โหราศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

โหราศาสตร์เป็นระบบความเชื่อต่าง ๆ ที่ถือว่า ปรากฏการณ์ในท้องฟ้า (คือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์) สัมพันธ์กับเหตุการณ์และบุคลิกภาพในโลกมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ได้ปฏิเสธโหราศาสตร์เพราะว่า ไม่สามารถอธิบายความเป็นไปในจักรวาลได้จริงมีการทดสอบหลักวิชาโหราศาสตร์ตะวันตกตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่สนับสนุนเหตุหรือผลที่กล่าวไว้ในหลักโหราศาสตร์ต่าง ๆ[1]: 424 

เมื่อไรก็ตามที่โหราศาสตร์พยากรณ์เหตุการณ์ที่พิสูจน์ว่าเท็จได้ ข้อทำนายเหล่านั้นล้วนแต่ถูกพิสูจน์ว่าเท็จแล้วทั้งสิ้น[1]: 424 งานทดสอบที่มีชื่อเสียงที่สุดทำโดยนักฟิสิกส์ ดร. ชอน คาร์ลสัน รวมทั้งคณะนักวิทยาศาสตร์และนักโหราศาสตร์ซึ่งสรุปว่า โหราศาสตร์ที่ตรวจสอบวันเวลาการเกิด (โดยแผนภูมิการเกิด) สามารถทำนายบุคลิกภาพหรือเหตุการณ์ในชีวิตไม่ดีกว่าบังเอิญถึงแม้จะมีนักโหราศาสตร์และนักจิตวิทยาคนหนึ่งคือนายมิเชล โกเคลอน ที่อ้างว่าพบหลักฐานทางสถิติที่สนับสนุน "ปรากฏการณ์ดาวอังคาร" (Mars effect) ที่สัมพันธ์ความเก่งของนักกีฬากับเวลาเกิดและโคจรของดาวอังคารแต่ว่า ผลเช่นนี้ไม่มีใครสามารถทำซ้ำได้ในงานศึกษาต่อ ๆ มาผู้ทำงานศึกษาต่อมาบางท่านอ้างว่านายโกเคลอน พยายามเปลี่ยนกฎเกณฑ์รับนักกีฬาของพวกเขาโดยเสนอว่า นักกีฬาเฉพาะบางคนไม่ควรจะรับและก็ยังมีนักวิชาการท่านอื่นอีกที่เสนอว่า กระบวนการแจ้งวันเกิดของผู้ปกครองก่อนคริสต์ทศวรรษ 1950 อาจเป็นเหตุให้เกิดผลตามที่พบ

โหราศาสตร์ยังไม่เคยแสดงประสิทธิภาพในการทดลองที่มีการควบคุม ดังนั้นจึงไม่มีความสมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์ (scientific validity)[1][2]: 85 และจึงถูกพิจารณาว่า เป็นวิทยาศาสตร์เทียม[3][4]: 1350 นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่มีการเสนอกลไกลการทำงานที่ตำแหน่งและโคจรของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ จะมีผลต่อบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งไม่ขัดแย้งกับความรู้ด้านต่าง ๆ ทางชีววิทยาและฟิสิกส์ ที่เข้าใจกันดีแล้ว[5]: 249 [6]

บทนำ

โหรมืออาชีพโดยมากเลี้ยงชีพโดยการทำนายบุคลิกภาพและทำนายอนาคตของลูกค้าโดยใช้หลักโหราศาสตร์[2]: 83 มีการกล่าวถึงบุคคลที่ยังเชื่อในโหราศาสตร์ว่า ยังคงเชื่อต่อไป "แม้ต้านความจริงว่า ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสอบแล้วในเรื่องที่เชื่อ และจริง ๆ แล้วมีหลักฐานตรงกันข้ามที่ชัดเจน"[7]นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้เผยแพร่วิทยาศาสตร์ทางทีวีผู้หนึ่งกล่าวถึงความเชื่อในโหราศาสตร์ว่า "ส่วนหนึ่งของการรู้จักคิด ก็คือต้องรู้ว่า กฎธรรมชาตินั้นจำกัดโลกของเราให้เป็นอย่างไร ถ้าไม่มีความรู้นี้ ถ้าไม่มีสมรรถภาพในการคิดเช่นนี้ คุณจะสามารถตกเป็นเหยื่อของบุคคลที่ต้องการจะเอาเปรียบคุณ"[8]

การคงความเชื่อในโหราศาสตร์แม้ว่าจะไม่น่าเชื่อถือ เป็นตัวแสดงถึงการมีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์น้อยในสังคม[9]

ประวัติความสัมพันธ์กับดาราศาสตร์

รากฐานทางทฤษฎีที่ใช้ในโหราศาสตร์เริ่มขึ้นในสมัยของชาวบาบิโลเนียประมาณ 1000 ปีก่อนพุทธศักราช แม้ว่าจะไม่ได้ใช้กันอย่างกว้างขวางจนกระทั่งหลังยุคอารยธรรมเฮลเลนิสติกประมาณ 200 ปีหลังพุทธกาลที่อเล็กซานเดอร์มหาราชได้ทรงรวบรวมพระราชอาณาจักรกรีกแล้วชาวบาบิโลเนียไม่ได้รู้ความจริงว่า กลุ่มดาวต่าง ๆ ไม่ได้อยู่เป็นทรงกลมท้องฟ้า และจริง ๆ อยู่ห่างจากกันมากและการดูเหมือนว่าอยู่ใกล้กันจริง ๆ เป็นสิ่งลวงตาการกำหนดว่า กลุ่มดาวไหนดูเหมือนเป็นรูปอะไร จะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และจะไม่เหมือนกันในอารยธรรมต่าง ๆ[10]: 62 แม้งานดาราศาสตร์ของทอเลมีก็ยังมีแรงจูงใจจากความต้องการที่จะคำนวณโคจรของดาวเคราะห์ เหมือนกับโหรในสมัยนั้น[11]: 40 โหราศาสตร์ตะวันตกในยุคเบื้องต้น ใช้หลักที่สืบทอดมาจากกรีซโบราณ และดังนั้น โหราศาสตร์การแพทย์จึงเป็นหลักแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไปของดาวเคราะห์และวัตถุบนท้องฟ้าอื่น ๆ กับการรักษาทางการแพทย์ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการศึกษาดาราศาสตร์[11]: 73 แม้ว่าจะยังแก้ต่างให้กับโหราศาสตร์ ทอเลมีก็ยอมรับว่า อำนาจการทำนายโคจรของดาวเคราะห์และวัตถุอื่น ๆ บทท้องฟ้า ดีกว่าการทำนายของโหราศาสตร์[12]: 344 

ในช่วงยุคทองของอิสลาม (ประมาณ พ.ศ. 1329-1801) มีการสนับสนุนให้ทุนกับนักดาราศาสตร์เพื่อว่า ตัวแปรเสริมบางอย่าง เช่น ความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจรดวงอาทิตย์ ที่จำเป็นในการใช้แบบจำลองของทอเลมี จะสามารถคำนวณให้แม่นยำได้อย่างพอเพียงผู้ที่อยู่ในอำนาจ เช่น รัฐมนตรีของราชวงศ์ฟาติมียะห์ปี พ.ศ. 1663 ได้ออกทุนสร้างหอสังเกตการณ์หลายแห่ง เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลที่แม่นยำในการทำนายทางโหราศาสตร์ได้[11]: 55–56 แต่เนื่องจากเป็นการสร้างเพื่อช่วยการทำนายทางโหราศาสตร์ หอสังเกตการณ์เหล่านั้นจึงอยู่ได้ไม่นาน เพราะต่อมาโหราศาสตร์ในศาสนาอิสลามถูกห้าม หอจึงถูกรื้อแม้ในระหว่างหรือหลังจากการสร้างเสร็จใหม่ ๆ[11]: 57 

การปฏิเสธโหราศาสตร์ในงานดาราศาสตร์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2222 ในการตีพิมพ์ประจำปีของ Connaissance des Temps (ความรู้เรื่องเวลา) โดยบาทหลวงนักดาราศาสตร์ชอน พิการ์ด[11]: 220 แต่ว่าในอิหร่าน โดยที่ไม่เหมือนชาวตะวันตก การปฏิเสธว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์คงเป็นไปจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษ 20 (พุทธศตวรรษ 25) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกรงว่า ความรู้ใหม่จะค่อย ๆ ทำลายความเชื่อที่มีอย่างกว้างขวางในโหราศาสตร์และในจักรวาลวิทยาอิสลาม[13]: 10 งานปฏิเสธโหราศาสตร์ในอิหร่านชิ้นแรกก็คือ Falak al-sa'ada ของ Ictizad al-Saltana ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทำลายความเชื่อในโหราศาสตร์และ "ดาราศาสตร์แบบเก่า" ได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2404โดยหนังสือวิจารณ์ว่าโหรต่าง ๆ ไม่สามารถให้คำทำนายอย่างเดียวกันได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์โดยเฉพาะอย่างหนึ่ง (คือ Conjunction) แล้วกล่าวถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ที่โหรกำหนดเฉพาะให้กับดาวเคราะห์ต่าง ๆ ว่าไม่น่าเชื่อถือ[13]: 17–18 

ปรัชญาวิทยาศาสตร์

นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ศ.ดร.คาร์ล ป็อปเปอร์ เสนอว่า การพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ (falsifiability) เป็นเกณฑ์ที่แยกแยะวิทยาศาสตร์จากศาสตร์ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แล้วใช้โหราศาสตร์เป็นตัวอย่างแนวคิดที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จในการทดลอง

โหราศาสตร์เป็นตัวอย่างสำคัญที่สุดของวิทยาศาสตร์เทียม เพราะว่าถึงแม้จะมีการทดสอบอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ล้มเหลวทั้งหมด[10]: 62 

การพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้

วิทยาศาสตร์และศาสตร์ที่ไม่ใช่ บ่อยครั้งจะแยกแยะด้วยการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ (falsifiability)กฎเกณฑ์นี้ เสนอเป็นครั้งแรกโดยนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ศ.ดร.คาร์ล ป็อปเปอร์สำหรับ ดร.ป็อปเปอร์แล้ว วิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องการคิดหาเหตุผลโดยอุปนัย (Inductive reasoning) เพียงอย่างเดียว แต่การทดสอบทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ เป็นความพยายามพิสูจน์ทฤษฎีที่มีอยู่ว่าเป็นเท็จโดยใช้วิธีการทดสอบใหม่ ๆและถ้าทฤษฎีเพียงแค่ล้มเหลวในการทดสอบเดียว ทฤษฎีนั้นก็พิสูจน์ว่าเป็นเท็จแล้ว[14][15]: 10 ดังนั้น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ มีฤทธิ์เหมือนกับห้ามไม่ให้เกิดผลประเภทที่พิสูจน์ทฤษฎีว่าเป็นเท็จ และผลการทดลองประเภทอื่นทั้งหมดก็ควรจะคล้องจองกับทฤษฎีโดยใช้กฎเกณฑ์นี้ โหราศาสตร์ก็จะจัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียม[14]

โหราศาสตร์เป็นตัวอย่างที่ใช้บ่อยที่สุดของ ดร.ป็อปเปอร์ ในเรื่องวิทยาศาสตร์เทียม[16]: 7 เขาพิจารณาโหราศาสตร์ว่า เป็นเรื่องอาศัย "หลักฐานเชิงประสบการณ์เทียม (pseudo-empirical)" เพราะว่า "มันเรียกร้องให้มีการสังเกตและการทดลอง" แต่ว่า "ไม่มีมาตรฐานที่เทียบเท่ากับวิทยาศาสตร์"[17]: 44 คือเมื่อเทียบกับสาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์แล้ว โหราศาสตร์จะไม่เปลี่ยนเมื่อพิสูจน์ว่าเท็จผ่านการทดลองซึ่งตามนักเขียนวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง นี่เป็นเครื่องหมายหลักของวิทยาศาสตร์เทียมอย่างหนึ่ง[18]: 206 

ไม่มีปริศนาที่ต้องไข

โดยเปรียบเทียบกับความเห็นของ ดร.ป็อปเปอร์ นักปรัชญา ศ.ดร.โทมัส คูน อ้างว่า การไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ ไม่ได้ทำให้โหราศาสตร์ให้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะว่าทั้งกระบวนการและแนวคิดของโหราศาสตร์ไม่ได้อาศัยหลักฐานเชิงประสบการณ์[19]: 401 สำหรับ ดร.คูน แล้ว แม้ว่าโดยประวัติ โหราศาสตร์จะมีการทำนายที่ "ผิดโดยสิ้นเชิง" แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุที่โหราศาสตร์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือแม้ว่าโหรจะอธิบายความล้มเหลวโดยอ้างว่า การวิเคราะห์ดวงชะตาราศีเป็นเรื่องที่ยากมาก นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุเช่นกันดังนั้นในทัศนคติของ ดร.คูน โหราศาสตร์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพราะมันเหมือนกับการแพทย์สมัยกลาง (medieval medicine) ที่เป็นแค่การทำตามลำดับกฎระเบียบและแนวทาง ตามศาสตร์ที่ดูเหมือนจำเป็นและมีจุดอ่อน แต่กลับไม่มีงานวิจัยที่อาศัยหลักฐานเชิงประสบการณ์ เพราะว่าเป็นศาสตร์ที่ยอมรับงานวิจัยไม่ได้[16]: 8 และดังนั้น "พวกเขาจึงไม่มีปริศนาที่จะไข และดังนั้น จึงไม่มีวิทยาศาสตร์ที่จะประพฤติปฏิบัติ"[16]: 8 [19]: 401 

แม้ว่านักดาราศาสตร์จะสามารถปฏิบัติการเพื่อแก้ความล้มเหลวของทฤษฎีได้ แต่โหรไม่สามารถทำได้โหรได้แต่อธิบายแก้ต่างความล้มเหลว แต่ไม่สามารถแก้ไขสมมติฐานทางโหราศาสตร์ให้เหมาะสมได้ดังนั้น สำหรับ ดร.คูน แม้กระทั่งว่าถ้าดวงดาวมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ได้จริง โหราศาสตร์ก็ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์[16]: 8 

ความก้าวหน้า การปฏิบัติ และความสม่ำเสมอ

นักปรัชญา ศ.ดร.พอล ธาการ์ด เชื่อว่า โหราศาสตร์ไม่สามารถพิจารณาว่าเป็นเท็จ ถ้ายังไม่ได้รับการทดแทนโดยศาสตร์อื่นแต่ในเรื่องการทำนายพฤติกรรม จิตวิทยาสามารถใช้ทดแทนได้[20]: 228 นอกจากนั้นแล้ว กฎเกณฑ์อื่นที่จำแนกวิทยาศาสตร์และศาสตร์ที่ไม่ใช่ก็คือ จะต้องมีความก้าวหน้า และชุมชนนักวิจัยนักศึกษาควรจะทำความพยายามเปรียบเทียบทฤษฎีปัจจุบันกับทฤษฎีที่เป็นไปได้อื่น ๆ โดยไม่ได้จัดแจงเลือกสรรระหว่างหลักฐานที่ยืนยันกับหลักฐานที่คัดค้าน[20]: 227–228 

ความก้าวหน้านิยามในที่นี้ว่า สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ ๆ และสามารถตอบคำถามที่มีอยู่ แต่ว่า โหราศาสตร์แทบจะไม่ก้าวหน้าเลยคือแทบจะไม่ได้เปลี่ยนเลยภายใน 2,000 ปีที่ผ่านมา[20]: 228 [21]: 549 สำหรับ ดร.ธาการ์ด โหรปฏิบัติเหมือนกับใช้ศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ปกติ โดยเชื่อว่า หลักของโหราศาสตร์หยั่งลงดีแล้วแม้ว่าจะมี "ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้" และแม้ว่าจะมีทฤษฎีอื่นที่ใช้อธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ดีกว่า เช่น จิตวิทยาด้วยเหตุผลเหล่านี้ เขาจึงพิจารณาโหราศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียม[20]: 228 

แต่สำหรับ ดร.ธาการ์ดแล้ว โหราศาสตร์ไม่ควรพิจารณาว่าเป็นวิทยาศาสตร์เทียมโดยเพราะเหตุเพียงว่า ไม่สามารถหาสหสัมพันธ์ระหว่างนิมิตต่าง ๆ ทางโหราศาสตร์กับความเจริญด้านอาชีพของบุคคล หรือไม่สามารถหาสหสัมพันธ์ที่ควรจะพบระหว่างคู่แฝดที่เกิดในราศีเดียวกัน หรือว่าโหรไม่เห็นพ้องกันเรื่องความสำคัญของดาวเคราะห์ที่พบหลังจากยุคของทอเลมี และเรื่องมหาภัยพิบัติที่ฆ่าบุคคลต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่มีราศีต่าง ๆ กันในเวลาเดียวกัน[20]: 226–227 ดังนั้น การกำหนดว่าอะไรเป็นวิทยาศาสตร์อะไรไม่ใช่ต้องพิจารณาหลักอีก 3 อย่างคือ ทฤษฎี ชุมชน และพื้นเพทางประวัติศาสตร์

การทดสอบและการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จสามารถใช้พิจารณาทฤษฎี งานของ ดร.คูน เป็นการพิจารณาพื้นเพทางประวัติศาสตร์ ดั้งนั้น จึงต้องมาพิจารณาเรื่องชุมชนโหรว่า มีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่ คือ[20]: 226–227 

  • มีความสนใจในการเปรียบเทียบวิธีการของตนกับคนอื่นหรือไม่
  • มีวิธีการที่สม่ำเสมอหรือไม่
  • พยายามที่จะพิสูจน์ทฤษฎีของตนว่าเท็จผ่านการทดลองหรือไม่

ในกระบวนการเช่นนี้ การพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมีการเสนอทฤษฎีอื่น ที่ไม่ใช่เป็นการปรับทฤษฎีเพื่อป้องกันไม่ให้พิสูจน์ว่าเป็นเท็จ [20]: 228 

ความไม่มีเหตุผล

สำหรับนักปรัชญาเอ็ดวาร์ด เจมส์ โหราศาสตร์ไม่มีเหตุผลไม่ใช่เพราะมีปัญหามากมายในประเด็นเรื่องกลไกและการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จด้วยการทดลอง แต่เป็นเพราะว่า การวิเคราะห์วรรณกรรมทางโหราศาสตร์แสดงว่ามันเต็มไปด้วยเหตุผลวิบัติและวิธีคิดหาเหตุผลที่ไม่ดี[22]: 34 

ถ้าในวรรณกรรมทางโหราศาสตร์เราพบแต่ข้อความที่ไม่สอดคล้องกัน ความเมินเฉยต่อหลักฐานที่ชัดเจน ความปราศจากลำดับชั้นของเหตุผล การไม่มีกฎเกณฑ์ การไม่เต็มใจที่จะตามเหตุผลไป ความไร้เดียงสาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของคำอธิบาย และอื่น ๆ ผมคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ เราสมควรที่จะปฏิเสธโหราศาสตร์ว่าไร้เหตุผล ... โหราศาสตร์ล้มเหลวในการให้เหตุผลที่สมควรในด้านต่าง ๆ เหล่านี้อย่างชัดเจน

— เอ็ดวาร์ด เจมส์[22]: 34 

เหตุผลที่ไม่ดีรวมทั้ง การอ้างโหราศาสตร์โบราณเช่นโยฮันเนส เคปเลอร์ แม้ว่า จะไม่ได้อ้างถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกันหรือให้เหตุผลอะไรโดยเฉพาะ ๆ และมีข้ออ้างที่คลุมเครือตัวอย่างเช่น การอ้างว่า คนที่เกิด "ที่เดียวกัน มีวิถีชีวิตที่คล้ายกันมาก"

  1. เป็นคำที่คลุมเครือ
  2. ละเลยความจริงว่า เวลาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับกรอบอ้างอิง (reference frame) กำหนดโดยทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ
  3. ไม่ได้นิยามของคำว่า "ที่เดียวกัน" ในโลกที่โคจรไปในกรอบอ้างอิงของระบบสุริยะ

นอกจากนั้น ข้อคิดเห็นของโหรเกี่ยวกับฟิสิกส์ยังประกอบด้วยการตีความที่ผิดพลาด เช่น มีโหรคนหนึ่งที่อ้างว่า ระบบสุริยะดูเหมือนกับอะตอมเจมส์ยังให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า การตอบโต้คำวิจารณ์ของโหรอาศัยตรรกะที่ผิดพลาด แล้วยกตัวอย่างข้อตอบโต้เรื่องการศึกษาคู่แฝดที่โหรอ้างว่า ความคล้ายคลึงกันที่พบในคู่แฝดมีเหตุจากหลักทางโหราศาสตร์ แต่ความแตกต่างกันมาจาก "กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม"และสำหรับโหรคนอื่น ๆ ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็ซับซ้อนเกินไป จึงพยายามกลับไปคิดแต่ในศาสตร์ของตนเท่านั้น[22]: 32 นอกจากนั้นแล้ว สำหรับโหร ถ้าอะไรปรากฏเป็นผลบวก พวกเขามักจะบอกว่านั่นไงเครื่องพิสูจน์ โดยไม่พยายามตรวจสอบว่า มีเหตุอะไรอื่น ๆ ได้อีกหรือไม่ ชอบใจใช้แต่ผลบวกว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่สิ่งใดที่เป็นผลลบกลับละเลยไม่ใส่ใจทั้งหมด[22]: 33 

การแบ่งเป็นทวิภาคของไควน์

ส่วนในทฤษฎีเว็บแห่งความรู้ของ ศ.ดร.วิลลาร์ด แวน ออร์แมน ไควน์ มีการแบ่งออกเป็นสองภาคว่า บุคคลต้องปฏิเสธโหราศาสตร์ หรือไม่ก็ยอมรับโหราศาสตร์แต่ต้องปฏิเสธสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงเชื่อถือได้แล้วว่า ไม่เข้ากับโหราศาสตร์[15]: 24 

การตรวจสอบโหราศาสตร์

โหรมักจะหลีกเลี่ยงคำทำนายที่ตรวจสอบได้ คือจะกล่าวคำคลุมเครือที่หลีกเลี่ยงการพิสูจนว่าเป็นเท็จได้[17]: 48–49 ในหลายศตวรรษที่มีการทดสอบ การทำนายทางโหราศาสตร์ไม่เคยแม่นยำกว่าเรื่องบังเอิญ[2]วิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบโหราศาสตร์เชิงปริมาณก็คือผ่านการทดลองแบบอำพรางซึ่งเมื่อทดสอบคำทำนายที่เฉพาะเจาะจงของโหร เช่นโดยการทดสอบที่จะกล่าวต่อไป เรื่องที่ทำนายเหล่านั้นก็จะพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริง[1]และการทดลองทางโหราศาสตร์ที่มีกลุ่มควบคุมทั้งหมดที่เคยทำ ล้วนแต่ล้มเหลวที่จะแสดงผลบวก[15]: 24 

การทดลองของคาร์ลสัน

การทดสอบของนักฟิสิกส์ ดร.ชอน คาร์ลสัน ที่เป็นการทดลองแบบอำพรางสองฝ่าย (double-blind) ที่โหร 28 คนตกลงที่จะจับคู่แผนภูมิการเกิด (natal chart) กับบทวิเคราะห์ลักษณะบุคลิกภาพทางจิตวิทยาที่ทำโดยการทดสอบแบบ California Psychological Inventory เป็นการทดสอบโหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดการหนึ่ง[23][24]และผลงานทดลองได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อถือสูงคือ เนเจอร์[10]: 67 การอำพรางทั้งสองด้าน เป็นการปิดไม่ให้ทั้งโหรและผู้ดำเนินการทดลองรู้ว่า แผนภูมิการเกิดและบทวิเคราะห์ทางจิตวิทยา เป็นของใครต่อของใคร เป็นวิธีกำจัดความเอนเอียงที่อาจจะเกิดได้ในการทดลอง[10]: 67 

ทั้งกลุ่มนักฟิสิกส์และกลุ่มโหรตกลงยอมรับกฏเกณฑ์การทดลองก่อนจะทำ[1]องค์กรโหราศาสตร์คือ คณะกรรมการงานวิจัยโลกและจักรวาลแห่งชาติ (National Council for Geocosmic Research) เป็นผู้เสนอโหรหลายคนให้เป็นผู้ให้คำแนะนำ และช่วยให้มั่นใจว่า การทดสอบยุติธรรม[24]: 117 [25]: 420 โหรเหล่านั้นยังเลือกโหรอื่น 26 คนเพื่อการทดสอบ โดยโหรอีก 2 คนที่เหลือเป็นอาสาสมัคร[25]: 420 โหรมาจากทั้งยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาโหรเป็นผู้ช่วยเลือกหลักโหราศาสตร์แบบ natal astrology (โหราศาสตร์การเกิด) เพื่อการทดสอบ[25]: 419 ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ ในปี ค.ศ. 1985 พบว่า การทำนายโดยใช้หลักโหราศาสตร์อย่างที่ว่าไม่ได้ดีกว่าความบังเอิญ และการทดสอบ "พิสูจน์สมมติฐานทางโหราศาสตร์ว่าเป็นเท็จอย่างชัดเจน"[25]

งานของดีนและเค็ลลี่

แผนภูมิโหราศาสตร์คำนวณสำหรับวันที่ 1 มกราคม 2543 ณ เวลา 00:00:01 (EST) ในนครนิวยอร์ก (074W00'23", 40N42'51")

นักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นอดีตโหรเจ็ฟฟรี่ ดีน และนักจิตวิทยาไอแวน เค็ลลี่[26]ทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่วัดตัวแปรทางประชาน ทางพฤติกรรม และทางสรีระ มากกว่า 100 ตัว แต่ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่สนับสนุนโหราศาสตร์[27]มีการทดสอบต่อไปอีก กับโหรที่มั่นใจในหลักของตน 45 คน ผู้มีประสบการณ์เป็นโหรโดยเฉลี่ย 10 ปี และผู้รับทำนายอีก 160 คน (จากกลุ่มที่มีให้เลือก 1198 คน) โดยเลือกเอาแต่คนที่มีบุคคลิกลักษณะต่าง ๆ แบบสุด ๆ ดังที่วัดโดยใช้คำถามตรวจสอบบุคลิกภาพแบบ Eysenck Personality Questionnaire[27]: 191 โหรทำนายได้แย่กว่าวิธีการทำนายโดยใช้อายุ และแย่กว่าผู้ทำนายในกลุ่มควบคุม 45 คนที่ไม่ได้ใช้แผนภูมิการเกิดอย่างสิ้นเชิง[27]: 191 [28]

การทดสอบอื่น ๆ

มีงานวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ที่วิเคราะห์งานศึกษา 40 งานประกอบด้วยโหร 700 คน และใช้แผนภูมิการเกิด 1,000 แผ่นงานศึกษา 10 งานจากนั้น มีโหรกว่า 300 คนเข้าร่วม โหรต้องเลือกบทความทำนายให้เข้ากับแผนภูมิ โดยบทความที่เข้าจะรวมอยู่กับที่ไม่เข้า 3-5 บทความเมื่อบทความไม่แสดงวันที่และตัวช่วยแบบชัดเจนอื่น ๆ โดยรวมแล้ว ไม่ปรากฏกว่าโหรต่าง ๆ จะเลือกแผนภูมิใดแผนภูมิหนึ่งโดยเฉพาะ คือโหรเลือกแผนภูมิที่ไม่เหมือนกัน[27]: 190 

ในงานศึกษา 10 งาน ที่โหรจะเลือกการทำนายราศีที่ตนรู้สึกว่าแม่น โดยมีการกำหนดแผ่นที่ "ถูก" แต่โหรก็ไม่สามารถเลือกให้ดีได้กว่าบังเอิญ[10]: 66–67 

ในงานศึกษาที่ตรวจดูคน 2011 คู่ที่เกิดภายในเวลา 5 นาทีเดียวกัน เพื่อจะดูว่ามีผลต่อวิถีชีวิตหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏว่ามี[10]: 67 

นักสังคมศาสตร์เชิงปริมาณคนหนึ่งตรวจดูข้อมูลสำมะโนประชากรของคน 20 ล้านคนในประเทศอังกฤษและเวลส์ เพื่อจะดูว่า ราศีมีผลต่อการแต่งงานหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏว่ามี[10]: 67 

ปรากฏการณ์ดาวอังคาร

ปรากฏการณ์ดาวอังคาร (Mars effect) ที่นายมิเชล โกเคลอน ค้นพบ แสดงความชุกชุมของการเกิดของนักกีฬาที่มีชื่อเสียง 570 คน เทียบกับตำแหน่งประจำวันของดาวอังคาร โดยมีจุดชุกชุมที่สุดที่ภาค 1 และ 4[29]

ในปี ค.ศ. 1955 นักโหราศาสตร์[30]และนักจิตวิทยา มิเชล โกเคลอน กล่าวว่า แม้ว่าตนจะไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนนิมิตทางโหราศาสตร์ต่าง ๆ เช่นราศี และมุมดาวในแผนภาพการผูกดวงโหราศาสตร์ แต่เขาก็ได้พบสหสัมพันธ์ระหว่างโคจรประจำวันของดาวเคราะห์ กับความสำเร็จในอาชีพ (เช่นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา นักแสดง นักเขียน จิตรกร เป็นต้น) ซึ่งโหราศาสตร์ปกติสัมพันธ์กับดาวเคราะห์[29]สิ่งค้นพบที่รู้จักดีที่สุดของเขาเป็นตำแหน่งของดาวอังคารในแผนภูมิการเกิด (natal chart) ของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่ต่อมารู้จักกันว่า ปรากฏการณ์ดาวอังคาร (Mars effect)[31]: 213 ต่อมามีนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส 7 ราย พยายามทำซ้ำงานศึกษานี้ แต่ก็ไม่พบหลักฐานทางสถิติอะไรเลย[31]: 213–214 แล้วโทษผลที่พบว่าเป็นผลจากความเอนเอียงโดยการเลือก (selective bias) ของนายโกเคลอน และกล่าวหาเขาว่า พยายามที่จะชักชวนให้พวกเขาเพิ่มหรือลบนักกีฬาบางคนออกจากงานศึกษาของพวกเขา[32]

ส่วนอดีตโหรเจ็ฟฟรี่ ดีนเสนอว่า ผลที่พบอาจเกิดจากการแจ้งวันเกิดของผู้ปกครอง ไม่ใช่เป็นปัญหาในงานศึกษาคือผู้ปกครองส่วนน้อยจำนวนหนึ่งอาจจะเปลี่ยนเวลาแจ้งเกิด เพื่อให้มีแผนภูมิการเกิดทางโหราศาสตร์ที่ดีตรงกับอาชีพที่ต้องการเพราะว่า กลุ่มตัวอย่างมาจากสมัยที่ความเชื่อทางโหราศาสตร์เป็นเรื่องสามัญกว่าปัจจุบันและนายโกเคลอน ก็ไม่พบปรากฏการณ์ดาวอังคารในกลุ่มประชากรหลังจากนั้น ซึ่งเป็นสมัยที่แพทย์พยาบาลเป็นผู้บันทึกข้อมูลการเกิดนอกจากนั้น ยังปรากฏอีกด้วยว่า จำนวนการเกิดในช่วงเวลาทางโหราศาสตร์ที่ไม่เป็นมงคล ต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่ชี้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้เลือกวันที่เวลาการเกิดตามความเชื่อของตน[24]: 116 

ปัญหาทางทฤษฎี

นอกจากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่โหราศาสตร์ไม่ผ่าน หลักต่าง ๆ ของโหราศาสตร์ยังมีอุปสรรคในการยอมรับเพราะมีข้อบกพร่องทางทฤษฎีหลายอย่าง[10]: 62 [15]: 24 รวมทั้งไม่มีความสม่ำเสมอ ไม่สามารถทำนายดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่ก่อนนี้ไม่รู้จัก ไม่มีความสัมพันธ์อะไรระหว่างราศีกับกลุ่มดาว และการไม่มีกลไกการทำงานของทฤษฎีนอกจากนั้นแล้ว รากฐานต่าง ๆ ของโหราศาสตร์มักจะไม่สอดคล้องกับความจริงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย[15]: 24 

ไม่มีความสม่ำเสมอ

การทดสอบความสมเหตุสมผล (validity) ของโหราศาสตร์เป็นเรื่องยาก เพราะว่าไม่มีมติส่วนใหญ่ของโหรว่า อะไรคือโหราศาสตร์และว่า มันควรจะทำนายอะไรได้[2]: 83 ดีนและเค็ลลี่แสดงงาน 25 งานที่พบระดับความคล้อยตามกัน (Inter-rater reliability) ของหมู่โหรวัดได้ที่ 0.1[10]: 66  เทียบกับค่าความคล้อยตามกันสัมบูรณ์ที่ 1 และความคล้อยตามกันที่นับว่าใช้ไม่ได้ของสาขาสังคมศาสตร์ที่ 0.8[10]: 66  คือพวกโหรมีความคล้อยตามกันในระดับที่ต่ำกว่าที่ยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากโหรมืออาชีพหากินโดยทำนายอนาคต หรือบอกถึงบุคลิกภาพและวิถีชีวิตของลูกค้า แต่ว่า การบอกดวงชะตาราศีโดยมากเป็นข้อความที่คลุมเครือใช้ตรวจสอบไม่ได้และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับเกือบทุกคน[2]: 83 

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ศ.ดร.จอร์จส ชาร์พาค และผู้เขียนร่วม เขียนถึงข้ออ้างทางโหราศาสตร์ชาวตะวันตกในหนังสือ Debunked! ESP, Telekinesis, and other Pseudoscience (แฉ! การรับรู้นอกประสาทสัมผัส การเคลื่อนวัตถุได้ด้วยใจ และวิทยาศาสตร์เทียมอื่น ๆ)[33]พวกเขาชี้ว่า พวกโหรมีความรู้แค่นิดหน่อยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และมักจะไม่ได้คิดถึงคุณลักษณะทางดาราศาสตร์ขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่นการเคลื่อนถอยของวิษุวัต ซึ่งจะเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ไปตามกาลเวลาพวกเขายกตัวอย่างของโหรผู้หนึ่งผู้อ้างว่า "ดวงอาทิตย์มีตำแหน่งเดียวกันในท้องฟ้าในวันเดียวกันทุก ๆ ปี" ซึ่งใช้เป็นมูลฐานทางโหราศาสตร์ว่า ทำไมคนสองคนที่เกินวันเดียวกันแต่หลายปีต่างกัน จึงควรจะได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์เหมือน ๆ กันพวกเขาให้ข้อสังเกตว่า "โลกอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกันประมาณ 22,000 ไมล์ในวันเดียวกันของสองปีติด ๆ กัน" และดังนั้น คนสองคนจึงไม่ควรได้รับอิทธิพลเหมือนกันตามหลักของโหราศาสตร์และในช่วง 40 ปี ความแตกต่างกันจะเกินกว่า 780,000 ไมล์[34]: 6–7 

ไม่มีมูลฐานทางกายภาพ

นักปรัชญาเอ็ดวาร์ด เจมส์ให้ความเห็นว่า การให้ความสำคัญทางโหราศาสตร์แก่กลุ่มดาวบนทรงกลมท้องฟ้าเขตที่พระอาทิตย์อยู่ในช่วงพระอาทิตย์ตก มีเหตุมาจากมนุษย์ ซึ่งก็คือ โหรไม่ต้องการที่จะตื่นนอนเช้านัก และเวลาเที่ยงวันเป๊ะ ๆ ก็เป็นเรื่องที่รู้ได้ยากนอกจากนั้นแล้ว การสร้างระบบราศี โดยไม่เชื่อมกับกลุ่มดาวก็เพราะว่า พระอาทิตย์ไม่ได้อยู่ที่กลุ่มดาวต่าง ๆ นานเท่า ๆ กัน[22]: 25 ความไม่เชื่อมกับกลุ่มดาวทำให้เกิดปัญหา คือการหมุนควงจะแยกสัญลักษณ์ราศีจากกลุ่มดาว ที่เคยเชื่อมกันมาก่อน[22]: 26 นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ผู้ต่อต้านวิทยาศาสตร์เทียมและส่งเสริมให้มีการศึกษาวิทยาศาสตร์มากขึ้นท่านหนึ่งจึงกล่าวว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมควรจะดูที่ราศีอะไรเมื่อเปิดดูหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ ผมล่ะสงสัยจริง ๆ"[10]: 64 

ระบบราศี tropical zodiac ไม่มีการเชื่อมโยงกับดาว และตลอดที่ไม่อ้างว่า กลุ่มดาวอยู่ในราศีนั้นหรือราศีนี้ โหรก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงความจริงว่า การหมุนควงทำให้กลุ่มดาวนั้นเคลื่อนไป[34]ดร. ชาร์พาคเห็นอย่างนี้แล้วจึงกล่าวถึงโหราศาสตร์ที่อาศัยระบบ tropical zodiac ว่า "เป็นกล่อง (ในท้องฟ้า) ว่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรสักอย่าง และไม่มีความสม่ำเสมอหรือคล้องจองอะไรเลยกับดวงดาว"[34]การใช้ระบบราศี tropical zodiac โดยลำพังของโหร จะไม่เข้ากับการอ้างถึงช่วงเวลากลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Age of Aquarius) ของโหรอีกนั่นแหละ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไรพระอาทิตย์จะเข้าไปสู่ส่วนของกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ[1]

ไม่สามารถทำนายอะไรได้จริง ๆ

ภาพแสดงดาวพลูโตและบริวาร โหราศาสตร์ตั้งขึ้นก่อนจะค้นพบดาวเนปจูน ยูเรนัส และพลูโต ดังนั้น ดาวเหล่านี้จะกล่าวถึงในโหราศาสตร์แบบเฉพาะกิจ ๆ อย่างไม่เป็นระบบ

แม้ว่าโหรจะกล่าวว่า ตำแหน่งของดาวเคราะห์ทั้งหมดเป็นเรื่องจำเป็นในการคำนวณโชคชะตา แต่ว่าโหรกลับไม่สามารถทำนายได้ว่า มีดาวเนปจูนก่อนที่จะมีการค้นพบดาว โดยอาศัยความผิดพลาดในการทำนายดวงชะตาราศีแต่ว่า กฎความโน้มถ่วงสากลของนิวตัน สามารถทำนายความมีอยู่ของดาวเนปจูนก่อนการค้นพบได้[2]การรวมดาวเนปจูน ยูเรนัส และพลูโต เข้าในการคำนวณทางโหร จึงเป็นการกระทำเป็นกรณีพิเศษอย่างไม่เป็นระบบ[1]

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ลดระดับดาวพลูโตให้เป็นดาวเคราะห์แคระ มีนักดาราศาสตร์คนหนึ่งสงสัยว่าโหรจะกล่าวตอบว่าอย่างไร คือ[1]

พวกโหรควรที่จะเอามันออกจากรายการสิ่งส่องสว่างบนท้องฟ้า (รวมทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวเคราะห์ 8 ดวงอื่นนอกจากโลก) แล้วสารภาพว่า มันไม่ได้ช่วยให้ (การทำนายโชคชะตาราศี) มีอะไรดีขึ้น หรือไม่(แต่) ถ้าพวกเขาตัดสินที่จะเก็บมันไว้ แล้วจะเอายังไงกับไอ้พวกดาวเคราะห์แคระที่พึ่งค้นพบใหม่อื่น ๆ อีกนั่นหล่ะ (รวมทั้ง Sedna, Quaoar, และอื่น ๆ) บางดวงมีบริวารรอบ ๆ ด้วยซ้ำ (เช่น Xena, 2003EL61)

การปราศจากกลไกการทำงานที่พิสูจน์ได้

มีการวิจารณ์โหราศาสตร์ว่า ไม่ได้ให้กลไกทางกายภาพ ที่เชื่อมโคจรของดาวกับผลที่อ้างในพฤติกรรมมนุษย์ในบรรยายปี ค.ศ. 2001 ดร.สตีเฟน ฮอว์คิงกล่าวว่า "เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์โดยมากไม่เชื่อเรื่องโหราศาสตร์ก็เพราะว่า มันไม่สอดคล้องกับทฤษฎีของเราที่ทดสอบโดยการทดลองมาแล้ว"[35]ในปี ค.ศ. 1975 เมื่อโหราศาสตร์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น วารสารมนุษยนิยม The Humanist พิมพ์บทความคัดค้านโหราศาสตร์ที่เรียบเรียงโดยนักวิทยาศาสตร์และนักมนุษยนิยมหลายท่าน[7]โดยมีชื่อบทความว่า ข้อคัดค้านโหราศาสตร์ และลงชื่อโดยนักดาราศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าอื่น ๆ รวมกัน 186 ท่านพวกเขากล่าวว่า ไม่มีมูลฐานทางวิทยาศาสตร์อะไรเลยสำหรับความเชื่อทางโหราศาสตร์ และเตือนสาธารณชนไม่ให้ยอมรับคำแนะนำทางโหราศาสตร์อย่างไม่มีเงื่อนไข คำวิจารณ์ของพวกเขาชี้ความจริงว่า มันไม่มีกลไกอะไรที่จะให้เกิดผลทางโหราศาสตร์ คือ

เราสามารถเห็นได้ว่า ผลทางแรงโน้มถ่วงที่เกิดจากดาวเคราะห์ที่ห่างไกลและดาวฤกษ์ที่ห่างไกลยิ่งกว่านั้น เป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงไร

เป็นความผิดพลาดแท้ ๆ ที่จะจินตนาการว่า พลังแห่งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในช่วงเวลาเกิด จะมีผลอะไรต่ออนาคตของเรา[7]

แต่ว่านักดาราศาสตร์ ดร.คาร์ล เซแกน ปฏิเสธที่จะลงชื่อสำหรับบทความนี้โดยกล่าวว่า มีจุดยืนเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตนคิดว่า โหราศาสตร์สมเหตุสมผล แต่เพราะคิดว่า บทความฟังดูจะเผด็จการ และการปฏิเสธแบบไม่แยแสต่อโหราศาสตร์เพียงเพราะว่า ไม่มีกลไก (แม้ว่า "จะเป็นเรื่องในประเด็นอย่างหนึ่งแน่นอน") ไม่น่าเชื่อถือในจดหมายที่เขาพิมพ์ตามหลังในฉบับต่อมาของวารสาร The Humanist ดร.เซแกนยืนยันว่า เขายินดีที่จะเซ็นชื่อกับบทความเช่นที่ว่า ถ้ามันได้อธิบายและปฏิเสธหลักต่าง ๆ ที่เป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์เขาเชื่อว่า การกระทำเช่นนั้นน่าเชื่อถือกว่า และจะทำให้เกิดการโต้เถียงน้อยกว่า[7]

การใช้สุนทรภาพในแนวคิดของกรีกโบราณที่เรียกว่า "macrocosm and microcosm" หรือที่กล่าวว่า "ข้างบนเป็นเช่นไร ข้างล่างก็เป็นเช่นนั้น" เพื่อหาความหมายในโลกโดยลักษณะดาว ดังที่นักปรัชญาเอ็ดวาร์ด เจมส์ ยกตัวอย่างไว้ว่า "ดาวอังคารเบื้องบนมีสีแดง ดังนั้น ดาวอังคารเบื้องล่างจึงหมายถึงเลือดและสงคราม" เป็นเหตุผลวิบัติโดยเหตุที่ผิด (false cause fallacy)[22]: 26 

มีโหรเป็นจำนวนที่อ้างว่า โหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์[36]แต่ว่าถ้าต้องอธิบายโหราศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็ต้องจำกัดคำอธิบายว่ามีพลังทางธรรมชาติโดยหลักแค่ 4 อย่าง ซึ่งจำกัดกลไกการทำงานเกี่ยวกับโหราศาสตร์[10]: 65 ดังนั้น โหรบางท่านจึงเสนอว่ากลไกของโหราศาสตร์เป็นเรื่องที่รับรองโดยวิทยาศาสตร์ เช่น สภาวะแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงโน้มถ่วง[36][37]แต่ว่า เพราะกำลังของพลังเหล่านี้ลดลงไปตามระยะทาง[10]: 65 ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงปฏิเสธว่า กลไกที่เสนอเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เกิดผลทางโหราศาสตร์[36]ยกตัวอย่างเช่น กำลังสนามแม่เหล็กที่วัดบนโลกจากดาวเคราะห์ขนาดใหญ่แต่ไกลเช่นดาวพฤหัสบดี ความจริงน้อยกว่าที่เกิดจากเครื่องใช้ในบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ[37]มีนักดาราศาสตร์ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า ถ้าจะพูดถึงกำลังแล้ว พระอาทิตย์เป็นวัตถุเดียวบนท้องฟ้าที่มีกำลังสนามแม่เหล็กไฟฟ้าพอจะพูดถึงได้ แต่ว่า โหราศาสตร์ไม่ใช่แค่อาศัยพลังของพระอาทิตย์อย่างเดียว[10]: 65 [38]แต่ถ้าโหรจะเสนอพลังธรรมชาติอย่างที่ 5 นี่ก็จะไม่เข้ากับแนวโน้มในฟิสิกส์ที่จะรวมพลังแม่เหล็กไฟฟ้าเข้ากับ weak force รวมเป็น electroweak forceและถ้าโหรยืนยันที่จะใช้ทฤษฎีที่ไม่เข้ากับความเข้าใจปัจจุบันที่มีรากฐานมาจากฟิสิกส์ที่อิงหลักฐาน นี่ก็จะเป็นข้ออ้างวิสามัญ (extraordinary claim)[10]: 65 และก็จะไม่เข้ากับพลังธรรมชาติอย่างอื่น ๆ ที่มีกำลังลดลงตามระยะทาง[10]: 65 และถ้าระยะทางไม่สำคัญ วัตถุทั้งหมดในอวกาศก็ควรจะรวมเข้าเพื่อการทำนายด้วย[10]: 66 

นักจิตบำบัดและจิตวิทยาคาร์ล ยุง ตั้งแนวคิดที่เรียกว่า synchronicity ที่อ้างว่า สามารถมีเหตุการณ์ 2 อย่างที่มีความเชื่อมต่อกันหรือเป็นการแสดงความมุ่งหมาย แต่ไม่ได้สัมพันธ์กันโดยเหตุและผล เพื่ออธิบายความปราศจากผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติในงานศึกษาโหราศาสตร์งานเดียวที่เขาทำแต่ว่า แนวคิดเรื่อง synchronicity เป็นเรื่องที่พิจารณาว่า ทดสอบไม่ได้ และพิสูจน์ว่าเป็นเท็จไม่ได้[39]งานศึกษานั้นต่อมาจึงได้รับคำวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ใช้ตัวอย่างสุ่ม ใช้วิธีการทางสถิติที่ไม่ดี และเข้ากับโหราศาสตร์เองก็ไม่ได้[39][40]

แม้ว่าจะมีหลักฐาน[41]ที่แสดงว่าฤดูกาลที่เกิด อาจมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางบุคลิกภาพและลักษณะทางจิตอย่างอื่น ๆ ของบุคคล และฤดูก็มีสหสัมพันธ์กับตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้า แต่นี่ก็เป็นข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างจากของโหราศาสตร์ โดย ศ. หัวหน้าทีมนักวิจัยที่พบหลักฐานนั้นกล่าวไว้ว่า"เป็นเรื่องสำคัญที่จะเน้นว่า แม้นี่จะฟังดูเหมือนกับโหราศาสตร์ แต่มันก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องชีวภาพตามฤดู"[41]

จิตวิทยา

มีหลักฐานที่แสดงว่าความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (confirmation bias) ซึ่งเป็นความเอนเอียงทางประชานอย่างหนึ่ง[42]: 553  เป็นองค์ประกอบทางจิตวิทยาที่มีส่วนทำให้เชื่อในโหราศาสตร์[9]: 344 [43]: 180–181 [44]: 42–48 คือในเรื่องที่พบในวรรณกรรม คนที่เชื่อในโหราศาสตร์มักจะระลึกถึงคำทำนายที่ตรงกับความเป็นจริงได้ แต่ระลึกคำทำนายที่ไม่ตรงไม่ได้และก็ยังมีความเอนเอียงทางประชานอีกอย่างหนึ่งด้วย ที่คนเชื่อบ่อยครั้งไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อความที่แสดงว่ามีความสามารถพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือที่ไม่มี[43]: 180–181 ดังนั้น จึงมีความเอนเอียง 2 อย่างที่อยู่ใต้การศึกษาในเรื่องความเชื่อทางโหราศาสตร์[43]: 180–181 

ความเอนเอียงที่ 2 ก็คือ ปรากฏการณ์บาร์นัม (Barnum effect) เป็นความโน้มเอียงที่บุคคลจะให้คะแนนว่ามีความแม่นยำสูง แก่คำพรรณนาบุคคลิกของตนถ้าคิดว่า คำพรรณนานั้นทำเฉพาะเจาะจงตน แต่ความจริงเป็นคำที่คลุมเครือและทั่วไปพอที่จะเป็นจริงกับคนเป็นจำนวนมากยิ่งมีการขอข้อมูลเพียงเท่าไรสำหรับคำทำนาย ก็จะเชื่อผลที่ได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น[9]: 344 ในปี ค.ศ. 1949 ดร. เบอร์แทรม ฟอร์เรอร์ ทดสอบกับนักศึกษาของตน[9]: 344 โดยนักศึกษาแต่ละคนได้รับการประเมินที่บอกว่าเป็นของเฉพาะตน แต่ความจริงเป็นบทความที่เหมือนกันสำหรับทุกคนซึ่งเป็นบทความที่ได้จากหนังสือโหราศาสตร์เล่มหนึ่งเมื่อให้นักศึกษาประเมินความแม่นยำของบทความ มากกว่า 40% ให้คะแนนเต็ม 5 โดยที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2[45]: 134, 135 ผลงานศึกษานี้ทำซ้ำได้ในงานศึกษาอื่นเป็นจำนวนมาก[46]: 382 

งานศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์บาร์นัม/ฟอร์เรอร์ พุ่งความสนใจไปที่ระดับการยอมรับการทำนายราศีหลอก และบทความแสดงบุคลิกภาพทางโหราศาสตร์หลอก[46]: 382 ผู้ที่ได้รับบทประเมินบุคลิกภาพเช่นนี้ ปกติไม่สามารถแยกแยะคำแสดงบุคลิกภาพที่สามัญและไม่สามัญ[46]: 383 ต่อมาในงานศึกษาในปี ค.ศ. 2009 นักวิจัยก็ได้ผลคล้อยตามผลงานวิจัยในประเด็นเดียวกันก่อน ๆ ซึ่งก็คือ ผู้ที่เชื่อในโหราศาสตร์มักจะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์บาร์นัมมากกว่าผู้ที่ไม่ค่อยเชื่อ[46]: 393 

โดยกระบวนการทางจิตวิทยาที่เรียกว่า self-attribution มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า บุคคลที่มีความรู้ด้านโหราศาสตร์มักจะกล่าวถึงบุคคลิกของตน โดยเป็นคุณลักษณะที่เข้ากับราศีเป็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกถ้าบุคคลรู้ว่าคำกล่าวถึงบุคคลิกนั้น จะนำไปใช้สนทนาเรื่องโหราศาสตร์ส่วนบุคคลที่ไม่คุ้นเคยต่อโหราศาสตร์ไม่มีแนวโน้มเช่นนี้[47]

สังคมศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1953 นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมันผู้หนึ่ง ทำงานศึกษาเกี่ยวกับคอลัมน์โหราศาสตร์ในหนังสือพิมพ์ที่นครลอสแอนเจลิส โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตรวจสอบสื่อมวลชนในสังคมทุนนิยม[48]: 326 เขาเชื่อว่าโหราศาสตร์นิยม เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ข้อความที่สนับสนุนการปฏิบัติตามกัน และโหรที่แหวกแนวโดยชักชวนไม่ให้ทำงานให้ดีเป็นต้น อาจจะดำรงอาชีพอยู่ไม่ได้[48]: 327 เขาสรุปว่า โหราศาสตร์เป็นการสำแดงออกของความไร้เหตุผลอย่างเป็นระบบ ที่คำชมและการพูดรวม ๆ แบบคลุมเครือ ทำให้บุคคลเชื่อว่าผู้เขียนคอลัมน์กล่าวถึงตนโดยตรง[49]เขากล่าวเลียนประโยคยอดนิยมของคาร์ล มากซ์ที่ว่า "ศาสนาเป็นฝิ่นของมวลชน" โดยกล่าวว่า "เรื่องไสยศาสตร์เป็นอภิปรัชญาของคนโง่"[48]: 329 

ความสมดุลหลอก (False balance) เป็นความเอนเอียงในสื่อ ที่มีการนำความเห็นที่ไม่จริง ไม่ได้รับการยอมรับ หรือเป็นของเทียม มาพูดพร้อมกับความเห็นที่มีเหตุมีผล เป็นความเอนเอียงที่ชวนให้เห็นว่า เรื่องนี้มีสองด้านเท่าเทียมกัน ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มี[50]ในรายการทีวีของบีบีซี Wonders of the Solar System (สิ่งมหัศจรรย์ในระบบสุริยะ) นักฟิสิกส์นักพรีเซ็นเต้อร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า "ถึงโหราศาสตร์จริง ๆ จะเป็นเรื่องเหลวไหล แต่ดาวพฤหัสบดีจริง ๆ ก็มีอิทธิพลที่ลึกซึ้งต่อโลกของเรา โดยผ่านพลังอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ...แรงโน้มถ่วง"ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ชมที่เชื่อในโหราศาสตร์หัวเสีย ผู้บ่นว่า ไม่มีนักโหราศาสตร์มาให้ความเห็นเพื่อความสมดุลหลังจากรับฟังคำบ่นจากผู้เชื่อในโหราศาสตร์ นักฟิสิกส์ท่านนั้นให้คำพูดนี่แก่บีบีซี "ผมขอโทษต่อชุมชนโหราศาสตร์ที่ไม่ได้กล่าวจุดยืนของผมให้ชัดเจน ผมควรจะพูดว่า เรื่องเหลวไหลสมัยใหม่เช่นนี้ กำลังขุดรากทำลายฐานอารยธรรมของเรา"[50]และในรายการ Stargazing Live (การดูดาว สด) นักฟิสิกส์ท่านนั้นก็กล่าวเพิ่มอีกว่า "(ผมขอพูดอะไรหน่อย)เพื่อให้เกิดความสมดุลในรายการบีบีซี ครับ โหราศาสตร์เป็นเรื่องเหลวไหล"[51]บทความบรรณาธิการของวารสารการแพทย์อังกฤษบทความหนึ่ง อ้างเหตุการณ์นี้เพื่อแสดงว่า ความสมดุลเทียมสามารถเกิดขึ้นได้ในที่ไหนบ้าง[50]

ทั้งงานศึกษาทั้งโพลสำรวจแสดงว่า ความเชื่อในโหราศาสตร์ในประเทศตะวันตกอยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่คาด[9]ในปี ค.ศ. 2012 โพลแสดงว่า คนอเมริกัน 42% กล่าวว่า ตนคิดว่าโหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์โดยบางส่วน[52]: 7/25 ความเชื่อเช่นนี้ลดลงตามระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น และระดับการศึกษามีสหสัมพันธ์สูงกับระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์[9]: 345 

ระดับความเชื่อที่แจ้งเองดังที่พบในงานต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากความสับสนระหว่างคำอังกฤษว่า astrology (โหราศาสตร์) และ astronomy (ดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้า)แต่ความใกล้เคียงกันของสองคำนี้ต่าง ๆ กันในภาษาต่าง ๆ[9]: 344, 346 และคำอธิบายแบบโต้ง ๆ ของโหราศาสตร์ว่าเป็น "อิทธิพลเหนือธรรมชาติของดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ เป็นต้น ต่อวิถีชีวิตมนุษย์" ในโพล์ยุโรปปี ค.ศ. 1992 ไม่มีผลอะไรต่อการประเมินของสาธารณชนทั่วไปว่า โหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่นี้อาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ใต้จิตสำนึกในสาธารณชนทั่วไป ว่าคำอังกฤษที่ลงท้ายด้วย "ology" เป็นสาขาวิชาความรู้ที่มีเหตุมีผล[9]: 346 ในปี ค.ศ. 2004 มีการใช้โพลแบ่งส่วนเพื่อกำจัดความสับสนเรื่องคำครึ่งหนึ่งของโพลใช้คำว่า "astrology" อีกครึ่งหนึ่งใช้คำว่า "horoscope" (ดวงชะตาราศี)[9]: 349 ความเชื่อว่า astrology (โหราศาสตร์) เป็นวิทยาศาสตร์โดยบางส่วน อยู่ที่ระดับ 76% แต่ความเชื่อว่า horoscopes (ดวงชะตาราศี) เป็น อยู่ที่ระดับ 43%และความเชื่อว่าโหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์โดยระดับสูง อยู่ที่อัตรา 26% ในขณะที่ความเชื่อในดวงชะตาราศีอยู่ที่อัตรา 7%[9]: 352 ซึ่งเป็นงานที่ดูเหมือนจะชี้ว่า การสนับสนุนโหราศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในยุโรปเกิดจากความสับสนในคำพูด[9]: 362 

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง