ราชวงศ์อู่ทอง

ราชวงศ์แรกที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา

ราชวงศ์อู่ทอง[1] หรือ ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา[1][2][3] หรือ ราชวงศ์เชียงราย[4] ปกครองอาณาจักรกรุงศรีอยุธยารวมระยะเวลา สองครั้งราว 42 ปี ทั้งหมดล้วนเป็นชื่อสมมุติที่นักประวัติศาสตร์ใช้เรียกราชวงศ์แรกที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา เพื่อความสะดวกในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา โดยกำหนดเอาพระนามตามตำนานของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่มีพระนามเดิมว่า "พระเจ้าอู่ทอง" มาเป็นชื่อราชวงศ์ แต่ความเป็นมาของราชวงศ์ดังกล่าวยังคงคลุมเครืออยู่[5]

ราชวงศ์อู่ทอง
พระราชอิสริยยศพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ปกครองอาณาจักรอยุธยา
จำนวนพระมหากษัตริย์3 พระองค์
ประมุขพระองค์แรกสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
ประมุขพระองค์สุดท้ายสมเด็จพระเจ้ารามราชา
ช่วงระยะเวลา
  • ครั้งที่ 1 : พ.ศ. 1894–1913
  • ครั้งที่ 2 : พ.ศ. 1931–1952
สถาปนา12 มีนาคม พ.ศ. 1894
ล่มสลายพ.ศ. 1952

ประวัติ

ต้นสายเดิมของราชวงศ์นี้ยังเป็นปริศนาไม่ทราบแน่ชัด จึงมีการสมมติชื่อของราชวงศ์นี้ไว้หลายชื่อ ดังข้อสันนิษฐานต่อไปนี้ เช่น:

  • ทฤษฎีที่ต้นราชวงศ์มาจากภาคเหนือ และสถาปนาเป็นต้นราชวงศ์เชียงราย[4]
    • มาจากพระราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า "พระเจ้าอู่ทองเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองราชสมบัติอยู่ 6 ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา"
    • ตำนานสิงหนวัติ, พงศาวดารเมืองเงินยาง เชียงแสน และพระราชพงศาวดารสังเขป ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ระบุว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อราชวงศ์ลาวจากพระเจ้าพรหมแห่งเมืองเชียงแสน
  • ทฤษฎีที่ต้นราชวงศ์อพยพหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง[6]
    • ต่อเนื่องมาจากการอพยพลงมาสู่ตอนใต้ของทฤษฎีแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองอู่ทอง แต่เมืองอู่ทองเกิดโรคห่า จึงได้อพยพลงสู่กรุงศรีอยุธยา
      • แต่ทฤษฎีนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะจากการสำรวจเมืองอู่ทองของมานิต วัลลิโภดม พบว่าเมืองอู่ทองร้างไปก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาถึง 300 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าเมืองอู่ทองจะหนีโรคห่ามาในช่วงเวลานั้น[5][7]
  • ทฤษฎีที่เชื่อว่าต้นราชวงศ์มีความเกี่ยวดองกับละโว้มาก่อน[8]
    • เนื่องจากหลังการสถาปนากรุงอโยธยาในปี พ.ศ. 1893 เอกสารของจีนยังคงเรียกอโยธยาว่า "หลอหู" (羅渦国) ซึ่งคือละโว้ อันแสดงถึงความเกี่ยวดองกับละโว้มาก่อน โดยเฉพาะที่สมเด็จพระราเมศวรครองเมืองละโว้ในฐานะลูกหลวงอีกประการหนึ่ง

นอกจากนี้ใน พงศาวดารล้านช้าง ซึ่งเป็นพงศาวดารของลาว ได้ระบุว่า ขุนบรม (หรือ ขุนบูลม ในภาษาลาว) ได้ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคนไปครองเมืองต่าง ๆ โดยคนที่ห้าคือ "งัวอิน" ได้ครองเมืองอโยธยา[9] หรือในหนังสือ คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 ระบุว่า กษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์ และมีลูกหลานคือสมเด็จพระพนมทะเลศรีมเหศวรวารินทร์ราชบพิตร อพยพไปกรุงสุโขทัยก่อนลงมาสร้างเมืองเพชรบุรี และต่อมาได้สร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใหม่[10] เป็นต้น

มีการสันนิษฐานว่าราชวงศ์นี้อาจมีเชื้อสายลาว ดังพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "ในต้นราชตระกูลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้น เป็นเชื้อลาวมาตั้งพระราชธานีในประเทศสยาม ธรรมเนียมต่าง ๆ คงยังเจือลาวอยู่บ้าง"[4] บ้างก็ว่าอาจมีเชื้อสายพราหมณ์ เนื่องจากหลังการสิ้นอำนาจในการครองกรุงศรีอยุธยา ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ดังกล่าวไม่ถูกสังหารเหมือนพราหมณ์ในพระราชไอยการของกรุงศรีอยุธยาที่มิให้ต้องโทษหรือประหาร[11] ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นมาหรือเชื้อสายของต้นราชวงศ์นี้ ยังคงคลุมเครืออยู่ในปัจจุบัน[5]

การขึ้นสู่อำนาจ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทองและเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาอันเป็นราชธานี ทรงครองราชย์เป็นเวลาถึง 18 ปี(12 มีนาคม พ.ศ. 1894 – ค.ศ. 1912) จนกระทั่งพระองค์ทรงสวรรคต

สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทองและเจ้าเมืองลพบุรี ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1912 แต่ครองราชย์เพียงปีเดียวก็สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพ่องั่ว เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและผู้เป็นพระมาตุลาและกลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่นามว่า ราชวงศ์สุพรรณภูมิ และครองราชย์เป็นระยะเวลา 18 ปี จนกระทั่งพระองค์ทรงสวรรคตใน พ.ศ. 1931 สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นเวลาต่อมาแต่กลับถูกสมเด็จพระราเมศวรใช้กำลังแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าทองลันซึ่งครองราชย์ได้เพียงเจ็ดวันก็ถูกสำเร็จโทษ พระราชอำนาจจึงกลับมาอยู่ในมือของสมเด็จพระราเมศวรอีกครั้ง ภายหลังจากนั้นพระองค์ทรงสร้างคุณูปการต่อกรุงศรีอยุธยาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านพระศาสนาหรือการสงคราม ซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ควรยกย่องเชิดชูพระเกียรติที่ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยที่ไม่มีเมืองต่าง ๆ มารุกราน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงขยายอาณาเขตให้อาณาจักรอยุธยายิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา แม้เวลาส่วนมากจะทำศึกสงคราม

สมเด็จพระราเมศวรทรงสวรรคตใน พ.ศ. 1938 สิริพระชนมพรรษา 56 พรรษา ทรงครองราชสมบัติรวม 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยสมเด็จพระเจ้ารามราชา พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชสมบัติต่อมา

การสิ้นสุดอำนาจ

สมเด็จพระรามราชาธิราช พระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร ได้สืบราชสมบัติสืบมา แต่ภายหลังได้ถูกถอดจากการเป็นกษัตริย์ด้วยทรงมีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เจ้าพระยามหาเสนาบดีได้หนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม แล้วได้ร่วมกับสมเด็จพระนครินทราธิราช ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยา แล้วทูลเชิญสมเด็จพระนครินทราธิราชขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระรามราชาธิราชได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม หลังครองกรุงศรีอยุธยาได้ 15 ปี สวรรคตปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน

บ้างก็ว่าสมเด็จพระรามราชาธิราชถูกสมเด็จพระนครินทราธิราชเนรเทศให้ครองเมืองจตุมุข โดย ไมเคิล วิคเคอรี (Michael Vickery) ได้สันนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (คำขัด) บิดาของเจ้าพญายาต กษัตริย์เขมร เป็นบุคคลเดียวกับ "พระรามเจ้า" ในพระราชพงศาวดารฉบับปลีกว่าเป็นบุคคลเดียวกับสมเด็จพระรามราชา[12] และวิคเคอรีก็สันนิษฐานอีกว่าเมือจตุมุขดังกล่าวเป็นเมืองเดียวกับเมืองปทาคูจาม[13]

ทั้งนี้ผู้สืบเชื้อสายในราชวงศ์ดังกล่าวมิได้รับโทษทัณฑ์หรือถูกประหารหลังการสูญเสียอำนาจ ทั้งยังอาจได้รับการยกย่องให้เป็นตระกูลที่ศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์ละโว้-อโยธยาจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นปุโรหิตให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมในราชสำนักโดยมิให้กำลังอำนาจใด ๆ[11] และสตรีจากราชวงศ์นี้ก็รับราชการเป็นพระสนมในพระมหากษัตริย์ในตำแหน่ง "ท้าวศรีสุดาจันทร์"[14] ซึ่งเป็นหนึ่งในสนมเอกสี่ทิศของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจปกแผ่ยังทิศทั้งสี่[15]

การฟื้นอำนาจ

จากการที่ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ยังคงมีบทบาทในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ทั้งด้านพิธีกรรมทางศาสนา และการส่งสตรีเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระสนมในพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์นี้ยัง "รอคอย" ที่จะนำอำนาจของพวกตนหวนคืนกลับมา[16] ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้มีสตรีจากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา เข้ารับราชการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย คือ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเพิ่มพูนอำนาจจากการประสูติกาลพระราชโอรสคือพระยอดฟ้า ทำให้พระนางมีฐานะที่สูงส่งกว่าพระชายาอีกสามพระองค์[14] ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระสวามีได้เสด็จกลับจากราชการสงคราม ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต จึงได้มีการยกพระยอดฟ้าผู้เป็นพระโอรสครองราชย์ต่อมาในปี พ.ศ. 2089 โดยมีนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี พระนางก็ลอบสังวาสกับพันบุตรศรีเทพ (บุญศรี) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมอันถือเป็นเรื่องผิดกฎมนเทียรบาลด้วยห้ามการมีสามีใหม่ ด้วยแสวงหาอำนาจที่จะคุ้มครองบัลลังก์ ทรงเห็นว่ากลุ่มของพันบุตรศรีเทพอาจจะเหมาะควร[1] เพื่อการลุแก่อำนาจ พระนางทรงอ้างว่าพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ ทั้งหัวเมืองเหนือก็ไม่เป็นปกติ จึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชนมายุ เหล่าขุนนางก็เห็นชอบด้วย เมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว แล้วนำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา[17] อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้พงศาวดารพม่ากลับจดพระนามผู้ครองราชย์ว่า "พระอัครมเหสี" ซึ่งคือตัวท้าวศรีสุดาจันทร์นั่นเอง[18][19]

แต่ท้ายที่สุดการฟื้นอำนาจของพระนางก็สิ้นสุดลง โดยกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองราชย์นั้น นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ได้ร่วมกันวางแผนจับและสังหารขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตร แล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง[17]

รายพระนามพระมหากษัตริย์

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทตำนานและพงศาวดาร ทำให้เชื่อได้ว่า "ราชวงศ์อู่ทอง" เป็นความสัมพันธ์กันทางเครือญาติระหว่างเมืองลพบุรีกับเมืองสุพรรณบุรี แต่อย่างไรก็ตามความเป็นมาของราชวงศ์นี้ยังคงคลุมเครืออยู่ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง มี 3 พระองค์ ได้แก่

ลำดับพระนามพระราชสมภพครองราชย์สิ้นรัชกาลสวรรคตรวมปีครองราชย์
1สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)พ.ศ. 1855พ.ศ. 1893 (พ.ศ. 1894 ไทยสากล)พ.ศ. 191228 ปี
2 (1)สมเด็จพระราเมศวรพ.ศ. 1885พ.ศ. 1912พ.ศ. 1913พ.ศ. 19381 ปี
2 (2)สมเด็จพระราเมศวรพ.ศ. 1885พ.ศ. 1931พ.ศ. 19387 ปี
3สมเด็จพระเจ้ารามราชาพ.ศ. 1899พ.ศ. 1938พ.ศ. 195215 ปี

แผนผัง

 
(1)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
 
 
 
 
(2)
สมเด็จพระราเมศวร
 
 
 
 
(3)
สมเด็จพระเจ้ารามราชา

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้าราชวงศ์อู่ทองถัดไป
ราชวงศ์พระร่วง
(ปกครองกรุงสุโขทัย)
ราชวงศ์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา
(ครั้งที่ 1)

(พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 1913)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา
(ครั้งที่ 2)

(พ.ศ. 1931 - พ.ศ. 1952)
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง