เรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์

เรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์ (เยอรมัน: Bielefeldverschwörung หรือ Bielefeld-Verschwörung, ออกเสียง: [ˈbiːləfɛltfɛɐ̯ˌʃvøːʁʊŋ]) เป็นทฤษฎีสมคบคิดเชิงเสียดสี ที่บอกว่าเมืองบีเลอเฟ็ลท์ในประเทศเยอรมนีไม่มีอยู่จริง[1] แต่เป็นภาพลวงตาและโฆษณาชวนเชื่อที่สร้างขึ้นโดยอำนาจหลายกลุ่ม เรื่องสมคบคิดนี้เริ่มต้นครั้งแรกในยูสเน็ตเยอรมันในปี 1994 และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดของเมือง[2] และอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังเคยพูดถึงเรื่องสมคบคิดนี้[3]

หินที่ระลึกถึงเรื่องสมคบคิดบีเลอเฟ็ลท์

ภาพรวม

ปราสาทชปาเรินแบร์ค โบราณสถานหนึ่งในเมืองบีเลอเฟ็ลท์

เรื่องสมคบคิดนี้ระบุว่าเมืองบีเลอเฟ็ลท์ (ประชากร 341,755 คน ข้อมูลเมื่อ ธันวาคม 2021)[4] ซึ่งอยู่ในรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงเรื่องชวนเชื่อที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มคนหรือคนที่เรียกว่า ซี (SIE; "พวกมัน/พวกเขา" ในภาษาเยอรมัน เขียนเป็นอักษรพิมพ์ใหญ่ทุกตัว) ซึ่งสร้างเรื่องนี้ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสร้างภาพลวงตาว่าเมืองนี้มีอยู่

ทฤษฎีนี้เสนอคำถามไว้สามข้อ:

  • คุณรู้จักใครสักคนที่มาจากบีเลอเฟ็ลท์ไหม?
  • คุณเคยไปบีเลอเฟ็ลท์ไหม?
  • คุณรู้จักใครสักคนที่เคยไปบีเลอเฟ็ลท์ไหม?

คนส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ไม่ สำหรับสามคำถามนี้ ใครก็ตามที่อ้างว่ารู้จักบีเลอเฟ็ลท์จะถูกเถียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิด หรือไม่ก็ถูกล้างสมอง

ที่มาและสาเหตุของทฤษฎีสมคบคิดนี้เริ่มต่อเติมเข้ามาจากทฤษฎีเดิม มีผู้ตั้งข้อสังเกตขำ ๆ ว่า "ซี" คือซีไอเอ, มอสซาด หรือเอเลียนที่ใช้มหาวิทยาลัยบีเลอเฟ็ลท์ปลอมมาปกปิดยานอวกาศของตน[5][6]

ประวัติศาสตร์

ทฤษฎีสมคบคิดนี้เปิดเผยสู่สาธารณะครั้งแรกในโพสต์บนเว็บกลุ่มข่าว de.talk.bizarre ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1994 โดยอัคคิม เฮ็ลท์ (Achim Held) นักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยคีล[7] หลังจากที่เพื่อนคนหนึ่งของเฮ็ลท์เจอกับคนจากบีเลอเฟ็ลท์คนหนึ่งในงานเลี้ยงนักศึกษาเมื่อปี 1993 เขากล่าวว่า "เป็นไปไม่ได้น่า" (Das gibt's doch gar nicht) อย่างไรก็ตาม คำแปลตรงตัวของประโยคนี้คือ "สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง" จึงเป็นการกล่าวกลาย ๆ (และออกกำกวม) ว่าไม่ใช่แค่เขาไม่เชื่อบุคคลนั้น แต่ยังรวมถึงว่าเมืองนี้ไม่มีอยู่จริงด้วย เรื่องนี้แพร่กระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตของเยอรมนี และยังคงเป็นที่พูดถึงแม้ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี

ในบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เนื่องในโอกาสสิบปีของโพสต์ในกลุ่มข่าว เฮ็ลท์ระบุว่าเรื่องนี้มีที่มาจากโพสต์ในยูสเน็ตของเขาแน่นอน โพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นไปเพื่อความตลกล้วน ๆ และเรื่องเล่านี้เขาคิดขึ้นระหว่างอยู่ที่งานเลี้ยงนักศึกษาและกำลังคุยกับนักอ่านนิตยสารนิวเอจ และจากการเดินทางโดยรถยนต์ผ่านเมืองบีเลอเฟ็ลท์ตอนที่มีการปิดทางลงทางด่วนไปที่ออกไปเมืองลีเบอฟีลท์[8][9]

แอลัน เลสซอฟฟ์ (Alan Lessoff) นักประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่าความน่าสนใจของทฤษฎีว่าบีเลอเฟ็ลท์ไม่มีอยู่จริงเป็นผลมาจากว่าบีเลอเฟ็ลท์ไม่มีจุดเด่น ไม่มีสถาบันสำคัญ หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น ไม่ได้ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายสำคัญ เขาระบุต่อว่า "บีเลอเฟ็ลท์คือนิยามของความไม่เข้าพวก" (Bielefeld defines nondescript)[10][11]

การตอบรับ

ในปี 1999 หรือห้าปีหลังเรื่องนี้แพร่กระจาย สภานครบีเลอเฟ็ลท์ได้ปล่อยประกาศสู่สาธารณะ หัวเรื่องว่า "บีเลอเฟ็ลท์มีอยู่จริง!" (Bielefeld gibt es doch!) ในวันเมษาหน้าโง่ งานฉลองครบรอบ 800 ปีของเมืองในปี 2014 จัดขึ้นโดยใช้คำขวัญว่า "เป็นไปไม่ได้น่า" (Das gibt's doch gar nicht)[2]

ในเดือนพฤศจิกายน 2012 อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เคยกล่าวเป็นนัยถึงทฤษฎีสมคบคิดในที่สาธารณะขณะเล่าถึงการประชุมครั้งหนึ่งที่เธอเคยเข้าร่วมที่ศาลาว่าการเมืองบีเลอเฟ็ลท์ เธอระบุว่า "...ก็ต่อเมื่อเมืองนี้มีอยู่จริงตั้งแต่แรก" (... so es denn existiert) และ "ฉันมีความรู้สึกว่าฉันเคยไปที่นั่น" (Ich hatte den Eindruck, ich war da)[3]

เรื่องคล้ายกัน

ภาพขบขันตามเรื่องสมคบคิดว่า "ฟินแลนด์ไม่มีอยู่จริง"

เรื่องสมคบคิดเชิงเสียดสีคล้าย ๆ กัน มีทั้งเกี่ยวกับรัฐอาครีในประเทศบราซิล,[12] แคว้นโมลีเซในประเทศอิตาลี,[13] รัฐตลัซกาลาในประเทศเม็กซิโก,[14] แคว้นมูร์เซียในประเทศสเปน, เมืองฮัสเซิลต์ในประเทศเบลเยียม,[15] เมืองรังกากัวและเมืองกอมบาร์บาลาในประเทศชิลี, เมืองบาร์รังกาเบร์เมฮาในประเทศโคลอมเบีย,[16] รัฐลาปัมปาในประเทศอาร์เจนตินา,[17] ทะเลสาบบอลอโตนในประเทศฮังการี,[18] เมืองเนสซีโอนาในประเทศอิสราเอล ไปจนถึงทั้งประเทศฟินแลนด์[19] และประเทศออสเตรเลีย[20] ส่วนในสหรัฐมีเรื่องคล้ายกันสำหรับรัฐไวโอมิง[21] และรัฐไอดาโฮ[22] โดยเรื่องของไวโอมิงนี้มีมาจากการ์ตูน การ์ฟีลด์และผองเพื่อน[23][24]

อ้างอิง

บรรณานุกรม

  • Günther Butkus, บ.ก. (2010). Rätselhaftes Bielefeld. Die Verschwörung (ภาษาเยอรมัน). Pendragon. ISBN 978-3-86532-188-6.
  • Thomas Walden (2010). Die Bielefeld-Verschwörung. Der Roman zum Film (ภาษาเยอรมัน). Pendragon. ISBN 978-3-86532-194-7.
  • Thomas Walden (2012). Drachenzeit in Bielefeld: Aufgabe 2 der Bielefeld Verschwörung (ภาษาเยอรมัน). tredition. ISBN 978-3-8472-3859-1.
  • Karl-Heinz von Halle (2013). Gibt es Bielefeld oder gibt es Bielefeld nicht? (ภาษาเยอรมัน). Eichborn-Verlag. ISBN 978-3-8479-0546-2.
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง