กะโหลกศีรษะ

กะโหลกศีรษะ (อังกฤษ: skull) เป็นโครงสร้างของกระดูกที่ประกอบขึ้นเป็นโครงร่างที่สำคัญของส่วนศีรษะในสัตว์ในกลุ่มเครนิเอต (Craniate) หรือสัตว์ที่มีกะโหลกศีรษะ ซึ่งรวมทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด กะโหลกศีรษะทำหน้าที่ปกป้องสมองซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท รวมทั้งเป็นโครงร่างที่ค้ำจุนอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ ทั้งตา หู จมูก และลิ้น และยังทำหน้าที่เป็นทางเข้าของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ

ภาพวาดแสดงมุมมองจากทางด้านหน้าของกะโหลกศีรษะของมนุษย์

การศึกษาเกี่ยวกับกะโหลกศีรษะมีประโยชน์อย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะการศึกษาในเชิงกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ด้านบรรพชีวินวิทยาและความเข้าใจถึงลำดับทางวิวัฒนาการ นอกจากนี้การศึกษาลงไปเฉพาะกะโหลกศีรษะมนุษย์ก็มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาด้านนิติเวชศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ รวมทั้งมานุษยวิทยาและโบราณคดี

กะโหลกศีรษะของมนุษย์

กะโหลกศีรษะของมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 22 ชิ้น[1][2] ทั้งนี้ไม่นับรวมกระดูกหู (ear ossicles) กระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะส่วนใหญ่เชื่อมต่อเข้าด้วยกันโดยข้อต่อแบบซูเจอร์ (Suture) ที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แต่มีความแข็งแรงสูง

กระดูกของกะโหลกศีรษะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กระดูกหุ้มสมอง (Neurocranium) ทำหน้าที่ป้องกันสมองที่อยู่ภายในโพรงกะโหลก (cranial cavity) ซึ่งมีด้วยกัน 8 ชิ้น[1] และสแปลงคโนเครเนียม (Splanchnocranium) ทำหน้าที่ค้ำจุนบริเวณใบหน้า รวมแล้วมีจำนวน 14 ชิ้น[3][4] นอกจากนี้ ภายในกระดูกขมับ (temporal bone) ยังมีกระดูกหูอีก 6 ชิ้น ซึ่งหน้าที่เกี่ยวกับการขยายความสั่นสะเทือนของเสียงจากเยื่อแก้วหูไปยังท่อรูปก้นหอย (cochlear) และกระดูกไฮออยด์ (hyoid bone) ทำหน้าที่ค้ำจุนลิ้นและกล่องเสียงซึ่งปกติแล้วไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะ

ภายในกะโหลกศีรษะยังมีโพรงไซนัส (sinus cavities) 4 คู่ หน้าที่ของโพรงไซนัสยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าช่วยในการทำให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบาขึ้น ทำให้ศีรษะไม่เอนมาทางด้านหน้าและทำให้ศีรษะตั้งตรงได้[5] ช่วยให้เสียงก้องกังวาน และช่วยให้อากาศที่ผ่านโพรงจมูกเข้าไปในทางเดินหายใจอุ่นและชื้นมากขึ้น

ด้านในของกะโหลกศีรษะส่วนที่หุ้มสมองยังมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบโครงสร้างของระบบประสาทกลาง เรียกว่า เยื่อหุ้มสมอง (meninges) ซึ่งมีอยู่ 3 ชั้นเรียงจากชั้นนอกสุดเข้าไปยังชั้นในสุดได้แก่ เยื่อดูรา (dura mater), เยื่ออะแร็กนอยด์ (arachnoid mater), และเยื่อเพีย (pia mater) เยื่อหุ้มสมองมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องและหน้าที่ทางสรีรวิทยาอื่นๆ อีกมากมาย

พยาธิวิทยา

การบาดเจ็บหรือบวมของเนื้อสมองเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการ[6] การบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะในส่วนที่ปกป้องสมอง อาจทำให้เกิดการแตกของหลอดเลือดสมองได้ ในภาวะที่มีเลือดออกในสมอง หรือมีความดันในกะโหลก (intracranial pressure) เพิ่มมากขึ้น อาจมีผลต่อก้านสมอง (brain stem) ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

กะโหลกศีรษะของสัตว์ชนิดอื่นๆ และกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ

กะโหลกศีรษะเป็นโครงสร้างที่พบได้ในสัตว์มีแกนสันหลังกลุ่มที่เรียกว่า เครนิเอต (Craniata) ซึ่งเริ่มพบในลำดับวิวัฒนาการตั้งแต่อันดับแฮกฟิช (Hagfish; Class Myxini) เป็นต้นไป และรวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังได้แก่ ปลากระดูกอ่อน, ปลากระดูกแข็ง, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ศีรษะของสัตว์กลุ่มเครนิเอตจะประกอบด้วยสมอง อวัยวะรับสัมผัสเช่นตา และกะโหลกศีรษะ[7] สัตว์ในกลุ่มนี้จะมีการใช้พลังงานมากกว่าสัตว์ในลำดับวิวัฒนาการต่ำกว่า และมีการปรับตัวทางรูปร่างและกายวิภาคศาสตร์อย่างมากเพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น[7] กะโหลกศีรษะในสัตว์จำพวกแฮกฟิชและปลากระดูกอ่อนจะเป็นกระดูกอ่อน ส่วนของเครนิเอตชนิดอื่นๆ จะมีกะโหลกศีรษะเป็นกระดูกแข็ง

กะโหลกศีรษะของปลา

กะโหลกศีรษะของปลามีปุ่มกระดูกท้ายทอย (occipital condyles) 1 อัน และมีลักษณะเด่นคือมีแผ่นปิดเหงือก[8] กะโหลกศีรษะของปลาประกอบด้วย 2 ส่วน ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นกระดูกและกระดูกอ่อน[9] ได้แก่

  1. กระดูกหุ้มสมอง หรือ นิวโรเครเนียม (Neurocranium) ซึ่งหุ้มรอบสมองและอวัยวะรับสัมผัสเช่นเดียวกับในมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ บริเวณรับกลิ่น (Olfactory Region) , บริเวณเบ้าตา (Orbital region) , บริเวณหู (Otic Region) , และบริเวณฐานกล่องสมอง (Basicranial Region) [9]
  2. บรางคิโอเครเนียม (Branchiocranium) ซึ่งเป็นส่วนกระดูกที่ไม่ได้หุ้มรอบสมอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริเวณปากและขากรรไกร (Oromandibular Region) , บริเวณไฮออยด์ (hyoid region) และบริเวณเหงือก (branchial region) [9]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

วิวัฒนาการของกะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพบครั้งแรกจากซากฟอสซิลของ Ichthyostega อายุประมาณ 350 ล้านปี ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวให้เหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่บนบก โดยมีการพัฒนากระดูกแข็ง เพื่อหนีการล่าของปลาและเพื่อขึ้นมาหาอาหารบนบก[10] ฟอสซิลสัตว์ชนิดนี้มีหู กะโหลกศีรษะด้านหน้าสั้น พัฒนาปลายจมูกยาวขึ้นเพื่อสูดอากาศที่มีความเจือจางกว่าในน้ำ แต่ก็ยังมีลักษณะอื่นๆ ที่เหมือนปลา เช่น ยังคงมีหาง มีครีบ แผ่นปิดเหงือก เป็นต้น[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีปุ่มกระดูกท้ายทอย 2 อัน[10] ไม่มีกระดูกส่วนฐานและส่วนเหนือกระดูกท้ายทอย (supra- orbasioccipitals) กระดูกหุ้มสมองส่วนใหญ่ยังคงเป็นกระดูกอ่อน มีส่วนที่เป็นกระดูกปฐมภูมิอยู่น้อย[8]

ประเภทกะโหลกศีรษะของสัตว์ที่มีถุงน้ำคร่ำ

ภาพเปรียบเทียบตำแหน่งของช่องเปิดของกระดูกขมับในกะโหลกศีรษะชนิดต่างๆ
จากซ้ายไปขวา และบนลงล่าง:แอนแนปซิด ซินแนปซิด ยูรีแอปซิด ไดแอปซิด

การวิเคราะห์รูปร่างของกะโหลกศีรษะมีประโยชน์มากในการจัดจำแนกสัตว์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีถุงน้ำคร่ำ (Amniotes) ซึ่งได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รวมทั้งกลุ่มของไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โครงสร้างของกะโหลกศีรษะที่ใช้ในการจำแนกคือ ช่องเปิดของกระดูกขมับ (temporal fenestrae) ซึ่งคาดว่าจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของขากรรไกร ทำให้สัตว์ที่มีวิวัฒนาการของช่องเปิดดังกล่าวมีความสามารถในการหาอาหารได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมซึ่งโครงสร้างของกะโหลกศีรษะมีการเปลี่ยนรูปไปมาก ช่องเปิดของกระดูกขมับนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยและอาจเห็นไม่ชัดเจนนัก

โดยอาศัยโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ สามารถจำแนกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีถุงน้ำคร่ำออกได้เป็นสี่กลุ่ม ได้แก่

  • แอนแนปซิด (Anapsids) เป็นกลุ่มที่ไม่มีช่องเปิดของกระดูกขมับ ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่า (testudines)
  • ซินแนปซิด (Synapsids) มีช่องเปิดหนึ่งช่องที่อยู่ใต้รอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตา (postorbital bone) และกระดูกสความัส (squamous bone) ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานที่คล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (mammal-like reptiles) ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่คาดว่าได้มีวิวัฒนาการต่อมาเป็นกะโหลกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในปัจจุบัน
  • ยูรีแอปซิด (Euryapsids) มีช่องเปิดหนึ่งช่องที่อยู่เหนือรอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตาและกระดูกสความัส ได้แก่กลุ่มของสัตว์​เลื้อยคลานทะเลบางประเภท เช่น อิคทิโอซอรัส (Ichthyosaurus)
  • ไดแอปซิด (Diapsids) มีช่องเปิดสองช่อง ทั้งเหนือและใต้ต่อรอยต่อระหว่างกระดูกเบ้าตาและกระดูกสความัส ได้แก่กลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่ ไดโนเสาร์ รวมทั้งสัตว์ปีกในปัจจุบัน

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์เลื้อยคลานมีสายวิวัฒนาการใหญ่อยู่ 2 สายด้วยกัน ได้แก่ [10]

  1. ซินแนปซิด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่เป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
  2. เซารอปซิด (Sauropsid) ซึ่งแบ่งออกย่อยๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลื้อยคลานจะมีปุ่มกระดูกท้ายทอย 1 อัน โค้งกระดูกโหนกแก้ม (zygomatic arch) เกิดจากกระดูกแก้ม (jugal) และกระดูกควอดราโตจูกัล (Quadratojugal bone) ซึ่งอยู่ที่ฐานของขากรรไกรล่าง[8] มีช่องเปิดรูจมูก 2 ช่อง ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกหลายชิ้น[12] และมีกระดูกหู 1 ชิ้น[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์ปีก

กะโหลกศีรษะของสัตว์ปีก

รอยต่อของวิวัฒนาการของกะโหลกศีรษะจากสัตว์เลื้อยคลานไปเป็นสัตว์ปีกพบในซากฟอสซิลของบรรพบุรุษของนกที่เรียกว่า Archaeopteryx ซึ่งค้นพบที่บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี ซึ่งพบว่ากะโหลกของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวมีลักษณะต่างจากนกชนิดอื่นๆ คือมีฟันที่ขากรรไกร[10] เหมือนสัตว์เลื้อยคลาน แต่มีจะงอยปากเหมือนนก[11] แสดงหลักฐานวิวัฒนาการของสัตว์ปีกที่ต่อเนื่องมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกไดแอปซิด

กะโหลกศีรษะของนกจะมีลักษณะเบาเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว คือประมาณ 0.21% ของน้ำหนักตัวในขณะที่ในกะโหลกศีรษะของหนูหนักเป็น 1.25% ของน้ำหนักตัว[11] กะโหลกศีรษะของนกจะไม่มีฟันหรือกรามที่หนักเพื่อช่วยในการบิน[10] กระดูกหุ้มสมองมีขนาดใหญ่ มีเบ้าตาขนาดใหญ่เพราะมีดวงตาขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว ปุ่มกระดูกท้ายทอยมี 1 อัน กระดูกแต่ละชิ้นของกะโหลกศีรษะนกจะรวมกันเป็นชิ้นเดียวอย่างรวดเร็วทำให้เห็นซูเจอร์หรือรอยประสานระหว่างกระดูกได้ไม่ชัดเจน[8] ด้านหน้าของกะโหลกศีรษะยืดยาวออกเป็นจะงอยปาก ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกหลายชิ้น ซึ่งจะงอยปากของนกนั้นจะมีวิวัฒนาการแตกต่างกันออกไปเพื่อให้เหมาะกับการดำรงชีวิตของนก เช่น จะงอยปากของกาจะมีลักษณะแหลม และแข็งแรง จะงอยปากของนกฟลามิงโกจะมีลักษณะงุ้ม และจะงอยปากของนกหัวขวานจะยาวตรงและแข็งแรง เพื่อใช้ในการเจาะไม้ และมีกะโหลกศีรษะที่หนาเพื่อรองรับแรงกระแทกและความสั่นสะเทือนได้ดี[11]

กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

กะโหลกศีรษะของแมว
กะโหลกศีรษะของกระต่าย

เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มซินแนปซิด กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจึงมีช่องเปิดหนึ่งช่องใต้รอยต่อระหว่างกระดูกหลังเบ้าตาและกระดูกสความัส มีปุ่มกระดูกท้ายทอย 2 ปุ่ม มีช่องรูจมูก 1 ช่อง โพรงกะโหลกมีขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่างเกิดจากกระดูกเพียงชิ้นเดียว[12][10] มีกระดูกหูที่อยู่ในหูชั้นกลาง 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน กะโหลกศีรษะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนับว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฟันเพื่อทำหน้าที่เฉพาะมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ [7] ซึ่งจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ดังนี้

  • สัตว์กินเนื้อ (Carnivore) เช่น สุนัข แมว จะมัฟันหน้าและฟันเขี้ยวที่แหลมคมเพื่อล่าเหยื่อ หรือฉีกชิ้นเนื้อ ส่วนฟันกรามหน้าและฟันกรามจะหยักและขรุขระ เพื่อใช้บดเคี้ยวอาหาร
  • สัตว์กินพืช (Herbivore) เช่น วัว จะมีผิวฟันกว้างเป็นสัน เพื่อใช้บดเคี้ยวพืชที่เหนียว ส่วนฟันหน้าและฟันเขี้ยวจะเปลี่ยนแปลงไปเพื่อกัดอาหารจำพวกพืช หรืออาจมีลักษณะเฉพาะของสัตว์ในแต่ละอันดับ เช่น อันดับตัวกินมด (Class Edentata) ซึ่งวิวัฒนาการจนไม่มีฟัน, อันดับกระต่าย (Class Lagomorpha) หรือสัตว์ฟันแทะ (Class Rodentia) ซึ่งมีการพัฒนาฟันแทะให้มีขนาดใหญ่, หรือโพรโบซีเดีย (Class Proboscidea) ซึ่งมีฟันแทะยื่นยาวออกมาเป็นงา เช่น ช้าง[10]
  • สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ (Omnivore) เช่น มนุษย์ จะมีฟันที่ปรับตัวให้สามารถกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ได้ ฟันหน้าจะเหมือนใบมีดใช้ตัดอาหาร ฟันเขี้ยวมีลักษณะแหลมคม ใช้ฉีกอาหาร ฟันกรามหน้าและฟันกรามใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร

กะโหลกศีรษะในอันดับลิงและมนุษย์

สัตว์ในอันดับลิงหรือไพรเมต (primate) วิวัฒนาการมาจากสัตว์ในอันดับอินเซคทิวอรา (Class Insectivora) ซึ่งลักษณะของกะโหลกศีรษะจะมีโพรงกะโหลกใหญ่ จมูกสั้น เบ้าตาชิดกัน ขากรรไกรห้อยต่ำ มีฟันที่เหมาะกับการกินทั้งพืชและสัตว์ เมื่อเปรียบเทียบกะโหลกศีรษะของมนุษย์และลิงกอริลลาซึ่งอยู่ในวงศ์ย่อย Homininae เดียวกัน พบว่ากะโหลกศีรษะของมนุษย์จะมีลักษณะขากรรไกรแบน ฟันขึ้นตรงตั้งฉาก และส่วนคางยื่นออกไปเล็กน้อย ในขณะที่กะโหลกศีรษะของลิงกอริลลาจะมีสันกระดูกเหนือตาที่ยื่นออกมา ขากรรไกรและฟันยื่นออกมาด้านหน้า แต่ส่วนคางหดเข้าไป[13]

กะโหลกศีรษะสัตว์ในอันดับลิงบางชนิด

เมื่อเปรียบเทียบกะโหลกศีรษะของมนุษย์และของลิงชิมแพนซีซึ่งอยู่ในเผ่า Hominini เดียวกัน พบว่ากะโหลกศีรษะของมนุษย์และลิงชิมแพนซีในระยะทารกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือมีรูปร่างกลม ขากรรไกรเล็ก และใบหน้าแบน แต่เมื่อเจริญเติบโตมากขึ้น กะโหลกศีรษะของชิมแพนซีจะมีขากรรไกรที่ยื่นออกมามากขึ้น หน้าผากลาดและมีฟันขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่กะโหลกศีรษะของมนุษย์จะมีสัณฐานกลมเหมือนเช่นในระยะทารก ลักษณะดังกล่าวมีการสันนิษฐานว่าการเจริญของสมองมนุษย์นั้นมีระยะเวลานานกว่าของลิงชิมแพนซี ทำให้สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นและมีความฉลาดมากกว่าของลิงชิมแพนซี[14]

รูปประกอบเพิ่มเติม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง