พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ

พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ[1] (อังกฤษ: William I of England) หรือ วิลเลียมผู้พิชิต[2] (William the Conqueror) หรือพระเจ้าวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี (William II of Normandy) หรือบ้างเรียก พระเจ้าวิลเลียมบุตรนอกสมรส (William the Bastard) เป็นพระมหากษัตริย์นอร์มันองค์แรกของอังกฤษ พระองค์ครองราชย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1066 จนกระทั่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1087 หลังจากที่พระองค์ตกจากหลังม้าในช่วงสงคราม พระองค์เป็นทายาทของรอลโลแห่งนอร์ม็องดี พระองค์เป็นดยุกแห่งนอร์มังดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1035 ถึง ค.ศ. 1087 หลังจากที่พระราชบิดาของพระองค์คือรอแบร์ที่ 1 ดยุกแห่งนอร์ม็องดีเสียชีวิต โดยปี ค.ศ. 1060 หลังจากการต่อสู้อันยาวนาน พระองค์มีอำนาจเหนือกลุ่มขุนนางทำให้บัลลังก์ของพระองค์มีความมั่นคง ในปี ค.ศ. 1066 หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี วิลเลียมบุกอังกฤษ นำกองทัพของนอร์มันได้รับชัยชนะเหนือกองกำลังแองโกล-แซกซอนของพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันในยุทธการที่เฮสติ้งส์ และปราบปรามการจลาจลในอังกฤษในเวลาต่อมา ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน พระชนม์ชีพที่เหลือของพระองค์เต็มไปด้วยการต่อสู้เพื่อยึดครองอังกฤษ และความยากลำบากในการปราบปรามกบฏของพระราชโอรสองค์โตของพระองค์คือรอเบิร์ตที่ 2 ดยุกแห่งนอร์มังดี

พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าวิลเลียม ผู้พิชิต โดยศิลปินนิรนาม คริสต์ศตวรรษที่ 17
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
ครองราชย์25 ธันวาคม ค.ศ. 1066 –
9 กันยายน ค.ศ. 1087
ราชาภิเษก25 ธันวาคม ค.ศ. 1066
ก่อนหน้าพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง (มิได้ราชาภิเษก)
พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน (ได้รับการราชาภิเษก)
ถัดไปพระเจ้าวิลเลียมที่ 2
ดยุกแห่งนอร์ม็องดี
ครองราชย์3 กรกฎาคม ค.ศ. 1035 – 9 กันยายน ค.ศ. 1087
ก่อนหน้าดยุกรอแบร์ผู้เกรียงไกร
ถัดไปดยุกรอเบิร์ต เคอร์ทโฮส
พระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 1028
ฟาเลส ดัชชีนอร์ม็องดี
สวรรคต9 กันยายน ค.ศ. 1087 (พระชนมายุประมาณ 59 พรรษา)
อารามแห่งนักบุญเกรนิวัส รูอ็อง ดัชชีนอร์ม็องดี
ฝังพระบรมศพแซง-อองตวง เดอ ก็อง นอร์ม็องดี
มเหสีมาทิลดาแห่งแฟลนเดิร์ส
พระราชบุตร
ราชวงศ์นอร์มัน
พระราชบิดาดยุกรอแบร์ผู้เกรียงไกร
พระราชมารดาแอร์เลวา แห่งฟาเลส
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญ

พระเจ้าวิลเลียมเป็นบุตรชายของรอแบร์ที่ 1 ดยุกแห่งนอร์ม็องดีและแอร์เลวาผู้เป็นภรรยาลับของเขา สถานะบุตรชายนอกกฎหมายและความเยาว์วัยของพระองค์ทำให้เกิดปัญหาหลังจากที่พระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดาซึ่งทำให้เกิดปัญหาในช่วงปีแรก ๆ ของการปกครองของพระองค์ ขุนนางนอร์มันต่อสู้กันเองเพื่อควบคุมดยุกผู้ยังเยาว์ กระทั่งในปี ค.ศ. 1047 วิลเลียมสามารถปราบกบฏและเริ่มสร้างอำนาจเหนือขุนนางซึ่งเป็นกระบวนการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนถึงราวปี ค.ศ. 1060 การแต่งงานของเขาในยุค 1050 กับมาทิลดาแห่งแฟลนเดิร์สทำให้เขามีพันธมิตรที่มีอำนาจ เมื่อถึงเวลาแต่งงาน วิลเลียมสามารถจัดให้มีการแต่งตั้งผู้สนับสนุนของพระองค์เป็นมุขนายกและเจ้าอธิการในโบสถ์นอร์มัน การรวมอำนาจของพระองค์ทำให้พระองค์สามารถขยายอาณาเขตอันไกลโพ้นของพระองค์ได้ และเขาได้ควบคุมเขตเมนที่อยู่ใกล้เคียงภายในปี ค.ศ. 1062

ในช่วงทศวรรษ 1050 และต้นทศวรรษ 1060 วิลเลียมกลายเป็นผู้ท้าชิงบัลลังก์แห่งอังกฤษเพื่อสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระปิตุลา (อา) ของพระองค์ซึ่งไม่มีรัชทายาท และยังมีผู้อ้างสิทธิ์ที่อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อีกหลายคน รวมทั้งเอิร์ลฮาโรลด์ กอดวินสัน ซึ่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีประกาศแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ก่อนเสด็จสวรรคตบนเตียงพระบรรทมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1066 ซึ่งก่อนหน้านี้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสัญญาจะมอบราชบัลลังก์ให้แก่พระองค์ และเอิร์ลแฮโรลด์ได้สาบานที่จะสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของพระองค์ ทำให้วิลเลียมตัดสินพระทัยสร้างกองเรือขนาดใหญ่และบุกอังกฤษในเดือนกันยายน ค.ศ. 1066 พระองค์ชนะอย่างเด็ดขาดและสังหารพระเจ้าฮาโรลด์ในยุทธการที่เฮสติ้งส์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1066 หลังจากชัยชนะครั้งนี้ วิลเลียมก็เข้าพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษในวันคริสต์มาสปี ค.ศ. 1066 ที่ลอนดอน พระองค์เตรียมการสำหรับการปกครองของอังกฤษในต้นปี ค.ศ. 1067 ก่อนกลับไปนอร์มังดี ตามมาด้วยกบฏที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายครั้ง แต่การยึดครองของอังกฤษส่วนใหญ่ของพระเจ้าวิลเลียมมั่นคงภายในปี ค.ศ. 1075 ทำให้พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ในยุโรปภาคพื้นทวีป

ปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมเต็มไปด้วยความยากลำบากในอาณาเขตภาคพื้นทวีปของพระองค์ ปัญหากับพระราชโอรสองค์โตของพระองค์คือรอเบิร์ต และการรุกรานอังกฤษโดยชาวเดนมาร์ก ในปี ค.ศ. 1086 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดทำบันทึกดูมสเดย์ ซึ่งเป็นแบบสำรวจที่แสดงรายการการถือครองที่ดินทั้งหมดในอังกฤษพร้อมกับการถือครองก่อนการยึดครองและผู้ถือครองปัจจุบัน พระองค์สวรรคตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1087 ขณะเป็นผู้นำทัพในการรบทางภาคเหนือของฝรั่งเศสและพระศพของพระองค์ถูกฝังในก็อง รัชสมัยของพระองค์ในอังกฤษมีการก่อสร้างปราสาท จ้างขุนนางนอร์มันใหม่ และการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของพระสงฆ์อังกฤษ พระองค์ไม่ได้พยายามรวมแคว้นต่าง ๆ ของพระองค์ไว้ในจักรวรรดิเดียว แต่ยังคงดูแลแต่ละส่วนแยกจากกัน ดินแดนถูกแบ่งแยกหลังจากการสวรรคตของพระองค์: นอร์มังดีไปให้รอเบิร์ตและอังกฤษไปให้พระราชโอรสองค์ที่สองที่รอดชีวิตและรัชทายาทของพระองค์คือวิลเลียม รูฟัส

ภูมิหลัง

ชาวนอร์สเริ่มบุกจู่โจมสถานที่ที่จะกลายเป็นนอร์ม็องดีในปลายศตวรรษที่ 8 การตั้งถิ่นฐานถาวรของสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 911 เมื่อ รอลโลหนึ่งในผู้นำชาวไวกิ้งและพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งฝรั่งเศส บรรลุข้อตกลงในการยกเทศมณฑลรูอ็องให้กับรอลโล ดินแดนรอบ ๆ รูอ็องกลายเป็นฐานอำนาจของดัชชีนอร์ม็องดี ในเวลาต่อมา นอร์ม็องดีอาจถูกใช้เป็นฐานทัพเมื่อเกิดการโจมตีอังกฤษของสแกนดิเนเวียระลอกใหม่เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 10 ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและนอร์มังดีแย่ลง ในความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์พระเจ้าแอเธลเรดที่ 2 แห่งอังกฤษ ได้นำ เอ็มมาแห่งนอร์ม็องดี น้องสาวของ รีชาร์ที่ 2 ดยุกแห่งนอร์ม็องดี มาเป็นพระราชินีองค์ที่สองของพระองค์ในปี ค.ศ. 1002

เดนมาร์กบุกอังกฤษอย่างต่อเนื่อง และพระเจ้าแอเธลเรดขอความช่วยเหลือจากรีชาร์ที่ 2 โดยลี้ภัยมาอยู่ในนอร์ม็องดีในปี ค.ศ. 1013 เมื่อพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดขับพระเจ้าแอเธลเรดและพระราชวงศ์ออกจากอังกฤษ ต่อมาเมื่อพระเจ้าสเวนสวรรคตในปี ค.ศ. 1014 พระเจ้าแอเธลเรดกลับสู่อาณาจักรของพระองค์ แต่พระราชโอรสของพระเจ้าสเวนคือเจ้าชายคนุต โต้แย้งการเสด็จกลับมาของพระเจ้าแอเธลเรด ต่อมาพระเจ้าแอเธลเรดสวรรคตอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1016 เจ้าชายคนุตกลายเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของอังกฤษ พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ของพระเจ้าแอเธลเรดและพระราชินีเอ็มมาคือเอ็ดเวิร์ดและอัลเฟรด ลี้ภัยไปอยู่นอร์ม็องดี ขณะที่พระมารดาของพวกเขาคือพระราชินีเอ็มมา กลายเป็นราชินีองค์ที่สองของพระเจ้าคนุต

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าคนุต ในปี ค.ศ. 1035 ราชบัลลังก์อังกฤษตกเป็นของเจ้าชายฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระราชโอรสของพระองค์ที่ประสูติจากพระราชินีองค์แรก ขณะที่เจ้าชายฮาร์ธาคนุต พระราชโอรสของพระองค์ที่ประสูติจากพระราชินีเอ็มมาและพระอนุชาต่างบิดาของเอ็ดเวิร์ดและอัลเฟรด ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ทำให้ราชบัลลังก์อังกฤษไม่มั่นคง เจ้าชายอัลเฟรดเสด็จกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1036 เพื่อเยี่ยมพระมารดาและท้าทายพระเจ้าฮาโรลด์ สมเด็จพระราชินีนาถเอ็มมาเสด็จลี้ภัยไปยังแฟลนเดิร์สจนกระทั่งเจ้าชายฮาร์ธาคนุตขึ้นครองราชย์หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าฮาโรลด์ในปี ค.ศ. 1040 และพระเชษฐาต่างบิดาของพระองค์คือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดตามเจ้าชายฮาร์ธาคนุตไปยังอังกฤษ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดได้รับการประกาศพระนามให้เป็นพระมหากษัตริย์หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าฮาร์ธาคนุต ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1042

ชีวิตเบื้องต้น

พระเจ้าวิลเลียมเกิดที่ฟาแลซ (Falaise) บริเวณนอร์ม็องดี เป็นบุตรชายนอกสมรสและบุตรชายคนเดียวของรอแบร์ที่ 2 ดยุกแห่งนอร์ม็องดีผู้ที่ตั้งให้วิลเลียมเป็นทายาท พระมารดาของวิลเลียมชื่อแอเลวา (Herleva) ชายาลับที่ไม่เคยสมรสกันของดยุกรอแบร์ ต่อมาเธอมีลูกอีกสองคนกับสามีอีกคนหนึ่ง แอเลวาอาจจะเป็นลูกสาวของช่างฟอกหนัง เพราะเมื่อวิลเลียมโตขึ้นศัตรูก็มักจะกล่าวว่าวิลเลียมมีกลิ่นเหม็นเหมือนร้านย้อมหนัง และชาวเมืองอาล็องซง (Alençon) จะแขวนหนังไว้บนกำแพงเมืองเพื่อเป็นการเยาะเย้ยพระเจ้าวิลเลียม

ปีที่ทรงพระราชสมภพอาจจะเป็นปีค.ศ. 1027 หรือ 1028 แต่อาจจะเป็นฤดูใบไม้ร่วงของปีหลัง[3] พระเจ้าวิลเลียมทรงเป็นหลานอาของพระราชืนีเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดีผู้เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระเจ้าคานูทมหาราช[4]

ดยุกแห่งนอร์ม็องดี

ความวุ่นวายในช่วงวัยเยาว์

ดยุกรอแบร์ พระบิดาของวิลเลียมตัดสินใจเดินทางออกจากนอร์ม็องดีเพื่อไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากไม่มีทายาทคนอื่นนอกจากวิลเลียมซึ่งเป็นบุตรนอกสมรส ดยุกรอแบร์จึงแต่งตั้งวิลเลียมเป็นทายาทและบังคับให้ขุนนางปฏิญาณตนถวายความภักดีต่อวิลเลียม วิลเลียมถูกส่งตัวไปถวายบังคมต่อพระเจ้าอ็องรีที่ 1 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าเหนือหัวของดัชชีนอร์ม็องดี พระองค์ได้ประดับยศอัศวินให้แก่วิลเลียม จากนั้นดยุกรอแบร์ได้เริ่มออกเดินทางในช่วงปี ค.ศ. 1034–1035

หลังบรรลุเป้าหมายในการไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างการเดินทางกลับดยุกรอแบร์ล้มป่วยในอานาโตเลียและถึงแก่กรรมในกรุงไนซีอาของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1035 วิลเลียมจึงได้ขึ้นเป็นดยุกแห่งนอร์ม็องดีตั้งแต่พระชนมายุ 7 พรรษา โดยมีวิลเลียมซึ่งเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนพระบิดาของพระองค์เป็นผู้พิทักษ์กลุ่มแรกร่วมกับรอแบร์ อัครมุขนายกแห่งรูอ็อง, อาล็อง เคานต์แห่งเบรอตาญ และอูสแบน มหาดเล็กประจำตัวของวิลเลียม อีกคนที่คอยสนับสนุนวิลเลียมคือตูโรลด์ หนึ่งในคณะอาจารย์ของวิลเลียม

ในคณะผู้พิทักษ์ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดคืออัครมุขนายกแห่งรูอ็อง ในช่วงแรกของการขึ้นครองตำแหน่งของวิลเลียมเป็นไปอย่างสงบ อาจเป็นเพราะไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกับอัครมุขนายก กระทั่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1037 เมื่ออัครมุขนายรอแบร์ถึงแก่กรรม เริ่มมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเกิดขึ้น ทุกคนในครัวเรือนของวิลเลียมตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนวิลเลียมตั้งแต่แรก อาล็องแห่งเบรอตาญถูกสังหารในช่วงปี ค.ศ. 1039–1040 ผู้ที่เข้ามาแทนที่ตำแหน่งของเขาคือกีลแบร์ เคานต์แห่งบรียอน เพื่อนสนิทของดยุกรอแบร์ กีลแบร์ถูกสังหารระหว่างกำลังขี่ม้าตามคำสั่งการของราล์ฟแห่งแกซี บุตรชายของอัครมุขนายกรอแบร์แห่งรูอ็อง ในเวลาไล่เลี่ยกันตูโรลด์ถูกลอบสังหาร มหาดเล็กอูสแบนถูกสังหารในห้องนอนของวิลเลียม

เมื่อผู้พิทักษ์ถูกสังหารหมด วอลแตร์ พี่น้องของแอร์เลวา พระมารดาของวิลเลียมได้มานอนเป็นเพื่อนในห้องนอนของวิลเลียม บ่อยครั้งที่เขาต้องลากวิลเลียมออกจากห้องนอนไปหลบภัยในบ้านของคนยากไร้กลางดึกเพื่อความปลอดภัย วิลเลียมยังมีอาอีกสองคน คือ มูฌีร์ อัครมุขนายกแห่งรูอ็อง และกีโยม เคานต์แห่งอาร์คี ทั้งคู่เป็นพี่น้องต่างมารดาของพระบิดาและต่างกระหายในอำนาจ การทำสงครามกันเองภายในครอบครัวของดยุกแห่งนอร์ม็องดีทำให้สถานการณ์ของวิลเลียมยิ่งย่ำแย่

เสาในจุดที่มีการทำยุทธการที่วาเลสดุน

เมื่อวิลเลียมมีพระชนมายุเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พระองค์ยังคงมีอำนาจน้อย มีการวางแผนสมคบคิดในนอร์ม็องดีล่างโดยมีกีย์แห่งบูร์กอญ ผู้อ้างสิทธิ์ตามกฎหมายในตำแหน่งดยุกแห่งนอร์ม็องอีกคนเป็นแกนนำ กีย์รวมรวบแรงสนับสนุนจากดินแดนในครอบครองและจากนอร์ม็องดีกลางและตะวันตก ว่ากันว่าแผนการคือจะจับตัวและสังหารวิลเลียมที่เมืองแวโลญซึ่งตั้งอยู่ใจกลางอาณาเขตของศัตรูของวิลเลียม แต่มีคนนำแผนการมาบอกวิลเลียม พระองค์จึงขี่ม้าหนีในยามวิกาล ทรงเดินทางไปเมืองฟาเลสและแก้ปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอ็องรี

วิลเลียมร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอ็องรีแบบตัวต่อตัว กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสผู้เป็นเจ้าเหนือหัวตอบรับคำขอของข้าราชบริพารของพระองค์ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1047 พระเจ้าอ็องรีนำทัพเข้าสู่นอร์ม็องดีและรวมกำลังพลเข้ากับกองทัพของวิลเลียมจากนอร์ม็องดีเหนือที่เมืองก็อง กองทัพเผชิญหน้ากับกลุ่มกบฏ ณ ที่ราบวาเลสดุน ชัยชนะในยุทธการที่เวเลสดุนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเรืองอำนาจของวิลเลียมในนอร์ม็องดี

ยุคเรืองอำนาจในนอร์ม็องดี

ดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดีสมรสกับ มาทิลดา แห่งฟลานเดอร์ ในปี ค.ศ. 1053 ที่มหาวิหารโนเทรอดามแห่งอูเมื่อพระชนมายุได้ 24 พรรษาและมาทิลดา 22 พรรษา ซึ่งเป็นการแต่งงานที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาลีโอที่ 9 กล่าวกันว่าดยุกวิลเลียมเป็นสามีที่รักและซึ่อตรงต่อมาทิลดา ดยุกวิลเลียมและมาทิลดามีบุตรธิดาด้วยกันสิบคน ชายสี่ หญิงหก เพื่อเป็นการไถ่บาปจากการแต่งงานกับญาติ (consanguine marriage) เพราะดยุกวิลเลียมเป็นญาติห่างๆ กับมาทิลดา ดยุกวิลเลียมก็ทรงสร้างวัดเซนต์สตีเฟน (Abbaye-aux-Hommes) และมาทิลดาเซนต์ทรินิตี (Abbaye aux Dames)

พระเจ้าอ็องรีที่ 1 ทรงรู้สึกถึงอันตรายจากอำนาจของดยุกวิลเลียมจากการแต่งงานกับมาทิลดา จึงทรงพยายามรุกรานนอร์ม็องดีสองครั้งในปี ค.ศ. 1054 และ ในปี ค.ศ. 1057 แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง ฝ่ายทางดยุกวิลเลียมก็ยิ่งมีอำนาจและมีผู้สนับสนุนมากขึ้นจากภายในนอร์ม็องดีรวมทั้งจากโอโดแห่งบายูน้องต่างบิดาและจากโรเบิร์ตเคานต์แห่งมอร์แตง (น้องของโอโด) ผู้ที่มามีความสำคัญต่อชีวิตของวิลเลียมต่อมา ต่อมาวิลเลียมได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของศัตรูทั้งสองด้าน ทำให้ได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าอ็องรีที่ 1 และต่อ เจฟฟรีแห่งอ็องฌู ในปี ค.ศ. 1060 ในปี ค.ศ. 1062 ตามลำดับ หลังจากนั้นดยุกวิลเลียมก็รุกรานดินแดนเมนซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอ็องฌู[5]

ปัญหาการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท ผู้ที่อ้างสิทธิในราชบัลลังก์มีด้วยกันอย่างน้อยสามฝ่าย -- ดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี, ฮาโรลด์ กอดวินสัน เอิร์ลผู้มีอำนาจแห่งเวสเซ็กซ์ และพระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ ดยุกวิลเลียมอ้างว่ามีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทางพระปิตุฉาเอ็มมาแห่งนอร์ม็องดีผู้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าเอเธล์เรดที่ 2 และเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด นอกจากนั้นดยุกวิลเลียมยังอ้างว่าขณะที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงลึ้ภัยอยู่ในนอร์ม็องดีระหว่างการยึดครองของเดนมาร์กในอังกฤษ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงให้สัญญายกราชบัลลังก์ให้เมื่อดยุกวิลเลียมเดินทางมาเยึ่ยมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ลอนดอนในปีค.ศ. 1052 และยังอ้างว่าหลังจากที่ได้ช่วยฮาโรลด์ กอดวินสันจากเรือแตกและเคานต์แห่งปัวตู ทั้งสองคนก็ได้ร่วมกันต่อสู้โคนันที่ 2 ดยุกแห่งบริตานี จนได้รับชัยชนะ ดยุกวิลเลียมจึงแต่งตั้งให้ฮาโรลด์เป็นอัศวิน ฮาโรลด์จึงได้ให้คำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อดยุกวิลเลียมต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในปีค.ศ. 1064[6]

ในปีค.ศ. 1066 ตามที่เข้าใจกันว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและจากมติของสภาวิททัน ฮาโรลด์ กอดวินสันก็ได้รับการสวมมงกุฏเป็นสมเด็จพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน โดยอัครบาทหลวงอัลเดรด หลังจากนั้นพระเจ้าฮาโรลด์ก็ทรงเตรียมกองทัพเตรียมรับผู้ที่จะมารุกรานจากหลายฝ่าย หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อพระอนุชาทอสทิก พระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ หรือ หรือ ฮาราลด์ ฮาร์ดดราดา ทางด้านเหนือของอังกฤษ พระเจ้าฮาโรลด์ก็ต้องเดินทัพกลับลงมาทางใต้อย่างเร่งด่วนเป็นระยะทางราว 241 ไมล์เพื่อมาเตรียมรับทัพของดยุกวิลเลียม สองกองทัพประจันหน้าต่อสู้กันที่ยุทธการเฮสติงส์ (Battle of Hastings) ซึ่งเชื่อกันว่าพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันทรงถูกยิงทะลุพระเนตรจนสวรรคต

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

ก่อนหน้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษถัดไป
พระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิง
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์นอร์มัน)

(ค.ศ. 1066 – ค.ศ. 1087)
พระเจ้าวิลเลียมที่ 2
🔥 Top keywords: วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์หน้าหลักองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกชนกันต์ อาพรสุทธินันธ์สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีพิเศษ:ค้นหาดวงใจเทวพรหม (ละครโทรทัศน์)กรงกรรมอสมทลิซ่า (แร็ปเปอร์)จีรนันท์ มะโนแจ่มสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริดธี่หยดฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024เฟซบุ๊กสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนาประเทศไทยเอเชียนคัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2024วิทยุเสียงอเมริกาสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลพระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรักวุ่น วัยรุ่นแสบวันไหลนริลญา กุลมงคลเพชรสโมสรฟุตบอลเชลซีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีหลานม่าสุภาพบุรุษจุฑาเทพ (ละครโทรทัศน์)สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกกรุงเทพมหานครสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคิม ซู-ฮย็อนภาวะโลกร้อนสาธุ (ละครโทรทัศน์)รายชื่ออักษรย่อของจังหวัดในประเทศไทยสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง