สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ สมเด็จพระประสาท หรือ สมเด็จพระประสาสน์[1]: 247  นามเดิม ช่วง (23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 – 19 มกราคม พ.ศ. 2426) เป็นขุนนางตระกูลบุนนาค ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ห้ว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมุหพระกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2398 – พ.ศ. 2412
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
ถัดไปเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2412
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเริ่มตำแหน่งใหม่
ถัดไปเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ช่วง

23 ธันวาคม พ.ศ. 2351
พระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต19 มกราคม พ.ศ. 2426 (74 ปี)
ราชบุรี ประเทศสยาม
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสท่านผู้หญิงกลิ่น
ท่านผู้หญิงพัน
ท่านหยาด
บุพการี
สกุลบุนนาค
บรรดาศักดิ์สมเด็จเจ้าพระยา

ประวัติ

ชีวิตส่วนตัว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีนามเดิมว่า ช่วง เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 9 คน แต่มีชีวิตจนเติบใหญ่มาพร้อมกับท่านเพียง 4 .. ได้แก่ เจ้าคุณหญิงแข (เจ้าคุณตำหนักใหม่) เจ้าคุณหญิงปุก (เจ้าคุณกลาง) เจ้าคุณหรุ่น (เจ้าคุณน้อย) และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)[2] การศึกษาในวัยเยาว์ของท่านนั้น คงเล่าเรียนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เนื่องจากการเล่าเรียนของผู้ดีสมัยก่อนนั้นมักจะเรียนกันที่วัด เมื่อเติบใหญ่จึงเล่าเรียนวิชาที่บ้านจากบุคคลในตระกูลของท่านเอง โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ บิดาของท่านนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศและได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก ดังนั้น ท่านจึงได้ศึกษาราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศและการปกครองมาจากบิดาของท่านเอง[3]

ท่านสมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรธิดา 4 คน เป็นบุตรชาย 1 คน ได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบิดาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์และเจ้าจอมมารดาโหมด บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนธิดาอีก 3 คน ได้แก่ คุณหญิงกลาง ภรรยาพระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) คุณหญิงเล็ก และคุณหญิงปิ๋ว[4] นอกจากนี้ ท่านยังสมรสกับ ท่านผู้หญิงพรรณและท่านผู้หญิงหยาด (บุตรีพระยาวิชยาธิบดี เจ้าเมืองจันทบุรี ต่อมาเป็นพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง บุรานนท์) ต้นสกุลบุรานนท์) และ ท่านปราง บุตรี พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน[5][6]

การรับราชการ

เรือกำปั่นไฟสมัยใหม่ควบคุมการต่อโดยหมื่นไวยวรนาถ

บิดาได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชื่อว่า มหาดเล็กช่วง โดยช่วยบิดาทำงานด้านการคลังและกรมท่า รวมทั้งติดต่อกับต่างประเทศด้วย[7]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาดเล็กช่วงได้เลื่อนเป็น นายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร ซึ่งท่านเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วัยเยาว์[8][9] และได้เลื่อนเป็น หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก เรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์ ตามลำดับ หลวงนายสิทธิ์ได้ชื่อว่าเป็นพวก “หัวใหม่” ในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการของชาวตะวันตก เนื่องจากจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่โลกตะวันออกและประชิดเขตแดนสยามมากขึ้น หากไม่ปรับตัวให้รู้เท่าทันฝรั่ง สยามอาจถูกยึดครองเป็นอาณานิคมได้

ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีผู้เล็งเห็นการณ์ไกลในแนวเดียวกัน ได้แก่ วชิรญาณภิกขุ (พระนามขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระยศขณะนั้น) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และท่าน ซึ่งท่านสนใจที่จะศึกษาในวิชาการต่อเรือกำปั่นเป็นพิเศษและได้ศึกษาภาษาอังกฤษพอประมาณ[3] ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ หลวงนายสิทธิ์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในปี พ.ศ. 2384 จึงมีการเพิ่มสร้อยนามของท่านเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2393 ในปลายรัชกาลที่ 3 นั้น ท่านได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก[7]

หลังจากบิดาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม และเนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหมอยู่ตามตำแหน่ง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้าง "ตราศรพระขรรค์" สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมา เมื่อท่านดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว ท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทั้งตราคชสีห์และตราศรพระขรรค์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม[10] ในการเข้ามารับตำแหน่งนี้ทำให้ท่านมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ตามลำดับ อำนาจของท่านมีมากจนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า[10]

ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือนเสนาธิการ ช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์[11] แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 หลังจากท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า[8]

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร

โดยมีอำนาจบรมอิสริยยศบรรดาศักดิ์ 30,000 ไร่ ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี 3 เท่า ดำรงตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินในกรุงนอกกรุงทั่วพระราชอาณาจักร และสำเร็จสรรพอาญาสิทธิประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฏโทษมหันตโทษได้[12] และนับเป็นบุคคลที่ดำรงบรรดาศักดิ์ ระดับ "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นองค์สุดท้ายของประวัติศาสตร์สยาม[13]

บั้นปลายชีวิต

หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านก็ชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นเวลา 9 ปี ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 ท่านถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี รวมสิริอายุได้ 74 ปี 27 วัน[4] โดยเหตุการณ์ในวันถึงพิราลัยของท่านนั้น มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[14]

“วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 เวลาย่ำรุ่ง ท้าวราชกิจวรภัตร เข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สมเด็จเจ้าพระยาเมื่อป่วยหนักออกไปอยู่ที่ราชบุรีแล้ว ครั้งเมื่อจะไปฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ที่มะขามเตี้ยไปถึงกลอนโต ขึ้นไปเก็บมะขามป้อมบนบก หามไปกลางแดดเวลาเที่ยง ไม่ให้ไปก็ไม่ฟัง ครั้งไปถึงต้นมะขามป้อมก็ไปนอนหลับตาซึมอยู่ กลับมาถึงเรือตัวร้อนอาการมาก จึงปรึกษาพร้อมกัน เอากลับมาเรือนราชบุรี มานอนท่าพระแท่นดงรังครึ่งคืน แล้วล่องลงมาถึงเมืองราชบุรี เวลาบ่ายโมงเศษหามขึ้นบก พอถึงต้นมะขามหน้าบ้านก็เป็นลมคอพับ จึงหามเข้าไปแก้ไขกันอยู่ในเรือน เวลานั้นลมก็จัดเอาลับแลเข้าบังไว้ ครั้งเจ้าพระยาสุรวงศ์และญาติ ซึ่งตามมาภายหลังมาถึง จึงพร้อมกันพาท่านลงเรือมาเวลาบ่าย 5 โมงเศษวานนี้ เรือไฟจูงมาพ้นคลองดำเนินสะดวกมาแล้ว จะเข้าคลองภาษีเจริญติดน้ำ ๆ แห้ง จึงไปรอน้ำอยู่ปากคลองกระทุ่มแบน ถึงปากคลองเวลา 5 ทุ่มเศษ ชักเยื้องไหล่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่นแบนนั้น ครั้งน้ำขึ้นจึงรีบเอาศพเข้ามาถึงจวนเวลากรู่ ๆ"

ภายหลังการถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรดน้ำศพพระราชทาน พร้อมทั้งพระราชทานโกศกุดั่นน้อยประกอบลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไว้ทุกข์เป็นระยะเวลา 7 วัน นอกจากนี้ ในวันชักศพเข้าเมรุ ณ วัดบุปผารามวรวิหารนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ยศขณะนั้น) จัดทหารจำนวน 100 คนไปแห่ศพ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนโกศประกอบลองในเป็นโกศกุดั่นใหญ่เพื่อเป็นเกียรติยศ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ[15]

บทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย ในเรื่องบทบาท การเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีและรักษาความยุติธรรมอันแน่วแน่ จนเซอร์จอห์น เบาริ่งบันทึกไว้ว่า "เป็นคนมีความรู้สุขุมดีกว่าผู้ใดที่พวกเราได้พบ มีกิริยามรรยาทละมุนละม่อมเป็นผู้ดี พูดจาก็เหมาะสม พูดอย่างง่าย ๆ ถ้อยคำของเขาสมกับเป็นผู้ที่รักชาติอย่างยิ่ง"[16] กับฐานะผู้สำเร็จราชการและพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์ ก็เป็นของธรรมดาที่โต้แย้งกันบ้าง แต่ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม 18 ปีหลังจากที่มีพระราชอำนาจเต็มที่ รัชกาลที่ 5 จำต้องทรงรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับผู้สำเร็จราชการนั้น บางเวลาก็ลำบากอยู่บ้าง[17]

สำหรับบทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

บทบาทก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การให้ความอุปถัมภ์ชาวต่างประเทศ

แถวหน้า : กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, Eulenbourg ราชทูตปรัสเซีย
แถวหลัง : เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธุ์), ไม่ทราบนาม

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคน “หัวก้าวหน้า” รวมทั้ง ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศและรับความเจริญมาจากชาติตะวันตก[18] ท่านจึงมองเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ วิทยาการ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์ การพิมพ์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยของหมอสอนศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะมิชชันนารีชาวอเมริกันนั้นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่คนเหล่านี้มักถูกรังเกียจจากเจ้านายและขุนนางหัวเก่า จึงมักได้รับความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และการทำงาน ท่านได้ให้ความอุปการะอำนวยความสะดวกแก่หมอสอนศาสนาเหล่านี้ และคอยติดต่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งท่านหมั่นเพียรเรียนรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ทำให้ท่านสามารถต่อ "เรือกำปั่น" ได้เอง และนับเป็นนายช่างสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้[7]

การติดต่อกับต่างประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทสำคัญในการติดต่อและต้อนรับชาวต่างประเทศและคณะทูต ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับคณะทูตนำโดยเซอร์จอห์น เบาริง ที่ปากน้ำ นำคณะทูตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2398 และร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยาม 5 คน ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และท่าน[19] เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าที่นาย “หันแตร บารนี” หรือเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สนธิสัญญาเบอร์นี แม้การเจรจาจะมีความยุ่งยากติดขัดในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดอัตราภาษี ด้วยการประสานงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตะวันตก การเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกสองท่านในคณะผู้แทนฯ การเจรจาจึงสำเร็จลงด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย มีการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ที่เรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง หรือเรียกกันย่อ ๆ ในสมัยนั้นว่า “สัญญาเบาริง”[20]

การทหาร

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทำงานด้านการทหารมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระราชดำริให้จัดกรมทหารแบบยุโรปขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านควบคุมบังคับบัญชาจัดตั้งขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” โดยมีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์และมีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม[8] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับมอบหมายให้จัดเลกหมู่ทหารฝึกหัดยุทธวิธีแบบตะวันตกเพิ่มขึ้น

เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้ช่วยบิดาด้านทหารเรือ โดยที่เป็นผู้มีความสนใจเรียนรู้ในวิทยาการใหม่ๆ กับชาวตะวันตก จึงเรียนวิธีต่อกำปั่นแบบใหม่และเป็นนายช่างสยามที่สามารถต่อเรือฝรั่งแบบฝรั่งสำเร็จเป็นคนแรก ท่านได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" ต่อมา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือพาหนะของหลวงจำนวนหลายลำ เช่น เรือระบิลบัวแก้ว เรือแคลิโดเนีย[7] ท่านได้รับการยกย่องจากกองทัพเรือเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงท่านแรกระหว่าง พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2412 พร้อมๆ กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า (พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2408) [21]

การอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์

ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติต่างถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตลง ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้โปรดแต่งตั้งผู้ใดที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นแทน ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษา 60 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ยังทรงพระเยาว์ แต่พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า[22] จากการที่บ้านเมืองสูญเสียบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลานี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงมีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชการแผ่นดิน เพราะราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ท่านคนเดียว[23]

แม้จะยังไม่มีธรรมเนียมในการตั้งรัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ปฏิบัติราชการอย่างกวดขันและใกล้ชิด ให้อยู่ปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในกิจการบ้านเมือง ทรงมักมอบหมายให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์และข้อหารือราชการไปยังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า เพื่อเป็นการฝึกราชการและเพื่อให้มีความสนิทสนมกันและเพื่อได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นต่อไปในภายหน้า

พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งปวงทราบดีว่า หากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตในขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์นั้น ผู้ที่จะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คงไม่พ้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งมีอำนาจมากเกินไปอาจเป็นอันตราย จึงกราบทูลว่าไม่ควรไว้วางพระราชหฤทัย แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปักใจเชื่อ และปฏิบัติพระองค์เป็นปกติกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เสมอมา เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง เนื่องจากท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ อยู่[23]

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรและมีพระอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ประชวรด้วยเช่นกัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงเรียกประชุมเสนาบดีทั้งปวงให้เตรียมพร้อมไม่อยู่ในความประมาท สั่งการให้ตั้งกองทหารล้อมพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หรือกรมขุนพินิตประชานาถไว้ด้วย

เช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยเข้าเฝ้า และมีพระราชดำรัสว่า "ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด" พร้อมทั้งตรัสขอให้ผู้ใหญ่ทั้งสามท่านได้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองต่อไป ให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เอาธุระรับฎีกาของราษฎรผู้มีทุกข์ร้อนดังที่พระองค์เคยปฏิบัติมา โดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์[24][25][26]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5" และให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็ม โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ รวมทั้งเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถึงแม้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จะตรัสว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุม ที่จะเลือกพระมหาอุปราช" อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้แต่งตั้งให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[24][25][26]

บทบาทเมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การจัดระเบียบราชการและพระราชานุกิจ

การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วจึงเสด็จออกท้องพระโรงแล้วมีรับสั่งเอง แต่การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้อำนาจเด็จขาดทั้งหมดอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงต้องคิดวิธีว่าราชการบ้านเมืองในหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติสืบต่อไป ดังนั้น ในการจัดระเบียบราชการครั้งนี้จึงอาศัยแนวคิด 2 ประการ คือ ประการแรก การบังคับบัญชาข้าราชการบ้านเมืองนั้น ไม่ได้เอาอำนาจไว้แต่ในตัวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น แต่เป็นไปด้วยการปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกันของข้าราชการผู้ชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารซึ่งจะมีการประชุมกัน ณ หอวรสภาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ประการที่สอง คือ การฝึกหัดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถว่าราชการบ้านเมืองได้เอง[27][28]

ในการจัดพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโสสูงสุด) และกรมพระสุดารัตนราชประยูร (ผู้ดูแลอภิบาลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มาแต่ทรงพระเยาว์) ร่วมกันจัดระเบียบถวายด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การออกว่าราชการ การเสด็จออกรับฎีกา การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพระจริยาวัตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะปกครองแผ่นดิน ในการนี้หากมีปัญหาใด ๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสิน

การก่อสร้างและการบำรุงการคมนาคม

คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นแม่กองในการขุด

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างประภาคารที่มีพระราชดำริมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวและควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวท่านเอง ประภาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 แล้วเสร็จในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 และท่านได้ยกประภาคารแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประภาคารนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษที่ตั้งโดยพวกฝรั่งว่า "รีเยนท์ไลท์เฮาส์" (Regent Lighthouse) ซึ่งมีความหมายว่า ประภาคารของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[29] และมีชื่อภาษาสยามว่า "ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา" หรือคนทั่วไปเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” ประภาคารแห่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการเดินเรือ แต่ได้ใช้มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 จึงได้เลิกใช้ เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมมาก[30]

นอกจากนี้ ท่านก็ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นแม่กองในการก่อสร้างและบูรณะสถานที่ต่าง ๆ เช่น พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี[31] พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี[32] พระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง[11] รวมทั้ง เป็นแม่กองในการขุดคลองและก่อสร้างถนนต่าง ๆ เพื่อการคมนาคม ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก[33] ถนนเจริญกรุง ถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4) และถนนสีลม[34] เป็นต้น

กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี

ได้มีการออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้การพิจารณาคดีในศาลรวดเร็วขึ้น เช่น กฎหมายลงทะเบียนที่ดิน การขายฝิ่น ฯลฯ โดยร่วมกับคณะเสนาบดีร่างถวายทรงทราบเพื่อลงพระปรมาภิไธย ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีได้ริเริ่มประเพณีทำบุญวันเกิดเป็นครั้งแรกเมื่ออายุครบ 50 ปี คงเริ่มมาจากคำแนะนำของชาวจีน ต่อมา ประเพณีนี้ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง[35]

การบำรุงวรรณกรรม การละครและดนตรี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจและมีบทบาทในการทะนุบำรุงและเผยแพร่วรรณกรรม โดยเฉพาะงานวรรณกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีคติสอนใจมากโดยเฉพาะเรื่องการปกครอง เช่น สามก๊ก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มักจัดให้มีนักปราชญ์จีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อแปลพงศาวดารจีนออกเป็นภาษาสยาม โดยงานที่ท่านจัดให้มีการแปลมีทั้งหมด 19 เรื่อง เช่น ไซจิ๋น ตั้งจิ๋น น่ำซ้อง ซ้องกั๋ง หนำอิดซือ และเม่งฮวดเชงฌ้อ[36]

นอกจากวรรณกรรมจีนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรมสยาม เช่น พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเรื่อง อิเหนา และเรื่องอื่น ๆ เผยแพร่ให้สามัญชนทั่วไปได้อ่านกันมากขึ้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละครและฟังดนตรี ท่านจึงได้ส่งเสริมโดยการหาครูละครและดนตรีมาฝึกคณะละครของท่านจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมัยนั้น ท่านได้ให้พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก แต่งเพลงขึ้นใหม่ ซึ่งปรับปรุงมาจากเพลงเต่ากินผักบุ้ง พร้อมทั้งสอดแทรกทำนองมอญเข้าไปในเพลง ทำให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น ท่านจึงโปรดปรานเพลงนี้มาก และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า "พระอาทิตย์ชิงดวง” ตามสร้อยราชทินนามและตราสุริมณฑลซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งของท่าน[36]

การรักษาความสงบภายในประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ใช้ความสามารถและความเด็ดขาดระงับและตัดไฟต้นลมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มักวุ่นวายขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดินซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อคราวประมาณ พ.ศ. 2411 (ช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 4 ไปสู่รัชกาลที่ 5) ที่นายเฮนรี อะลาบัสเตอร์ ผู้รักษาการณ์กงสุลอังกฤษกล่าวว่า สยามไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาถึงขนาดลดธงชาติอังกฤษลงครึ่งเสาเป็นการแสดงว่าได้ตัดพระราชไมตรีกับสยาม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ความเฉียบแหลมและเด็ดขาดระงับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วไม่ลุกลามทำให้ต่างชาติใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อเข้าแทรกแซง[27][28]

เกียรติยศ

ธรรมเนียมยศของ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ตราประจำตัว
การเรียนใต้เท้ากรุณาเจ้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ

บรรดาศักดิ์

ตราผู้สำเร็จราชการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเริ่มต้นจากการเป็นมหาดเล็ก และท่านก็ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เรื่อยมา จนได้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนสุดท้ายอีกด้วย โดยท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลำดับ ดังต่อไปนี้[2]

  • พ.ศ. 2369 อายุได้ 18 ปี เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร
  • พ.ศ. 2376 อายุได้ 25 ปี เป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์
  • พ.ศ. 2384 อายุได้ 33 ปี เป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
  • พ.ศ. 2385 อายุได้ 34 ปี รัชกาลที่ 3 ทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า “จมื่นไวยวรนาถ ภักดีศรีสุริยวงศ์”
  • พ.ศ. 2393 อายุได้ 42 ปี เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ วางจางมหาดเล็ก
  • พ.ศ. 2394 อายุได้ 43 ปี เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันพงศพิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหพระกลาโหม
  • พ.ศ. 2398 อายุได้ 47 ปี เป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง
  • พ.ศ. 2412 อายุได้ 61 ปี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พ.ศ. 2416 อายุได้ 65 ปี เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

เครื่องยศ

เมื่อท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องยศให้ท่านเทียบเท่าเจ้าต่างกรมชั้นกรมหลวง ซึ่งประกอบด้วย[36]

นอกจากเครื่องยศที่ท่านได้รับพระราชทานแล้ว คำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น ยังเรียกว่า "พระประศาสน์" ดังนั้น ท่านจึงมีสมญานามที่ใช้เรียกแทนตัวว่า "พระประศาสน์" หรือ "สมเด็จพระประศาสน์" ด้วย[37]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้[38][4]

ดวงตราประจำตัว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังมีตราประจำตัว ได้แก่ ตราสุริยมณฑล ซึ่งมีลักษณะเป็นตราเทพบุตรชักรถ ภายหลังท่านได้นำตรานี้มาดัดแปลงเป็นรูปพระอาทิตย์แบบฝรั่ง เลียนแบบตราพระอาทิตย์จากพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ตราสุริยมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั่วพระราชอาณาจักร (คู่กับตราจันทรมณฑล ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในพระนคร (และกรมพระคลังสินค้า) ซึ่งเป็นน้องชายของท่าน) แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราพระคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม (กรมกลาโหม) และตราบัวแก้วสำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง (กรมท่า) ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานตราสุริยมณฑลให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดังนั้น ท่านจึงใช้ตราสุริยมณฑลเป็นตราประจำตัวตั้งแต่นั้นมา โดยท่านจะใช้ตรานี้ประทับกำกับไว้ที่หนังสือราชการ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสถานที่ต่างๆ ที่ท่านสร้างไว้[36]

เกียรติคุณและอนุสรณ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้น ณ จวนสมเด็จเจ้าพระยาขึ้นใหม่ เรียกว่า "โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 โดยมีตราประจำโรงเรียน คือ รูปเสมาสุริยมณฑล เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และสัญลักษณ์ดังกล่าวยังเป็นรากฐานสำคัญของสถาบันมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" ขึ้นอีกแผนก ภายหลังจึงยกระดับเป็น วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบัน[39]

ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียกตัวเองว่า ลูกสุริยะ สืบเนื่องมาจากการที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับพระราชทานตราสุริยมณฑลเป็นตราประจำตัว โดยทางสถาบันได้จัดพิธีรำลึกถึงท่านในวันที่ 19 มกราคม ของทุกปี โดยเรียกว่า วันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์[40] นอกจากนี้ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังมีอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งอยู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2523 และบริเวณใกล้เคียงยังมีศาลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [41]

แสตมป์

เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มูลนิธิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก 200 ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ "มหาบุรุษรัตโนดมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" ออกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อีกทั้งในงานนี้ยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก เพื่อเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [42]

ครอบครัว

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้มีบุตร-ธิดา จำนวน 65 คน ดังนี้

สาแหรก

อ้างอิง

หนังสือ

  • ปิยนาถ บุนนาค, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 26 พ.ศ. 2549
  • จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, เจ้าชีวิต : สยามก่อนยุคประชาธิปไตย.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด (ISBN 9748358844)

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ถัดไป
ไม่มี ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง
(พ.ศ. 2394 — พ.ศ. 2412)
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์
(วร บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
(ดิศ บุนนาค)
สมุหพระกลาโหม
(พ.ศ. 2398 — พ.ศ. 2412)
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์
(วร บุนนาค)
สถาปนาใหม่
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(พ.ศ. 2411 — พ.ศ. 2416)
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง