของแมร์เคิลจะดำเนินนโยบายแบบผสม นโนบายหลักของรัฐบาลร่วมคือการหั่นรายจ่ายภาครัฐพร้อมกับการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 19, ขยายระบบประกันสังคม ตลอดจนขยายอัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุด[10] ในวันที่นางแมร์เคิลประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วม นางได้แถลงว่าพันธกิจหลักของคณะรัฐมนตรีแมร์เคิลคือการมุ่งลดอัตราว่างงาน ซึ่งเธอจะเป็นคนกำหนดและดูแลนโยบายด้านนี้ด้วยตนเอง[11]

ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 2009 พรรคของนางแมร์เคิลได้ที่นั่งมากขึ้นในสภา นางได้พรรคเสรีประชาธิปไตยมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และนางก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง เหตุการณ์สำคัญในคณะรัฐมนตรีที่สองได้แก่ วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป, การเลิกเกณฑ์ทหาร, จำนวนคนว่างงานลดเหลือไม่ถึง 3 ล้านคน[12]

พรรคในสังกัดนางแมร์เคิลยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2013 (แต่ครั้งนี้พรรคเสรีประชาธิปไตยถอนตัวจากรัฐบาล) และ ค.ศ. 2017 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหลังนี้ พรรคของนางครองสัดส่วนที่นั่งในสภาน้อยกว่าที่เคยทำได้ในปีค.ศ. 2013 อย่างมีนัยยะสำคัญ นางจึงพยายามเทียบเชิญพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปไตยสังคมมาร่วมรัฐบาลแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้[13][14][15] ประธานาธิบดีชไตน์ไมเออร์ต้องลงมาช่วยเจรจากับพรรคประชาธิปไตยสังคมให้ยอมร่วมรัฐบาล[16]

ชีวิตส่วนตัว

อังเกลาสมรสครั้งแรกใน ค.ศ. 1977 กับนายอุลริช แมร์เคิล (Ulrich Merkel)[17] ทั้งคู่หย่าร้างกันในปีค.ศ. 1982 แต่นางยังคงใช้นามสกุลแมร์เคิลต่อไป[18] นางสมรสครั้งที่สองในปีค.ศ. 1998 กับโยอาคิม เบาเออร์ (Joachim Sauer) ศาสตราจารย์ด้านควอนตัมนิวเคลียร์[19] นางเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ของเบาเออร์แทนที่จะพำนักในอาคารสำนักนายกรัฐมนตรี แมร์เคิลไม่มีลูก แต่ศาสตราจารย์เบาเออร์มีลูกชายสองคนซึ่งเกิดกับภรรยาคนเก่า[20] แมร์เคิลเคยถูกสุนัขกัดใน ค.ศ. 1995 ทำให้เธอกลัวสุนัขตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[21]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง