วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้

วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ (จีน: 河姆渡文化, อังกฤษ: Hemudu Culture}) (5500 ถึง 3300 ปีก่อนคริสตกาล [1]) เป็นวัฒนธรรมในยุคหินใหม่ ในภูมิภาคเจียงหนาน ที่แพร่กระจายจากที่ราบทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง ไปจนถึงหมู่เกาะโจวชาน วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อาจแบ่งออกเป็นช่วงต้นและช่วงปลาย คือ ก่อนและหลัง 4000 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับ [2]

วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้
ภูมิภาคจีนตะวันออก
สมัยยุคหินใหม่ ของจีน
ช่วงเวลา5500 – 3300 ปีก่อนคริสตกาล
ชื่อภาษาจีน
ภาษาจีน河姆渡文化
สถาปัตยกรรมจำลองเท่าจริงของ "รั้วแห้ง (干栏式建筑)" - ซากเสา(จำลอง)ของบ้านยกพื้นทรงยาว แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้
แบบจำลองบ้านยกพื้นทรงยาว วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้
ชามเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปหมูวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้
เครื่องปั้นดินเผาสีดำของวัฒนธรรม เหอหมู่ตู้
โกศบรรจุศพที่ไซต์เฉียงเจียชาน

แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้อยู่ห่าง 22 กม. จากเมืองหนิงปัว ถูกค้นพบในปีพ.ศ. 2516 นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ที่เถียนหลัวชาน (Tianluoshan 田螺山) ในเทศมณฑลหยูเหยา (Yuyao)[3] และเทศมณฑลโจวชาน (Zhoushan) กล่าวกันว่ามนุษยวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีความแตกต่างทางร่างกายจากชนพื้นเมืองทางเหนือในบริเวณแม่น้ำหวง[4] นักว่ิชาการโบราณคดีบางคนเสนอว่าวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อาจเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมยุคก่อนออสโตรนีเซียน[5][6][7][8]

ความสำคัญทางโบราณคดี

แม่น้ำแยงซีเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียทอดข้ามแผ่นดินจีน 6,000 กม. แม้ว่าจะมีความยาวและขนาดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเกินกว่าแม่น้ำหวง แต่อารยธรรมโบราณที่ถือกำเนิดในลุ่มแม่น้ำแยงซีไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน เนื่องจากผู้คนเชื่อมาโดยตลอดว่าต้นกำเนิดของอารยธรรมจีน คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำหวง มีเพียงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเท่านั้นที่เป็นกระแสหลักของประวัติศาสตร์ แต่การค้นพบที่น่าตื่นเต้นของแหล่งวัฒนธรรมในตอนล่างของแม่น้ำแยงซียังคงปรากฏอยู่เรื่อยมา

วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ถูกค้นพบครั้งแรกในปีพ.ศ. 2516 และมีการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้สองครั้งในปีพ.ศ. 2516 - 2517 และ 2520 - 2521 ลักษณะสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เครื่องปั้นดินเผาสีดำ

หัตถกรรมจากกระดูกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เช่น หัวฉมวก ขอเบ็ด หัวลูกดอก นกหวีด กริชสั้น กรวย เครื่องถ้วย เลื่อย ฯลฯ ได้รับการขัดเกลาอย่างประณีตโดยเฉพาะการพบลายนกสลักบนตัวเครื่องใช้เหล่านั้น เครื่องมือกสิกรรมที่พบมากและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ คือ เสียม

ในแง่ของสถาปัตยกรรมมีการพบซากอาคารยกพื้นจำนวนมากในพื้นที่ รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ส่วนใหญ่เป็นอาคารยกพื้นมีโครงเสาไม้ (干栏式建筑) เป็นรูปแบบเฉพาะของทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนตั้งแต่ยุคหินใหม่ ซึ่งแตกต่างจากบ้านกึ่งห้องใต้ดินในช่วงเวลาเดียวกันในภาคเหนือ ดังนั้นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีจึงเป็นอีกสายอารยธรรมหลักของจีนที่สำคัญที่แสดงถึงการพัฒนาของอารยธรรมจีนโบราณซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมหย่างเฉาในที่ราบตอนกลาง

ในบรรดามรดกทางวัฒนธรรมที่ขุดพบจำนวนมากของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ที่สำคัญที่สุดคือ การค้นพบข้าวที่มาจากการเพาะปลูกจำนวนมาก มีการขุดพบแกลบจำนวนมากจากพื้นที่ระหว่างการสำรวจในปีพ.ศ. 2530 ตามรายงานพบว่ามีปริมาณรวมถึง 150 ตัน ผลการวิเคราะห์พบว่าแกลบเหล่านี้มีอายุ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล การปลูกข้าวทำให้เกิดการสะสมเมล็ดพืชส่วนเกินจำนวนมากในสังคมได้ และการเกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแกร่งของวัฒนธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปสู่ การเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน [9] (และการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง)

ถึงปัจจุบัน เหอหมู่ตู้เป็นแหล่งวัฒนธรรมข้าวที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การค้นพบนี้ได้เปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าข้าวที่ปลูกในประเทศจีนนำเข้าจากอนุทวีปอินเดีย[10]

แหล่งโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ได้แก่

  • แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ หมู่บ้านเหอหมู่ตู้ เทศมณฑลหยูเหยา (เป็นที่มาของการเรียกช่ื่อ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้) อยู่ห่าง 22 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง หนิงปัว
  • แหล่งโบราณคดีจือชาน (鲻山遗址)
  • แหล่งโบราณคดีเฉียงเจียชาน (鲞架山遗址)
  • แหล่งโบราณคดีสื่อหู (慈湖遗址)
  • แหล่งโบราณคดีเสี่ยวตงเหมิน (小东门遗址)
  • แหล่งโบราณคดีฟู่เจียชาน (傅家山遗址)
  • แหล่งโบราณคดีหมิงชานโฮ่ว (名山后遗址)
  • แหล่งโบราณคดีถาชาน (塔山遗址)
  • แหล่งโบราณคดีเถียนหลัวชาน (田螺山遗址)
  • แหล่งโบราณคดีไป๋ชฺวาน (白泉遗址)
  • แหล่งโบราณคดีหลิงชาน (灵山遗址)

หลังจากการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ ในปีพ.ศ. 2524 สถาบันวัฒนธรรมและโบราณคดีแห่งมณฑลเจ้อเจียงได้ทำการประเมินการแพร่กระจายของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ จนถึงขณะนี้มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ 49 แห่ง ในที่ราบหนิงเชา และสองฝั่งแม่น้ำเหยาเจียง

มรดกทางวัฒนธรรม

นักวิชาการโบราณคดีบางคนยืนยันว่าวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้อยู่ร่วมสมัยกับ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง ทั้งสองวัฒนธรรมแยกจากกันแต่มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมระหว่างกัน [ต้องการอ้างอิง] นักวิชาการคนอื่น ๆ รวมวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ เข้ากับ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง [2]

สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

พื้นที่เหอหมู่ตู้ ตั้งอยู่ทางตอนปลายของ แม่น้ำแยงซี ทำให้มีดินที่อุดมสมบูรณ์จากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและทะเลสาบเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการกสิกรรมแบบดั้งเดิม มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ใกล้แหล่งปลูกเหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวที่ต้องใช้น้ำมาก พบซากของข้าว แกลบ ต้นข้าว และใบข้าวกระจายโดยทั่วไป เป็นหลักฐานของต้นกำเนิดการปลูกข้าวในประเทศจีนและยังบ่งชี้ว่าเป็นการเพาะปลูกข้าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

ซากบรรพชีวัน อะมีบา และ ละอองเรณูที่พบในชั้นดินเดียวกันบอกอายุของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ว่าเกิดและพัฒนาขึ้นในช่วงกลางของสมัยโฮโลซีน (ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่า Holocene Climatic Optimum - ช่วงภูมิอากาศที่อุ่นที่สุดในสมัยโฮโลซีน)[11] การศึกษาของระดับน้ำทะเลในที่ราบลุ่ม Ningshao ช่วง 7000-5000 ปีก่อนคริสตกาล เปรียบเทียบกับ ช่วง 5000-3900 ปีก่อนคริสตกาล แสดงให้เห็นว่าความต่อเนื่องของการเพิ่มของระดับน้ำทะเล มีผลให้เกิดน้ำท่วมบ่อยในช่วง 5000-3900 ปีก่อนคริสตกาล [12] ยังพบหลักฐานน้ำท่วมใหญ่สองครั้งทำให้ แม่น้ำเหยาเจียง ที่อยู่ใกล้เคียงเปลี่ยนเส้นทาง และยังทำให้ผืนดินเพาะปลูกเดิมถูก ท่วมขังด้วยน้ำทะเล สภาพดินเค็มนี้บังคับให้ชาวเหอหมู่ตู้ละทิ้งถิ่นฐาน

สภาพภูมิอากาศได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นเขตร้อนถึงกึ่งเขตร้อนโดยมีอุณหภูมิสูงและมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี[12] พื้นที่เหอหมู่ตู้ในช่วงเวลาขณะนั้นเป็นป่าดิบชื้นและป่ากึ่งเขตร้อน สภาพภูมิอากาศแบบนี้ช่วยให้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากกว่าปัจจุบันมากและรองรับสัตว์ฝูงใหญ่[11] มีหมูป่า ควาย และสัตว์ป่าอื่น ๆ เช่น แรดโบราณ ซากสัตว์ป่าจำนวนมากที่ขุดพบในพื้นที่วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ในตระกูลกวาง ด้วยเหตุนี้วัสดุที่นิยมใช้สร้างเครื่องมือทางการเกษตรในเวลานั้นคือ กระดูก โดยเฉพาะส่วนสะบักของกวางและควายที่ใช้ทำ เสียม (ในภาษาจีน 耜 หมายถึงเครื่องมือใช้ขุดเปิดหน้าดินด้วยแรงคน ซึ่งใช้ทั้งเป็นเสียม หรือ ใบไถ ผานไถ)

หนองน้ำที่มีอยู่อย่างหนาแน่นเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีทำให้สัตว์น้ำและพืชมีชุกชุมและยังเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาการประมง การล่าสัตว์ และการเพาะพันธุ์พืช ไม้พายที่มีก้านใบคล้ายใบพายที่พบในแหล่งโบราณคดีระบุว่ามีการใช้เรือเพื่อการขนส่งและในกิจกรรมการตกปลาและการล่าสัตว์

ซากของพืชหลายชนิดได้แก่ บัวหลวง (Nelumbo nucifera) โอ๊ก แตงเมลอน ผลกีวีป่า แบล็กเบอร์รี่ พีช ฟ็อกซ์นัท หรือ บัวเคียมซิก และ น้ำเต้า พบได้ที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ และ แหล่งโบราณคดีเถียนหลัวชาน [13] ชาวเหอหมู่ตู้ น่าจะเลี้ยง หมู แต่ยังคงการล่า กวาง และ ควายป่า อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังมีการตกปลาในปริมาณมากโดยเน้นเฉพาะ ปลาคาร์พ (crucian carp) [14] การทำประมงและการล่าสัตว์นั้นมีหลักฐานจากซาก ฉมวกกระดูก คันธนู และหัวลูกศร

ความอุดมสมบูรณ์จากสภาพภูมิอากาศที่อุ่นและกินเวลานาน ทำให้เป็นช่วงที่ภูมิอากาศดีที่สุด อารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายแห่งเริ่มต้นขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาดังกล่าว [11]

ที่อยู่อาศัย

ชาวเหอหมู่ตู้อาศัยอยู่ใน บ้านยกพื้นทรงยาว เป็นลักษณะโรงเรือนรวมของชุมชนพบได้ทั่วไปในพื้นที่เหอหมู่ตู้ และมีลักษณะคล้ายกับที่พบในเกาะบอร์เนียวในปัจจุบัน[15]

บ้านยกพื้นและมีราวบันไดยังสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ร้อนชื้นในภาคใต้ ความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทำให้ วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ แตกต่างจากวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำหวงในตอนเหนือของจีน

การสำรวจทางภูมิศาสตร์พบว่า เนินเขาที่อยู่ใกล้กับพื้นที่สร้างเหอหมู่ตู้และทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทะเลสาบในเวลานั้น ภูมิศาสตร์ลักษณะนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับประเภท เรือนยกพื้น (ในภาษาจีนเรียก อาคารแบบรั้วแห้ง (干栏式建筑 dry-fence) คือมีเสาเรียงกันเป็นแถวยาวสำหรับวางคานไม้ มีลักษณะที่คล้ายรั้วไม้) เรือนยกพื้นมีคุณลักษณะที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตริมน้ำได้ดี คือ พื้นเรือนมีการระบายอากาศ สามารถป้องกันความชื้นจากพื้นดินได้ระดับหนึ่ง ยังสามารถรับมือน้ำท่วมหลังฝนตกหนัก และป้องกันแมลงที่อาศัยเรี่ยดิน ของเหลือสามารถโยนจากช่องว่างของพื้นและลอยไปกับน้ำ หรือใช้เป็นอาหารสำหรับสุนัขและหมูบนพื้นดิน และพื้นใต้ถุนสามารถสุมไฟเพื่อป้องกันยุงได้ ความสูงของพื้นเรือนยังสามารถป้องกันการโจมตีของศัตรูได้ และหากอาคารอยู่ในที่ดอนก็สามารถลดการระดับการยกพื้นได้เช่นกัน

มีการขุดพบส่วนประกอบไม้ทางสถาปัตยกรรมจำนวนมาก เช่น เสาเข็ม คาน แผ่นพื้น ฯลฯ ที่แหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ ส่วนประกอบต่างๆถูกประกอบเข้าด้วยเดือยหรือลิ่มไม้ (ลิ้นหมุด) แสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีงานไม้ที่โดดเด่นในเวลานั้น แผ่นลิ้นและร่องลิ้นสามารถประกอบแผ่นไม้สองแผ่นเข้าด้วยกันได้โดยสนิท (ไม่มีช่องว่าง) เทคโนโลยีการก่อสร้างที่พบในแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ อาจกล่าวได้ว่ามีส่วนในการวางรากฐานสำหรับสถาปัตยกรรมไม้ของจีน

สิ่งประดิษฐ์ และงานฝีมือ

ในแง่ของสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือหินมีขนาดค่อนข้างเล็ก ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือล่าสัตว์และตัดเนื้อสัตว์ เช่น ขวาน มีด ซึ่งบางชิ้นมีการประดับตกแต่ง มีการพบเครื่องประดับไม้ "ปลาแกะสลัก" ที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ ได้แก่ เครื่องมือกสิกรรมที่ทำจากกระดูก ด้ามไม้ มีด เสียม และเครื่องทอจำนวนมาก

วัฒนธรรมนี้ยังผลิตเครื่องเคลือบเงา (เครื่องเขิน) ชามไม้เคลือบสีแดงที่พิพิธภัณฑ์เจ้อเจียงมีอายุตั้งแต่ 4000 - 5000 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่าเป็นเครื่องเคลือบเงาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก [16]

เครื่องมือทอผ้า ล้อหมุนปั่นด้าย กระสวยมีรอยหยักที่ปลายทั้งสองข้าง และมีดที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีเหอหมู่ตู้ แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคหินใหม่ได้เริ่มประดิษฐ์เครื่องทอผ้าด้วยมือแล้ว

เครื่องปั้นดินเผา

วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ได้ผลิต เครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ มักมีสีดำ โดยทั่วไปจะมีการวาดลวดลายพืช และ เรขาคณิตลงบนเครื่องปั้นดินเผา และบางส่วนมีลายเชือก วัฒนธรรมนี้ยังผลิตเครื่องประดับ หยกแกะสลัก งาช้างแกะสลัก และรูปแกะสลักดินขนาดเล็ก

เครื่องปั้นดินเผาของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีดำที่ทำจากการผสมผงถ่านและทรายจำนวนเล็กน้อย และเครื่องปั้นดินเผาสีเทาโคลน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำด้วยมือและอุณหภูมิในการเผาคือ 800-930 ℃ มีความบริสุทธิ์ของธาตุเหล็กเพียงร้อยละ 1.5 ใช้แกลบ ลำต้น และใบข้าวเป็นวัสดุในการเผาจำนวนมาก เทคโนโลยีกระบวนการผลิตยังค่อนข้างดั้งเดิม เครื่องปั้นดินเผานี้มีลักษณะค่อนข้างหนาและหยาบ น้ำหนักค่อนข้างเบา ดูดซึมน้ำได้ดี(ความพรุนสูง) และแตกหักง่าย ในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ช่วงปลายยังคงทำด้วยมือ แต่เครื่องใช้บางอย่างได้รับการตัดแต่งด้วยแป้นหมุนและมีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องปั้นดินเผาบางชนิดมีอุณหภูมิสูงขึ้นและอุณหภูมิในการเผาสูงถึงประมาณ 1,000 ° C

ประเภทของภาชนะ ได้แก่ กาต้มน้ำ หม้อ ถ้วย จานชาม อ่าง ถัง หม้อเตา ฝาและที่รองรับ มักจะมีลวดลายแกะสลักหรือลายทาบเชือก มีเครื่องปั้นดินเผาบางส่วนทาสีด้วยสีน้ำตาลน้ำตาลเข้มของลวดลายของพืช

เครื่องดนตรี

นกหวีดกระดูกจำนวนไม่น้อยที่ขุดพบในวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ อาจเป็นเครื่องดนตรีและเครื่องมือล่าสัตว์ที่จำลองเสียงสัตว์ ยังพบ ขลุ่ยดินเผา (埙 Xun) มีรูปทรงเป็นรูปไข่และกลวงมีรูเป่าเล็ก ๆ ที่ปลายด้านหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบเครื่องดนตรีอื่น เช่น กลองไม้

โครงสร้างทางสังคม

โครงสร้างทางสังคมช่วงแรกของวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ จัดเป็นมาตาธิปไตย ฐานะทางสังคมของเด็กและผู้หญิงค่อนข้างสูง ในช่วงปลายวัฒนธรรม ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นปิตาธิปไตย ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสถานะทางสังคมของผู้ชายเพิ่มขึ้น และการสืบเชื้อสายถูกส่งผ่านสายของผู้ชาย

ศาสนา

ชาวเหอหมู่ตู้บูชา ดวงอาทิตย์ และ วิญญาณแห่งความอุดมสมบูรณ์ พวกเขาสร้างพิธีกรรมคนทรง (shamanistic) ของดวงอาทิตย์ และเชื่อว่าเสาโทเทม (totem) รูปนก คือ ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย และผี (วิญญาณ) น่าจะแพร่หลายเช่นกัน

การฝังศพจะหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือและส่วนใหญ่ไม่พบสิ่งของตกแต่งสำหรับหลุมฝังศพ เด็กทารกถูกฝังในโลงศพแบบโกศ ส่วนเด็กและผู้ใหญ่ได้รับการฝังศพระดับพื้นดิน ในช่วงต้นวัฒนธรรมชุมชนส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่ฝังศพส่วนกลางที่แน่นอน แต่มีการพบที่ฝังศพของเครือตระกูลในช่วงปลายวัฒนธรรม หลุมฝังศพของคนสองกลุ่มที่แยกจากกัน พบสิ่งของฝังศพจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัดในที่ฝังศพของชุมชนแห่งนี้ [2] แสดงว่ามีการแต่งงานกันระหว่างสองตระกูล

โบราณวัตถุ


อ้างอิง


🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง