ปฏิบัติการสะพานลอนดอน

ปฏิบัติการสะพานลอนดอน (อังกฤษ: Operation London Bridge) เป็นรหัสลับเรียกแผนดำเนินการต่าง ๆ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตลง[1][2][3][4] เดิมทีแผนนี้วางขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และปรับปรุงเรื่อยมาทุกปี ในการวางแผนมีความร่วมมือจากกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เป็นต้นว่า หน่วยตำรวจนครบาล กองทัพบริติช ราชอุทยานลอนดอน ตลอดจน คริสตจักรอังกฤษ และสื่อมวลชน นอกจากนี้ การตัดสินใจสำคัญบางประการยังเป็นพระวินิจฉัยของสมเด็จพระราชินีนาถโดยตรง แต่บางเรื่องที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยของผู้สืบบัลลังก์ต่อก็มี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ใน ค.ศ. 2015

แผนนี้กำหนดให้ใช้ข้อความว่า "สะพานลอนดอนพังแล้ว" (London Bridge is down) เป็นรหัสสำหรับบอกคนวงใน เช่น นายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ให้ทราบว่า สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตแล้ว จะได้เริ่มปฏิบัติตามแผน

ปฏิบัติการนี้จะเกิดควบคู่กับปฏิบัติการอื่น คือ ปฏิบัติการสปริงไทด์ (Operation Spring Tide) สำหรับการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และ ปฏิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn) สำหรับกรณีที่สวรรคตในประเทศสกอตแลนด์

ประวัติ

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 งานพระศพในสหราชอาณาจักรนั้นดำเนินการไม่เรียบร้อยมาตลอด เป็นต้นว่า ในงานพระศพเจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์เมื่อ ค.ศ. 1817 สัปเหร่อล้วนเมาสุรา ขณะที่งานพระศพพระเจ้าจอร์จที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1830 นั้น นิตยสาร ไทมส์ บันทึกว่า "บริหารจัดการแย่" (ill-managed) พฤติการณ์เหล่านี้มาเปลี่ยนแปลงเอาเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเตรียมงานพระศพของพระองค์มาตั้งแต่ ค.ศ. 1875 จนสวรรคตลงใน 26 ปีให้หลัง[1]

การใช้รหัสลับสำหรับบอกข่าวการสวรรคตนั้น เริ่มเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 สวรรคตใน ค.ศ. 1952 มีการแจ้งข้อความว่า "มุมสวนไฮด์" (Hyde Park Corner) ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ เพื่อเป็นนัยว่า พระเจ้าแผ่นดินสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้ควบคุมแผงไฟในพระราชวังบักกิงแฮมรู้ข่าวเร็วเกินไป[1][2]

ส่วนสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี นั้น มีการใช้แผนเรียก "ปฏิบัติการสะพานเทย์" (Operation Tay Bridge) สำหรับเตรียมงานพระศพล่วงหน้าถึง 22 ปี และแผนนี้ก็ใช้เป็นแบบแผนงานพระศพเจ้าหญิงไดอานาใน ค.ศ. 1997[1]

แผน

สะพานลอนดอน (ภาพใน ค.ศ. 2006) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับแผนปฏิบัติการ

แผนสำหรับดำเนินการเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตแล้ว มีดังนี้

วันสวรรคต

คริสโตเฟอร์ ไกดต์ (Christopher Geidt) ราชเลขาธิการ เป็นข้าราชการคนแรกที่มีหน้าที่รับมือกับข่าวการสวรรคต สิ่งแรกที่เขาจะทำ คือ ติดต่อนายกรัฐมนตรี แล้วข้าราชการทั้งหลายก็จะแจ้งข้อความ "สะพานลอนดอนพังแล้ว" ต่อ ๆ กันไปทางโทรศัพท์ที่มีระบบป้องกัน[1] จากนั้น ศูนย์ปฏิกิริยาโลก (Global Response Centre) ในสังกัดสำนักต่างประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งอันไม่เปิดเผยอยู่ในลอนดอน จะแจ้งข่าวการสวรรคตไปยังรัฐบาล 15 ประเทศในเครือจักรภพประชาชาติที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นประมุข[1]

แล้วจะมีการแจ้งสื่อมวลชน โดยแถลงต่อสมาคมสื่อ และต่อบีบีซีทางระบบส่งผ่านการแจ้งเตือนทางวิทยุ (Radio Alert Transmission System) รวมถึงต่อสถานีวิทยุพาณิชย์ทั้งหลายผ่านเครือข่าย "ไฟมรณะ" (obit light) สีฟ้า ซึ่งจะเป็นที่รับทราบของพิธีกรรายการวิทยุว่า ถึงเวลาเปิด "เพลงที่เหมาะสม" และเตรียมเสนอข่าวฉับพลัน ในการนี้ นิตยสาร ไทมส์ มีเวลา 11 วันสำหรับเตรียมออกข่าว ส่วนสำนักข่าวไอทีเอ็นและสกายนิวส์ได้ซักซ้อมเกี่ยวกับการสวรรคตมานานแล้ว โดยใช้คำว่า "คุณนายรอบินสัน" (Mrs Robinson) เรียกสมเด็จพระราชินีนาถแทน[1]

ครั้นแล้ว ชาวพนักงานจะติดกระดาษขอบดำลงประกาศการสวรรคตไว้ตามประตูพระราชวังบักกิงแฮม ขณะเดียวกัน เว็บไซต์สำนักพระราชวังก็จะขึ้นประกาศอย่างเดียวกัน[1] แล้วจะมีการเรียกประชุมรัฐสภานัดพิเศษภายในไม่กี่ชั่วโมง เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้แถลงการสวรรคตต่อสภาสามัญชน

วันถัดจากวันสวรรคต

หลังสวรรคตแล้วหนึ่งวัน สภาการขึ้นครองราชย์[5] (Accession Council) จะประชุมประกาศยกเจ้าชายชาลส์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์[1] เย็นนั้น จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

งานพระบรมศพ

มีการเตรียมเคลื่อนหีบพระบรมศพไว้หลายทาง สุดแต่ว่าจะสวรรคตที่ใด เช่น

  • ถ้าสวรรคต ณ ปราสาทวินด์เซอร์ หรือตำหนักซานดริงแฮม จะเคลื่อนหีบพระบรมศพด้วยรถยนต์ไปยังพระราชวังบักกิงแฮมภายใน 1-2 วัน
  • ถ้าสวรรคตต่างประเทศ จะให้กองบินที่ 32 ลำเลียงหีบพระบรมศพไปยังสถานีนอร์ตโฮลต์ แล้วเคลื่อนต่อด้วยรถยนต์ไปยังพระราชวังบักกิงแฮม
  • ถ้าสวรรคต ณ พระราชวังโฮลีรูดในสกอตแลนด์ จะไว้หีบพระบรมศพ ณ อาสนวิหารนักบุญไจลส์ (St Giles' Cathedral) แล้วจึงขนย้ายต่อด้วยรถไฟหลวงไปยังลอนดอน

แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไร หีบพระบรมศพจะตั้งไว้ในท้องพระโรงพระราชวังบักกิงแฮมเป็นเวลา 4 วัน แล้วจะย้ายไปตั้งสักการะ ณ โถงเวสมินสเตอร์ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ อีก 4 วัน

ส่วนงานพระบรมศพจะจัดขึ้น ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เมื่อสวรรคตแล้ว 9 วัน หลังจากนั้น จะฝังพระศพไว้ ณ โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์[1]

แผนควบคู่

ปฏิบัติการสะพานลอนดอนจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับแผนการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาลส์ เรียกว่า ปฏิบัติการสปริงไทด์ และมีแผนเสริมในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตในสกอตแลนด์ เรียกว่า ปฏิบัติการยูนิคอร์น[6]

ปฏิบัติการสปริงไทด์

ปฏิบัติการสปริงไทด์เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายชาลส์ โดยหนึ่งวันหลังจากการสวรรคต สภาการขึ้นครองราชย์ ซึ่งประกอบด้วย องคมนตรี สมาชิกสภาสามัญชนอาวุโสทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้าราชการระดับสูง สมาชิกของสภาขุนนาง ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัฐต่าง ๆ ในเครือจักรภพ[5] จะประชุมกัน ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ และจะประกาศชื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ เย็นวันเดียวกัน รัฐสภาอังกฤษจะเรียกประชุมเพื่อให้สมาชิกถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และแสดงความอาลัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถ และจะงดกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาเป็นเวลา 10 วัน จากนั้นเวลา 15:30 น. เจ้าชายชาลส์ ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แล้ว จะทรงให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า[7]

สองวันหลังจากการสวรรคต จะมีการประกาศพระปฐมบรมราชโองการ มีเนื้อหาเป็นข้อความที่ร่างขึ้นตามธรรมเนียมโบราณ จะมีการให้เสียงสัญญาณแตรและอ่านประกาศการขึ้นครองราชย์เหนือระเบียง ณ แฟรีคอร์ต พระราชวังเซนต์เจมส์ ด้วยข้อความว่า "พระผู้เป็นเจ้าทรงปกปักรักษาพระราชา" (God Save the King) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่เพลงชาติของอังกฤษเปลี่ยนจากคำว่า "Queen" มาเป็น "King" และมีการอ่านพระปฐมบรมราชโองการขึ้นที่เมืองเอดินบะระ คาร์ดิฟฟ์ และเบลฟาสต์ พร้อมยิงสลุต ณ ไฮด์พาร์ก หอคอยแห่งลอนดอน และเรือหลวงต่าง ๆ[5]

สามวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะทรงรับการแสดงความเสียใจจากรัฐสภาอังกฤษ และเริ่มพระราชกรณียกิจในช่วงบ่ายด้วยการเยือนสภาสกอตแลนด์ รวมถึงเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์ไจลส์ในกรุงเอดินบะระ วันรุ่งขึ้น จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนไอร์แลนด์เหนือ เพื่อแสดงความอาลัยที่ปราสาทฮิลส์โบโร และร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์แอนน์ เมืองเบลฟาสต์

เจ็ดวันหลังจากการสวรรคต พระเจ้าชาลส์ที่ 3 จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนเวลส์เพื่อทรงรับการแสดงความเสียใจที่รัฐสภาเวลลส์ และเข้าร่วมพิธีมิสซาที่มหาวิหารแลนแดฟในเมืองคาร์ดิฟฟ์[7]

ปฏิบัติการยูนิคอร์น

ปฏิบัติการยูนิคอร์นเป็นแผนจัดการในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคตในสกอตแลนด์ ซึ่งได้รับการเปิดเผยรายละเอียดครั้งแรกใน ค.ศ. 2019 ก่อนหน้านี้ชื่อของปฏิบัติการได้รับการพูดถึงในเอกสารออนไลน์ของรัฐสภาสกอตแลนด์เมื่อ ค.ศ. 2017[8][9]

ปฏิบัติการยูนิคอร์นจะเกิดขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พระราชวังโฮลีรูด มหาวิหารเซนต์ไจลส์ และรัฐสภาสกอตแลนด์ โดยจะมีการประกาศข่าวแสดงความเสียใจต่อสาธารณชนที่นั่น และงดกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐสภาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเตรียมการในการจัดงานพระบรมศพ รัฐสภาจะเตรียมการแสดงความเสียใจภายใน 72 ชั่วโมง และจะเก็บพระบรมศพไว้ในโลง พักไว้ในวังโฮลีรูดก่อน ตามด้วยการอัญเชิญไปไว้ยังวิหารเซนต์ไจลส์ในเอดินบะระ และเชิญไปยังสถานีรถไฟเวฟเวอร์ลีย์ และขนส่งพระบรมศพไปยังลอนดอนโดยรถไฟหลวงหรือโดยเครื่องบิน โดยจะมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรอรับพระบรมศพอยู่[10]

ปฏิบัติการนี้เรียกชื่อตามยูนิคอร์น ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของสกอตแลนด์และเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินร่วมกับสิงโตแห่งอังกฤษ[11]

การดำเนินการ

สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต ณ ปราสาทแบลมอรัลในสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 จึงเป็นอันเริ่มดำเนินตามแผน[12]

ชื่อ

แผนเตรียมความพร้อมสำหรับการสวรรคตของพระราชวงศ์บริติชนั้นมักใช้ชื่อสะพานในสหราชอาณาจักรมาเรียก เป็นต้นว่า

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง