ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74

การประชุมสภานิติบัญญัติระดับสูงสุดของฟีฟ่า

การประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 (อังกฤษ: 74th FIFA Congress) เป็นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีผู้บริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัวแทนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า จำนวน 211 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักฟุตบอลระดับโลก (FIFA Legend) มาประชุมกันเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 คน มีวาระสำคัญคือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส และผลคือประเทศบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว

ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74
74th FIFA Congress
ประเทศ ไทย
วันที่13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
สถานที่จัดงานศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เมืองกรุงเทพมหานคร
ผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน
ประธานจันนี อินฟันตีโน
เว็บไซต์www.fifa.com/about-fifa/congress
ประเด็นสำคัญ
การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027

ภูมิหลัง

ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่าจะจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการใหญ่ของปีนั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นการประชุมครั้งแรกที่ฟีฟ่าเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งถัด ๆ ไปได้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น ที่นำทีมงานเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จึงได้ยื่นเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในครั้งถัดไป[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สภาฟีฟ่าได้อนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกำหนดวันประชุมไว้เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[2]

ด้านหน้าของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สถานที่จัดประชุมหลักในฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเคยใช้จัดการประชุมเอเปค 2022 เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังได้นำจันนี อินฟันตีโน ประธานฟีฟ่า เข้าเยี่ยมชมและตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว[1]

การประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ประเทศที่ 6 ที่ได้จัดการประชุม ต่อจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, กาตาร์ และบาห์เรน[3]

การจัดประชุม

กำหนดการประชุม

การประชุมหลักของฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 จัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 09.10 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร[4] โดยมีวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027[5] ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส โดยผลการประชุมคือบราซิลได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดฟุตบอลโลกหญิงในภูมิภาคอเมริกาใต้

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการป้องกันความรุนแรงจากคตินิยมเชื้อชาติ[6] ซึ่งประธานฟีฟ่ามอบหมายให้สหพันธ์ฟุตบอลทั้ง 6 แห่งในสังกัด นำเสนอแผนบริหารจัดการประเด็นนี้ในการประชุม[7] อีกทั้งยังมีหัวข้ออื่น ๆ เช่น การรับรองรายงานประจำปี พ.ศ. 2566[5], การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568[4], การรับรองการปรับความถี่ของฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และฟุตบอลโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี จากทุกสองปีเป็นทุกปี[6], การให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับฟีฟ่าให้สามารถย้ายสำนักงานใหญ่ออกนอกซือริชได้ และการเพิ่มกรรมการสภาฟีฟ่าจาก 7 เป็น 35 คน[8] เป็นต้น

ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ ได้เสนอที่ประชุมให้มีการลงโทษแบนสมาคมฟุตบอลอิสราเอล อันเนื่องมาจาก สงครามอิสราเอล–ฮะมาส โดยประธานฟีฟ่ามอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการด้านกฎหมายที่เป็นอิสระ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอในการประชุมสมัยพิเศษของสภาฟีฟ่า ที่จะมีขึ้นก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ต่อไป[9][10][11]

อนึ่ง ก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมสภาฟีฟ่าในวันที่ 15 พฤษภาคม ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น[12] และการประชุมสภาสามัญของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ในวันถัดมา[13]

การสนับสนุนจากรัฐบาล

ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้กับคณะกรรมการบริหารฟีฟ่าและผู้เข้าร่วมประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 ณ ทำเนียบรัฐบาล[14]

กิจกรรมอื่น ๆ

ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ฟีฟ่าได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ FIFA Congress Delegation Football Tournament ณ ราชกรีฑาสโมสร โดยมีอดีตนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วม เช่น กาฟู, ชิลเบร์ตู ซิลวา, เวสลีย์ สไนเดอร์[15] รวมถึงบุคคลสำคัญจากประเทศไทยทั้งในวงการกีฬาและการเมืองร่วมแข่งขัน เช่น ชาญวิทย์ ผลชีวิน, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น[16]

ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อินฟันตีโนเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[17]

ผู้นำที่เข้าร่วมประชุม[18]

คณะกรรมการสภาฟีฟ่า

ผู้แทนประเทศสมาชิกฟีฟ่า

ผู้แทนรัฐบาล

ผู้แทนนักฟุตบอล

การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027

ประเทศคะแนนโหวต[20]
 บราซิล119
 เบลเยียม,  เยอรมนี และ  เนเธอร์แลนด์78
งดออกเสียง10
จำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด207
เสียงข้างมากที่ต้องการ104

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74ถัดไป
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 การประชุมฟีฟ่าคองเกรส
(13–17 พฤษภาคม ค.ศ. 2024)
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 75
🔥 Top keywords: หน้าหลักสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยพิเศษ:ค้นหาอสมทวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก 2024บางกอกคณิกาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)เนติพร เสน่ห์สังคมวิทยาศาสตร์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)วันวิสาขบูชาวอลเลย์บอลลมเล่นไฟตารางธาตุอันดับโลกเอฟไอวีบีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์หมวดหมู่:จังหวัดของประเทศไทยไลเกอร์รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยไอแซก นิวตันศาสนาพุทธราชวงศ์จักรีกาลิเลโอ กาลิเลอีประวัติศาสตร์ชาร์เลท วาศิตา แฮเมเนารายชื่อเครื่องดนตรีจังหวัดชัยนาทสังคายนาในศาสนาพุทธประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดนิวแคลิโดเนียวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยศาสนาพุทธในประเทศพม่าพระสุนทรโวหาร (ภู่)นริลญา กุลมงคลเพชร