โรคเมลิออยด์

(เปลี่ยนทางจาก เมลิออยโดซิส)

โรคเมลิออยด์[5] หรือ โรคเมลิออยโดซิส[6] (อังกฤษ: Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ Burkholderia pseudomallei เชื้อนี้พบได้ในดินและน้ำ โรคนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขโดยเฉพาะในประเทศไทยและทางเหนือของออสเตรเลีย รูปแบบของโรคอาจมีได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีอาการแตกต่างกันมาก เช่น เจ็บหน้าอก กระดูก หรือข้อ ไอ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบ

โรคเมลิออยด์
(Melioidosis)
ชื่ออื่นโรคเมลิออยโดซิส, โรคไข้ดิน, โรคฝีดิน, โรคมงคล่อเทียม[1], Whitmore disease[2]
ฝีเมลิออยโดซิสที่หน้าท้อง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ (การแพทย์เฉพาะทาง)
อาการไม่มีอาการ, ไข้, ปอดบวม, ฝีหลายตำแหน่ง[3]
ภาวะแทรกซ้อนสมองและไขสันหลังอักเสบ, ช็อกเหตุพิษติดเชื้อ, กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน, ข้ออักเสบติดเชื้อ, กระดูกอักเสบติดเชื้อ[3]
การตั้งต้น1–21 วันหลังจากรับสัมผัสเชื้อ[3]
สาเหตุแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei แพร่กระจายโดยการสัมผัสกับดินหรือน้ำ[3]
ปัจจัยเสี่ยงเบาหวาน, ทาลัสซีเมีย, โรคพิษสุรา, โรคไตเรื้อรัง[3]
วิธีวินิจฉัยการเจริญของแบคทีเรียในอาหารเลี้ยงเชื้อ[3]
โรคอื่นที่คล้ายกันวัณโรค[4]
การป้องกันป้องกันการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อน, ใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ[3]
การรักษาเซฟตาซิดิม, เมอโรพีเนม, โคไตรมอกซาโซล[3]
ความชุก165,000 คนต่อปี[3]
การเสียชีวิต89,000 คนต่อปี[3]

ในอดีตเชื้อแบคทีเรีย B. pseudomallei จัดอยู่ในจีนัส Pseudomonas และเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudomonas pseudomallei จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 มีการจำแนกทางวิวัฒนาการพบว่ามีความใกล้ชิดกับเชื้อ Burkholderia mallei ซึ่งก่อโรคแกลนเดอร์ส (Glanders) หรือโรคมงคล่อพิษในม้า ลา และล่อ ชื่อโรคเมลิออยด์นี้มาจากภาษากรีกว่า melis หมายความว่า "โรคติดเชื้อของลา" และคำท้าย -oid หมายถึง "คล้ายคลึง" และ -osis หมายถึง "ภาวะ" ดังนั้นชื่อโรคจึงหมายความว่า ภาวะซึ่งคล้ายกับโรคแกลนเดอร์ส[7]

ระบาดวิทยา

โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทย[8] ลาว[9][10] และตอนใต้ของจีน[11] สิงคโปร์[12] มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม) ไต้หวัน[13][14] และตอนเหนือของออสเตรเลีย[15][16] และมีรายงานผู้ป่วยหลายรายในฮ่องกง บรูไน[17] อินเดีย[18][19][20] และมีรายงานผู้ป่วยประปรายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้[21] ตะวันออกกลาง แปซิฟิก และประเทศในแอฟริกัน แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยเพียงรายเดียวในบังคลาเทศ[22] แต่พบผู้ป่วยอย่างน้อยห้ารายที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวเข้ามาในสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงว่าเมลิออยโดซิสเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศดังกล่าว แต่กลับมีปัญหาไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือปัญหารายงานจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น[23] ซึ่งอาจเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์ปฏิบัติการที่เพียงพอ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคเมลิออยด์สูงที่สุดในโลก (ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ 21.3 รายในประชากร 100,000 รายต่อปี) [24] ร้อยละ 80 ของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีผลแอนติบอดีต่อเชื้อ B. pseudomallei เป็นบวกตั้งแต่อายุ 4 ปี[25] ซึ่งพบว่าในที่อื่น ๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านี้[26][27][28][29]

โรคเมลิออยด์เป็นโรคที่พบในสัตว์ อาทิ แมว[30] แพะ แกะ และม้า ส่วนในวัว ควาย และจระเข้ เชื่อว่ามีความต้านทานต่อการติดเชื้อเมลิออยโดซิสทั้งที่สัมผัสกับโคลนอยู่ตลอด[31] การระบาดของโรคในสวนสัตว์ปารีสในทศวรรษที่ 1970 ("L’affaire du jardin des plantes") เชื่อว่ามีต้นเหตุจากแพนด้าที่นำเข้ามา[32]

เชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ปกติพบได้ในดินและน้ำผิวดิน ประวัติการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำจึงแทบไม่แตกต่างกันในผู้ป่วยโรคเมลิออยด์[15] นั่นคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีประวัติสัมผัสกับดินที่ปนเปื้อนไม่มีอาการเจ็บป่วย แม้แต่ในแหล่งชุกชุมของโรคการกระจายของเชื้อ B. pseudomallei ในดินก็เป็นอย่างประปราย[33][34] การปนเปื้อนเชื้อของน้ำใต้ดินเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งหนึ่งในตอนเหนือของออสเตรเลีย[35]

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเป็นโรคเมลิออยด์อย่างรุนแรงคือเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงอื่นอาทิ ทาลัสซีเมีย โรคไต และอาชีพ (เกษตรกรรม) [36] เชื่อกันว่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือผ่านการหายใจเอาเชื้อ B. pseudomallei เข้าไป มีรายงานของการติดต่อจากคนสู่คนแต่ค่อนข้างพบได้ไม่บ่อย[37][38]

นอกจากนี้ยังพบว่าโรคมีความสัมพันธ์กับฝน โดยพบว่าจำนวนและความรุนแรงของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามปริมาณฝน[39][40][12][41][42]

อาการทางคลินิก

โรคเมลิออยด์เฉียบพลัน

ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่สามารถระบุเวลาที่ติดเชื้อได้ พบว่าระยะฟักตัวเฉลี่ยของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันคือ 9 วัน (ตั้งแต่ 1-12 วัน) [43] ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเมลิออยด์แอบแฝงอาจไม่แสดงอาการเลยได้หลายสิบปี โดยช่วงเวลาตั้งแต่สันนิษฐานว่าติดเชื้อจนถึงระยะปรากฏอาการที่นานที่สุดเท่าที่มีรายงานคือ 62 ปี[44] ระยะฟักตัวที่ยาวนานเริ่มเป็นที่รู้จักกันจากในทหารสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิสงครามเวียดนามที่ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากหลังกลับจากสมรภูมิหลายสิบปี จนได้รับสมญานามว่า "ระเบิดเวลาเวียดนาม" (Vietnam time-bomb) ความรุนแรงของโรคเมลิออยด์มีได้หลากหลาย ในผู้ป่วยเรื้อรังอาจแสดงอาการได้นานเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเร็วร้าย (fulminant infection) โดยเฉพาะภาวะจมน้ำ อาจแสดงอาการรุนแรงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์เฉียบพลันมักมีอาการมาด้วยไข้ อาการปวดหรืออาการอื่น ๆ อาจช่วยบ่งบอกการติดเชื้อเฉพาะที่ได้ โดยพบได้ราวร้อยละ 75 ของผู้ป่วย อาการอื่นเช่นไอหรือเจ็บหน้าอกอาจบ่งถึงภาวะปอดอักเสบ อาการปวดข้อหรือกระดูกอาจบ่งถึงภาวะกระดูกอักเสบหรือข้ออักเสบติดเชื้อ หรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis) การติดเชื้อในช่องท้องเช่นฝีในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก มักไม่แสดงอาการมาด้วยปวดเฉพาะที่ จึงควรตรวจด้วยการวินิจฉัยทางรังสีเช่นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ในการศึกษาผู้ป่วย 214 ราย พบว่าร้อยละ 27.6 มีฝีที่ตับและม้าม (ช่วงความเชื่อมั่น 95%, 22.0% ถึง 33.9%) ลักษณะของฝีที่เกิดจากเชื้อ B. pseudomallei ในภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (honeycomb) หรือ เนยแข็งสวิส (swiss cheese) คือทึบเสียง มีผนังกั้นหลายอัน และแบ่งเป็นหลายช่อง (hypoechoic, multi-septate, multiloculate) [45][46]

อาการของการติดเชื้อเฉพาะส่วนแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ฝีของต่อมน้ำลายพาโรติด พบในผู้ป่วยเด็กชาวไทย แต่ในผู้ป่วยออสเตรเลียมีรายงานพบเพียงหนึ่งราย[47] ในทางกลับกัน ฝีของต่อมลูกหมากพบได้ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลียแต่ไม่พบรายงานในที่อื่น อาการสมองและไขสันหลังอักเสบพบได้ในตอนเหนือของออสเตรเลีย

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์มักมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ทาลัสซีเมีย การดื่มแอลกอฮอล์ หรือโรคไต และมักให้ประวัติอาชีพหรืองานที่สัมผัสกับโคลนหรือน้ำใต้ดิน[48] อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่แข็งแรงรวมทั้งเด็กก็อาจเป็นโรคนี้ได้

ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอาจไม่พบอาการของการติดเชื้อและต้องวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อจากเลือดหรือการป้ายคอมาตรวจ อาจกล่าวได้ว่าโรคเมลิออยด์ทำให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ยกเว้นลิ้นหัวใจ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมลิออยด์ตามหลังฝีในสมองที่แตกออก แต่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองโดยตรง อาการแสดงที่พบได้ไม่บ่อยได้แก่การติดเชื้อในหลอดเลือด ฝีของต่อมน้ำเหลือง (1.2-2.2%) [49] เยื่อหุ้มหัวใจเป็นหนอง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในประจันอก (mediastinum) ฝีในต่อมไทรอยด์และถุงอัณฑะ และการติดเชื้อในดวงตา

โรคเมลิออยด์เรื้อรัง

โรคเมลิออยด์เรื้อรังส่วนมากหมายถึงมีอาการยาวนานกว่า 2 เดือน พบได้ในผู้ป่วยราวร้อยละ 10[50] อาการแสดงทางคลินิกของโรคเมลิออยด์เรื้อรังมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาจมาด้วยการติดเชื้อที่ผิวหนังเรื้อรัง แผลที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบเรื้อรัง โดยแสดงอาการเลียนแบบวัณโรค บางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า "วัณโรคเวียดนาม" (Vietnamese tuberculosis) [51] โรคเมลิออยด์เรื้อรังอาจแสดงอาการเลียนแบบวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (tuberculous pericarditis) ได้[52]

การวินิจฉัย

Appearance of B. pseudomallei colonies on Ashdown's medium after four days of incubation.

การวินิจฉัยยืนยันของโรคเมลิออยด์นั้นทำโดยการเพาะเชื้อจากร่างกาย เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่พบเชื้อดังกล่าวในร่างกายมนุษย์

ประวัติการสัมผัสดินอาจไม่สามารถซักจากผู้ป่วยได้ เนื่องจากโรคเมลิออยด์อาจแฝงอยู่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการ[53] สำหรับผู้ที่อยู่นอกแหล่งที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นควรซักประวัติการเดินทางไปยังบริเวณที่พื้นที่เฉพาะถิ่นของโรคเมลิออยด์ บางแหล่งข้อมูลแนะนำให้คิดถึงความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อเมลิออยด์ ในผู้ป่วยทุกรายที่มีประวัติเดินทางไปยังหรืออาศัยอยู่ในแหล่งที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่น

การตรวจคัดกรองการติดเชื้อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเชื้อจากเลือด เพาะเชื้อจากปัสสาวะ การป้ายคอมาตรวจ และการเพาะเชื้อจะหนองที่ดูดมาได้ ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ (โดยเพาะเชื้อใน blood agar หรือ Ashdown's medium) ซึ่งสามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อพบ B. pseudomallei จากตัวอย่างใดก็ได้ที่เก็บมา การป้ายคออาจไม่มีความไว (sensitivity) แต่ให้ความจำเพาะ (specificity) ถึง 100% หากให้ผลบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลเพาะเชื้อจากเสมหะเป็นบวกด้วย[54] ความไวของการเพาะเชื้อจากปัสสาวะจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากเพาะเชื้อจากปัสสาวะที่ปั่นเหวี่ยง (centrifuged) และหากผลเพาะเชื้อขึ้นก็นับเป็นผลบวกไม่ว่าจะมีปริมาณเชื้อเท่าใดก็ตาม (ไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ทั่วไปที่ปริมาณเชื้อมากกว่า 104 ต่อมิลลิลิตร) [55] ในบางครั้งการเพาะเชื้อจากไขกระดูกอาจให้ผลบวกในผู้ป่วยที่ผลเพาะเชื้อ B. pseudomallei เป็นลบ แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำ[56] ข้อผิดพลาดของแพทย์ที่อาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้คือ การส่งตัวอย่างเฉพาะจากอวัยวะที่ติดเชื้อไปตรวจเท่านั้น แทนที่จะส่งตัวอย่างคัดกรองทุกส่วนดังที่กล่าวมาตอนต้น

ตัวกลางเพาะเชื้อ Ashdown's medium เป็นตัวกลางที่มียาปฏิชีวนะเจนตามัยซิน (gentamicin) ซึ่งจำเป็นในการเพาะเชื้อจากส่วนที่ไม่ปราศจากเชื้อ (non-sterile sites) ตัวกลางเพาะเชื้อ Burkholderia cepacia medium อาจเป็นตัวเลือกที่ใช้เพาะเชื้อได้ในบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นหากไม่มี Ashdown's medium ให้ใช้ ตัวกลางเพาะเชื้อชนิดใหม่ซึ่งพัฒนามาจาก Ashdown's medium ชื่อว่า Francis medium อาจช่วยในการแยกระหว่างเชื้อ B. pseudomallei กับ B. cepacia และอาจช่วยในการวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ได้ในระยะแรก[57] แต่ก็ยังไม่มีการยอมรับกันทางคลินิกอย่างกว้างขวาง ชุดตรวจเพื่อยืนยันเชื้อแบคทีเรียสำเร็จรูปหลายตัวอาจไม่สามารถระบุเชื้อ B. pseudomallei ได้อย่างถูกต้อง

การทดสอบทางวิทยาน้ำเหลือง (serology) สำหรับเชื้อเมลิออยด์ เช่น การทดสอบปริมาณการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดงทางอ้อม (indirect haemagglutination assay) แต่อาจไม่สามารถทำได้ในหลายประเทศ ในประเทศที่โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นประชากรมี titre สูงอยู่แล้วทำให้ค่าพยากรณ์ผลบวก (positive predictive value) ลดลง การทดสอบเชื้อที่นิยมกันแพร่หลายในประเทศไทยคือการทดสอบอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงจำเพาะ (direct immunofluorescent test) และการเกาะกลุ่มลาเท็กซ์ (latex agglutination) โดยอาศัยสารภูมิต้านทานโมโนโคลน (monoclonal antibodies) แต่การทดสอบนี้ไม่มีที่ใช้ในประเทศอื่น อิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงมีปฏิกิริยาข้าม (cross-reactivity) เกือบสมบูรณ์กับ B. thailandensis[58]

การวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ไม่สามารถทำได้โดยอาศัยวิธีทางรังสี (เอกซเรย์และสแกน) เท่านั้น[59] แต่วิธีการทางรังสีมักถูกใช้เป็นประจำเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค[60] แนะนำให้ทำภาพรังสีของช่องท้องโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เนื่องจากฝีของอวัยวะภายในอาจไม่ได้แสดงอาการทางคลินิกออกมาชัดเจน และอาจพบฝีเกิดร่วมกับโรคที่บริเวณอื่น ในประเทศออสเตรเลียแนะนำให้ทำภาพรังสีเพื่อตรวจต่อมลูกหมากเนื่องจากมีอุบัติการณ์ของฝีที่ต่อมลูกหมากสูงในผู้ป่วยทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การทำเอกซเรย์ทรวงอกแนะนำให้ทำเป็นประจำ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามอาการแสดงทางคลินิก การปรากฏฝีที่ตับลักษณะเป็นรังผึ้ง (honeycomb abscesses) เป็นลักษณะของการติดเชื้อเมลิออยด์ที่ตับ แต่ภาพที่เห็นไม่ได้บ่งถึงการวินิจฉัย[59][60]

การวินิจฉัยแยกโรคนั้นมีได้กว้างเนื่องจากโรคเมลิออยด์อาจแสดงลักษณะทางคลินิกเลียนแบบการติดเชื้ออื่น ๆ รวมทั้งวัณโรค[51]

การรักษา

การรักษาปัจจุบัน

การรักษาโรคเมลิออยด์แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

ระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ

ยาปฏิชีวนะเซฟตาซิดิม (Ceftazidime) ทางหลอดเลือดดำเป็นยาที่ควรเลือกใช้อันดับแรกเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เฉียบพลันในปัจจุบัน[61][62] ส่วนเมอโรเพเนม (meropenem) [63] ไอมิเพเนม (imipenem) [43] และเซโฟพีราโซน-ซัลแบคแทม (cefoperazone-sulbactam) (หรือ ซัลพีราโซน (Sulperazone)) [64] ก็มีประสิทธิภาพใช้ได้[65] ยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน-คลาวูลาเนต (amoxicillin-clavulanate) (หรือโคอะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav)) อาจเลือกใช้ได้หากไม่มียาปฏิชีวนะ 4 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น แต่อาจให้ผลด้อยกว่า[66] ควรให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอย่างน้อย 10 ถึง 14 วัน และไม่ควรหยุดให้จนกว่าอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยลดกลับมาเป็นปกติอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดติดต่อกันนานเกินหนึ่งเดือน

ในประเทศออสเตรเลีย มีการใช้ยาเมอโรเพเนมเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เป็นประจำ[67] ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี และในปัจจุบันกำลังมีการวิจัยทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเมอโรเพเนมและเซฟตาซิดิมในการรักษาโรคเมลิออยด์ในประเทศไทย โดยใช้ชื่องานวิจัยว่า ATOM[68]

ในทางทฤษฎีแล้วเชื่อว่าอัตราตายในผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาไอมิเพเนมจะน้อยกว่าผู้ที่ได้รับยาอื่น เนื่องจากยาไอมิเพเนมทำให้แบคทีเรียที่ตายปล่อยชีวพิษภายในตัวออกมาน้อยกว่า [69] และค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (mean inhibitory concentration; MIC) ของยาไอมิเพเนมก็น้อยกว่าเซฟตาซิดิม แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างอัตราตายของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอมิเพเนมและเซฟตาซิดิม[43] ค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (MIC) ของเมอโรเพเนมต่อเชื้อ B. pseudomallei มีค่าสูงกว่าเชื้ออื่นๆ และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการกรองเลือด (haemofiltration) อาจต้องได้รับยาบ่อยขึ้นหรือปริมาณสูงขึ้น[70]

เซฟีพิม (cefepime) และเออตาเพเนม (ertapenem) ไม่มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย (in vitro) [71] พิเพอราซิลลิน-ซัลแบคแทม (piperacillin-sulbactam) [71] โดริเพเนม (doripenem) และไบอะเพเนม (biapenem) [72] มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย แต่ไม่มีการวิจัยทางคลินิกเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการรักษาจริง

การให้การรักษาเสริมด้วย Granulocyte colony-stimulating factor (GCSF) [73] หรือโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) [74][75] พบว่าไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการศึกษาในประเทศไทย

ระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

หลังจากการรักษาในระยะเฉียบพลัน แนะนำให้รักษาต่อเนื่องหรือกำจัดเชื้อด้วยยาโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ร่วมกับดอกซีไซคลีน (doxycycline) เป็นเวลา 12 ถึง 20 สัปดาห์เพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ[76] ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้คลอแรมเฟนิคอลเพื่อวัตถุประสงค์นี้แล้ว โค-อะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav) เป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีน (เช่นผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี) [77][78] แต่อาจให้ประสิทธิผลดีไม่เท่า การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolone) เพียงชนิดเดียว[79] หรือดอกซีไซคลีนเพื่อการรักษาระยะต่อเนื่องนั้นไม่มีประสิทธิผล[80]

ในออสเตรเลียมีการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ[67] โดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำกว่าที่พบในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการทดลองนอกร่างกายพบว่าโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีนออกฤทธิ์ต้านกัน และโค-ไตรม็อกซาโซลตัวเดียวน่าจะให้ผลดีกว่า[81] มีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (MERTH) เพื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวกับการรักษามาตรฐานด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับดอกซีไซคลีนเริ่มในปี ค.ศ. 2006 และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2008 การศึกษาสนับสนุนความจำเป็นในการติดตามการรักษาให้เพียงพอและความร่วมมือปฏิบัติตามของผู้ป่วยอย่างดีในการรักษาระยะนี้ ปริมาณยาโค-ไตรม็อกซาโซลต้องคำนวณตามน้ำหนัก (<40 กิโลกรัม: 160/800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง; 40–60 กิโลกรัม: 240/1200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง, >60 กิโลกรัม: 320/1600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง) [82]

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการระบายหนองออกใช้เพื่อรักษาฝีในต่อมลูกหมากและข้ออักเสบติดเชื้อ อาจใช้ในการรักษาฝีในต่อมน้ำลายพาโรติด แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาฝีในตับหรือม้าม ในภาวะที่มีการติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอาจพิจารณารักษาด้วยการตัดม้ามแต่มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการรักษาด้วยวิธีนี้[83]

การรักษาในอดีต

ก่อนปี ค.ศ. 1989 การรักษามาตรฐานของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันประกอบด้วยยาสามชนิดรวมกัน ได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล โค-ไตรม็อกซาโซล และดอกซีไซคลีน การรักษาด้วยสูตรนี้มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 และไม่แนะนำให้ใช้สูตรนี้หากมียาชนิดอื่นให้เลือกรักษา[61] ยาทั้งสี่ชนิดเป็นยาปฏิชีวนะชนิดยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้โค-ไตรม็อกซาโซลยังทำงานต้านกับคลอแรมเฟนิคอลและดอกซีไซคลีนอีกด้วย[84]

พยากรณ์โรค

หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม (โดยหลักแล้วคือเซฟตาซิดิมหรือเมอโรเพเนม) การติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 90[85][86] แต่หากได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 แต่หากผู้ป่วยมีภาวะแบคทีเรียในกระแสเลือดหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรงมีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 การเข้าถึงการดูแลรักษาอภิบาลมีความสำคัญซึ่งอาจอธิบายสาเหตุที่อัตราเสียชีวิตรวมในตอนเหนือของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่อัตราเสียชีวิตในภาคอีสานของไทยอยู่ที่ร้อยละ 40 การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างช้าโดยมีระยะเวลาเฉลี่ยของไข้ภายหลังจากการรักษาที่ 5-9 วัน[15][87]

การกลับเป็นซ้ำอยู่ร้อยละ 10 ถึง 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด การศึกษาทางโมเลกุลพบว่าการกลับเป็นโรคซ้ำส่วนใหญ่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติดในตอนแรก แต่อัตราการกลับเป็นโรคส่วนใหญ่ (มากถึงสามในสี่) ในบริเวณที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากการติดเชื้อซ้ำภายหลัง 2 ปี[88] ปัจจัยเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ผู้ป่วยที่ผลเพาะเชื้อเป็นบวกหรือมีโรคหลายตำแหน่งจะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงกว่า) ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเพื่อกำจัดเชื้อ (โดยการใช้ยาดอกซีไซคลินเพียงชนิดเดียวหรือยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ) ความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษากำจัดเชื้อต่ำ และระยะเวลาในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อน้อยกว่า 8 สัปดาห์ทำให้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง[80][89]

การป้องกัน

พบว่ามีรายงานน้อยมากเกี่ยวกับการติดต่อระหว่างคนสู่คน ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์จึงไม่จัดว่าแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย สำหรับผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการควรถือว่าตัวอย่างเชื้อ Burkholderia pseudomallei ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพที่ระดับ 3 (BSL-3) [90] หลังจากการได้รับเชื้อในห้องปฏิบัติการ แนะนำให้ใช้โค-ไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) ในการป้องกันโรคหลังได้รับเชื้อแม้ว่าจะยังไม่มีการทดลองทางคลินิก[91]

ในพื้นที่ที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่น เกษตรกรที่ทำนาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดิน โคลน หรือแหล่งน้ำหากเป็นไปได้ พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากตามหลังเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุไซโคลน และเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน นอกจากนี้มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่สัมพันธ์กับการบริโภคน้ำที่ปนเปื้อน ประชากรกลุ่มเสี่ยงของโรคเมลิออยด์ได้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดใดก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของการหลีกเลี่ยงการสัมผัสจุลชีพก่อโรค และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้

การป้องกันโรคหลังการสัมผัสเชื้อ

หลังจากการสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย B. pseudomallei ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ แนะนำให้รักษาด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับดอกซีไซคลีน[92][93] โทรวาฟลอกซาซิน (trovafloxacin) และเกรพพาฟลอกซาซิน (grepafloxacin) มีประสิทธิภาพในการป้องกันจากการทดลองในสัตว์[94]

การใช้เป็นอาวุธชีวภาพ

โรคเมลิออยด์ได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control) หรือ CDC จัดให้เชื้อโรคเมลิออยด์เป็นอาวุธชีวภาพหมวด B[95] สหรัฐอเมริกาได้เคยทำการศึกษาเชื้อ B. pseudomallei รวมทั้ง B. mallei ซึ่งก่อโรคแกลนเดอร์ส (Glanders) ถึงประสิทธิภาพในการทำอาวุธชีวภาพ แต่ไม่เคยถูกใช้ทำเป็นอาวุธจริง[96] เคยมีรายงานว่าสหภาพโซเวียตเคยทดลองเชื้อ B. pseudomallei เพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพเช่นกัน

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร