ข้าวโพดคั่ว

ข้าวโพดคั่ว หรือ พ็อปคอร์น (อังกฤษ: popcorn) หรือ ตอกคง ในภาษาไทยถิ่นใต้[1] เป็นอาหารว่างอย่างหนึ่ง ผลิตจากเมล็ดข้าวโพด ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหลายชนชาติ ต้นกำเนิดข้าวโพดคั่วนั้นอยู่ในดินแดนของอินเดียแดงในทวีปอเมริกา ตั้งแต่เมื่อประมาณ 5,600 ปีที่ผ่านมา[2]

ข้าวโพดคั่วเคลือบคาราเมล

นักโบราณคดีพบหลักฐานเกี่ยวกับข้าวโพดคั่วในซากเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เมืองอินคาทางอเมริกาใต้ เมืองมายาในอเมริกากลาง และเมืองอัซเตกในเม็กซิโก ต่างพบการใช้ข้าวโพดจำนวนมากมาเป็นเวลานานก่อนสมัยที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสมาเยือนโลกใหม่ ข้าวโพดที่คั่วจนพองขาวแล้วชาวอินเดียแดงในอเมริกาเหนือจะนำมารับประทาน และร้อยสายด้วยหญ้า ทำเป็นเครื่องประดับสำหรับหัวหน้าเผ่าหรือนักรบ รูปเคารพเทพเจ้าฝนของชาวอัซเตก และเทพเจ้าข้าวโพด บางครั้งก็ประดับด้วยข้าวโพด และในบางแห่งของเม็กซิโกในปัจจุบันวันนี้ บางครั้งก็มีการใช้พวงข้าวโพดคั่วประดับเทวรูป

เมื่อนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษสมัยแรก ๆ ได้จัดงานขอบคุณพระเจ้าครั้งแรกขึ้น ชาวอินเดียแดงนามว่า เควเดอควีนา ได้นำอาหารมาในงานเลี้ยง นั่นคือข้าวโพดคั่ว ใส่ถุงหนังกวางขนาดใหญ่ ผู้เข้าร่วมในงานได้ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นส่วนสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ในวิถีชีวิตแบบอเมริกา

ข้าวโพดคั่วอินเดียแดง

เครื่องผลิตข้าวโพดคั่วในรถเข็นริมถนนปี 1880 ณ เมืองชิคาโก, รัฐอิลลินอย, สหรัฐอเมริกา

ชาวอินคาจะใช้หม้อดินปั้นเป็นพิเศษสำหรับคั่วข้าวโพด (ภาชนะพบได้ในซากปรักหักพังสมัยโบราณของอเมริกาใต้) โดยฝังหม้อในทรายที่ร้อนจัด โรยเมล็ดข้าวโพดลงไป แล้วปิดฝา หรือใช้หม้ออีกใบมาครอบ ความร้อนจากทรายจะทำให้ข้าวโพดแตก กลายเป็นข้าวโพดคั่วได้[3]

ข้าวโพดและข้าวโพดคั่วค่อย ๆ ปรากฏแพร่หลายไปทั่วสหรัฐอเมริกาในฐานะพืชเกษตรกรรมทั่วไป[4][5] และเริ่มปรากฏความสำคัญจนถือเป็นพืชเกษตรกรรมในตลาด เมื่อราว ค.ศ. 1890 นี้เอง ซึ่งมีความนิยมสูง และเริ่มผลิตในเชิงการค้า โดยมีการผลิตเครื่องทำข้าวโพดคั่วขนาดมหึมา ใช้เตาน้ำมันเบนซิน กลายเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นตาในงานแห่และงานเทศกาล และเมื่อในปี ค.ศ. 1893[6] ในงานแสดงสินค้าโลกที่ชิคาโก[7] ก็มีการผลิตข้าวโพดคั่วแบบใหม่ เรียกว่า เครเกอร์แจ็ค (Cracker Jack) อันเป็นส่วนผสมของข้าวโพดคั่ว น้ำอ้อย และถั่วลิสง

ข้าวโพดคั่วในโรงภาพยนตร์

การจำหน่ายข้าวโพดคั่วในโรงภาพยนตร์

จากความเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ[8][9] และการเปิดโรงภาพยนตร์จำนวนนับไม่ถ้วน ทำให้ข้าวโพดคั่วกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงแบบใหม่ ในช่วงต้น เครื่องผลิตข้าวโพดคั่วมักจะอยู่นอกโรงภาพยนตร์ ผู้ควบคุมเครื่องมักจะต้องเช่าสถานที่จากเจ้าของโรงภาพยนตร์ สมัยที่เป็นหนังเงียบ บางครั้งมีเสียงดนตรีคลอ ในช่วงบรรเลงดนตรีนั้น ยังมีเสียงกรุบกรับของผู้ชมที่สนุกกับข้าวโพดคั่วพอ ๆ กับความสนุกกับภาพยนตร์

เครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์และนำออกจำหน่ายประมาณปี ค.ศ. 1925 เป็นเครื่องแก้วมันวาวและเครื่องไฟฟ้าสีโครเมียม ทำให้ข้าวโพดคั่วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไปอีก

มีสถิติว่า ในปี ค.ศ. 1922 สหรัฐอเมริกาเพาะปลูกข้าวโพดสำหรับใช้ทำข้าวโพดคั่วประมาณ 15,000 เอเคอร์ เมื่อมีเครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้า ข้าวโพดคั่วนำรายได้มาสู่ผู้ปลูกพอสมควร จนได้รับสมญานามว่า "ทิวทองแห่งท้องทุ่ง" (prairie gold) และเมื่อปี ค.ศ. 1967 ผลผลิตต่อปีของข้าวโพดมีค่าประมาณ 432 ล้านปอนด์ รัฐอินเดียนา, ไอโอวา, อิลลินอยส์, โอไฮโอ, และเคนทักกี เป็นผู้นำในการผลิตข้าวโพดคั่วของสหรัฐอเมริกา

เมื่อต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 เมื่อโทรทัศน์แพร่หลายมากขึ้น ข้าวโพดคั่วไม่ได้นิยมรับประทานเฉพาะในโรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปรับประทานกันหน้าจอโทรทัศน์ และเริ่มมีการโฆษณาข้าวโพดคั่วในช่วงโฆษณาของรายการ ในบางพื้นที่มีข้าวโพดคั่วขายในห่อฟอยล์ ซึ่งใช้คั่วแล้วทิ้งได้

กลไกเบื้องหลังข้าวโพดคั่ว

กลไกเบื้องหลังข้าวโพดคั่ว ก็คือ เมล็ดข้าวโพดนั้นมีความชื้นอยู่ภายใน เมื่อได้รับความร้อน จะเกิดไอน้ำขึ้นภายในเมล็ด และเกิดแรงดันผลักให้เมล็ดแตกบานออก แรงดันในฉับพลันนั้นก็ดันเมล็ดภายในออกมา

วิธีการคั่วข้าวโพดมีอยู่สองวิธี คือคั่วแห้ง และคั่วเปียก

  • วิธีคั่วแห้ง ทำได้โดยนำข้าวโพดใส่ตะกร้าสานแล้วเขย่าเหนือถ่านหินร้อน กระทั่งเมล็ดเต้นและแตกพองอยู่ในตะกร้าสาน จากนั้นเทข้าวโพดลงชาม และ เติมเครื่องปรุงรส จำพวกเกลือและเนย
  • วิธีคั่วเปียกนั้น เป็นวิธีที่นิยมใช้ทุกวันนี้ โดยการคั่วข้าวโพดในภาชนะก้นหนา ใส่น้ำมันเล็กน้อย เมล็ดข้าวโพดเมื่อถูกเขย่าจะเคลือบน้ำมัน ทำให้ความร้อนถึงจุดที่แตกตัว ในเครื่องทำข้าวโพดคั่วมักจะใช้น้ำมันมะพร้าว แต่น้ำมันปรุงอาหารชนิดอื่น ๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ประโยชน์อันหลากหลาย

นอกเหนือจากการใช้เป็นอาหารแล้ว ข้าวโพดคั่วยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการนำมาใช้เป็นวัสดุกันกระแทกในการขนส่งสินค้าเปราะบาง ซึ่งได้ผลดีมากกว่ากระดาษลูกฟูก จากการทดลองบรรจุขวดแก้วลงในหีบ ซึ่งหีบหนึ่งใช้ข้าวโพดคั่วรอง และอีกหีบใช้กระดาษลูกฟูก เมื่อโยนหีบดังกล่าวจากหลังคาโกดังลงบนพื้นยางมะตอยด้วยความสูง 50-60 ฟุต ขวดที่บรรจุในหีบบุข้าวโพดคั่วนั้นไม่แตก ขณะที่อีกหีบมีขวดแตกไปเกือบหนึ่งในสาม

นอกจากนี้ยังมีการทดลองนำไปปรับใช้ทำอาหารตำรับต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดคั่วกับเครื่องเทศ น้ำมะนาว และน้ำผึ้ง และรับประทานกับครีมเป็นอาหารว่าง หากผสมกับหัวหอม ผักชี และเครื่องปรุงรสอื่น ๆ จะนำไปยัดไส้ไก่ได้ ไม่ต่างกับเครื่องปรุงขนมปังหรือขนมปังข้าวโพดเลย

ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังหาวิธีต่าง ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากข้าวโพดคั่วนี้ นับเป็นเส้นทางอันยาวนานไกลจากถิ่นฐานชาวอินคาเมื่อหลายศตรรษก่อน ผู้รู้จักคั่วข้าวโพดด้วยวิธีง่าย ๆ ในหม้อดิน ไปสู่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อันซับซ้อนในปัจจุบัน

เกร็ด

  • มีการขายข้าวโพดทั่วในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1912
  • ข้าวโพดคั่วเนยมียอดการขายสูงกว่าข้าวโพดคั่วธรรมดา
  • อุณหภูมิในการคั่วข้าวโพดนั้น อยู่ที่ประมาณ 175 องศาเซลเซียส (347 องศาฟาเรนไฮต์)
  • เครื่องคั่วข้าวโพดเครื่องแรก ประดิษฐ์โดยนายชาลส์ เครเตอส์ ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1885
  • ข้าวโพดคั่วสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง