ข้ามไปเนื้อหา

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก
กองกำลัง 972 ไทย-ติมอร์ตะวันออก
กำลังผลัดที่ 1 ระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยมี พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (ชื่อเดิมยศขณะนั้น พันตรี มณเฑียร แก้วแท้) อดีตผู้บัญชาการทหารบกร่วมในกำลังชุดดังกล่าว[1]
ประจำการ1 กุมภาพันธ์ 2543–23 มิถุนายน 2547
ประเทศไทย
เหล่า กองทัพไทย
รูปแบบผู้มิใช่พลรบ
บทบาท
กำลังรบประมาณ 6,300 นาย
ขึ้นกับ
กองบัญชาการ
สมญา
  • กกล.ฉก.ร่วม 972 ไทย / ติมอร์
  • (JTF 972 Thai/East Timor)
ปฏิบัติการสำคัญวิกฤตการณ์ติมอร์ตะวันออก
ผู้บังคับบัญชา
รอง.ผบ.
กกล.นานาชาติ
ไทย พลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์
ผบ.กกล.ฉก.ร่วม
972 ไทย/ติมอร์
ไทย พลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์
ผบ.กกล.
สหประชาชาติ

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก (อังกฤษ: Thai Joint Task Force 972 Thai/East Timor) หรือ กกล.ฉก.ร่วม 972 ไทย/ติมอร์ เป็นหน่วยทหารของกองทัพไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (INTERFET), องค์การบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNTAET) และคณะผู้แทนสนับสนุนติมอร์ตะวันออกของสหประชาชาติ (UNMISET) ในวิกฤตการณ์ติมอร์ตะวันออก ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ประเทศติมอร์-เลสเต

ประวัติ

ที่มาความขัดแย้ง

ในอดีตนั้น ติมอร์ตะวันออกเคยเป็นหนึ่งในอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2402 ในข้อตกลงความระหว่างโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ โดยแบ่งเขตของเกาะติดมอร์ออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งตะวันออกเป็นของโปรตุเกส และฝั่งตะวันตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเนเธอร์แลนด์ได้ให้เอกราชแก่อินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2429 พร้อมทั้งปลดปล่อยติมอร์ตะวันตกในปีต่อมา ในขณะที่ติมอร์ตะวันออกยังคงอยู่ในปกครองของโปรตุเกสอยู่กระทั่งโปรตุเกสได้แสดงความจำนงที่จะถอนตัวออกจากพื้นที่ติมอร์ตะวันออกในปี พ.ศ. 2518 โดยวางแผนที่จะมอบให้เป็นส่วนหนึ่งกับอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในประเทศจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระยะเวลา 3 เดือน และพรรคหัวรุนแรงที่ชื่อว่า FRETILIN ได้รับชัยชนะพร้อมทั้งประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งทำให้อินโดนีเซียยอมรับไม่ได้และประกาศส่งกองกำลังอาสาสมัครเข้าไปปฏิบัติการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518 ด้วยเหตุผลในการช่วยปลดปล่อยชาวติมอร์ตะวันออกจากพรรค FRETILIN และสามารถผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียเป็นจังหวัดที่ 27 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2519

หลังจากตกเป็นดินแดนของอินโดนีเซีย สหประชาชาติกลับยังคงถือตามผู้ปกครองเดิมคือโปรตุเกส และพยามเจรจาถึงสถานะของติมอร์ตะวันออกกับอินโดนีเซียตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 - 2541 มีการเจรจาเกิดขึ้นประมาณ 10 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าปัญหาจะยุติลง เนื่องจากทั้งโปรตุเกสและอินโดนีเซียมีจุดยืนที่แตกต่างกัน ในขณะที่ภายในติมอร์ตะวันออกนั้นก็มีการเคลื่อนไหวจากขบวนการ FRETILIN เดิมในรูปแบบสงครามกองโจรกับกองทหารของอินโดนีเซีย และการเรียกร้องเอกราชจากนักศึกษาชาวติมอร์ตะวันออก กระทั่งปัญหาได้รับการมองเห็นในระดับนานาชาติและมีการมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2539 ให้กับบาทหลวง คาร์ลอส เบโล บาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกในติมอร์ตะวันออก และนายโจเซ รามอส ฮอร์ตา หัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนติมอร์ตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีแนวคิดจากที่ปรึกษากิจการติมอร์ตะวันออกเสนอให้กำหนดติมอร์ตะวันออกเป็นเขตการปกครองตนเองพิเศษ ที่ปกครองตนเองได้แต่ไม่มีอำนาจในการตกลงนโยบายต่างประเทศ ระบบยุติธรรม และการปกครองประเทศ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกนายรามอสปฏิเสธ จนกระทั่งประธานาธิบดี ซูฮาร์โต ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ได้มีการเคลื่อนไหวไปยังประธานาธิบดีคนใหม่คือ ฮาบีบี ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวติมอร์ตะวันออกทั้งหมดรวมถึงหัวหน้ากองกำลังของขบวนการ FRETINLIN นายซานานา กุสเมา รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากผู้นำสหภาพยุโรปสนับสนุนการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกตัดสินอนาคตของตน

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 กองกำลังพลเรือนอาสาสมัคร (Militia) ที่ได้รับการสนับสนุนอาวุธจากกองทัพอินโดนีเซียได้ปฏิบัติการสังหารกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของติมอร์ตะวันออก จนกระทั่งมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างกลุ่มสนับสนุนเอกราชกับกลุ่มที่ต้องการรวมอยู่กับอินโดนีเซีย ในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2542 ณ เมืองดิลี ต่อมารัฐบาลของอินโดนีเซียและโปรตุเกสได้บรรลุในข้อตกลงในการเตรียมการหยั่งเสียงประชามติของชาวติมอร์ตะวันออกตามสิทธิกำหนดใจตนเอง โดยให้ลงคะแนนว่าจะเป็นดินดนที่มีสิทธิในการปกครองตนเองใต้รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย หรือต้องการแยกตนเองเป็นเอกราช กำหนดให้ลงประชามติในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2542 และระบุให้สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่พลเรือนและเจ้าหน้าที่ตำรวจพลเรือนมาในติมอร์ตะวันออกเพื่อช่วยเหลือกระบวนการประชามติ และให้รัฐบาลอินโดนีเซียดำเนินการการลงคะแนนเสียงประชามติเพื่อประกันความปลอดภัยในติมอร์ตะวันออก

องค์การสหประชาชาติได้มีมติที่ 1246 (1999) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ให้จัดตั้งคณะผู้แทนสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (United Nations Mission in East Timor: UNAMET) มีภารกิจในการการจัดการลงคะแนนเสียงของชาวติมอร์ตะวันออก และประธานาธิบดีฮาบิบีได้ขอให้สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์เข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการดังกล่าว ซึ่งมีการจัดตั้งสำนักงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2542 และเตรียมการหน่วยเลือกตั้งจำนวน 700 หน่วยสำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนประมาณ 450,000 คน โดยประเทศไทยได้ส่งกำลังตำรวจพลเรือนเข้าร่วม 7 นาย (ประกอบด้วยตำรวจหญิงด้วย 1 นาย) และนายทหารประสานงาน 2 นาย ขณะที่อินโดนีเซียได้ประกาศถอนกำลังทหารจำนวนหนึ่งออกจากพื้นที่ และแทนที่ด้วยกำลังตำรวจจำนวน 2,500 นายเพื่อสมทบกับกำลังตำรวจพลเรือนที่มีอยู่เดิม 4,000 นาย ซึ่งสหประชาชาติได้ประเมินว่ากำหนดการเดิมนั้นไม่เหมาะสมเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่มีความปลอดภัยมากเพียงพอ จึงได้เลื่อนออกไปครั้งแรกเป็นวันที่ 22 สิงหาคม และเลื่อนอีกครั้งเป็นวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2542

ระหว่างการรนรงค์ประชามติของกลุ่มที่ต้องการปกครองตนเองภายใต้อินโดนีเซียนั้น กองกำลังพลเรือนอาสาสมัคร (Militia) ได้ใช้ความรุนแรงรวมไปถึงสังหารผู้ที่สนับสนุนเอกราชของติมอร์ตะวันออก ทำให้เกิตปฏิกิริยาจากองค์กรอิสระต่าง ๆ โดยเฉพาะสหประชาชาติ นักการทูต และองค์กรสิทธิมนุษยชนในเชิงลบ และเชื่อว่ากองทัพอินโดนีเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

จากผลการลงคะแนนเสียง นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติได้แถลงเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2542 ว่าชาวติมอร์ตะวันออกต้องการเป็นเอกราช ร้อยละ 72.5 (344,580 คะแนน) และเลือกเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียในรูปแบบปกครองตนเอง ร้อยละ 21.5 (94,388 คะแนน) ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ยอมรับผลการลงประขามติและจะแจ้งต่อสภาที่ปรึกษาประชาชนในเดือนพฤษจิกายน พ.ศ. 2542

หลังจากการประกาศผลการลงประชามติ กลุ่มผู้สนับสนุนการรวมกับอินโดนีเซียได้ก่อความรุนแรงและประกาศไม่ยอมรับผลการลงประชามติ โดยได้ก่อความไม่สงบด้วยการสังหารประชาชนที่สนับสนุนการเป็นเอกราช การบังคับและผลักดันชาวติมอร์ตะวันออกไปยังฝั่งติมอร์ตะวันตก รวมไปถึงการคุกคามอาสาสมัครท้องถิ่นของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่ UNAMET ผู้สื่อข่าวต่างชาติ ค่ายพักและค่ายผู้อพยพของกาชาตสากลก็ถูกโจมตีด้วย ทำให้เกิดการประนามไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียที่ไม่มีความจริงใจในการควบคุมสถานการณ์เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอินโดนีเซียไม่ได้ช่วยป้องกันหรือระงับความวุ่นวายดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากนานาชาติ และกดดันให้มีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติการในติมอร์ตะวันออก

กระทั่งวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2542 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศกฎอัยการศึกในติมอร์ตะวันออก และแต่งตั้ง พลตรี กิกิ สยานากริ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนเอกราชและผู้สนับสนุนการรวมกับอินโดนีเซียยอมรับเนื่องจากเคยประจำการในติมอร์ตะวันออกมากว่า 11 ปีขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออกเพื่อควบคุมสถานการณ์

ส่งกองกำลัง

ประธานาธิบดี ฮาบิบีได้ประกาศอนุญาตและยอมรับให้จัดส่งกองกำลังนานาชาติเข้าไปในติมอร์ตะวันออกเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2542 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 1264 (1999) เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2542 ให้จัดตั้งกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (International force in East Timor: INTERFET) ซึ่งเป็นกองกำลังผสมนานาชาติของออสเตรเลียที่มิใช่ของสหประชาชาติ มีภารกิจในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ UNAMET และปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม

ในระหว่างการประชุมเอเปคในวันที่ 12-13 กันยายน พ.ศ. 2542 ณ ออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้แทนประธานาธิบดีได้แจ้งกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่าอินโดนีเซียต้องการให้ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนได้ส่งกองกำลังทหารไม่น้อยกว่า 3 กองพันเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เดินทางไปพบปะหารือกับ พลเอก วิรันโต้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย พร้อมกับประธานาธิบดี ฮาบิบี ที่จาร์กาตา ซึ่งพลเอก วิรันโต้ได้ยืนยันว่ากองทัพอินโดนีเซียไม่ได้ต่อต้านกองกำลังนานาชาติ แต่หากเป็นไปได้ก็ต้องการให้กองกำลังส่วนใหญ่มาจากประชาคมอาเซียน

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการของกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (INTERFET) หลังจากวิกฤตการณ์ติมอร์ตะวันออกโดยมี พลตรี ปีเตอร์ คอสโกรฟ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 กองทัพบกออสเตรเลีย เป็นผู้บัญชาการ และพลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เป็นรองผู้บัญชาการของกองกำลัง ระดมกำลังพลจาก 23 ประเทศเข้าร่วมปฏิบัติการยุติเหตุการณ์รุนแรงจากการก่อความวุ่นวายในวิกฤตการณ์ดังกล่าวประมาณ 10,000 นาย รวมถึงประเทศไทยที่ได้ส่งกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกปฏิบัติการจำนวน 1,581 นาย[2] ภายใต้คำสั่งการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2542 และให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติ คือวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2542 และได้รับการร้องขอจากนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในวันเดียวกันให้ส่งกองกำลังส่วนหน้าจำนวน 20-30 นายไปร่วมวางแผนการปฏิบัติการกับฝ่ายออสเตรเลีย

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2542 พลอากาศโท ดักลาส ริดดิง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดออสเตรเลียได้เดินทางเข้าพบเสนาธิการทหาร และผู้บัญชาการทหารบกเพื่อหารือถึงประเด็นการร้องขอกำลังทหารไทยเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติ จากนั้นได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ส่งนายทหารเพื่อร่วมวางแผนงานให้เดินทางไปยังเมืองดาร์วินและดิลีในการหารือกับพลตรีคอสโกรฟ รวมถึงเสนอตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกำลังนานาชาติให้กับไทย โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เลือกให้ พลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำจากาตาร์เป็นรองผู้บัญชาการกองกำลัง ซึ่งได้รับการตอบรับจากทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซียเป็นอย่างดี

ต่อมาในช่วงต้นปี พ.ศ. 2543 ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในคณะผู้แทนองค์การบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออกเวลานั้น คือ พลโท ไฮเม เด โลส ซานโตส (Jaime de los Santos) แห่งกองทัพฟิลิปปินส์ได้ขอออกจากตำแหน่งก่อนกำหนด ทำให้ตำแหน่งว่างลง สหประชาชาติโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติได้แต่งตั้ง พลโท บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ[2]จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2544 และได้ประกาศแต่งตั้ง พลโท วินัย ภัททิยกุล ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการในเวลาต่อมาหลังจาก พลโท บุญสร้างหมดวาระ[3][2]

ภาพรวมของกองกำลัง

ทหารออสเตรเลีย (ซ้าย) และรถบรรทุกทหารทะเบียนตรากงจักรของกองทัพบกไทย (ขวา) ในเมืองดิลี, ติมอร์-เลสเต

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก ประกอบกำลังพลจาก

ช่วงที่ 1: กองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกส่วนแรกที่รัฐบาลไทยส่งมาร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออกมีจำนวน 1,581 นาย ระหว่างปี พ.ศ. 2542 และสิ้นสุดลงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยมี พลโท ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองกำลังนานาชาติ ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก[6] และส่งต่อการควบคุมกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังองค์การบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNTAET)[7]

ช่วงที่ 2: UNTAET - UNMISET

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกในช่วงเวลาการบริหารงานขององค์การบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNTAET) ระหว่างผลัดที่ 1 – 4 และหลังจากได้แปรสภาพเป็นคณะผู้แทนสนับสนุนติมอร์ตะวันออกของสหประชาชาติ (UNMISET) ระหว่างผลัดที่ 5 – 9 กองกำลังได้จัดกำลังมาปฏิบัติหน้าที่ที่ติมอร์ตะวันออกจำนวน 9 ผลัด จำนวนประมาณ 6,300 นาย[5] แบ่งกำลังออกเป็นกำลังหลัก 8 ผลัด และผลัดเสริม 1 ผลัด ประกอบไปด้วย

ผลัดที่ 1

ผลัดที่ 1 ปฏิบัติการหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2543[7] ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 900 นาย[8]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 1

ผลัดที่ 2

ผลัดที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 690 นาย[7]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 2

ผลัดที่ 3

ผลัดที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 690 นาย โดยผลัดนี้มีระยะเวลาการประจำการที่สั้นเนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในติมอร์-เลสเต[9][7]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 3
    • พันเอก ปรีชา พลายอยู่วงษ์ ผู้บังคับการกองกำลังฯ

ผลัดที่ 4

ผลัดที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 – 31 มกราคม พ.ศ. 2545 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 690 นาย[7]

ผลัดที่ 5

ผลัดที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ประกอบด้วยกำลังพลที่ลดลงเหลือเพียง 350 นายเนื่องจากการปรับลดขนาดกองกำลังของสหประชาชาติในภาพรวม[7]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 5
    • พันโท จรินทร์ จ้อยสองสี ผู้บังคับการกองกำลังฯ

ผลัดที่ 6

ผลัดที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2545[7] – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546[7][10]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 6
    • พันโท กาจบดินทร์ ยิ่งดอน ผู้บังคับการกองกำลังฯ
    • พันเอก ณรงค์ สวนแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน[10]

ผลัดที่ 7

ผลัดที่ 7 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 501 นาย[7]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 7
    • พันโท ชวลิต จารุกลัส ผู้บังคับการกองกำลังฯ

ผลัดที่ 8

ผลัดที่ 8 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างนที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 – มกราคม พ.ศ. 2547 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 496 นาย[7]

  • ผู้บังคับบัญชาประจำกองกำลังฯ ผลัดที่ 8
    • พันโท อำนาจ ศรีมาก ผู้บังคับการกองกำลังฯ

ผลัดที่ 9 (เสริม)

ผลัดที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ประกอบด้วยกำลังพลจำนวน 52 นาย เนื่องจากเป็นกำลังสนับสนุนหน่วยแพทย์ระดับ 2 ตามการร้องขอขององค์การสหประชาชาติซึ่งเป็นกองกำลังนอกเหนือจากผลัดปฏิบัติการหลักทั้ง 8 ผลัด ทำให้กำลังพลที่เหลืออยู่มีเพียงฝ่ายอำนวยการ กำลังผลสนับสนุนอื่น ๆ จำนวน 12 นาย และหน่วยแพทย์ระดับ 2 จำนวน 40 นาย บังคับการโดย พันโท มาวิน โอสถ[7]

ปฏิบัติการ

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก มีภารกิจหลักตามกรอบของสหประชาชาติ 3 ประการ[11] คือ

  • ฟื้นฟูสันติภาพและความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ในติมอร์ตะวันออก
  • คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในคณะผู้แทนสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNAMET) และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
  • สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวติมอร์ตะวันออก

พื้นที่ปฏิบัติการ

กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกของติมอร์ตะวันออก (Sector East) ในผลัดที่ 1-6 มีที่ตั้งกองบังคับการอยู่ที่สนามบินเมืองเบาเกา รับผิดชอบพื้นที่เกือบ 1 ใน 2 ของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลักได้แก่ เลาเทม วีเกเก และลอสปาลอส[7]

ต่อมาในช่วงกลางของผลัดที่ 6 สหประชาชาติได้ปรับพื้นที่ปฏิบัติการของกองกำลังฯ ไปยังพื้นที่ภาคตะวันตก (Sector West) ติดต่อกับชายแดนประเทศอินโดนีเซีย มีที่ตั้งของกองบังคับการอยู่ที่เมืองซูไว (Suai) ดูแลภารกิจต่อจากนิวซีแลนด์ซึ่งสิ้นสุดภารกิจในภูมิภาคดังกล่าวอันเนื่องมาจากการปรับลดกำลังกองรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก ทำให้กองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมถึงจุดผ่านแดนตามแนวชายแดนระหว่างติมอร์ตะวันออกและอินโดนีเซีย ทำให้มีผลงานเด่นคือการจัดกำลังเข้าร่วมการปักปันเขต (Border Demarcation) แดนระหว่างทั้งสองประเทศ[7]

ส่วนปฏิบัติการอื่น

นอกจากกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออกที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามของสหประชาชาติจากประเทศไทยแล้ว ยังมีกองกำลังของกองทัพไทย[7]และตำรวจไทยส่วนอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่ในนามสหประชาชาติ เช่น

กองทัพไทย

  • ผู้สังเกตการณ์ทางทหาร (UNMO – United Nations Military Observer) ปฏิบัติการระยะเวลา 1 ปี จัดกำลังจากกองทัพไทย (กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) โดยเป็นนายทหารยศร้อยเอกจนถึงพันตรี ผลัดละ 6 นาย ในการสังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งติมอร์ตะวันออก[7]
  • เจ้าหน้าที่เทคนิคกระสุนและวัตถุระเบิด (EOD – Explosive Ordnance Disposal) ปฏิบัติการระยะเวลา 6 เดือนเท่ากับกองกำลังหลัก ผลัดละ 3 นาย[7]
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ ปฏิบัติงานประจำกองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ ณ เมืองดิลีจำนวน 7 นาย ประจำกองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ ภาคพื้นตะวันตก ณ เมืองซูไว จำนวน 10 นาย และประจำในสำนักงานผู้แทนประเทศไทยจำนวน 5 นาย[7]

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในช่วงเปลี่ยนผ่านคณะผู้แทนบูรณาการของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (UNMIT) เนื่องจากในระยะเวลานั้นประเทศติมอร์ตะวันออกไม่มีตำรวจพลเรือนปฏิบัติงานอยู่ โดยประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปร่วมปฏิบัติการจำนวน 31 นาย ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นตำรวจหญิง 28 นาย และตำรวจหญิง 3 นาย เพื่อไปปฏิบัติงานร่วมกันกับตำรวจจากอีก 40 ประเทศรวม 1,608 นาย[12]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง