ทิก กว๋าง ดึ๊ก

ทิก กว๋าง ดึ๊ก (เวียดนาม: Thích Quảng Đức; ; เกิดปี ค.ศ. 1897 — 11 มิถุนายน ค.ศ. 1963) เป็นภิกษุมหายานชาวเวียดนามที่จุดไฟเผาตัวเองจนมรณภาพ ณ ถนนสี่แยกกรุงไซง่อน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2506[2] เพื่อประท้วงรัฐบาลโรมันคาทอลิกภายใต้การนำโดย โง ดิ่ญ เสี่ยม ที่ข่มเหงชาวพุทธในประเทศเวียดนามใต้ ภาพถ่ายการเผาตัวเองของท่านได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกและดึงความสนใจไปให้กับนโยบายของรัฐบาลเสี่ยม จอห์น เอฟ. เคนเนดี เคยกล่าวถึงภาพถ่ายของท่านไว้ว่า "ไม่มีภาพข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกได้เหมือนภาพใบนี้"[3] มัลคอล์ม บราวน์ ซึ่งเป็นผู้ที่ถ่ายภาพของท่านได้รับรางวัลภาพถ่ายข่าวแห่งปี

ทิก

กว๋าง ดึ๊ก
ภาพบุคคลของภิกษุกว๋าง ตึ๊ก
ชื่ออื่นโบ่ ต๊าด ทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức, โพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดี๊ก[1])
ส่วนบุคคล
เกิด
เลิม วัน ตึ๊ก (Lâm Văn Túc)

ค.ศ. 1897
โห่ยค้าญ แคว้นอันนัม อินโดจีนของฝรั่งเศส
มรณภาพ11 มิถุนายน ค.ศ. 1963(1963-06-11) (65–66 ปี)
ไซง่อน เวียดนามใต้
สาเหตุเสียชีวิตการจุดไฟเผาตัวเอง
ศาสนาศาสนาพุทธ
นิกายมหายาน (สุขาวดี)
ชื่ออื่นโบ่ ต๊าด ทิก กว๋าง ดึ๊ก (Bồ Tát Thích Quảng Đức, โพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดี๊ก[1])
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่เวียดนามใต้
ช่วงที่ดำรงตำแหน่ง1917–1963
ตำแหน่ง
  • ประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะภิกษุเวียดนาม
  • เจ้าอาวาสวัดเจดีย์เฟื้อกฮหว่า

การกระทำของพระกว๋าง ดึ๊ก สร้างแรงกดดันจากนานาชาติให้กับรัฐบาลเสี่ยม ส่งผลให้เขาต้องยินยอมประกาศการปฏิรูปและแสดงเจตจำนงในการผ่อนผันต่อความต้องการของชาวพุทธ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปที่รัฐบาลเสี่ยมสัญญาไว้ก็ไม่เคยเกิดขึ้น และยังทำให้ประเด็นพิพาทนี้เลวร้ายลงกว่าเดิม การประท้วงดำเนินเรื่อยไปในขณะเดียวกันกองกำลังพิเศษ ARVN ซึ่งภักดีต่อ โง ดิ่ญ ญู น้องชายของเสี่ยม ได้ทำการบุกรุกวัดพุทธทั่วเวียดนามใต้และพยายามยึดเอาหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋างดึ๊กมาไว้ในการครอบครอง การบุกรุกระลอกนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งที่ทำการเผาตนเองจนมรณภาพตามรอยพระกว๋างดึ๊ก ท้ายที่สุดการรัฐประหารที่มีสหรัฐหนุนหลังก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลเสี่ยมลงได้สำเร็จ ก่อนที่จะถูกลอบสังหารในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963

ชีวประวัติ

อัตชีวประวัติของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มาจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยองค์การพุทธศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ ท่านเกิดที่หมู่บ้านโห่ยค้าญ อำเภอหวั่นนิญ จังหวัดค้าญฮหว่า ภาคกลางของประเทศเวียดนาม มีชื่อเมื่อเกิดว่า เลิม วัน ตึ๊ก (Lâm Văn Túc) ท่านมีพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน บิดาชื่อ เลิม หืว อึ่ง มารดาชื่อ เหงียน ถิ เนือง เมื่ออายุได้เจ็ดปีท่านได้ออกเดินทางเพื่อศึกษาพุทธศาสนาภายใต้การอุการะของพระมหาเถราจารย์[a] ทิก หวั่ง เทิม ผู้เป็นลุงฝั่งแม่ในฐานะบุตรคนหนึ่ง พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น เหงียน วัน เคี๊ยด (Nguyễn Văn Khiết) เมื่ออายุได้ 15 ปี ท่านก็เข้าบรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งเมื่ออายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเข้าเป็นภิกษุ ภายใต้ฉายา ทิก กว๋าง ดึ๊ก ในชื่อภาษาเวียดนาม ทิก (Thích; ) มาจากคำว่า "ทิก กา" (Thích Ca) หรือ "ทิก ส่า" (Thích Già) (釋迦) อันแปลว่า "ผู้มาจาก / เกี่ยวพันธ์กับสกุลสักกะ"[4] หลังเข้าบวชเป็นพระภิกษุท่านก็ได้ออกธุดงค์สู่ภูเขาลูกหนึ่งใกล้กับเมืองนิญฮหว่าพร้อมกับประกาศตนขอปลีกวิเวกเป็นเวลาสามปี ในช่วงชีวิตภายหลังท่านก็ได้กลับมาเพื่อเปิดพระเจดีย์เทียน หล่กที่สำนักสงฆ์บนภูเขาแห่งนี้[5][6]

หลังจากเสร็จสิ้นการปลีกวิเวก พระกว๋าง ดึ๊ก ก็ได้เริ่มต้นออกเดินทางไปทั่วเวียดนามกลางเพื่อเผยแผ่หลักธรรม หลังจากผ่านไปสองปีก็ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดซักตู๊เทียนเอิน ใกล้กับเมืองญาจาง ใน ค.ศ.1932 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการประจำพุทธสมาคมในเมืองนิญฮหว่า และได้เป็นผู้ตรวจการภิกษุประจำจังหวัดคั้ญฮหว่าซึ่งเป็นบ้านเกิดในเวลาต่อมา ในช่วงระหว่างนี้ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างวัดในเวียดนามกลางรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง[7] ใน ค.ศ. 1934 ท่านได้ออกเดินทางไปตามชนบททั่วเวียดนามใต้เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา พร้อมกับเดินทางไปศึกษาศาสนาพุทธแบบเถรวาทที่ประเทศกัมพูชาเป็นเวลาสองปี

เมื่อเดินทางกลับมาจากกัมพูชา ในระหว่างการพำนักที่เวียดนามใต้ท่านก็ได้ดูแลการก่อสร้างวัดใหม่อีกจำนวน 17 แห่ง โดยวัดแห่งสุดท้ายจาก 31 วัดใหม่ที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างคือ วัดกว๊าน เถ่ะ อัม ในอำเภอฟู้เหฺญวิ่น จังหวัดซาดิ่ญ แถบชานเมืองไซง่อน[7] ถนนสายที่วัดนี้ตั้งอยู่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นถนนกว๋าง ดึ๊ก ในภายหลัง ในปี ค.ศ. 1975 หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการก่อสร้างวัดจำนวนมาก พระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการศาสนพิธีสังฆะภิกษุเวียดนาม และเจ้าอาวาสวัดเฟื้อกฮหว่า ซึ่งเป็นที่สถานที่ก่อตั้งของสมาคมพุทธศาสนศึกษาเวียดนาม (Association for Buddhist Studies of Vietnam; ABSV)[7] เมื่อสำนักงานของ ABSV ย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่วัดซ้าเหฺลิ่ยซึ่งเป็นวัดประจำเมืองไซง่อน พระกว๋าง ตึ๊ก ก็ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง[5]

การจุดไฟเผาตนเอง

ภูมิหลังทางศาสนา

ประติมากรรมนูนต่ำแสดงเหตุการณ์การกดขี่ชาวพุทธที่อนุสรณ์พระกว๋าง ดึ๊ก ในนครโฮจิมินห์

จากผลสำรวจศาสนาของประชากรเวียดนามในเวลานั้น ประชากรร้อยละ 70 ถึง 90 นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก[8][9][10][11] ขณะที่ประธานาธิบดี โง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายคาทอลิก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาของเวียดนามในเวลานั้น เสี่ยมได้ออกนโยบายเลือกปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ทางด้านกิจการสาธารณะและกองทัพแก่ศาสนิกชนคาทอลิกในเวียดนาม ไปจนถึงการจัดสรรที่ดิน การทำธุรกิจ และการลดหย่อนภาษี[12] เสี่ยมเคยสนทนากับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงคนหนึ่งโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหน้าที่นายนี้มาจากครอบครัวที่นับถือพุทธว่า "มอบหมายเจ้าหน้าที่ชาวคาทอลิกของคุณไว้ในตำแหน่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะพวกเขาสามารถไว้วางใจได้"[13] เจ้าหน้าที่หลายคนในกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) เข้ารีตเป็นคาทอลิกเนื่องจากความก้าวหน้าทางการทหารของตนขึ้นอยู่กับศาสนา[13] นอกเหนือไปจากนั้น การจัดสรรจำนวนอาวุธปืนแก่กองกำลังป้องกันตนเองตามหมู่บ้านยังมีการจัดสรรให้แต่เฉพาะชาวโรมันคาทอลิก และชาวพุทธบางคนถูกปฏิเสธเว้นแต่ว่าจะเข้ารีตเป็นโรมันคาทอลิก[14]

บาทหลวงคาทอลิกบางรูปมีการจัดตั้งกองกำลังส่วนตัว[15] กองกำลังเหล่านี้ก่อการบังคับเข้ารีต จนถึงบุกโจมตีและทำลายวัดในบางพื้นที่ กระนั้น รัฐบาลทำเป็นไม่รู้เห็น[16] หมู่บ้านพุทธศาสนิกชนบางแห่งถูกเข้ารีตหมู่เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือ หรือเพื่อหลีกหนีการถูกบังคับย้ายถิ่นฐานในรัฐบาลของเสี่ยม[17] สถานะ "จำกัดกิจกรรมทางศาสนา" ซึ่งบังคับให้ผู้ที่จะประกอบพุทธศาสนพิธีในที่สาธารณะจะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากทางการก่อน มีมาตั้งแต่จากสมัยฝรั่งเศสซึ่งบังคับใช้ต่อชาวพุทธ เสี่ยมไม่ได้เพิกถอนข้อบังคับนี้[18] ชาวคาทอลิกบางส่วนยังได้รับการยกเว้นโดยพฤตินัยจากการเป็นแรงงานไม่ได้ค่าจ้าง ซึ่งรัฐบาลบังคับพลเมืองให้ต้องปฏิบัติทุกคน และรัฐบาลของเสี่ยมยังจัดสรรความช่วยเหลือจากสหรัฐไปอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข้างหมู่บ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก[19]

คริสต์จักรคาทอลิกเป็นเจ้าของที่ดินมากที่สุดในประเทศ และได้รับข้อยกเว้นพิเศษในการยึดครองที่ดิน ที่ดินของคริสต์จักรคาทอลิกยังได้รับการยกเว้นจากการปฏิรูปที่ดิน[20] ธงวาติกันสีขาวทองยังถูกนำมาประดับตามกิจกรรมสำคัญหลัก ๆ ทั้งหมดในเวียดนามใต้[21] และเสี่ยมได้อุทิศประเทศของเขาแด่แม่พระมารีพรหมจารีย์ในปี 1959[19]

ธงฉัพพรรณรังสี

ความไม่พึงพอใจในหมู่ชาวพุทธได้ปะทุขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อรัฐประกาศสั่งห้ามประดับธงฉัพพรรณรังสีในเว้ระหว่างเทศกาลวันวิสาขบูชา วันประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่กี่วันก่อนหน้า ชาวคาอลิกได้รับการสนับสนุนให้ประดับธงวาติกันเพื่อเฉลิมฉลองอาร์คบิชอป โง ดิ่ญ ถึก แห่งเว้ ผู้เป็นพี่ชายของเสี่ยม ชาวพุทธจำนวนมากรวมตัวประท้วงคำสั่งห้ามนี้ และท้าทายอำนาจรัฐโดยการนำธงพุทธออกมาประดับในวันวิสาขบูชา รวมถึงเดินขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล กองกำลังของรัฐกราดยิงฝูงชนผู้ประท้วง เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมเก้าราย และเสี่ยมปฏิเสธความรับผิดชอบ เขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของเวียดกง และเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมทางศาสนาเกิดขึ้น[22] เสี่ยมยังคงปฏิเสธที่จะโอนอ่นต่อคำร้องขอของชาวพุทธ ตามมาด้วยการประท้วงของชาวพุทธที่มีถี่มากขึ้น

วันก่อการ

ภาพถ่ายพระกว๋าง ดึ๊ก ทำการจุดไฟเผาตนเอง ถ่ายโดยนักข่าว มัลคอล์ม บราวน์ ได้รับรางวัลภาพถ่ายข่าวโลกแห่งปี 1963[23]
ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่งโดยบราวน์
รถยนต์คันที่พระกว๋าง ดึ๊ก เดินทางไปเพื่อทำการจุดไฟเผาตนเอง เก็บรักษาอยู่ที่ วัดเจดีย์เทียนหมุ เมืองเว้

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1963 บรรดาผู้สื่อข่าวสหรัฐประจำเวียดนามได้รับแจ้งว่ามี "เรื่องสำคัญ" จะเกิดขึ้นในเช้าวันต่อมาบนถนนด้านนอกสถานทูตกัมพูชาในไซง่อน[24] ผู้สื่อข่าวจำนวนมากไม่ได้ให้ความสนใจใด ๆ กับข้อความนี้ เนื่องจากวิกฤตการณ์ชาวพุทธได้ดำเนินไปในเวลานั้นนานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ในเช้าวันต่อมา นักข่าวเพียงไม่กี่คนเดินทางไปยังถนนหน้าสถานทูตกัมพูชาตามข้อมูลที่ได้รับ ในจำนวนนี้รวมถึง เดวิด แฮลเบิร์สแตม จาก เดอะนิวยอร์กไทมส์ และ มัลคอล์ม บราวน์ หัวหน้าสำนักงานไซง่อนของแอสโซซิเอเต็ด เพรส (เอพี)[24] พระกว๋าง ดึ๊ก เดินทางถึงจุดก่อการ โดยเดินทางมาในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนที่เริ่มเดินใกล้กับวัดเจดีย์ ภิกษุและภิกษุณี 350 รูปเดินขบวนเป็นสองแถว โดยมีรถซีดานออสติน เวสต์มินสต์เตอร์ ซึ่งแปะด้วยป้ายคำต่าง ๆ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและเวียดนาม ผู้ประท้วงประกาศประณามรัฐบาลของเสี่ยมและนโยบายของเขาต่อชาวพุทธ และเรียกร้องให้เขาปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาถึงความเท่าเทียมทางศาสนา[24] มีภิกษุอีกรูปเสนอตัว แต่ท้ายที่สุดเป็นพระกว๋าง ดึ๊ก เนื่องด้วยพรรษาของเขาที่มากกว่า[25]

การจุดไฟเผาตนเองเกิดขึ้นที่สี่แยกระหว่างถนนฟาน ดิ่ญ ฝุ่ง (ปัจจุบันคือ ถนนเหงียน ดิ่ญ เจี๋ยว) และถนนเละ วัน เสฺวียต (ปัจจุบันคือ ถนนกั๊ก หมั่ง ทั้ง ต๊าม) ไม่กี่ช่วงถนนทางใต้จากวังประธานาธิบดี (ปัจจุบันคือวังแห่งการรวมชาติ) พระกว๋าง ดึ๊ก ลงจากรถพร้อมภิกษุอีกสองรูป ภิกษุรูปหนึ่งนำเอาหมอนวางบนถนน และอีกรูปเปิดกระโปรงรถและหยิบเอาถังน้ำมันรถขนาดห้าแกลลอนออกมา ผู้เดินขบวนล้อมวงเป็นวงกลมรอบ ๆ ในขณะที่พระกว๋าง ดึ๊ก นั่งลงบนหมอนในท่านั่งขัดสมาธิแบบปัทมาสน์ในลักษณะเดียวกับการนั่งสมาธิ ภิกษุรูปหนึ่งได้เทน้ำมันรถออกจากถังเหนือศีรษะของพระกว๋าง ดึ๊ก ขณะที่เขาสวดลูกประคำ และภาวนาคำว่า นาม โม อา ยี ด่า ฝัด (Nam mô A Di Đà Phật, "นะโมอมิตาพุทธ") ก่อนจะจุดไม้ขีดและโยนลงใส่ตนเอง เปลวเพลิงลุกไหม้จีวรและเนื้อหนังมังสาของเขาและเขม่าควันดำพวยพุ่งออกจากร่าง[24][26]

คำกล่าวสุดท้ายของเขาก่อนการจุดไฟเผาตนเองมีบันทึกไว้ในจดหมายที่เขาทิ้งไว้ ว่า:

"ก่อนจะหลับตาลงและออกเดินทางสู่จิตของพระพุทธเจ้า อาตมาร้องขอด้วยเกียรติแด่ประธานาธิบดี โง ดิ่ญ เสี่ยม โปรดจงมีจิตเมตตาต่อผู้คนในชาติ และนำพาความเท่าเทียมทางศาสนามาสู่พวกเขา เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของชาติบ้านเกิดแห่งนี้ตลอดกาล อาตมาร้องขอแด่บรรดาพระสังฆราช พระสังฆาจารย์ และพระสงฆ์ ตลอดจนฆราวาสพุทธศาสนิกชนที่ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานต่อการเสียสละเพื่อปกปักรักษาพระพุทธศาสนา"[5]

เดวิด แฮลเบอร์สแตม เขียนว่า:

"ข้าพเจ้าคิดว่ากำลังจะเดินทางไปยังสถานที่นั้นอีกครั้ง แต่ครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว เปลวเพลิงลุกไหม้ออกจากตัวมนุษย์ ร่างกายของเขาค่อย ๆ มอดไหม้และเหี่ยวย่นลง, ศีรษะของเขากลายเป็นสีดำและไหม้เกรียม ในอากาศเป็นกลิ่นของเนื้อหนังมนุษย์ที่กำลังลุกไหม้ ปรากฏว่ามนุษย์ถูกไฟไหม้สลายไปอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงร้องไห้ของชาวเวียดนามที่มารวมตัวอยู่ด้านหลังของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าในเวลานั้นตกใจเกินกว่าจะร้องไห้ สับสนเกินว่าจะบันทึกหรือสอบถามคำถาม ลำบากใจเกินกว่าแม้แต่จะคิด ... ขณะที่เขากำลังลุกไหม้ เขาไม่แม้แต่ขยับกล้ามเนื้อ ไม่มีการเปล่งเสียงใดออกมา เขาสงบเงียบตลอดเวลาต่างกันกับผู้คนที่กำลังโศกเศร้ารอบตัว"[27]

ผู้เห็นเหตุการณ์ส่วนใหญ่ตกใจจนเงียบ บางส่วนร้องไห้คร่ำครวญ และบางส่วนเริ่มสวดภาวนา ภิกษุและภิกษุณีจำนวนมาก รวมถึงผู้ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ ก้มลงกราบกับพื้นเพื่อสักการะต่อหน้าภิกษุผู้กำลังมอดไหม้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้รับมอบหมายก้มลงกราบเช่นกัน[25]

ภิกษุรูปหนึ่งได้ประกาศออกไมโครโฟนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเวียดนามหลายครั้งว่า: "นักบวชชาวพุทธรูปหนึ่งได้จุดไฟเผาตนเองจนมรณภาพ ภิกษุรูปหนึ่งได้กลายมาเป็นผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ" หลังจากนั้นราว 10 นาที ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มอดไหม้จนหมด และล้มลงด้านหลังโดยส่วนหลังล้มลงสู่พื้น หลังไฟสงบ คณะสงฆ์ได้นำจีวรสีเหลืองคลุมร่างที่กำลังคุกกรุ่นด้วยควัน และนำไปใส่ในโลงศพ กระนั้นส่วนแขนขาไม่สามารถดัดงอให้ตรงได้ และแขนข้างหนึ่งยื่นออกมาจากกล่องไม้ ร่างของเขาถูกนำไปยังวัดเจดีย์ซ้าเหฺลิ่ย ในไซง่อนตอนกลางที่อยู่ไม่ไกลกัน ด้านนอกเจดีย์ นักศึกษาได้แขวนป้ายสองภาษาที่เขียนว่า: "นักบวชชาวพุทธได้เผาตนเองเพื่อข้อเรียกร้องห้าประการของพวกเรา"[24]

เวลา 13:30 น. พระสงฆ์ราว 1,000 รูปได้รวมตัวกันภายในเพื่อจัดการประชุม ในขณะที่ฝูงชนจำนวนมากซึ่งเป็นนักศึกษาฝั่งสนับสนุนศาสนาพุทธก่อกำแพงมนุษย์ล้อมอยู่ภายนอก การประชุมสิ้นสุดไม่นานหลังจากนั้น และพระสงฆ์ทั้งหมดค่อย ๆ เดินทางออกจากพื้นที่ เหลือเพียง 100 รูปภายใน พระสงฆ์เกือบ 1,000 รูป ประกบด้วยคฤหัสถ์ เดินทางกลับไปยังจุดที่ประกอบพิธีศพ และมีตำรวจเข้าสังเกตการณ์อยู่รอบ ๆ เมื่อเวลาราว 18:00 น. ภิกษุณีสามสิบรูปและภิกษุหกรูปถูกจับกุมตัวเนื่องจากรวมตัวกันสวดภาวนาบนถนนด้านนอกวัดซ้าเหฺลิ่ย ตำรวจเข้าล้มเป็นวงรอบวัด ปิดกั้นบุคคลภายนอกไม่ให้เข้าออกบริเวณวัด ผู้สังเกตเหตุการณ์มองว่าขณะนั้นคล้ายกับว่าการล้อมวัดโดยมีอาวุธคงจะเกิดขึ้นตามมา เนื่องจากมีอุปกรณ์ควบคุมจลาจลปรากฏอยู่ในวงล้อม[28]

การปลงศพและเหตุการณ์สืบเนื่อง

วัดเจดีย์ซ้าเหฺลิ่ย

หลังการจุดไฟเผาตนเอง สหรัฐเพิ่มความกดดันมากขึ้นต่อเสี่ยมให้กลับมาเจรจาอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้าไม่มีความคืบหน้าใสการเจรจา เสี่ยมจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินเมื่อเวลา 11:30  น. ของวันที่ 11 มิถุนายน เพื่อถกประเด็นวิกฤตการณ์ชาวพุทธที่เขาเชื่อว่ากำลังจะสงบลงไปแล้ว หลังมรณภาพของพระกว๋าง ดึ๊ก เสี่ยม เขายกเลิกการประชุมและเข้าพบรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัวรายบุคคล รักษาการณ์ทูตสหรัฐประจำเวียดนามใต้ วิลเลียม ทรูฮาร์ต เตือนรัฐมนตรีการต่างประเทศ เหงียน ดิ่ญ ถวั่น ในรัฐมนตรีของเสี่ยม ว่างมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องบรรลุข้อตกลง โดยระบุว่าสถานการณ์ "ใกล้จุดแตกหักอย่างอันตรายยิ่ง" และคาดหวังให้เสี่ยมปฏิบัติตามเจตจำนงห้าประการของชาวพุทธ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ดีน รัสก์ เตือนสถานทูตในไซง่อนว่าทำเนียบขาวจะประกาศตัวอย่างเป็นสาธารณะว่าสหรัฐไม่ "เกี่ยวข้องอันใด" กับรัฐบาล[ของเสี่ยม]อีกต่อไป การสิ่งนี้[การปฏิบัติตามเจตจำนงของชาวพุทธ]ไม่เกิดขึ้น"[29] ข้อตกลงร่วมและการโอนอ่อนให้กับชาวพุทธได้รับการลงนามในวันที่ 16 มิถุนายน[30]

วันที่ 15 มิถุนายน เป็นวันที่ตั้งไว้เป็นวันปลงศพ ในวันนั้น มีผู้คนราว 4,000 คนรวมตัวกันด้านนอกของวัดเจดีย์ซ้าเหลิ่ย กระนั้นพิธีปลงศพได้ถูกเลื่อนวันออกไป ในวันที่ 19 มิถุนายน อัฐิที่เหลือของเขาได้ถูกขนส่งออกมาจากวัดซ้าเหฺลิ่ย ไปยังสุสานที่ห่างออกไป 16 กิโลเมตร (9.9 ไมล์)* ทางใต้ของนครไซง่อน เพื่อประกอบพิธีเผาศพอีกครั้งและพิธีปลงศพ หลังการลงนามในข้อตกลงร่วม จำนวนผู้เข้าร่วมถูกจำกัดอยู่ที่พระสงฆ์ราว 500 รูป ตามข้อตกลงระหว่างผู้นำศาสนาพุทธกับตำรวจ[30]

หัวใจที่ไม่ไหม้และสัญลักษณ์

พระสรีรธาตุหัวใจที่ไม่ไหม้ของพระกว๋าง ดึ๊ก

ร่างของพระกว๋าง ดึ๊ก ได้รับการเผาศพอีกครั้งในระหว่างพิธีศพ กระนั้นปรากฏว่าหัวใจของเขายังคงสภาพและไม่ได้มอดไหม้ไปด้วย[25] หัวใจของท่านจึงถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และถูกนำไปประดิษฐานบนจอกแก้วในวัดเจดีย์ซ้าเหฺลิ่ย[31] พระสรีรธาตุของหัวใจที่ไม่ไหม้[25] นี้ได้รับการถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาปราณี ในภายหลังพระกว๋าง ดึ๊ก จึงได้รับการเคารพบูชาโดยพุทธศาสนิกชนในเวียดนามให้เป็น พระโพธิสัตว์ (โบ่ ท้าต; Bồ Tát) และจึงมักได้รับการเรียกขานเป็นภาษาเวียดนามว่า โบะท้าต ทิก กว๋าง ดึ๊ก[5][32] ในวันที่ 21 สิงหารม กองกำลังพิเศษ ARVN ที่นำโดย โง ดิ่ญ ญู เข้าโจมตีวัดเจดีย์ซ้าเหฺลิ่ย และวัดพุทธอื่น ๆ ทั่วประเทศ ตำรวจลับมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ายึดอัฐิของพระกว๋าง ดึ๊ก แต่พระสงฆ์สองรูปสามารถนำผอบของท่านหลบหนีออกไปได้ทันโดยการกระโดดข้ามรั้วด้านหลัง และนำไปรักษาไว้โดยปลอดภัยที่ศูนย์กิจการของสหรัฐที่ตั้งอยู่ติดกัน[33]

สถานที่ก่อการจุดไฟเผาตนเองซึ่งถูกเลือกให้เป็นบริเวณด้านหน้าของสถานทูตกัมพูชานั้นนำไปสู่คำถามว่าเป็นเรื่องตั้งใจหรือเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ทรูฮาร์ตและเจ้าหน้าที่สถานทูต ชาลส์ ฟลาวเวอรี เชื่อว่าสถานที่นี้ถูกเลือกเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาของกษัตริย์นโรดม สีหนุ เวียดนามใต้และกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงต่อกันในสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งกษัตริย์สีหนุกล่าวโทษเสี่ยมว่าทารุณกรรมชาวพุทธเวียดนามและชาติพันธุ์พุทธเขมรซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ไทมส์ออฟเวียดนาม ซึ่งมีมุมมองสนับสนุนเสี่ยม ตีพิมพ์บทความในวันที่ 9 มิถุนายน อ้างว่าพระสงฆ์ชาวกัมพูชาสนับสนุนให้เกิดวิกฤตการณ์ชาวพุทธ และกล่าวโทษว่านี่เป็นแผนการหนึ่งของกัมพูชาเพื่อขยายนโยบายต่างประเทศที่มีจุดยืนเป็นกลางมาสู่เวียดนามใต้ ฟลาวเวอรีชี้ให้เห็นว่าเสี่ยม "พร้อมและอยากที่จะเห็นว่ากัมพูชามีส่วนในขบวนการชาวพุทธที่มีการจัดขึ้น"[34]

ปฏิกิริยาจากเสี่ยมและทางการ

โง ดิ่ญ เสี่ยม ภาพถ่ายปี 1960

เสี่ยมออกแถลงการณ์ทางวิทยุเมื่อเวลา 19:00 น. ในวันเดียวกับที่พระกว๋าง ดึ๊ก มรณภาพ ระบุว่าเขาไม่สบายใจกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก เขาได้กล่าวร้องขอถึง "ความสงบและความรักชาติ" รวมถึงประกาศว่าการเจรจากับชาวพุทธที่ได้พับเก็บไปก่อนหน้าจะกลับมาเดินหน้าต่อ เขาอ้างว่าการเจรจาดำเนินมาได้อย่างดีและในห้วงเวลาของความตึงเครียดทางศาสนานี้ เชาเน้นย้ำซึ่งบทบาทของปรัชญาโรมันคาทอลิกในการแยกแยะประเด็นส่วนตัวออกจากการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ เขากล่าวโทษว่ากลุ่มหัวรุนแรงได้ดัดแปรข้อเท็จจริงต่าง ๆ และยืนยันว่าชาวพุทธสามารถ "ยึดมั่นเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญ หรือกล่าวก็คือ ในตัวข้าพเจ้า"[28]

กองทัพ ARVN ปฏิบัติตามคำขอของเสี่ยมและจัดการแสดงจุดยืนร่สมลับหลังเสี่ยมเพื่อผลักใสเจ้าหน้าที่ที่ความเห็นไม่ลงรอยกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงสามสิบนายที่นำโดยนายพล เล วัน ติ ประกาศทางออกว่าจะปฏิบัติการต้าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายแก่กองทัพเพื่อป้องกันรักษารัฐธรรมนูญและสาธารณรัฐ การประกาศนี้เป็นการเคลือบผิว ๆ ซึ่งแผนการโค่นล้มรัฐบาลของเสี่ยม[35] ผู้ลงนามบางคนต่อมามีบทบาทอย่างเป็นส่วนตัวในการโค่นล้มและสังหารเสี่ยมในเดือนพฤศจิกกายน นายพล เดือง วัน มิญ และ ตรั่น วัน เดิน ที่ปรึกษาด้านการทหารต่อประธานาธิบดี และผู้นำการรัฐประหารรัฐบาลของเสี่ยม ในเวลานั้นอยู่ต่างประเทศ[35]

มาดาม ญู อดีตชาวพุทธที่เปลี่ยนมาเข้ารีตเป็นคริสต์ สตรีหมายเลขหนึ่งของเวียดนามใต้ (เธอเป็นภรรยาของโง ดิ่ญ ญู น้องชายของเสี่ยมและเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษารัฐบาล เป็นที่ยอมรับกันว่าเธอเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งเช่นนั้น เนื่องจากเสี่ยมไม่ได้แต่งงาน) กล่าวว่าเธอจะ "ปรบมือให้กับการแสดงปิ้งย่างพระสงฆ์อีกรูป"[36] ในเดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลได้คาดโทษพระกว๋าง ดึ๊ก ว่าใช้สารเสพติดก่อนจะถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย[37] รัฐบาลยังกล่าวโทษว่านักข่าวบราวน์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และจ่ายเงินให้กับพระกว๋าง ดึ๊ก เพื่อเผาตัวเองจนถึงแก่มรณภาพ[38]

ผลต่อสื่อและการเมือง

มัลคอล์ม บราวน์ กับภาพถ่ายพระกว๋าง ดึ๊ก

ภาพถ่ายของมัลคอล์ม บราวน์ แพร่กระจายไปทั่วสำนักข่าวต่าง ๆ และถูกตีพิมพ์เป็นภาพหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลก เหตุการณ์การเผาตนเองนี้ต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤตการณ์ชาวพุทธและจุดสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลของเสี่ยม[39]

นักประวัติศาสตร์ เสต เจเคิบส์ เสนอว่าพระกว๋าง ดึ๊ก ได้ "สลายการทดลองของอเมริกาในเสี่ยมไปสิ้นเช่นกัน" และ "ไม่ว่าจะร้องขอเพียงใดก็ไม่สามารถกู้คืนชื่อเสียงของเสี่ยมได้อีก" หลังภาพถ่ายของบราวน์ได้เข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้คนทั่วโลก[40] เอลเลน แฮมเมอร์ บรรยายเหตุการณ์นี้ว่าได้ "กระตุ้นภาพจำอันโหดร้ายของการลงโทษอย่างทารุณและความน่าหวาดกลัวที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นจริงอันเป็นเอเชียอย่างยิ่งที่ชาวตะวันตกเข้าใจได้"[41] จอห์น เมคลิน เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าภาพถ่ายนี้ "สร้างความสะพรึงอย่างประเมินค่ามิได้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ขบวนการของชาวพุทธ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนสภาวะของเวียดนามในเวลานั้น"[39] วิลเลียม คอบี หัวหน้าส่วนงานตะวันออกไกลของซีไอเอในเวลานั้น ระบุว่าเสี่ยม "รับมือกับวิกฤตการณ์ชาวพุทธได้ค่อนข้างแย่ และปล่อยให้ลุกลาม แต่ผมคิดว่ามันคงไม่มีอะไรที่จะทำได้อีกหลังภิกษุรูปนั้นจุดไฟเผาตัวเอง"[39]

ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ผู้ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักของรัฐบาลเสี่ยม รับทราบถึงมรณกรรมของพระกว๋าง ดึ๊ก จากหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าระหว่างกำลังคุยกับน้องชาย รอเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติกรรม ทางโทรศัพท์อยู่ รายงานระบุว่าเคนเนดีขัดขึ้นมาระหว่างกำลังพูดคุยเรื่องการแบ่งแยกในรัฐแอละบามา โดยตะโกนออกมาว่า "พระเจ้า!" (Jesus Christ!) ต่อมาในภายหลังเขาได้กล่าวถึงภาพถ่ายนี้ว่า "ไม่มีภาพถ่ายข่าวใดในประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกไปทั่วโลกเท่ากับภาพนั้นอีก"[40] วุฒิสมาชิกแฟรงก์ เชิร์ช (พรรคเดโมแครต รัฐไอดาโฮ) สมาชิกคณะวุฒิสมาชิกกิจการระหว่างประเทศ กล่าวอ้างว่า "เหตุการณ์ที่น่าสยดสยองเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่การไล่สังหารคริสต์ชนในสมัยโรมัน"[41]

ในทวีปยุโรป ภาพถ่ายนี้ถูกนำมาวางขายตามท้องถนนในรูปแบบไปรษณียบัตรในระหว่างทศวรรษ 1960 ส่วนในจีนได้เผยแพร่ภาพถ่ายนี้ไปทั่วเอเชียและแอฟริกาเพื่อเป็นหลักฐานถึงจักรวรรดินิยมของสหรัฐ[38] ภาพถ่ายของบราวน์ยังนำไปใส่กรอบและติดตั้งไว้กับรถยนต์คันที่นำพระกว๋าง ดึ๋ก ไปก่อการเผาตนเอง รถยนต์ที่ว่านี้จัดแสดงอยู่ในเมืองเว้[38]สำหรับบราวน์และเอพี ภาพถ่ายนี้เป็นความสำเร็จทางการตลาด เรย์ แฮร์นเดิน ผู้สื่อข่าวภาคพื้นเวียดนามของยูพีไอ ลืมนำกล้องติดตัวไปด้วยในวันนั้นและถูกนายจ้างตำหนิอย่างรุนแรงเป็นการส่วนตัว ยูพีไอคาดการณ์ว่าผู้อ่านราว 5,000 คนในซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากร 1.5–2 ล้านคน ได้เปลี่ยนไปรับข่าวจากแหล่งของเอพีแทน[42]

สื่อปากเสียงภาษาอังกฤษของเสี่ยม ไทมส์ออฟเวียดนาม เพิ่มความรุนแรงในการโจมตีทั้งนักข่าวและชาวพุทธ มีการตีพิมพ์หัวข่าวเช่น "โปลิตบูโรที่ซ้าเหฺลิ่ยสร้างภัยคุกคามใหม่" และ "พระสงฆ์วางแผนการฆาตกรรม"[43] บทความชิ้นหนึ่งยังตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหส่างพระสงฆ์กับสื่อว่า "ทำไมถึงได้มีหญิงสาวมากมายสลับกันเข้าออกวัดซ้าเหฺลิ่ยตั้งแต่เช้า[ของวันนั้น]" และกล่าวอ้างโทษว่าหญิงสาวเหล่านั้นถูกนำเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนทางเพศกับผู้สื่อขาวของสหรัฐ[43]

ผู้นำมาก่อนและอิทธิพล

สถูปพระโพธิสัตว์กว๋าง ดึ๊ก ตรงสี่แยกที่ท่านทำการเผาตนเอง

การเผาตนเองจนถึงแก่มรณกรรมในพระสงฆ์เวียดนามไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีบันทึกถึงการเผาตนเองมรณภาพในพระสงฆ์ของเวียดนามมานับศตวรรษ โดยทั่วไปทำไปเพื่อถวายเกียรติแด่พระโคตมพุทธเจ้า กรณีที่เกิดขึ้นใกล้กับเหตุการณ์นี้ที่สุดที่มีบันทึกไว้เกิดขึ้นในเวียดนามเหนือในปี 1950 เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสพยายามจะกำจัดการปฏิบัตินี้หลังเข้ายึดครองเวียดนามได้ในศตวรรษที่สิบเก้า มีรายงานว่าทางการเคยป้องกันพระสงฆ์เผาตนเองในเว้ได้สำเร็จในทศวรรษ 1920 กระนั้นพระรูปนั้นหันไปอดอาหารจนมรณภาพแทน ระหว่างทศวรรษ 1920 ถึง 1930 หนังสือพิมพ์ในไซง่อนรายงานเหตุการณ์การเผาตนเองมรณภาพของพระสงฆ์กันอย่างไร้ความรู้สึก การปฏิบัตินี้ยังเคยเกิดขึ้นในฮาร์บิน ประเทศจีน ในปี 1948 โดยพระสงฆ์รูปหนึ่งนั่งในท่าขัดสมาธิแบบปัทมาสน์บนกองขี้เลื่อยและน้ำมันถั่วเหลืองก่อนจะจุดไฟเผาตนเองเพื่ประท้วงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง ที่มีนโยบายปราบปรามศาสนา หัวใจของพระสงฆ์รูปนี้ยังคงสภาพสมบูรณ์เช่นเดียวกับพระกว๋าง ดึ๊ก[44]

หลังจากพระกว๋าง ดึ๊ก ได้มีพระสงฆ์อีกห้ารูปที่เผาตนเองเรื่อยมาจนปลายเดือนตุลาคม 1963 ท่ามกลางการประท้วงของชาวพุทธที่ทวีความรุนแรงขึ้น[45] ในวันที่ 1 พฤศจิกายน กองทัพ ARVN โค่นล้มเสี่ยมในการรัฐประหาร เสี่ยมและญูถูกลอบสังหารในวันต่อมา[46] นับจากนั้นยังคงมีพระสงฆ์เผาตนเองเพื่อเรียกร้องในประเด็นอื่น ๆ เรื่อยมา[47]

ชาวอเมริกันในไซง่อนมักมองเหตุการณ์การเผาตนเองว่าเป็นเรื่องเหนือจริง และมักเล่นมุกเกี่ยวกับ "บอนซ์ฟายร์" (bonze fires แปลว่า ไฟพระสงฆ์; เป็นการเล่นคำกับ bonfire ที่แปลว่า กองไฟ) และ "ฮอตครอสบอนสิส" (hot cross bonzes)[48] ในตัวอย่างหนึ่งเมื่อปี 1963 ลูกชายอายุน้อยของเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐประจำไซง่อนคนหนึ่งเทน้ำมันเครื่องใส่ตนเองและจุดไฟเผาตนเอง เขาเป็นบาดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรงก่อนจะมีผู้มาดับไฟ ต่อมาเขาระบุว่า "อยากรู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร"[48] ในสหรัฐมีการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับพระกว๋าง ดึ๊ก ในการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงจนถึงแก่ชีวิต โดยทำไปเพื่อประท้วงต่อสงครามเวียดนาม ในวันที่ 16 มีนาคม 1965 แอลิส เฮิร์ซ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพวัย 82 จุดไฟเผาตนเองประท้วงด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเฟเดอรัลในดีทรอยต์[49] ต่อมาในปีเดียวกันนั้น นอร์แมน มอริสัน นักสันติภาพนิยมวัย 31 ปี สมาชิกลัทธิเคว็กเกอร์เทน้ำมันเคอโรซีนและจุดไฟเผาตนเองใต้หน้าต่างชั้นสามของรัฐมนตรีกลาโหม รอเบิร์ต แม็กนาแมรา ที่เพนตากอน ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 1965 และในสัปดาห์ต่อมารอเจอร์ แอลเลน ลาพอร์เต ทำการเผาตนเองเช่นเดียวกันที่ด้านหน้าของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

หมายเหตุ

อ้างอิง

บรรณานุกรม

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง