การศึกษา

การศึกษา ในความหมายทั่วไปอย่างกว้างที่สุด เป็นวิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมายและธรรมเนียมประเพณีให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง[1] โดยทั่วไป การศึกษาเกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ใด ๆ ซึ่งมีผลกระทบเชิงพัฒนาต่อวิธีที่คนคนหนึ่งจะคิด รู้สึกหรือกระทำ แต่ในความหมายเทคนิคอย่างแคบ การศึกษาเป็นกระบวนการอย่างเป็นทางการซึ่งสังคมส่งผ่านความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมาจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง นั่นคือ การสอนในสถานศึกษา สำหรับปัจจุบันนี้มีการแบ่งระดับชั้นทางการศึกษาออกเป็นขั้นๆ เช่น การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งนี้รวมไปถึงระดับอาชีวศึกษา อุดมศึกษา และการฝึกงาน

การปลูกฝังในห้องเรียนการรวมเนื้อหาทางการเมืองไว้ในเอกสารประกอบการเรียนหรือครูที่ละเมิดบทบาทของตนในการปลูกฝังนักเรียนขัดต่อวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่แสวงหาเสรีภาพในการคิดและการคิดเชิงวิพากษ์

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายบังคับให้ประชาชนไทยทุกคนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ และสามารถเรียนได้จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนโดยผู้ปกครองที่บ้านหรือที่เรียกว่าโฮมสคูลอีกด้วย

คำว่า "education" เป็นศัพท์จากภาษาลาติน ēducātiō ("การปรับปรุง,การอบรม") จาก ēdūcō ("ฉันรู้, ฉันฝึก") [2]

สำหรับการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มี 3 รูปแบบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาในระบบ

เด็กในโรงเรียนอนุบาล ประเทศญี่ปุ่น

การศึกษาในระบบ (formal education) เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน[3] โดยการศึกษาในระบบ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

ระดับปฐมวัย

ระดับปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาให้เด็กก่อนวัยที่ต้องศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเป็นการวางรากฐานชีวิตเพื่อปูพื้นฐานที่ดีก่อนการเรียนในระดับต่อไป โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เข้าศึกษาในระดับนี้มักมีอายุตั้งแต่ 4 - 8 ปี การเรียนการสอนในระดับนี้จะเน้นการสอนที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเน้นในด้านการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก นอกจากนี้ยังเน้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะต่างๆผ่านกิจกรรมการเล่นและกิจกรรมเกมส์ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และเกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งการใช้เกมส์และการเล่นถือได้ว่าเป็นวิธีการหลักสำหรับสอนเด็กในระดับปฐมวัย โครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยจะมีจุดเน้นทั้งสิ้น 2 ด้านคือ ด้านประสบการณ์สำคัญ ประกอบไปด้วย ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา อีกด้านหนึ่งคือสาระที่ควรเรียนรู้ ประกอบไปด้วย เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่รอบตัวเด็ก ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก[4]

ระดับประถมศึกษา

เด็กระดับชั้นประถมศึกษา ประเทศไทย

ประถมศึกษาเป็นการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยทั่วไปแล้วการศึกษาในระดับประถมศึกษาจะมีระยะเวลาในการเรียนประมาณ 5 - 8 ปี ขึ้นอยู่กับการวางแผนจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยมีจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษา 6 ปี ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยผู้เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษามักจะมีอายุประมาณ 6-7 ปี โดยในปัจจุบันนี้ยังมีเด็กกว่า 61 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระดับประถมศึกษา ซึ่ง 47% ในจำนวนนี้จะหมดโอกาสการเข้าศึกษาต่ออย่างสิ้นเชิง[5] อย่างไรก็ตาม ยูเนสโก้ ได้พยายามสนับสนุนให้เกิดการศึกษาสำหรับทุกคน โดยได้ดำเนินการที่เรียกว่าการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งทุกประเทศจะต้องประสบความสำเร็จในด้านจำนวนคนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาตามประกาศของ ยูเนสโก้ ภายในปี พ.ศ. 2558 หลังจากนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้วจะสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาได้ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มักจะมีอายุประมาณ 11 - 13 ปี

ระดับมัธยมศึกษา

การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา

มัธยมศึกษาเป็นการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่จบในระดับประถมศึกษามาแล้ว สำหรับผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษามักจะมีอายุประมาณ 11 - 18 ปี สำหรับการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษามีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะกระบวนการเฉพาะด้าน เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาระดับสูงต่อไป สำหรับประเทศโดยส่วนใหญ่แล้วการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาถือได้ว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ สำหรับประเทศไทย นักเรียนจะต้องจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงจะถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ อย่างไรก็ตามหลังจากจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว นักเรียนสามารถเลือกที่จะหยุดเรียนแล้วออกไปประกอบอาชีพ หรือ เรียนต่อก็ได้ ในกรณีที่เรียนต่อจะมี 2 ระบบให้เลือกเรียน ระหว่างสายสามัญ ซึ่งเป็นการเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และสายอาชีพ ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับอาชีพทางด้านต่างๆ เช่น งานช่าง และเกษตรกรรม เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ดำเนินการทางด้านค่าใช้จ่ายทั่วไปจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา

ระดับอาชีวศึกษา

อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อเตรียมคนสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งในด้านของงานช่างฝีมือ งานธุรกิจ งานวิศวกรรม และงานบัญชี โดยเป็นการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานได้จริงๆ ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นให้มีความรู้พื้นฐานมากเพียงพอสำหรับศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย การศึกษาในระดับอาชีวศึกษาจะเน้นให้มีการฝึกงาน เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนในสายอาชีพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 โดยในสมัยนั้นเน้นจัดการเรียนการสอนทางด้าน แพทย์ ผดุงครรภ์ ภาษาอังกฤษ พาณิชยการ และครู[6]

ระดับอุดมศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย

การศึกษาในระดับอุดมศึกษา (tertiary, third stage,post secondary education) เป็นการศึกษาที่ไม่ได้บังคับว่าต้องจบการศึกษาในระดับนี้ การศึกษาในระดับนี้เป็นการศึกษาที่สูงขึ้นมาจากการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นแบ่งได้ออกเป็น 2 ระดับคือระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ หากผู้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาเรียนจบแล้วจะได้รับปริญญาบัตรเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการผ่านหลักสูตรนั้นๆ

การที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อก่อน ส่งผลให้วิธีการนี้ทำให้มีทั้งผู้ที่ได้สิทธิ์ศึกษาต่อและผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ศึกษาต่อ สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีความสำคัญมากในการสมัครงาน เพราะมักมีการกำหนดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการพัฒนากำลังคนในการพัฒนาประเทศชาติอีกด้วย

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยมีทั้งมหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน

การศึกษาพิเศษ

การศึกษาพิเศษเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณและสาธารณูปโภคต่างๆเพื่อสนับสนุนการศึกษาในรูปแบบนี้[7] โดยกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เด็กที่มีปัญญาเลิศ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาความสามารถและความถนัดเฉพาะของบุคคล อีกประเภทหนึ่งคือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายหรือสติปัญญา โดยการจัดการศึกษาจะเน้นการเรียนการสอนรายบุคคล ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ รวมไปถึงพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตให้กับผู้ที่มีความต้องการพิเศษให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้

การศึกษานอกระบบโรงเรียน

ตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ให้นิยามเกี่ยวกับการศึกษานอกระบบโรงเรียน ความว่าเป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม[8] ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนนอกระบบโรงเรียนจะเป็นการจัดให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียนหรือผ่านจากระบบโรงเรียนมาแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้าศึกษานอกระบบโรงเรียนมักเป็นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก เพื่อเรียนรู้การอ่านออกเขียนได้และนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับอาชีพของตัว สำหรับประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบการศึกษานอกโรงเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยนิยมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหรือศูนย์การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ได้ โดยภายในศูนย์จะมีอาจารย์ประจำและอาจารย์อาสาสมัครเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน[9] นอกจากนี้แล้วการศึกษานอกระบบโรงเรียนยังมีการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นๆด้วย เช่น การศึกษาผู้ใหญ่ การศึกษาชุมชน เป็นต้น

การศึกษาตามอัธยาศัย

การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ให้ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยว่าเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สิ่งแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่น[10] ดังนั้นถือได้ว่าการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เช่นเดียวกัน สำหรับการเรียนรู้ตามอัธยาศัยสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การเรียนรู้ด้วยการนำตัวเอง การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญและการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน[11]

การศึกษาตามอัธยาศัยมักเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นภายนอกห้องเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยเฉพาะเจาะจงและมักเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ ดังนั้นส่งผลให้การศึกษาในประเภทนี้เกิดขึ้นได้ในทุกๆสถานที่ ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและที่อื่นๆ ซึ่งเป็นการศึกษาเพียงรูปแบบเดียวของมนุษย์เท่านั้นที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

การศึกษาในรูปแบบอื่นๆ

การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาที่มีความแตกต่างจากการศึกษาในกระแสหลัก โดยยึดความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นเป็นหลัก ใช้กระบวนการสอนที่มีความหลากหลายรูปแบบ และหยิบยกปรัชญาการศึกษาหลายๆปรัชญาเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยการศึกษาในรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่เป็นอุดมคติ และลดบทบาทของการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนลง[12] สำหรับการจัดการศึกษาทางเลือกนั้นมีทั้งรูปแบบที่เรียนในโรงเรียนการศึกษาทางเลือก โฮมสคูล รวมไปถึงรูปแบบอันสคูลลิ่ง สำหรับโรงเรียนการศึกษาทางเลือกในประเทศไทยยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นต้น

นักการศึกษาที่มีแนวคิดเรื่องการศึกษาทางเลือกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น รูดอร์ฟ สไตเนอร์ และมาเรีย มอนเตสเซอรี

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง