ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน

ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน (จีน: 太陽花學運; พินอิน: Tàiyánghuā Xué Yùn; อังกฤษ: Sunflower Student Movement) เป็นชื่อเรียกกลุ่มผู้ประท้วงในประเทศไต้หวัน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา และประชาชนซึ่งรวมกำลังกันยึดสถานที่ราชการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2014 โดยเริ่มเข้าควบคุมที่ทำการสภานิติบัญญัติ และต่อมาจึงลุกลามไปยังสำนักงานสภาบริหาร (คณะรัฐมนตรี)[2][3][4] ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการที่สภานิติบัญญัติ ซึ่งพรรคชาตินิยม (國民黨; Guómíndǎng; Kuomintang) ครองเสียงข้างมาก จะให้สัตยาบันแก่ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ (海峽兩岸服務貿易協議; Hǎixiá Liǎng'àn Fúwù Màoyì Xiéyì; Cross-Strait Service Trade Agreement) ที่สภาบริหารได้ทำไว้กับประเทศจีน โดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ

ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน
Sunflower Student Movement
太陽花學運
วันที่18 มีนาคม – 10 เมษายน ค.ศ. 2014 (2014-03-18 – 2014-04-10) (23 วัน)
สถานที่สาธารณรัฐจีน ที่ทำการสภานิติบัญญัติ
อำเภอจงเจิ้ง กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน

25°2′39.8832″N 121°31′10.02″E / 25.044412000°N 121.5194500°E / 25.044412000; 121.5194500
สาเหตุ
  • ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ
  • ฉ้อราษฎร์บังหลวง
  • รัฐบาลใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
  • ขาดประชาพิจารณ์
  • รัฐบาลมีอิทธิพลในวิสาหกิจขนาดใหญ่
เป้าหมาย
  • ขัดขวางการบังคับใช้ความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบ
  • ให้มีกฎหมายควบคุมความตกลงกับจีน
  • ให้คณะรัฐมนตรีลาออก[1]
วิธีการ
สถานะยังดำเนินอยู่
คู่ขัดแย้ง
กลุ่มคนซึ่งไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ
ผู้นำ
ไม่มี
  • หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดี
  • เจียง อีฮว่า นายกรัฐมนตรี
จำนวน

สภานิติบัญญัติ

  • อย่างน้อย 400 คนยึดที่ประชุม
  • อย่างน้อย 10,000 คนยึดที่ภายนอก

ผู้ประท้วงเชื่อว่า ความตกลงนี้จะกระทบเศรษฐกิจไต้หวัน เพราะจะเปิดให้จีนใช้อำนาจทางการเมืองบีบคั้นเศรษฐกิจไต้หวันจนเกิดความเสียหายร้ายแรงได้ ส่วนผู้สนับสนุนความตกลงเห็นว่า ความตกลงจะช่วยให้ทั้งจีนและไต้หวันลงทุนในตลาดของแต่ละฝ่ายได้อย่างเสรีมากขึ้น[5][6][7] เดิมที ผู้ประท้วงเรียกให้พิจารณาความตกลงอีกครั้งโดยทำเป็นรายข้อ[8] แต่ภายหลังเปลี่ยนไปเรียกให้เลิกทำความตกลงนั้นเสีย แล้วตรากฎหมายควบคุมการทำความตกลงกับจีน[9] พรรคชาตินิยมยินดีให้พิจารณาความตกลงเป็นรายข้อในวาระที่ 2[10][11] แต่ไม่เห็นด้วยที่จะส่งความตกลงกลับไปให้คณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติพิจารณาอีกครั้ง[12] ต่อมา พรรคชาตินิยมยินยอมตามข้อเสนอที่ให้พิจารณาซ้ำเป็นรายข้อ แต่กล่าวว่า ต้องให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (主進步黨; Mínzhǔ Jìnbù Dǎng; Democratic Progressive Party) เลิกคว่ำบาตรกระบวนพิจารณา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ตกลงด้วย และแถลงว่า ควรตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกับจีนมาพิจารณาความตกลง เพราะเป็น "มติมหาชนกระแสหลัก"[13] อย่างไรก็ดี พรรคชาตินิยมบอกปัดข้อเสนอดังกล่าว[14][15]

ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นคราวแรกในประวัติศาสตร์ชาติไต้หวันที่สภานิติบัญญัติถูกประชาชนบุกยึด[16][17] และสำนักข่าวบีบีซีเห็นว่า เป็นการชี้ชะตาไต้หวัน เพราะจะช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งจะทวีการพิทักษ์ประโยชน์ประชาชน มิใช่ประโยชน์ของพรรคการเมือง[18]

ชื่อ

ผู้ประท้วงเรียกตนเองว่า "ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน" เพราะเห็นว่า ดอกทานตะวันเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง[19] โดยเริ่มนิยมใช้คำนี้ตั้งแต่ร้านดอกไม้ร้าน 1 ส่งดอกทานตะวัน 100 ต้นมาเป็นกำลังใจให้เหล่านักศึกษา ณ ที่ทำการสภานิติบัญญัติ[20]

ชื่อ "ทานตะวัน" ยังเป็นการอ้างถึงขบวนการนักศึกษาลิลลีป่า (野百合學運; Yě Bǎihé Xué Yùn; Wild Lily Student Movement) เมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนไต้หวันให้เป็นประชาธิปไตย[21]

ขบวนการครั้งนี้มีชื่ออื่นอีก คือ "ขบวนการนักศึกษา 18 มีนาฯ" (318學運; 318 Xué Yùn; March 18 Student Movement) และ "ปฏิบัติการยึดสภาฯ" (佔領國會事件; Zhànlǐng Guóhuì Shìjiàn; Occupy Taiwan Legislature)

ความเป็นมา

วันที่ 18 มีนาคม 2014 พรรคชาตินิยมยื่นญัตติฝ่ายเดียวให้สภานิติบัญญัติเห็นชอบกับความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบโดยไม่พิจารณาเป็นรายข้อ แม้เคยรับปากกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 แล้วว่า จะพิจารณาเป็นรายข้อ อนึ่ง พรรคการเมืองทั้ง 2 ยังเคยตกลงกันเมื่อเดือนกันยายน 2013 ว่า จะจัดประชาพิจารณ์ 16 ครั้ง โดยจะเป็นเจ้าภาพกันคนละ 8 ครั้ง และเชิญนักวิชาการ องค์การเอกชน กับผู้แทนวงการค้าที่จะได้รับผลกระทบ มาร่วมเสวนา พรรคชาตินิยมจัดไป 8 ครั้ง แต่ไม่ได้เชิญบุคคลดังกล่าวมาเลย หรือเชิญมาก็ด้วยความรีบร้อน นอกจากนี้ เมื่อมีการเสนอความเห็นระหว่างประชาพิจารณ์ จาง ชิ่งจง (張慶忠; Zhāng Qìngzhōng; Chang Ching-chung) สมาชิกพรรคชาตินิยมซึ่งเป็นประธานกรรมาธิการบริหารราชการภายใน (Internal Administrative Committee) ของสภานิติบัญญัติ ก็กล่าวว่า ร่างความตกลงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว ต้องรับทั้งฉบับเท่านั้น[22] พฤติการณ์เหล่านี้นำไปสู่ความวุ่นวายในสภานิติบัญญัติ เป็นเหตุให้พรรคประชาธิปไตยไม่อาจจัดประชาพิจารณ์อีก 8 ครั้งได้ กับทั้งจาง ชิ่งจง ยังสั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2014 ว่า กระบวนพิจารณาชั้นกรรมาธิการดำเนินมามากกว่า 90 วันแล้ว ให้ส่งความตกลงไปให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเพื่อลงมติในชั้นสุดท้ายได้ ความตกลงส่งไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2014[8]

การยึดพื้นที่

สภานิติบัญญัติ

นักศึกษายึดห้องประชุมสภานิติบัญญัติ

วันที่ 18 มีนาคม 2014 ราว 21:00 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ผู้ชุมนุมปีนรั้วที่ทำการสภานิติบัญญัติขึ้นเพื่อเข้าไปภายใน การรบรันพันตูระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเหตุให้ที่ทำการเสียหายเล็กน้อย แต่เจ้าพนักงานตำรวจหลายรายได้รับบาดเจ็บสาหัส สภานิติบัญญัติส่งสมาชิกผู้ 1 มาเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมซึ่งเข้าไปในที่ทำการได้ประมาณ 300 คนแล้วเข้าควบคุมสถานที่ไว้เป็นผลสำเร็จ ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถขับพวกเขาออกไปได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่เหลือซึ่งมีหลายร้อยคนยังตั้งมั่นอยู่นอกที่ทำการ บรรดาผู้ชุมนุมเรียกให้สภานิติบัญญัติพิจารณาความตกลงเป็นรายข้ออีกครั้ง มิฉะนั้น จะยึดที่ทำการไปจนถึงวันที่ 21 มีนาคม อันเป็นวันที่สภานิติบัญญัติกำหนดให้ลงมติเกี่ยวกับความตกลง เจ้าหน้าที่จึงตัดน้ำตัดไฟในที่ทำการ ณ คืนวันที่ 18 นั้นเพื่อบีบให้ผู้ชุมนุมออกไป ส่วนเจียง อีฮว่า (江宜樺; Jiāng Yīhuà; Jiang Yi-huah) นายกรัฐมนตรี สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าขับไล่ผู้ชุมนุม แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง[8][23]

หลังสภานิติบัญญัติถูกยึดไม่นาน มีการระดมเจ้าพนักงานตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายพันคนจากทั่วประเทศเพื่อเข้าล้อมผู้ชุมนุมเอาไว้[24][25] ครั้นวันที่ 20 มีนาคม 2014 หวัง จินผิง (王金平; Wáng Jīnpíng; Wang Jin-pyng) ประธานสภานิติบัญญัติ แถลงว่า จะไม่ใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม[26] นอกจากนี้ เขากล่าวในวันรุ่งขึ้นว่า จะไม่ไปพบหม่า อิงจิ่ว (馬英九; Mǎ Yīngjiǔ; Ma Ying-jeou) ประธานาธิบดี หรือเจียง อีฮว่า นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องจะทำอย่างไรต่อไป เขากล่าวด้วยว่า เป็นหน้าที่ของประธานาธิบดีที่จะต้องฟังเสียงประชาชน และสมาชิกสภานิติบัญญัติเองก็ต้องรอมชอมกันเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ด้วย[27]

วันที่ 22 มีนาคม 2014 เจียง อีฮว่า ไปพบผู้ชุมนุมนอกที่ทำการสภานิติบัญญัติ และแถลงว่า สภาบริหารไม่ประสงค์จะล้มเลิกความตกลงฉบับนั้น[2] ฝ่ายประธานาธิบดีก็แถลงข่าวในวันถัดมาว่า เขาปรารถนาจะให้ความตกลงได้รับการอนุมัติ แต่ยืนยันว่า เขาไม่ได้กำลังรับสนองคำสั่งจากกรุงปักกิ่ง[28][29]

สภาบริหาร

การแถลงข่าวข้างต้นเป็นผลให้ผู้ชุมนุมแห่ไปยึดสำนักงานสภาบริหารในเวลาประมาณ 19:30 นาฬิกาของวันที่ 23 มีนาคม 2014 นั้นเอง[30] เจ้าพนักงานตำรวจใช้ปืนแรงดันน้ำขับผู้ชุมนุมไปเสียจากสำนักงานได้อย่างราบคาบในเวลา 05:00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น แต่ไม่ช้าผู้ชุมนุมก็จับกลุ่มกันอีกครั้งตรงถนนจงเซี่ยวฝั่งตะวันออก (忠孝東路; Zhōngxiào Dōng Lù; Zhongxiao East Road)[31] เจ้าพนักงานตำรวจราว 100 คนจึงใช้เวลา 10 ชั่วโมงพยายามสลายผู้ชุมนุมโดยใช้แรงดันน้ำฉีดไล่และใช้ไม้พลองฟาดศีรษะ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้กำลังเกินเหตุ[32] มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 150 คนและถูกจับอีก 61 คน[33]

นอกจากนี้ นักข่าวและแพทย์พยาบาลยังถูกสั่งให้ไปเสียให้พ้นจากพื้นที่[32] สมาคมนักข่าวไต้หวันเปิดเผยว่า เจ้าพนักงานตำรวจใช้กำลังต่อนักข่าว เพราะปรากฏว่า โจมตีนักข่าวมากกว่า 10 ครั้ง ทั้งวิจารณ์ว่า คำสั่งไล่นักข่าวเป็นการริดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน[34]

การเจรจา

หลิน เฟย์ฟัน ผู้นำนักศึกษา ปราศรัยในห้องประชุมสภานิติบัญญัติ

ประธานาธิบดียืนยันตลอดมาว่า จะไม่พูดคุยกับผู้ชุมนุมเป็นการส่วนตัว แต่วันที่ 25 มีนาคม 2014 เขาเรียกผู้แทนนักศึกษามาที่จวนเพื่อสนทนาเรื่องความตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบกับประเทศจีน[35] หลิน เฟย์ฟัน (林飛帆; Lín Fēifān; Lin Fei-fan) ผู้นำนักศึกษา ตกลงจะไป และกล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาประสงค์จะสนทนาเรื่องไต้หวันควรมีสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่เพื่อกำกับดูแลการทำความตกลงระหว่างช่องแคบทั้งหลายหรือไม่ และความตกลงฉบับที่เป็นปัญหานั้นควรค้างไว้จนกว่าจะมีสภานิติบัญญัติชุดใหม่หรือไม่มากกว่า[22]

กระนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2014 เหล่าผู้แทนนักศึกษาประกาศว่า จะไม่ไปพบประธานาธิบดี เพราะเห็นว่า ประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาตินิยมสามารถใช้กฎระเบียบของพรรคควบคุมสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติได้ อันจะเป็นผลให้การเจรจาระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลายล้มเหลวอีกจนไม่อาจตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้[36][37] ผู้ชุมนุมจึงเปลี่ยนไปเรียกให้สภานิติบัญญัติตรากฎหมายเพื่อควบคุมการทำความตกลงระหว่างช่องแคบในภายภาคหน้า โดยส่งร่างกฎหมายไปให้สภานิติบัญญัติและขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติลงชื่อรับรอง[38]

การเดินขบวน

วันที่ 30 มีนาคม 2014 ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากจวนประธานาธิบดีไปยังที่ทำการสภานิติบัญญัติจนเต็มถนนไข่ต๋าเก๋อหลัน (Ketagalan Boulevard) เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีฟังคำพวกตน[39][40] ผู้จัดการเดินขบวนว่า มีผู้คนมากกว่า 500,000 คนมาร่วม ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจที่มาประจำการนั้นมีราว 116,000 คน[41]

ฝ่ายผู้ต่อต้านการชุมนุมก็รวมตัวกันในท้องที่เดียวกัน แต่แยกย้ายกันไปก่อนขบวนนักศึกษาสลายตัว[42] ครั้นวันที่ 1 เมษายน 2014 จาง อันเล่อ (張安樂; Zhāng Ānlè; Chang An-lo) นักเลงโต นำผู้สนับสนุนการทำความตกลงกับประเทศจีนเคลื่อนขบวนต่อต้านการยึดสภานิติบัญญัติบ้าง[43]

วันที่ 6 เมษายน 2014 ประธานสภานิติบัญญัติไปเยี่ยมผู้ชุมนุมซึ่งยึดที่ทำการสภานิติบัญญัติ และตกปากว่า จะเลื่อนการพิจารณาความตกลงนั้นออกไปก่อนจนกว่าจะตรากฎหมายควบคุมการทำความตกลงระหว่างช่องแคบสำเร็จตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง[44] แต่เฟ่ย์ หงไท่ (費鴻泰; Fèi Hóngtài; Fai Hrong-tai) รองเลขาธิการพรรคชาตินิยม บอกปัดเรื่องนั้น และติเตียนประธานสภานิติบัญญัติว่า ออกปากสิ่งใดไปไม่ปรึกษาพรรคชาตินิยมก่อน[45]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง