ลิงกังญี่ปุ่น

ลิงกังญี่ปุ่น
แช่น้ำร้อนที่นะงะโนะ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร:Animalia
ไฟลัม:Chordata
ชั้น:Mammalia
อันดับ:Primates
วงศ์:Cercopithecidae
สกุล:Macaca
สปีชีส์:M.  fuscata
ชื่อทวินาม
Macaca fuscata
Blyth, 1875
ชนิดย่อย
  • M. f. fuscata
  • M. f. yakui
สถานที่กระจายพันธุ์

ลิงกังญี่ปุ่น หรือ ลิงหิมะญี่ปุ่น (อังกฤษ: Japanese macaque, Snow japanese monkey; ญี่ปุ่น: ニホンザル; ชื่อวิทยาศาสตร์: Macaca fuscata) เป็นลิงชนิดหนึ่ง ในวงศ์ลิงโลกเก่า (Cercopithecidae)

เป็นลิงพื้นเมืองของหมู่เกาะญี่ปุ่น พบได้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ในที่มีอากาศหนาวเย็น มีหิมะและน้ำแข็ง มีขนสีน้ำตาลเทาหรือเหลืองอ่อน ตัวผู้มีน้ำหนักเต็มที่ประมาณ 11-13 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียมีขนาดตัวที่เล็กและน้ำหนักเบากว่า คือประมาณ 8 กิโลกรัม มีขนหนาตลอดทั้งลำตัว ยกเว้นใบหน้าที่มีสีแดง ส่วนหางสั้น มี 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[2]

มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง ลิงตัวเมียที่มีอาวุโสสูงสุดจะเป็นจ่าฝูง หากินได้ทั้งบนพื้นดินและต้นไม้ โดยลิงตัวเมียจะใช้เวลาในการหาอาหารมากกว่าตัวผู้ สามารถว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี มีรายงานว่าสามารถว่ายน้ำได้ไกลกว่าครึ่งกิโลเมตร และยังสามารถอาศัยอยู่ในที่ ๆ มีอุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียสได้อีกด้วย เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 6 ปี แต่ลิงตัวเมียจะเข้าสู่เร็วกว่า มีอายุยืนประมาณ 28 ปีในตัวผู้ ขณะที่ตัวเมีย 32 ปี[3] ลิงตัวเมียจะเลี้ยงลูกนานเป็นเวลา 2 ปี เมื่ออายุได้ 4 ปี ลูกลิงตัวผู้ก็จะจากฝูงไปเพื่อเข้าร่วมกับฝูงใหม่ สร้างครอบครัวต่อไป ส่วนลิงตัวเมียจะอาศัยอยู่กับฝูงไปชั่วชีวิต ลิงกังญี่ปุ่นจะมีลูกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ [4] นอกจากนี้แล้วยังพบว่าลิงกังญี่ปุ่นตัวผู้บางตัวยังมีพฤติกรรมพยายามที่จะผสมพันธุ์กับกวางซีกา ซึ่งเป็นกวางพื้นเมืองของญี่ปุ่นด้วย โดยเป็นลิงตัวผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะยะกุ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เชื่อว่าคงเป็นเพราะลิงตัวนี้เป็นลิงที่มีอายุน้อย หรือไม่ก็หาคู่ตัวเมียผสมพันธุ์ด้วยไม่ได้ [5]

ลิงกังญี่ปุ่น ถือว่าเป็นไพรเมตที่อาศัยอยู่ห่างไกลเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดที่ไม่ใช่มนุษย์ หลักฐานทางดีเอ็นเอและซากฟอสซิลพบว่า บรรพบุรุษของลิงกังญี่ปุ่นเดินทางมาจากแผ่นดินใหญ่เอเชียเมื่อกว่า 500,000 ปีที่แล้ว และได้ปรับตัววิวัฒนาการให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะญี่ปุ่น โดยบรรพบุรุษของลิงกังญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกับลิงวอกและลิงกังไต้หวัน ที่มีหาง เมื่อใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นแล้ว ลิงกังญี่ปุ่นได้วิวัฒนาการให้ตัวเองมีรูปร่างที่ใหญ่กว่าลิงกังที่พบในแผ่นดินใหญ่ของเอเชีย มีขนหนา 2 ชั้นเพื่อรักษาความอบอุ่น หางหดสั้นลงเพื่อรักษาความอบอุ่นและป้องกันการโดนหิมะกัด [4]

ในฤดูหนาวที่อากาศหนาวเย็นและหิมะทับถมหนาได้ถึง 6 ฟุต โดยเฉพาะบนเกาะฮนชู ลิงกังญี่ปุ่นจะเริ่มกินอาหารจำนวนมากถึงร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเพื่อที่จะสะสมพลังงานและไขมันในตัวก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะตัวเมียเพื่อที่จะผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก และยามเมื่อถึงฤดูหนาวแล้ว ยังสามารถที่จะกัดเปลือกไม้บางชนิด เพื่อกินเนื้อไม้ที่อ่อนนุ่ม และอุดมด้วยสารอาหารในนั้น รวมทั้งรู้จักที่จะล้วงเก็บลูกสนที่ถูกหิมะทับไว้อย่างหนาแน่นได้อีกด้วย แต่ในช่วงนี้จะมีลูกลิงบางส่วนที่ต้องตายไป เพราะไม่อาจทนทานต่อสภาพอากาศได้ ในอดีตจากการศึกษาทางดีเอ็นเอ พบว่า ในยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย ลิงกังญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือเมื่อถึงฤดูหนาวจะอพยพลงใต้ที่ ๆ จากฮนชู ไปคิวชู และกระจายไปที่อื่น ๆ อันเป็นที่สภาพอากาศอบอุ่นกว่า แต่ก็ยังคงมีประชากรบางส่วนที่ยังอาศัยอยู่ยังที่เดิม[4]

พบกระจายพันธุ์อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น เช่น ฮนชู, คิวชู และชิโกกุ ลิงกังญี่ปุ่นยังมีพฤติกรรมที่แตกไปจากลิงชนิดอื่น ๆ คือ ชอบที่จะแช่น้ำร้อนตามบ่อน้ำพุร้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อุทยานลิงจิโกะกุดะนิ ในจังหวัดนะงะโนะ ลิงที่นี่ชอบที่จะแช่น้ำร้อนมากกว่าลิงชนิดเดียวกันที่อื่น ๆ บางครั้งอาจเผลอหลับไปในขณะที่แช่ได้เลย จึงเป็นที่ชื่นชอบอย่างยิ่งของนักท่องเที่ยว[6] และชอบที่จะปั้นหิมะเป็นลูกบอลเขวี้ยงเล่นเพื่อความสนุกสนาน อีกทั้งก่อนที่จะกินอาหารยังชอบที่นำไปล้างน้ำทะเลก่อนด้วย[7] [8] ส่วนในบ่อน้ำร้อน จะมีพฤติกรรมดำน้ำลงไปก้นบ่อเก็บกินข้าวสาลีที่มีผู้โยนมาให้เป็นอาหารกิน ลิงที่อาศัยแถบแม่น้ำซุซุกิ มีพฤติกรรมพลิกก้อนหินหาแมลงน้ำและตัวอ่อนแมลงน้ำที่หลบซ่อนตัวจากลำธารกินได้ และลิงที่อาศัยอยู่แถบชายทะเลยังรู้จักที่จะเก็บสาหร่ายทะเลกินเป็นอาหารได้อีกด้วย พฤติกรรมการหากินและการปรับตัวเหล่านี้ เชื่อว่า เป็นผลมาจากการเรียนรู้ของลิงตัวเมียที่สืบทอดกันมาจากรุ่นเป็นรุ่นเป็นเวลาราว 3 รุ่น และเป็นการเรียนรู้กันเฉพาะกลุ่ม[4]

ในวัฒนธรรม

ลิงกังญี่ปุ่นได้ปรากฏในวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายประการ เช่น ปรากฏเป็นภาพปริศนาธรรมที่ชื่อ ลิงสามตัว (三猿) และเป็นตัวละครในเทพนิยายพื้นบ้านเรื่อง โมโมทาโร่ (桃太郎) ด้วยเป็นหนึ่งในสัตว์สามชนิดที่ตามโมโมทาโร่ไปปราบปีศาจ[9] [10] และถูกอ้างอิงถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมาย เช่น การ์ตูนญี่ปุ่น

เกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮนชู มีความเชื่อว่ากะโหลกของลิงกังญี่ปุ่นจะช่วยทำให้โชคดีและป้องกันสัตว์เลี้ยงได้ จึงมีการแขวนประดับไว้ในเล้าสัตว์[4]

ในต้นปี ค.ศ. 2012 ได้ปรากฏข่าวเป็นที่นิยมและฮือฮาของชาวญี่ปุ่น เมื่อปรากฏว่าลูกลิงตัวหนึ่งได้เกาะหลังหมูป่าแทนที่จะเป็นหลังแม่เช่นลิงทั่วไป กลายเป็นที่โด่งดังในโลกอินเทอร์เน็ต[11]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macaca fuscata ที่วิกิสปีชีส์

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง