อันนาแห่งเดนมาร์ก

(เปลี่ยนทางจาก แอนน์แห่งเดนมาร์ก)

อันนาแห่งเดนมาร์ก หรือ แอนน์แห่งเดนมาร์ก (อังกฤษ: Anne of Denmark; 12 ธันวาคม ค.ศ. 15742 มีนาคม ค.ศ. 1619) เป็นพระราชธิดาองค์ที่สองของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 แห่งเดนมาร์กและโซฟีแห่งเมคเลินบวร์ค-กึสโทร สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ เป็นพระมเหสีในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ และที่ 6 แห่งสกอตแลนด์[1] แอนน์แห่งเดนมาร์กเป็นพระราชินีแห่งสกอตแลนด์ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1589 และเป็นพระราชินีแห่งอังกฤษตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1589 กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1619 ที่พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ตในอังกฤษ พระศพของพระองค์ตั้งอยู่ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์

อันนาแห่งเดนมาร์ก
พระสาทิสลักษณ์ ค.ศ. 1605
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษและไอร์แลนด์
ดำรงพระยศ20 สิงหาคม ค.ศ. 1589 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1619
ก่อนหน้าพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน (ปกครองร่วมผ่านสิทธิ์พระมเหสี)
ถัดไปอ็องเรียต มารีแห่งฝรั่งเศส
สมเด็จพระราชินีแห่งชาวสกอต
ดำรงพระยศ24 มีนาคม ค.ศ. 1589 - 2 มีนาคม ค.ศ. 1619
ก่อนหน้าเจมส์ เอิร์ลที่ 4 แห่งโบธธ์เวลล์ (พระมหากษัตริย์พระราชสวามี)
ถัดไปอ็องเรียต มารีแห่งฝรั่งเศส
พระราชสมภพ12 ธันวาคม ค.ศ. 1574
เดนมาร์ก สแกนเดอร์บอร์ก ประเทศเดนมาร์ก
สวรรคต2 มีนาคม ค.ศ. 1619
อังกฤษ พระราชวังแฮมพ์ตัน ประเทศอังกฤษ
คู่อภิเษกพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
พระราชบุตรเฮนรี เฟรเดอริค เจ้าชายแห่งเวลส์
เอลิซาเบธ สจวต สมเด็จพระราชินีแห่งโบฮีเมีย
มากาเร็ต สจวต
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
โรเบิร์ต สจวต ดยุกแห่งคินไทร์
แมรี สจวต
โซเฟีย สจวต
พระนามเต็ม
แอนน์แห่งเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ราชวงศ์สจวต (เสกสมรส)
ออลเดนบูร์ก
พระราชบิดาพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 แห่งเดนมาร์ก
พระราชมารดาโซฟีแห่งเมคเลินบวร์ค-กึสโทร สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์

อันนาทรงเสกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1589 เมื่อพระชนมายุได้ 14 พรรษา มีพระโอรสธิดาสามพระองค์ที่รอดมาได้จนทรงเจริญพระชนม์รวมทั้งพระเจ้าชาลส์ที่ 1 พระองค์ทรงเป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวพอที่จะทรงใช้ความแตกแยกของการเมืองในสกอตแลนด์เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิในตัวพระโอรส เฮนรี เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ จากพระเจ้าเจมส์ ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงรักพระเจ้าเจมส์ในตอนแรก แต่ต่อมาทั้งสองพระองค์ก็ทรงห่างเหินจากกัน จนในที่สุดก็ทรงแยกกันอยู่ แต่ก็ยังคงทรงมีความนับถือซึ่งกันและกันอยู่บ้าง[2]

เมื่อประทับอยู่ในอังกฤษ พระองค์ทรงหันความสนใจจากทางด้านการเมืองที่เป็นฝักเป็นฝ่ายไปเป็นการอุปถัมภ์ศิลปะ และการสร้างราชสำนักที่หรูหราของพระองค์เอง ทรงจัดให้มีการพบปะในซาลอนที่ทำให้เป็นราชสำนักของพระองค์เป็นราชสำนักที่มีวัฒนธรรมสูงที่สุดสำนักหนึ่งในยุโรป[3] หลังจากปี ค.ศ. 1612 พระสุขภาพพลานามัยของพระองค์ก็เริ่มเสื่อมลง จนในที่สุดก็ทรงถอนตัวจากราชสำนัก ตามทางการแล้วพระราชินีแอนน์สวรรคตในฐานะที่เป็นโปรเตสแตนต์ แต่หลักฐานบางอย่างบ่งชี้ให้เห็นว่าอาจจะทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกขณะใดขณะหนึ่งระหว่างที่ยังมีพระชนม์อยู่[4]

นักประวัติศาสตร์เดิมไม่ได้เห็นว่าอันนาแห่งเดนมาร์กเป็นพระราชินีที่มีความสำคัญมากเท่าใดนัก และออกจะเป็นผู้มีความหลงพระองค์เอง[5] แต่เมื่อไม่นานมานี้ ความเห็นเกี่ยวกับพระองค์ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปโดยเริ่มมีความเห็นกันว่าพระองค์ทรงมีความเด็ดเดี่ยวเป็นตัวของตัวเองโดยเฉพาะทรงเป็นผู้มีความสำคัญในการเป็นผู้อุปถัมภ์ทางศิลปะระหว่างสมัยจาโคเบียน[6]

ชีวิตช่วงแรก

พระสาทิสลักษณ์ของโซฟีแห่งเมคเลินบวร์ค-กึสโทร สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ พระราชมารดาของอันนาแห่งเดนมาร์ก ราวปี ค.ศ. 1578 โดยฮันส์ คนีเพอร์

อันนาแห่งเดนมาร์กเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1574 ที่ปราสาทสแกนเดอร์บอร์กบนคาบสมุทรจัตแลนด์ในราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ แต่การพระราชสมภพของพระองค์เป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าเฟรดริคที่ 2พระราชบิดาทรงได้รับความผิดหวัง เพราะทรงหวังเป็นอย่างมากว่าจะเป็นพระราชโอรส[7] แต่ขณะนั้นพระราชินีโซฟีพระมารดามีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา เพียงสามปีต่อมาพระองค์ก็ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส ผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคริสเตียนที่ 4 แห่งเดนมาร์ก[8] อันนาและเอลิซาเบธพระเชษฐภคินีทรงถูกส่งไปเลี้ยงดูโดยอุลริชที่ 3 ดยุกแห่งเม็คเลนบวร์ก-กึสโทรว์และเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเม็คเลนบวร์ก-กึสโทรว์ผู้เป็นพระอัยกาและพระอัยกีทางฝ่ายพระมารดาที่กึสโทรว์ในประเทศเยอรมนี เมื่อเปรียบเทียบกับราชสำนักเดนมาร์กที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์สนุกสนานอันเลื่องชื่อของพระเจ้าเฟรดริค ที่เป็นราชสำนักที่เต็มไปด้วยการเลี้ยงรับรองด้วยอาหารและเครื่องดื่มอย่างใหญ่มโหฬาร และการมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีแบบแผนอันเคร่งครัด รวมทั้งการนอกพระทัยในพระมเหสีของพระองค์แล้ว กึสโทรว์ก็ตรงกันข้าม ที่กลายมาเป็นสถานที่ที่ช่วยวางรากฐานของความสงบสำรวมในชีวิตเบื้องต้นของแอนน์[9] ต่อมาเจ้าชายคริสเตียนพระอนุชาก็ทรงถูกส่งไปกึสโทรว์เช่นกันแต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาราวสองปี ในปี ค.ศ. 1579 สภาองค์มนตรีริกสราเด็ท (Rigsraadet) ก็ยื่นคำร้องเรียกตัวพระราชโอรสธิดาในพระเจ้าเฟรดริคกลับมายังเดนมาร์กสำเร็จ[10]

แอนน์ทรงมีความสุขในครอบครัวที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างที่ทรงเจริญพระชนม์ในราชสำนักเดนมาร์ก เพราะพระองค์ทรงถูกเลี้ยงดูโดยตรงโดยพระราชมารดาพระราชินีโซฟี ผู้ทรงดูแลพระราชโอรสธิดาด้วยพระองค์เองยามประชวร[11] แอนน์และเอลิซาเบธพระเชษฐภคินีต่างก็ทรงมีผู้ประสงค์ให้เป็นคู่หมายไปทั่วทั้งยุโรปรวมทั้งพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ผู้ทรงเลือกเดนมาร์กเพราะความที่เป็นประเทศที่ผ่านการปฏิรูปทางศาสนา และเป็นประเทศที่อาจจะมีผลประโยชน์ทางด้านการติดต่อค้าขายได้ด้วย[12] ในระยะแรกราชทูตสกอตแลนด์หมายตัวเจ้าหญิงเอลิซาเบธพระเชษฐภคินีของแอนน์[13] แต่พระเจ้าเฟรดริคทรงหมั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธกับเฮนรี จูเลียส ดยุกแห่งบรันสวิค-ลืนเนอบวร์ก และทรงสัญญามอบพระธิดาองค์ที่สองให้แทน “ถ้าพระเจ้าเจมส์จะทรงพอพระทัยก็จะยกให้” [14]

การหมั้นและการเสกสมรสโดยฉันทะ

พระสุขภาพพลานามัยของพระราชินีโซฟีเริ่มทรุดลงหลังจากพระเจ้าเฟรดริคเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1588[15] นอกจากนั้นแล้วการสวรรคตของพระสวามีก็ยังทำให้สถานะของพระราชินีโซฟีอยู่ในสภาวะที่ลำบาก เมื่อทรงมีความขัดแย้งกับสภาองคมนตรีเกี่ยวกับอำนาจการควบคุมพระเจ้าคริสเตียน แต่ยังรวมไปถึงปัญหาในเรื่องการหาคู่ให้แก่พระราชธิดาด้วย แต่ในกรณีหลังนี้พระองค์ทรงมีตั้งมั่นมากกว่าพระสวามีและทรงประสบความสำเร็จในการตกลงเรื่องสินสมรสและสถานะภาพของหมู่เกาะออร์คนีย์[16] พระราชินีโซฟีทรงลงพระนามในการตกลงการหมั้นหมายในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1589[17]

แอนน์เองก็ทรงตื่นเต้นกับการที่จะได้เป็นเจ้าสาวของพระเจ้าเจมส์[18] เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1589 ทอมัส เฟาว์เลอร์สายลับอังกฤษรายงานว่าแอนน์ทรงตกหลุมรักพระเจ้าเจมส์อย่างถอนพระองค์ไม่ขึ้น[19] คำกล่าวของเฟาว์เลอร์ที่เป็นนัยว่าพระเจ้าเจมส์โปรดผู้ชายมากกว่าผู้หญิง[20] คงถูกซ่อนจากแอนน์ผู้มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษาและทรงหมกมุ่นอยู่กับการปักพระภูษาสำหรับคู่หมั้น ในขณะที่ช่างอีกสามร้อยคนเตรียมชุดสำหรับพระราชพิธีเสกสมรสของพระองค์[21] ไม่ว่าข่าวลือที่ว่านี้จะจริงหรือไม่ แต่ที่เป็นจริงคือการที่พระเจ้าเจมส์ทรงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาคู่ที่เหมาะสมเพื่อการสืบสายของราชวงศ์สจวตต่อไป[22] พระเจ้าเจมส์ทรงเปรยว่า “พระเจ้าเป็นพยานด้วยเถิด ข้าเองนั้นสามารถคอยให้เนิ่นนานกว่าที่ประเทศชาติจะยอมให้คอยได้ แต่ถ้าไอ้การรอคอยแล้วมันจะไปทำให้ผู้คนที่มีแต่ความอิจฉากังขาในความสามารถของข้า ราวกับว่าข้าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถจะมีลูกได้[23] เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1589 แอนน์ก็ทรงเสกสมรสโดยฉันทะกับพระเจ้าเจมส์ที่ปราสาทโครนบอร์กโดยมีจอร์จ คีธ เอิร์ลแห่งมาริสคาลเป็นผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าเจมส์นั่งบนเตียงข้างแอนน์[24]

การเสกสมรส

พระเจ้าเจมส์ 6 แห่งสกอตแลนด์เมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษาในปี ค.ศ. 1586 สามปีก่อนที่จะทรงเสกสมรสกับอันนาแห่งเดนมาร์ก

สิบวันหลังจากการเสกสมรสโดยฉันทะที่เดนมาร์กอันนาก็เสด็จไปสกอตแลนด์ทางเรือแต่กองเรือของพระองค์ประสบเหตุการณ์ร้ายต่างๆ[25] ในที่สุดขบวนของคณะผู้เดินทางก็จำต้องแล่นกลับไปยังฝั่งทะเลนอร์เวย์ และจากฝั่งทะเลพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินทางบกไปยังออสโลเพื่อไปพำนักชั่วคราวพร้อมด้วยเอิร์ลแห่งมาริสคาลและผู้แทนจากสกอตแลนด์และเดนมาร์ก[26]

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ลอร์ดดิงวอลล์ผู้ร่วมเดินทางมากับอันนา แต่บนเรือคนละลำก็มาขึ้นฝั่งที่ลีธได้ และรายงานว่าเมื่อเดินทางมากับกองเรือของอันนาได้ 300 ไมล์ ก็มาคลาดกันเมื่อโดนมรสุม และลอร์ดดิงวอลล์มีความเกรงว่าอันนายังคงจะตกอยู่ในอันตราย[27] เมื่อทราบข่าวพระเจ้าเจมส์ก็มีพระราชโองการให้มีการอดอาหารและสวดมนต์ให้แก่พระราชินีกันทั่วประเทศ ส่วนพระองค์เองก็เสด็จไปรอแอนน์ที่เฟิร์ธออฟฟอร์ธ[28] นอกจากนั้นก็ทรงประพันธ์เพลงหลายเพลง เพลงหนึ่งเปรียบเทียบสถานะการณ์ที่บรรยายในตำนานกรีกเรื่อง “ฮีโรและลีแอนเดอร์” (Hero and Leander) และทรงส่งคณะผู้ค้นหาที่ถือพระราชสาส์นที่ทรงเขียนถึงอันนาเป็นภาษาฝรั่งเศส: “ให้แก่พระองค์เพียงผู้เดียวที่รู้จักหม่อมฉันเช่นเงาของหม่อมฉันเองบนแก้วเท่านั้นที่หม่อมฉันจะบรรยายความรู้สึกได้, สุดที่รักของหม่อมฉัน, ความกลัวที่หม่อมฉันรู้สึกที่เกิดจากลมที่พัดผิดทิศทางและพายุที่โหมกระหน่ำตั้งแต่พระองค์ได้เริ่มเดินทาง...".[29]” ในเดือนตุลาคมพระองค์ก็ทรงได้รับข่าวว่ากองเรือของเดนมาร์กยุติความพยายามที่จะข้ามมายังสกอตแลนด์ระหว่างฤดูหนาว วิลล์สันกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่โรแมนติคที่สุดในชีวิตของพระเจ้าเจมส์[30] พระเจ้าเจมส์จึงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคจากลีธพร้อมกับผู้ติดตามอีกสามร้อยคนเพื่อไปรับอันนาด้วยพระองค์เอง พระเจ้าเจมส์เสด็จไปถึงออสโลเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกจาก Flekkefjord ทาง Tønsberg[31] ตามหลักฐานของสกอตแลนด์กล่าวว่าเมื่อเสด็จไปถึงพระเจ้าเจมส์ก็รีบเสด็จไปเฝ้าอันนาทั้งที่ยังมิได้เปลี่ยนเครื่องทรงจากการเดินทาง -- “ทั้งรองพระบาทบูทและเครื่องทรงอื่นพร้อม” -- และพระราชทานจุมพิตอันนาตามแบบสกอต[32]

อันนาและพระเจ้าเจมส์ทรงเสกสมรสกันอย่างเป็นทางการที่วังสังฆราชเก่าที่ออสโล เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1589, “อย่างหรูหราเท่าที่ทำได้ในสมัยนั้นและที่นั้น”[33] เดวิด ลินซีย์นักบวชจากลีธเดินทางไปทำพิธีเป็นภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้ทั้งสองพระองค์เข้าใจ และบรรยายอันนาว่าทรงเป็น “เจ้าหญิงที่ทรงคุณธรรมและมีพระสิริโฉมงดงาม...พระองค์ทำความพอใจให้แก่พระเจ้าเจมส์”[34] การเสกสมรสมีการฉลองกันเดือนหนึ่งและเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมพระเจ้าเจมส์ทรงลดผู้ติดตามลงเหลือเพียง 50 คนเพื่อเสด็จไปเยี่ยมพระญาติที่ปราสาทโครนบอร์ก อันนาและพระเจ้าเจมส์ทรงได้รับการต้อนรับจากพระพันปีโซฟีและพระเจ้าคริสเตียนผู้มีพระชนมพรรษาได้ 12 พรรษาและผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระองค์สี่คน[35] หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคมทั้งสองพระองค์ก็ทรงย้ายไปโคเปนเฮเกนเพื่อทรงเข้าร่วมพิธีเสกสมรสระหว่างเอลิซาเบธพระเชษฐภคินีของอันนากับเฮนรี จูเลียส ดยุกแห่งบรันสวิค-ลืนเนอบวร์ก สองวันต่อมาก็เสด็จลงเรือ “กิดเดียน” ที่ได้รับการซ่อมแซมแล้วกลับสกอตแลนด์[36] และเสด็จถึงลีธเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ห้าวันต่อมาอันนาก็เสด็จเข้าเมืองเอดินบะระห์อย่างเป็นทางการในราชรถม้าเงินแท้ที่ทรงนำมาจากเดนมาร์กโดยมีพระเจ้าเจมส์ทรงม้าตามข้างราชรถ[37]

ราชาภิเษก

ตราของอันนาแห่งเดนมาร์ก[38]

อันนาทรงเข้าพิธีสวมมงกุฎเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1590 ภายในแอบบีโฮลีรูดที่พระราชวังโฮลีรูด ซึ่งเป็นพระราชพิธีการสวมมงกุฎที่ทำแบบโปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรกในสกอตแลนด์[39] พระราชพิธีสวมมงกุฎใช้เวลาทั้งสิ้นเจ็ดชั่วโมง เคานทเตสแห่งมาร์เป็นผู้เปิดพระภูษาเพื่อให้นักบวชโรเบิร์ต บรูซหลั่ง “น้ำมันหอมพอได้” ลงบนส่วนหนึ่งของพระถันและพระหัตถ์เพื่อเจิมให้เป็นพระราชินี[40] นักบวชสกอตแลนด์ประท้วงพิธีส่วนนี้เพราะเห็นว่ามาจากประเพณีของผู้นอกรีตและจากประเพณีของชาวยิวแต่พระเจ้าเจมส์ทรงยืนยันว่าเป็นพิธีที่มีรากฐานมาจากพันธสัญญาเดิม[41] พระเจ้าเจมส์ประทานมงกุฎแก่อัครมหาเสนาบดีเมทแลนด์ผู้วางบนพระเศียรของอันนา[42] จากนั้นอันนาก็ทรงกล่าวคำปฏิญาณพระองค์ว่าว่าจะทรงเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาอันแท้จริงและจะทรงมีความศรัทธาต่อพระเจ้า และจะทรงต่อต้านและเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อต่างๆ ของโรมันคาทอลิกและพิธีกรรมต่างๆ ที่ไม่ตรงกับพระวจนะของพระเจ้า[43]

ความสัมพันธ์กับพระเจ้าเจมส์

จากหลักฐานทุกหลักฐานต่างก็กล่าวว่าพระเจ้าเจมส์ทรงหลงเสน่ห์แอนน์ แต่ความหลงที่ว่านี้ก็มิได้ยั่งยืนเท่าใดนัก และทั้งสองพระองค์ก็ทรงเริ่มมีเรื่องบาดหมางกันเพียงไม่กี่ปีหลังจากการเสกสมรส แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าเจมส์จะทรงปฏิบัติต่อแอนน์ด้วยความอดทนและความรัก[44] ระหว่างปี ค.ศ. 1593 ถึงปี ค.ศ. 1595พระเจ้าเจมส์ทรงมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับแอนน์ เมอร์เรย์ผู้ต่อมาได้เป็นเลดีกลามิส ทรงกล่าวถึงแอนน์ว่าเป็น “พระสนมและหัวใจของฉัน” (my mistress and my love) แอนน์เองก็ทรงมีเรื่องอื้อฉาวเป็นบางครั้งบางคราว[45]ใน “คู่มือการปกครองบาซิลิคอนโดรอน” (Basilikon Doron) ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในปี ค.ศ. 1597 ถึงปี ค.ศ. 1598, พระเจ้าเจมส์ทรงบรรยายถึงชีวิตการสมรสว่าเป็น “ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกหรือความขมขื่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ประสบต่อผู้ชาย”[46]

ตั้งแต่นาทีแรกของการแต่งงานแอนน์ก็ได้รับความกดดันในการมีรัชทายาทให้แก่พระเจ้าเจมส์และสกอตแลนด์[47] แต่มาถึงปี ค.ศ. 1591 และ ค.ศ. 1592 ก็ยังไม่มีเค้าว่าจะทรงครรภ์ซึ่งทำให้มีข่าวลือว่าพระเจ้าเจมส์มัวแต่ทรงใช้ชีวิตอยู่ในกลุ่มผู้ชายและมีข่าวกระเส็นกระสายว่าเกี่ยวกับแอนน์ว่าไม่ทรงมีครรภ์ได้[48] ฉะนั้นจึงเป็นที่โล่งใจกันไปตามๆ กันเมื่อแอนน์ทรงให้กำเนิดแก่เฮนรี เฟรเดอริคพระโอรสองค์แรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1594[49]

สิทธิในตัวเจ้าชายเฮนรี

เจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริค สจวต, ราว ค.ศ. 1608 โดย โรเบิร์ต พีค (ผู้พ่อ) (Robert Peake the Elder)

เพียงไม่นานแอนน์ก็ทราบว่าพระองค์ไม่มีสิทธิมีเสียงในการดูแลพระราชโอรสของพระองค์แต่อย่างใด พระเจ้าเจมส์ทรงแต่งตั้งเฮเล็น ลิตเติลผู้เคยเป็นพระพี่เลี้ยงของพระองค์เองให้เป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริค และให้บรรทมในพระอู่ไม้โอ้คที่เคยเป็นของพระองค์เองด้วย[50] แต่สิ่งที่ทำให้แอนน์ทรงรันทดที่สุดก็เมื่อพระเจ้าเจมส์มีพระราชโองการให้ย้ายเจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริคไปอยู่ภายใต้การดูแลอารักขาโดยจอห์น เอิร์สคิน เอิร์ลแห่งมาร์ที่ 18 ที่ปราสาทสเตอร์ลิงตามพระราชประเพณีของสกอตแลนด์[51]

ในปลายปี ค.ศ. 1594 แอนน์ก็เริ่มรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการปกครองดูแลพระราชโอรสจากผู้ที่สนับสนุนความต้องการของพระองค์รวมทั้งอัครมหาเสนาบดีจอห์น เมทแลนด์ ลอร์ดเมทแลนด์แห่งเทิร์ลสเตนที่ 1[52] ความที่ไม่ทรงแน่ใจว่าแอนน์จะทรงทำเรื่องให้บานปลายไปได้เท่าใด พระเจ้าเจมส์จึงมีพระราชโองการอย่างเป็นทางการห้ามมิให้เอิร์ลแห่งมาร์มอบตัวเจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริคแก่ผู้ใดนอกไปจากเมื่อได้รับคำสั่งโดยตรงจากพระองค์เอง และไม่ให้มอบตัวเจ้าชายเฮนรี เฟรเดอริคแก่พระราชินีแม้ในกรณีที่พระองค์เองจะเสด็จสวรรคตไปแล้ว[53] แอนน์ยื่นคำร้องให้เสนอเรื่องต่อสภาองคมนตรีแต่พระเจ้าเจมส์ไม่ทรงฟัง[54] หลังจากที่ทรงมีเรื่องกันต่อหน้าธารกำนัลพระเจ้าเจมส์ก็ทรงข่มเหงน้ำพระทัยจนแอนน์พิโรธและกรรแสง[55] แอนน์ก็ทรงโศรกเศร้าจนทรงแท้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1595 [56] หลังจากนั้นก็ทรงเลิกเรียกร้องสิทธิแต่ความเสียหายครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระสวามีเป็นอย่างมาก[57] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1595 จอห์น โคลวิลล์บันทึกว่าบรรยากาศระหว่างสองพระองค์เต็มไปด้วยความเกลียดชัง[58]

ในปี ค.ศ. 1603 แอนน์ทรงเห็นช่องทางที่จะได้รับสิทธิในการดูแลพระราชโอรสเมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จลงไปยังลอนดอนพร้อมกับเอิร์ลแห่งมาร์เพื่อไปสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ที่เพิ่งเสด็จสวรรคต[59] แอนน์ซึ่งขณะนั้นทรงครรภ์รีบเสด็จไปยังปราสาทสเตอร์ลิงพร้อมกับกองกำลังขุนนางผู้สนับสนุนเพื่อจะนำตัวเจ้าชายเฮนรีผู้ทรงมิได้พบปะเกือบห้าปีกลับมากับพระองค์ แต่มารดาของเอิร์ลแห่งมาร์ยอมให้คนของพระองค์เข้ามาในปราสาทได้ไม่เกินสองคน[60] การแข็งข้อของผู้ดูแลเจ้าชายเฮนรีทำให้แอนน์ทรงพิโรธจนทำให้ทรงแท้งอีกครั้งหนึ่งตามบันทึกของเดวิด คาลเดอร์วูดกล่าวว่าแอนน์เสด็จเข้าห้องบรรทมทั้งที่ทรงพิโรธ และทรงจากพระโอรสเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม[61]

เมื่อเอิร์ลแห่งมาร์กลับมาพร้อมกับพระราชสาส์นจากพระเจ้าเจมส์ให้แอนน์เสด็จมาอังกฤษเพื่อมาเคียงข้างพระองค์ในราชอาณาจักรอังกฤษ แอนน์ก็ทรงโต้ตอบกลับไปว่าจะไม่ยอมเสด็จนอกจากว่าพระเจ้าเจมส์จะทรงยกสิทธิในการดูแลเจ้าชายเฮนรีให้พระองค์[62] ความรู้สึกในความเป็นแม่ที่รุนแรงที่นักประวัติศาสตร์พอลลีน ครอฟต์กล่าวถึงนี้ทำให้พระเจ้าเจมส์ทรงยอม แต่ก็ทรงบรรยายในพระราชสาส์นถึงเอิร์ลแห่งมาร์ว่าแอนน์มีพระทัยมุ่งมั่น[63] หลังจากการพักฟื้นหลังจากที่ทรงแท้ง แอนน์ก็เสด็จไปลอนดอนพร้อมกับเจ้าชายเฮนรี,[64] การเสด็จมาถึงลอนดอนเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่โต เลดี้แอนน์ คลิฟฟอร์ดบันทึกว่าเธอกับมารดาต้องฆ่าม้าไปสามตัวเพราะความที่รีบจะไปดูตัวแอนน์ พระเจ้าเจมส์ทรงไปพบแอนน์ไม่ไกลจากวินด์เซอร์ และมีขุนนางเป็นจำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน[65]

ความขัดแย้งกับพระเจ้าเจมส์

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ สจวต พระราชธิดา ค.ศ. 1606 โดย โรเบิร์ต พีค (ผู้พ่อ)

ผู้สังเกตการณ์เริ่มสังเกตเห็นความแตกร้าวระหว่างแอนน์และพระเจ้าเจมส์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "การคบคิดเกาว์รี’’ (Gowrie plot) ในปี ค.ศ. 1600 ที่จอห์น รูธเว็น เอิร์ลแห่งเกาว์รีที่ 3 และน้องชายอเล็กซานเดอร์ รูธเว็นถูกสังหารโดยองครักษ์ของพระเจ้าเจมส์เพราะถูกกล่าวหาว่าพยายามจะทำร้ายพระองค์ เป็นการทำให้น้องสาวสองคนเบียทริกซ์และบาร์บารา รูธเว็นผู้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระราชินีแอนน์ต้องถูกปลดตามไปด้วย[66] แอนน์ผู้ขณะนั้นทรงครรภ์ได้ห้าเดือน[67] ไม่ทรงยอมลุกจากพระแท่นไม่ยอมเสวยไปสองวันนอกจากเสียว่าจะเรียกตัวทั้งสองคนคืน เมื่อพระเจ้าเจมส์ทรงพยายามที่จะบังคับพระองค์ พระองค์ก็ทรงแว้งว่าที่ทรงทำเช่นนั้นเพราะเห็นว่าพระองค์ไม่ใช่เอิร์ลแห่งเกาว์รี[68] พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามเอาพระทัยโดยการจ้างนักเล่นกายกรรมผู้มีชื่อเสียงมาแสดงให้พระชายาดู[69] แต่แอนน์ก็ยังไม่ทรงยอมและทรงสนับสนุนพี่น้องรูธเว็นต่อไปอีกสามปี และเป็นเรื่องใหญ่โตพอที่รัฐบาลจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัยของประเทศชาติ[70] ในปี ค.ศ. 1602 หลังจากที่พบว่าแอนน์ทรงลักลอบเอาเบียทริซเข้ามาในพระราชวังโฮลีรูด พระเจ้าเจมส์ก็มีพระราชโองการให้ไต่สวนพนักงานในพระราชวังทุกคน[71] ในปี ค.ศ. 1603 พระองค์ก็ทรงยอมและพระราชทานเบี้ยบำนาญแก่เบียทริซเป็นจำนวน £200[72]

การประจันพระพักตร์กันเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1613 เมื่อแอนน์ทรงยิงสุนัขตัวโปรดของพระเจ้าเจมส์ระหว่างการล่าสัตว์ หลังจากที่พิโรธแล้วพระเจ้าเจมส์ก็ทรงพยายามทำสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยพระราชทานของขวัญเป็นเพ็ชรที่มีมูลค่า £2000 เพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อสุนัขที่ชื่อ “Jewel” (อัญมณี) [73] ในปี ค.ศ. 1603, พระเจ้าเจมส์ทรงมีปากมีเสียงกับแอนน์ในเรื่องการจัดการในเรื่องพนักงานในอังกฤษและทรงส่งข่าวถึงพระราชินีว่าไม่ทรงพอพระทัยในการกระทำของพระราชินี[74] ในการโต้ตอบแอนน์ก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์การดื่มน้ำจัณฑ์ของพระสวามี ในปี ค.ศ. 1604 แอนน์ทรงเปรยเป็นการส่วนพระองค์กับราชทูตฝรั่งเศสว่า, “พระองค์ทรงดื่มน้ำจัณฑ์เป็นจำนวนมาก และมีพระกิริยาที่ไม่เหมาะไม่ควรในทุกกรณี และฉันหวังว่าคงจะมีผลในทางร้ายที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์”[75]

แยกกันอยู่

เมื่อประทับในลอนดอนแอนน์ก็ทรงใช้ชีวิตของการอยู่ในเมืองหลวง ในขณะที่พระเจ้าเจมส์ทรงพอพระทัยที่จะหนีออกจากเมือง โดยเฉพาะไปยังตำหนักล่าสัตว์ที่รอยสตันในฮาร์ทฟอร์ดเชอร์[76] กอดฟรีย์ กูดมันอนุศาสนาจารย์ประจำพระองค์ของแอนน์สรุปความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์ว่า: “พระเจ้าเจมส์เองทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ทรงมีอะไรที่แอนน์ทรงกระทำที่จะทรงทำให้ขาดความอุทิศพระองค์ให้แก่แอนน์ แต่ทั้งสองพระองค์ก็มิได้มีความรักกันเช่นที่สามีภรรยาที่ควรจะรักกัน และไม่ทรงพูดจากัน[77] ในที่สุดแอนน์ก็ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังกรีนิชและต่อมาคฤหาสน์ซัมเมอร์เซ็ท ที่ทรงตั้งชื่อใหม่ว่า คฤหาสน์เดนมาร์ก หลังจากปี ค.ศ. 1607 แอนน์และพระเจ้าเจมส์ก็แทบจะไม่ได้ประทับร่วมกัน[78] ในขณะนั้นพระองค์มีพระโอรสธิดาได้เจ็ดพระองค์แล้ว นอกจากการทรงแท้งสามครั้ง หลังจากที่ทรงรอดมาได้จากการให้กำเนิดแก่เจ้าหญิงโซฟี พระราชธิดาองค์สุดท้องที่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1607 แล้วแอนน์ก็ทรงตัดสินพระทัยว่าจะไม่มีพระโอรสธิดาอีก ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์ยิ่งห่างเหินกันหนักยิ่งขึ้นไปอีก[79]

การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเฮนรี ในปี ค.ศ. 1612 (อาจจะจากไทฟอยด์) เมื่อพระชนมายุได้ 18 พรรษา และการจากไปของเจ้าหญิงเอลิซาเบธพระธิดาผู้มีพระชนมายุได้ 16 พรรษาไปยังไฮเดลแบร์ก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1613 เพื่อไปเสกสมรสกับเฟรเดอริคที่ 5 เจ้าชายอีเล็คเตอร์แห่งพาเลไทน์,[80] ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแอนน์และพระเจ้าเจมส์ยิ่งห่างเหินกันยิ่งขึ้น[81] การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเฮนรีเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของแอนน์ ราชทูตเวนิสได้รับการเตือนไม่ให้แสดงความเสียใจในการสูญเสียต่อพระราชินีเพราะไม่ทรงทนรับฟังได้ หรือถ้าทรงได้ยินก็จะไม่ทรงสามารถควบคุมพระองค์จากการกรรแสงได้[82] ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระสุขภาพพลานามัยของพระองค์ก็เริ่มเสื่อมโทรมลง และทรงถอนพระองค์จากการสังคมและการเมืองโดยทั่วไป และทรงจัดละครสวมหน้ากากครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1614[83] อิทธิพลที่มีต่อพระสวามีก็ลดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด และพระเจ้าเจมส์ก็ทรงพึ่งพาผู้ที่โปรดผู้มีอำนาจมากขึ้น[84]

ปฏิกิริยาต่อคนโปรดของพระสวามี

แม้ว่าจะทรงมีคนโปรดอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็เป็นการภายใน แต่ในระยะหลังพระเจ้าเจมส์ทรงสนับสนุนให้บุคคลเหล่านี้มีบทบาทในทางการเมืองด้วย แอนน์ทรงมีปฏิกิริยาแตกต่างกันระหว่างคนโปรดสองคนผู้มีอิทธิพลต่อครึ่งหลังของสมัยของโรเบิร์ต คารร์ เอิร์ลที่ 1 แห่งซัมเมอร์เซต พระสวามี และจอร์จ วิลเลิร์ส ผู้ซึ่งต่อมาเป็นคนโปรดแทนคารร์ แอนน์ไม่โปรดคารร์เอาเลย[85] และทรงสนับสนุนการขึ้นอำนาจของจอร์จ วิลเลิร์ส ผู้ที่พระเจ้าเจมส์พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนนางในห้องพระบรรทมของแอนน์[86] และทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับวิลเลียรส์และประทานนามว่าเป็น “สุนัข” ของพระองค์[87] แต่กระนั้นวิลเลียรส์ก็เริ่มหันหลังให้แอนน์จนแอนน์ทรงมีความโดดเดี่ยวในบั้นปลายของชีวิตของพระองค์[88]

ศาสนา

แอนน์แห่งเดนมาร์กโดยพอล ฟาน ซอเมอร์

ความแตกต่างระหว่างแอนน์และพระเจ้าเจมส์อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องศาสนาเช่นในการที่แอนน์ไม่ทรงยอมรับศีลมหาสนิทแบบอังกลิคันในพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นราชินีของพระองค์เอง[89] แอนน์ทรงได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างลูเธอรันแต่อาจจะทรงเปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกอย่างลับๆ ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่ถ้าเป็นที่เปิดเผยก็จะเป็นสิ่งที่น่าละอาย และเป็นที่ทำให้หวาดหวั่นกันในบรรดาองค์มนตรีของสกอตแลนด์ ของวัดสกอตแลนด์ และทำให้เป็นที่น่าสงสัยแก่หมู่อังกลิคันของอังกฤษ[90]

พระราชินีนาถเอลิซาเบธเองก็ทรงเป็นกังวลเรื่องโอกาสที่จะเปลี่ยนนิกายของแอนน์จนทรงส่งพระราชสาส์นไปเตือนแอนน์ไม่ให้ฟังที่ปรึกษาโรมันคาทอลิก และขอให้ส่งชื่อผู้ที่จะพยายามให้พระองค์เปลี่ยนศาสนามาให้พระองค์ แอนน์ทรงตอบไปว่าไม่มีความจำเป็นในการส่งชื่อเพราะความพยายามต่างๆ ต่างก็ล้มเหลว[91] แต่แอนน์ก็ถูกวิจารณ์จากนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ที่ยังคงเป็นสหายสนิทของเฮ็นเรียตตา กอร์ดอนภรรยาของจอร์จ กอร์ดอน มาร์ควิสแห่งฮันท์ลีย์ที่ 1 (George Gordon, 1st Marquess of Huntly) [92] หลังจากจอร์จ กอร์ดอน มาร์ควิสแห่งฮันท์ลีย์กลับมาในปี ค.ศ. 1596 นักบวชเดวิด แบล็คแห่งวัดเซนต์แอนดรูว์เรียกแอนน์ว่า “atheist” (ผู้ไม่เชื่อพระเจ้า) และเปรยในคำเทศนาว่า “พระราชินีแห่งสกอตแลนด์เป็นสตรีที่แม้นักบวชจะสวดมนต์ให้พรให้พระองค์แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำให้มีผลดีขึ้นแต่อย่างใด”[93]

เมื่ออดีตสายลับเซอร์แอนโทนี สแตนเด็นถูกพบว่าเป็นผู้นำสายประคำจากสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 8 มาถวายแอนน์ในปี ค.ศ. 1603 พระเจ้าเจมส์ก็ทรงสั่งให้จับสแตนเด็นไปจำขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนอยู่สิบเดือน[94] แอนน์ทรงประท้วงเรื่องของขวัญ และในที่สุดก็ทรงช่วยให้สแตนเด็นได้รับการปลดปล่อย[79]

พระราชินีแอนน์ก็เช่นเดียวกับพระเจ้าเจมส์ที่ทรงสนับสนุนการจัดคู่ของทั้งพระราชโอรสและธิดากับผู้เป็นโรมันคาทอลิก แอนน์มีพระราชสาส์นถึงผู้ที่อาจจะมาเป็นเจ้าสาวของพระโอรสเจ้าหญิงมาเรียแอนนาแห่งสเปนที่รวมทั้งทรงขอให้มาเรียแอนนาส่งนักบวชสองคนไปเยรูซาเลมเพื่อไปสวดมนต์ให้พระองค์และพระเจ้าเจมส์[95] ทางสำนักพระสันตะปาปาไม่เคยมีความมั่นใจในสถานะของแอนน์ ในปี ค.ศ. 1612 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 ทรงแนะนำทูตของราชสำนักว่า “อย่าเอาความลมเพลมพัดของพระองค์มาเป็นหลัก ...และแม้ว่าจะทรงเป็นโรมันคาทอลิกจริงก็ยังเอามาเป็นการตัดสินที่แน่นอนไม่ได้”[96]

ราชสำนักและการเมือง

แอนน์แห่งเดนมาร์กโดย Marcus Gheeraerts the Younger

ระหว่างที่ประทับอยู่ในสกอตแลนด์แอนน์มักจะใช้ความแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่ายของราชสำนักในการหาผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่พระองค์เองโดยเฉพาะในการสนับสนุนศัตรูของเอิร์ลแห่งมาร์[97] ฉะนั้นพระเจ้าเจมส์จึงไม่มีความไว้วางพระทัยในพระชายาในเรื่องความลับของประเทศ เฮนรี โฮเวิร์ด เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมพ์ตันที่ 1 ผู้มีบทบาทสำคัญในกรณีการสืบราชบัลลังก์อังกฤษถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าเจมส์อย่างเป็นการส่วนพระองค์ว่าแอนน์ทรงมีคุณสมบัติทุกอย่างเช่นอีฟผู้ถูกล่อลวงบุรุษด้วยงูร้ายได้สำเร็จ[98] แต่โดยทั่วไปแล้วแอนน์ไม่ทรงมีความสนใจกับการเมืองเท่าใดนัก นอกจากเมื่อมามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระราชโอรสธิดาหรือพระสหาย[99]

เมื่อประทับอยู่ในอังกฤษพระราชินีแอนน์ทรงหันความสนพระทัยจากทางการเมืองไปในด้านการสังคมและกิจการที่เกี่ยวกับศิลปะ[100] แม้ว่าพระองค์จะทรงมีส่วนร่วมในราชสำนักของพระเจ้าเจมส์อย่างเต็มที่และทรงมีราชสำนักของพระองค์เอง ที่มักจะดึงดูดผู้ที่ไม่เป็นที่พอพระทัยของพระสวามี แต่ไม่ทรงถือหางทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าเจมส์ ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองพระองค์จะเป็นเช่นใดพระราชินีแอนน์ก็ทรงเป็นผู้ที่ทรงมีคุณค่าต่อพระสวามีในอังกฤษ เช่นในการติดต่อกับราชทูตและผู้มาเยือนชาวต่างประเทศราชวงศ์สจวตและราชวงศ์โอลเดนเบิร์กของเดนมาร์กเป็นอย่างดี[101]

นิโคโล โมลินราชทูตเวนิสบันทึกเกี่ยวกับพระราชินีแอนน์ในปี ค.ศ. 1606 ว่า:

ชื่อเสียง

ทัศนคติของนักประวัติศาสตร์ที่มีต่อพระราชินีแอนน์ตามปกติแล้วจะเป็นทัศนคติที่ไม่ค่อยจะดีนัก ที่มักจะเน้นความหยุมหยิมและความฟุ่มเฟือยของพระองค์[103] เมื่อเปรียบเทียบกับพระเจ้าเจมส์นักประวัติศาสตร์ก็มักจะละเลยการกล่าวถึงพระองค์โดยสิ้นเชิง เริ่มด้วยนักประวัติศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์สจวตในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เห็นความหลงพระองค์ของราชสำนักจาโคเบียนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองอังกฤษ นักประวัติศาสตร์เดวิด แฮร์ริส วิลล์สันเขียนในพระราชประวัติของพระเจ้าเจมส์ ในปี ค.ศ. 1956 ประณามว่า: “พระราชินีแอนน์ไม่ทรงมีอิทธิพลต่อพระสวามีเท่าใดนัก และไม่ทรงสามารถที่จะร่วมในความสนใจทางความเจริญทางสติปัญญาของพระสวามี และมีพระนิสัยที่เป็นนิสัยของสตรีตามที่พระเจ้าเจมส์ทรงมีความเห็น อนิจจา! พระเจ้าเจมส์ทรงเสกสมรสกับภรรยาโง่”[104] นักเขียนชีวประวัติของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอกเนส สตริคแลนด์ประณามการที่ทรงต่อสู้ในสิทธิในการดูแลเจ้าชายเฮนรีของพระราชินีแอนน์ว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ: “[การกระทำนี้]คงต้องทำให้ความเห็นในพระอุปนิสัยของพระราชินีแอนน์แห่งเดนมาร์กลดถอยลงในสายตาของทุกคน ...ว่าทรงใช้เพียงสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่เสี่ยงต่อความเกี่ยวข้องกับพระสวามี, พระราชโอรส และราชอาณาจักร ในการสร้างบรรยากาศของความทุกข์และความขัดแย้งอันไม่เป็นธรรมชาติ”[105]

แต่การวิเคราะห์พระเจ้าเจมส์ใหม่ในช่วงระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา ก็มีความเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นนักการปกครองผู้มีความสามารถผู้ทรงใช้อำนาจในสกอตแลนด์ และมีพระปรีชาสามารถในการป้องกันรักษาราชอาณาจักรจากการสงครามตลอดรัชสมัยของพระองค์[106] ที่ตามมาด้วยความเห็นใหม่เกี่ยวกับพระราชินีแอนน์ว่าทรงเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านการเมืองและเป็นพระมารดาผู้ทรงพยายามแสดงสิทธิของพระองค์ในตัวพระราชโอรส ในขณะที่ชีวิตการเสกสมรสระหว่างสองพระองค์ยังคงมีความหมายอยู่[107] จอห์น ลีดส์ บาร์โรลล์ค้านในพระราชประวัติทางวัฒนธรรมของพระราชินีแอนน์ว่าความเข้าเกี่ยวข้องทางการเมืองในสกอตแลนด์ของพระองค์มีความสำคัญกว่า และสิ่งที่เป็นที่แน่นอนคือทำให้เป็นปัญหามากกว่าที่เคยตั้งข้อสังเกตกันมาแต่ก่อน แคลร์ แมคมานัสหนึ่งในบรรดานักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเน้นบทบาทความมีอิทธิพลของพระราชินีแอนน์ในวัฒนธรรมจาโคเบียนว่าไม่ทรงแต่จะเป็นผู้อุปถัมภ์นักเขียนและศิลปินเท่านั้น แต่ยังทรงเป็นนักแสดงเองด้วย[108]

ผู้อุปถัมภ์ศิลปะ

เครื่องแต่งตัวในละคร “The Masque of Blackness” ออกแบบโดยอินิโก โจนส์
ตำหนักพระราชินี (Queen's House) ที่กรีนิชที่เริ่มสร้างสำหรับพระราชินีแอนน์ ในปี ค.ศ. 1616

พระราชินีแอนน์ทรงพระอุปนิสัยเหมือนพระเจ้าเจมส์พระราชสวามีตรงที่โปรดความฟุ้งเฟ้อ แม้ว่าจะต้องทรงใช้เวลาเป็นหลายปีก่อนที่จะทรงใช้พระราชทรัพย์จำนวนมหาศาลจากสินสอดทองหมั้นหมด[109] พระราชินีแอนน์โปรดการเต้นรำและงานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งมักจะทำความไม่ค่อยพอใจให้แก่กลุ่มเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ในสกอตแลนด์เท่าใดนัก แต่ทรงพบว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับกันในวงจาโคเบียนในลอนดอน และทรงใช้ในการสร้างบรรยากาศอันเต็มไปด้วยวัฒนธรรมในราชสำนัก[110] พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในการละครเป็นอย่างยิ่งและทรงเป็นเจ้าภาพงานละครสวมหน้ากาก (Masque) ซึ่งเป็นงานใหญ่โตประจำปีแทบทุกปี เมื่อเซอร์วอลเตอร์ โคพได้รับคำสั่งจากโรเบิร์ต เซซิลให้เลือกบทละครสำหรับพระราชินีเนื่องในพระราชวโรกาสของการมาเยือนของพระอนุชาดยุกอุลริชแห่งฮ็อลชไตน์ วอลเตอร์ โคพก็บันทึกว่า “เบอร์เบจกลับมาบอกว่าไม่มีบทละครใหม่สำหรับพระราชินีและมีบทละครเก่าที่นำมาฟื้นฟูชื่อ “Love's Labour's Lost” ที่มีทั้งปฏิภาณและไหวพริบที่เบอร์เบจกล่าวว่าจะทำให้ทรงพอพระทัยเป็นอันมาก”[111] งานละครสวมหน้ากากของพระราชินีแอนน์เป็นงานที่หรูหราน่าดูทั้งทางด้านฉากและการเต้นรำอย่างที่ไม่เคยทำกันมาก่อน[112] ที่ผู้เข้าร่วมมีทั้งราชทูตต่างประเทศและบุคคลสำคัญๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอังกฤษในยุโรป ซอร์ซิ จุยติเนียนราชทูตเวนิสบันทึกถึงงานเมื่อคริสต์มาสปี ค.ศ. 1604 ว่า “ในความคิดเห็นของทุกคนไม่มีราชสำนักใดที่สามารถจัดงานละครสวมหน้ากากที่หรูหราโอ่อ่าได้เท่านี้”[113]

งานละครสวมหน้ากากของพระราชินีแอนน์ในยี่สิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักแสดงสตรีเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของนักแสดงสตรี[114] บางครั้งพระราชินีแอนน์ก็จะทรงร่วมแสดงกับสตรีในละครด้วยพระองค์เอง และบางครั้งระหว่างการแสดงก็จะทรงถูกกระทบกระเทียบจากผู้ชมบางคน เช่นในละคร “The Vision of the Twelve Goddesses” เมื่อทรงแสดงเป็นอธีนา โดยทรงทูนิคที่ผู้ชมบางคนติว่าฉลองพระองค์สั้นเกินไป และในละครเรื่อง “The Masque of Blackness” ในปี ค.ศ. 1605 เมื่อพระราชินีแอนน์ทรงร่วมแสดงเมื่อทรงครรภ์ได้หกเดือน หรือเมื่อทรงก่อความอื้อฉาวเมื่อพระองค์และนักแสดงสตรีทาสีตนเองในการแสดงเป็นคนผิวดำแทนที่จะใช้หน้ากากตามธรรมเนียม นักเขียนจดหมายดัดลีย์ คาร์ลตันรายงานว่าหลังจากการแสดงแล้วพระราชินีแอนน์ทรงเต้นรำกับราชทูตสเปนผู้จำใจต้องจูบพระหัตถ์ “แม้จะกลัวว่าสีจะติดปากจากพระหัตถ์”[115] ในการสร้างงานละครสวมหน้ากากแต่ละครั้งพระราชินีแอนน์ก็ทรงจ้างศิลปินคนสำคัญๆ ในยุคนั้นในการออกแบบและสร้างฉากที่รวมทั้ง เบ็น จอนสัน และอินิโก โจนส์[116]

อินิโก โจนส์ผู้เป็นสถาปนิกผู้มีพรสวรรค์ผู้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในรสนิยมล่าสุดของยุโรปเป็นผู้ออกแบบตำหนักพระราชินีที่กรีนิชสำหรับพระองค์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมพาเลเดียน ที่แท้จริงชิ้นแรกที่สร้างในอังกฤษ[117] และนักประดิษฐ์ชาวดัทช์ซาโลมอน เดอ คอสเป็นผู้ออกแบบสวนที่กรีนิชและคฤหาสน์ซัมเมอร์เซ็ท นอกจากนั้นพระราชินีแอนน์ก็ยังโปรดดนตรีและทรงอุปถัมภ์นักเล่นลูทและคีตกวีจอห์น เดาว์แลนด์[118] ผู้ก่อนหน้านั้นเป็นข้าราชสำนักในพระอนุชาของพระองค์ในเดนมาร์ก และทรงอุปถัมภ์นักดนตรีฝรั่งเศสอีกหลายคน[119]

นอกจากนั้นพระราชินีแอนน์ก็ยังทรงจ้างศิลปินเช่นพอล ฟอน ซอมเมอร์ที่ 1, ไอแซ็ค โอลิเวอร์ และ แดนเนียล ไมเต็นส์ ผู้มามีอิทธิพลต่อรสนิยมของทัศนศิลป์ในอังกฤษต่อมา[120] ภายใต้พระราชินีแอนน์งานสะสมก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น[121] นโยบายที่ทำต่อมาโดยพระราชโอรสพระเจ้าชาร์ลส์ นักประวัติศาสตร์แอเลน สจวตเสนอว่าลักษณะต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของสมัยจาโคเบียนมาจากพระราชินีแอนน์มากกว่าที่จะมาจากพระเจ้าเจมส์ผู้มักจะ “บรรทมขณะที่ละครที่สำคัญๆ ที่สุดของอังกฤษกำลังแสดงอยู่”[122]

การสวรรคต

ในปลายปี ค.ศ. 1617 การประชวรของพระราชินีก็ยิ่งถี่ขึ้นจนไม่ทรงสามารถปฏิบัติกิจอันใดได้ ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1619 นายแพทย์ประจำพระองค์ทีโอดอร์เดอเมเยิร์นถวายคำแนะนำแก่พระราชินีแอนน์ให้ทรงเลื่อยไม้เพื่อช่วยทำให้เลือดลมดีขึ้น แต่การออกพระกำลังกลับทำไห้ประชวรหนักยิ่งขึ้น[123] พระเจ้าเจมส์เสด็จไปเยี่ยมพระราชินีแอนน์เพียงสามครั้งเมื่อประชวรครั้งสุดท้าย[124] เจ้าชายชาร์ลส์พระราชโอรสมักจะบรรทมในห้องติดกับห้องพระมารดาที่พระราชวังแฮมพ์ตัน และประทับข้างพระแท่นในชั่วโมงสุดท้ายของพระชนม์ชีพของแอนน์เมื่อทรงสูญเสียพระเนตร[125] อันนา รูสผู้เดินทางมากับพระราชินีแอนน์จากเดนมาร์กใน ค.ศ. 1590 ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่กับพระองค์จนวาระสุดท้าย[126] พระราชินีแอนน์เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 44 พรรษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1619 ด้วยพระอาการบวมน้ำ (dropsy) [127]

แม้ว่าจะไม่ทรงสนพระทัยในตัวพระราชินีแอนน์ในระยะหลังแต่การสวรรคตของพระองค์ก็อดที่จะสร้างความสะเทือนพระทัยให้กับพระเจ้าเจมส์ไม่ได้[128] พระองค์มิได้ทรงไปเยี่ยมแอนน์ก่อนหน้าที่จะสวรรคตและมิได้ทรงร่วมในพระราชพิธีศพเพราะพระองค์เองก็ทรงล้มประชวรด้วยอาการที่นายแพทย์ทีโอดอร์เดอเมเยิร์นบรรยายว่า “เป็นลม, ถอนหายใจ, มีความรู้สึกสิ้นหวัง, มีความรู้สึกเศร้า...”.[129] จากการตรวจพระบรมศพพบว่าพระราชินีแอนน์ “พระอวัยวะภายในเสียหมดแล้ว, โดยเฉพาะพระยกนะ(ตับ)”[130] หลังจากที่ทิ้งพระบรมศพไว้เป็นระยะเวลานาน[131] พระองค์ก็ได้รับการบรรจุในชาเปลพระแม่มารีในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ภายในแอบบีเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1619

พระโอรส-ธิดา

เจ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์พระราชโอรสองค์ที่สองผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1613)

แอนแห่งเดนมาร์กทรงให้กำเนิดพระโอรส-ธิดาจำนวนทั้งสิ้น 7 พระองค์ผู้ซึ่งมีพระชนม์พ้นวัยเด็ก ซึ่งมีสี่พระองค์ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวัยทารกหรือในวัยเด็กตอนต้น;[132] นอกจากนี้พระนางยังทรงตกพระโลหิตพระโอรส-ธิดาถึงสามครั้ง[79] พระโอรสพระองค์ที่สองเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าเจมส์ คือ สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พระธิดา เอลิซาเบธ ทรงเป็นอัยยิกาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่

  1. เฮนรี เฟรเดอริค เจ้าชายแห่งเวลส์ (19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 15946 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612). สิ้นพระชนม์ อาจเนื่องมาจากไข้รากสาดน้อย เมื่อมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา[133]
  2. เอลิซาเบธ สจวต (19 สิงหาคม ค.ศ. 159613 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1662). เสกสมรสในปี ค.ศ. 1613 กับฟรีดริชที่ 5 เจ้าชายอีเล็คเตอร์แห่งพาเลไทน์ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงอีเล็คเตรสแห่งพาเลไทน์ และ สมเด็จพระราชินีแห่งโบฮีเมีย สวรรคตเมื่อมีพระชนมายุ 65 พรรษา
  3. มาร์กาเร็ต สจวต (24 ธันวาคม ค.ศ. 1598-มีนาคม ค.ศ. 1600). สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุ 15 เดือนพระศพถูกฝังไว้ที่พระราชวังโฮลีรูด
  4. สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (19 พฤศจิกายน ค.ศ. 160030 มกราคม ค.ศ. 1649). เสกสมรสในปี ค.ศ. 1625 กับเฮนเรียตตา มาเรีย ทรงถูกสำเร็จโทษเมื่อมีพระชนมายุได้ 49 พรรษา
  5. โรเบิร์ต สจวต ดยุกแห่งคินไทร์ (18 มกราคม -27 พฤษภาคม ค.ศ. 1602) สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้ 4 เดือน[134]
  6. แมรี สจวต (8 เมษายน ค.ศ. 1605-16 ธันวาคม ค.ศ. 1607) สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุ 2 พรรษา
  7. โซเฟีย สจวต (22– 23 มิถุนายน 1606) ประสูติและสิ้นพระชนม์ในพระราชวังกรีนิช[135]
ก่อนหน้าอันนาแห่งเดนมาร์กถัดไป
พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน
พระราชินีแห่งอังกฤษ
ในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศส
เจมส์ เอิร์ลแห่งโบธธ์เวลล์ที่ 4
พระราชินีแห่งสก๊อตแลนด์
ในพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์

สมเด็จพระราชินีเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศส

เชิงอรรถ

อ้างอิง

  • Akrigg, G.P.V ([1962] 1978 edition). Jacobean Pageant: or the Court of King James I. New York: Athenaeum. ISBN 0689700032.
  • Ackroyd, Peter (2006). Shakespeare: The Biography. London: Vintage. ISBN 074938655X.
  • Barroll, J. Leeds (2001). Anna of Denmark, Queen of England: A Cultural Biography. Philadelphia: University of Pennsylvania. ISBN 0812235746.
  • Cerasano, Susan, and Marion Wynne-Davies (1996). Renaissance Drama by Women: Texts and Documents. London and New York: Routledge. ISBN 0415098068.
  • Croft, Pauline (2003). King James. Basingstoke and New York: Palgrave Macmillan. ISBN 0333613953.
  • Fraser, Antonia ([1996] 1997 edition). The Gunpowder Plot: Terror and Faith in 1605. London: Mandarin Paperbacks. ISBN 0749323574.
  • Haynes, Alan ([1994] 2005 edition). The Gunpowder Plot. Stroud: Sutton Publishing. ISBN 0750942150.
  • Hogge, Alice (2005). God's Secret Agents: Queen Elizabeth's Forbidden Priests and the Hatching of the Gunpowder Plot. London: Harper Collins. ISBN 0007156375.
  • McCrea, Scott (2005). The Case For Shakespeare: The End of the Authorship Question. Westport, Connecticut: Praeger/Greenwood. ISBN 027598527X.
  • McManus, Clare (2002). Women on the Renaissance Stage: Anna of Denmark and Female Masquing in the Stuart Court (1590–1619). Manchester: Manchester University Press. ISBN 0719060923.
  • Sharpe, Kevin (1996). "Stuart Monarchy and Political Culture," in The Oxford Illustrated History of Tudor & Stuart Britain. Ed. John.S.Morrill. Oxford: Oxford University Press. ISBN 0192893270.
  • Stewart, Alan (2003). The Cradle King: A Life of James VI & 1. London: Chatto and Windus. ISBN 0701169842.
  • Strickland, Agnes (1848). Lives of the Queens of England: From the Norman Conquest. Vol VII. Philadelphia: Lea and Blanchard. Original from Stanford University, digitized 20 April 2006. Full view at Google Books. Retrieved 10 May 2007.
  • Williams, Ethel Carleton (1970). Anne of Denmark. London: Longman. ISBN 0582127831.
  • Willson, David Harris ([1956] 1963 edition). King James VI & 1. London: Jonathan Cape Ltd. ISBN 0224605720.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง