ความคลั่งทิวลิป

คลั่งทิวลิป (อังกฤษ: Tulip mania, Tulipomania; ดัตช์: Tulpenmanie, Tulpomanie, Tulpenwoede, Tulpengekte, Bollengekte) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เมื่อเกิดการตั้งราคาสัญญาการค้าขายหัวทิวลิปสายพันธุ์ใหม่กันอย่างสูงผิดปกติจนถึงจุดสูงสุดก่อนที่ราคาจะตกฮวบลงมาอย่างฉับพลัน[2] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 ในระหว่างที่ความคลั่งทิวลิปกำลังอยู่ที่จุดสูงสุด ราคาสัญญาการซื้อขายดอกทิวลิปต่อหัวสูงเกินสิบเท่าของรายได้ต่อปีของช่างฝีมือในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เหตุการณ์นี้ถือกันว่าเป็นเหตุการณ์แรกของภาวะฟองสบู่จากเก็งกำไร[3] คำว่า "ความคลั่งทิวลิป" กลายมาเป็นคำที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปมาเมื่อกล่าวถึงภาวะฟองสบู่ขนาดใหญ่[4]

ภาพทิวลิปแตกสีเป็นลวดลายที่เรียกว่า “ไวซรอย” ในแคตาลอกขายหัวทิวลิป ค.ศ. 1637 หัว “ไวซรอย” แต่ละหัวตกมีมูลค่าระหว่าง 3000 ถึง 4200 โฟลริน ขึ้นอยู่กับขนาด ขณะที่ค่าแรงงานของช่างฝีมือในขณะนั้นตกประมาณ 300 โฟลรินต่อปี[1]

เหตุการณ์เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปมาเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษชื่อ ชาร์ลส์ แม็คเคย์ ในหนังสือชื่อ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds (ความเพ้อฝันอันวิปริตและความบ้าคลั่งของมหาชน) ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1841 แม็คเคย์กล่าวว่าในจุดหนึ่งของการขายถึงกับมีผู้เสนอแลกที่ดิน 12 เอเคอร์เพื่อแลกกับหัวทิวลิปสายพันธุ์ "Semper Augustus" เพียงหัวเดียว[5] แม็คเคย์อ้างว่ามีผู้ลงทุนในการซื้อสัญญาซื้อขายหัวทิวลิปจนหมดตัวเป็นจำนวนมากเมื่อราคาทรุดฮวบลง และผลสะท้อนของตลาดที่ล่มก็ใหญ่พอที่จะสั่นคลอนสภาวะทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ แม้ว่าหนังสือที่แม็คเคย์เขียนจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิกที่ยังคงตีพิมพ์กันอยู่แม้แต่ในปัจจุบันนี้ แต่ความถูกต้องของข้อมูลและข้อสมมติฐานที่กล่าวในหนังสือก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิชาการสมัยใหม่เชื่อว่าความคลั่งดอกทิวลิปมิได้เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงตามที่แม็คเคย์กล่าว และบ้างก็เสนอว่าเหตุการณ์นี้มิได้ทำให้เกิดความแปรปรวนของเศรษฐกิจขนานใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด[6]

การค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปเป็นไปได้ยากเพราะข้อมูลจากคริสต์ทศวรรษ 1630 มีเพียงจำกัด—นอกจากนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่ก็ยังขาดความเป็นกลาง และมาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเก็งกำไร[7][8] แทนที่จะใช้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นความคลั่งของการเก็งกำไรอันไม่มีเหตุผล นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่พยายามให้คำอธิบายอย่างมีเหตุผลถึงสาเหตุของการตั้งราคาอันสูงผิดปกติ แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มของความผันผวนของราคาดอกไม้ชนิดอื่น เช่น ดอกไฮยาซินธ์ ซึ่งก็มีการตั้งราคาที่สูงเกินประมาณเมื่อมีการนำสายพันธุ์เข้าใหม่เข้ามา และราคาก็มาตกฮวบต่อมาเมื่อหมดความนิยมลงเช่นเดียวกับทิวลิป อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดทิวลิปล่มอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการทำสัญญาการซื้อขายโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในช่วงนั้น ที่มีจุดประสงค์ในการลดความเสี่ยงในตลาดการลงทุนของผู้ซื้ออนาคต โดยการอนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถยุบเลิกสัญญาการซื้อขายได้โดยเสียค่าปรับเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าของสัญญาทั้งหมด แต่บทบังคับนี้กลับได้ผลตรงกันข้ามและทำให้ราคาทิวลิปยิ่งถีบตัวสูงหนักขึ้นไปอีกจนเป็นผลให้ตลาดทิวลิปล่มสลายในที่สุด

ประวัติ

จิตรกรรมอุปมานิทัศน์ของความคลั่งทิวลิปโดยเฮนดริค เกอร์ริทสซ โพต (Hendrik Gerritsz Pot) ที่เขียนราว ค.ศ. 1640 เป็นภาพเทพีฟลอราผู้เป็นเทพีแห่งดอกไม้นั่งบนเกวียนที่ถูกพัดด้วยสายลมที่นำไปสู่ความหายนะในทะเลพร้อมกับคนเมา คนให้ยืมเงิน และสตรีสองหน้า ที่ตามด้วยขบวนช่างทอชาวฮาร์เล็มที่เต็มไปด้วยลุ่มหลงในการลงทุน

ทิวลิปได้รับการนำเข้ามาในทวีปยุโรปจากจักรวรรดิออตโตมันราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และกลายมาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสาธารณรัฐดัตช์ (ปัจจุบัน คือ เนเธอร์แลนด์) [9] การปลูกทิวลิปในสาธารณรัฐดัตช์เชื่อกันว่าเริ่มกันขึ้นอย่างจริงจังราว ค.ศ. 1593 หลังจากที่นักพฤกษศาสตร์เฟล็มมิชชาร์ลส์ เดอ เลอคลูส์ได้รับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยไลเดนและก่อตั้ง “สถาบันพฤกษศาสตร์แห่งไลเดน” (Hortus Botanicus Leiden) ขึ้น[10] เลอคลูส์ปลูกทิวลิปที่สถาบันจากหัวทิวลิปที่ส่งมาจากตุรกีโดยราชทูตโอชีร์ เดอ บูสเบคก์ในสมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานมหาราช ทิวลิปที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ที่สามารถทนทานกับภาวะอากาศในบริเวณกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำได้[11] ไม่นานหลังจากนั้นการปลูกทิวลิปก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปในเนเธอร์แลนด์[12]

ทิวลิปกลายมาเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างรวดเร็วและเป็นสิ่งที่เป็นแสดงสัญลักษณ์แสดงฐานะของผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้เกิดความนิยมในการแสวงหาหัวทิวลิปมาเป็นเจ้าของกันยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ ๆ ถูกพัฒนาขึ้นและจัดเป็นกลุ่ม เช่นทิวลิปสีเดียวที่รวมทั้งสีแดง เหลือง และ ขาวอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Couleren” แต่ทิวลิปที่เป็นที่คลั่งไคล้กันมากที่สุดคือทิวลิปสีผสม หรือ “ทิวลิปแตกสี” (broken tulip) ที่มีลวดลายหลายสีในดอกเดียวกันที่มีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ แล้วแต่สายพันธุ์เช่น “Rosen” (แดงหรือชมพูบนพื้นสีขาว) “Violetten” (ม่วงหรือม่วงอ่อนบนพื้นสีขาว) หรือ “Bizarden” (แดง น้ำตาลหรือม่วง บนพื้นสีเหลือง) [13] ทิวลิปสีผสมที่นิยมกันนี้จะออกดอกที่มีสีเด่นสะดุดตาและมีลวดลายเป็นเส้นหรือเป็นเปลวบนกลีบ ลักษณะที่เป็นลวดลายนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตามที่ทราบกันในปัจจุบันที่เรียกว่า “ไวรัสทิวลิปแตกสี” ซึ่งเป็นไวรัสพืชในกลุ่มไวรัสโมเสก (mosaic virus) [14][15]

“ภาพนิ่งของดอกไม้” โดยอัมโบรเชียส บอสเชิร์ต (Ambrosius Bosschaert) (ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1621) จิตรกรยุคทองของเนเธอร์แลนด์
หัวทิวลิป

ผู้ปลูกทิวลิปต่างก็พยายามตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องหูด้วยชื่อที่หรูหราต่าง ๆ ที่เริ่มด้วยการตั้งชื่อที่มีคำว่า “แอดมิราล” (Admirael) นำหน้าตามด้วยชื่อผู้ปลูกเช่น “Admirael van der Eijck” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แสวงหากันมากในบรรดาห้าสิบสายพันธุ์ที่ใช้ชื่อแอดมิราล ชื่อนำหน้าอีกชื่อหนึ่งที่นิยมกันคือ “เจ็นเนอราล” (Generael) ซึ่งมีด้วยกันอีกสามสิบสายพันธุ์ หลังจากนั้นชื่อที่ตั้งก็ยิ่งหรูขึ้นไปอีกเช่นชื่อที่มาจากอเล็กซานเดอร์มหาราช หรือสคิพิโอ หรือแม้แต่ “แอดมิราลแห่งแอดมิราล” หรือ “เจ็นเนอราลแห่งเจ็นเนอราล” แต่การตั้งชื่อก็มิได้เป็นไปอย่างมีระบบหรือระเบียบแบบแผนเท่าใดนัก และคุณภาพของสายพันธุ์ใหม่ก็มีระดับที่แตกต่างกันมาก[16] แต่สายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่สูญหายไปหมดแล้ว[17] แต่ "ทิวลิปแตกสี" ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่

ทิวลิปเป็นดอกไม้ที่ปลูกจากหัวที่เมื่อมองจากภายนอกจะดูคล้ายหัวหอมสีขาวนมที่ดูเหมือนไม่มีกลีบเหมือนหัวหอมธรรมดา การปลูกสามารถทำได้จากการเพาะเมล็ดหรือการปลูกจากหน่อที่แตกออกจากหัวแม่ แต่ถ้าปลูกจากเมล็ดก็จะใช้เวลาประมาณระหว่าง 7 ถึง 12 ปีจึงจะได้ดอก เมื่อหัวเจริญเติบโตขึ้นเป็นดอก หัวเดิมก็จะตายไปและจะมีหัวใหม่โตขึ้นมาแทนที่และหน่อเล็ก ๆ ถ้าปลูกอย่างกันถูกต้องแล้วหน่อเล็กนี้ก็จะโตขึ้นมาเป็นหัวใหม่ต่างหาก แต่ไวรัสที่ทำให้ดอกแตกสีแพร่ขยายได้ด้วยการปลูกจากหน่อเท่านั้นไม่ใช่ด้วยเมล็ด ฉะนั้นการที่จะเพาะสายพันธุ์ใหม่ได้จึงใช้เวลาหลายปี และยิ่งช้าลงถ้ามีไวรัส ดอกทิวลิปแต่ละชนิดก็จะบานอยู่เพียงอาทิตย์เดียวราวระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมก่อนที่จะโรย หลังจากนั้นก็จะมีหน่อเล็ก ๆ แตกขึ้นมา สามารถขุดและย้ายหัวได้ตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ฉะนั้นการซื้อขายหัวทิวลิปกันจริง ๆ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ของปี[18]

ในช่วงเวลาอื่น ผู้ค้าขายก็จะลงนามในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต่อหน้าทนายความรับรองเอกสารเพื่อซื้อหัวทิวลิปกันเมื่อถึงปลายฤดู[19] ฉะนั้นเนเธอร์แลนด์จึงกลายมาเป็นผู้วิวัฒนาการเทคนิคของระบบการซื้อขายแบบใหม่เพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าเช่นหัวทิวลิป[20] ในปี ค.ศ. 1610 รัฐบาลก็ได้สั่งห้ามการขายชอร์ต ประกาศนี้มาย้ำและเพิ่มความเด็ดขาดขึ้นอีกครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1621 จนถึง ปี ค.ศ. 1630 และต่อมาในปี ค.ศ. 1636 ตามประกาศนี้ ผู้ที่ขายชอร์ตไม่ได้รับการลงโทษ แต่สัญญาที่ลงนามไปก็ถือว่าเป็นโมฆะ[21]

ดัชนีราคามาตรฐานสำหรับสัญญาค้าขายหัวทิวลิปที่สร้างโดย Thompson 2007, p. 101 ทอมสันไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 1 พฤษภาคม ฉะนั้นลักษณะของการหดตัวลงจึงไม่เป็นที่ทราบ แต่แม้จะไม่ทราบรูปแบบของการตกของราคาที่ถูกต้อง แต่ที่ทราบคือตลาดทิวลิปหดตัวอย่างเฉียบพลัน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637[22]

เมื่อการปลูกทิวลิปกลายมาเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ผู้ปลูกอาชีพก็ซื้อขายหัวทิวลิปที่เชื่อกันว่าจะแตกสี (โดยที่ขณะนั้นไม่เป็นที่ทราบว่าเกิดจากไวรัส) กันด้วยราคาที่สูงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อมาถึง ค.ศ. 1634 แรงผลักดันราคาทิวลิปที่ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของทิวลิปในฝรั่งเศส ก็เริ่มทำให้มีผู้เก็งกำไรเข้ามามีบทบาทในตลาด[23] ในปี ค.ศ. 1636 ดัตช์ก็เริ่มก่อตั้งตลาดการซื้อขายล่วงหน้าที่สัญญาการซื้อหัวทิวลิปเมื่อสิ้นฤดูสามารถนำมาซื้อขายกันในตลาดได้ ผู้ค้าขายจะพบกันใน “colleges” ในโรงเหล้า โดยผู้ซื้อต้องจ่าย "ค่าธรรมเนียมไวน์" 2.5% ซึ่งอาจสูงถึง 3 โฟลรินต่อหนึ่งสัญญา แต่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องจ่ายหลักประกันขั้นต้น (initial margin) หรือ ปรับมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market) และสัญญาทั้งหมดเป็นสัญญาระหว่างบุคคล มิใช่สัญญาที่ทำกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้าจริงตามสัญญาเพราะตลาดทิวลิปล่มสลายลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 การค้าขายนี้มีศูนย์กลางที่ฮาร์เล็มในช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของการระบาดของกาฬโรคในยุโรป ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเสี่ยงกันเกินกว่าเหตุก็เป็นได้[24]

ตลอดปี ค.ศ. 1636 ราคาสัญญาของหัวทิวลิปที่หายากก็ยังคงถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนพฤศจิกายน ราคาสัญญาทิวลิปธรรมดาที่ไม่แตกสีก็เริ่มสูงตามขึ้นไปด้วย ดัตช์เรียกสัญญาการซื้อขายทิวลิปว่า "windhandel" ซึ่งหมายถึง "การซื้อขายลม" เพราะตัวหัวทิวลิปมิได้มีการแลกเปลี่ยนมือกันจริง ๆ ตามสัญญาซื้อขายกันล่วงหน้า[25] แต่เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 สัญญาการซื้อขายหัวทิวลิปก็ล่มในทันทีและการค้าขายหัวทิวลิปก็ยุติลงตามไปด้วยหลังจากนั้น[26]

ข้อมูลที่มี

ความที่ไม่มีข้อมูลที่บันทึกไว้อย่างมีระบบระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1630 ทำให้เป็นการยากต่อการประเมินสถานการณ์ของความคลั่งทิวลิปได้อย่างเที่ยงตรง ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากจุลสารของผู้ต่อต้านการเก็งกำไร โดย Gaergoedt and Warmondt (GW) ที่เขียนหลังจากตลาดทิวลิปล่มสลายไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ปีเตอร์ การ์เบอร์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหัวทิวลิป 161 หัวจาก 39 สายพันธุ์ระหว่างปี ค.ศ. 1633 จนถึงปี ค.ศ. 1637 โดย 53 หัวบันทึกโดย GW มีการซื้อขายเกิดขึ้น 98 ครั้งในวั้นสุดท้ายของฟองสบู่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 ด้วยราคาที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก การซื้อขายก็มีรูปแบบหลายอย่างเช่นการซื้อขายล่วงหน้า การซื้อขายทันที การขายสัญญาล่วงหน้าที่ผ่านการรับรองของผู้ปลูก หรือการขายที่ดินที่ใช้ปลูก การ์เบอร์กล่าวว่า ข้อมูลที่มีก็คละกันอย่างไม่มีความเกี่ยวข้องกันเหมือนกับการผสมแอปเปิลกับส้ม[27]

"ความคลั่งของมหาชน" โดยแม็คเคย์

สินค้าทั้งหมดที่แลกเปลี่ยนกับ
หัว “ไวซรอย” เพียงหัวเดียว[28]
ข้าวสาลีสอง lasts448ƒ
ข้าวไรย์สี่ lasts558ƒ
วัวอ้วนสี่ตัว480ƒ
หมูอ้วนแปดตัว240ƒ
แกะอ้วนสิบสองตัว120ƒ
ไวน์สองหัวหมู70ƒ
เบียร์สี่ทัน (tun)32ƒ
เนยสองตัน192ƒ
เนยแข็ง 1,000 ปอนด์120ƒ
เตียงหนึ่งเตียง100ƒ
เสื้อหนึ่งชุด80ƒ
จอกเงินหนึ่งจอก60ƒ
ทั้งหมด2500ƒ

การโต้แย้งเกี่ยวกับพฤติกรรมของความคลั่งทิวลิปของสมัยใหม่เริ่มขึ้นในหนังสือชื่อ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds (ความเพ้อฝันอันวิปริตและความบ้าคลั่งของมหาชน) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1841 โดยนักหนังสือพิมพ์ชาวสกอตชื่อ ชาร์ลส์ แม็คเคย์ แม็คเคย์เสนอว่ามหาชนมักจะแสดงพฤติกรรมอันขาดเหตุผล ความคลั่งทิวลิป หรือเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซีของอังกฤษ หรือแผนการล่อนักลงทุนของบริษัทมิสซิสซิปปีของฝรั่งเศสต่างก็เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมดังกล่าว

แม็คเคย์บรรยายเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจากงานเขียน “ประวัติการประดิษฐ์ การค้นพบ และที่มา” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1797 โดยโยฮันน์ เบ็คมันน์ เป็นส่วนใหญ่ และในงานเขียนของเบ็คมันน์ก็ใช้จุลสารอีกสามเล่มที่เขียนโดยนักประพันธ์นิรนามที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1637 ที่เป็นเอกสารที่มีจุดประสงค์เบื้องหลังของการเขียนเพื่อการต่อต้านการเก็งกำไร เป็นแหล่งข้อมูลอีกทีหนึ่ง[29] หนังสือของแม็คเคย์ที่บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งเป็นที่นิยมกันโดยนักเศรษฐศาสตร์และบรรดาผู้มีบทบาทในการค้าขายหุ้นอยู่หลายชั่วคน และความเป็นที่นิยมนี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อมา แม้ว่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของสภาวะฟองสบู่ของการเก็งกำไรจะมีความบกพร่อง และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานหลายประการของหนังสือไม่ค่อยถูกต้องนักก็ตาม[30]

ตามความเห็นของแม็คเคย์การตื่นตัวของความแพร่หลายของทิวลิปเมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ทำให้ชนทั้งชาติต่างก็หันมาให้ความสนใจกับการซื้อขายทิวลิป -- “ประชาชนแม้กระทั่งชนชั้นล่างสุดต่างก็หันมามีส่วนร่วมในการค้าขาย”[5] เมื่อถึง ค.ศ. 1635 ก็มีการบันทึกถึงการขายหัวทิวลิป 40 หัวเป็นจำนวนเงิน 100,000 โฟลริน (หรือที่เรียกว่าดัตช์กิลเดอร์) เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเนยในขณะนั้นที่ค้าขายกันในราคา 100 โฟลรินต่อหนึ่งตัน หรือช่างฝีมือที่มีรายได้ราว 150 โฟลรินต่อปี หรือ “หมูอ้วนแปดตัว” มีราคา 240 โฟลริน[5] (จากการตั้งค่าของสถาบันประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์นานาชาติ หนึ่งโฟลรินสามารถมีค่าเท่ากับ 10.28 ตามค่าเงินในปี ค.ศ. 2002[31])

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1636 ทิวลิปก็ค้าขายกันในตลาดหลักทรัพย์ตามเมืองต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการทำให้การค้าขายเป็นที่แพร่หลายไปยังผู้คนระดับต่าง ๆ ของสังคม แม็คเคย์กล่าวว่าประชาชนบางคนถึงกับนำทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาใช้ในการเก็งกำไร เช่นการเสนอราคาแลกเปลี่ยนที่ดิน 12 เอเคอร์ (49,000 ตารางเมตร) กับหัว “Semper Augustus” หัวเดียวหรือสองหัว หรือการแลกหัว “ไวซรอย” กับสินค้าต่าง ๆ ตามรายการบนตารางทางขวาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,500 โฟลรินเป็นต้น[28]

มีผู้คนหลายคนที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างกะทันหัน เมื่อมีเหยื่อทองห้อยล่อใจอยู่ตรงหน้า ก็ทำให้คนแล้วคนเล่าก้าวเข้าไปร่วมในการค้าขายในตลาดทิวลิปเหมือนกับแมลงวันที่บินรอบน้ำผึ้ง ต่างคนต่างก็คิดว่าความคลั่งทิวลิปจะไม่มีวันจบสิ้น ต่างคนต่างก็พยายามซื้อทิวลิปไม่ว่าจะด้วยราคาใดที่เรียกร้อง และต่างก็เชื่อกันว่าความนิยมนี้จะทำให้ความมั่งคั่งจากส่วนต่าง ๆ ของโลกหลั่งไหลเข้ามายังเนเธอร์แลนด์ ผู้คนที่มั่งคั่งในยุโรปต่างก็พากันมายังซุยเดอร์เซ (Zuyder Zee) ความยากจนก็จะอันตรธานไปจากความรุ่งเรืองของเนเธอร์แลนด์ ขุนนาง พ่อค้า เกษตรกร ช่างเครื่องยนต์ กะลาสี คนรับใช้ของขุนนาง หญิงรับใช้ และแม้แต่คนกวาดปล่องไฟหรือหญิงแก่ช่างตัดเสื้อจึงต่างก็เข้ามาร่วมค้าขายหัวทิวลิปด้วยกันทั้งสิ้น[5]

จุลสารเกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ที่พิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1637

ความคลั่งทิวลิปที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเรื่องชวนขันหลายเรื่องที่แม็คเคย์บันทึกไว้ เช่น กะลาสีที่เห็นหัวทิวลิปที่มีค่าตั้งอยู่ก็นึกว่าเป็นหัวหอมจึงหยิบไปเพื่อจะไปทำอาหาร พ่อค้าและครอบครัววิ่งไล่ตามแต่ไปพบว่ากะลาสีกำลังนั่ง “กินอาหารเช้าที่มีราคาพอกับค่าแรงงานของกะลาสีของเรือทั้งลำเป็นเวลาหนึ่งปี” กะลาสีคนนั้นถูกจำคุกเพราะกินหัวทิวลิป ซึ่งคิดว่าเป็นหัวหอม[5]

ผู้คนซื้อหัวทิวลิปที่ราคาสูงขึ้นตามลำดับโดยตั้งใจที่จะหันมาขายเอากำไร แต่แผนการเช่นนั้นไม่สามารถจะดำเนินไปได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากว่าจะมีคนเต็มใจที่จะซื้อสินค้าในราคาอันสูงเกินประมาณต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1637 ผู้มีสัญญาขายหัวทิวลิปก็ไม่สามารถหาผู้ซื้อใหม่ผู้เต็มใจที่จะให้ราคาที่เกินเลยความเป็นจริงไปมากได้ เมื่อเกิดความเข้าใจในสภาวะตลาดเช่นนั้นแล้วความต้องการในซื้อหัวทิวลิปก็สิ้นสุดลงที่เป็นผลให้ราคาก็ตกฮวบ—ตลาดขายสัญญาทิวลิปก็ตกอยู่ใน “สภาวะลูกโป่งระเบิด” ผู้ขายบางคนก็เหลือแต่สัญญาในมือที่มีค่าเพียงหนึ่งในสิบของราคาที่ซื้อมา หรือผู้ขายบางคนก็มีหัวทิวลิปที่มีค่าเพียงเสี้ยวเดียวของราคาที่ซื้อมา แม็คเคย์อ้างว่าหลังจากนั้นชาวดัตช์ก็อยู่ในสภาวะที่พยายามเที่ยวไล่หาตัวการที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนของตลาดหรือไม่ก็หาแพะรับบาป[5]

นักเก็งกำไรที่ตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็พยายามร้องขอให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เข้ามาช่วยเหลือ รัฐบาลตอบสนองด้วยการประกาศให้นักเก็งกำไรที่ซื้อสัญญาหัวทิวลิปไว้จ่ายค่าธรรมเนียมสิบเปอร์เซ็นต์ มาตรการอื่น ๆ ก็มีการนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้เป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย แต่ก็ไม่ประสบผล ความคลั่งทิวลิปในที่สุดก็ยุติลงโดยทิ้งผู้เป็นเจ้าของไว้กับสัญญาหัวทิวลิปที่ไม่ใครยอมจ่ายราคาตามราคาที่เรียกร้อง ศาลก็ไม่ยอมเข้ายุ่งเกี่ยวด้วยเพราะถือว่าเป็นหนี้สินที่เกิดจากสัญญาการพนันซึ่งไม่สามารถใช้กฎหมายบังคับได้[5]

ตามบันทึกของแม็คเคย์ ความคลั่งทิวลิปเกิดขึ้นในส่วนอื่นของยุโรปแต่ก็ไม่มีที่ใดที่คลั่งไคล้กันอย่างรุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ และอ้างต่อไปว่าราคาทิวลิปที่ตกฮวบลงเป็นผลให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์หยุดนิ่งอยู่เป็นเวลาหลายปี[5]

ความเห็นสมัยใหม่

ภาพเขียนสีน้ำของทิวลิป “Semper Augustus” โดยจิตรกรนิรนามของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นทิวลิปที่ได้ชื่อว่ามีราคาสูงที่สุดที่ขายระหว่างความคลั่งทิวลิป

คำอธิบายของแม็คเคย์ถึงพฤติกรรมอันไม่มีเหตุผลของมวลชนไม่มีผู้ใดค้านและตรวจสอบมาจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษ 1980[32] แต่การค้นคว้าเรื่องความคลั่งทิวลิปตั้งแต่นั้นมาโดยเฉพาะจากผู้สนับสนุนสมมติฐานประสิทธิภาพของตลาด[33] ผู้ไม่มีความเชื่อมั่นในทฤษฎีฟองสบู่จากการเก็งกำไรโดยทั่วไปตั้งข้อเสนอว่า เรื่องราวของความคลั่งทิวลิปเป็นเรื่องที่ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง ในการวิจัยทางวิชาการในบทวิจัย “ความคลั่งทิวลิป” โดยแอนน์ โกลด์การ์ ตั้งข้อเสนอว่าเหตุการณ์นี้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกับ “กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องจริงเพียงจำนวนน้อย” และเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับบันทึกในช่วงนั้นก็เป็นเรื่องที่ “มีพื้นฐานมาจากงานโฆษณาชวนเชื่อร่วมสมัยเพียงชิ้นสองชิ้น และจากเอกสารที่เป็นงานโจรกรรมทางวรรณกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่”[7] ปีเตอร์ การ์เบอร์ค้านว่าลูกโป่งระเบิดครั้งนี้ “ไม่มีความหมายมากไปกว่าเกมที่เล่นกันในวงเหล้าระหว่างฤดูหนาวโดยประชาชนที่ต้องประสบกับโรคระบาดที่ใช้ความตื่นตัวของตลาดทิวลิปเป็นเครื่องมือ”[34]

ขณะที่แม็คเคย์อ้างว่าผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์มาจากทุกระดับของสังคม แต่งานศึกษาของโกลด์การ์กล่าวว่าแม้กระทั่งในขณะที่ปริมาณการค้าขายทิวลิปถึงจุดสูงสุด ผู้เข้าร่วมในการซื้อขายก็จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มพ่อค้า และช่างฝีมือที่มีฐานะดี โดยไม่มีผู้เข้าร่วมผู้ใดที่มาจากชนระดับขุนนาง[35] เศรษฐกิจที่ล่มหลังจากตลาดทิวลิปหดตัวก็เป็นเพียงจำกัด โกลด์การ์ผู้พบชื่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กล่าวว่ามีก็เพียงบุคคลไม่กี่คนที่ได้รับผลกระทบกระเทือนทางการเงินจากช่วงเวลานี้ และในกรณีของบุคคลเหล่านี้ก็ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าเป็นปัญหาทางการเงินที่มาจากการค้าขายทิวลิปหรือไม่[36] ข้อสรุปนี้ก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะแม้ว่าราคาทิวลิปจะสูงขึ้นแต่ก็มิได้มีการแลกเปลี่ยนตัวเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายกันจริง ๆ ฉะนั้นกำไรของผู้ขายจึงเป็นกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง นอกจากว่าผู้ขายจะนำเครดิตไปทำการซื้อต่อเพื่อหวังผลกำไร ราคาที่ทรุดลงจึงมิได้มีผลให้ผู้ใดต้องเสียเงินจริง ๆ[37]

คำอธิบายด้วยเหตุผล

ไม่มีใครโต้แย้งว่าเหตุการณ์การขึ้นและตกของตลาดทิวลิปที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1636 ถึงปี ค.ศ. 1637 นั้นมิได้เกิดจริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าเป็น ภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตก หรือการระเบิดของการเก็งกำไร การที่ความคลั่งทิวลิปจะถือว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตกได้ก็เมื่อราคาของหัวทิวลิปเกินเลยแยกตัวจากมูลค่าในตัวของหัวทิวลิปเอง นักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ตั้งข้อเสนอหลายข้อในการพยายามอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกของหัวทิวลิปที่ไม่ตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าภาวะลูกโป่งแตก[38]

ราคาที่สูงขึ้นในปีคริสต์ทศวรรษ 1630 ประจวบกับช่วงเวลาการชะลอตัวของสงครามสามสิบปี[39] ฉะนั้นก็ดูเหมือนว่าตลาดจะตอบโต้สถานการณ์อย่างมีเหตุผล (อย่างน้อยก็ในระยะแรก) ในการตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อราคาตกอัตราการตกเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วนกับเมื่อราคาขึ้น ข้อมูลการขายส่วนใหญ่หายไปหลังจากที่ราคาตกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 แต่ข้อมูลที่ยังเหลืออยู่ชี้ให้เห็นว่าราคาของหัวทิวลิปหลังจากเหตุการณ์ความคลั่งทิวลิปก็ยังคงตกลงเรื่อยมาจนอีกหลายสิบปีต่อมา

ความผันผวนของราคาดอกไม้

ทิวลิปตูม
ทิวลิปที่นิยมปลูกกันในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะเป็นทิวลิปสีเดียว จะมีทิวลิปหลายสีบ้างก็เป็นสีผสมที่จำกัด

การ์เบอร์เปรียบเทียบการขึ้นลงของราคาของหัวทิวลิปจากหลักฐานที่ยังมีอยู่กับแนวโน้มของการขึ้นลงของราคาดอกไฮยาซินธ์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19—เมื่อไฮยาซินธ์มาแทนที่ทิวลิปในการเป็นดอกไม้ยอดนิยม—ก็พบว่ามีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกัน เมื่อไฮยาซินธ์เริ่มเข้ามาใหม่ ๆ นักปลูกต่างก็พยายามแข่งกันหาสายพันธุ์ใหม่ตามความต้องการอันเพิ่มขึ้นของตลาด แต่เมื่อผู้คนเริ่มหายตื่นกับความแปลกใหม่ของไฮยาซินธ์ราคาก็ตกลง ราคาหัวทิวลิปที่แพงที่สุดตกลงไปเหลือเพียง 1–2% ของราคาในช่วงที่มีราคาสูงที่สุดภายในระยะเวลา 30 ปี[40] การ์เบอร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “เมื่อไม่นานมานี้หัวลิลลี่ตัวอย่างเพียงไม่กี่หัวก็ขายกันในราคาหนึ่งล้านกิลเดอร์ (หรือคิดเป็น 480,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปี ค.ศ. 1987)” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในปัจจุบันการซื้อขายดอกไม้ในราคาที่สูงมากก็ยังมีอยู่[41] นอกจากนั้นเพราะราคาที่ขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่หัวทิวลิปได้รับการปลูกแล้วในปีนั้น ฉะนั้นผู้ปลูกจึงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้[42]

ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย

ศาสตราจารย์ทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เอิร์ล เอ. ทอมสัน โต้แย้งในเอกสารการวิจัยในปี ค.ศ. 2007 ว่าคำอธิบายของการ์เบอร์ไม่สนับสนุนการทรุดตัวของราคาอย่างรวดเร็ว ราคาตกต่อปีของทิวลิปคือ 99.999% แทนที่จะเฉลี่ยราว 40% เช่นดอกไม้อื่น[43] ทอมสันให้คำอธิบายใหม่เกี่ยวกับความคลั่งทิวลิปของเนเธอร์แลนด์ว่า ขณะนั้นรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อยู่ในระหว่างการพิจารณาออกประกาศ (ที่เดิมสนับสนุนโดยผู้ลงทุนการค้าทิวลิปในเนเธอร์แลนด์ผู้สูญเสียเงินไปเมื่อสถานการณ์ของเยอรมันเสื่อมถอยในสงครามสามสิบปี[44]) ในการเปลี่ยนวิธีการซื้อขายสัญญาหัวทิวลิป:

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1637 สมาคมนักปลูกดอกไม้ดัตช์ในการตัดสินใจที่ต่อมาอนุมัติโดยรัฐสภาดัตช์ประกาศว่า สัญญาการซื้อขายในอนาคตที่ทำหลังจากวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1636 และก่อนที่จะเปิดตลาดเงินสดขึ้นอีกครั้งในต้นฤดูใบไม้ผลิให้ถือว่าเป็น สัญญาออปชัน พวกเขายกเลิกข้อผูกพันของผู้ซื้อล่วงหน้าที่จะต้องซื้อหัวทิวลิปในอนาคต บังคับให้ผู้ซื้อต้องชดเชยเงินให้แก่ผู้ขายเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ของราคาสัญญาแทน[45]

ก่อนที่รัฐสภาจะออกประกาศ ผู้ซื้อสัญญาทิวลิป—หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (futures contract) —ต้องซื้อหัวทิวลิปตามกฎหมาย ประกาศใหม่เปลี่ยนแปลงลักษณะสัญญาที่ถ้าราคาทันที (Spot price) ตกผู้ซื้อก็มีโอกาสที่จะจ่ายเฉพาะค่าปรับและเลิกสัญญาโดยไม่ต้องจ่ายเต็มราคาตามที่ตกลงกันในสัญญา การเปลี่ยนกฎหมายนี้หมายความตามภาษาสมัยใหม่ว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาออปชัน ข้อเสนอนี้เริ่มเป็นที่โต้แย้งกันระหว่างฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1636 และถ้าผู้ลงทุนจะสามารถทราบได้ว่าประกาศนี้จะได้รับการอนุมัติและบังคับใช้อย่างแน่นอน ราคาสินค้าก็อาจจะสูงขึ้น[46]

การประกาศของรัฐสภาที่อนุญาตให้ผู้ซื้อสัญญาสามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยการเสียค่าปรับเพียง 3.5 เปอร์เซนต์ของราคาสัญญา[47] ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนซื้อขายกันด้วยราคาที่สูงหนักยิ่งขึ้นไปอีก นักเก็งกำไรสามารถลงนามในสัญญาซื้อทิวลิปเป็นจำนวน 100 กิลเดอร์ ถ้าราคาขึ้นสูงกว่า 100 กิลเดอร์ นักเก็งกำไรก็จะได้กำไรส่วนที่เกิน แต่ถ้าราคายังคงต่ำนักเก็งกำไรก็สามารถเลี่ยงสัญญาได้โดยเสียค่าปรับเพียง 3.5 กิลเดอร์ ฉะนั้นสัญญามูลค่า 100 กิลเดอร์ สำหรับผู้ลงทุนแล้วก็จะสูญเสียไม่เกิน 3.5 กิลเดอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ราคาสัญญาก็ถึงจุดสุดยอด เจ้าหน้าที่ดัตช์ก็เข้ามาหยุดยั้งการซื้อขายของสัญญาเหล่านี้[48]

ทอมสันกล่าวว่าตลอดช่วงเวลาเดียวกันนี้การซื้อหัวทิวลิปกันจริง ๆ ยังคงอยู่ในระดับปกติ ทอมสันจึงสรุปว่า “ความคลั่ง” เป็นพฤติกรรมที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาสัญญา[49] เมื่อดูจากข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการจ่ายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ สัญญาออปชัน ในบางกรณีแล้ว ทอมสันก็โต้ว่าแนวโน้มของราคาสัญญาหัวทิวลิปก็ใกล้เคียงกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ “ราคาสัญญาซื้อทิวลิปก่อน ระหว่าง และหลังจากการคลั่งทิวลิปดูเหมือนกับว่าจะแสดงลักษณะที่ตรงกันกับลักษณะของ “ความมีประสิทธิภาพของตลาด” (market efficiency) อย่างชัดแจ้ง”[50]

ข้อวิจารณ์

นักเศรษฐศาสตร์ผู้อื่นเชื่อว่าคำอธิบายต่าง ๆ ที่ว่าไม่สามารถอธิบายถึงราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วของหัวทิวลิปได้[51] ทฤษฎีของการ์เบอร์ก็ยังได้รับการท้าทายต่อไปว่าไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับราคาที่ขึ้นและตกอย่างรวดเร็วที่คล้ายคลึงกันของหัวทิวลิปแบบธรรมดา[52] นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการเก็งกำไรเช่นการขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียน (money supply) ที่เห็นได้จากจำนวนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของธนาคารอัมสเตอร์ดัมระหว่างช่วงที่มีการคลั่งทิวลิป[53]

ความคลั่งที่มีผลต่อสังคมและผลที่เกิดขึ้นต่อมา

ทุ่งทิวลิปในเนเธอร์แลนด์—ทิวลิปยังเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันแม้จะผ่านช่วงความนิยมสูงสุดไปแล้ว
ภาพทิวลิปที่เขียนโดย Hans Gillisz. Bollongier ในปี ค.ศ. 1639

หนังสือของแม็คเคย์ก็ยังเป็นที่นิยมกันแม้จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ โดยนำ Extraordinary Popular Delusions มาตีพิมพ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ ที่มีบทนำโดยนักเขียนเช่นผู้ลงทุนเบอร์นาร์ด บารุค (Bernard Baruch) (ค.ศ. 1932) หรือนักเขียนทางการเงินแอนดรูว์ โทไบอัส (ค.ศ. 1980),[54] และไมเคิล หลุยส์ (ค.ศ. 2008) และนักจิตวิทยาเดวิด เจย์. ชไนเดอร์ (ค.ศ. 1993) ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อยหกฉบับที่ยังขายกันอยู่

การ์เบอร์โต้ว่าแม้ว่าความคลั่งทิวลิปอาจจะไม่อยู่ในข่ายที่เรียกว่าฟองสบู่ทางเศรษฐกิจหรือฟองสบู่การเก็งกำไร แต่กระนั้นก็เป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบกระเทือนทางจิตวิทยาต่อชาวดัตช์ในด้านอื่น ตามข้อเขียนที่กล่าวว่า “แม้ว่าผลกระทบกระเทือนทางการเงินจะมีต่อคนเพียงไม่กี่คนโดยตรง แต่ความช็อคจากความคลั่งทิวลิปก็ทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในโครงสร้างของคุณค่าของสินค้า”[55] ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ความคิดที่ว่าราคาดอกไม้จะสามารถมีค่าสูงกันได้ถึงขนาดที่ประเมินกันเป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจได้ ค่าของสายพันธุ์ทิวลิปบางชนิดสูงกว่ารายได้ทั้งปีของบุคคลบางอาชีพ และความคิดที่ว่าราคาดอกไม้ที่ปลูกกันในฤดูร้อนจะมีผลในทำให้ราคามาผันผวนได้ในช่วงฤดูหนาวทำให้เป็นการยากที่จะเข้าใจถึง “มูลค่า” ที่แท้จริงของสินค้าได้[56]

แหล่งข้อมูลหลายแหล่งกล่าวถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อความคลั่งทิวลิป เช่นจุลสารเพื่อการต่อต้านการเก็งกำไรที่ต่อมาใช้เป็นงานอ้างอิงของบทเขียนของเบ็คมันน์และแม็คเคย์ถึงผลเสียหายในทางเศรษฐกิจ แต่จุลสารเหล่านี้มิได้เขียนโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเมื่อตลาดล่ม แต่เขียนโดยผู้มีอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งถือโอกาสประณามความวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของสังคม—และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า “ผู้ที่มีความมัวเมาในทางโลก แทนที่จะเป็นทางธรรมได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง” ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในทางเศรษฐกิจที่หยิบยกมาเติมสีสันให้เป็นเรื่องสอนใจด้านคุณธรรม[57]

อีกร้อยปีต่อมาระหว่างที่บริษัทมิสซิสซิปปีล่ม และเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี ราวปี ค.ศ. 1720 ก็มีการอ้างถึงความคลั่งทิวลิปในการเสียดสีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[58] เมื่อกล่าวถึงความคลั่งทิวลิปเป็นครั้งแรกในคริสต์ทศวรรษ 1780 โยฮันน์ เบ็คมันน์เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับการซื้อสลากกินแบ่ง[59] ตามความคิดเห็นของโกลด์การ์และนักเขียนเกี่ยวกับสภาวะการลงทุนสมัยใหม่เช่นเบอร์ตัน มาลคีล (Burton Malkiel) A Random Walk Down Wall Street (ค.ศ. 1973) และ จอห์น เค็นเน็ธ กาลเบร็ธ (John Kenneth Galbraith) ใน A Short History of Financial Euphoria (ค.ศ. 1990) ที่เขียนไม่นานหลังจากตลาดหลักทรัพย์ล่มของปี ค.ศ. 1987 ก็ใช้เรื่องราวของความคลั่งทิวลิปเป็นบทเรียนทางจริยธรรม[60][61][62] นอกจากนั้นแล้วความผันผวนของตลาดทิวลิปก็ยังเป็นโครงเรื่องในนวนิยายที่เขียนโดยเกรกอรี แมไกวร์ (Gregory Maguire) Confessions of an Ugly Stepsister (ค.ศ. 1999) [63][64]

ความคลั่งทิวลิปมากลายเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันอีกครั้งเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่ดอตคอมแตก ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1995 ถึง ค.ศ. 2001[65] และล่าที่สุดนักวรสารก็เปรียบเทียบกับวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์[66][67] แม้ว่าความคลั่งทิวลิปจะยังเป็นเรื่องที่นิยมเล่าขานกันอยู่ แต่แดเนียล โกรสส์แห่งนิตยสาร “Slate” กล่าวถึงคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์ถึงสมมติฐานประสิทธิภาพของตลาดในการอธิบายสภาวะความผันผวนของตลาดทิวลิปว่า “ถ้าคำอธิบายดังกล่าวถูกต้องจริงแล้ว...ก็เท่ากับว่านักเขียนเกี่ยวกับธุรกิจทั้งหลายก็สามารถลบเรื่องของความคลั่งทิวลิปออกจากบรรดาอุปมานิทัศน์ของเรื่องฟองสบู่แตกได้ทั้งหมด”[68]

อ้างอิง

บรรณานุกรม

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง