เบนจามิน เมานต์ฟอร์ต

เบนจามิน เมานต์ฟอร์ต (อังกฤษ: Benjamin Mountfort; 13 มีนาคม ค.ศ. 1825 – 15 มีนาคม ค.ศ. 1898) เป็นสถาปนิกชาวอังกฤษที่ย้ายถิ่นฐานมายังนิวซีแลนด์ โดยเขาถือเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศนี้ในศตวรรษที่ 19 เขาเป็นผู้มีบทบาท มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อันโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมของเมืองไครสต์เชิร์ช และได้รับการแต่งตั้งเป็นสถาปนิกท้องถิ่นคนแรกอย่างเป็นทางการในด้านการพัฒนาให้กับแคว้นแคนเทอร์เบอรี ตัวเขาเองได้รับอิทธิพลหลักปรัชญานิกายแองโกล-คาทอลิกเป็นอย่างมาก รองมาจากสถาปัตยกรรมวิกตอเรียช่วงแรก ผลงานการออกแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกทั้งงานไม้และหินในแคว้นถือว่าได้สร้างเอกลักษณ์แก่นิวซีแลนด์ ปัจจุบันถือได้ว่าเขาเป็นสถาปนิกผู้หล่อหลอมให้กับแคว้นแคนเทอร์เบอรี

เบนจามิน เมานต์ฟอร์ต
เกิด13 มีนาคม ค.ศ. 1825(1825-03-13)
เบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต15 มีนาคม ค.ศ. 1898(1898-03-15) (73 ปี)
ประเทศนิวซีแลนด์
สัญชาตินิวซีแลนด์
คู่สมรสเอลิซาเบท นิวแมน
บุตร7 คน
ผลงานสำคัญมหาวิหารไครสต์เชิร์ช
อาคารสภาจังหวัดแคนเทอร์เบอรี

ชีวิตช่วงแรก

เมานต์ฟอร์ตเกิดในเบอร์มิงแฮม เมืองอุตสาหกรรมในภาคมิดแลนส์ของอังกฤษ เป็นบุตรของผู้ทำน้ำหอมและพ่อค้าเพชรพลอย นามว่า ทอมัส เมานต์ฟอร์ต มีภรรยาชื่อ ซูซานนา (สกุลเดิม วูลฟีลด์) ในวัยหนุ่มเขาย้ายมายังลอนดอน เป็นศิษย์ของจอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ในช่วงแรก (ตั้งแต่ปี 1841–46) เขายังศึกษาด้านสถาปัตยกรรมกับสถาปนิกแองโกล-คาทอลิก[1] นามว่า ริชาร์ด ครอมเวลล์ คาร์เพนเตอร์ที่รูปแบบการออกแบบแบบกอทิกยุคกลางได้มีอิทธิพลต่อเมานต์ฟอร์ตมาโดยตลอดชีพ[2] หลังสิ้นสุดการฝึกฝนในปี 1848 เมานต์ฟอร์ตปฏิบัติงานด้านสถาปัตยกรรมที่ลอนดอน เขาสมรสกับเอมิลี เอลิซาเบท นิวแมน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1850 หลังจากนั้นอีก 18 วัน ทั้งคู่ได้ย้ายถิ่นฐานมายังนิวซีแลนด์[3] ทั้งคู่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก ๆ ในแคนเทอร์เบอรี มาถึงโดยเรือสี่ลำแรกที่ชื่อ ชาร์ลอตต์เจน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1850[4] ผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก ๆ นี้ เรียกว่า "เดอะพิลกริมส์" (The Pilgrims; นักเดินทาง)[5] ชื่อของพวกเขาเหล่านี้ถูกสลักลงบนหินสลักทำจากหินอ่อนที่คาทีดรอลสแควร์ในไครสต์เชิร์ช ที่เมานต์ฟอร์ตช่วยออกแบบ[6]

นิวซีแลนด์

วิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี ออกแบบโดยเบนจามิน เมานต์ฟอร์ตในปี 1877 มีจุดเด่นคือหอนาฬิกากลาง ในรูปแบบของโถงยุคกลาง ที่อยู่ทางด้านขวา
เดอะเกรตฮอลล์ของวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี

เมานต์ฟอร์ตถึงแคนเทอร์เบอรีพร้อมด้วยความมุ่งมั่นและมุ่งหมาย โดยเริ่มการออกแบบในปี 1850 พร้อมกับหนึ่งในคลื่นผู้ตั้งรกรากที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษให้มาตั้งรกรากในอาณานิคมใหม่ในนิวซีแลนด์ [7][8] เขามากับภรรยาจากอังกฤษ พร้อมด้วยพี่น้อง ชาลส์, ซูซานนาห์ และภรรยาของชาลส์ ทั้งห้าคนอายุระหว่าง 21 ถึง 26 ปี ชีวิตในช่วงแรกนั้นยากเข็ญและน่าผิดหวัง เมานต์ฟอร์ตพบว่ามีความต้องการสถาปนิกอยู่บ้าง ไครสต์เชิร์ชมีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านใหญ่เล็กน้อยที่มีกระท่อมไม้ทั่วไปบนที่ราบลมพัดแรง ชีวิตทางด้านสถาปัตยกรรมของผู้อพยพใหม่ในนิวซีแลนด์เริ่มต้นด้วยหายนะ งานแรกที่ได้รับผิดชอบในนิวซีแลนด์คือ โบสถ์โมสต์โฮลีทรินิตีในลิตเทลตัน ก่อสร้างในปี 1852 โดยไอแซก ลัก[9][10] อาคารนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อลมแรงและถือว่าไม่ปลอดภัย อาคารถูกรื้อถอนในปี 1857[9] หายนะครั้งนี้น่าจะเกิดจากการใช้ไม้ซึ่งไม่เหมาะกับฤดูกาลและเขายังขาดความรู้ในการใช้วัสดุก่อสร้างท้องถิ่น แต่อะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุ ผลคือได้ทำลายชื่อเสียงของเขา[4] หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเรียกเขาว่า "...สถาปนิกที่ได้รับการศึกษาครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยอาคารเหล่านี้ไม่ได้ให้อะไรเลยนอกจากความถูกใจ เห็นได้ชัดว่าเขาขาดความรู้พื้นฐานการก่อสร้างทั้งสิ้นทั้งปวง หรือแม้แต่เป็นช่างเขียนแบบที่ชาญฉลาดหรือชายผู้มีประสบการณ์มาบ้าง"[2]

จากที่เขาเสียชื่อเสียง เขาจึงเริ่มเปิดร้านเครื่องเขียน ทำงานเป็นพนักงานหนังสือพิมพ์ ช่างภาพเชิงพาณิชย์[11] และเขายังเรียนเขียนแบบจนกระทั่งปี 1857 เพื่อเป็นส่วนเสริมงานด้านสถาปัตยกรรม[4] ในช่วงนี้เอง ทางด้านสถาปัตยกรรม เขาได้พัฒนาความสนใจที่มีมาโดยตลอดชีวิตและยังได้เพิ่มรายได้ที่เขาขาดโดยการถ่ายภาพบุคคลให้กับเพื่อนบ้าน[12]

เมานต์ฟอร์ตเป็นฟรีเมสัน และเป็นสมาชิกลำดับแรก ๆ ของลอดจ์ออฟอันเอนิมิตี[13] ซึ่งเป็นอาคารหลังสำคัญที่เขาออกแบบในปี 1863[14][15] ลอดจ์ออฟอันเอนิมิตีเป็นลอดจ์เมสันแรกในเกาะใต้[16]

กลับมาทำงานสถาปัตยกรรม

ในปี 1857 เขากลับมาทำงานด้านสถาปัตยกรรมและมีหุ้นส่วนธุรกิจกับสามีใหม่ของน้องสาว ซูซานนาห์ ที่ชื่อ ไอแซก ลัก เมานต์ฟอร์ตมีแรงกระตุ้นด้านการงาน เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ออกแบบโบสถ์เซนต์จอนส์แองกลิคันที่ไวคูไอตี (Waikouaiti) ในโอทาโก เป็นโครงสร้างไม้เล็ก ๆ ในรูปแบบกอทิก สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 1858 โดยผู้บริจาคที่ดินคือ จอห์นนี โจนส์ อดีตนักล่าวาฬ ยังคงมีการใช้งานเป็นโบสถ์อยู่ ยังถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์[17]

เมืองไครสต์เชิร์ชได้อยู่ในการพัฒนาอย่างมากในช่วงเวลานั้น ด้วยความที่เพิ่งได้รับสถานะเป็นนคร และยังเป็นเมืองหลักในการปกครองแห่งใหม่ของจังหวัดไครสต์เชิร์ช เป็นเหตุให้เมานต์ฟอร์ตและลัก มีโอกาสอย่างมากในการปฏิบัติงานช่าง ในปี 1855 พวกเขาร่างแบบอาคารสภาจังหวัดแคนเทอร์เบอรีที่ทำจากไม้ อาคารก่อสร้างระหว่างปี 1857–59 แต่รูปร่างอาคารก็ถูกจำกัดไม่พ้นแบบดั้งเดิม เมื่อสภาจังหวัดมีหน้าที่ใหม่เพิ่ม ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากรและเศรษฐกิจของจังหวัด จึงได้มีการขยับขยายอาคารให้ใหญ่ขึ้นในส่วนปีกทางทิศเหนือที่ทำจากหินและหอคอยเหล็ก ในระหว่างปี 1859–60 และยังขยายห้องสภาที่ทำจากหินและห้องเครื่องดื่มระหว่างปี 1864–65[12][18] ในปัจจุบันอาคารแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของเมานต์ฟอร์ต[4]

จากภายนอก อาคารมีความเรียบง่ายดั่งผลงานในยุคแรก ๆ ของเมานต์ฟอร์ต กล่าวคือ หอคอยกลางสร้างความโดดเด่น มีปีกจั่วด้านข้างทั้งสอง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก[19] อย่างไรก็ดี ภายในมีสีสันที่สนุกสนานและคตินิยมสมัยกลางที่สามารถรับรู้ผ่านดวงตาวิกตอเรีย ที่มีการใช้หน้าต่างงานกระจกสีและนาฬิกาเรือนใหญ่สองหน้า คาดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในห้าของโลกที่มีอยู่ ห้องยังตกแต่งอย่างมั่งคั่ง เกือบจะเป็นรูปแบบรัสกินที่มีงานแกะสลักจากประติมากรท้องถิ่น วิลเลียม แบรสซิงตัน รวมถึงงานแกะสลักของชนพื้นเมืองนิวซีแลนด์[20]

สถาปัตยกรรมกอทิก

โบสถ์เซนต์ออกัสตินในไวเมต สถาปัตยกรรมรูปแบบกอทิกที่ทำจากไม้ออกแบบโดยเมานต์ฟอร์ตในปี 1872 มีหอระฆังแบบโบสถ์ยุคกลางที่ย่อส่วนลงมา ถัดมาคือหลังคาของชาโต มีซุ้มประตูแบบโบสถ์ประจำเขตแพริชของอังกฤษ เมื่อรวมกันทั้งหมดสร้างความกลมกลืนให้กับทัศนียภาพของนิวซีแลนด์

รูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นการตอบโต้ต่อศิลปะจินตนิยมที่มีรูปแบบความคลาสสิกและทางการมากกว่า ซึ่งมีอิทธิพลในสองศตวรรษก่อนหน้านี้[21] เมานต์ฟอร์ตในวัย 16 ปี ได้รับหนังสือสองเล่มที่แต่งโดยผู้ปลุกศรัทธากอทิกขึ้นใหม่ ออกัสตัส พิวจิน คือหนังสือ The True Principles of Christian or Pointed Architecture และ An Apology for the Revival of Christian Architecture หลังจากนั้นเมานต์ฟอร์ตก็เป็นสาวกค่านิยมสถาปัตยกรรมแองโกล-คาทอลิกแบบพิวจิน[22] ค่านิยมเหล่านี้ก็มากขึ้นเมื่อปี 1846 ตอนเขาอายุ 21 ปี เมานต์ฟอร์ตเป็นศิษย์ของริชาร์ด ครอมเวลล์ คาร์เพนเทอร์[4]

คาร์เพนเทอร์มีความเหมือนกับเมานต์ฟอร์ตตรงที่มีความศรัทธาแองโกล-คาทอลิกและเห็นด้วยกับทฤษฎีลัทธิแทร็กทาเรียนิสม์และด้วยวิธีการเคลื่อนไหวแบบออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์[23] การเคลื่อนไหวด้านเทววิทยาเชิงอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ได้สอนว่า จิตวิญญาณที่แท้จริงและการมีสมาธิในการอธิษฐานมีผลต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพและโบสถ์ยุคกลางมีความเป็นจิตวิญญาณมากกว่าต้นศตวรรษที่ 19 เป็นผลให้สถาปัตยกรรมยุคกลางเทวนิยมเป็นที่รับรู้กันว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณมากกว่าสถาปัตยกรรมที่ยึดแบบปัลลาดีโอในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19[24] แม้ออกัสตัส พิวจินยังแถลงว่าสถาปัตยกรรมยุคกลางเป็นรูปแบบเดียวที่เหมาะสมกับโบสถ์และแบบปัลลาดีโอเกือบจะผิดจารีต ทฤษฎีเช่นนี้ไม่ได้มีผลบังคับต่อสถาปนิกและยังคงมีมาอย่างโดยดีจนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โรงเรียนด้านความคิดเหล่านี้ได้ชักนำผู้รู้อย่างเช่น กวีชาวอังกฤษ เอซรา พาวด์ให้พึงพอใจอาคารสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์มากกว่าสถาปัตยกรรมบาโรกบนพื้นฐานที่ต่อมาได้เป็นสัญลักษณ์ของการละทิ้งโลกแห่งความชัดเจนทางปัญญาและแสงสว่างต่อคุณค่าโดยยึดจากแนวคิดเรื่องนรกและยังเพิ่มการมีอำนาจแก่สังคมนายธนาคาร ผู้ที่เคยถูกดูแคลน[25]

อะไรก็ตามที่อยู่เบื้องหลังสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ในลอนดอน กลุ่มผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิบริติชในศตวรรษที่ 19 รู้สึกว่าสถาปัตยกรรมกอทิกมีความเหมาะสมกับอาณานิคมเพราะได้แสดงความหมายอันโดดเด่นของแองกลิคัน แสดงให้เห็นถึงการทำงานหนัก จรรยา และการเปลี่ยนความเชื่อของชนพื้นเมือง[26] มีการเหน็บแนมว่างานโบสถ์หลายงานของเมานต์ฟอร์ตเป็นโบสถ์สำหรับโรมันคาทอลิก ด้วยที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่จำนวนมากเป็นชาวไอริชดั้งเดิม[27] สำหรับช่างก่อสร้างชนชั้นกลางของจักรวรรดิ รูปแบบกอทิกทำให้ย้อนรำลึกถึงความหลังถึงเขตศาสนาเมื่อเขาละทิ้งอังกฤษ ด้วยความที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคกลางที่แท้จริง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาเหล่านี้เลือกสถาปนิกและการออกแบบ[28]

งานแบบกอทิกของเมานต์ฟอร์ตในช่วงแรกในนิวซีแลนด์มีความเคร่งครัดในลักษณะของแองกลิคันมากกว่า อันเนื่องจากเขาทำตามคาร์เพนเทอร์ มีองค์ประกอบหน้าต่างช่องรูปใบหอกสูงและมีหลังคาหน้าจั่วจำนวนมาก[29] เมื่อการงานเขาก้าวหน้า เขาได้พิสูจน์ตัวเองต่อฝ่ายบริหารที่จ้างเขา ผลงานการออกแบบของเขาได้พัฒนาให้มีรูปแบบยุโรปมากขึ้น โดยมีหอนาฬิกา หอคอย และเส้นหลังคาประดับตกแต่งทรงสูงแบบฝรั่งเศส รวมถึงรูปแบบที่ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของเมานต์ฟอร์ตแต่แนวทางเดียวกับสถาปนิกอย่างเช่น อัลเฟรด วอเทอร์เฮาส์ จากอังกฤษ[30]

ด้านฝีมือของเมานต์ฟอร์ตในฐานะสถาปนิก เขาได้ปรับให้เข้ากับรูปแบบความหรูหราให้เหมาะกับวัสดุที่มีจำกัดที่หาได้ในนิวซีแลนด์[12] ในขณะที่โบสถ์ไม้ทั่วไปนั้นเต็มไปด้วยองค์ประกอบบางอย่างแบบอเมริกัน มีการออกแบบด้วยความเรียบง่ายคลาสสิก ในทางตรงกันข้ามโบสถ์ไม้ของเมานต์ฟอร์ตในนิวซีแลนด์นั้นมีการประดับประดาเพ้อฝันแบบกอทิก เฉกเช่นที่เขาออกแบบในงานหิน อาจเป็นไปได้ว่าความหรูหราในงานเขานั้นสามารถอธิบายได้จากคำแถลงที่เป็นทางการที่เขาและผู้ร่วมงาน ลัก ได้เขียนไว้เพื่อประมูลชนะเมื่อการออกแบบทำเนียบรัฐบาลในออกแลนด์เมื่อปี 1857

ตามที่เราเห็นสิ่งก่อสร้างตามธรรมชาติ ภูเขาและเนินเขา ที่ไม่ได้มีกรอบเส้นสม่ำเสมอแต่มีความหลากหลาย ทั้งค้ำยัน กำแพง และหอคอย ที่ผิดแผกต่อกันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ยังสร้างระดับชั้นผลกระทบให้ต่างจากผลงานอื่น ได้หล่อหลอมกฎเกณฑ์ของเส้นกรอบ การศึกษาง่าย ๆ เกี่ยวกับต้นโอ๊กหรือต้นเอล์ม มีความเพียงพอที่พิสูจน์ทฤษฎีความสม่ำเสมอได้ว่าผิด[31]

สถาปนิกประจำจังหวัด

การก่อสร้างมหาวิหารไครสต์เชิร์ชออกแบบโดยจอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ อำนวยการโดยเบนจามิน เมานต์ฟอร์ตที่ออกแบบยอดแหลมอาคาร
มหาวิหารไครสต์เชิร์ชสร้างเสร็จในปี 1904 จนในปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวและยอดแหลมอาคารพังทลายลงมา ส่วนอาคารยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแทบทั้งหมด

ในฐานะ "สถาปนิกประจำจังหวัด" ตำแหน่งใหม่ที่ตั้งขึ้นมาซึ่งเมานต์ฟอร์ตได้รับการแต่งตั้งในปี 1864[32] เมานต์ฟอร์ตได้ออกแบบโบสถ์ไม้ให้แก่ชุมชนโรมันคาทอลิกของเมืองไครสต์เชิร์ช โบสถ์ไม้นี้ต่อมามีการสร้างให้ใหญ่ขึ้นหลายครั้งจนเป็นมหาวิหาร (cathedral)[4] จนในปี 1901 ได้มีการแทนที่โดยมหาวิหารแห่งเบลสด์แซเครเมนต์ (Cathedral of the Blessed Sacrament) อาคารที่สร้างจากหินที่ดูคงทนกว่าเดิม ออกแบบโดยสถาปนิก แฟรงก์ ปีเตอร์เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกโดยยังคงเก็บรักษาอาคารของเมานต์ฟอร์ตไว้อยู่[33] งานของเมานต์ฟอร์ตมักเป็นไม้ วัสดุที่เขาไม่คิดว่าเป็นอุปสรรคต่อรูปแบบกอทิก[34] แม้เขาจะฉีกรูปแบบการเคารพต่ออาคารแบบกอทิกที่มักสร้างจากหินและปูน[35] ระหว่างปี 1869 ถึง 1882 เขาออกแบบพิพิธภัณฑ์แคนเทอร์เบอรีและต่อมาออกแบบวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีและหอนาฬิกาในปี 1877[4]

อาคารวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีซึ่งต่อมาคือมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี เริ่มต้นก่อสร้างจากหอนาฬิกา อาคารนี้เปิดเมื่อปี 1877 ถือเป็นการสร้างมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายแห่งแรกของนิวซีแลนด์ วิทยาลัยสร้างเสร็จเป็นสองส่วนภายในในรูปแบบปกติของกอทิกแบบเมานต์ฟอร์ต[4]

จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ สถาปนิกออกแบบมหาวิหารไครสต์เชิร์ช ผู้เป็นครูของเมานต์ฟอร์ตและเป็นช่างไม้ที่ปรึกษา อยากให้เมานต์ฟอร์ตเป็นผู้ตรวจงานและสถาปนิกผู้ดูแลโครงการมหาวิหารแห่งใหม่[22] ข้อเสนอนี้ เดิมทีคณะกรรมการมหาวิทหารไม่เห็นด้วย[2] อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความล่าช้าในงานอาคารจากปัญหาด้านการเงิน ท้ายสุดตำแหน่งสถาปนิกดูแลโครงการก็ตกเป็นของเมานต์ฟอร์ตในปี 1873 เมานต์ฟอร์ตดูแลการดัดแปลงงานออกแบบของสถาปนิกที่ขาดหายไป ที่เห็นได้มากที่สุดคือหอสูงและมุขทางเข้าทิศตะวันตก เขายังได้ออกแบบอ่างล้างบาป อนุสรณ์ฮาร์เพอร์ และมุขทางเข้าทิศเหนือ[12] มหาวิทยานี้สร้างไม่เสร็จจนกระทั่งปี 1904 หกปีหลังจากที่เมานต์ฟอร์ตเสียชีวิต มหาวิหารมีรูปแบบการตกแต่งแบบกอทิกยุโรปเป็นอย่างมาก ด้วยมีหอระฆังอยู่ข้างมหาวิหาร แทนที่จะเป็นหออยู่ด้านบนเหมือนธรรมเนียมนิยมอังกฤษ[36]

ปี 1872 เมานต์ฟอร์ตได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งแคนเทอร์เบอรีแอสโซซิเอชันออฟอาร์คิเทกส์ กลุ่มคนที่ดูแลการพัฒนาเมืองใหม่ที่ตามมาหลังจากนี้ ถือเป็นจุดสูงสุดของอาชีพเขา[21] เมานต์ฟอร์ตยังมีชื่อเสียงจากการปรับเปลี่ยนการใช้ช่องโค้งน้อยกว่าครึ่งวงกลมมากกว่าช่องโค้งในรูปแบบโรมาเนสก์ (ออกัสตัส พิวจินถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของรูปแบบกอทิก) ยังมีความท้าทายในการทำโถงใหญ่ที่จะสร้างเสร็จในปี 1882 และได้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในไครสต์เชิร์ช[37] นอกจากนี้รายละเอียดที่เป็นไปไม่ได้จากงานครั้งก่อนก็ปรากฏให้เห็นในการออกแบบโถงเนื่องจากมีการระดมทุนครั้งใหญ่ให้แก่วิทยาลัย การสร้างเสร็จในขั้นแรกได้รับเสียงชื่นชม แม้การขยายพื้นที่อย่างเช่น ห้องปฏิบัติการชีววิทยาในเพิ่มเข้าไปในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1890[38] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880 เมานต์ฟอร์ตได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาปนิกชั้นนำด้านโบสถ์คริสต์ของนิวซีแลนด์ โดยมีชื่อในการออกแบบโบสถ์มากกว่า 40 แห่ง

พิพิธภัณฑ์แคนเทอร์เบอรี ออกแบบโดยเบนจามิน เมานต์ฟอร์ต สร้างเสร็จปี 1882 ในรูปแบบชาโตฝรั่งเศส

ในปี 1888 เขาออกแบบมหาวิหารเซนต์จอห์นในเนเพียร์[4] อาคารที่ทำจากอิฐนี้ได้ถูกรื้อถอนในภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปี 1931 ที่ทำลายเมืองเนเพียร์ไปอย่างมาก[39] ระหว่างปี 1886 ถึง 1897 เมานต์ฟอร์ตได้ทำงานหนึ่งในโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุด คือมหาวิหารเซนต์แมรีที่ทำจากไม้ มหาวิทยาแห่งเมืองออกแลนด์ ครอบคลุมพื้นที่ 9,000 ตารางฟุต (840 ตารางเมตร) เซนต์แมรีเป็นโบสถ์ไม้ซุงที่ใหญ่ที่สุดและเป็นหลังสุดท้ายที่สร้างโดยเมานต์ฟอร์ต[40] และยังถือเป็นโบสถ์ไม้กอทิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก[4] หลังสร้างเสร็จ ได้รับการพูดถึงว่า "ในด้านการออกแบบ มีความสมบูรณ์และสวยงาม อยู่ในระดับสูงแต่ยังไม่เท่ากับระดับมุขมณฑล" การให้ความสำคัญกับตำแหน่งหลังคาอันกว้างขวางโดยหน้าต่างช่องทางด้านอันยิ่งใหญ่ทำให้เกิดสมดุลกับพื้นที่โอบล้อมอันกว้างขวางของโบสถ์ ในปี 1892 โบสถ์ทั้งหลังได้สร้างเสร็จโดยมีหน้าต่างงานกระจกสี โดยโบสถ์ถูกย้ายไปยังที่แห่งใหม่ตรงข้ามถนนของสถานที่เดิมเป็นโบสถ์แห่งใหม่ โบสถ์เซนต์แมรีที่รับการสถาปนาในปี 1898 ถือเป็นผลงานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของเมานต์ฟอร์ต[41]

นอกเหนือจากด้านการทำงานแล้ว เมานต์ฟอร์ตมีความสนใจด้านศิลปะและเป็นศิลปินผู้มีพรสวรรค์ แม้งานด้านศิลปะจะปรากฏว่าอยู่ในขอบเขตของสถาปัตยกรรม เขายังเป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษและเป็นสมาชิกสภาโบสถ์แองกลิคันและคณะกรรมการมุขมณฑล[42]

บั้นปลายชีวิตของเมานต์ฟอร์ต มีเรื่องไม่พอใจจากตำแหน่งในฐานะสถาปนิกประจำจังหวัดคนแรก เขาถูกโจมตีจากคนรุ่นใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ เบนจามิน เมานต์ฟอร์ตเสียชีวิตเมื่อปี 1898 สิริอายุได้ 73 ปี ศพถูกฝังที่สุสานตรีเอกภาพแอวอนไซด์ โบสถ์ที่เขาต่อเติมในปี 1879[4][12]

มรดก

อาคารสภาจังหวัดแคนเทอร์เบอรี หนึ่งในผลงานแรกสุดในรูปแบบกอทิกของนิวซีแลนด์ นี่ถือเป็นรูปแบบที่เป็นตราสินค้าของเขา

เมื่อประเมินผลงานของเมานต์ฟอร์ตในปัจจุบัน ไม่ควรตัดสินจากภูมิหลังที่ดูคล้ายการออกแบบในยุโรป ในคริสต์ทศวรรษ 1960 นิวซีแลนด์เป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งวัสดุและทรัพยากรที่มีมากมายในยุโรปแต่ที่นี่กลับไม่ปรากฏ หากมีก็มักจะด้อยกว่า เมานต์ฟอร์ดได้ค้นพบไม้ซึ่งไม่เหมาะกับฤดูกาลซึ่งก่อให้เกิดหายนะในโครงการแรกของเขา อาคารแรกของเขานั้นสร้างขึ้นในภูมิลำเนาใหม่นี้ก็มักจะสูงเกินไป หรือไม่ก็มีระดับชันเกินไป ไม่คำนึงถึงภูมิอากาศที่ไม่ใช่ยุโรป รวมถึงภูมิประเทศ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้ดัดแปลงและพัฒนาทักษะการทำงานด้วยวัสดุหยาบ ๆ[12]

โรงพยาบาลบ้าซันนีไซด์ในไครสต์เชิร์ช สร้างเสร็จปี 1891 ถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสุดท้ายของเมานต์ฟอร์ต ออกแบบลักษณะกอทิก มีหน้าต่างบานใหญ่ ก่อให้เกิดลมแบบคฤหาสน์ชนบท มากกว่าจะปิดทึบ

ไครสต์เชิร์ชและสภาพแวดล้อมที่มีเอกลักษณ์ของนิวซีแลนด์ในด้านรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมกอทิก ที่สามารถแสดงลักษณะเฉพาะของเบนจามิน เมานต์ฟอร์ตได้ทันทีทันใด ขณะที่เมานต์ฟอร์ตรับผิดชอบงานอาคารพักอาศัยเล็ก ๆ ซึ่งในปัจจุบันเขาเป็นที่รู้จักในด้านงานออกแบบงานสาธารณะ อาคารของรัฐ และโบสถ์ อาคารของรัฐที่สำคัญแบบกอทิกที่ทำจากหินในไครสต์เชิร์ช ประสบความสำเร็จอย่างน่าประหลาดใจจากการใช้วัสดุอันขัดสน โบสถ์หลายแห่งอันโดดเด่นของเขา ที่สร้างจากไม้ รูปแบบกอทิก ในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแคนเทอร์เบอรีในศตวรรษที่ 19 อาคารเหล่านี้ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของทัศนียภาพ ด้วยเหตุนี้ความสำเร็จของเมานต์ฟอร์ตนี้ ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมในทำนองเดียวกัน โดยสร้างอัตลักษณ์ให้แก่แคนเทอร์เบอรี[29] หลังจากที่เขาเสียชีวิต ซีริล หนึ่งในบุตรเจ็ดคนของเขา ยังคงทำงานในรูปแบบกอทิกแบบพ่อของเขา เมื่อเข้าไปสู่ศตวรรษที่ 20[12] ซีริล เมานต์ฟอร์ตดูแลโบสถ์แห่งเซนต์ลู้กของเมือง ซึ่งเป็นงานออกแบบของพ่อเขาที่ยังทำไม่เสร็จ[43] ด้วยเหตุนี้ ยังคงมีการใช้ผลงานอาคารสาธารณะของเขาอยู่ทุกวัน มรดกของเมานต์ฟอร์ตยังคงสืบทอดเรื่อยมา ปัจจุบันเขาและรอเบิร์ต ลอว์สัน ถือเป็นสถาปนิกที่ยอดเยี่ยมที่สุดในศตวรรษที่ 19 ของนิวซีแลนด์[4]

อาคารบางส่วน

  • โมสต์โฮลีทรินิตี ในลิตเทลตันปี 1852 (รื้อถอนปี 1857)
  • อาคารสภาจังหวัดแคนเทอร์เบอรี ปี 1858–1865 (มีบางส่วนพังทลายไป[44] ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวแคนเทอร์เบอรี ปี 2011)
  • มหาวิหารไครสต์เชิร์ช, เริ่มต้นสร้างปี 1864 (อาคารใหม่สร้างปี 1901 บางส่วนพังทลายไปในปี 2011 หลังแผ่นดินไหวที่แคนเทอเบอรี)
  • พิพิธภัณฑ์แคนเทอร์เบอรี 1869–1882
  • โบสถ์เซนต์ออกัสติน ไวเมต ปี 1872
  • โบสถ์ทรินิตี ไครสต์เชิร์ช, 1872 (มีบางส่วนพังทลายไป[45]ในปี 2011 หลังแผ่นดินไหวที่แคนเทอเบอรี แต่มีการบูรณะใหม่[46])
  • โฮลีทรินิตีเอวันไซด์ โบสถ์แชนเซล, 1874–1877
  • โบสถ์เซนต์พอลแองกลิคัน ในปาปานุย 1876–1877
  • แคนเทอร์เบอรีคอลเลจฮอลล์ ไครสต์เชิร์ช 1882
  • โบสถ์กูดเชปเพิร์ด ฟิลิปส์ทาวน์ 1884–1885
  • โบสถ์เซนต์แมรี ออกแลนด์ เริ่มสร้างปี 1886 (ย้ายสถานที่ปี 1982)[47]
  • มหาวิหารเซนต์จอห์น เนเพียร์, 1886–1888
  • โรงพยาบาลบ้าซันนีไซด์ ไครสต์เชิร์ช 1881–1893[48]
  • เซนต์สตีเฟน ลินคอล์น 1877

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Fletcher, Banister (1996). Sir Banister Fletcher's a History of Architecture. Architectural Press, 20th ed. ISBN 978-0-7506-2267-7.
  • Lochhead, Ian (1999). A Dream of Spires: Benjamin Mountfort and the Gothic revival. Canterbury: Canterbury University Press. ISBN 0-908812-85-X. {{cite book}}: |ref=harv ไม่ถูกต้อง (help)
  • Lochhead, Ian J. "Mountfort, Benjamin Woolfield 1825–1898". Dictionary of New Zealand Biography. Ministry for Culture and Heritage. สืบค้นเมื่อ 7 April 2011.
  • Porter, Frances (ed) (1983). "Historic Buildings of New Zealand, South Island". Auckland: Methuen New Zealand. ISBN 0-456-03120-0.
  • Smith, Phillipa M. (2005). A Concise History of New Zealand. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-83438-4.
  • Taylor, C.R.H. (1929). The Gothic Beauties and History of the Canterbury Provincial Buildings. Canterbury Provincial Buildings Board.
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง