ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (ฝรั่งเศส: Déclaration des droits de l'homme et du citoyen) ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติออกใน ค.ศ. 1789 นั้น เป็นเอกสารทางสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองจากสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ภาพเขียนของบาร์บีเยร์ในราว ค.ศ. 1789

ซีเยแย็ส นักบวช กับลาฟาแย็ต ขุนนาง ซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทั้งคู่ ร่วมกันร่างประกาศนี้ขึ้นผ่านการปรึกษาหารือกับทอมัส เจฟเฟอร์สัน[1] สิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลักสิทธิตามธรรมชาตินั้น ได้รับการประกาศให้เป็นสิทธิสากล กล่าวคือ ใช้การได้ทุกที่ทุกเวลา ประกาศดังกล่าวกลายเป็นรากฐานของชาติบ้านเมืองที่เสรีชนได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันจากรัฐธรรมนูญ และยังได้รับการยกมาไว้ในตอนต้นของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสหลายฉบับ ประกาศนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจากนักปรัชญายุคเรืองปัญญา และเป็นถ้อยแถลงสำคัญที่แสดงคุณค่าของการปฏิวัติฝรั่งเศส ทั้งยังมีผลใหญ่หลวงต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของคนทั่วไปในยุโรปและทั่วโลกเกี่ยวกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและประชาธิปไตย[2]

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ฉบับ ค.ศ. 1948 นั้น ได้รับอิทธิพลในหลาย ๆ ส่วนจากประกาศฉบับ ค.ศ. 1789 นี้ รวมถึงมหากฎบัตร ฉบับ ค.ศ. 1215, ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ ฉบับ ค.ศ. 1689, คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ ฉบับ ค.ศ. 1776, และร่างรัฐบัญญัติของสหรัฐว่าด้วยสิทธิ ฉบับ ค.ศ. 1789[3]

ประวัติ

เนื้อหาส่วนใหญ่ในประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นจากอุดมคติในยุคเรืองปัญญา[4] ต้นร่างหลัก ๆ นั้นมีผู้จัดทำ คือ ลาฟาแย็ต ซึ่งบางโอกาสได้ดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับทอมัส เจฟเฟอร์สัน เพื่อนสนิท[5][6] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1789 มีราโบ ขุนนางซึ่งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอีกผู้หนึ่ง ได้มีบทบาทเป็นแกนกลางในการวางกรอบความคิดและยกร่างประกาศฉบับนี้[7]

ต้นร่างสุดท้ายที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาตินั้น เป็นผลงานของคณะกรรมาธิการชุดที่ 6 ซึ่งมีซีเซเป็นประธาน เนื้อหามี 24 ข้อ แต่เมื่อผ่านการอภิปรายในสภาแล้ว เหลือ 17 ข้อ ข้อสุดท้ายได้รับมติยอมรับในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 ซึ่งยังอยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และนับเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ[8][9]

ภายหลัง มีการจัดทำประกาศอย่างเดียวกันที่ขยายเนื้อหาออกหลายส่วน เช่น ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1793 แต่ฉบับนี้ไม่ได้รับมติยอมรับอย่างเป็นทางการ[10]

บริบททางปรัชญา

แนวคิดในประกาศนั้นมาจากหลักเรื่องหน้าที่ทางปรัชญาและทางการเมืองในยุคเรืองปัญญา เช่น หลักปัจเจกนิยม, สัญญาประชาคมที่รูโซเสนอทฤษฎี, และการแบ่งแยกอำนาจที่มงแต็สกีเยอสนับสนุน เนื้อหาในประกาศยังแสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลอย่างยิ่งจากปรัชญาทางการเมืองแห่งยุคเรืองปัญญาและหลักสิทธิมนุษยชนชุดเดียวกับที่คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐ (ออกใน ค.ศ. 1776) ได้รับ นอกจากนี้ ประกาศของฝรั่งเศสฉบับนี้โดยเนื้อแท้แล้วตั้งอยู่บน "กฎธรรมชาติแบบโลกวิสัย" กล่าวคือ ไม่ตั้งอยู่ในอำนาจหรือหลักการใด ๆ ในทางศาสนา ซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีเรื่องกฎธรรมชาติแบบโบราณ[11]

ประกาศฉบับนี้กำหนดสิทธิสำหรับบุคคลเป็นรายบุคคลและสำหรับสาธารณชนโดยรวม ซึ่งระบุให้เป็นสิทธิสากล กล่าวคือ เป็นสิทธิที่ใช้การได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ แต่ ณ เวลาที่ออกประกาศนั้น สิทธิดังกล่าวมอบให้แก่มนุษย์เท่านั้น และเนื้อใหญ่ใจความยังเป็นการแถลงวิสัยทัศน์มากกว่าความเป็นจริง ทั้งยังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างถึงแก่นไม่ว่าในฝรั่งเศสเองหรือในโลกตะวันตก และเนื่องจากประกาศนี้มีขึ้นในยุคสงครามและการปฏิวัติ จึงได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ที่มองว่า การมีประชาธิปไตยและเปิดให้บุคคลมีสิทธิส่วนตนนั้นจะนำไปสู่ความวุ่นวายและแตกแยก[12]

เนื้อหา

ประกาศฉบับนี้ขึ้นต้นด้วยคำปรารภที่ระบุถึงลักษณะพื้นฐานของสิทธิว่า มีความเป็นธรรมชาติ ไม่อาจโอนให้กันได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังประกอบขึ้นจากหลักการที่เรียบง่ายแต่โต้เถียงหักล้างไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักการที่พลเมืองสามารถใช้อ้างในการเรียกร้องต่าง ๆ ส่วนในตัวเนื้อหานั้นแสดงว่า สิทธิของบุคคลในทางธรรมชาติ ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับอายุความใด ๆ นั้น ได้แก่ เสรีภาพ ทรัพย์สิน ความมั่นคง และการต่อต้านการกดขี่ นอกจากนี้ ประกาศยังเรียกให้มีการล้มเลิกเอกสิทธิ์ต่าง ๆ ของชนชั้นสูง โดยระบุให้ยกเลิกระบอบศักดินาและการงดเว้นภาษีให้แก่ชนชั้นศักดินา และระบุถึงความเท่าเทียมกันในทางสิทธิและเสรีภาพของคนทุกคน รวมถึงระบุให้การเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ต้องตั้งอยู่บนความรู้ความสามารถ ให้จำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมกระบวนการในการบัญญัติกฎหมาย และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนรับรองเสรีภาพของสื่อ และห้ามการจับกุมคุมขังผู้คนตามอำเภอใจ[13]

หลักสำคัญอีกประการหนึ่งที่ประกาศฉบับนี้ยืนยันถึง คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักเทวสิทธิ์ของกษัตริย์แต่โบราณ[14]

ถึงแม้ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 หญิงชาวฝรั่งเศสพากันเดินขบวนไปแวร์ซายเพื่อมอบหนังสือร้องเรียนต่อสมัชชาแห่งชาติให้ประกาศความเสมอภาคทางสิทธิมาถึงผู้หญิง แต่ที่สุดแล้ว ประกาศนี้รับรองสิทธิหลายอย่างให้เป็นของพลเมืองชายเท่านั้น[15]

ประกาศนี้ไม่ได้ให้ยุติความเป็นทาสตามที่สมาคมเพื่อนคนดำ (Société des amis des Noirs) วิ่งเต้น และแม้ประกาศจะไม่ได้ระบุถึงความเป็นทาสไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าทาสในแซ็ง-ดอแม็งก์ (Saint-Domingue) ลุกฮือขึ้นในการปฏิวัติเฮติ (Haitian Revolution) เมื่อ ค.ศ. 1791[16]

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง