ไอแพด (รุ่นที่ 1)

ไอแพดรุ่นที่หนึ่ง (อังกฤษ: first-generation iPad /ˈpæd/ eye-pad) เป็นแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบและวางจำหน่ายโดยบริษัทแอปเปิล เป็นรุ่นแรกในสายการผลิตไอแพด ตัวไอแพดรุ่นที่หนึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือชิปประมวลผลแอปเปิล เอ4 หน้าจอระบบสัมผัสขนาด 9.7” และความสามารถในการเชื่อมต่อกับสัญญาณโทรศัพท์ในบางรุ่น ตัวอุปกรณ์ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอสซึ่งสามารถเล่นเพลง รับ-ส่งอีเมลและเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีความสามารถอื่น ๆ เช่น เล่นวิดีโอเกม และเข้าถึงแหล่งข้อมูลอื่น ๆ การใช้ซอฟต์แวร์ระบุนำทางจีพีเอส และการใช้บริการเครือข่ายสังคม ผ่านการดาวน์โหลดโปรแกรมประยุกต์

ไอแพด
ผู้พัฒนาแอปเปิล
ผู้ผลิตฟ็อกซ์คอนน์
ตระกูลไอแพด
ชนิดแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์
วางจำหน่าย
3 เมษายน ค.ศ. 2010 (2010-04-03)
17 กันยายน ค.ศ. 2010 (2010-09-17)
ยกเลิก2 มีนาคม ค.ศ. 2011 (2011-03-02)
ระบบปฏิบัติการเดิม: ไอโอเอส 3.2
ปัจจุบัน: ไอโอเอส 5.1.1 ออกจำหน่าย 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 (2012-05-07)
พลังงานแบตเตอรีลิเทียมไอออนโพลิเมอร์ แบบชาร์จซ้ำได้3.75 V 24.8 W·h (6,613 mA·h,[1] อายุการใช้งาน 10 ชั่วโมง[2]
ชิพแอปเปิล เอ4[2]
หน่วยประมวลผล1 GHz ARM Cortex-A8[2][3]
ความจุหน่วยความจำแฟลช 16, 32 หรือ 64 GB[2]
หน่วยความจำ256 MB DDR RAM[4]
การแสดงผล1024 × 768 px 132 PPI 4:3 อัตราส่วนลักษณะ
9.7 in (250 mm) diagonal
ความละเอียดการแสดงผลกราฟิก, LED-backlit IPS LCD[2]
กราฟฟิกPowerVR SGX535[5]
ระบบเสียงบลูทูธ, ลำโพง, ไมโครโฟน, ตัวเสียบหูฟัง[2]
การรับเข้าจอสัมผัสมัลติทัช, เครื่องรับรู้ความใกล้ชิด และเครื่องรับรู้แบบ ambient light, มาตรความเร่ง 3 แกน, digital เข็มทิศ[2]
การเชื่อมต่อ
วายฟาย
802.11 a/b/g/n

Bluetooth 2.1 + EDR

รุ่นจีเอสเอ็ม ยังประกอบด้วย
UMTS / HSDPA
850, 1,900, 2,100 MHz
จีเอสเอ็ม / EDGE
850, 900, 1,800, 1,900 เมกะเฮิรตซ์
[2]
บริการออนไลน์ร้านไอทูนส์, แอปสโตร์, ไอคลาวด์, ไอบุ๊กส์
มิติ9.56 in (243 mm) (h)
7.47 in (190 mm) (w)
0.50 in (13 mm) (d)[2]
น้ำหนักWi-Fi: 1.5 lb (680 g)
Wi-Fi + 3G: 1.6 lb (730 g)[2]
รุ่นก่อนหน้านิวตัน
รุ่นต่อไปไอแพด 2
บทความที่เกี่ยวข้องไอโฟน, ไอพอดทัช (ข้อเปรียบเทียบ)
เว็บไซต์www.apple.com/ipad/

ไอแพดเปิดตัวในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2010 ในงานแถลงข่าว โดยไอแพดรุ่นวายฟายวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2010 ก่อนที่จะมีการวางจำหน่ายรุ่นวายฟาย+เซลลูลาร์ (สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายมือถือได้) เมื่อวันที่ 30 เมษายน ไอแพดวางจำหน่ายในออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน สเปน สวิสเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

ตัวอุปกรณ์ได้รับการตอบรับไปในแง่บวกจากบรรดาบล็อกและสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับเทคโนโลยี นักวิจารณ์ยกย่องตัวไอแพดในเรื่องพิสัยความสามารถที่กว้าง และจัดเป็นคู่แข่งกับคอมพิวเตอร์พกพาและเน็ตบุ๊ก แต่ไอแพดได้รับคำวิจารณ์ในบางประเด็น เช่น การจำกัดระบบปฏิบัติการ และไม่รองรับการใช้งานสื่อในรูปแบบอะโดบี แฟลช โดยในช่วง 80 วันแรกของการวางจำหน่ายนั้น ไอแพดถูกจำหน่ายไปทั้งสิ้น 3 ล้านเครื่อง และก่อนเปิดตัวไอแพด 2 ไอแพดรุ่นแรกจำหน่ายได้มากกว่า 15 ล้านเครื่อง

แอปเปิลเปิดตัวไอแพดรุ่นที่สอง ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2011 และประกาศยุติการผลิตไอแพดรุ่นแรก[6]

ประวัติ

สตีฟ จอบส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิลกล่าวไว้ใน ค.ศ. 1983 ว่าบริษัทของเขามี[7]

...กลยุทธ์ที่เรียบง่าย สิ่งที่เราอยากทำคือเราต้องการสร้างคอมพิวเตอร์ที่ดีเลิศอย่างเหลือเชื่อไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณสามารถพกพาไปด้วยได้ และสามารถเรียนรู้การใช้งานในเวลา 20 นาที และความจริงแล้วเราอยากทำโดยใส่สายวิทยุไว้ด้านในเพื่อที่คุณไม่ต้องนำไปต่อกับสิ่งใด ๆ และเพื่อคุณจะสามารถติดต่อกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่และคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ทั้งหมดเหล่านี้ได้[7]

แท็บเล็ตเครื่องแรกของแอปเปิลคือ นิวตัน เมสเสจแพด 100[8][9] เปิดตัวใน ค.ศ. 1993 นำไปสู่การสร้างชิปประมวลผล ARM6 ร่วมกับบริษัทเอคอร์นคอมพิวเตอร์ แอปเปิลยังพัฒนาตัวต้นแบบของแท็บเล็ต เพาเวอร์บุ๊ก ดูโอ ที่ชื่อว่า เพ็นไลต์ (PenLite) แต่ก็ตัดสินใจไม่วางจำหน่ายเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบยอดจำหน่ายของเมสเสจแพด[10] แอปเปิลยังคงออกพีดีเอรุ่นนิวตันอีกหลายรุ่น ก่อนหยุดพัฒนาใน ค.ศ. 1998 โดยรุ่นสุดท้ายที่ผลิตคือ เมสเสจแพด 2100

แอปเปิลกลับมาตีตลาดคอมพิวเตอร์แบบพกพาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007 ด้วยไอโฟน เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าไอแพด (ยังไม่เปิดตัวในขณะนั้น) มีกล้องถ่ายรูปและเป็นโทรศัพท์มือถือในตัว ไอโฟนบุกเบิกระบบจอสัมผัสมัลติทัชที่ไวต่อนิ้วมือของระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล

ก่อนปลายปี ค.ศ. 2009 เกิดข่าวลือเกี่ยวกับการวางจำหน่ายไอแพดอยู่หลายปี เรื่องความคาดหวังที่คนส่วนมากพูดถึงเกี่ยวกับ "แท็บเล็ตของแอปเปิล" เรียกเป็นชื่อเฉพาะต่าง ๆ เช่น ไอแท็บเล็ต (iTablet) และ ไอสเลต (iSlate)[11] มีรายงานว่าชื่อไอแพดตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่เครื่อง PADD อุปกรณ์ในบันเทิงคดีในภาพยนตร์ชุดสตาร์ เทรค ที่มีลักษณะคล้ายกับไอแพด[12] ไอแพดเปิดตัวในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2010 โดยสตีฟ จอบส์ ในงานแถลงข่าวของแอปเปิลที่ศูนย์ศิลปะเยอร์บาบูเอนา ในซานฟรานซิสโก[13][14]

จอบส์กล่าวในภายหลังว่าแอปเปิลเริ่มพัฒนาไอแพดก่อนไอโฟนเสียอีก[15][16] แต่พักความพยายามนี้ไว้ชั่วคราว หลังจากตระหนักว่ามันจะดีกว่าหากใช้แนวคิดดังกล่าวกับโทรศัพท์มือถือก่อน[17] ไอแพดมีรหัสภายในองค์กรว่า K48 โดชื่อนี้เปิดเผยในชั้นศาลขณะดำเนินคดีเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลก่อนวางจำหน่าย[18]

แอปเปิลเริ่มเปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อไอแพดล่วงหน้าในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 2010[19] โดยสิ่งที่ต่างไประหว่างไอแพดในระหว่างงานแถลงข่าวกับแบบที่จำหน่ายล่วงหน้าคือพฤติกรรมของสวิตช์ด้านข้างที่เปลี่ยนจากการปิดเสียงกลายเป็นการล็อกการหมุนหน้าจอ[20] ตัวไอแพดรุ่นวายฟายวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2010[19][21] และรุ่นวายฟาย + 3G วางจำหน่ายในวันที่ 30 เมษายน[19][22] โดยบริการ 3G ในสหรัฐอเมริกาให้บริการโดย เอทีแอนด์ทีโมบิลิตี เดิมจำหน่ายด้วยตัวเลือกแผนข้อมูลแบบจ่ายล่วงหน้าไม่ต้องเซ็นสัญญาสองตัวเลือก ได้แก่ ใช้งานข้อมูลได้ไม่จำกัด และการใช้ข้อมูล 250 เมกะไบต์ต่อเดือนในราคาครึ่งหนึ่ง[23][24] ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน แผนไม่จำกัดข้อมูลถูกแทนด้วยข้อมูล 2 จิกะไบต์ให้ลูกค้าใหม่ในราคาที่ถูกลงเล็กน้อย ขณะที่ลูกค้าเดิมสามารถใช้แผนเดิมได้[25] แผนดังกล่าวใช้ได้กับตัวไอแพดเองและสามารถยกเลิกเมื่อใดก็ได้[26]

เดิมไอแพดมีจำหน่ายเฉพาะร้านค้าออนไลน์ของแอปเปิล และสถานที่ขายปลีก แต่ภายหลังมีวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก เช่น อเมซอน วอลมาร์ต และร้านค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไอแพดวางจำหน่ายในออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมัน สเปน สวิสเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักรในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2010[27][28] เปิดให้ซื้อล่วงหน้าในประเทศดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม[22] ต่อมา แอปเปิลวางจำหน่ายไอแพดในฮ่องกง ไอร์แลนด์ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ในวันที่ 23 กรกฎาคมปีเดียวกัน ค.ศ. 2010[29][30][31] ประเทศอิสราเอลเคยห้ามนำเข้าไอแพดในระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากความกังวลว่าสัญญาณวายฟายจากไอแพดจะก่อกวนอุปกรณ์อื่น ๆ[32] ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2010 ไอแพดวางจำหน่ายในประเทศจีน[33]

คุณสมบัติ

ซอฟต์แวร์

เดิมนั้นไอแพดมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการไอโอเอส 3.2 ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2010 มีการประกาศว่าไอแพดจะใช้ไอโอเอส 4.2 ภายในพฤศจิกายน ค.ศ. 2010[34] แอปเปิลออกไอโอเอส 4.2.1 สู่สาธารณะในวันที่ 22 พฤศจิกายน[35] ไอแพดมาพร้อมกับโปรแกรมประยุกต์มากมาย เช่น ซาฟารี, เมล, รูปภาพ, วิดีโอ, ไอพอด, ไอทูนส์, แอปสโตร์, แผนที่, โน้ต, ปฏิทิน และรายชื่อ[36] โปรแกรมประยุกต์หลายโปรแกรมปรับปรุงจากรุ่นของไอโฟนหรือแมคอินทอช

ไอแพดเชื่อมต่อกับไอทูนส์บนแมคหรือวินโดวส์ได้[13] แอปเปิลพ่วงชุดโปรแกรม ไอเวิร์ก จากแมคมาลงไอแพด และขายในรูปแบบของโปรแกรม เพจเจส นัมเบอส์ และคีย์โน้ต ในแอปสโตร์[37] แม้ว่าไอแพดจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้แทนโทรศัพท์มือถือ แต่ผู้ใช้ก็สามารถใช้หูฟังหรือไมโครโฟนที่มาพร้อมเครื่องทำเป็นโทรศัพท์ผ่านวายฟายหรือ 3G โดยใช้โปรแกรมประยุกต์ วอยซ์โอเวอร์ไอพี[38]

ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2011 ไอโอเอส 5 ออกจำหน่ายสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ไอโอเอส รวมทั้งไอแพดรุ่นแรก ดาวน์โหลดได้ผ่านไอทูนส์[39] รุ่นใหม่รายงานว่ามีคุณสมบัติใหม่ รวมถึง การผนวกทวิตเตอร์เข้าไปในระบบปฏิบัติการ การใช้งานศูนย์การแจ้งเตือน (Notification Center) และไอเมสเสจ ที่ให้ผู้ใช้สามารถส่งข้อความหรือไฟล์มัลติมีเดียต่าง ๆ ให้ผู้ใช้งานอื่น ๆ บนไอโอเอส และโอเอสเทน ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์แอปเปิล[40] รุ่นใหม่นี้ยังมี ไอคลาวด์ โปรแกรมประยุกต์บนไอโอเอสและบริการเก็บข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตของแอปเปิลที่ให้ผู้ใช้เชื่อมต่อและสำรองข้อมูลและการตั้งค่าของอุปกรณ์อื่น ๆ ของผู้ใช้ได้ด้วย[41] ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 2012 มีประกาศว่าไอโอเอส 6 จะไม่ออกจำหน่ายสำหรับไอแพดรุ่นแรก โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ เกี่ยวกับเหตุดังกล่าว ทำให้ไอโอเอส 5.1.1 เป็นระบบปฏิบัติการรุ่นสุดท้ายไอแพดรุ่นแรกรองรับ[42][43]

ฮาร์ดแวร์

ไอแพดรุ่นแรกในกรอบสีดำ

ไอแพดรุ่นแรกใช้ชิปประมวลผลแอปเปิล เอ4 SoC[3] ซึ่งมีหน่วยประมวลผลกลาง 1 จิกะเฮิรตซ์ แรม 256 เมกะไบต์ และ หน่วยประมวลผลกราฟิกส์ รุ่น PowerVR SGX535 [2][4] ตัวไอแพดรุ่นแรกมีปุ่มอยู่ 4 ปุ่ม คือปุ่มโฮม (home) อยู่ใกล้หน้าจอที่ใช้กลับมาที่เมนูหลัก และอีก 3 ปุ่มที่อยู่ด้านข้าง ได้แก่ปุ่ม ตื่น/หลับ (wake/sleep) ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง (volume up/down) และอีกปุ่มหนึ่งที่การทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปตามการอัปเดตซอฟต์แวร์ เดิมปุ่มดังกล่าวใช้ล็อกหน้าจอให้อยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ไอโอเอส 4.2 เปลี่ยนให้เป็นปุ่มปิดเสียง (mute) และย้ายการล็อกหน้าจอไปไว้ที่เมนูบนหน้าจอ[44] ในไอโอเอส 4.3 มีการตั้งค่าเพิ่มมาให้ผู้ใช้กำหนดให้ปุ่มด้านข้างเป็นปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอหรือปิดเสียงก็ได้[2] ไอแพดรุ่นแรกไม่มีกล้องถ่ายรูปในตัว ต่างจากไอแพดรุ่นต่อ ๆ มา[45]

หน้าจอของไอแพดเป็นระบบจอสัมผัส ความละเอียด 1,024 x 768 พิกเซล ขนาด 7.75 x 5.82 นิ้ว (197 x 148 มิลลิเมตร) หน้าจอเป็นจอภาพผลึกเหลว โดยมีกระจกแก้วที่ป้องกันรอยและลายนิ้วมือ ตัวหน้าจอมีความหนาแน่นของพิกเซลอยู่ที่ 132 พิกเซลต่อนิ้ว[2] โดยหน้าจอมีการตอบสนองกับตัวรับรู้ต่าง ๆ ได้แก่ ตัวรับรู้ความสว่างของแสงเพื่อความสว่างของหน้าจอได้ รวมทั้งตัวรับรู้มาตรความเร่ง (accelerometer) แบบ 3 แกน ที่ตรวจจับทิศการวางของไอแพด และปรับเปลี่ยนการแสดงภาพในแนวนอนและแนวตั้ง โปรแกรมประยุกต์ไอแพดต่างจากโปรแกรมประยุกต์บนไอโฟนและไอพอดทัช ที่รองรับทิศการวาง 3 ทิศ (แนวตั้ง, แนวนอนตะแคงซ้าย และแนวนอนตะแคงขวา) โปรแกรมประยุกต์บนไอแพดรองรับทิศการวางทั้ง 4 ทิศ (รวมถึงการกลับหัว) ไอแพดจึงไม่มีทิศที่เป็น "ค่าปริยาย" ที่แท้จริง มีเพียงตำแหน่งของปุ่มโฮมที่เปลี่ยนไป[46]

ไอแพดรุ่นแรกมาพร้อมกับหน่วยความจำ 16GB 32GB และ 64GB สามารถเชื่อมต่อได้สองรูปแบบคือ วายฟายอย่างเดียว หรือวายฟายและสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (WiFi + Cellular)[2] โดยในไอแพดรุ่นแรกในรูปแบบวายฟายและสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะรองรับมาตรฐานจีเอสเอ็ม/ยูเอ็มทีเอส และไม่รองรับซีดีเอ็มเอ แต่รองรับเอจีพีเอสได้เหมือนกับรุ่นต่อ ๆ มา[2]

น้ำหนักของไอแพดรุ่นแรกแตกต่างตามประเภทของภาวะเชื่อมต่อ โดยรูปแบบวายฟายอย่างเดียวจะหนัก 1.5 ปอนด์ (680 กรัม) ในขณะที่รุ่นวายฟายและสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จะหนัก 1.6 ปอนด์ (730 กรัม)[2] แต่ขนาดของไอแพดมีพิสัยทุกด้านรวมเท่ากัน วัดได้ 9.56×7.47×0.50 นิ้ว (243×190×13 มิลลิเมตร)[2]

อุปกรณ์เสริม

แอปเปิลเสนออุปกรณ์เสริมให้ไอแพดรุ่นแรกหลายอย่าง[47] ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแปลง (adapter) สำหรับใช้ตัวเชื่อมแท่นเสียบ (dock connector) ขนาด 30 พิน และช่องสำหรับเสียบหูฟัง แท่นเสียบมีไว้ตั้งไอแพดที่มุมระดับหนึ่ง และมีตัวเชื่อมแท่นเสียบและช่องต่อสายเสียบออดิโอ ไอแพดแต่ละรุ่นต้องใช้ช่องเสียบของแต่ละรุ่น แท่นเสียบที่มีคีย์บอร์ดรองรับเพียงในไอแพดรุ่นที่หนึ่งเท่านั้น[48] แต่ไอแพดทุกรุ่นรองรับคีย์บอร์ดบลูทูธที่ใช้ได้กับแมคอินทอชและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไอแพดชาร์จได้ด้วยตัวชาร์จไฟฟ้า 10 วัตต์ ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับไอพอดและไอโฟน[49]

การตอบรับ

การตอบรับจากนักวิจารณ์

สื่อมวลชนมีปฏิกิริยาต่องานเปิดตัวไอแพดและตัวไอแพดเองในแบบคละกัน สื่อรายงานว่ามีคนหลายพันคนเข้าแถวรอวันจำหน่ายวันแรกในหลาย ๆ ประเทศ โดยคนที่รอส่วนใหญ่อ้างว่า "คุ้มค่าที่จะรอ"[50][51]

วอลต์ มอสเบิร์ก (จากเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล) ให้ความเห็นว่า "สิ่งสำคัญคือซอฟต์แวร์ต่างหาก" หมายความว่าคุณสมบัติเชิงฮาร์ดแวร์และรูปร่างนั้นสำคัญน้อยกว่าซอฟต์แวร์และส่วนประสานผู้ใช้ของไอแพด ซึ่งการประทับใจแรกของเขาต่อเรื่องดังกล่าวเป็นไปในทางบวกเป็นส่วนใหญ่ มอสเบิร์กมองว่าราคา "ย่อมเยา" สำหรับอุปกรณ์ที่มีความสามารถเช่นนี้ และยกย่องอายุแบตเตอรีที่ยาวนาน 10 ชั่วโมง[52] ขณะที่สื่ออื่น ๆ เช่น นิตยสารพีซีแอดไวเซอร์ และเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ เขียนว่าไอแพดจะเอาชนะเน็ตบุ๊กที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และส่วนใหญ่ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์[53][54] ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่ 499 ดอลลาร์ (เทียบเท่ากับ 541 ดอลลาร์ใน ค.ศ. 2016) น้อยกว่าราคาที่นักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีตและคู่แข่งของแอปเปิลได้ประมาณไว้ก่อนวางจำหน่าย โดยนักวิเคราะห์จากทุกแหล่งคาดหวังราคาที่สูงกว่านั้นมาก[55][56][57]

สื่อดังกล่าวยังยกย่องเรื่องจำนวนโปรแกรมประยุกต์ รวมถึงร้านหนังสือและโปรแกรมประยุกต์สื่ออื่น ๆ[58][59] ในทางกลับกัน บางแหล่ง เช่น บีบีซี ตำหนิไอแพดที่เป็นระบบปิดและกล่าวว่า ไอแพดต้องต่อสู้กับแท็บเล็ตหลายรุ่นที่เป็นแอนดรอยด์[50] อย่างไรก็ตาม ขณะที่ไอแพดรุ่นแรกวางจำหน่าย ยาฮูนิวส์ชี้ว่าแท็บเล็ตที่ใช้แอนดรอยด์ ที่ชื่อ "ฮันนีโคมบ์" (Honeycomb) ไม่ได้เป็นโอเพนซอร์ส และมีโปรแกรมน้อยกว่าโปรแกรมของไอแพด[60] แต่กูเกิลก็ออกซอร์สโค้ดสำหรับฮันนีโคมบ์ตั้งแต่นั้นมา[61] หนังสือพิมพ์ดิอินดีเพ็นเดนต์ตำหนิไอแพดที่ไม่เหมาะกับการอ่านในที่สว่างได้เหมือนกับกระดาษ แต่ยกย่องที่สามารถเก็บหนังสือขนาดใหญ่ได้จำนวนมาก หลังจำหน่ายในสหราชอาณาจักร หนังสือพิมพ์เดอะเดลีเทเลกราฟกล่าวว่า การที่ไอแพดไม่สนับสนุนอะโดบี แฟลช นั้นเป็นสิ่งที่ "น่ารำคาญ"[62]

ไอแพดได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมยอดเยี่ยม 50 อย่างในปี ค.ศ. 2010[63] ขณะที่นิตยสารป็อปปูลาร์ไซนส์เลือกไอแพดเป็นแกดเจ็ตยอดเยี่ยม[64] รองจาก โกรเอซิส วอเทอร์บอกซ์ ที่เป็น "สิ่งใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี ค.ศ. 2010"[65]

การตอบรับเชิงการค้า

ในวันจำหน่ายวันแรก ขายไอแพดได้ 300,000 เครื่อง[66] ไอแพดขายได้ 1 ล้านเครื่องภายในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2010[67] ใช้เวลาเพียงครึ่งเดียวของที่ไอโฟนรุ่นแรกเคยทำไว้[68] หลังจากผ่านยอดขาย 1 ล้านเครื่อง ไอแพดก็ยังทำยอดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และขายได้ถึง 3 ล้านหลังจากนั้น 80 วัน[69] ในระหว่างการแถลงผลประกอบการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2010 สตีฟ จอบส์ประกาศว่าแอปเปิลขายไอแพดได้มากกว่าแมคอินทอชในปีงบประมาณนั้น[70] โดยรวมแล้ว แอปเปิลจำหน่ายไอแพดได้มากกว่า 15 ล้านเครื่องก่อนออกไอแพด 2 ซึ่งมากกว่าแท็บเล็ตอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกันนับตั้งแต่ออกไอแพดมา[71]และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดของแท็บเล็ตได้ 75% เมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2010[72]

ข้อวิจารณ์

ซีเน็ตวิจารณ์ไอแพดที่ไม่มีการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ทั้ง ๆ ที่อุปกรณ์พกพาชนิดอื่น เช่น ซูน ของไมโครซอฟท์มีมาแล้วหลายปี[73]

วอลต์ มอสเบิร์ก เรียกไอแพดว่า "เกือบจะเป็น" นักฆ่าแล็ปท็อป[74] เดวิด โพ้ก จากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เขียนบทวิจารณ์ "สองส่วน" ส่วนแรกวิจารณ์สำหรับคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และอีกส่วนหนึ่งวิจารณ์สำหรับคนที่ไม่ชื่นชอบเทคโนโลยี ในส่วนแรก เขากล่าวว่าแล็ปท็อปมีคุณสมบัติมากกว่าในราคาถูกกว่าไอแพด ในบทวิจารณ์สำหรับคนกลุ่มหลัง เขากล่าวว่า ถ้านักอ่านของเขาชอบแนวคิด และเข้าใจประโยชน์ที่แท้จริงของไอแพด แล้วพวกเขาจะชอบใช้อุปกรณ์นี้[75] ทิม กิเดียน จากนิตยสารพีซีแมกาซีน เขียนว่า "คุณมีผู้ชนะของคุณเอง" ที่ "จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการกำหนดทิศทางของแท็บเล็ตอย่างไม่มีข้อกังขา"[76] ไมเคิล อาร์ริงตัน จากเทคครันช์ กล่าวว่า "ไอแพดเกินความคาดหมายในแง่บวกของผม มันเป็นอุปกรณ์ประเภทใหม่ แต่มันก็จะเข้ามาแทนที่แล็ปท็อปของคนจำนวนมาก"[77] นิตยสารพีซีเวิลด์วิจารณ์ไอแพดเรื่องการแชร์ไฟล์และการพิมพ์[78] และนิตยสารอาร์สเทคนิกา ชี้แจงว่าการแชร์ไฟล์กับคอมพิวเตอร์เป็น "หนึ่งในคุณสมบัติที่ชื่นชอบน้อยที่สุดหลังจากใช้งานไอแพด"[79]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้าไอแพด (รุ่นที่ 1)ถัดไป
iPad (1st generation)
(1st generation)
ไอแพด 2
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง