สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

อดีตพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พันโทหญิง สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (พระนามเดิม: ประไพ; 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518) พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระวรราชชายา
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
พระราชชายา
ดำรงพระยศ10 มิถุนายน พ.ศ. 2464 – 1 มกราคม พ.ศ. 2465
(0 ปี 205 วัน)
15 กันยายน พ.ศ. 2468 — 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
(0 ปี 71 วัน)
พระอัครมเหสี
ดำรงพระยศ1 มกราคม พ.ศ. 2465 — 15 กันยายน พ.ศ. 2468
(3 ปี 258 วัน)
ประสูติ10 มิถุนายน พ.ศ. 2445
เมืองธนบุรี อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 (73 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พระราชสวามีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2465–2468)
ราชวงศ์สุจริตกุล (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
พระมารดาท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล)
ศาสนาพุทธ

พระองค์เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เข้ารับราชการฝ่ายใน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอินทราณี ต่อมาพระอินทราณีตั้งครรภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นดำรงพระยศเจ้านายตำแหน่งพระมเหสีที่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงตกพระครรภ์หลายครั้ง เป็นเหตุประการหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักสวนนกไม้ ในพระราชวังดุสิต ต่อมาทรงย้ายไปประทับที่วังริมคลองภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี พระนิวาสน์เดิมของพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านของพระบิดาของพระองค์ และประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 สิริพระชันษา 73 ปี

พระประวัติ

ต้นพระชนม์ชีพ

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี มีพระนามเดิมว่า ประไพ เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เกิดแต่ท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) เมื่อวันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 ที่บ้านคลองด่าน อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านของปู่คือ พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล)[1] ซึ่งพระยาราชภักดีเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัยยิกาฝ่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นพระยาราชภักดี รวมทั้งบุตรหลานจึงมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรีในฐานะราชินิกุลที่ใกล้ชิด[2]

สมเด็จพระบรมราชินีแห่ง
ราชวงศ์จักรี
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา

ประไพเกิดมาเป็นเด็กรูปร่างเล็กบอบบาง อุปนิสัยร่าเริง และมีผู้ทำนายไว้ว่าลักษณะมีบุญ จนพี่น้องรู้กันดีว่า หากจะขออนุญาตไปเที่ยวงาน หรือต้องการของกินของเล่นอย่างใด หากอ้างชื่อประไพ ก็จะได้ดังประสงค์ทุกครั้งไป เมื่อประไพอายุครบแปดขวบจึงได้เข้าไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454—2463 จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ ระหว่างศึกษานั้นประไพชอบวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดนตรี การฝีมือ และกีฬา[3] ประไพชอบการกีฬามากกว่าวิชาการ แต่ก็สอบได้คะแนนดีทุกครั้ง ต่อมาพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) ผู้เป็นปู่ถึงแก่อนิจกรรม เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ผู้เป็นบิดาจึงย้ายไปปลูกบ้านใหม่ที่ประตูน้ำภาษีเจริญ ห่างจากบ้านคลองด่านไม่มากนัก

เมื่อประไพสำเร็จการศึกษาแล้ว บิดาได้นำประไพเข้าเฝ้าถวายตัวข้ารับราชการฝ่ายใน ประไพสนใจการขับร้องอย่างมาก[3] โดยเป็นต้นเสียงร่วมกับพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) ผู้เป็นพี่สาว เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงโขนสมัครเล่น เรื่อง "รามเกียรติ์" ตอนนางลอย[4] นอกจากนี้ประไพยังแสดงเป็น "อินทิรา ดุลยวัจน์"[5] นางเอกของพระราชนิพนธ์ละครพูดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง "เสือเถ้า"[6]

เข้ารับราชการฝ่ายใน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และประไพ สุจริตกุล

ในเวลาต่อมาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) มีความประสงค์ที่จะถวายตัวหญิงนักเรียนนอกจากสกุลบุนนาคเป็นบาทบริจาริกาเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ แต่พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พี่สาวของประไพ ซึ่งเป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบทูลว่าจะถวายน้อง ๆ ของตนเองแทน[7] ด้วยเหตุนี้พระสุจริตสุดาจึงให้ประไพไปถวายการรับใช้บ่อย ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับคุณประไพ สุจริตกุล ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) โปรดให้ท้าวภัณฑสารนุรักษ์ (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) หัวหน้าคลังฝ่ายในนำเงินไปพระราชทานตามพระราชประเพณีเป็นเงิน 4,000 บาท[8] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณประไพ สุจริตกุล ดำรงตำแหน่งพระสนมเอก มีราชทินนามว่า พระอินทราณี[9] โดย อินทราณี เป็นพระนามพระชายาพระองค์หนึ่งของพระอินทร์ และพำนักอยู่ร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชวังพญาไท ซึ่งได้ทรงหมั้นกันก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรสในภายหน้า[10] หากมีพระราชพิธีที่ต้องเสด็จร่วมกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประทับคู่กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ โดยมีพระสุจริตสุดา (เปรื่อง) และพระอินทราณี (ประไพ) เดินตามอย่างธรรมเนียมโบราณ[11]

ต่อมาพระอินทราณีตั้งครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นดำรงพระยศเจ้านายตำแหน่งพระมเหสีพระองค์หนึ่ง[12] ที่ พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465[13] นับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับการสถาปนาให้ดำรงพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์[14] ซึ่งปรากฏอยู่ในคำประกาศสถาปนาว่า

"...อันพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าตามราชประเพณีที่ได้มีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารีนั้นด้วยแล้ว สมควรที่จะสถาปนาพระอินทราณี ให้มียศเหมือนเจ้าได้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอินทราณี ขึ้นเป็นพระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิ์ศจี..."

พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า อันเป็นตราชั้นสูงสุดสำหรับฝ่ายในแก่พระวรราชชายาเธอในโอกาสนี้ด้วย[15]

ตำแหน่งพระบรมราชินี

พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2465 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2466)[16]

ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นายพันโทหญิง และแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์แก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี[17] นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับพระราชทานยศทางทหาร[18] การนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ได้เสด็จไปทอดพระเนตรละครพระราชนิพนธ์เรื่องผิดวินัย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการแสดงถวายของนายทหารกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงรับตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ[19] และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงอำนวยพรพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องลิลิต นารายณ์สิบปาง[20]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน 89 ไร่ ด้านหน้าติดถนนเพชรเกษม ตรงข้ามวัดพระประโทน จังหวัดนครปฐม แก่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี และพระราชทานนามที่ดินแห่งนี้ว่า สวนราชฤดี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเป็นเรือนไม้ปั้นหยาสองชั้น ทำด้วยไม้สัก แด่สมเด็จฯ พระราชินีด้วย พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย เป็นผู้อำนวยการดูแลให้โรงเรียนเพาะช่าง สร้างเครื่องเรือนสีขาวลายทองแบบหลุยส์ขึ้นเป็นชุดแรก เพื่อใช้ตกแต่งภายในทั่วทั้งพระตำหนักราชฤดี เพื่อเป็นการฝึกฝนช่างไม้ไทยตามพระราชประสงค์ให้สามารถสร้างเครื่องแต่งเรือนแบบหลุยส์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้นทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ และเครื่องเรือนชุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงใช้เป็นประจำตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์[21] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ทรงประกอบพระราชพิธีเสด็จขึ้นพระตำหนักในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2466 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2467)[22]

ตกพระโลหิต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

ในการทรงครรภ์ พระองค์ตกพระโลหิตเสียก่อนที่จะมีพระประสูติกาลถึง 3 ครั้ง เนื่องจากพระองค์ตามเสด็จพระราชสวามีตลอดไม่ได้หยุดจึงทำให้ตก[23] ทรงตกพระโลหิตครั้งแรกในพ.ศ. 2465[24] ต่อมาได้ทรงพระครรภ์และมีพระประสูติกาลก่อนกำหนดประมาณ 6 เดือนบนพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไทเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เป็นพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้วถึงกับน้ำพระเนตรไหล[25] กระนั้นก็ยังทรงมีพระเมตตาต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนี ทรงอ่านหนังสือพระราชทาน ทรงประคองและดูแลเป็นอย่างดี

และในครั้งนั้นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในขณะยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงมีพระราชหัตเลขามาปลอบสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี มิให้ทรงโศกเศร้าในการตกพระโลหิตครั้งนี้ เพราะอย่างไรเสียในวันหน้า ก็ยังทรงมีโอกาสที่จะทรงพระครรภ์อีก[26] หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าทรงพระครรภ์อีก และก็ตกพระโลหิตอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2468 ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระที่นั่งสมุทรพิมาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี[27]

ลดพระอิสริยยศ

ต่อมาในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการว่าด้วยการออกพระนาม โดยโปรดให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา แทน เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2468[28] และโปรดฯ ให้เสด็จไปประทับยังพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต

สาเหตุที่ทรงลดพระอิสริยยศมีหลายประการ แต่มีปรากฏในพระราชพินัยกรรม เรื่อง การสืบพระราชสันตติวงศ์แลตั้งพระบรมอัษฐิ เป็นพระราชพินัยกรรม ฉบับบันทึกประจำวัน ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2468 ก่อนวันประกาศลดพระอิสริยยศประมาณ 1 สัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เหตุผลว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงทำให้พระองค์ไม่สบายพระทัยอยู่เป็นนิจ ในพระราชพินัยกรรมปรากฏข้อความเป็นพระบรมราชโองการความว่า[29]

"...ข้อ ๔ ต่อไปภายหน้าก็คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัษฐิ คือ จะเอาองค์ใดขึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า. ฃ้าพเจ้าขอสั่งเด็ดขาดไว้เสียแต่บัดนี้ , ห้ามมิให้เอาพระอัษฐิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขึ้นมาตั้งเคียงฃ้าพเจ้าเป็นอันขาด; เพราะตั้งแต่ได้มาเป็นเมียฃ้าพเจ้า ก็ได้บำรุงบำเรอน้ำใจฃ้าพเจ้าเพียง ๑ เดือนเท่านั้น, ต่อแต่นั้นมาเอาแต่ความร้อนใจหรือรำคาญมาสู่ฃ้าพเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์..."

เรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงตกพระโลหิตพระกุมารนั้นเป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง เพราะมีบันทึกปรากฏชัดเจนว่าแม้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีทรงแท้งแล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ทะนุถนอมอย่างดี ถึงกับเสด็จไปรับ และทรงเข็นพระเก้าอี้เข็นที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ประทับมาร่วมเสวยกับพระองค์ทุกวัน[30]

เหตุการณ์ที่เป็นเหตุสำคัญในการลดพระอิสริยยศเห็นจะเป็นเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ้อมละครเรื่องพระร่วง[31] ครั้งนั้น ในบทบาทการแสดงต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างนายมั่นแสดงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสาวใช้ของนางจันทร์แสดงโดยคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ภาพนั้นคงไม่สบพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี จึงทรงกระทืบพระบาท และโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ โห่ฮาและใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยุดการซ้อม และเสด็จขึ้นทันที[32] ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีมีพระชันษาเพียง 21 ปี เป็นธรรมดาที่จะมีพระอาการหึงหวงต่างๆ และหลายครั้งก็ไม่ทรงสามารถเก็บกลั้นพระอารมณ์ได้ เช่น ทรงขอพระบรมราชานุญาตกลับพระนครก่อน ทำให้ต้องตระเตรียมเรือพระที่นั่งอย่างฉุกละหุก และอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสุวัทนากราบพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระองค์ก็ทรงชักพระบาทหลบและเบือนพระพักตร์ เหตุเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระทัย[32]

พระชนม์ชีพหลังรัชกาลที่ 6

พระสุจริตสุดา (ซ้าย), สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (กลาง) และท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร (ขวา) ในพ.ศ. 2517

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ใน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ทรงย้ายไปประทับยังพระตำหนักสวนนกไม้ พระราชวังดุสิต[33] ต่อมาจึงทรงย้ายไปประทับที่บริเวณบ้านของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีพระบิดา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเสด็จมาประทับเป็นการถาวรแล้ว เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจึงกั้นบริเวณที่ดินว่างเปล่าด้านหลังของบ้านซึ่งเป็นที่กว้างขวางให้เป็นที่ประทับ กับให้สร้างพระตำหนักสไตล์ยุโรปงดงามเป็นพระตำหนักที่ประทับ โดยมีทางเชื่อมต่อกับตึกใหญ่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีอีกด้วย ต่อมาวังแห่งนี้มีชื่อเรียกว่าวังริมคลองภาษีเจริญ[34] หรือวังประตูน้ำ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีได้ประทับอยู่ ณ วังริมคลองภาษีเจริญนี้มาโดยตลอดท่ามกลางพระประยูรญาติอย่างอบอุ่นต่อมาอีกกว่า 40 ปี[35]

ในสมัยรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาตลอดพระชนมชีพ[36] โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ในการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 5 รอบในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2505 และเมื่อพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ตามลำดับ[36] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์แก่พระราชวงศ์ผู้ใกล้ชิดสนิทสนม ในบางโอกาสเท่านั้น[37]

ประชวร

ครั้นวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ประชวรปวดพระนาภีมาก จึงได้เสด็จเข้ารับการถวายการรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้งนั้นแพทย์ได้ถวายพระโอสถแก้ปวดพระนาภีทางหลอดพระโลหิต พระอาการทุเลาลง[38] ระหว่างเวลาที่ทรงรับการถวายการรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น พระอาการประชวรมีแต่ทรงและทรุดลงเรื่อยมา มีพระอาการปวดพระนาภีมากขึ้น คณะแพทย์ต้องถวายพระโอสถแก้ปวดทางหลอดพระโลหิตถี่ขึ้น จนเมื่อมีพระอาการมาก ก็ต้องถวายพระโอสถทุก 3 ชั่วโมง[39]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแจกันดอกไม้ไปเยี่ยมพระอาการประชวร นอกจากนี้ก็มีพระราชวงศ์เสด็จไปทรงเยี่ยม ตลอดจนพระญาติ ข้าราชการ และข้าราชบริพารได้ผลัดเปลี่ยนกันไปเฝ้าและเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา[36] ระหว่างที่ทรงประชวรอยู่นั้น เมื่อทรงทุเลาจากการประชวรก็ทรงมีปฏิสันถารกับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนเป็นปกติ ยังทรงพระอนุสรณ์ถึงเรื่องตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หรือธุรกิจส่วนพระองค์ได้เป็นอย่างดี เวลาประชวรมากก็รับสั่งให้ไปตามพระสุจริตสุดา เมื่อมาถึงก็ทรงกรรแสง[38] พระองค์เคยทรงพระปรารภว่ายังไม่อยากสิ้นพระชนม์ ด้วยทรงเป็นห่วงพี่น้องและหลาน ๆ ซึ่งยังไม่สำเร็จการศึกษา[38]

สิ้นพระชนม์

พระโกศทองน้อย ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น

ครั้นถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพยาบาลเห็นพระอาการหนักมากสิ้นหวังแล้ว เพราะเสวยไม่ใคร่ได้ ต้องถวายน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เวลา 7 โมงเช้า พระอาการประชวรน่าวิตก พยาบาลได้ตามคณะแพทย์มาถวายการรักษา แม้คณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่มีพระอาการพระหทัยวายจึงสิ้นพระชนม์ในเวลา 7.55 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร สิริพระชนมายุ 73 พรรษา 5 เดือน 20 วัน[40]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองน้อยทรงพระศพ ภายใต้ฉัตรตาดทอง 5 ชั้น ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และทรงรับพระศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน 7 วัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2518[41], 50 วัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2519[42] และ 100 วัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2519[43] ตามลำดับ พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519[44] พระอัฐิเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระอังคารเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ศาลาสุจริตกุล วัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิต[45]

พระจริยวัตร

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงชุบเลี้ยงเด็กผู้ชายไว้หลายคน ส่วนใหญ่จะเป็นพระญาติในสกุลสุจริตกุล แต่มีคนหนึ่งที่เป็นเด็กกำพร้าทั้งบิดาและมารดา ได้ทรงชุบเลี้ยงมาแต่เด็กชายคนนั้นอายุ 3 ขวบ ตรัสเรียกว่า "ลูกบัว" มาจนตลอดพระชนม์ชีพ ต่อมาเด็กชายบัวได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "ศจิเสวี"[46] ซึ่งมีความหมายว่า เป็นข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี

เมื่อสิ้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ก็ประทับอยู่อย่างเงียบ ๆ กับพระญาติในสกุลสุจริตกุล ไม่ได้ทรงออกงานอย่างเป็นทางการมากนัก แต่ยังคงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อ ๆ มาโดยตลอด เช่น เมื่อประชวรพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการรักษาพยาบาล และพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในโอกาสฉลองพระชันษา[36]

นอกจากนี้พระองค์ยังคงมีสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อพระองค์ยังประทับอยู่ภายในสวนดุสิต พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มักจะโปรดให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ไปทรงเยี่ยมสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีอยู่เสมอ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงออกพระนามสมเด็จอินทร์ว่า "แม่อินทร์"[47] ครั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และพระชนนี เสด็จไปประทับที่อังกฤษ ก็ไม่ได้ทรงติดต่อกันอีกจนกระทั่งนิวัตประเทศไทยแล้วใน พ.ศ. 2502[48] สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จะโปรดให้ผู้แทนพระองค์เชิญของขวัญมาพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีในวันคล้ายวันประสูติเป็นประจำทุกปี และสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ คือให้ผู้แทนพระองค์ เชิญของขวัญไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ ที่วังรื่นฤดี แต่ก็ไม่ได้เสด็จไปมาหาสู่กันด้วยพระองค์เอง[49]

ในแต่ละวัน สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจะทรงติดตามข่าวสาร ทอดพระเนตรโทรทัศน์ ทรงจดบันทึกรายวัน ทรงปฏิบัติธรรม และทรงบาตรเป็นประจำ ในบางโอกาสจะเสด็จประพาสต่างจังหวัดกับพระญาติ เสด็จงานในหมู่ญาติ อย่างงานศพ งานทำบุญ[50] และในบ้านภาษีเจริญสมัยนั้นก็มีผู้คนมากมาย พระองค์ก็ไม่ทรงเงียบเหงานัก เวลาเสด็จฯกับพระญาติก็ทรงประทับรวมกัน อีกทั้งยังทรงไม่เคร่งครัดเรื่องราชาศัพท์กับพระญาติ[51] งานอดิเรกอื่น ๆ ที่โปรด ก็คือปลูกต้นไม้ และทรงเลี้ยงสุนัข เพราะทรงโปรดที่สุนัขพวกนี้แสนรู้ เฝ้าบ้านได้ดี[50]

พระกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการปกครองวชิรพยาบาลเมื่อพ.ศ. 2566 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ดำรงตำแหน่งสภานายิกาของวชิรพยาบาล[52][53] ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการของวชิรพยาบาลเป็นอย่างดี[54] ทั้งยังทรงพระราชทานเงินบำรุงวชิรพยาบาลในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา[55]

ทรงประทานทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในโรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบูรณะ ทรงเริ่มพระราชทานเงินทุน 3,000 บาทแก่โรงเรียนราชินีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2464 แล้วพระราชทานเนื่องในวันประสูติเรื่อยมา[56]จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2474 โรงเรียนราชินีเริ่มใช้เป็นทุนของ ปีการศึกษา 2474 นับแต่บัดนั้น[57] นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา บางครั้งทรงสนับสนุนให้ศึกษาต่อเนื่องยังต่างประเทศ ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการศึกษาเนื่องจากทุนที่ได้รับประทานดังกล่าวล้วนเป็นข้าราชการ นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติทั้งสิ้น ทั้งยังทรงเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ และพระราชทานหนังสือแก่หอพระสมุดวชิรญาณเก็บรักษาไว้ด้วย[58]

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีก็ยังโปรดกีฬา พระองค์ทรงก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงทีมแรกของประเทศไทย และทรงฝึกนักกีฬาหญิงส่งไปแข่งขันต่างประเทศ เช่น นางสาวสงวน สุจริตกุล นักกีฬาแบดมินตันระดับชาติ[59] เรียกได้ว่าทรงบุกเบิกการกีฬาสำหรับสตรี สำหรับการฝึกนักกีฬาของพระองค์นั้น ทรงควบคุมด้วยพระองค์เอง เช่น นางสาวสงวนกลับจากโรงเรียน ก็จะต้องวิ่งให้ครบตามจำนวนรอบที่กำหนด โดยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจะประทับทอดพระเนตรด้วย นอกจากนี้ยังโปรดให้ข้าหลวงหัดกีฬาหลายประเภท เช่น ขี่ม้า จักรยาน และฟุตบอล

เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455[60] และมีการพระราชทานนามสกุลให้แก่หลายครอบครัว สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเมื่อครั้งดำรงพระยศ พระบรมราชินี ทรงได้พระราชทานนามสกุลไว้ถึง 9 นามสกุล[61][62][63] คือ สาลิผลิน, คุณสาระ, จุฑาภักติ, หิรัญยะวสิต, จินดาวระ, สีลาสิริ, นาถะภักติ, สุทธภักติ และเทวินทรภักติ

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีพระราชทานที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพระตำหนักที่หมู่บ้านท่ายาง ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน ให้แก่ราชการ มีพระเสาวนีย์ให้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน หรือสุขศาลาก็ได้ แต่ขณะนั้นทางการยังมิได้ดำเนินการ จนกระทั่งพ.ศ. 2482 ทางอำเภอกำแพงแสนจึงทำหนังสือกราบทูลขอพระราชทานที่ดิน 21 ไร่และพระตำหนักเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาล ซึ่งก็ทรงพระกรุณาพระราชทาน ปัจจุบันคือโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย[64] พร้อมยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษา

พระอนุสรณ์

พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย ที่บ้านยาง ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ชาวอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สร้างขึ้นในพ.ศ. 2541 โดยพสกนิกรชาวอำเภอกำแพงแสน เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่พระองค์ได้ประทานที่ดิน เพื่อสร้างเป็นโรงเรียน และสถานที่ราชการอื่น ๆ[65][66]

องค์พระอนุสาวรีย์เป็นพระรูปหล่อของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระอิริยาบถทรงยืน ทรงฉลองพระองค์เสือป่าราชนาวีแขนยาวและพระกระโปรง พระหัตถ์ซ้ายทรงดาบ พระบาทเหลื่อมกันเล็กน้อย

ในทุก ๆ ปี หน่วยงานราชการ และชาวอำเภอกำแพงแสนจะจัดพิธีรำลึกในวันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาซึ่งตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายน โดยจะมีการวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีพระเกียรติคุณ[67] ณ บริเวณลานหน้าพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา[68]

วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

วันสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาตรงกับวันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกปี[69] เป็นวันที่สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีขณะมีพระชันษา 73 ปี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นวันที่ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี โดยในวันก็จะจัดพิธีสักการะ และถวายพวงมาลา ณ พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ที่โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

มูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จดทะเทียนจัดตั้งครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2544[70] มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ถนนมาลัยแมน ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อช่วยเหลือ สงเคราะห์ และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ด้อยโอกาสในอำเภอกำแพงแสน

โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย

โรงเรียนอินทรศักดิ์ศึกษาลัย (บ้านยาง) ตั้งอยู่เลขที่ 220 หมู่ 1 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม[64] สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งพระราชทานที่ดินและพระตำหนักราชฤดีให้เป็นสถานศึกษาแก่บุตรธิดา ใช้เป็นสถานศึกษาตลอดมา[71]

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

เป็นเหรียญที่ระลึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งรูปแบบเหรียญมีสองแบบคือ

แบบที่หนึ่ง ตัวเหรียญมีลักษณะขอบเหลี่ยมเป็นรูปเสมา ทำจากเงิน ด้านหน้าเป็นรูปตราประจำพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีในรัชกาลที่ 6 รูปทรงเสมา ติดห่วง ตรงกลางรูปนกยูงบนพระอภิไธยย่อ "อ" ด้านหลังประดับพระรูปของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ใต้พระรูปมีอักษรลายพระอภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ล่างพระอภิไธยเป็นวันที่จัดสร้างคือวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

แบบที่สอง เป็นเหรียญที่มีลักษณะคล้ายกัน ตัวเหรียญทำจากทองคำลงยาหลากหลายสี มีตราประจำพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6 รูปทรงเสมาหน้าเดียว ติดห่วง ตรงกลางรูปนกยูงบน ปรมาภิไทย่อ "อ" มีสีสันสวยงาม เหรียญแบบที่สองมีด้านเดียว

พระเกียรติยศ

พระอิสริยยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระวรราชชายา
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าข้า/ เพคะ
  • ประไพ สุจริตกุล (10 มิถุนายน พ.ศ. 2445 - 12 มกราคม พ.ศ. 2465)
  • พระอินทราณี (12 มกราคม พ.ศ. 2465 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2465)[9]
  • พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี (10 มิถุนายน พ.ศ. 2465 - 1 มกราคม พ.ศ. 2466)[13]
  • สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี (1 มกราคม พ.ศ. 2466 - 15 กันยายน พ.ศ. 2468)[16]
  • สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (15 กันยายน พ.ศ. 2468 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518)[28]

พระยศทางทหาร

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ทรงฉลองพระองค์ชุดทหาร
  • 13 มกราคม พ.ศ. 2465 พันโทหญิง - ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ 2 กรมทหารบกราบที่ 11 รักษาพระองค์[17]

พระยศทางเสือป่า

  • 23 มกราคม พ.ศ. 2464 นายนาวาตรี - สังกัดกองพันหลวงราชนาวีเสือป่า[72]
  • 4 มกราคม พ.ศ. 2465 นายกองเอก - สังกัดกรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์[73]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

ลำดับพงศาวลี

อ้างอิง

หนังสือ

  • พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาถัดไป
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระบรมราชินีแห่งราชอาณาจักรสยาม
(1 มกราคม พ.ศ. 2465 - 15 กันยายน พ.ศ. 2468)
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง