การขยายตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การขยายตัวของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกระบวนการซึ่งขยายสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการรับรัฐสมาชิกใหม่เข้ามา กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมาชิกก่อตั้งห้าประเทศ ที่ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2510 นับตั้งแต่นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เพิ่มเป็นสิบประเทศ โดยประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมกับอาเซียนคือ ประเทศกัมพูชา ใน พ.ศ. 2542 ปัจจุบัน การเจรจารับเข้าเป็นสมาชิกกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนกับสองรัฐ ได้แก่ ประเทศปาปัวนิวกินี[1][2] และประเทศติมอร์-เลสเต[3]

รัฐสมาชิกในปัจจุบัน

เกณฑ์

เกณฑ์สมาชิกภาพ

หนึ่งในเกณฑ์สมาชิกภาพ คือ สมาชิกตามที่มุ่งหวังนั้นจะต้องตกลงลงนามหรือเข้าร่วมกับสนธิสัญญา แถลงการณ์และความตกลงทั้งหมดในอาเซียน เริ่มตั้งแต่ที่ระบุไว้ในปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 และที่เพิ่มเติมและพัฒนาขึ้นในสนธิสัญญา แถลงการณ์และความตกลงของอาเซียนในกาลต่อมา ความกังวลร่วมกันอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องหยิบยกขึ้นผ่านการเจรจา คือ ความสามารถของสมาชิกที่คาดหวังในการเข้าร่วมกับเขตการค้าเสรีอาเซียน และการจัดการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นทั้งหมด อีกหนึ่งวิธีกำหนดเป้าหมายของสมาชิกที่มุ่งหวังที่สำคัญคือ การเข้าร่วมในการประชุมอาเซียนและการมีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือต่าง ๆ[4]

ปฏิญญากรุงเทพฯ มิได้วางเงื่อนไขสมาชิกภาพใด นอกเหนือไปจากว่าประเทศนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั่วไป อาเซียนไม่มีเกณฑ์สมาชิกภาพที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของรัฐบาล ระบบและทิศทางของอุดมการณ์ นโยบายเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนา หากมีเกณฑ์ดังกล่าวมากำหนดสมาชิกภาพแล้ว องค์การความร่วมมือในภูมิภาคจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้องค์การดังกล่าวมีความหลากหลาย[5] และเพื่อจะได้รับการยอมรับเป็นรัฐสมาชิกอาเซียน รัฐนั้นจะต้องมีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ในทุกประเทศสมาชิกในปัจจุบันของกลุ่ม[6]

เกณฑ์การได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนได้ตกลงใน พ.ศ. 2526 ว่า สถานะผู้สังเกตการณ์ "ควรมอบให้เฉพาะกับรัฐที่มีศักยภาพเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเกณฑ์สมาชิกภาพอาเซียน" โดยมีเกณฑ์ข้อหนึ่งระบุว่า "มีเพียงรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้"[5]

เกณฑ์การเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum, ARF) เวทีอภิปรายพหุภาคีในหมู่ประเทศเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเจรจาและการปรึกษาระหว่างประเทศ ทั้งยังสนับสนุนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการทูตเชิงป้องกันทั่วภูมิภาค[7] เกณฑ์สมาชิกภาพสำหรับ ARF เช่นเดียวกับคู่เจรจาอื่น ๆ ระบุไว้ระหว่าง ARF ครั้งที่สองใน พ.ศ. 2539 ในกรุงจาการ์ตา รัฐมนตรี ARF รับเกณฑ์ที่ว่า ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิก ARF ต้องเป็นรัฐอธิปไตย ซึ่งตามนโยบายจีนเดียว ชัดเจนว่าต้องไม่นับรวมไต้หวัน พวกเขาต้อง "ปฏิบัติตามและเคารพการตัดสินใจและแถลงการณ์ที่ ARF กระทำไว้แล้วอย่างเต็มที่" เกณฑ์ดังกล่าวเน้นว่า สมาชิกอาเซียนมีส่วนใน ARF "โดยอัตโนมัติ"[5]

การขยายตัวในอดีต

การขยายตัวของอาเซียนตั้งแต่ ค.ศ. 1967-1999

สมาชิกผู้ก่อตั้ง

อาเซียนถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของห้าประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ประชุมกันที่พระราชวังสราญรมย์ อันเป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศของไทยในกรุงเทพมหานคร ณ ขณะนั้น และลงนามปฏิญญาอาเซียน ซึ่งรู้จักกันมากกว่าในชื่อ ปฏิญญากรุงเทพ โดยรัฐมนตรีทั้งห้า ได้แก่ อดัม มาลิกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นาร์ซิโซ รามอสจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ อับดุล ราซัก ฮุซเซนจากมาเลเซีย เอส. ราชารัตนัมจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ และถนัด คอมันตร์จากราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งองค์กร[8]

การขยายตัวแรก

ใน พ.ศ. 2519 ประเทศปาปัวนิวกินีในเมลานีเซีย ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[9]

กลุ่มอาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศบรูไนเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์หลังได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีเดียวกัน[10]

ส่วนประเทศเวียดนามได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ใน พ.ศ. 2536 และได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 7 ในวันที่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538[11]

ลาว พม่า และกัมพูชา

สมาชิกสามประเทศล่าสุดของอาเซียนยื่นคำขอเข้าร่วมกลุ่มในคริสต์ทศวรรษ 1990

ประเทศลาวเป็นผู้สังเกตการณ์อาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 25 ที่จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 28 ที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมสะหวาด เล่งสะหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาว ได้กล่าวว่า เขาปรารถนาจะเห็นลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 โดยความปรารถนาดังกล่าวได้แสดงในจดหมายขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของลาว ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539[4]

ประเทศกัมพูชาได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ที่ AMM ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 อึง ฮวด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือนานาชาติของกัมพูชา ได้ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในจดหมายลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2539 เช่นเดียวกับลาว กัมพูชาปรารถนาจะเข้าร่วมกับอาเซียนใน พ.ศ. 2540[4]

ส่วนประเทศพม่า โอนจอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า เข้าร่วม AMM ครั้งที่ 27 ณ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 และครั้งที่ 28 ณ กรุงบันดาร์เซอรีเบอกาวัน พ.ศ. 2538 ในฐานะแขกของรัฐเจ้าภาพ ระหว่างการประขุม AMM ครั้งที่ 28 พม่าเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยื่นคำขอสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียน

ต้านชเว นายกรัฐมนตรีพม่า พร้อมด้วย คำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว และสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เข้าร่วมการประชุมกับหัวหน้ารัฐบาลอาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เขาแสดงความหวังว่า พม่าจะได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนในการประชุม AMM ครั้งถัดไป คือครั้งที่ 29 ที่จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ใน พ.ศ. 2539[4]

คณะกรรมการความมั่นคงอาเซียน (ASC) ก่อตั้งคณะทำงานว่าด้วยสมาชิกภาพของกัมพูชาและลาวเพื่อพิจารณาประเด็นทั้งหมดภายใต้ขอบเขตของ ASC ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการสำหรับและของสมาชิกที่คาดหวังทั้งสองประเทศในการเข้าร่วมกับอาเซียน วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 คณะทำงานจุดการประชุมกับเลขาธิการของกรมอาเซียนลาวในกรุงจาการ์ตา[4]

ในการประชุม AMM ครั้งที่ 29 พม่าได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ในอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ปรึกษากับอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่าอย่างเป็นทางการ ทั้งยังได้แสดงความปรารถนาว่าพม่าจะเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนภายใน พ.ศ. 2540 พร้อมกัมพูชาและลาว[4]

ASC ได้ขยายอำนาจของคณะทำงานที่กำลังศึกษาสมาชิกภาพของกัมพูชาและลาวให้รวมสมาชิกภาพของพม่าด้วย[4] ลาวและพม่าได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นลำดับที่ 8 และ 9 ตามลำดับ กัมพูชาเองก็มีกำหนดเข้าร่วมพร้อมกับลาวและพม่าเช่นกัน แต่ถูกเลื่อนออกไปเพราะการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ ภายหลังได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 หลังรัฐบาลมีเสถียรภาพมั่นคงแล้ว[12][13]

ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1990 กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับแรงขับเคลื่อนให้บูรณาการมากขึ้น ใน พ.ศ. 2533 มาเลเซียเสนอให้จัดตั้งความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC)[14] ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนขณะนั้น เช่นเดียวกับประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยมีเจตนาเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของสหรัฐในความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียโดยรวม[15][16] อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวล้มเหลว เพราะได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น[15][17] แม้จะล้มเหลว รัฐสมาชิกยังคงทำงานเพื่อบูรณาการต่อไปและอาเซียนบวกสามถูกจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2540

ใน พ.ศ. 2535 แผนอัตราศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน (Common Effective Preferential Tariff - CEPT) มีการลงนามเป็นกำหนดการภาษีศุลกากรและมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของภูมิภาคเป็นฐานการผลิตที่ขับเคลื่อนตลาดโลก กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นเสมือนกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน หลังจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 มาเลเซียก็รื้อฟื้นข้อเสนอขึ้นมาอีกครั้งในการประชุมที่เชียงใหม่ หรือรู้จักกันในชื่อ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งเรียกร้องบูรณาการที่ดียิ่งขึ้นระหว่างเศรษฐกิจอาเซียนเช่นเดียวกับประเทศอาเซียนบวกสาม[18]

การขยายตัวในอนาคต

  รัฐสมาชิก
  รัฐที่มีโอกาสได้รับสถานะสังเกตการณ์: ประเทศบังคลาเทศและประเทศฟีจี

รัฐสังเกตการณ์

ปาปัวนิวกินี

ประเทศปาปัวนิวกินี เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ก่อนหน้าประเทศสมาชิกอาเซียนที่มิได้เป็นสมาชิกก่อตั้งเสียอีก ข้อเท็จจริงที่ว่าปาปัวนิวกินีเป็นประเทศนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ เพราะการรับรองปาปัวนิวกินีมีก่อนการใช้บังคับการตัดสินใจใน พ.ศ. 2526 ซึ่งจำกัดให้เฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นจึงจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภูมิภาคได้

ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตาใน พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของปาปัวนิวกินี คิลรอย จีเนีย ได้แสดงความปรารถนาของปาปัวนิวกินีในการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยเสนอว่าปาปัวนิวกินีจะขอเป็นสมาชิกประเภทสมทบถาวรของอาเซียน[19] นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี ไมเคิล โซมาร์ ชี้ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2552 ว่า ประเทศของเขาพร้อมและสามารถเติมเต็มข้อกำหนดสมาชิกภาพในการรวมกลุ่มภูมิภาค[20]

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของปาปัวนิวกินี แม้จะตั้งอยู่ไม่ห่างจากกรุงจาการ์ตา อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการอาเซียน มากไปกว่าตอนเหนือของประเทศพม่า แต่ในทางภูมิศาสตร์ ปาปัวนิวกินีมิใช่ส่วนหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือทวีปเอเชีย เมื่อปาปัวนิวกินีได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์เมื่อ พ.ศ. 2519 อาเซียนก็ได้รับรองว่าปาปัวนิวกินีมีภูมิภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจเดียวกันกับสมาชิกอาเซียน ทั้งยังเชื่อมโยงกันทางภูมิศาสตร์ เพราะปาปัวนิวกินีกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเกาะนิวกินีอันมีขนาดใหญ่ ซึ่งอีกครึ่งของเกาะเป็นที่ตั้งของจังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย นับแต่นั้นปาปัวนิวกินีก็รอคอยนาน 35 ปีที่จะกลายเป็นสมาชิกเต็มตัว

ติมอร์-เลสเต

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ประเทศติมอร์-เลสเตได้ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอาเซียน[21] ซึ่งเป็นท่าทีที่ได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซีย[22]

ติมอร์-เลสเตซึ่งได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2545 ได้เข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ นับแต่ พ.ศ. 2546 ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 ทำให้เป็นประเทศที่ 25 ที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต ฌูแซ รามุช-ออร์ตา หวังว่าจะได้รับสมาชิกภาพก่อน พ.ศ. 2555[23]

รัฐที่มีโอกาสสังเกตการณ์

บังกลาเทศ

ประเทศลาวสนับสนุนให้ประเทศบังกลาเทศเข้ามาเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในอาเซียนเมื่อ พ.ศ. 2554[24]

ฟีจี

ประเทศฟีจีได้แสดงความสนใจที่จะได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียน ใน พ.ศ. 2554 ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่าเขาได้แจ้งต่อประธานาธิบดีฟีจี แฟรงก์ ไบนิมารามา ว่าเขาจะสนับสนุนให้พิจารณาคำขอนี้ในช่วงที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน[25]

รัฐที่แสดงความสนใจ

ศรีลังกา

เริ่มแรกประเทศศรีลังกาได้รับเชิญให้เข้าร่วมอาเซียนในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 อย่างไรก็ตามประเทศดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากอาเซียนเป็นฝ่ายสนับสนุนตะวันตก และศรีลังกาเองก็ดำเนินนโยบายไม่เข้าแนวร่วม[26][27] นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านจากประเทศสิงคโปร์ในเรื่องความไม่มั่นคงภายในประเทศจากความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์หลักของศรีลังกา[28] ความสนใจจากภายในประเทศปรากฏชัดในเวลาต่อมาและพยายามเข้าร่วมอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2524[29][30][31] ใน พ.ศ. 2550 ศรีลังกาเป็นหนึ่งใน 27 ประเทศที่เข้าร่วม ARF[32]

รัฐที่ถูกกล่าวถึง

ออสเตรเลีย

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย แนะนำว่าประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ควรเข้าร่วมอาเซียนใน พ.ศ. 2567[33] ใน พ.ศ. 2561 ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด ได้ระบุว่าระหว่างการให้สัมภาษณ์กับแฟร์แฟกซ์มีเดีย ว่า ออสเตรเลียควรจะเข้าร่วมองค์กรด้วย[34] ใน พ.ศ. 2559 พอล คีตติง อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้แนะนำให้ออสเตรเลียเข้าร่วมอาเซียน[35]

มองโกเลีย

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าประเทศมองโกเลียและประเทศตุรกีแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมอาเซียน จากนั้นก็ระบุอีกว่าเขาจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ เห็นพ้องด้วยกัน[36]

นิวซีแลนด์

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย แนะนำว่าประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ควรเข้าร่วมอาเซียนใน พ.ศ. 2567[33]

ปาเลา

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์แนะนำว่าประเทศปาเลามีศักยภาพพอที่จะเข้าร่วมในอาเซียนอย่างมีนัยยะ จากนั้นเขาก็โต้แย้งว่าสหรัฐควรพยายามเกลี้ยกล่อมให้ประเทศไทยผลักดันสถานะผู้สังเกตการณ์ให้กับปาเลาในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน[37]

ตุรกี

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่าประเทศมองโกเลียและประเทศตุรกีแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมอาเซียน จากนั้นก็ระบุอีกว่าเขาจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ เห็นพ้องด้วยกัน[36]

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง