ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ความช่วยเหลือด้านสิ่งของหรือโลจิสติกส์สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (อังกฤษ: Humanitarian aid) คือความช่วยเหลือด้านสิ่งของและโลจิสติกส์สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งมักจะเป็นความช่วยเหลือระยะสั้นจนกว่ารัฐบาลและสถาบันอื่น ๆ จะเข้ามาช่วยเหลือในระยะยาว ในบรรดาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้แก่ ผู้ไร้ที่อยู่, ผู้ลี้ภัย และผู้ประสบภัยจากภัยธรรมชาติ, สงคราม และความอดอยาก ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคือความช่วยเหลือด้านสิ่งของหรือด้านลอจิสติกส์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรม โดยทั่วไปในการตอบสนองต่อความพยายามด้านมนุษยธรรมรวมถึงภัยธรรมชาติและภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น วัตถุประสงค์หลักของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคือการช่วยชีวิต, บรรเทาความทุกข์ และรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงอาจแตกต่างจากความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ซึ่งพยายามที่จะแก้ไขปัจจัยทางสังคมเศรษฐศาสตร์ที่อาจนำไปสู่วิกฤตหรือภาวะฉุกเฉิน มีการอภิปรายในเรื่องการเชื่อมโยงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความพยายามในการพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการประชุมสุดยอดด้านมนุษยธรรมโลกใน ค.ศ. 2016 อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวถูกมองในเชิงวิพากษ์โดยผู้ปฏิบัติงาน[1]

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติกำลังแจกจ่ายอาหารที่มีแคลอรีสูงในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินที่โกมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อ ค.ศ. 2008
เด็กหญิงชาวอัฟกานิสถานคนหนึ่งกอดหมีเท็ดดี้ของเธอซึ่งเธอได้รับที่คลินิกการแพทย์ที่ค่ายคลาร์คในจังหวัดโคสต์
การบรรยายของเทอา ฮิลฮ็อสท์ (มหาวิทยาลัยเอรัสมุส) เรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาทุกข์ในระยะสั้นให้กับผู้ประสบภัยจนกว่ารัฐบาลและสถาบันอื่น ๆ จะสามารถบรรเทาทุกข์ได้ในระยะยาว ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมถือว่า "เป็นการแสดงออกพื้นฐานของคุณค่าสากลของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้คนและความจำเป็นทางศีลธรรม"[2] ซึ่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาจากชุมชนในหรือต่างประเทศก็ได้ ในการเข้าถึงชุมชนระหว่างประเทศ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม (OCHA)[3] ของสหประชาชาติ (UN) มีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน โดยให้ข้อมูลต่อสมาชิกหลายคนของคณะกรรมการประจำระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสมาชิกมีหน้าที่ในการบรรเทาทุกข์ในกรณีฉุกเฉิน หน่วยงานของสหประชาชาติ 4 แห่งที่มีบทบาทหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และโครงการอาหารโลก (WFP)[4]

อ้างอิงจากสถาบันพัฒนาโพ้นทะเล ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยในลอนดอน ที่ผลการวิจัยได้รับการเผยแพร่ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2009 ในเอกสาร "การให้ความช่วยเหลือในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย: อัปเดต ค.ศ. 2009" ปีที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้ให้ความช่วยเหลือในประวัติศาสตร์ของมนุษยธรรมนิยมคือ ค.ศ. 2008 ซึ่งพนักงานช่วยเหลือ 122 คนถูกสังหารและ 260 คนถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนประเทศที่ถือว่าปลอดภัยน้อยที่สุดคือโซมาเลียและอัฟกานิสถาน[5] ใน ค.ศ. 2014 กลุ่มวิจัยการดำเนินงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายงานว่าประเทศที่เกิดเหตุการณ์สูงสุด ได้แก่ อัฟกานิสถาน, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เซาท์ซูดาน, ซูดาน, ซีเรีย, ปากีสถาน, โซมาเลีย, เยเมน และเคนยา[6]

ประวัติ

ต้นกำเนิด

จุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศสามารถสืบย้อนไปถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่องราวต้นกำเนิดที่รู้จักกันดีที่สุดของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นทางการคืออ็องรี ดูว์น็อง นักธุรกิจชาวสวิสและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเมื่อเห็นการทำลายล้างและการละทิ้งทหารที่บาดเจ็บอย่างไร้มนุษยธรรมจากยุทธการที่ซอลเฟรีโนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1859 ซึ่งได้ยกเลิกแผนการของเขา และเริ่มต้นการตอบสนองบรรเทา[7]

ความพยายามด้านมนุษยธรรมที่มีมาก่อนงานของอ็องรี ดูว์น็อง ได้แก่ การช่วยเหลือของอังกฤษแก่ประชากรที่มีปัญหาในทวีปและในประเทศสวีเดนช่วงสงครามนโปเลียน[8][9] และการรณรงค์บรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศช่วงทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ในคริสต์ทศวรรษ 1840[10][11] ส่วนใน ค.ศ. 1854 เมื่อสงครามไครเมียเริ่มต้นขึ้น[12] ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล และทีมพยาบาล 38 คนของเธอได้มาถึงโรงพยาบาลค่ายทหารแห่งสคูทารีซึ่งมีทหารป่วยและบาดเจ็บหลายพันคน[13] ไนติงเกลและทีมของเธอเฝ้าดูโรงพยาบาลทหารที่ขาดแคลน ซึ่งได้พยายามรักษาสุขอนามัยและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย[12] โดยทหารเสียชีวิตด้วยโรคร้ายมากกว่าบาดแผลจากการสู้รบถึงสิบเท่า[14] ไข้รากสาดใหญ่, ไข้รากสาดน้อย, อหิวาตกโรค และโรคบิดพบได้บ่อยในโรงพยาบาลทหาร[14] ไนติงเกลและทีมของเธอได้จัดตั้งห้องครัว, ห้องซักรีด และสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อมา มีพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น และโรงพยาบาลทั่วไปที่สคูทารีสามารถดูแลผู้ป่วยได้ 6,000 คน[13]

การช่วยเหลือของไนติงเกลยังคงมีอิทธิพลต่อความพยายามช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้สถิติ รวมถึงการวัดการตายและการเจ็บป่วยของไนติงเกล ไนติงเกลได้ใช้หลักการของวิทยาศาสตร์และสถิติใหม่เพื่อวัดความก้าวหน้าและวางแผนสำหรับโรงพยาบาลของเธอ[14] เธอเก็บบันทึกจำนวนและสาเหตุการตายเพื่อปรับปรุงสภาพในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง[15] การค้นพบของเธอคือในทหารทุก ๆ 1,000 นาย มี 600 นายเสียชีวิตจากโรคติดต่อและโรคติดเชื้อ[16] เธอทำงานเพื่อปรับปรุงสุขอนามัย, โภชนาการ และน้ำสะอาด และลดอัตราการเสียชีวิตจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 42 เปอร์เซ็นต์ และเป็น 2.2 เปอร์เซ็นต์[16] การปรับปรุงทั้งหมดเหล่านี้เป็นเสาหลักของการแทรกแซงด้านมนุษยธรรมสมัยใหม่ เมื่อเธอกลับมายังบริเตนใหญ่ เธอได้รณรงค์ให้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพของกองทัพบก[15] เธอสนับสนุนให้ใช้สถิติและคอกซ์คอมบ์เพื่อแสดงความต้องการของผู้ที่อยู่ในลักษณะความขัดแย้ง[15][17] ส่วนกรณีของอ็องรี ดูว์น็อง แม้จะมีประสบการณ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในฐานะแพทย์ แต่เขาก็ทำงานร่วมกับอาสาสมัครในท้องที่เพื่อช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากทุกฝ่ายในสงคราม รวมทั้งผู้เสียชีวิตจากออสเตรีย, อิตาลี และฝรั่งเศส ในทุกวิถีทางที่เขาสามารถทำได้ รวมทั้งการจัดหาอาหาร, น้ำ และเวชภัณฑ์ เรื่องราวที่เด่นชัดของเขาเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวงที่เขาพบเห็น ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง “ความทรงจำเรื่องที่ซอลเฟรีโน" ได้กลายเป็นตำราพื้นฐานสำหรับมนุษยธรรมสมัยใหม่[18]

ความทรงจำเรื่องที่ซอลเฟรีโนของดูว์น็องได้เปลี่ยนแปลงโลกในลักษณะที่ไม่มีใครคาดไม่ถึงหรือชื่นชมจริง ๆ ในเวลานั้น ในการเริ่มต้น ดูว์น็องสามารถปลุกเร้าอารมณ์ผู้อ่านของเขาอย่างลึกซึ้งได้โดยนำการต่อสู้และความทุกข์ทรมานเข้ามาในเหย้าเรือนของพวกเขา โดยให้พวกเขาเข้าใจถึงสภาพสงครามป่าเถื่อนในปัจจุบัน และการรักษาทหารหลังจากที่พวกเขาได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต นับว่าเรื่องราวเหล่านี้ได้ผันแปรเส้นทางของประวัติศาสตร์[19] นอกเหนือจากนี้ ในประสบการณ์สองสัปดาห์ของเขาในการดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากทุกเชื้อชาติ ดูว์น็องได้กำหนดเสาหลักทางแนวคิดที่สำคัญโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ: โดยความเสมอภาคและความเป็นกลาง[20] ดูว์น็องใช้ความคิดเหล่านี้และได้แนวคิดที่แยบยลอีกสองแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติของสงครามอย่างลึกซึ้ง ประการแรก ดูว์น็องจินตนาการถึงการสร้างสมาคมสงเคราะห์อาสาสมัครถาวร เหมือนกับกลุ่มบรรเทาทุกข์เฉพาะกิจที่เขาประสานงานในซอลเฟรีโนเพื่อช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ประการต่อไป ดูว์น็องเริ่มพยายามที่จะเรียกร้องให้มีการทำสนธิสัญญาที่จะรับประกันการคุ้มครองทหารที่ได้รับบาดเจ็บรวมถึงทุกคนที่พยายามจะมาช่วยพวกเขา[21]

หลังจากเผยแพร่ข้อความพื้นฐานของเขาใน ค.ศ. 1862 ความก้าวหน้าได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสำหรับดูว์น็อง รวมถึงความพยายามของเขาในการสร้างสังคมสงเคราะห์อย่างถาวรและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ การก่อตัวในขั้นต้นของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเริ่มเป็นรูปเป็นร่างใน ค.ศ. 1863 เมื่อสมาคมสงเคราะห์สาธารณะแห่งเจนีวาได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการถาวรที่เรียกว่า "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสถานการณ์สงคราม" ซึ่งประกอบด้วยพลเมืองเจนีวาห้าคน คณะกรรมการชุดนี้รับรองวิสัยทัศน์ของดูว์น็องในการทำให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลางโดยนิตินัยในการตอบสนองต่อทหารที่ได้รับบาดเจ็บ[22][23] การประชุมที่เป็นส่วนประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1863 ได้สร้างรากฐานตามกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศตามมติเกี่ยวกับสังคมระดับชาติ, การดูแลผู้บาดเจ็บ ส่วนเครื่องแสดงของพวกเขา และที่สำคัญที่สุดคือความเป็นกลางที่ขาดไม่ได้ของรถพยาบาล, โรงพยาบาล, บุคลากรทางการแพทย์ และผู้บาดเจ็บเอง[24] นอกเหนือจากนี้ เพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติด้านมนุษยธรรม สมาคมสงเคราะห์สาธารณะแห่งเจนีวาได้จัดการประชุมขึ้นระหว่างวันที่ 8 ถึง 22 สิงหาคม ค.ศ. 1864 ที่สำนักงานเทศบาลเมือง โดยมี 16 รัฐที่มีความหลากหลาย รวมทั้งรัฐบาลหลายแห่งของยุโรป, จักรวรรดิออตโตมัน, สหรัฐอเมริกา (USA), บราซิล และเม็กซิโก[25] การประชุมทางการฑูตครั้งนี้มีความพิเศษ ไม่ได้เกิดจากจำนวนหรือสถานะของผู้เข้าร่วม แต่เป็นเพราะความมุ่งหมายของการประชุม วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ไม่เหมือนกับการประชุมทางการฑูตหลายครั้งก่อนหน้า โดยจุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อบรรลุข้อตกลงหลังจากความขัดแย้งหรือเพื่อไกล่เกลี่ยระหว่างผลประโยชน์ที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งแท้จริงการประชุมครั้งนี้เป็นการวางกฎเกณฑ์สำหรับอนาคตของความขัดแย้งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องบริการทางการแพทย์และผู้บาดเจ็บในการสู้รบ[26]

อนุสัญญาเจนีวาที่มีชื่อเสียงครั้งแรกได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1864 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่มีสนธิสัญญาส่งผลกระทบอย่างมากต่อการที่ฝ่ายที่ทำสงครามมีส่วนร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่ง[27] ผู้อยู่อาศัยของอนุสัญญาดังกล่าวระบุถึงความเป็นกลางของบริการทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาล, รถพยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อกำหนดในการดูแลและปกป้องผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในระหว่างความขัดแย้ง และบางสิ่งที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์โดยเฉพาะต่อคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งคือเครื่องหมายกาชาด[28] โดยเป็นครั้งแรกในสมัยปัจจุบัน ที่ได้รับการยอมรับจากการเลือกรัฐที่เป็นตัวแทนของสงคราม ว่าสงครามมีขอบเขต ส่วนความสำคัญได้เพิ่มขึ้นตามเวลาในการแก้ไขและดัดแปลงอนุสัญญาเจนีวาใน ค.ศ. 1906, 1929 และ 1949 นอกจากนี้ สนธิสัญญาเพิ่มเติมยังได้ให้ความคุ้มครองแก่เรือพยาบาล, เชลยศึก และที่สำคัญที่สุดต่อพลเรือนในช่วงสงคราม[29]

ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ในฐานะผู้พิทักษ์กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก[30]

ภาพพิมพ์ร่วมสมัยแสดงการแบ่งเบาบรรเทาทุกข์ในเพลลารี เขตมัทราส จากนิตยสารอิลลัสเตรเตดลอนดอนนิวส์ (ค.ศ. 1877)

ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อทุพภิกขภัยทางภาคเหนือของประเทศจีน ค.ศ. 1876–1879 ซึ่งเกิดจากภัยแล้งที่เริ่มขึ้นในภาคเหนือของจีนใน ค.ศ. 1875 และนำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกในปีต่อ ๆ ไป โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10 ล้านคนจากทุพภิกขภัยดังกล่าว[31] ซึ่งทิโมธี ริชาร์ด มิชชันนารีชาวอังกฤษ ได้เรียกร้องความสนใจจากนานาชาติถึงทุพภิกขภัยในมณฑลชานตงในฤดูร้อน ค.ศ. 1876 และเรียกร้องเงินจากชุมชนต่างชาติในเซี่ยงไฮ้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในไม่ช้า คณะกรรมการบรรเทาทุพภิกขภัยของมณฑลชานตงก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมของนักการทูต, นักธุรกิจ, คณะมิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายโรมันคาทอลิก[32] เพื่อต่อสู้กับทุพภิกขภัย โดยมีการจัดตั้งเครือข่ายระหว่างประเทศขึ้นเพื่อขอรับเงินบริจาค ความพยายามเหล่านี้นำมาซึ่งเงิน 204,000 เหลี่ยง ซึ่งเทียบเท่ากับ 7–10 ดอลลาร์ในราคาเงิน ค.ศ. 2012[33]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • James, Eric (2008). Managing Humanitarian Relief: An Operational Guide for NGOs. Rugby: Practical Action.
  • Minear, Larry (2002). The Humanitarian Enterprise: Dilemmas and Discoveries. West Hartford, CT: Kumarian Press. ISBN 1-56549-149-1.
  • Waters, Tony (2001). Bureaucratizing the Good Samaritan: The Limitations of Humanitarian Relief Operations. Boulder: Westview Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

บทวิจารณ์ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง